แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1222

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖


เวลาที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ถ้าเห็นมือที่กำไว้ ก็อาจจะคิดว่ามีอะไรอยู่ ในนั้น ใช่ไหม ต้องมีอะไรอยู่ในมือที่กำ นี่คือการคิดว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ในภูตรูป และอุปาทายรูปซึ่งรวมกัน เปรียบเหมือนกับมีต้นกล้วย แต่ถ้าแยกส่วนออก คือ แยกใบกล้วย หยวกกล้วย ออกจากลำต้นกล้วย ก็ไม่มีต้นกล้วย ไม่มีสิ่งที่เคยยึดถือว่า เป็นต้นกล้วย หรือเปรียบเหมือนผู้แบกำมืออันเปล่า เมื่อแบกำมือที่เปล่าออกแล้ว ก็ไม่มีอะไรอยู่ในกำมือนั้น และที่เห็นเป็นกาย ก็เพราะว่ารูปต่างๆ มาประชุมรวมกัน

เพราะฉะนั้น การที่จะละการยึดถือความเป็นกาย ก็โดยเห็นการแยกฆนะที่ รวมกันออกเป็นส่วนๆ จนกระทั่งไม่มีการสำคัญยึดถือกายที่ประชุมรวมกันนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ต้องแยกส่วนของฆนะ คือ กลุ่มก้อน ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย

ข้อความอีกตอนหนึ่งมีว่า

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานโดยนัยว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ไปที่ป่าก็ตาม … ฯลฯ เธอย่อมมีสติเทียว หายใจเข้า เป็นต้น และกายใดที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า ภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้ ย่อมตามเห็นกายคือปฐวี โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยทำนองเดียวกัน ย่อมตามเห็นกายคืออาโป กายคือเตโช กายคือวาโย กายคือผม กายคือขน กายคือผิว กายคือหนัง กายคือเนื้อ กายคือเลือด กายคือเอ็น กายคือกระดูก กายคือเยื่อในกระดูก โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นต้น ก็เพราะการตามเห็นอยู่ในกายนี้นั่นแหละแห่งกายทั้งปวง จึงชื่อว่ามีปกติตามเห็นกายในกาย (กาเย กายานุปสฺสี) ดังนี้

ไม่มีเรื่องท่าทาง หรืออิริยาบถเลย ใช่ไหม ที่จะกล่าวว่า ภิกษุบางพวกใน พระศาสนานี้ ย่อมตามเห็นกาย คือ ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ว่าไม่เที่ยง ไม่มีข้อความอย่างนี้เลย

เรื่องของบรรพต้องเข้าใจว่า ทำไมทรงแสดงไว้ ๑๔ ต้องทราบจุดประสงค์ ถ้าไม่ทราบจุดประสงค์ ก็มีความต้องการเกิดขึ้น แทนที่สติจะระลึกลักษณะสภาพของกายที่กำลังปรากฏ

ที่ทรงแสดงโดย ๑๔ บรรพ ก็เพื่อไม่ให้เป็นผู้หลงลืมสติ เมื่อสภาพธรรมใดกำลังปรากฏย่อมอยู่ในบรรพหนึ่งบรรพใดใน ๑๔ บรรพ แต่ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งสามารถรู้ได้ในขณะนั้น

ไม่ต้องขวนขวายที่จะให้ครบทั้ง ๑๔ บรรพ แต่สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ สติระลึก ก็จะอยู่ในบรรพหนึ่งบรรพใด โดยเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานพร้อมด้วยกัมมัสสกตปัญญา คือ รู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คือ กรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ผู้ที่ขวนขวายจะทำอย่างอื่น เพราะรู้ความจริงว่า ทุกอย่างที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นเป็นกัมมัสสกตปัญญา

สำหรับเรื่องอิริยาบถ ข้อความใน พระคัมภีร์สัจจสังเขป ซึ่งรจนาโดยท่านพระธัมมปาลาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอานันทาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน พระอนุรุทธาจารย์ ซึ่งเป็นผู้แต่งพระคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ

แสดงให้เห็นว่า เป็นข้อความที่ห่างจากอรรถกถาของพระไตรปิฎก จนมาถึงรุ่นของพระธัมมปาลาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอานันทาจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอนุรุทธาจารย์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาข้อความโดยรอบคอบ

ข้อความเรื่องอิริยาบถ

ข้อ ๓๓๖ มีว่า

พระฎีกาจารย์ได้อธิบายเรื่องนี้ต่อไป โดยตั้งเป็นคำถามและคำตอบดังนี้

ก็แลลักษณะเหล่านี้ย่อมไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการอะไร เพราะไม่รู้ปรุโปร่งอะไร เพราะอะไรปกปิดไว้

หมายถึงว่า ลักษณะทั้ง ๓ ได้แก่ ทุกขลักษณะ อนิจจลักษณะ และ อนัตตลักษณะ ที่ไม่ปรากฏเพราะไม่มนสิการอะไร เพราะไม่รู้ปรุโปร่งอะไร และ เพราะอะไรปกปิดไว้

อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการ เพราะไม่รู้ปรุโปร่งซึ่งความเกิดและความดับ เพราะถูกสันตติปกปิดไว้

นี่เป็นความจริง ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่ไม่สามารถประจักษ์แจ้งความเกิดดับได้เพราะสันตติปกปิดไว้ คือ การเกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ และสติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ

เห็นในขณะเมื่อกี้กับเห็นในขณะนี้คนละขณะแล้ว เสียงที่ได้ยินในขณะนี้กับขณะเมื่อกี้คนละขณะแล้ว ความรู้สึกขณะนี้กับขณะเมื่อกี้คนละขณะแล้ว อ่อนหรือแข็งซึ่งกำลังปรากฏในขณะนี้กับขณะเมื่อกี้คนละขณะแล้ว

แข็งปรากฏเมื่อครู่นี้ และเสียงปรากฏ และแข็งก็ปรากฏ เพราะฉะนั้น แข็งที่ปรากฏหลังจากที่เสียงเกิดคั่น ย่อมไม่ใช่แข็งเมื่อครู่นี้ แต่ถ้าจะประจักษ์ความเกิดดับจริงๆ แม้ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดคั่น สภาพที่แข็งนั้นเองเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มนสิการ ไม่รู้ปรุโปร่งซึ่งความเกิดและความดับ เพราะถูกสันตติ ปิดบังไว้

ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการ เพราะไม่รู้ปรุโปร่งซึ่งความบีบคั้นความสมบูรณ์เนืองๆ เพราะอิริยาบถปิดบังไว้

เท่านี้ก็น่าจะเข้าใจแล้วว่า ที่ไม่เห็นทุกขลักษณะ เพราะอิริยาบถปิดบัง ไม่ใช่ เพราะเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งในที่นี้กล่าวว่า เพราะอิริยาบถปิดบัง เมื่อยังมีอิริยาบถอยู่ จะเห็นทุกขลักษณะได้ไหม

ข้อความตอนท้ายยังมีต่อไป ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียดด้วย

อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการ เพราะไม่รู้ปรุโปร่งซึ่งความแยกของธาตุต่างๆ เพราะถูกความสำคัญว่า เป็นก้อนปกปิดไว้

ร่างกายทั้งแท่งกำลังทรงอยู่ในอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด ถ้ายังยึดถือร่างกาย ทั้งแท่งในอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด ก็เป็นฆนสัญญา เป็นการยึดถือสำคัญว่า เป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นส่วน เป็นกาย เป็นร่างกาย เพราะไม่รู้ปรุโปร่งซึ่งความแยกของธาตุ ต่างๆ เพราะฉะนั้น การที่จะดับความเห็นผิดยึดถือกายว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเราได้ ก็ต่อเมื่อ รู้ปรุโปร่งซึ่งความแยกของธาตุต่างๆ

เพียงแข็งนิดเดียว ลืมอย่างอื่นทั้งหมด นี่คือการที่จะคลายอัตตสัญญา ไม่ทรงจำอะไรไว้เลย นอกจากพิจารณาลักษณะของแข็งจนอย่างอื่นไม่ปรากฏในที่นั้นเมื่อไร เมื่อนั้นจึงประจักษ์ความหมายที่ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะไม่มีสิ่งอื่นรวมอยู่ในแข็งเล็กน้อยที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ส่วนแข็งเล็กนิดเดียวที่ปรากฏนั้นจึงไม่ใช่เป็นเรา เป็นแต่เพียงลักษณะของแข็ง ซึ่งเกิดดับด้วยในขณะนั้น

แต่เมื่อสันตติ อันพระโยคาวจรกำหนดความเกิดและความดับแล้ว ทำให้ขาดตอนเสียได้ อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามกิจของตนตามความจริง เปรียบเหมือนรอยปลวก หรือแถวปลวก หรือรอยมดแดง หรือแถวมดแดง เมื่อมองดูก็เป็นเหมือนเนื่องกันเป็นแนวเดียว แต่หาได้เนื่องกันเป็นแนวเดียวไม่ ที่จริงหัวบ้าง ท้องบ้าง เท้าบ้างของปลวกตัวหนึ่งอยู่ชิดหัวของปลวกอีกตัวหนึ่ง หัวบ้าง ท้องบ้าง เท้าบ้างของปลวกตัวหนึ่งอยู่ชิดท้องของปลวกอีกตัวหนึ่ง หัวบ้าง ท้องบ้าง เท้าบ้างของปลวก ตัวหนึ่งอยู่ชิดเท้าของปลวกอีกตัวหนึ่ง ฉันใด แม้บรรดารูปอันมีสันตติ ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในขณะบังเกิดของรูปหนึ่ง อีกรูปหนึ่งย่อมบังเกิดบ้าง ตั้งอยู่บ้าง ดับไปบ้าง

แสดงให้เห็นว่า รูปที่กายทยอยกันเกิดขึ้นและทยอยกันดับไป เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่รูปทั้งแท่งทั้งก้อนดับ แต่ขณะใดที่สติระลึกรูปใด รูปนั้นดับ และเมื่อรูปใดปรากฏ สติระลึก รูปนั้นก็ดับ แต่ให้ทราบว่า รูปทุกกลุ่ม ทุกกลาปในร่างกายทยอยกันเกิดขึ้นและทยอยกันดับไป

เมื่อความจริงทางปริยัติธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการที่ทรงตรัสรู้สภาพของธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็จะต้องประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของแต่ละลักษณะของรูปที่ปรากฏอย่างนี้

เมื่อพระโยคาวจร (คือ ผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม) กำหนดความเกิดความดับอันต่างๆ กันในรูปนั้น แยกสันตติได้แล้ว อนิจลักษณะย่อมปรากฏตามหน้าที่ของตนตามเป็นจริง

เมื่อสันตติของธรรมทั้งหลายอันเป็นไปอยู่โดยเชื่อมกันเป็นเบื้องต้น เบื้องปลาย ถูกพระโยคาวจรผู้กำหนดอยู่ซึ่งความเกิดความดับโดยชอบทีเดียวเพิกถอนเสียได้แล้วโดยลักษณะของตนตามภาวะของกันและกัน ธรรมทั้งหลายจะยังปรากฏโดยความสัมพันธ์คือติดกันเป็นสาย หามิได้เลย ย่อมปรากฏโดยความไม่สัมพันธ์กัน เป็นดุจซี่เหล็กฉะนั้น โดยแท้แล อนิจลักษณะจึงย่อมปรากฏด้วยดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยประการฉะนี้

ตากับหูใกล้กัน หรือห่างกัน แต่ไม่ใช่ที่เดียวกันแน่ ใช่ไหม เวลาที่สภาพธรรมปรากฏให้เห็นทางตา เพราะว่ากระทบกับรูปที่เล็กที่สุดที่อยู่กลางตาเท่านั้น ที่ยังไม่ดับด้วย เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้

ลองคิดถึงความบอบบาง ความเล็กน้อยเหลือเกินของจักขุปสาทซึ่งอยู่กลางตา เล็กที่สุด และเกิดดับอย่างเร็วมาก แต่ก็เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ เมื่อหลงลืมสติ และสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อ สันตติไม่ได้ขาด จึงปรากฏเสมือนกับเห็นคนกำลังเดิน กำลังนอน กำลังวิ่ง กำลังพูดต่างๆ แต่ที่จริงแล้ว สภาพธรรมนี้กระทบกับจักขุปสาทที่ยังไม่ดับในชั่วระยะที่สั้นที่สุด และรูปที่ปรากฏทางตาก็ต้องเป็นรูปที่ยังไม่ดับด้วย เพราะฉะนั้น โลกนี้แตกดับสลายไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา

ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน ซึ่งสามารถพิสูจน์ธรรมให้ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าการปฏิบัติเป็นอย่างหนึ่ง การศึกษา ปริยัติธรรมนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือไม่ใช่ว่าเมื่อศึกษาก็เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อปฏิบัติแล้วไม่ได้รู้ตรงตามอย่างนี้ ถ้าไม่รู้ตรงตามที่ศึกษา การศึกษาย่อมไม่มีประโยชน์

ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุ วิภังคนิทเทส วรรณนา เอกนิทเทส ปาปิจฉตานิทเทส อธิบายความปรารถนาลามก มีข้อความว่า

แม้ผู้มีปัญญาทราม ก็จะนั่งในท่ามกลางแห่งอุปัฏฐากทั้งหลายกล่าวอยู่ว่า เราย่อมสละปริยัติ

ถ้าคิดว่าศึกษาเสียเวลา หรือคิดว่าการศึกษาไม่จำเป็น เพราะการศึกษาไม่ทำให้พ้นไปจากทุกข์ ต้องปฏิบัติโดยไม่ศึกษา หรือเห็นว่าการปฏิบัติกับปริยัติ รู้แจ้งธรรมไม่ตรงกัน คือ ไม่ได้รู้สภาพธรรมทั้งหลายตรงตามที่ได้ศึกษา ถ้าคิดแบบนี้เหมือนกับการสละปริยัติไหม ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

ก็เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมทำลายพระศาสนา ชื่อว่ามหาโจร เช่นกับบุคคลนี้ย่อมไม่มี เพราะว่าบุคคลผู้ทรงพระปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ หามีไม่

ผู้ที่ทรงปริยัติ ไม่ว่าจะศึกษาน้อยหรือมากประการใดก็ตาม แต่เป็นผู้ที่เข้าใจในอรรถที่ได้ฟัง และไม่แปรเปลี่ยนอรรถนั้น แต่ว่าพระธรรมเป็นสภาพที่ลึกซึ้ง จะต้องพิจารณาโดยละเอียด และจะต้องใคร่ครวญศึกษา พร้อมทั้งพิสูจน์ธรรมโดยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ศึกษาด้วย

ข้อความต่อไป เรื่องของอิริยาบถปิดบังทุกข์ มีว่า

ส่วนเมื่ออิริยาบถอันพระโยคาวจรมนสิการ ความเบียดเบียนสมบัติเนืองๆ เพิกเสียแล้ว ทุกขลักษณะย่อมปรากฏตามหน้าที่ของตนตามความเป็นจริง

จริงอย่างนั้น ทุกขลักษณะย่อมไม่ปรากฏเพราะถูกอิริยาบถปิดบังเสีย ก็แลอิริยาบถเหล่านั้น ๔ บังเกิดเป็นตัวปิดบังได้ เพราะไม่มนสิการความเบียดเบียนสมบัติเนืองๆ

สมบัติในที่นี้ คงจะหมายความถึงความสุขทางกาย

เพราะอิริยาบถอื่นเป็นตัวบรรเทาความทุกข์อันบังเกิดในอิริยาบถหนึ่ง ย่อมเป็นประดุจเป็นตัวปิดบังทุกข์นั้น

อย่าลืม เป็นประดุจเป็นตัวปิดบัง แต่ตัวปิดบังจริงๆ นั้น คือ อิริยาบถ ไม่ใช่การเปลี่ยนอิริยาบถปิดบังทุกข์ แต่ เพราะอิริยาบถอื่นเป็นตัวบรรเทาความทุกข์ อันบังเกิดในอิริยาบถหนึ่ง ย่อมเป็นประดุจเป็นตัวปิดบังทุกข์

ถ. สมมติว่าเรานั่งอยู่และเมื่อย เราก็ลุกขึ้นยืน จะเป็นอิริยาบถปิดบังทุกข์ได้ไหม

สุ. เพราะฉะนั้น ข้อความนี้มีว่า เพราะอิริยาบถอื่นเป็นตัวบรรเทาความทุกข์อันบังเกิดในอิริยาบถหนึ่ง ย่อมเป็นประดุจเป็นตัวปิดบังทุกข์ คือ เสมือนว่า ปิดบังทุกข์ เสมือนว่าอิริยาบถใหม่ที่แก้ทุกข์ เปลี่ยนทุกข์ เป็นตัวปิดบังทุกข์ แต่ความจริงไม่ใช่ ตัวอิริยาบถต่างหากปิดบังทุกข์ ไม่ใช่อิริยาบถใหม่ซึ่งเปลี่ยนปิดบังทุกข์ แต่เสมือนหรือประดุจเป็นตัวปิดบังทุกข์

. ไม่ค่อยเข้าใจ

สุ. อิริยาบถอื่น คือ เมื่อเปลี่ยนแล้ว เป็นตัวบรรเทาความทุกข์อันบังเกิดในอิริยาบถหนึ่ง ถูกไหม ย่อมเป็นประดุจเป็นตัวปิดบังทุกข์ เป็นประดุจเป็นตัวปิดบังทุกข์ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะตัวที่ปิดบังทุกข์จริงๆ คือ อิริยาบถ

แต่เมื่อภาวะที่กลับเป็นทุกข์ของอิริยาบถ เพราะอิริยาบถนั้นๆ อัน พระโยคาวจรทราบแล้วตามกิจของตนตามความเป็นจริง ภาวะที่อิริยาบถเหล่านั้น เป็นตัวปิดบังทุกข์ ย่อมเป็นสภาพได้ชื่อว่าถูกเพิกเสียได้แล้ว

ที่จะรู้ภาวะที่เป็นทุกข์จริงๆ ก็ต่อเมื่อเพิกอิริยาบถแล้ว

ข้อความต่อไปมีว่า

เพราะความที่สังขารทั้งหลาย

ไม่เว้นเลย สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสังขาร

เป็นสภาพปรากฏโดยภาวะที่ถูกทุกข์ทิ่มแทง ไม่มีระหว่างเลย

คือ เกิดขึ้นและดับไป เพราะว่าลักษณะที่เป็นทุกขสัจนั้นไม่ใช่สภาพที่ปวด เจ็บ หรือเมื่อย แต่ต้องเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมทั้งหลาย ซึ่งการเกิดดับของสภาพธรรมนั้นๆ จะปรากฏให้รู้ได้ก็ต่อเมื่อแยกฆนะ การรวมเป็นกลุ่มก้อนออก เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏและดับไป จึงจะเป็นการรู้ ทุกขลักษณะที่เป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เพราะว่าต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป นั่นแหละเป็นทุกข์ และสภาพธรรมที่เกิดดับไม่เที่ยง เป็นทุกข์นั่นแหละเป็นอนัตตา ซึ่งสภาพธรรมทั้งหลายที่มีจริงที่พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นสภาพธรรมที่คงทนต่อการพิสูจน์

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังสามารถพิสูจน์ธรรมที่ได้ฟังในขณะที่ได้ฟังนั้นเอง เช่นในขณะนี้ที่ท่านผู้ฟังกำลังนั่ง มีท่าทางรูปนั่งเกิดขึ้นและดับไปหรือเปล่าที่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าการเกิดดับนั้นเป็นทุกข์

แต่ในขณะที่กำลังนั่งเดี๋ยวนี้ มีสภาพธรรมใดปรากฏ ไม่จำกัด ไม่เจาะจงเลย เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างที่จะเกิดขึ้นปรากฏนั้น ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังนั่ง มีสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ มีไหม มี หมายความว่าสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นจึงปรากฏ ถูกไหม และสภาพธรรมนั้นๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏนั้นเอง หมดแล้ว ดับแล้ว

การที่จะรู้ทุกขลักษณะได้ ต้องพิจารณาสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นจริงๆ แยกฆนะ การรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้แยกฆนะออก ยังรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นแท่ง จึงเป็นท่าทาง

แต่การที่จะรู้ไตรลักษณะ คือ สภาพที่เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จะต้องรู้สภาพลักษณะของธรรมที่สามารถประจักษ์ลักษณะทั้ง ๓ โดยสภาพที่ไม่เที่ยงนั้น ต้องสามารถแยกฆนะ ความเป็นกลุ่มก้อนออก ให้ปรากฏเกิดขึ้นทีละอย่าง ให้เห็นความเกิดดับ สภาพนั้นจึงควรแก่พิจารณาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เปิด  248
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565