แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1224

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖


สุ. มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นสูตรที่กว้างขวางมาก โดยชื่อ ชื่อมหา – สติ – ปัฏ – ฐาน ที่ตั้งที่ระลึกของสติ มีมากมาย แยกเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพหนึ่ง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพหนึ่ง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพหนึ่ง และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพหนึ่ง

แสดงให้เห็นถึงความกว้างขวางของสภาพธรรมที่สติระลึกเพื่อที่จะรู้สภาพที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่บรรพหนึ่งในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ อานาปานบรรพ ซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพของลมหายใจ บุคคลที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของลมหายใจ ไม่จำกัด ไม่ใช่มีแต่ผู้ที่ได้ปฐมฌาน หรือผู้ที่ได้ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน ถ้าศึกษาโดยละเอียด แม้ในขณะที่ยังไม่ได้บรรลุฌาน สติที่ระลึกลักษณะของลมที่ปรากฏในขณะนั้น จะกล่าวว่าไม่ใช่ลมหายใจได้ไหม ตามความเป็นจริง ในเมื่อเป็นลมหายใจนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าลมหายใจปรากฏ ซึ่งมีโอกาสจะปรากฏ และสิ่งนั้นต้องเป็นลมหายใจ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ สติควรระลึก หรือไม่ควรระลึก ขณะนั้นเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมหรือเปล่า ที่ลมหายใจกำลังปรากฏ ลักษณะของลมเป็นรูปหรือเปล่า สภาพที่กำลังรู้ลมเป็นนามธรรมหรือเปล่า เมื่อเป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ไม่รู้ ก็ ไม่สามารถที่จะละความยึดถือว่า เป็นเราหายใจเข้า หรือเราหายใจออกได้

แม้แต่อานาปานบรรพ ก็แสดงให้เห็นความกว้างขวางของบุคคลผู้เจริญ สติปัฏฐานว่า มีทั้งผู้ที่บรรลุฌาน และผู้ที่ไม่บรรลุฌาน ซึ่งย่อมหมายความถึง บรรพอื่น เช่น ปฏิกูลมนสิการบรรพด้วย ผมมี ระลึกได้ไหม เป็นรูปหรือเป็นนาม ทางตา หรือทางจมูก หรือทางกายที่กระทบสัมผัส

เมื่อมีสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตนเลย แม้ผมก็เป็นส่วนของกายที่ประชุมรวมกันกับตา หู จมูก ลิ้น ขน เล็บ ฟัน หนัง จึงปรากฏเป็นเราขึ้น เพราะฉะนั้น การที่สติสามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งทุกคนมีจริงๆ แต่ว่าสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องมีลักษณะที่ปรากฏ คือ เกิดขึ้นและดับไป แม้แต่ปฏิกูลมนสิการสำหรับผู้ที่ถ้าไม่เคยอบรมมา ก็ยากเหลือเกินที่จะเห็นว่า เป็นปฏิกูล เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่สติของใครจะระลึกที่ลักษณะของนามใดที่กาย ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางใจ ก็แล้วแต่ ในเมื่อเป็น สภาพธรรมที่มีจริง ก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ไม่ต้องติดอยู่ที่พยัญชนะ เพราะว่าแต่ละบรรพกว้างขวางจริงๆ

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ญาณวิภังคนิทเทส อธิบาย ญาณอันเป็นกำลัง (พลญาณ) ข้อที่ ๓ ของพระผู้มีพระภาค มีข้อความว่า

อนึ่ง เมื่อบุคคลเหล่านั้นเริ่มตั้งวิปัสสนาอยู่นั่นแหละ และมีวิปัสสนาอันปรารภแล้วโดยกิริยาอาการอันใด พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ผู้นี้จักบรรลุพระอรหัต ผู้นี้จักไม่อาจเพื่อบรรลุพระอรหัต ผู้นี้จักเป็นพระอนาคามีเท่านั้น ผู้นี้จักเป็น พระสกทาคามีเท่านั้น ผู้นี้จักเป็นพระโสดาบันเท่านั้น แต่บุคคลนี้จักไม่อาจเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล ผู้นี้จักตั้งอยู่ในวิปัสสนาอันมีเพียงลักษณะ (คือ ไตรลักษณะ) เป็นอารมณ์ ผู้นี้จักตั้งอยู่ในปัจจยปริคคหญาณ ผู้นี้จักตั้งอยู่ในนามรูปปริคคหญาณเท่านั้น ผู้นี้จะตั้งอยู่ในอรูปปริคคหญาณเท่านั้น ผู้นี้จักตั้งอยู่ในรูปปริคคหญาณเท่านั้น ผู้นี้จักกำหนดได้เพียงมหาภูตะเท่านั้น ผู้นี้ไม่อาจเพื่อกำหนดอะไรๆ ได้เลย ดังนี้

แสดงให้เห็นว่า แต่ละบุคคลต่างกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนเมื่อได้ฟังพระธรรม เรื่องอานาปานบรรพแล้ว จะระลึกรู้ที่ลมหายใจ จะพิจารณาจิตที่ประกอบด้วยปีติ หรือสภาพธรรมอื่นในขณะนั้น รู้แจ้งเป็นพระอรหันต์ได้โดยรวดเร็วเหมือนกันไปหมด ก็ไม่ใช่ แต่ว่ามีใครบ้างที่ฌานจิตจะเกิด เพราะฉะนั้น เมื่อฌานจิตไม่อาจจะเกิดได้ แต่สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ และถ้าลมหายใจปรากฏและสติระลึก ก็ยับยั้งไม่ได้ที่จะไม่ให้สติระลึก เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกศึกษา ไม่ยึดถือว่า เราหายใจเข้า หรือเราหายใจออก ก็จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จนกว่าแยกฆนสัญญาออก และอิริยาบถไม่ปิดบังทุกข์อีกต่อไป

. อาตมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอานาปานบรรพนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมีปฏิบัติทั่วประเทศไทยตามสำนักต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระธุดงค์กัมมัฏฐานแทบทุกแห่ง จะเริ่มต้นและจะยืนอยู่บนหมวดของอานาปานะ ในลักษณะที่กำหนดลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งลมหายใจเบาลงๆ หรืออาจจะเบาจนไม่รู้สึก เมื่อถึงขั้นนี้แล้วจะกำหนดพิจารณาจิต หรือสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นว่า แนวทางที่โยมอาจารย์บรรยายอยู่นี้ เป็นแนวทางที่อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นเอกเทศ ต่างหากจากบรรดาพระธุดงค์กัมมัฏฐานทั้งหลายที่ท่านปฏิบัติอยู่ ซึ่งอาตมาเห็นว่า เป็นสภาพที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับฆราวาสทั้งหลายที่จะกำหนดในลักษณะที่โยมอาจารย์บรรยาย คือ กำหนดโดยลักษณะของลมกระทบเท่านั้น ซึ่งอยากจะกล่าวว่า เป็นนัยของวิปัสสนาโดยตรง ไม่ต้องผ่านสมถะ นี่อาตมากล่าวเพื่อตั้งข้อสังเกตเท่านั้น

สุ. แต่ข้อที่สำคัญที่สุด คือ ควรพิจารณาอรรถที่ได้ฟัง เช่น ข้อความที่ว่าอนึ่ง เมื่อบุคคลเหล่านั้นเริ่มตั้งวิปัสสนาอยู่นั่นแหละ

ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ สติปัฏฐานไม่เกิด มีใครจะตั้งวิปัสสนาได้ไหม หรือว่าเมื่อได้ยินข้อความนี้จาก สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ก็คิดว่า ตั้งกันได้แน่ๆ ก็จะตั้งวิปัสสนาโดยที่ไม่รู้ว่า วิปัสสนาคืออะไร

เพราะส่วนมากจะมีคนถามว่า วิปัสสนาทำอย่างไร เป็นเรื่องที่จะทำ ไม่ใช่เรื่องศึกษา ไม่ใช่เรื่องอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่วิปัสสนา

ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน ย่อมทราบอรรถที่ว่า เมื่อบุคคลเหล่านั้นเริ่มตั้งวิปัสสนา คือ เป็นผู้ที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาด้วยสติ ที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และข้อความต่อไปที่ว่า และมีวิปัสสนาอันปรารภแล้ว ก็ต้องเกิดจากการที่สติเริ่มระลึก และน้อมศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

โดยกิริยาอาการใด พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ผู้นี้จักบรรลุพระอรหัต ผู้นี้จักไม่อาจเพื่อบรรลุพระอรหัต ผู้นี้จักเป็นพระอนาคามีเท่านั้น ผู้นี้จักเป็น พระสกทาคามีเท่านั้น ผู้นั้นจักเป็นพระโสดาบันเท่านั้น

ท่านผู้ฟังคงพอใจมาก ถ้าจะได้รับคำพยากรณ์อย่างว่า จักเป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าใครจะให้ท่านผู้ฟังเป็น ยอมเป็นไหม โดยที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นความจริง เพราะแม้พระผู้มีพระภาคเองก็ย่อมทรงทราบว่า ผู้นี้จักตั้งอยู่ในวิปัสสนาอันมีเพียงลักษณะ คือ ไตรลักษณะเป็นอารมณ์ นี่คือ อุทยัพพยญาณ จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ เสียงปรากฏ นามธรรมหรือรูปธรรม ทางตาที่กำลังเห็น นามธรรมหรือรูปธรรม

ถ้าสติปัฏฐานยังไม่เกิดจนชำนาญทั้ง ๖ ทางที่จะระลึกรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไร ไม่ว่าจะคิดอะไร ไม่ว่าจะเห็นอะไร เกิดสลับคั่นกันอย่างไรก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งนามธรรมหนึ่งเกิดแล้วดับไป นามธรรมอื่นจึงเกิดต่อได้ หรือรูปธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ รูปธรรมอื่นย่อมไม่ร่วมปรากฏอยู่ในรูปธรรมนั้นเลย เป็นรูปธรรมแต่ละรูปซึ่งปรากฏแต่ละทาง เพราะฉะนั้น ข้อความต่อไปจึงมีว่า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ผู้นี้จักตั้งอยู่ในปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งนี่คือ วิปัสสนาญาณ ผู้นี้จักตั้งอยู่ในนามรูปปริคคหญาณเท่านั้น คือ วิปัสสนาญาณที่ ๑ หรือ ผู้นี้จะตั้งอยู่ในอรูปปริคคหญาณ คือ การกำหนดพิจารณานามธรรมเท่านั้น หรือ ผู้นี้จักตั้งอยู่ในรูปปริคคหญาณเท่านั้น หรือ ผู้นี้จักกำหนดได้เพียงมหาภูตะเท่านั้น หรือ ผู้นี้ไม่อาจเพื่อกำหนดอะไรๆ ได้เลย

แต่ละท่านต้องเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดในบุคคลเหล่านี้ แต่ว่าต้องตามความเป็นจริง

ยากที่อิริยาบถจะไม่ปิดบังทุกข์ เพราะว่าตามความเป็นจริง แม้ว่าทุกท่านกำลังนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน จะมีอัตตสัญญา ความทรงจำว่าเป็นเรายังมีอยู่ มีความรู้สึกว่าเราแน่นอน ยังมีศีรษะตลอดเท้าอยู่ และกำลังนั่งอยู่ในอิริยาบถ อย่างนั้นๆ นอนอยู่ในอิริยาบถอย่างนั้นๆ ที่อิริยาบถจะเพิกได้หมด ก็ต่อเมื่อลักษณะของสภาพธรรมปรากฏเพียงลักษณะเดียวจริงๆ ทีละอย่าง จึงจะไม่มีอิริยาบถ หรือการสำคัญว่ายังมีเรา ซึ่งกำลังอยู่ในอิริยาบถนั้นๆ

. ขณะที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ บางขณะความคิดในเรื่องอดีตจะผ่านมา บางทีติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งกว่าสติจะระลึกได้ก็คิดไปตั้งนาน จะมีวิธีแก้อย่างไร

สุ. จะแก้ไม่ให้คิด หรือจะให้รู้

. คิดนึกต้องมี ปัญหามีว่า นึกคิดนาน จะมีทางให้สั้นลงได้ไหม เพื่อจะได้มีสติระลึกรู้ว่า ความคิดนึกมีมากมาย

สุ. สรุปแล้ว ท่านผู้ฟังไม่ชอบคิด ไม่อยากคิด อยากอะไร

. ความคิดในอดีตที่ผ่านมาแล้ว

สุ. ไม่เป็นไร จะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่ชอบใช่ไหม ไม่ชอบคิด หรือชอบเหมือนกัน แต่ชอบเรื่องปัจจุบัน ไม่ชอบคิดเรื่องอดีต

. คิดเรื่องอดีต มีแต่ความทุกข์และความเศร้า ทำให้จิตใจไม่ผ่องใส

สุ. ของจริงทั้งนั้น ไมว่าจะคิดเรื่องเศร้า จะคิดเรื่องสุข จะคิดเรื่องทุกข์ จะคิดเรื่องอะไรก็ตามแต่ ของจริงทั้งนั้น ใช่ไหม

. ใช่

สุ. ไม่ชอบของจริง ไม่อยากจะรู้ความจริงที่กำลังคิดในขณะนั้น ใช่ไหม

. โดยธรรมชาติต้องมี แต่ปัญหามีว่า คิดเรื่องอดีตมากเกินไป

สุ. ท่านผู้ฟังชอบอะไร ถ้าไม่ชอบคิดเรื่องอดีต

. ทำให้เราเจริญสติปัฏฐานต่อไปไม่สะดวก

สุ. ถ้าไม่คิดอดีต คิดหรือว่า สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ลองพิจารณาดูว่า ท่านผู้ฟังไม่ชอบคิดเรื่องอดีต เพราะคิดว่า ถ้าคิดเรื่องอดีตแล้วสติปัฏฐานจะไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังคิดในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังชอบคิดเรื่องอะไร ถ้าไม่ชอบคิดเรื่องอดีต ชอบคิดเรื่องปัจจุบันนี้ไหม ท่านผู้ฟังบอกว่า ชอบคิดเรื่องปัจจุบัน แต่แน่ใจหรือว่า กำลังคิดเรื่องปัจจุบัน สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังคิดเรื่องปัจจุบัน

. ก็ไม่แน่ บางที่ก็เพลินไปในอดีต

สุ. เมื่อไม่แน่ มีค่าเท่ากัน เหมือนกันไหม จะคิดเรื่องอดีต หรือจะคิดเรื่องปัจจุบัน จะคิดเรื่องเมื่อวานนี้ คิดเรื่องปีก่อน หรือจะคิดเรื่องวันนี้ พรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า ก็คือคิดเท่านั้นเอง เหมือนกัน หรือต่างกัน

. เหมือนกัน

สุ. ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น บางท่านไม่ชอบอกุศลอย่างนี้ แต่ชอบอกุศลอย่างนั้น แต่ความจริงก็คืออกุศลนั่นแหละ ถ้าไม่ชอบดูหนัง แต่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ เป็นโลภะเหมือนกันไหม ก็คืออกุศลนั่นแหละ เพราะฉะนั้น เมื่อไรอกุศลทั้งหลายจึงจะไม่ใช่ตัวตน ซึ่งอกุศลแต่ละอย่างย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น เมื่อรู้ถึงสภาพความเป็นปัจจัยที่ทำให้อกุศลประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น สติก็จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เพราะไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ แต่สติสามารถจะตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียว อย่าลืม หนทางเอก คือ หนทางเดียว คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ไม่ว่าจะคิดเรื่องอดีต ไม่ว่าจะคิดเรื่องวันนี้ หรือไม่ว่าจะคิดเรื่องอนาคต ขณะนี้เห็น คิดเรื่องที่กำลังเห็น ใช่ไหม สติระลึกรู้ได้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพคิด ไม่ใช่สภาพเห็น อย่าเลือก เลือกอะไรก็ไม่ได้ เพราะถ้าเลือกไปเลือกมา สติไม่เกิดเลย เพราะมัวแต่เลือก

ยาก เพราะไม่ใช่ให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้ามีใครสอนให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใด ก็คือเพิ่มความเป็นตัวตนที่สามารถจะทำได้โดยไม่รู้ความจริงว่า สภาพธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่ถ้าสติซึ่งเป็นอนัตตาเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมใดๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะทำให้คลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนได้

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ อธิบายคำว่า วิหรติ มีข้อความว่า

คำว่า วิหรติ นั้น เป็นคำแสดงประกอบการอยู่ด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาการอยู่ด้วยอิริยาบถ ๔ อธิบายว่า ตัดขาดการเบียดเบียนอิริยาบถหนึ่งด้วยอิริยาบถอื่น แล้วจึงนำอัตภาพอันยังไม่ตกไปให้เป็นไปอยู่

หมายความว่า ชีวิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งดำรงอยู่และเป็นไป ก็เพราะการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เหมือนกับการที่ต้องกิน ดื่ม เคี้ยว พูด ประกอบกิจการงาน ต่างๆ ไม่มีใครสามารถที่จะอยู่เฉยๆ ได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตย่อมดำรงอยู่ด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาการอยู่ด้วยอิริยาบถ ๔

ในตอนท้ายของ อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ ได้สรุป ข้อสำคัญที่ควรพิจารณา ดังนี้

อีกนัยหนึ่ง พึงทราบในคำว่า กาเย กายานุปัสสี นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสกัมมัฏฐานไว้ด้วยอนุปัสสนา (คือ การตามเห็นตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย)

ในคำว่า วิหรติ นี้ ตรัสการบริหารกายของผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ด้วยการอยู่ตามที่กล่าวแล้ว

ในคำว่า อาตาปี เป็นต้น ตรัสสัมมัปปธานไว้ด้วยอาตาปะ

เพราะเป็นเครื่องเผาผลาญกิเลสทั้งหลายในภพทั้ง ๓ ในสมัยนั้น คือ ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด

ตรัสกัมมัฏฐานอันมีประโยชน์ทั้งปวง หรืออุบายเป็นเครื่องบริหารกัมมัฏฐานไว้ด้วยสติสัมปชัญญะ

สัมปชัญญะ คือ ปัญญาในขณะที่พิจารณากายเมื่อกายปรากฏ หรือพิจารณาเวทนาเมื่อเวทนาปรากฏ หรือพิจารณาจิตเมื่อจิตปรากฏ หรือพิจารณาธรรมเมื่อธรรมปรากฏ

ตรัสการได้สมถะ (คือ ความสงบ) ด้วยสติ หรือว่าด้วยอำนาจกายานุปัสสนา

ตรัสวิปัสสนาไว้ด้วยสัมปชัญญะ

และตรัสผลแห่งภาวนาไว้ ด้วยการนำอภิชฌาโทมนัสออก ดังนี้

พรรณนาเนื้อความอุทเทสแห่งกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ

เปิด  221
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565