แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1225

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖


ในคราวก่อนมีท่านผู้ฟังถามเรื่องเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม ซึ่งหมายความถึงการออกด้วยการปฏิบัติมรรคพรหมจรรย์อย่างหนึ่ง และการออกด้วยการบวชอุปสมบทเป็นเพศบรรพชิตอีกอย่างหนึ่ง

ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส กายานุปัสสนานิทเทส อุทเทสวารกถา อธิบายคำว่า อิธ ภิกฺขุ (ภิกขุในพระศาสนานี้) มีข้อความว่า

ในคำว่า อิธ ภิกฺขุ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในเทวโลกตรัสสติปัฏฐานวิภังค์นี้ แม้ภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่านั่งอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคในเทวโลกนั้น ไม่มีก็จริง เมื่อความเป็นอย่างนั้น (เพราะเหตุไร พระองค์จึงตรัสคำว่า อิธ ภิกฺขุ นี้) ก็เพราะสติปัฏฐานเหล่านั้นเป็นอารมณ์ของภิกษุ ทั้งภิกษุทั้งหลายก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสคำว่า อิธ ภิกฺขุ ดังนี้

ถามว่า ก็พวกภิกษุเท่านั้นหรือย่อมเจริญสติปัฏฐานเหล่านี้ ภิกษุณีเป็นต้น ไม่เจริญหรือ

ตอบว่า ชนเหล่าอื่นแม้มีภิกษุณีเป็นต้นก็เจริญ แต่ภิกษุทั้งหลายเป็นบริษัทชั้นเลิศ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อิธ ภิกฺขุ เพราะความเป็นบริษัทชั้นเลิศ ด้วยประการฉะนี้

อีกอย่างหนึ่ง พระองค์ตรัสอย่างนั้นก็เพราะจะแสดงความเป็นภิกษุด้วยการปฏิบัติ จริงอยู่ บุคคลใดดำเนินไปสู่การปฏิบัตินี้ บุคคลนั้นชื่อว่าภิกษุ ด้วยว่าบุคคลผู้ปฏิบัติจะเป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์ก็ตาม ย่อมถึงการนับว่าเป็นภิกษุทั้งนั้น เหมือนอย่างที่ตรัสพระคาถาว่า

แม้ถ้าว่า ผู้ใดมีธรรมอันประดับแล้ว ผู้สงบแล้ว ผู้ฝึกตนแล้ว ผู้เที่ยง ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ สละอาชญาในสัตว์ทั้งปวง ประพฤติธรรมอันสงบ ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ

เพราะฉะนั้น คงไม่มีปัญหา การเจริญสติปัฏฐานไม่จำกัดสถานที่ ในสวรรค์ก็เจริญสติปัฏฐานได้ และพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงแสดงพระอภิธรรมสลับกับ มรรคพรหมจรรย์ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ขอกล่าวถึงโพธิปักขิยธรรมหมวดที่ ๒ สัมมัปปธาน ๔ ได้แก่ สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐาน ซึ่งความเพียรชอบที่เกิดพร้อมกับ สติปัฏฐานจะต้องทำกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จ จึงชื่อว่าสัมมัปปธาน

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สัมมัปปธานสังยุต มีข้อความว่า

สาวัตถีนิทาน

ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้ สัมมัปปธาน ๔ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ๑ เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้แล

ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่มีแต่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะในขณะนั้นปัญญายังไม่รู้ชัดว่า ลักษณะใดเป็นลักษณะของนามธรรม ลักษณะใดเป็นลักษณะของรูปธรรม ซึ่งโดยการศึกษาทราบว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย แต่ในขณะนี้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตาที่กำลังเห็น สภาพใดเป็นนามธรรม สภาพใดเป็นรูปธรรม แยกไม่ออก ถ้าสติไม่ระลึกและสัมมาวายามะไม่เกิดขึ้นกระทำกิจทั้ง ๔ ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ลักษณะใดเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ และลักษณะใดเป็นรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หมายถึงว่า ที่เจริญสติปัฏฐานก็เพื่อดับกิเลส เพราะไม่มีหนทางอื่นที่กิเลส ซึ่งสะสมมามากมายจะดับได้ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมและปัญญาศึกษาจนกระทั่งรู้ชัด และในขณะที่สติระลึก สัมมาวายามะทำกิจประคองจิตไว้ ปรารภความเพียร เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

สติปัฏฐานเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ไม่พอ เล็กน้อยเหลือเกิน แต่สัมมาวายามะทำกิจของสัมมัปปธาน คือ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความมียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

วิปัสสนาญาณยังไม่เกิด ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมยังไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น

การที่สติแต่ละขณะจะเกิดขึ้น และสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ จะเกิดขึ้นกระทำกิจของสัมมัปปธาน ในขณะที่พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน

ขณะหนึ่งที่สติปัฏฐานเกิด มีความเพียรเกิดที่จะศึกษาลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ที่กำลังรู้แข็ง หรือเสียง หรือสี หรือกลิ่น หรือรสที่ปรากฏ ในขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นการโน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน จนกว่าจะถึง แต่ไม่ใช่ว่าจะถึงได้โดยเร็ว

ข้อความต่อไป

ข้อ ๑๐๙๕ - ข้อ ๑๐๙๖

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ การแสวงหากาม ๑ การแสวงหาภพ ๑ การแสวงหาพรหมจรรย์ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ อย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัมมัปปธาน ๔ อันภิกษุพึงเจริญ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความละซึ่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้

ท่านผู้ฟังแสวงหา ๓ อย่างนี้ ใช่ไหม คือ บางขณะก็แสวงหากาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในวันหนึ่งๆ แสวงหากามมากกว่าแสวงหาอย่างอื่น หรือเปล่า บางขณะท่านผู้ฟังก็แสวงหาภพ อยากจะเกิดในสวรรค์ อยากจะไม่เกิดในอบายภูมิ กลัวการเกิดในนรกมาก เพราะฉะนั้น ก็แสวงหาภพด้วยการกระทำกุศล ต่างๆ เช่น ทานกุศล หรือศีลกุศล เป็นต้น และในบางขณะก็แสวงหาพรหมจรรย์เพื่อที่จะดับภพทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ขณะใดที่มีการแสวงหา ขณะนั้นเป็นลักษณะของความพากเพียร ความอุตสาหะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง โดย ปรมัตถธรรม ได้แก่ วิริยเจตสิก ซึ่งเป็นปกิณณกเจตสิก เป็นอัญญสมานาเจตสิก

อัญญสมานาเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตได้ทุกประเภท ทุกชาติ คือ เกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้

เจตสิกที่เป็นปกิณณกเจตสิก ต่างกับเจตสิกที่เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ไม่เว้น แต่สำหรับปกิณณกเจตสิก แม้ว่าจะเป็นอัญญสมานาเจตสิกเช่นเดียวกับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ก็เว้นไม่เกิดกับ จิตบางดวง

สำหรับอัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ทุกชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ซึ่งทั้งหมดมี ๑๓ ดวง หรือ ๑๓ ประเภท แยกออกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง

ขณะนี้มีเจตสิกทั้งหลายที่ได้กล่าวถึง แต่ไม่เลยรู้สักขณะเดียว ใช่ไหม เพราะไม่มีลักษณะของเจตสิกใดปรากฏ

สำหรับอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ที่เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง คือ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ และมนสิการเจตสิก ๑

จะรู้หรือไม่รู้ จะเคยได้ยินชื่อหรือไม่เคยได้ยิน จะสนใจหรือไม่สนใจ แต่ สภาพธรรม คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ประเภทนี้ ก็เกิดกับจิตทุกดวง ไม่เว้น

. สติเจตสิกเป็นเจตสิกประเภทไหน

สุ. เป็นโสภณเจตสิก

. หมายความว่า ไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

สุ. แน่นอน

. แต่ทำไมหนังสือนักธรรมโท มีมิจฉาสติด้วย

สุ. โดยองค์ธรรม ไม่มีสติเจตสิกที่เป็นมิจฉา หรือเป็นอกุศล แต่ในพระสูตรที่ทรงแสดงว่า มีสัมมามรรค ๘ และมีมิจฉามรรค ๘ เพื่อเทียบเคียงให้เห็นข้อปฏิบัติที่ผิดว่า สิ่งใดที่เข้าใจว่าเป็นสติแต่ไม่ใช่สตินั้นเป็นมิจฉาสติ ซึ่งโดยสภาพปรมัตถธรรม คือ โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์

. หมายความว่า ขณะที่ทำอกุศล ไม่มีสติเกิดเลย

สุ. ใช่

สำหรับปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑

ที่กล่าวถึงก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงให้ละเอียดขึ้น เช่น ความเพียร เป็นวิริยเจตสิก เกิดกับอกุศลก็ได้ ไม่จำเป็นว่าเพียรแล้วต้องเป็นกุศล อย่างบางท่านบอกว่า ควรเป็นคนขยัน ไม่ควรเป็นคนเกียจคร้าน ก็เป็นลักษณะที่ควรจะมีความเพียรสืบเนื่องติดต่อกันจนกว่าความประสงค์หรือความต้องการนั้นจะสำเร็จ แต่จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องพิจารณา เพราะวิริยเจตสิกสามารถเกิดกับอกุศลก็ได้ เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับวิบากก็ได้ เกิดกับกิริยาก็ได้

อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบาย วิริยินทรีย์ มีข้อความว่า

วิริยะ มีอุตสาหะเป็นลักษณะ มีการประคองอุปถัมภ์ค้ำจุนสหชาตธรรมเป็นกิจ มีความไม่ย่อท้อเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ มีความสลดเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะพระบาลีว่า สํวิคฺโค โยนิโส ปทหติ (ผู้มีความสลดย่อมเริ่มตั้งความเพียรโดยปัญญา) หรือมีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร เป็นปทัฏฐาน พึงทราบว่า วิริยะที่ริเริ่มโดยชอบ ย่อมเป็นเค้ามูลแห่งสมบัติทั้งปวง

ท่านผู้ฟังจะเห็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดวิริยะว่า มี ๒ อย่าง คือ ถ้า เป็นกุศล มีความสลดเป็นปทัฏฐาน แต่ถ้าเป็นอกุศล มีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร เป็นปทัฏฐาน

ถ้ามีแต่เพียงโลภะ ความติด ความพอใจ ความเพลิดเพลิน โดยที่ไม่มีวิริยะ จะได้สิ่งที่ต้องการไหม มีความชอบ มีความติด มีความพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่มีวิริยะ จะได้สิ่งนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ลักษณะของวิริยะนั้น มี อุตสาหะ ความเพียร เป็นลักษณะ มีการประคองอุปถัมภ์ค้ำจุนสหชาตธรรมที่เกิดร่วมด้วยเป็นกิจ มีความไม่ย่อท้อเป็นอาการที่ปรากฏ แต่ถ้าเป็นฝ่ายกุศล มีความสลดเป็นปทัฏฐาน

ที่ท่านผู้ฟังมีอุตสาหะ และมีการประคองค้ำจุนสหชาตธรรม หรือมีความไม่ ย่อท้อในการฟังธรรม ฟังแล้วฟังอีก อ่านแล้วอ่านอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก หรือสติระลึกแล้วระลึกอีก มีความสลดเป็นปทัฏฐาน ด้วยปัญญาที่เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่มีสิ่งใดที่จะคงอยู่ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและ ดับไปทั้งหมด เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

ถ. สัมมัปปธาน ๔ องค์ธรรมได้แก่ วิริยเจตสิกดวงเดียว ไม่น่าจะดับกิเลสได้ เพราะพุทธพจน์บทหนึ่งตรัสว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ เป็นการรับรองว่า ผู้ที่จะล่วงทุกข์ได้เพราะอาศัยความเพียร และสัมมัปปธาน ๔ ที่อาจารย์ยกมาว่า ทำกิจ ๔ อย่าง จะละกิเลสได้ ล่วงทุกข์ได้ ซึ่งตามปกติผู้ที่จะละกิเลสได้ พระองค์ก็ได้ทรงแสดงไว้หลายแห่งว่า ต้องอาศัยปัญญา ฉะนั้น วิริยเจตสิกดวงเดียวจะละได้อย่างไร

สุ. สภาพธรรมอย่างเดียวละกิเลสไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถ. แต่บางครั้ง พระองค์ตรัสว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ อาศัยความเพียรอย่างเดียวก็ล่วงทุกข์ได้แล้ว

สุ. อย่างเดียวเกิดไม่ได้แน่ ไม่มีสังขารธรรมใดๆ จะเกิดขึ้นได้ตามลำพัง

ถ. จึงน่าคิดว่า ทำไมทรงแสดงไว้อย่างนั้น

สุ. การศึกษาธรรม ต้องสอดคล้องกันทั้งในเรื่องของมหาสติปัฏฐานและ ในส่วนอื่นๆ ด้วย ถ้ายกวิริยะขึ้นเพื่อให้เห็นความสำคัญของวิริยะ ถ้าเพียงสติเกิด ดับแล้วยังไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม สติเกิดอีกก็ยังไม่รู้อีกว่า สภาพธรรมใดเป็นนามธรรม สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีวิริยะ คือ อาตาปี เกิดร่วมด้วย

เปิด  255
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566