แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1226
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖
และสนทนาธรรมที่อินเดีย วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๖
สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สัมมัปปธานวิภังคนิทเทส วิริยนิทเทส มีข้อความที่แสดงถึงขั้นต่างๆ ของวิริยะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถ้าจะกล่าวถึงวิริยะ ความเพียรนิดหน่อย ชั่วขณะเล็กน้อย นิดเดียว และจะให้สำเร็จผลมากมาย คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการเจริญขึ้น การอบรม การกระทำให้มากขึ้น
ซึ่งข้อความใน วิริยนิทเทส มีว่า
ในนิทเทสแห่งวิริยะ พระโยคาวจรผู้ทำความเพียรอยู่นั่นแหละ ชื่อว่า ปรารภความเพียร
แม้แต่คำว่า ปรารภความเพียร คือ เมื่อสติเกิดระลึก เพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏ ในขณะที่ความเพียรกำลังทำกิจของความเพียรด้วยวิริยะ ด้วยอุตสาหะนั้นเอง ชื่อว่าปรารภความเพียร
ท่านผู้ฟังพิจารณาได้จากตัวของท่านผู้ฟังเองว่า กำลังปรารภความเพียรอยู่ หรือเปล่า อยากจะให้สติเกิดวันละมากๆ คร่ำครวญ เมื่อไรสติจะเกิดมากๆ บ่อยๆ สติเกิดน้อยเหลือเกิน แต่ว่าที่สติจะเกิดมากๆ ได้ ต้องเพราะปรารภความเพียร เพียรฟัง เพียรพิจารณาในเหตุผล เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด และความเพียรนั้นก็จะได้เพียรศึกษา เป็นอธิปัญญาสิกขา ที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า สภาพใดเป็นนามธรรม สภาพใดเป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่ตัวตน
ขณะที่กำลังฟังนี้ ก็คือ ปรารภความเพียร
ข้อความต่อไปใน วิริยนิทเทส มีว่า
บทที่ ๒ ท่านทำให้เจริญด้วยอุปสรรค (คือ ตามหลักไวยากรณ์) เมื่อทำความเพียรอยู่นั่นแหละ ชื่อว่าย่อมเสพ ย่อมเจริญ
ความเพียรเพิ่มขึ้นแล้ว ใช่ไหม ทีละน้อย ไม่ใช่เพียงขณะเดียวสองขณะ แต่ขณะใดก็ตามที่กำลังเพียรอยู่ ปรารภแล้ว ปรารภอีก ในขณะนั้น ชื่อว่าย่อมเสพ ย่อมเจริญ เห็นได้จริงๆ ว่า ไม่มีวิธีอื่นเลย จึงเพียร ที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เมื่อทำความเพียรบ่อยๆ ชื่อว่ามาก
ใครทำให้ก็ไม่ได้ นอกจากความเพียรนั้นเองเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงจะชื่อว่ามาก
เมื่อทำตั้งแต่ต้นเทียว ชื่อว่าปรารภ
ข้ามขั้นได้ไหม สติเกิดนิดเดียว เมื่อไรจะประจักษ์การเกิดดับ เมื่อไรจะเป็นอุทยัพพยญาณ ข้ามขั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จึงมีข้อความว่า เมื่อทำตั้งแต่ต้นเทียว ชื่อว่าปรารภ ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นจริงๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏให้ได้ทั้ง ๖ ทาง ตามปกติ ตามความเป็นจริง ย่อมไม่ประจักษ์ความเกิดดับ
เมื่อทำบ่อยๆ ชื่อว่าปรารภด้วยดี
หมายความว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ถูก เพราะไม่มีข้อปฏิบัติอื่นเลย ขณะนี้ ทางตาถ้าสติระลึก ชื่อว่าถูก ชื่อว่าปรารภด้วยดี ระลึกแล้ว ระลึกอีกบ่อยๆ ชื่อว่า ปรารภด้วยดี
เมื่อซ่องเสพด้วยความสามารถแห่งภาวนา ชื่อว่าย่อมเสพ เมื่อให้เจริญอยู่ ชื่อว่าย่อมเจริญ เมื่อทำสิ่งนั้นนั่นแหละในกิจทั้งปวงให้มาก พึงทราบว่า ย่อมกระทำให้มาก ดังนี้
จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม
ถ. ในพระไตรปิฎกเรื่องของพุทธวังสะ ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่า มี ๓ ประเภท คือ ปัญญาธิกบารมี ศรัทธาธิกบารมี และวิริยาธิกบารมี ซึ่ง วิริยาธิกบารมีนั้น จะเกี่ยวข้องกับสัมมัปปธานอย่างไร คือ จะมีความเด่นในเรื่องของ วิริยเจตสิกนี้มากหรืออย่างไร ขอกราบเรียนถาม
สุ. แล้วแต่องค์ของการที่จะให้ตรัสรู้ ซึ่งแต่ละบุคคลที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต่างกันโดยองค์ที่จะให้บรรลุว่า ด้วยปัญญา หรือว่าด้วยศรัทธา หรือว่าด้วยวิริยะ
นี่คือความต่างกัน เป็นความวิจิตรของแต่ละขณะจิตจริงๆ ถ้าสติปัฏฐาน ไม่เกิดจะไม่ทราบเลยว่า จิตของท่านเองแต่ละขณะวิจิตรต่างๆ กันตามการสะสม เดี๋ยวคิดอย่างนี้ เรียบร้อยเสร็จแล้ว ต่อไป เดี๋ยวก็คิดอย่างอื่น อาจจะเปลี่ยนก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น เป็นความวิจิตรของจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ
นี่สำหรับคนเดียว ในเรื่องเดียว แต่ชีวิตไม่ได้มีเรื่องเดียว และแต่ละเรื่องจะต้องมีการปรุงแต่งของความคิดแต่ละขณะ ถ้าเป็นแต่ละบุคคลในโลกที่กว้างใหญ่ จะเห็นความวิจิตรของจิตได้ว่า วิจิตรตามการสะสมของแต่ละคนจริงๆ และแต่ละขณะก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ก็ไม่มีบุคคลใดที่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นๆ ได้
ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยว่า เมื่อไรจะถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สงสัยไหม ไม่สงสัย ถูกต้อง เพราะในขณะที่ฟังธรรมนี้เอง เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ ถ้าพิจารณาลักษณะที่เพียรเป็นสังขารขันธ์ เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะ พูดถึงเรื่องเจตสิกธรรม หรือว่าจิตประเภทต่างๆ หรือว่าลักษณะของสัมมัปปธาน ของโพธิปักขิยธรรม ก็เป็นเรื่องของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ไม่มีการแยกออกไปต่างหาก แต่ว่าขณะใดที่ฟังพระธรรมและเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เช่น ทางตาที่กำลังเห็น พูดบ่อย เพราะว่าเป็นของจริง จริงๆ ซึ่งบ่อยๆ ไม่มีการที่ใครจะไม่เห็นมากๆ เลยในวันนี้ ใช่ไหม เป็นธรรม เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องกล่าวถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอีกหมวดหนึ่งต่างหาก เมื่อกล่าวถึง สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมทั้งหลาย ย่อมเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งสิ้น เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
คงจะไม่สงสัยในเรื่องชื่อ เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ถ. อาจารย์มักจะกล่าวว่า เพียรระลึกสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ยังมีอีกหลายท่านที่ไม่เข้าใจว่า ขณะเห็นเดี๋ยวนี้ รู้ทันทีว่าอะไร เช่น เห็นเก้าอี้ ก็รู้ทันทีว่าเป็นเก้าอี้ เพียรระลึกอย่างไรจึงจะเป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ทางตา
สุ. เพียรพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา นี่คือการที่จะต้องพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง
ถ. ลักษณะนี้รู้ด้วยจากการฟัง ไม่ใช่รู้ด้วยจากการปฏิบัติ
สุ. ความเพียรต้องเริ่มตามลำดับจากการฟังก่อน เมื่อฟังแล้วพิจารณา เห็นด้วยไหมที่ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ปรากฏทางอื่น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ่ายถอนความยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาออก ให้รู้ความจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏได้ทางตาเท่านั้นเอง
ถ. โดยการฟังแล้วเห็นด้วย
สุ. เมื่อเห็นด้วยแล้ว ต้องไม่ลืมที่สติจะเห็นด้วยโดยระลึกและศึกษา สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเพิกถอนความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนออกจากสิ่งที่เคยปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ถ. เห็นทีไรก็เป็นเก้าอี้
สุ. จนกว่าจะไม่เป็น
ถ. ผู้ปฏิบัติหลายท่านคงจะอยากทราบว่า จะเพียรระลึก จะเพียรพิจารณาอย่างไร จึงจะไม่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน
สุ. ดูเหมือนว่า เป็นสิ่งที่จะทำให้ดูได้ แต่ว่าเรื่องของความเพียร เป็น วิริยเจตสิก เป็นอาตาปี สัมปชาโน สติมา เป็นเรื่องของนามธรรม แม้ขณะนี้ สติปัฏฐานของใครจะเกิด บุคคลอื่นก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่สามารถฟังเรื่องของ สติปัฏฐานให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว สังขารขันธ์ปรุงแต่ง อาศัยความเข้าใจนั้นเองเพิ่มพูนขึ้นจนกระทั่งเป็นสัญญาความจำที่มั่นคง ทำให้สติระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น แม้จะยังไม่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ยังไม่รู้อย่างนี้ได้จริงๆ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา จริง กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทำอย่างอื่น นอกจากเมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาจริง กำลังปรากฏอยู่ ก็พิจารณาจนกว่าจะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียงที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่แข็งที่กระทบสัมผัสทางกาย
นี่คือการแยกฆนะซึ่งรวมกัน ถ้าท่านผู้ฟังถามว่า ทำอย่างไรจะฝนทั่งให้เป็นเข็ม คำตอบจะว่าอย่างไร ก็ฝนไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง
ถ. ที่โยมอาจารย์กล่าวว่า เพียรระลึกเนืองๆ บ่อยๆ นี้ ในขณะที่มีสติระลึกอยู่นี้ อะไรเป็นใหญ่กว่ากันระหว่างความเพียรกับสติ เพราะย้ำว่าเพียรระลึก บ่อยๆ เนืองๆ
สุ. ไม่ควรคำนึงถึงว่า อะไรเป็นใหญ่ ซึ่งในขณะที่สติเกิดจะต้องมีความเพียร และจะต้องมีการน้อมไปเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย คือ พร้อมทั้ง อาตาปี สัมปชาโน สติมา เพราะไม่ใช่เพียรฟังเท่านั้น หรือไม่ใช่เพียรพิจารณาเท่านั้น แต่เพียรในขณะที่สติระลึก เมื่อสติระลึกแล้ว ผู้ที่มีความเพียรเกิดขึ้น ย่อมจะสังเกตสภาพลักษณะที่เพียรได้ว่า ขณะนั้นมีความเพียรเกิดขึ้นที่จะศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ถ. ยังจำคำที่โยมอาจารย์ย้ำบ่อยๆ ได้ว่า ให้สำเหนียก สังเกต ลักษณะที่ปรากฏ การสำเหนียก สังเกต บางครั้งรู้สึกว่า มีทั้งความเป็นอัตตาและตัณหาเข้ามาแทรก ถ้าเป็นตัณหาเข้ามาแทรก คือ อยากรู้ อยากเห็น อยากระลึกอย่างนี้ อาตมายังพอจะระลึกหรือสังเกตลักษณะออก แต่ถ้าลักษณะที่เป็นอัตตาเข้ามาแทรก ทำให้เกิดความลังเลไม่แน่ใจว่า ขณะที่สติรู้ในลักษณะสิ่งที่ปรากฏนานๆ เช่น มีลมโกรกกระทบตัวเองอยู่นานๆ หรือเสียงโยมอาจารย์ หรือเสียงใครก็ดี กำลังสนทนากัน เกิดอยู่นานๆ การรู้สึกนานๆ เช่นนั้น จะชื่อว่ามีความเป็นอัตตาตัวตนเข้าไปแทรกอยู่ในนั้นหรือเปล่า
สุ. ในขั้นต้น ยังไม่สามารถดับความเป็นอัตตาตัวตนได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะปรารภความเพียรย่อมทราบว่า ยังมีอัตตาตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้น จึงระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยไม่กังวล และโดยไม่เลือก
ถ้าสติมีปัจจัยที่จะเกิดระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมใดบ่อย ก็เป็นเรื่องของสติ โดยที่บุคคลนั้นต้องไม่หวั่นไหว เพราะความคิดจะเกิดแทรกสงสัยขึ้นว่า สติควรจะระลึกลักษณะของสภาพนั้นต่อไปหรือว่าไม่ควร แม้ที่คิดอย่างนั้นก็เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องที่จะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามปกติจริงๆ ถ้าเกิดคิด เกิดสงสัยขึ้น เมื่อยังเป็นตัวตนอยู่ สติปัฏฐานก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพคิด
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ความลังเลยังมีอยู่ ตราบใดที่ยังไม่ถึงโสตาปัตติมรรค เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจะปรากฏชัดขึ้นเมื่อสติและปัญญาคมกล้าขึ้น สามารถจะแทงตลอดได้ว่า ลักษณะนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน และระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่นต่อไปได้ แต่เวลาที่ระลึกและภายหลังเกิดความไม่แน่ใจ ขณะนั้นหมายความว่า สติไม่ได้ระลึกลักษณะที่กำลังคิดสงสัย
เรื่องของความเพียรเพื่อเป็นสัมมัปปธาน เป็นเรื่องที่จะต้องเพียรหลายอย่าง ทั้งขั้นฟัง อ่าน พิจารณาพระธรรม และสนทนาพระธรรม
ขอตัดข้อความจากสนทนาธรรมระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานและพุทธสถานที่ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ให้ท่านผู้ฟังได้รับฟังและพิจารณาธรรมด้วย
สนทนาธรรมวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๖
ที่ห้องอาหารสนามบินเดลลี ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเป็นแคว้นกุรุ
สุ. ควรจะระลึกรู้ลักษณะของเจตนา ซึ่งกำลังมีสภาพปรากฏเป็นความ จงใจ ถ้าไม่รู้ว่าลักษณะสภาพของความจงใจเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ความมีตัวตนก็ยังอยู่ที่ความจงใจ และตัวตนก็จงใจเข้าไปอีก จึงไม่ใช่หนทาง ต้องทิ้ง ต้องรู้ ระลึกได้ว่าลักษณะที่จงใจ …
(มีผู้พูดแทรกขึ้น)
ผู้ฟัง เหมือนไม่ได้ตั้งใจ บางครั้งก็ลอยๆ เฉยๆ
สุ. ลอยเพราะเราเป็นผู้มีอวิชชามาก จะไม่ให้ลอยมีทางเดียว คือ อาศัยการฟัง มิฉะนั้นจะไม่ชื่อว่าสาวก ฟัง ฟัง ฟังแล้วเป็นสัญญาความจำที่มั่นคง อย่างเราได้ยินได้ฟังเรื่องอะไร เราก็คิดเรื่องนั้น เราจะไม่คิดเรื่องที่เราไม่ได้ฟัง ถ้าเราได้ฟังเรื่องไหนบ่อย ใจเราก็หมกมุ่นคิดแต่เรื่องนั้น หรือถ้าเราได้ฟังอะไรใหม่ๆ ใจเราอาจจะคิดเรื่องที่เราเพิ่งได้ฟัง ฉันใด เช้าเราฟังอีก เย็นฟังอีก ค่ำฟังอีก เราก็คิดเรื่องที่เรา เพิ่งได้ฟัง ก็เป็นความจำที่มั่นคง จนกระทั่งสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่ความจงใจ แต่ในขณะนั้นที่ตั้งใจจงใจ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่สติควรระลึกว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม มีลักษณะอย่างนั้น เพื่อที่จะได้ระลึกลักษณะอื่นต่อไป
ก่อนดูโทรทัศน์ มีกิเลสไหม ทำไมจะต้องมีกิเลสตอนกำลังดูโทรทัศน์ เวลาไม่ดูโทรทัศน์มีกิเลสไหม กิเลสมีหรือเปล่าถึงไม่กล้าดูโทรทัศน์ อย่างกับว่าก่อนจะดูโทรทัศน์ไม่มีกิเลส
นี่เป็นเพราะยังไม่รู้ลักษณะของสภาพรู้และสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ จึงได้แยกออกเป็นโทรทัศน์และไม่ใช่โทรทัศน์ ซึ่งที่จริงแล้วทั้งหมดทางตา จะเห็นอะไรก็ตามเหมือนกันทั้งหมด ถ้ารู้ความจริงแล้ว จะไม่ต่างกันเลย
ถ. คุณหมอบอกว่า เห็นการเกิดดับง่ายทางโทรทัศน์
สุ. ไม่ต้องเป็นห่วงเลยว่า ทางตาจะเห็นอะไร และให้ทราบว่า ถึงอย่างไรกิเลสก็มีแล้วโดยยังไม่ทันได้ดู อ่านหนังสือ ตัวหนังสือขาวๆ ดำๆ เท่านั้น ทำไมกลายเป็นประธานาธิบดี เป็นไต้ฝุ่น เป็นอะไรๆ ทั้งที่เป็นเพียงเส้นขีดไปขีดมาเท่านั้น
ถ. ถ้ารู้อย่างนี้ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ ที่เรารู้ว่าเป็นประธานาธิบดีหรือคนนั้นคนนี้ เป็นสมมติสัจจะ
สุ. ถูกต้อง ดีมากเลย เรื่องความเข้าใจปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะ ไม่อย่างนั้นจะไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเขาคิดว่า เวลาที่รู้สมมติสัจจะแล้วเจริญ สติปัฏฐานไม่ได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งทั้ง ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้ตาม ก็คือรู้ทั้ง ๒ อย่าง รู้แม้แต่ว่าทวารไหนเป็นทวารของสมมติสัจจะ
และที่มีสมมติสัจจะได้ ก็เพราะมีปรมัตถสัจจะ เมื่อวานนี้ก็คุยกับคุณซินอี่ซึ่งได้ฟังธรรมจากคุณไพน่า คุณไพน่าเป็นอาจารย์สอนสถาปัตย์ที่มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ ตั้งแต่เป็นนักเรียน ตอนนี้จบแล้ว กลับไปทำงานที่กัวลาลัมเปอร์ คุณไพน่าบอกคุณ ซินอี่ว่า ถ้าไม่มีปรมัตถสัจจะ จะมีสมมติสัจจะได้อย่างไร อย่างเขาเรียนสถาปัตย์ เขาก็ต้องเห็นเป็นเส้นเป็นรูป เป็นอาคารบ้านเรือนต่างๆ แต่ถ้าไม่มีการเห็นเลย วิชานี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ถ. มีผู้ถามกันมากว่า การเจริญสติปัฏฐานต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เมื่อ มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์แล้ว สิ่งใดที่ปรากฏ ไม่ทันต่อการพิจารณา คล้ายๆ ว่า เกิดขึ้นมาเร็วเกินไป ไม่ทัน เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานของเขา เขาไม่แน่ใจว่า จะถูกต้องตรงตามที่เข้าใจหรือเปล่า ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายเกี่ยวกับปรมัตถอารมณ์ ที่เป็นสภาพตามความเป็นจริงว่า คืออย่างไร
สุ. กำลังปรากฏอยู่ทุกขณะ ถ้าไม่มีปรมัตถ์จะเห็นอะไร การเห็นจะมี ได้ไหม ไม่มีเสียง ปรมัตถ์ในการได้ยิน คือ จิต จะได้ยินได้ไหม ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นปรมัตถ์ จะมีการรู้อะไรอย่างนี้ได้ไหม เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า ปรมัตถธรรมคืออะไร และมีกี่อย่าง
ถ. ปรมัตถ์หมายความถึงสิ่งที่มีจริง
สุ. โดยยังไม่ต้องเรียกชื่ออะไรทั้งสิ้น แต่ก่อน ไมโครโฟนมีจริง เทปมีจริง สิ่งต่างๆ มีจริง ถ้าอย่างนั้นพวกนี้ต้องเป็นปรมัตถ์หมด แต่ปรมัตถ์ คือ สิ่งที่มีจริง โดยยังไม่ได้เรียกชื่ออะไรทั้งนั้น
ถ. ตามความเข้าใจ สภาพที่ปรากฏจริงๆ ส่วนมาก สัญญา ความจำ มาตลอด ไม่ว่าจะเห็นจะได้ยินอะไรก็ตาม
สุ. เพราะฉะนั้น จึงได้มีนิจจสัญญา ซึ่งต่างกับอนิจจสัญญา
ถ. อย่างนี้ได้ไหม เราพยายามมีสติ พยายามจะเกิดสติระลึกรู้ สมมติว่า เดินไปกระทบแข็ง เราก็รู้ว่าแข็ง มีอะไรผ่านมาไหว ก็รู้ว่าไหว อะไรทำให้เราเจ็บ เรา ก็รู้ว่าเจ็บ
สุ. ที่จริง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ และเป็นลักษณะที่ควรเป็นสติปัฏฐาน แต่ตัวตนบังอยู่นิดเดียวว่า เรา เราทำ เราระลึก เรารู้ เราจะรู้ตรงแข็ง
ถ. เอาเราออกเสีย เป็นสติรู้
สุ. นั่นชื่อ เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนป้าย แต่ก็คือ ตัวเราเองกำลังเปลี่ยนป้าย