แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1231

สนทนาธรรมที่ห้องอาหารโรงแรงมายา เขตพระนครสาวัตถี

วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๒๖


สุ. อย่างเช่นคำว่า สภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง หรือว่าจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ทีละขณะ ได้ยินบ่อยที่สุด จนกระทั่งเชื่อแล้วว่า จิตเกิดดับเร็วมาก จิตขณะหนึ่งรู้อารมณ์อย่างหนึ่ง เช่น ในขณะที่ได้ยินเสียง จะไม่มีสีสันวัณณะในเสียง มีแต่เสียง ซึ่งแสดงว่าในขณะนั้นจิตกำลังรู้เสียง อย่างอื่นไม่ปรากฏเลย และขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่แข็ง ไม่มีเสียงในสิ่งที่แข็ง ไม่มีสีสันในสิ่งที่แข็ง เพราะหลับตาแล้ว ลักษณะที่แข็งก็ยังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ที่เราพูดว่า จิตเกิดขึ้นทีละขณะ รู้อารมณ์ทีละอย่าง เพียงเท่านี้ก็จะเกื้อกูลอุปการะไปจนถึงสติเกิด และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏทีละอย่างเหมือนอย่างที่เราพูดกันทุกวันนี้บ่อยๆ ที่เราพูดกันเรื่อยๆ ว่า จิตเกิดขึ้นทีละขณะ อารมณ์ปรากฏทีละอย่าง ซึ่งเป็นแนวทางของการปฏิบัติจนกว่าจะรู้แจ้ง โดยการที่สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง

และการได้ฟังธรรม เป็นการที่จะพิสูจน์ธรรมที่ได้ฟังว่า อารมณ์ปรากฏทีละอย่าง ทำอย่างไรจึงจะรู้แจ้งจริงๆ ว่า อารมณ์ปรากฏทีละอย่างอย่างที่เข้าใจ หรืออย่างที่พูดอยู่เสมอ หรือว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะ ทำอย่างไรจึงจะประจักษ์แจ้ง แยกจิตที่รู้ทางตาออกจากจิตที่รู้ทางหู จิตที่รู้ทางจมูก จิตที่รู้ทางลิ้น จิตที่รู้ทางกาย จิตที่รู้ทางใจได้ตรงตามที่ได้เรียน

ทุกคำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มาจากการที่ทรงประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจตสิกแต่ละประเภท รูปแต่ละชนิด หรือว่าจิตแต่ละชนิดก็ตาม เมื่อศึกษาแล้ว พิสูจน์ได้ทั้งนั้น

. สังเวชนียสถาน มีความหมายอย่างไร ก่อให้เกิดความสังเวชได้อย่างไร

สุ. สังเวช ในที่นี้หมายถึงปัญญาที่รู้ความจริงที่ควรสลดใจ เพราะเรา วันหนึ่งๆ ไม่ได้สลดใจ และถ้าเราจะสลดใจ เราอาจจะใช้คำว่า สลดใจ เวลาที่เราไปพบสิ่งที่น่าสงสารทุกข์ยากต่างๆ ของคนอินเดีย ซึ่งมีบ้านเล็กเหลือเกิน อัตคัดทุกสิ่งทุกอย่าง บางคนอาจจะรู้สึกสังเวชหรือว่าสลดใจ แต่นั่นไม่ใช่ความมุ่งหมาย

ความมุ่งหมายของสังเวชนียสถาน คือ สถานที่ที่ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพที่ควรแก่การสลด หมายความว่า ไม่ใช่ควรแก่การเพลิดเพลินยินดี แต่สลดเพราะรู้ความจริงว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น ณ สถานที่นั้นๆ

. ถ้ารู้ความจริงมากขึ้น ไม่น่าจะสลดใจ

สุ. สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไป มีอะไรที่เป็นสาระ

. ก็ยังไม่น่าจะสลดใจ

สุ. สลดในที่นี้หมายถึง ไม่เพลิดเพลินยินดี เหมือนทุกข์ ไม่ใช่ว่าให้โศกเศร้าหรือร้องไห้ เวลาที่รู้ทุกข์ไม่ใช่เวลาที่เป็นทุกข์ เพราะว่าเป็นปัญญาทั้งนั้น เวลาที่เป็นทุกข์เรารู้สึกอย่างไร เสียใจ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา

ปัญญาที่รู้ทุกข์ คือ รู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น ทุกข์ ตรงกันข้ามกับสุข เพราะถ้าเป็นสุข ทุกคนติดและเพลิน แต่เวลาเป็นทุกข์ ทุกคนละ เพราะฉะนั้น ลักษณะของทุกข์ที่นี่ หมายความถึงสภาพที่ ไม่น่ายินดีอีกต่อไป

เวลานี้ ทุกสิ่งน่ายินดีไปหมด ทางตาดอกไม้สวย ทางลิ้นอาหารอร่อย เป็นที่น่ายินดีทั้งหมด เพราะว่าเป็นสุข เพลิดเพลิน

แต่ลักษณะที่เป็นทุกข์ ไม่ได้หมายความว่าต้องเสียใจร้องไห้ แต่หมายความว่า เป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับที่ควรจะเพลิดเพลิน เพราะเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป รสอาหารเมื่อกี้ไม่เหลือแล้ว ทุกขณะ ขณะที่รับประทานอาจจะเป็นสุข แต่ก็ชั่วขณะนิดเดียว ทุกอย่าง

ถ. ชาวกุรุที่ว่าเจริญสติปัฏฐานกันทั้งหมด และถามกันว่าอยู่ใน มหาสติปัฏฐานไหน หมายความว่า แสดงทีละปัฏฐาน หรือว่ามากในปัฏฐานไหน หรืออย่างไร ไม่เข้าใจ

สุ. ถ้าเราจะย้อนวันนี้กลับไปถึงเมื่อครั้งกุรุ วันนี้เอง คุณธงชัยเล่าให้ฟังว่า สำหรับตัวคุณธงชัยเองสติระลึกทางกายบ้าง แต่ทางตายังไม่ได้ระลึก ก็เป็นคำสนทนาของชาวกุรุนั่นเองว่า วันนี้สติปัฏฐานไหน สำหรับคุณธงชัยยังไม่ใช่ทางตา แต่เป็นทางกาย เพราะฉะนั้น เป็นปัจจัตตัง จิตของทุกคนในขณะนี้ คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย ใครจะคิดอย่างไร เป็นสุข เป็นทุกข์อย่างไร ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ฉันใด สติของใครจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางไหน คนอื่นก็รู้ไม่ได้

เพราะฉะนั้น การสนทนาของชาวกุรุ ซึ่งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็เหมือนกันว่า วันนี้ทางตายังไม่ได้ระลึกเลย หรือว่าเวทนาที่เป็นอุเบกขายังไม่ได้ระลึกเลย คือ ธรรมดานั่นเอง คือ สติปัฏฐานไหน หรือว่าแทนที่จะเป็นสติปัฏฐานไหน ก็ระลึกทางไหนบ้าง เหมือนกัน ไม่ใช่หมายความเจาะจงว่า มาเริ่มกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก่อน ต่อไปจึงเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่หมายความว่า ทรงแสดงมหาสติปัฏฐาน คำว่า มหา ก็แสดงแล้วว่า มาก จิตนี้วิจิตรมาก ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจของแต่ละ บุคล มากจนทุกคนต้องเป็นปัจจัตตัง คือ สติระลึกรู้สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ก็ต่างกันไป ในขณะหนึ่งๆ ก็ต่างกันไป จนกว่าจะทั่ว จนกว่า จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น ทางตาที่เห็น ไม่ว่าจะเห็นอะไรทั้งสิ้น ปัญญาต้องรู้ความจริงได้ เพราะว่าต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีข้อสงสัย

. ถามว่ามากทางไหน ดิฉันเลยไม่แน่ใจ

สุ. อาจจะไม่ได้หมายความว่ามาก เพราะทางตายังไม่ได้ระลึกเลย ทางกายอาจจะเพิ่งเริ่มบ้าง ก็สนทนากันตามธรรมดาของชาวกุรุ

. ที่ว่าพระอรหันต์มีสติอยู่ทุกขณะจิต แม้กระทั่งเวลานอนหลับ สงสัยว่า เวลานอนหลับจะมีสติได้อย่างไร

สุ. สติมีหลายขั้น หลายระดับ นี่เป็นความละเอียดของการที่จะรู้ลักษณะของสภาพจิต เพราะว่าคนที่กำลังตื่นต่างกันฉันใด คนที่กำลังหลับก็ต้องมีพื้นของจิตที่ต่างกันฉันนั้น

ทำไมคนนี้ตื่นมาแล้วขี้โมโห คนนั้นตื่นมาแล้วอารมณ์ดี ถ้าขณะที่หลับไม่มีพื้นที่สะสมมาอยู่ในจิตซึ่งต่างกัน เวลาตื่นขึ้นมาแล้วย่อมไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ที่นอนหลับสนิท กับปุถุชนที่หลับสนิท กับพระโสดาบันที่หลับสนิท กับ พระสกทาคามีที่หลับสนิท กับพระอนาคามีที่หลับสนิท จิตต่างกัน เพราะอนุสัยกิเลสดับไม่เท่ากัน

สำหรับพระอรหันต์ ไม่มีการสะสมหรือพื้นฐานของจิตที่จะให้เกิดอวิชชา ความไม่รู้ ความหลงลืม เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ หรือทุกคนซึ่งเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสุคติภูมิ พื้นฐานของจิตในขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สติในขณะที่นอนหลับต่างกับขณะที่ตื่น เนื่องจากสติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น เกิดได้แม้กับปฏิสนธิจิต ซึ่งปฏิสนธิจิตของผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์เป็นมหาวิบากจิต จึงมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นพื้นฐานของจิต พร้อมที่จะมีการเจริญขึ้นของธรรมฝ่ายกุศลเพราะมีสติเป็นพื้นฐานอยู่ในขณะที่หลับ แต่สำหรับปุถุชนแม้ว่าจะมีสติเป็นพื้นฐาน แต่อนุสัยกิเลสก็ยังอยู่เต็ม เพราะฉะนั้น แทนที่ปุถุชนตื่นมาจะมีสติเหมือนอย่างพระอรหันต์ พื้นฐานของจิตที่ยังมีอนุสัยกิเลสอยู่เต็มจะเป็นปัจจัยให้ทันทีที่ลืมตาขึ้นก็เกิดโลภะ ทันทีที่ได้ยินเสียงก็เกิดความต้องการ นี่คืออนุสัยกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ แม้ว่าปฏิสนธิจิตหรือภวังคจิตของบุคคลนั้นจะมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

แต่สำหรับพระอรหันต์ ท่านดับอนุสัยกิเลสทั้งหมดแล้ว ไม่มีปัจจัยที่จะให้หลงลืมเลย เพราะฉะนั้น เมื่อตื่น และเห็น และได้ยิน ขณะนั้นก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมกับมหากิริยาจิตที่กระทำชวนกิจ

ต้องศึกษาเรื่องของจิตให้ละเอียด จึงจะทราบว่า สติมีหลายขั้นหลายระดับ

. ตอนนอนหลับเป็นภวังคจิต ใช่ไหม

สุ. เป็นภวังคจิตซึ่งไม่มีอนุสัยกิเลสเลย เพราะฉะนั้น ทันทีที่ตื่นก็ไม่หลงลืมสติ หรือที่สติจะไม่เกิด ไม่มี หลังจากที่เห็นแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดแล้ว สันตีรณจิตเกิดแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้ว มหากิริยาจิตเกิดพร้อมกับสติ

เรื่องของนามธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ชัดเจนและละเอียดถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง

. และที่อาจารย์เตือนให้หลับอย่างมีสติ

สุ. นั่นหมายถึงปุถุชน แต่นี่หมายถึงพระอรหันต์ ซึ่งคุณหมอถามถึง พระอรหันต์ เพราะว่าตามปกติปฏิสนธิจิตของผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ในสุคติภูมิเป็น มหาวิบากประกอบด้วยสติเจตสิกอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นปุถุชน ยังมีอนุสัยกิเลสอยู่เต็ม เพราะฉะนั้น แม้ว่ามีสติเจตสิกเกิดในขณะที่เป็นภวังคจิต แต่อนุสัยทำให้เมื่อเห็นแล้ว ก็พอใจทันที นั่นสำหรับปุถุชน แต่สำหรับพระอรหันต์ดับอนุสัยหมด ซึ่งปฏิสนธิจิตและภวังคจิตก็ประกอบด้วยสติ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นจึงไม่มีทางที่จะหลงลืมสติ

. ภวังคจิตเป็นชาติวิบาก

สุ. แน่นอน ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต เป็นวิบาก

. เวลาอาจารย์พูดภาษาธรรม ช่วยแปลให้ด้วยนะครับ ผมไม่เข้าใจ

สุ. แปล เรื่องยาว ต้องฟังไปก่อน โดยเฉพาะฟังวิทยุตอน ๖ โมงเช้า และสามทุ่ม จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทุกคนถ้าฟังวิทยุตอน ๖ โมงเช้าและ ๓ ทุ่ม สิ่งที่คิดว่ายากจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่ศัพท์ภาษาบาลี

. พระอรหันต์เวลานอนหลับ สติเกิดหรือเปล่า

สุ. ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยสติเจตสิกซึ่งเป็นชาติวิบาก ถ้าถามว่าเกิดหรือเปล่า ต้องรู้ว่าขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เป็นชาติวิบาก ไม่เหมือนกับสติที่เป็นกุศล

. ในวันพรุ่งนี้ที่จะไปกราบนมัสการสังเวชนียสถาน กระผมขอให้อาจารย์ช่วยเล่าถึงความสำคัญของสถานที่ที่จะไป เพื่อจะได้เป็นเครื่องเตือนสติ เตือนความจำของทุกท่านที่มาในที่นี้ให้ดีขึ้น

สุ. ดิฉันเองไม่สามารถที่จะเล่าถึงเรื่องสถานที่ได้ แต่ว่ามีปรากฏในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ก็มีผู้ที่มีจิตศรัทธา คือ คุณศจี คัดลอกสถานที่ทุกแห่งจากพระไตรปิฎกเล่มหนึ่ง สำหรับพระวิหารเชตวันจะมีข้อความที่ท่านอนาถบิณฑิกเทวบุตรได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคและได้สรรเสริญพระวิหารเชตวัน และมีตอนที่สร้าง พระวิหารเชตวัน ซึ่งจะแบ่งเป็นตอนๆ ให้พวกเราทุกคนอ่านด้วยตัวเอง คนละตอนๆ เพื่อที่จะได้ทราบเรื่องของพระวิหารเชตวันพรุ่งนี้

. อยากทราบเรื่องฝัน นอนแล้วฝัน

สุ. ฝัน ไม่ใช่หลับสนิท ถ้าหลับสนิทไม่ฝัน ต่างกัน หลับสนิทเป็นภวังคจิต คือ ไม่รู้อารมณ์ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้สัมผัส ไม่คิดนึกด้วย ถ้าคิดนึก หมายความว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่ได้สัมผัส จึงคิดนึก ต้องแยกออกจากกัน เพราะว่าทาง ๖ ทวารนี้ ทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งแม้จะหลับตาเราก็คิดได้ ไม่ได้ยินเสียงเราก็คิดได้ หมายความว่าจิตรู้อารมณ์ทางใจ

ขณะนี้เอง จะทราบว่าจิตรู้อารมณ์ทางไหน อย่างทางตาที่เห็น หลับตาแล้ว ไม่เห็น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็น จิตอาศัยตาเกิดขึ้นเห็น ถ้าเสียงไม่กระทบจะพยายามให้ได้ยินเสียง ได้ยินเสียงได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่เมื่อเสียงกระทบหู จิตที่รู้อารมณ์ทางหู คือ ได้ยินเสียง ก็เกิดขึ้น

และเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้ว จิตจะรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่พร้อมกัน ต้องทีละขณะ เหมือนอย่างที่คิด ไม่ใช่ในขณะที่เห็น และเห็นไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน แสดงให้เห็นว่า จิตแต่ละชนิดอาศัยเหตุปัจจัยแต่ละอย่างเกิดขึ้น

ถ้าพูดถึงฝัน ก็คือการคิดนึก แต่ไม่ได้คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่เห็น ถูกไหม เวลานี้ทุกคนเห็น แต่ไม่ใช่มีเพียงแค่เห็น เห็นแล้วก็คิดถึงสิ่งที่เห็นทางตา ได้ยิน ก็ไม่ใช่มีเพียงแค่ได้ยิน ขณะนี้กำลังได้ยิน ได้ยินแล้วก็คิดนึกถึงความหมายของเสียงที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น จะมีการคิดนึกถึงสิ่งที่เห็น คิดนึกถึงสิ่งที่ได้ยิน ซึ่งเราไม่เรียกว่าฝัน ถูกไหม เพราะกำลังคิดตามสิ่งที่เห็น ตามสิ่งที่ได้ยิน แต่ฝันไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส แต่การสะสมของความทรงจำที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เคยลิ้มรส เห็นสิ่งนั้นแล้วเกิดอะไร บางทีอาจจะเกิดความสุข บางทีอาจจะเกิดความไม่พอใจ ทั้งหมดนี้ไม่หายไป สะสมไว้ เพราะฉะนั้น แม้ว่านอนหลับแล้ว การที่เคยพบเห็นอารมณ์ต่างๆ เคยชอบสิ่งนั้น ไม่ชอบสิ่งนี้ ก็ทำให้ทางใจโน้มไปนึกถึงสิ่งต่างๆ เหล่านั้นด้วยความสุข ด้วยความทุกข์ ด้วยความตื่นเต้น ด้วย ความดีใจ ด้วยความเสียใจ เกินกว่าที่ใครจะยับยั้งได้ เพราะว่าสะสมทับถมกันมาหนาแน่นมากของการเห็นแต่ละอย่าง การได้ยินแต่ละอย่าง ในแต่ละวัน ตั้งแต่เล็ก จนโต และไม่ใช่แต่เฉพาะที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ความฝัน คือ การคิด ซึ่งต่างกับขณะที่ไม่ฝัน เพราะขณะที่ไม่ฝัน คิดตามสิ่งที่เห็น เห็นอะไรก็คิดถึงสิ่งนั้น เช่น กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ ก็คิดตามเรื่องที่อ่าน นั่นคือตามสิ่งที่เห็น แต่ฝันไม่จำเป็นต้องมีการเห็น ความคิดที่ยับยั้งไม่ได้ ก็มาปรากฏในรูปของความฝันต่างๆ

มีใครไม่ฝันบ้างไหม มีไหมคนที่ไม่ฝัน

มี ได้แก่ พระอรหันต์ เพราะอะไรพระอรหันต์ไม่ฝัน เพราะไม่มีเยื่อใยใน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

. แต่เราไม่เคยทราบเหตุการณ์เหล่านั้น ทำไมจึงฝันในเรื่องที่ไม่เคยเห็น

สุ. ข้อนี้เกินกว่าที่ใครจะตอบได้ เพราะไม่มีใครสามารถรู้ว่า ชาติก่อนๆ ทำอะไรมาบ้าง แต่ก็ไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ สิ่งที่ปรากฏทางตามีรูปร่างสัณฐานเสมอที่จะให้จดจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ในชาติก่อนๆ ที่เคยเห็นทางตา ก็จดจำรูปร่างสัณฐาน ซึ่งในชาตินี้หรือชาติก่อน ชาติไหนก็ตาม เมื่อมาผสมมาบวกรวมกันเข้า ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า นี่มาจากชาติไหน เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่เกินกว่าที่จะทราบได้

. ปุถุชนเห็น กับพระอรหันต์เห็น การเห็นไม่ได้ต่างกัน ใช่ไหม

สุ. จักขุวิญญาณไม่ต่าง สัมปฏิจฉันนจิตไม่ต่าง สันตีรณจิตไม่ต่าง โวฏฐัพพนจิตไม่ต่าง แต่ชวนจิตของปุถุชนเป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับของพระอรหันต์เป็นมหากิริยา ถ้าจะพูดโดยไม่ต่างต้องยกเว้นข้อหนึ่ง คือ ต่างโดยอนุสัยกิเลส ไม่มีเลยตั้งแต่อรหัตตมรรคจิตเกิดและดับไปจะไม่มีอนุสัยกิเลสใดๆ ในจิตของพระอรหันต์ มิฉะนั้นแล้วเมื่อจุติจิตของพระอรหันต์ดับ ต้องเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่เพราะไม่มีปัจจัย กิเลสดับหมดแล้ว จึงไม่มีการเกิด

. พระอรหันต์ท่านยังมีการเจริญสติอีกหรือเปล่า

สุ. คำว่า เจริญสติ หมายความถึงอบรมให้ปัญญาเกิดขึ้นจนกว่าจะดับกิเลส เมื่อดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีกิจอะไรที่ต้องทำอีกต่อไป จะให้พระอรหันต์ มาโลภ มาโกรธ มาหลง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อดับกิเลสทั้งหมด เป็นพระอรหันต์แล้ว สภาพธรรมทุกขณะก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของพระอรหันต์แต่ละองค์

พระอรหันต์บางองค์มีอัธยาศัยที่จะอยู่ป่า เช่น ท่านพระมหากัสสปะ พระอรหันต์บางองค์ท่านแสดงธรรม ก็ต่างๆ กันไป ท่านไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติ คือ ไม่มีปัจจัยที่จะให้อวิชชาเกิด ลักษณะของอวิชชาคือการหลงลืมสติ ตรงกันข้ามกับลักษณะของสติ แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานอีก แต่สติของท่านจะระลึกเป็นไปในกายเมื่อมีเหตุปัจจัย สติของท่านจะระลึกเป็นไปในเวทนาเมื่อมีเหตุปัจจัย หรือสติของท่านจะไม่ระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ก็ตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น มหากิริยาจิตจึงมีทั้งที่เป็นญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา และเป็นญาณสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยปัญญา

เปิด  213
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566