แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1227

สนทนาธรรมที่อินเดีย

๑๔ เมษายน และ ๑๗ เมษายน ๒๕๒๖


. ผมรับประทานอะไร ผมรู้รส สติก็รู้ว่า รู้รส

สุ. สัมมาสติเกิดเพราะสังขารขันธ์ปรุงแต่ง เราไม่คิดเลยว่า สติจะเกิด แต่สติก็ระลึกแล้ว นั่นจึงเป็นสัมมาสติ เราจะเห็นความเป็นอนัตตา ต้องโดยไม่คาดฝัน และสติระลึกในขณะนั้น ตามปกติอย่างนี้เลย ไม่มีการล่วงหน้า เราอาจจะมีการคิดล่วงหน้า แต่ต้องรู้ว่า ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่สติกำลังระลึก

. ถ้าเราพยายามบ่อยๆ รู้สึกว่า สติจะเกิดบ่อยๆ เมื่อก่อนเราทานข้าว เราก็ทานไป รู้รสก็รู้รส เราเดินไปไม่ระลึกรู้อะไรเลย เดี๋ยวนี้กระทบอะไรแข็ง ก็รู้ว่าแข็ง

สุ. โดยมากช่วงระยะเวลาที่พยายามนี่มี และเราก็รู้ว่าช่วงนั้นเป็นความพยายาม แต่สติก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย

. ถ้าเราไม่พยายาม ความเพียรที่เรียกว่าอาตาปี จะเป็นอย่างไร

สุ. ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ท่านคงไม่มีเวลาคิดว่า ท่านจะพยายามรู้ แต่เพราะการสะสมในอดีตและสติเป็นอนัตตา ใครก็กั้นขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ สติระลึก และปัญญาแทงตลอดไม่ได้ ไม่มีใครกั้นได้

เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ว่า ถ้าเราไม่พยายามจะรู้ได้อย่างไร จะหมดไป เมื่อเราฟังแล้วเข้าใจ และสติเริ่มเกิด เราจะเห็นว่า สติเกิดเพราะความเข้าใจ ยิ่งเข้าใจมาก ยิ่งฟังมาก สติเกิด เราก็ไม่ติดในสติ แต่นี่ฟังแล้วสติยังไม่เกิด เราก็อยากมีสติ ก็เป็นอุปสรรคหนึ่ง และเราก็มานั่งคิดว่า สติเราน้อย เป็นทุกข์อีก ใช่ไหม

. ยาก เราก็ไม่จำเป็น ...

สุ. เราทำวิริยะ หรือว่าวิริยะเกิดตามปัจจัย วิริยะเกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง ที่วิริยะไม่เกิดร่วมด้วย เราต้องเข้าใจว่า วิริยะก็เหมือนกับความรู้สึก ใครทำให้ความรู้สึกเกิดได้ไหม ความรู้สึกเป็นอนัตตา อาศัยผัสสะก็เกิด มิฉะนั้น ๔๕ พรรษา ไม่ทรงแสดงสำหรับพวกเราที่จะมากุรุ ๒๕๐๐ กว่าปี จึงได้ทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อไม่ให้เข้าใจผิด แสดงจนกระทั่งว่าอะไรเป็นเหตุใกล้ ของเวทนา คือ ความรู้สึก ไม่ใช่เราจะทำความรู้สึกอย่างนั้น แต่ผัสสะ การกระทบ เป็นปัจจัย

เพราะฉะนั้น ไม่มีใครทำวิริยะ ไม่มีใครสร้างวิริยะ เหมือนกับไม่มีใครสร้างเวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้น เราจะไปใช้วิริยะ ผิด เราทำไม่ได้ เราใช้วิริยะไม่ได้ วิริยะต้องเกิดเพราะปัจจัยของเขา เหมือนความรู้สึกที่ต้องเกิดเพราะปัจจัย แต่ความเป็นตัวตนของเรา เอาทุกอย่างมาเป็นเราทั้งหมดเลย ตั้งแต่ความรู้สึกก็เป็นเรา วิริยะก็เป็นเรา และยังคิดว่า ต้องมีเราทำด้วย

ถ. ผมเคยได้ยินการบรรยายธรรมว่า ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีตัวตน จึงจะละความไม่มีตัวตน

สุ. คุณหมอไม่ได้หมายความอย่างนั้น แต่คุณหมอหมายความว่า คุณหมอมีความพยายามที่จะรู้ ใช่ไหม มีความพยายามที่จะรู้ ในขณะที่กำลังพยายามอยู่ ยังต้องมีความเป็นตัวตน นี่แน่นอน ตราบใดที่สติปัฏฐานยังไม่ได้ เจริญจนกระทั่งความมีตัวตนคลาย ถูกไหม ถ้าเราบอกว่า ไม่ใช่ตัวตน หมายความว่าเราฟังมา เราเข้าใจว่าไม่ใช่ตัวตน ขั้นหนึ่ง ขั้นเข้าใจ แต่เวลาที่เราพยายาม เป็นเราแน่ๆ จนกว่าสติจะระลึก แม้ความคิด แม้ความจงใจ แม้ลักษณะของความพยายาม ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง คือ ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมมากขึ้น เพิ่มขึ้น จนชิน จึงจะรู้ว่า แม้ลักษณะของความพยายามก็ไม่ใช่เรา

. ขณะที่เราพยายาม เราก็รู้ว่า เราพยายาม

สุ. ความเป็นตัวตนยังมีอยู่ ซึ่งความเป็นตัวตนยังมีอยู่นี้เป็นธรรมดา ต้องเป็นไปตามขั้นจริงๆ ที่จะไม่ยึดถือความพยายามว่าไม่ใช่ตัวตน ยังเป็นไปไม่ได้ ข้ามขั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า นามธรรมมีมาก หลายอย่าง ซึ่งสติจะต้องระลึกลักษณะของนามธรรมไปเรื่อยๆ ทีละอย่างสองอย่าง จนกว่าจะชิน และก็ต้องรู้ว่า ถ้าทางตาที่กำลังเห็นนี้ ยังไม่รู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ จริงๆ ก็แปลว่า จะต้องอบรมอีกมาก เพราะเท่ากับว่าทางอื่นก็ยังไม่รู้เหมือนกัน และทางไหนที่สติเริ่มระลึก ก็ค่อยๆ น้อมไประลึกสิ่งที่สติกำลังระลึกทีละนิด เหมือนกับกำลังเปิดทางให้เห็นว่า นี่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ชัดว่า นี่นามหรือรูปอีก จนกว่าสติจะเกิดบ่อยๆ ระลึกบ่อยๆ

. อาจารย์เคยพูดที่วัดดงเทวี อำเภอเชียงดาวว่า ไม่ควรเป็นห่วงเรื่องสติจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ควรเป็นห่วงเรื่องความเข้าใจถูก เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าไม่เข้าใจเรื่องสติ การเริ่มต้นไม่ถูก ผลจะถูกไม่ได้

สุ. ปัญญาต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเรามั่นคงในข้อนี้ เราก็ไม่ไปทางอื่น คือ ไม่หลีกหนีสิ่งที่ปรากฏ เพราะกำลังปรากฏอยู่ และรู้ด้วยว่า เวลาที่สติเกิดกับเวลาที่หลงลืมสติต่างกันอย่างไร ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ และศึกษา คือ ค่อยๆ น้อมไปโดยอาศัยธรรมที่ได้ฟัง อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเวลานี้ เป็นของจริง ก็ต้องแน่ใจว่าจริง คือ ไม่ใช่ใคร ไม่มีอะไรอยู่ในที่นี้ มีอ่อน มีแข็ง เมื่อกระทบเท่านั้น นี่คือของจริง และลองคิดดู สิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏแล้ว ซึ่งกว่าจะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เราก็เลียนคำเก่งว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นของจริง ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นี่พูดคล่อง แต่เมื่อไรจะจริงอย่างที่พูด ถ้าไม่จริงอย่างนี้ ไม่เป็นไปอย่างนี้ ละกิเลสไม่ได้ ไม่มีทาง

เพราะฉะนั้น กุศลมีหลายขั้นมาก ทั้งๆ ที่มหากุศลมี ๘ ดวง แต่ว่าแจงไปจนกว่าจะถึงขั้นที่กำลังจะเป็นพระอริยบุคคล

สนทนาธรรมวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๒๖

ที่โรงแรมอโศก เดลฮี ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเป็นเขตแคว้นกุรุ

. ปกติถ้าเราไม่ได้พิจารณา หรือว่าเราไม่มีสติระลึก การมอง การเห็น หรือการได้ยินต่างๆ ก็เป็นสมมติ คือ ไม่ใช่เห็นตามความเป็นจริง ใช่ไหม

สุ. ถ้าเห็นตามความเป็นจริงแล้ว เราจะต้องอบรมเจริญสติไหม

. เท่าที่ผมสังเกต ปกติชีวิตประจำวัน การเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี เป็นการเห็นที่ว่าติดต่อกันตลอด เห็นต้นไม้ เห็นสิ่งของ เห็นเก้าอี้ เห็นคน ทั้งหมดเลย แต่เมื่อฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน การระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าเป็นทางตาก็เป็นเพียงสี หรือวัณโณ วัณณะ ทางหูก็เป็นเพียง ...

สุ. ไม่ต้องใช่ชื่ออะไรก็ได้ เป็นสภาพที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จริงหรือเปล่า

. ตามความเป็นจริง เห็นเป็นสมมติตลอดทั้งวันทั้งคืนเลย แสดงว่าตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ เราไม่ได้เห็นตามสภาพที่เราได้ศึกษาและเข้าใจ

สุ. ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องเจริญสติ ถ้าเห็นแล้ว ตามความเป็นจริง

. เห็นแล้ว ยังต้องรู้ว่าเป็นนาม เป็นรูป และต้องแยกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

สุ. จึงเป็นกัปๆ ไม่อย่างนั้นจะเข้าใจความหมายของคำว่ากัป แสนกัป ได้อย่างไร นี่แสดงให้ว่า ทำไมจึงต้องใช้เวลานานอย่างนั้น และจะมาเร่งรัดชาตินี้ ชาติเดียว ทำกันอย่างไรไหว

. อย่างเห็นสีแดง เห็นขณะหนึ่ง และสีแดงอีกขณะหนึ่งหรือเปล่า

สุ. ไม่มีคำว่าสีแดง ไม่มีคำอะไรทั้งนั้น

. เราเห็น เราทราบว่า สีแดง สีแดงนี้เป็นสัญญาความจำหรือเปล่า

สุ. มีเห็น แล้วมีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นสีอะไรก็ตามแต่ ไม่ต้องคำนึงถึงเลย แต่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏไม่เปลี่ยนลักษณะ สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเปลี่ยนลักษณะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

. สีแดง สีดำอะไร ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

สุ. ทุกอย่างที่กำลังปรากฏ ก็ปรากฏ จะไปเปลี่ยนเขาได้อย่างไร

. วันนั้นมีคนกล่าวว่า พอเห็นแล้วก็เป็นสีเลย

สุ. ทุกอย่างเป็นปกติ ไม่ผิดปกติเลย ใช้คำว่า เป็นสี หมายความว่า ทีแรกไม่เป็นสีอย่างนั้นหรือ

. ไม่ใช่ พอเห็นก็สีแดงเลย สีแดงมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเห็นขณะหนึ่ง และทราบว่าเป็นสีแดงอีกขณะหนึ่ง

สุ. เห็น เห็นอะไร

. เห็นสีแดง

สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เห็นแล้วสีแดงจะมาปรากฏทีหลัง

. พร้อมกัน

สุ. ทุกอย่างเป็นปกติ เวลานี้การเห็น ก็คือการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่มาย้อมสีกันทีหลังทีละสีๆ อย่างนั้น

. ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างเราเห็นเก้าอี้ แต่ว่าสีกับเก้าอี้คนละอย่าง

สุ. สิ่งที่ปรากฏทางตา อย่าใช้คำว่า สี ใช้คำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา

. ตกลง ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เข้าใจ

สุ. สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

. พอเห็นปั๊บ สีดำ สีแดง มีอยู่แล้ว

สุ. เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จะใช้คำอะไรก็ได้ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

ผู้ฟัง วันนั้นคุณนิภัทรพูดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏตามความเป็นจริง คือ มีอะไรก็ปรากฏอย่างนั้น เข้าใจแค่นี้ก่อน

สุ. ไม่น่าจะมีอะไรที่จะไปสงสัย

ถ. ทีแรกก็ไม่สงสัย พอได้ยินใครพูด จึงได้สงสัย

สุ. ความสงสัยนี้ช่างมาก ไปเที่ยวสงสัย ซึ่งความจริงอวิชชากับความสงสัย ทำให้เกิดขึ้นในสิ่งที่ธรรมดาจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพียงแต่ไม่รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่จะต้องเอาความเป็นตัวตนออก เพราะไม่เคยระลึกได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เอาตัวตน เอาสัตว์ เอาบุคคล เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความทรงจำในอัตตสัญญาออกไป เพราะก่อนนี้มีอัตตสัญญาเต็มว่า นี่โต๊ะ นี่เก้าอี้ นี่คน นี่เสา ซึ่งนั่นคืออัตตสัญญา

การที่จะถ่ายถอนอัตตสัญญาและรู้ในสภาพที่เป็นอนัตตสัญญา อนัตตสัญญาเราบอกว่า ไม่ใช่ตัวตน ถูกไหม เพราะฉะนั้น ทางตาต้องเอาตัวตนออกไปจากสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้เหลือแต่เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นทางตา ไม่อย่างนั้นตัวตนจะติดตามไปจนกระทั่งไม่มีทางที่จะเอาออก และไปทำวิธีอื่นอย่างไรก็เอาตัวตนออกไม่ได้ ตราบใดที่ไม่ระลึกว่า ทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ซึ่งคนตาบอดไม่เห็น

ถ. อัตตสัญญานี่ ...

สุ. อาศัยสติระลึก และพิจารณา สังเกต จนกว่าจะเป็นความรู้ในลักษณะสภาพของรูปกับสภาพของนาม อย่างรูปทางตา พูดกันได้ชัดมากว่า วัณโณ รูปารมณ์ อะไรก็ท่องกันไป แต่เวลานี้ ไหนล่ะวัณโณ รูปารมณ์ ก็เป็นคุณสุรีย์ เป็นใครๆ ไม่ใช่วัณโณ ไม่ใช่รูปารมณ์ เพราะฉะนั้น ต้องถ่ายถอนคุณสุรีย์ออกไป คุณศุกลออกไป ทุกสิ่งทุกอย่างออกไป เหลือเพียงรูปารมณ์ หรือสิ่งที่เพียงปรากฏ ทางตาเท่านั้นจริงๆ นี่คือ อนัตตสัญญา ไม่ใช่ตัวตน

. ที่อาจารย์บรรยายนี้ มีความจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องทำความเข้าใจก่อน และนำเอาความเข้าใจที่เราจำได้นั้น มาพิจารณาต่อไป

สุ. ไม่มีการนำ แต่สังขารขันธ์ปรุงแต่ง อย่าลืม พอมีตัวตนก็จะใช้ จะนำ ให้นึกถึงสังขารขันธ์ ไม่อย่างนั้นไม่ทรงแสดงเรื่องขันธ์ ๕ ทรงแสดงทำไม ให้เหนื่อยยากว่าไม่ใช่ตัวตน และขันธ์แต่ละขันธ์ก็มีหน้าที่แต่ละอย่าง อย่างสังขารขันธ์ สติก็เป็นสังขารขันธ์ ขณะที่ฟังเข้าใจ เป็นสติและปัญญาที่เกิดและก็ดับ เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังสลับกับเสียงที่กำลังปรากฏอยู่เรื่อยๆ นี่คือการปรุงแต่งที่สติจะเกิดขึ้นตามที่เข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่เข้าใจจริงๆ จะไม่มีการเจริญสติปัฏฐานใดๆ ทั้งสิ้น คนที่ไม่เข้าใจและจะไปเจริญปัญญา ทำได้อย่างไร

. แม้ความเข้าใจ ถ้าไม่เกิดในขณะนั้น

สุ. ก็ไม่มีอะไรเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติเกิด จะไปนั่งทำอะไรกันไม่ไหวหรอกในเมื่อไม่มีปัจจัย ไม่มีอุปกรณ์อะไรสักอย่าง จะทำงานแสนใหญ่ แต่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่มีวัตถุอะไรเลย จะไปนั่งใช้ลม ใช้อากาศ อะไรกันล่ะ

. การเจริญสติปัฏฐาน กับการเจริญมรรคมีองค์ ๘ เหมือนกันหรือเปล่า

สุ. แน่นอน หนทางเดียว แสดงไว้เลย จะใช้คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางก็ได้ จะใช้คำว่า มรรค ๘ ก็ได้ จะใช้คำว่า อริยมรรคก็ได้ จะใช้คำว่า สติปัฏฐานก็ได้

. คืออันเดียวกัน

สุ. แน่นอน

. เคยได้ยินว่า สัญญาเป็นเครื่องเนิ่นช้า หมายความว่าอย่างไร

สุ. อัตตสัญญา มีไหม สัญญา เราจำไว้เท่าไร จนกระทั่งว่า คิดอะไร ก็เป็นคน เป็นเรื่อง เป็นอะไรไปหมด ทางตาที่เห็นก็เป็นสิ่งต่างๆ ไปหมด สัญญาก็เป็นอัตตสัญญาทั้งหมด ยังไม่ได้ระลึกว่า สัญญาเป็นแต่เพียงสภาพจำ ไม่มีคน ไม่มีตัวตนเลย เวลานึกเรื่องอะไรขึ้นมา ก็คือตัวสัญญาที่จำเรื่องนั้น

เพราะฉะนั้น เราขณะนี้ จิต เจตสิก รูป เกิดดับ แต่ไม่รู้อะไรเลย สัญญาก็กำลังเกิดดับ แต่ไม่รู้ลักษณะว่า นี่คือสภาพจำซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ทุกอย่าง ทั้งรูปขันธ์ ทั้งเวทนาขันธ์ ทั้งสัญญาขันธ์ ทั้งสังขารขันธ์ ทั้งวิญญาณขันธ์ ไม่รู้เลย รู้แต่ชื่อ แต่กำลังเกิดดับ แม้แต่สัญญาที่กำลังจำอยู่ทุกขณะนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน และอย่างนี้จะไม่เนิ่นช้าหรือ

. การปฏิบัติที่อาจหาญ ร่าเริง หมายความว่า เราไม่ท้อถอยเลย ใช่ไหม คือ สู้ ดิฉันซาบซึ้งจริงๆ แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจ

สุ. การที่จะหมดความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้นี้ ปัญญาต้องรู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ใจเรานี้เวลาที่อกุศลเกิด ก็หวั่นไหวแล้ว ใช่ไหม อาจหาญร่าเริงที่จะระลึกรู้ไหมว่า นั่นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา สังขารขันธ์ปรุงแต่งอกุศลระดับใด อกุศลระดับนั้นก็เกิด เมื่อเกิดก็ปรากฏ เมื่อปรากฏแล้ว ไม่อาจหาญที่จะระลึกรู้ ก็หวั่นไหวไป

. แต่ถ้าสติยังไม่เกิด จะเป็นหวั่นไหวหรือเปล่า คือ แม้ไม่ท้อถอย ก็ยังไม่อาจหาญหรือ

สุ. ก็ไม่ได้ระลึกอะไรเลย จะไปอาจหาญได้อย่างไร

. ก็ระลึก แต่ยังไม่แจ่มแจ้ง

สุ. ยังไม่ใช่ความอาจหาญที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม หมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจจึงจะอาจหาญได้ คนไม่รู้อะไรเลยว่า นี่ปืน จะบอกว่า ฉันอาจหาญมีปืนอยู่ในมือ แต่ใช้ก็ไม่เป็น ทำอะไรก็ไม่ได้

. รายการสนทนาในวิทยุ มีผู้หญิงคนหนึ่งถามอาจารย์ว่า จะถอนความเป็นตัวตน จะทำอย่างไร อาจารย์ก็บอกว่า ยกตัวอย่างเรื่องเสียง มีเสียง มีได้ยิน มีเสียงกับสภาพรู้ที่ได้ยิน ผู้หญิงคนนั้นก็ถามว่า และอาจารย์อยู่ที่ไหน หมายความว่า ความไม่ใช่ตัวตน คือ ชั่วขณะที่เสียงนั้นปรากฏ

สุ. ที่สติระลึก และรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

ถ. และต่อจากนั้น ก็อาจจะเป็นบัญญัติต่อไป

สุ. ตามปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ทำอะไรให้ผิดปกติไปสักอย่างเดียว แล้วแต่สติจะระลึกขณะไหน เพราะต่อกันแล้ว ทางตาก็ต่อทางใจ ทางหูก็ต่อทางใจ ทางจมูกก็ต่อทางใจ ทางลิ้นก็ต่อทางใจ ทางกายก็ต่อทางใจ แม้ไม่มีการเห็น การ ได้ยิน ใจก็คิดนึก ซึ่งสติจะต้องระลึกจนทั่ว ถ้าไม่ทั่ว ก็ไม่ละ จะละความเป็นตัวตน ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เลือก ตอนนี้จะเป็นคนนี้ คนนั้น ที่จะเป็นคนนี้ คนนั้น นั่นคือ จิตที่กำลังนึก กำลังคิด กำลังจำ

ถ. สติมีหน้าที่ระลึก หรือใช้คำว่า รู้สึกตัว ส่วนปัญญานั้น ...

สุ. สติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญามีหน้าที่สังเกต พิจารณาจนกว่าจะ รู้ชัด สติระลึก สติรู้ไม่ได้

ถ. ในแต่ละลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

สุ. เพราะฉะนั้น เป็นของธรรมดา ธรรมคือธรรมดา เดี๋ยวนี้เองที่กำลังปรากฏ แต่อวิชชาไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง แต่ปัญญาค่อยๆ เริ่มรู้ โดยสติค่อยๆ ระลึก เพราะฉะนั้น ขณะที่สติระลึกเท่านั้น เป็นขณะที่จะอบรมเจริญปัญญา ถ้าสติ ไม่เกิด ก็ไม่มีทาง ก็ได้ปัญญาขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นเข้าใจ ซึ่งเมื่อสะสมไว้มากๆ เป็นพหูสูต ก็จะทำให้สติปัฏฐานค่อยๆ เกิด แต่ไม่ใช่จะรู้แจ้งรู้ชัดทันทีว่า ลักษณะนี้เป็นรูปธรรม ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม ถ้าโดยปากล่ะก็ชัด คล่องแคล่ว รู้ชัด รู้ชัดแล้ว ขณะนี้ทำไมจะไม่ชัด แต่โดยลักษณะจริงๆ นามธรรมไม่มีรูปธรรมใดๆ เจือปนทั้งสิ้น และต้องตรงตามที่บอกว่า ทางตาเห็น ต้องไม่มีเสียงร่วมด้วยในขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ ในขณะที่เสียงปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะรวมอยู่ในเสียงไม่ได้ เมื่อไรที่ปรากฏอย่างนั้น จึงจะเป็นการรู้ลักษณะของรูปธรรมนามธรรมชัด

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565