แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1223

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖


. ที่ว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ ปิดบังอย่างไร ในขณะไหน

สุ. ในขณะที่กำลังนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน ขณะที่สติปัฏฐานยัง ไม่เกิด จะมีความรู้สึกว่า เป็นตัวตน ทุกอย่าง ไม่ว่าเห็นก็เป็นเรา ไม่ว่าคิดก็เป็นเรา ไม่ว่านั่งหรือนอน หรือยืน หรือเดิน ก็เป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอิริยาบถก็ปิดบังทุกข์ด้วย

ที่มีอิริยาบถนั้น ก็เพราะว่ามีการประชุม (กา - ยะ) ของรูปธรรมหลายๆ กลุ่ม หรือว่าหลายๆ กลาป ซึ่งแต่ละลักษณะเกิดขึ้นปรากฏและดับไป และถ้ายังไม่แยก ฆนะออก คือ ยังไม่พิจารณาลักษณะของรูปแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ไม่มีทางที่จะรู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้นเองเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่กำลังนั่ง และไม่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏ ชื่อว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ เพราะไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดซึ่งเกิดและดับไป เช่น ในขณะที่กำลังนั่งนี้เอง ท่าทางรูปนั่งไม่ได้เกิดดับ แน่นอนที่สุด แต่มีอะไรเกิด เสียงเกิดแล้วดับ เพราะว่าไม่มีและจึงมีเสียง เมื่อมีแล้ว ก็หามีไม่ คือ เสียงที่มีนั้นดับหมดสิ้นไป

ถ้าพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้น และดับไป จะเห็นว่า สภาพธรรมนั้นเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นไตรลักษณะ ต้องเป็นการสอดคล้องกันของไตรลักษณะที่ว่า เพราะไม่พิจารณาแยกฆนสัญญาออก จึงไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปซึ่งไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ได้ ตราบใดที่ยังรวมกันอยู่ ขณะที่กำลังนั่ง เห็นก็อย่างหนึ่ง ได้ยินก็อย่างหนึ่ง คิดนึกก็อย่างหนึ่ง ปวดเมื่อยก็อย่างหนึ่ง แต่ไม่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมเหล่านี้เลย ซึ่งได้ยินก็เกิดดับ ปวด หรือเมื่อย หรือเจ็บก็เกิดดับ คิดนึกก็เกิดดับ เมื่อไม่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ แยกฆนะออกจากการควบคุมประชุมรวมกันเป็น กลุ่มก้อน ก็จะไม่เห็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริง เพราะย่อมไม่มี สภาพซึ่งเป็นทุกข์โดยไม่แยกฆนะออก ถ้ายังรวมกันเป็นกลุ่มก้อนจะไม่มีการปรากฏการเกิดดับ ทั้งๆ ที่ในขณะที่กำลังนั่ง ได้ยินก็เกิดดับ เสียงก็เกิดดับ แต่ไม่พิจารณา

ขณะที่กำลังนั่ง ความคิดก็เกิดขึ้น และดับไป แต่ไม่พิจารณา เมื่อไม่พิจารณาสภาพธรรมที่เกิดดับในขณะที่กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน จึงชื่อว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ แต่ที่จะไม่ปิดบังได้ก็ต่อเมื่อแยกฆนะ เพราะลักษณะของ สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดปรากฏและก็ดับ เมื่อพิจารณาแล้วจึงเพิกอิริยาบถ คือรู้ว่า เพราะไม่พิจารณาสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดดับ จึงทำให้อิริยาบถปิดบังทุกข์

และที่จะเป็นอนัตตาปรากฏโดยฆนสัญญาไม่ปิดบัง ก็ต่อเมื่อพิจารณาแยกฆนะ จนมีลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น เมื่อพิจารณาสภาพลักษณะที่เกิดขึ้น ก็เห็นความดับไปซึ่งเป็นอนิจจัง จึงเห็นว่า ลักษณะที่ดับไปนั้นเป็นทุกข์

จะแยกกันไม่ได้ ไตรลักษณ์ เพราะเป็นลักษณะทั้ง ๓ ของสภาพธรรม แต่ละอย่าง จึงชื่อว่าไตรลักษณะ ซึ่งจะไม่มีการประจักษ์การเกิดดับ ถ้าไม่แยก ฆนสัญญา

สภาพธรรมกำลังปรากฏ เช่น ได้ยิน แต่ไม่พิจารณา เมื่อไรจึงจะประจักษ์ว่า สภาพธรรมที่ได้ยินนั้นไม่ใช่ตัวตน เสียงไม่ใช่ตัวตน และอิริยาบถไม่สามารถปิดบังไว้ได้ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นปรากฏจริงๆ และดับจริงๆ

. มีข้อแตกต่างอะไรกับสันตติ ที่ปิดบังอนิจจังไหม

สุ. อย่าลืม เป็นไตรลักษณะ ซึ่งหมายความถึงลักษณะทั้ง ๓ จะต่างกันไหม ลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดดับนั้น เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ลักษณะที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น คือ เมื่อเกิดแล้วไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ อาการเกิดดับนั่นเองเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น จะรู้ลักษณะที่ไม่เที่ยง ต่อเมื่อแยกฆนสัญญา ความรวมกันเป็นกลุ่มก้อนออก ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นและดับไป ต้องมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ เช่น ในขณะที่กำลังนั่ง ท่านผู้ฟังพิสูจน์ธรรมได้ทันที มี สภาพธรรมใดปรากฏ หมายความว่าสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วจึงปรากฏ และ สภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏนั้นดับไป จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

การที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นทุกขลักษณะได้ ต้องสามารถแยกฆนสัญญา และพิจารณาลักษณะที่ไม่เที่ยง คือ ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมนั้น จึงจะปรากฏสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

. คำว่า เพิกอิริยาบถ ยังไม่เข้าใจ

สุ. เพิกอิริยาบถ หมายความว่า แยกฆนะออก และปรากฏลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จึงไม่มีอิริยาบถปิดบังในขณะนั้น

ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด มีความเป็นตัวตน ไม่ว่าในขณะเห็น ไม่ว่าในขณะนั่ง ไม่ว่าในขณะที่ปวด เจ็บ เมื่อย ไม่ว่าในขณะนอน ยืน เดิน มีร่างกายที่เคยยึดถือว่าเป็นเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เมื่อการประชุมรวมกันของรูป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เหล่านี้แต่ละส่วน ไม่ได้แยกกระจัดกระจายออกไป ไม่ได้มีการพิจารณาแต่ละลักษณะ เมื่อยังควบคุมประชุมรวมกันอยู่ก็มีการยึดถือว่า เรานั่ง นี่คือ อิริยาบถปิดบังทุกข์ ถูกไหม

จะเห็นทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อเป็นก้อน เป็นแท่ง ที่จะเห็นทุกข์ได้หมายความว่า ต้องแยกฆนสัญญา การที่เคยทรงจำ การรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นแท่ง ออกเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นปรากฏจริงๆ เมื่อเกิดขึ้นปรากฏและดับไป สภาพธรรมนั้นเป็นอนิจจัง ลักษณะที่เกิดดับเป็นอนิจจังนั้นต่างหากที่เป็นทุกขลักษณะที่จะต้องรู้

เมื่อประจักษ์ว่า สภาพธรรมที่เกิดและดับไปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สภาพธรรมนั้นจึงไม่ใช่ตัวตนอีกต่อไป จึงชื่อว่าเพิกอิริยาบถ เพราะว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีลักษณะจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏ ทำให้คลายการยึดถือที่กำลังนั่งว่า เป็นเรานั่ง

ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด เราแน่ๆ ที่นั่ง ที่ยืน ที่นอน ที่เดิน แต่ที่จะไม่เป็นเรา เพราะมีสภาพธรรมแต่ละอย่างปรากฏ และสติระลึกรู้ ศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ละอย่าง จึงไม่มีอิริยาบถ จึงไม่มีความสำคัญว่า เรานั่ง หรือ เรานอน เรายืน เราเดิน มิฉะนั้นแล้วก็เป็นท่าทางที่ควบคุมประชุมรวมกันโดยที่ ยังยึดถือว่าเป็นเราแน่นอน เพราะว่ายังไม่ได้แยกฆนสัญญา ยังไม่ได้พิจารณา ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดจริงๆ และดับไป

เช่น ในขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้ พิสูจน์ธรรมเลยว่าอะไรเกิด เสียงปรากฏ หมายความว่า เสียงเกิด ที่เสียงเกิดปรากฏเพราะมีสภาพที่รู้เสียงเป็นนามธรรม แต่ถ้าสติไม่ระลึก เมื่อไรจะรู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อไรจะรู้ว่าเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา

อ่อนหรือแข็งเกิดขึ้นปรากฏ ถ้าไม่พิจารณาเมื่อไรจะรู้ว่า ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งนั้นเป็นรูป สภาพที่กำลังรู้อ่อนหรือแข็งนั้นเป็นนาม ไม่ใช่เรา และอ่อนและแข็งก็เกิดดับ สภาพที่รู้อ่อนรู้แข็งก็เกิดดับ

เพราะฉะนั้น การรู้ไตรลักษณะ หมายความว่ารู้ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเอง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ด้วยการแยกฆนสัญญาออก ถ้าตราบใดยังไม่แยก ฆนสัญญา จะไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ทำให้ไม่สามารถประจักษ์ทุกขลักษณะได้

. ผมฟังอาจารย์มาหลายปีแล้ว ปฏิบัติได้เป็นบางขณะ ผมได้บันทึกเทปคำบรรยายของท่านอาจารย์ไปให้เพื่อนฟัง รู้สึกว่า ธรรมที่อาจารย์บรรยายนี้แจ่มแจ้ง ดีนัก แต่ผมยังข้องใจอยู่ว่า สมัยนี้โลกของวัตถุเจริญมาก จึงทำให้ปฏิบัติยากหรืออย่างไรไม่ทราบ ในสมัยพุทธกาลเรื่องวัตถุไม่เจริญเท่าไร จึงบรรลุคุณธรรมกันง่าย ผมอยากทราบว่า หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ยังมีผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์อีกไหม นอกจากท่านพระอานนท์

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังสนใจว่า มีใครบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือเป็นพระอริยเจ้าบ้างหรือเปล่า ประโยชน์คืออะไร จะหายสงสัยในข้อปฏิบัติไหมถ้ามีคนบอกว่า เวลานี้มีพระอรหันต์ หรือมีพระอนาคามีบุคคล

. ประโยชน์ คือ เพื่อเทียบเคียงสมัยพุทธกาลกับสมัยปัจจุบันนี้

สุ. จะรู้ได้อย่างไรว่า คนอื่นบรรลุมรรคผลนิพพาน

. ในครั้งพุทธกาลก็ยังมีกล่าวไว้ และหลังพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว มีท่านพระอานนท์ที่บรรลุคุณธรรมขั้นพระอรหันต์ แต่ไม่ทราบว่ามีใครอีกหลังจากนั้น

สุ. คนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครบรรลุมรรคผลนิพพาน คนอื่นจะรู้ได้อย่างไรว่า สติปัฏฐานของใครกำลังเกิด

. … (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ท่านที่เป็นพระอรหันต์ย่อมทราบว่าใครเป็นพระอรหันต์ ท่านที่เป็น พระอนาคามีย่อมทราบว่าใครเป็นพระอนาคามี ท่านที่เป็นพระสกทาคามีย่อมทราบว่า ใครเป็นพระสกทาคามี ท่านที่เป็นพระโสดาบันย่อมทราบว่าใครเป็นพระโสดาบัน ท่านที่บรรลุญาณแต่ละขั้นย่อมรู้ว่าใครบรรลุญาณแต่ละขั้น แต่ผู้ที่ไม่บรรลุ ไม่มีทางจะทราบเลย

. … (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. นั่นเป็นเรื่องเก่าแก่มากตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ สมัยนี้ ถ้ามีใครบอกว่าผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้นี้เป็นพระอนาคามี ผู้นั้นเป็น พระสกทาคามี ผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน ท่านผู้ฟังจะเชื่อไหม บอกได้แต่จะเชื่อหรือเปล่า อยากให้บอก แต่จะเชื่อไหม ก็ยาก เพราะฉะนั้น หนทางที่จะรู้แน่ คือ ข้อปฏิบัติอย่างไรที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้นจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ พิจารณาจาก ข้อปฏิบัติ และเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัตินั้นเองด้วย

การรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่จะรู้ได้โดยง่ายและโดยรวดเร็ว เพราะเป็นเรื่องละเอียด เช่น ในขณะนี้ ได้ยินแน่นอน ท่านผู้ฟังลองพิจารณาว่า ได้ยินไหม ทุกเสียงที่ปรากฏ ปรากฏเพราะนามธรรมเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้น ควรรู้ไหมว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าเสียงอะไรทั้งสิ้นที่ปรากฏ

มีเสียงอีกแล้ว เป็นนามธรรมที่กำลังรู้ เสียงนั้นจึงปรากฏ สติควรระลึก ปัญญาควรพิจารณาเพื่อจะละความเป็นตัวตนไหม แม้แต่เพียงโลกเดียว คือ โลกของเสียง ก็ยังต้องเป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติที่สามารถจะพิจารณารู้จริงๆ ว่า แต่ละขณะที่ผ่านไป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลยสักขณะเดียว เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป แต่ถ้าสติไม่ระลึกตราบใด มุ่งที่จะไปรู้บางรูปบางนาม จะเป็นผู้ที่หลงลืมสติ และไม่สามารถละการยึดถือสภาพที่กำลังได้ยินในขณะนี้ว่า เป็นตัวตน เพราะสติไม่เคยระลึก ไม่เคยศึกษา ไม่เคยพิจารณาสภาพของได้ยินและเสียง

และทางตาก็เห็นอีก ก็ไม่ใช่ตัวตนอีก สำหรับผู้ที่ท่านตรัสรู้แล้ว เป็นนามธรรมที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่พิจารณา ไม่ศึกษา เมื่อไรจะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่กำลังเห็น

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดและปรากฏจริงๆ เป็นการแยกฆนสัญญา การรวมเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ อิริยาบถจึงจะปิดบังทุกข์ไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วก็ยังคงเป็นเรานั่ง และเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้าง เป็นสุข เป็นทุกข์บ้าง

เพราะฉะนั้น ควรที่จะเข้าใจเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอิริยาบถบรรพว่าเช่นเดียวกับบรรพอื่นๆ เช่น อานาปานบรรพ เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ แต่ให้รู้ลักษณะ ของรูปซึ่งเป็นมหาภูตรูปที่กระทบสัมผัสช่องจมูกหรือเบื้องบนริมฝีปาก ไม่ให้ติดอยู่ที่ เราหายใจเข้า เราหายใจออก เพราะว่าก่อนที่สติจะระลึกลักษณะของมหาภูตรูป ที่ช่องจมูก หรือที่เบื้องบนริมฝีปาก ย่อมมีความสำคัญว่า เราหายใจเข้า เราหายใจออก เหมือนกับที่เรานั่ง เรานอน เรากิน เราดื่ม เราเคี้ยว

แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏที่ช่องจมูก หรือที่เบื้องบนริมฝีปาก ไม่มีเรา มีแต่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวซึ่งเกิดดับ เป็นการแยกฆนสัญญา อิริยาบถก็ไม่ปิดบังทุกข์ และในขณะนั้นไม่มีความสำคัญว่า เราหายใจเข้า เราหายใจออก เพราะว่าลักษณะของธาตุลมที่ปรากฏที่ช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปากก็ดี หรือว่าลักษณะของธาตุไฟซึ่งเย็นหรือร้อน ซึ่งปรากฏที่ช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปากก็ดี ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเราหายใจ ถูก เพิกออก เพราะขณะนั้นเป็นแต่เพียงความเย็นหรือความร้อน อ่อนหรือแข็ง ซึ่งเกิดดับ

เพราะฉะนั้น ต้องเพิกความเป็นเราออก แม้แต่ในอานาปานบรรพและ อิริยาบถบรรพ และบรรพอื่นๆ ด้วย เช่น ปฏิกูลมนสิการบรรพ ซึ่งเคยเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง แต่เมื่อสภาพธรรมใดมีลักษณะปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ สติปัฏฐานจะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงไม่มีขน ไม่มีผม ไม่มีเล็บ ไม่มีฟัน ไม่มีหนัง เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น ไม่ให้ติดอยู่ที่รูปร่างสัณฐาน หรือไม่ให้ติดอยู่ที่เรานั่ง หรือไม่ให้ติดอยู่ที่เราหายใจเข้า เราหายใจออก

. ในหมวดของอานาปานบรรพว่า โยมอาจารย์ให้กำหนดรู้ลมหายใจ เข้าออก โดยลักษณะของความเป็นธาตุ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แต่ใน สติปัฏฐานสูตรและอรรถกถาที่อธิบายสติปัฏฐานสูตร ทำไมท่านอธิบายไปในลักษณะที่ให้ทำสมถะจนกระทั่งเข้าถึงฌาน และนำองค์ฌานมาพิจารณาในความเป็น ไตรลักษณ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอ่านแล้วรู้สึกว่าขัดแย้งกันกับที่โยมอาจารย์ให้กำหนดเพียงลักษณะเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ริมฝีปากบน หรือช่องจมูก นี่ประเด็นหนึ่ง

อีกประเด็นหนึ่ง ในหมวดของโกฏฐาส ๓๒ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ดี ในสติปัฏฐานสูตรและอรรถกถา ท่านอธิบายทำนองให้พิจารณาจนเกิดสมาธิ จึงจะละความยึดมั่นในลักษณะที่เป็นของสวยงาม คือ ให้แยกความเป็นโกฏฐาสต่างๆ ออกมา ข้อนี้โยมอาจารย์ก็ให้มีสติกำหนดรู้ในลักษณะของโกฏฐาสต่างๆ เหล่านั้น จึงอยากให้โยมอาจารย์อธิบายให้ชัดเจนด้วย

และประเด็นที่ ๓ คือ เรื่องของอิริยาบถปิดบังทุกข์ มีปัญหาว่า ทุกข์ที่ปิดบังอยู่นั้นเป็นทุกข์อะไร เพราะว่าในอภิธรรมแสดงทุกข์ไว้ถึง ๙ ลักษณะ เพราะฉะนั้น เพื่อความกระจ่างว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์นั้น ทุกข์อะไร ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย ขยายความให้ชัดเจน เพื่อความเข้าใจของผู้เจริญสติทั้งหลายด้วย

เปิด  240
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566