แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1243

สนทนาธรรม ณ พุทธคยา (ต่อ)

วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๖


ถ. ตอนที่ฟังวิทยุเกี่ยวกับเรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่อาจารย์กล่าวว่า ให้พิจารณาความสุขว่าเป็นเหมือนอย่างความทุกข์ พิจารณาความทุกข์เหมือนเป็นลูกศร พิจารณาอุเบกขาเหมือนเป็นของไม่เที่ยง ไม่เข้าใจที่ว่า พิจารณาความสุขว่า เป็นเหมือนอย่างความทุกข์ ความทุกข์ในที่นี้หมายความว่าไม่เที่ยง ใช่ไหม ไม่ได้หมายความถึงความทุกข์ที่ตรงกันข้ามกับความสุข

สุ. ลักษณะของความสุขตรงกันข้ามกับความทุกข์ แต่ที่จะเห็นสุขเป็น ทุกข์ได้ ก็ต่อเมื่อสุขนั้นไม่เที่ยง ไม่เหมือนกับความทุกข์ ไม่ต้องเอาอะไรมาเปรียบเลย พอทุกข์เกิดขึ้นเท่านั้น ลูกศรมาแล้วมากมาย นั่นคือลักษณะของความทุกข์ ไม่ต้องเปรียบอะไรอีก แต่ที่สุขจะเป็นทุกข์ได้ ก็ต่อเมื่อไม่เที่ยง

ถ. คือ เมื่อระลึกรู้ว่าไม่เที่ยง

สุ. ใช่

ถ. และที่ว่า พิจารณาอุเบกขาเหมือนเป็นของไม่เที่ยง ก็ซ้ำกับความสุข

สุ. ก็เหมือนกัน จะซ้ำกันหรืออะไร เป็นเรื่องของพยัญชนะ ให้สติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้น

ถ. คำว่า ทุกข์ มีความหมาย ๒ อย่าง คือ ไม่เที่ยงก็ได้ หรือตรงข้ามกับสุขก็ได้

สุ. เป็นอะไรก็ได้ ขอให้สติระลึก จะพูดอย่างไหนก็ได้ ขอให้สติของ คุณจารุพรรณระลึกได้ ยังดีกว่าพูดอีกอย่างหนึ่ง แต่สติระลึกไม่ได้

ถ. การนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออก กำหนดไปๆ จนกระทั่งลมหายไป ไม่สามารถจะกำหนดต่อไปอีกได้ ในที่สุดไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร จึงอธิษฐานจิตที่เรียกว่า อธิษฐานสมาธิ อาตมาอยากทราบว่า วิธีแก้การกำหนดรู้ลมหายใจโดยไม่ให้หายไป จะมีวิธีอย่างไร

สุ. ที่อธิษฐานจิต อธิษฐานอย่างไรเจ้าคะ

ถ. อธิษฐานเพื่อให้จิตเกิดสมาธิ คือ อธิษฐานให้อยู่ในสมาธิเลย คือกำหนดให้เข้าประมาณสัก ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที และออกมา

สุ. เวลาที่กำหนดลมหายใจที่เป็นสมาธิ มีความรู้สึกอย่างไร หรือมีอะไรปรากฏบ้าง

ถ. ที่ปรากฏไม่มี แต่เมื่อกำหนดแล้ว ไม่สามารถกำหนดลมละเอียดอ่อนได้ คือ หายไปเลย ทำให้รู้สึกว่าตัวเราไม่มีลมหายใจ

สุ. คำว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ว่าจะเป็นในขั้นหนึ่งขั้นใดก็ตาม ที่เป็นการอบรมเจริญภาวนา ดิฉันมีความรู้สึกว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้เล็งถึงจุดประสงค์จริงๆ คือ การที่จะทำวิปัสสนา เจริญวิปัสสนา หรือทำสมถะ เจริญสมถะก็ตาม คนมักจะไม่พิจารณาใคร่ครวญว่าเพื่ออะไร ส่วนมากไม่ได้คิดเพื่อที่จะละ และไม่รู้ว่าจะต้องละอะไรด้วย ส่วนใหญ่นึกแต่ว่าเมื่อทำแล้วจะได้ เช่น ต้องการให้จิตตั้งมั่น อยู่ที่หนึ่งที่ใด มีความยินดีพอใจที่จะให้จิตอยู่ที่หนึ่งที่ใด เพราะว่าตามธรรมดาของจิตใจ ก็หวั่นไหวไปในวันหนึ่งๆ ในเรื่องของความขุ่นเคือง หรือความโทมนัส ความขัดข้องต่างๆ เป็นลักษณะอาการของจิตที่ไม่สบาย เพราะฉะนั้น ก็มีหลายคนที่ไม่อยากจะให้จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ต้องการที่จะให้จิตตั้งมั่น แต่ในขณะนั้นลืมที่จะพิจารณาว่า เพื่อละอะไร

ถ. อยากจะทราบวิธีแก้ปัญหาว่า จะกำหนดอย่างไรให้รู้ในความละเอียดอ่อนของลมหายใจ โดยที่ไม่ให้มีความรู้สึกว่าเราไม่มีลมหายใจ

สุ. ก่อนที่สมาธิจะเกิด ลมหายใจเป็นปกติ แต่ถ้ามีการผิดปกติเกิดขึ้นเพราะการกำหนดลมหายใจ นั่นไม่ใช่ผลที่ควร เพราะฉะนั้น ผลที่ไม่สมควรนั้น ต้องมาจากเหตุที่ไม่สมควรด้วย ถ้าเป็นเหตุที่สมควรจริงๆ ผลจะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิปัสสนาหรือเรื่องของสมถะก็ตาม

เพราะฉะนั้น โดยมากไม่ใช่ทั้งสมถะและไม่ใช่ทั้งวิปัสสนา ถ้ามีความเข้าใจ จริงๆ ว่า เมื่อไม่ใช่สมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา ยังจะทำต่อไปไหม หรือถึงแม้จะทราบว่าไม่ใช่ทั้งสมถะและวิปัสสนาก็จะทำ เพราะมีความพอใจที่จะทำ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการพูดเรื่องของสมถะหรือวิปัสสนาให้เกิดความเข้าใจจริงๆ ว่าเพื่ออะไร มีแต่บอกให้ทำ วิธีทำมีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เกิดปัญญาที่จะรู้ว่าละอะไร ละได้อย่างไร และ เจริญอบรมอย่างไรจึงจะละกิเลสขั้นนั้นๆ ได้ โดยมากจะบอกเพียงว่า ให้ทำอย่างนี้ ให้นั่ง อาจจะมีวิธีนั่ง และวิธีกำหนดต่างๆ ให้เอาจิตตั้งไว้ตรงนั้นตรงนี้ แต่ไม่มีการละ เพราะเหตุว่าความรู้ไม่เกิดขึ้น

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ปัญญาเจ้าค่ะ จะต้องศึกษาทั้งการอบรมเจริญสมถะและการอบรมเจริญวิปัสสนาโดยละเอียดจริงๆ อย่าเพิ่งทำ เพราะถ้ายังไม่เข้าใจและจะทำ ต้อง ผิดแน่ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องแล้วไม่ผิด การทำนั้นผิดไม่ได้ เพราะทำตามความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่เมื่อความเข้าใจไม่มีและจะทำ ต้องผิด

ตามที่บรรยายอยู่ที่วัดบวรตอนนี้ กล่าวถึงเรื่องของการอบรมเจริญความสงบ ในชีวิตประจำวัน แม้แต่คำว่า สมถะ ซึ่งพยัญชนะนี้แปลโดยตรงหมายความถึง ความสงบ ก็ไม่อยากให้ใครๆ เพียงได้ยินแล้วพอใจว่า สงบๆ แต่ต้องพิจารณาอีกว่า ที่ชื่อว่าสงบนั้น หมายความอย่างไร และหมายถึงอะไร

คำว่า สมถะ หรือ ความสงบ โดยลักษณะต้องหมายความถึงสงบจากอกุศล ซึ่งอกุศลมีถึง ๓ อย่าง คือ เป็นโลภะก็มี เป็นโทสะก็มี เป็นโมหะก็มี

ขณะใดที่กุศลจิตเกิด จิตขณะนั้นต้องสงบ เพียงแต่ว่าลักษณะของมหากุศลซึ่งเป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน ถ้าจะพิจารณาดูชีวิตตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ เช่น ถ้าคิดที่จะให้ทาน สำหรับอุบาสกอุบาสิกาก็จะต้องมีการซื้อหา มีการตระเตรียม แต่ในขณะนั้นไม่ได้หมายความว่า กุศลจิตเกิดโดยตลอด ถ้าเป็นแม่ครัวปรุงอาหารถวาย ในขณะที่กำลังตระเตรียมอาหาร โลภะก็เกิด โทสะก็เกิดได้ถ้าอาหารไม่อร่อย ไฟแรงเกินไป กลิ่นไหม้แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยให้โทสมูลจิตเกิดได้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นกุศลไป โดยตลอด เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ แม้แต่กุศลที่เป็นไปในทานก็เล็กน้อย จนกระทั่งสภาพความสงบจากอกุศลไม่ปรากฏ ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ ในลักษณะของจิตที่เป็นกุศล

ซึ่งสำหรับสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ เป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศล โดยอาศัยอารมณ์ต่างๆ จนกระทั่งสภาพของจิตที่สงบจากอกุศลเพิ่มกำลังของความสงบขึ้น จนกระทั่งลักษณะของความสงบนั้นประกอบด้วยสมาธิ คือ ความมั่นคง เป็นลำดับขั้น

บางท่านอ่านวิสุทธิมรรคซึ่งชื่อบอกแล้วว่า หนทางแห่งความบริสุทธิ์ มีหัวข้อว่า สีลนิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทส เมื่อได้ยินคำว่า สมาธินิทเทส ก็เข้าใจว่า ในขณะนั้นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องความสงบ กล่าวถึงเรื่องสมาธิ แต่ความป็นจริงแล้ว สมาธินิทเทสทั้งหมด ตลอดทั้งนิทเทส เป็นการแสดงเรื่องความสงบของจิต ซึ่งค่อยๆ เพิ่มความมั่นคงขึ้นจนกระทั่งลักษณะของความสงบนั้นประกอบด้วยสมาธิขั้นต่างๆ แต่คนลืมคำว่า สัมมาสมาธิ หรือกุศลสมาธิ ตัดเอาเฉพาะคำว่าสมาธิ คำเดียว ลืมความหมายของวิสุทธิมรรค คือ หนทางแห่งความบริสุทธิ์

เมื่อเป็นหนทางแห่งความบริสุทธิ์ แม้จะใช้คำว่า สมาธิ คำเดียวก็ต้องหมายความถึงเฉพาะสัมมาสมาธิ หรือสมาธิที่เป็นกุศล หรือความสงบจริงๆ ซึ่งปราศจากอกุศล เพราะฉะนั้น คนส่วนมากเพียงแต่อ่านและต้องการสมาธิ เพราะทุกคนรู้จักลักษณะของสมาธิว่าเป็นสภาพที่ตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียว แต่จะมีใครสักกี่คนที่รู้ลักษณะของกุศลจิตซึ่งเกิดสลับกับอกุศลว่า ลักษณะของกุศลจิตนั้นสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นสมถภาวนาได้ ปัญญาต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของ กุศลจิตและอกุศลจิต และรู้แม้ขณะที่กุศลจิตค่อยๆ เพิ่มความสงบขึ้นจนกระทั่งถึงสมาธิที่ประกอบกับความสงบขั้นต่างๆ

และถ้าขาดสติสัมปชัญญะ ข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถามีว่า ไม่สามารถเจริญทั้งสมถะหรือวิปัสสนาได้ เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มด้วยปัญญา ไม่ว่าจะเป็นปัญญาขั้นสมถะ หรือปัญญาขั้นวิปัสสนา จะต้องประกอบด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องในสภาพของความสงบว่า ต้องเป็นธรรมที่เป็นกุศลเท่านั้นจึงสงบได้ และถ้าขาดสติสัมปชัญญะก็ไม่สามารถที่จะรู้ชัดเจนได้ว่า ขณะใดสงบ ขณะใดไม่สงบ

ท่านลองกล่าวถึงสมถกัมมัฏฐานทีละอารมณ์ว่า เป็นลักษณะของความสงบอย่างไร แล้วแต่ว่าท่านจะต้องการกัมมัฏฐานไหนใน ๔๐ กัมมัฏฐาน

ถ. ตามปกติชอบนั่งกำหนดลมหายใจเข้าออก ยุบหนอพองหนอ และ พุทโธๆ

สุ. ก็มีระลึกถึงพุทโธ ระลึกถึงลมหายใจ และพองยุบ ๓ อย่าง

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ถ้าไม่คิดถึงสมาธิ แต่คิดถึงความสงบซึ่งเป็นกุศล ซึ่งลักษณะ ๒ อย่างนี้ต่างกัน คือ ลักษณะของสมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เวลาที่มีความจดจ้อง อย่างเช่น จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องอาศัยสมาธิ เพราะฉะนั้น ลักษณะของสมาธิเป็นแต่เพียงความตั้งมั่น จดจ้อง แน่วแน่ในอารมณ์นั้นเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะที่สงบ

อย่างคำว่า พุทโธ จะท่องสัก ๑๐ ครั้ง ๒๐ ครั้ง ก็คงไม่เทียบเท่ากับขณะที่ศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระสูตร หรือพระวินัย หรือพระอภิธรรม และมีความเข้าใจในพระธรรมที่ทรงแสดง หรือเข้าใจในพุทธประสงค์ของการที่ทรงบัญญัติพระวินัยข้อต่างๆ ขณะที่เข้าใจพุทธประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย เข้าใจพระสูตรที่ทรงแสดงในแต่ละพระสูตร หรือเข้าใจในลักษณะของปรมัตถอารมณ์ ปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่เข้าใจนั้น จิตสงบเพราะซาบซึ้งใน พระมหากรุณาคุณ ขณะนั้นย่อมสงบกว่าที่จะท่องว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ

ในขณะนี้ ถ้าทุกคนจะนึกคำว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตอาจจะมีความแน่วแน่ ไม่คิดถึงเรื่องอื่น แต่สภาพความสงบหรือการระลึกถึงพระพุทธคุณต่างกับขณะที่กำลังเข้าใจธรรม

สำหรับพระพุทธคุณ เวลาที่ระลึกถึงคำว่า พุทโธ ต้องหมายความว่า ระลึก ในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงจึงรู้ว่า พระธรรมนี้เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแล้ว

ดิฉันไม่เคยคิดว่า การที่เพียงแต่ท่องคำหนึ่งคำใดจะเป็นกุศล หรือจะสงบ แต่เป็นสมาธิได้ ซึ่งสมาธินั้นเมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา

ถ. หมายความว่า การศึกษาธรรมและเข้าใจธรรม นำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั้น ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง และได้ผลมากกว่าการที่เราจะไปปฏิบัติ ไปทำสมาธิ ใช่ไหม

สุ. เจ้าค่ะ เพราะแม้แต่คำว่า พุทโธ ก็เปรียบเทียบได้ว่า การที่คนหนึ่ง คนใดจะพูดคำว่า พุทโธ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธศาสนิกชน คำนี้ใครก็พูดได้ ไม่ว่า จะเป็นศาสนาอิสลาม คริสต์ ฮินดู แม้ชาวพุทธด้วยกันก็พูดได้ อาจจะบอกว่า ทุกคนขอให้นึกถึงคำว่า พุทโธ แต่ทุกคนก็เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองที่จะรู้ว่า ขณะที่พูดคำว่า พุทโธ จิตสงบหรือเปล่า หรือว่าไม่ได้สงบเลย แต่สามารถนึกถึงคำว่า พุทโธ ได้ โดยที่จิตไม่ได้สงบ

ถ้าจะให้แข่งกันท่องคำว่า พุทโธ ๕๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง ว่าใครจะได้เร็วกว่ากัน ก็สามารถจะทำได้ แต่จิตในขณะนั้นก็ไม่สงบในขณะที่กล่าวคำว่า พุทโธ

แต่ผู้ที่ซาบซึ้งในพระธรรม เพราะเข้าใจในพระธรรมที่ทรงแสดง ในขณะนั้น ไม่จำเป็นต้องนึกคำว่า พุทโธ แต่ความซาบซึ้งในลักษณะของพุทโธมี คือ ในลักษณะของพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณ ซึ่งเกินกว่าที่จะใช้คำว่า พุทโธ เพียงสองคำ

ถ. คงจะเป็นความรู้ของผู้ที่ได้เรียนรู้ธรรมลึกซึ้งแล้ว และได้เข้าใจธรรมที่ถูกต้องแล้ว แต่อาตมามีความเป็นห่วงสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าถึงธรรมที่แท้จริง ผู้ที่ยัง ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น การที่จะให้เขาเข้าใจถึงขั้นที่โยมอาจารย์กล่าว ก็คงจะยากนัก นอกจากจะเป็นบุคคลผู้คงแก่เรียน ส่วนบุคคลที่ไม่ได้ศึกษา คงต้องใช้การฝึกจิตพอสมควร เจริญพร

สุ. การฝึกจิตในทางที่ถูก ก็ควรฝึก แต่ถ้าฝึกจิตในทางที่ผิด ก็จะผิดตลอดไป โดยที่ไม่ได้เพิ่มหรือหันมาสู่การฝึกจิตที่ถูกต้อง เพราะถ้าจะฝึกก็ควรจะฝึกอบรมในทางที่ถูก เพื่อที่จะได้เป็นปัจจัยให้ความเห็นถูก ข้อปฏิบัติที่ถูกนั้น เจริญขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าฝึกผิด ก็จะมีความเห็นผิด การปฏิบัติที่ผิด เป็นปัจจัยที่จะทำให้ผิดต่อไปข้างหน้าอีก

เรื่องของการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีความเห็นถูกก่อนที่จะมีการปฏิบัติ เพราะเป็นห่วงจริงๆ ว่า ถ้าไม่มีปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แต่ปฏิบัติกันก่อน ก็จะติดในข้อปฏิบัตินั้น และข้อปฏิบัติที่ผิดก็จะแพร่หลายไปเรื่อยๆ เมื่อสอบทานแล้วก็ไม่ตรงกับที่ทรงแสดงไว้ ตามที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาที่จะทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียด

ถ้าทุกคนคิดว่า เป็นเรื่องง่ายๆ หรือไม่มีเวลาพอที่จะศึกษาให้เข้าใจโดยถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ศึกษา คราวนี้ความเห็นของแต่ละบุคคลก็จะเพิ่มเข้ามา และปฏิบัติคล้อยตามกันไปทั้งหมด พระธรรมก็จะลบเลือนไปเรื่อยๆ

ถ. ในทัศนะของโยมอาจารย์ เน้นในด้านการศึกษาธรรม และนำไปใช้ ในชีวิตประจำวัน

สุ. ถ้าคิดถึงพระมหากรุณาที่ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ก็น่าที่จะพิจารณาว่า เพื่อใคร ถ้าเพื่อบุคคลที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างรวดเร็วใน ครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงปรินิพพาน ก็ไม่ต้องทรงแสดงถึง ๔๕ พรรษา ไม่ต้องทรงแสดงโดยละเอียดถึงพระอภิธรรมด้วย เพราะในพระสูตรมีข้อความว่า บางท่านเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็สามารถบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของกุศลธรรม อกุศลธรรมโดยละเอียด

แต่พระมหากรุณาที่ทรงแสดง ไม่ใช่ทรงแสดงสำหรับผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล วิปัญจิตัญญูบุคคล หรือเนยยบุคคล แต่ทรงแสดงสำหรับเวลาที่หลังจากปรินิพพานแล้ว ๑๐๐๐ ปี ๒๐๐๐ ปี เป็นต้นไป เพื่อที่จะให้บุคคลในยุคซึ่งไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยข้อความสั้นๆ ได้ศึกษาธรรมเทียบเคียงโดยละเอียด

เปิด  247
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565