แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1244

สนทนาธรรม ณ พุทธคยา (ต่อ)

วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๖


สุ. การเพ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยปราศจากปัญญา จิตย่อมสงบไม่ได้แน่นอน แม้จะอธิบายไว้ว่า การเพ่งกสิณหนึ่งกสิณใด เช่น ปฐวีกสิณ ให้อาศัยดินสีอรุณ ในลักษณะที่เป็นรูปกลม ขนาดไม่กว้างใหญ่เกินไป และวางไว้ในที่ไม่สูงต่ำเกินไป ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ใครก็ตามถ้าทำตามนั้น หมายความว่า ทำด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจในลักษณะของจิตที่สงบกับลักษณะของ จิตที่ไม่สงบ เพราะถ้าศึกษาโดยละเอียด แม้แต่พยัญชนะที่ว่า กสิณ และการบริกรรมว่า ปฐวีกสิณ ปฐวีกสิณ ก็เพื่อให้จิตน้อมระลึกถึงดินทั้งปวง เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากดิน นอกจากปฐวี นอกจากสิ่งที่อ่อนหรือแข็งเท่านั้น ไม่ว่าจะที่กาย หรือที่วัตถุอื่นๆ รูปทั้งหลายที่จะปราศจากธาตุดิน ลักษณะซึ่งเป็นปฐวีนั้น ไม่มี

เพราะฉะนั้น ที่เคยยึด เคยติด เคยถือ เคยพอใจ ซึ่งเป็นอกุศล ถ้าจิตน้อมมาระลึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเคยเป็นที่พอใจนั้น โดยลักษณะที่แท้ก็เป็นเพียงธาตุดินเท่านั้นเอง จะแก่งแย่ง จะช่วงชิง จะริษยา จะต้องการกันสักเท่าไร ก็คือต้องการ สิ่งที่แข็งเท่านั้น เมื่อกระทบสัมผัสก็แข็งทั้งนั้น เพชรนิลจินดาก็แข็ง วัตถุเครื่องใช้ไม้สอยอะไรต่างๆ ก็แข็ง ปราสาทราชวังก็แข็ง เสื้อผ้าก็เป็นแต่เพียงลักษณะของปฐวีเมื่อกระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ที่ติดกันมาก คือ ติดในลักษณะของสิ่งที่แข็ง แต่ เมื่อจิตไม่น้อมไปรู้สภาพที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ก็ติดในสีสันวัณณะ ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เคยยึดถือแข็งนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงต้องอาศัยปฐวี เพื่อให้น้อมระลึกถึงความเป็นแต่เพียงธาตุดินเท่านั้นเอง จนกว่าจะจิตจะสงบ

ผู้ที่ในชาติก่อนๆ เคยเจริญความสงบโดยอาศัยธาตุดินมาแล้ว แม้เพียงเห็นดินที่คันนา จิตก็ยังสามารถที่จะสงบได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ แต่ต้องเข้าใจความหมาย ว่าเพราะอะไรท่านจึงสงบได้เมื่อเห็นดินที่คันนา โดยที่ไม่ใช่ปฐวีกสิณ แต่คนที่ไม่เข้าใจ ก็พยายามที่จะหาดินมา และไม่รู้ความหมายเลยว่า เพราะเหตุใดจึงต้องระลึกถึงดิน เพราะเหตุใดจึงต้องระลึกถึงธาตุน้ำ เพราะเหตุใดจึงต้องระลึกถึงลม เพราะเหตุใดจึงต้องระลึกถึงไฟ

ถ. ตามที่อาจารย์อธิบายมา รู้สึกว่าจะเป็นลักษณะของผู้ที่รู้แจ้งในกสิณต่างๆ หรือในนิมิตต่างๆ แล้ว สามารถทำให้จิตเกิดสมาธิ หรือพูดง่ายๆ ว่า บุคคลที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดโดยอาศัยกระแสจิตที่สะอาดแล้ว ก็สามารถจะรู้แจ้งได้ดี แต่บุคคลที่ยังไม่มีจิตที่ปราศจากธุลี หรือว่ายังหนาด้วยกิเลสอยู่ ก็เป็นการยากที่จะปฏิบัติถึงขั้นนั้น อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่า ผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งหรือเข้าใจลึกซึ้งถึงขั้นที่โยมอาจารย์อธิบายมา ต้องอาศัยจิตที่เป็นสมาธิ เป็นพื้นฐานก่อน

สุ. เป็นพื้นฐานมาจากไหนเจ้าคะ มาจากการระลึกถึงอารมณ์อะไร นี่เป็นเหตุที่จะต้องเริ่มตั้งแต่ตอนต้น ถ้าเหตุผิดตั้งแต่ต้น ผลก็ต้องผิดไปเรื่อยๆ จนไกล ซึ่งตอนต้นๆ ผลที่ผิดจะยังไม่ปรากฏ จนกว่าผลที่ใหญ่จะปรากฏว่าผิดแล้ว คราวนี้จะแก้ไขก็ลำบาก เพราะผิดไปตั้งแต่ตอนต้น แต่ถ้าตอนต้นถูก ผลที่ถูกก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น อย่างเวลาที่ท่านปฏิบัติแบบพองยุบ ไม่ทราบว่ามีผลอะไรเกิดขึ้นบ้างเจ้าคะ

ถ. ไม่ค่อยจะมีอะไรเกิดขึ้น เพียงแต่จิตเกิดเป็นสมาธิ เกิดความรู้สึกซาบซ่านในใจเท่านั้นเอง

สุ. ผลคือความซาบซ่านในใจ อย่างนั้นจะเป็นสมถะ หรือจะเป็นวิปัสสนา

ถ. อาตมายังไม่เข้าใจลึกซึ้งพอที่จะอธิบายได้ เพียงแต่พยายามศึกษา และถามผู้รู้ไปเรื่อยๆ บางทีเข้าใจผิดไป อย่างที่โยมอาจารย์พูด คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นบางทีถูกต้องตามความเข้าใจของตัวเองเป็นส่วนมาก แต่ไม่ได้เข้าใจตามหลักที่แท้จริง หรือบางทีเข้าใจตามหลักแต่ยังตื้นๆ เพราะฉะนั้น ยากที่จะอธิบายได้แจ่มแจ้งเหมือนกัน

ถ. ... การเจริญสติ คือ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม และยังให้เราเจริญสัมปชัญญะด้วย โดยอธิบายว่า อิริยาบถต่างๆ นั้นเป็นเรื่องของสัมปชัญญะ การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานผมเข้าใจ แต่ให้เรามีสัมปชัญญะด้วย หมายความว่าอย่างไร

สุ. ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะใดที่สติระลึก ขณะนั้นก็ประกอบด้วยสัมปชัญญะ

ถ. สัมปชัญญะ พูดถึงอิริยาบถต่างๆ ใช่ไหม

สุ. เดิน สติก็ระลึกทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะคุณธงชัยจะเดินโดยไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้ ในขณะที่กำลังเดิน แล้วแต่ลักษณะสภาพธรรมใดปรากฏ คุณธงชัยจะเลือกให้จิตระลึกที่กายหรือเปล่า

ถ. ขณะที่เดินระลึกที่กายก็ได้

สุ. ก็ได้ แต่คุณธงชัยจะเลือกให้จิตระลึกที่กายหรือเปล่า หรือว่าเมื่อมีตาคือ ทางที่จะรู้อารมณ์ปรากฏต้องอาศัยตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ มีอยู่ ๖ ทาง ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมต่างๆ ก็ดี จะพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้ จะเป็นคนละเรื่อง หรือจะเป็นเรื่องเดียวกัน

พูดถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ จะรู้ได้ ทางไหน ขณะที่กำลังมีตากำลังเห็น จะระลึกบรรพไหน ขณะที่มีหูกำลังได้ยินเสียง จะระลึกบรรพไหน หรือไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บรรพไหนสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่จำเป็นต้องไปใส่ช่องว่ากำลังเป็นบรรพนี้ ในหมวดนั้น หมวดนี้

ถ. ไม่ได้คิดว่าจะปฏิบัติตามบรรพไหน แต่ว่าในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ชัดเจน

สุ. ในทุกบรรพแสดงว่า เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือความหมายของสติสัมปชัญญะ เป็นผู้มีปกติ ขณะนี้เป็นปกติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อใช้คำว่า ที่กำลังปรากฏ จะพ้นจากตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจไม่ได้ จะพ้นจากอิริยาบถไม่ได้ กำลังนั่งอยู่ กำลังเหลียวก็ไม่พ้น ขณะเหลียวก็มีสติตามปกติ กำลังพูดก็มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่พูด ไม่ใช่ว่าขณะนี้คุณธงชัยจะต้องเลือกบรรพหนึ่งบรรพใด กำลังเป็นปกติอย่างไร ก็ตรงตามความเป็นจริงว่า อยู่ในบรรพไหนอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมานึกว่าจะทำบรรพไหน

ถ. อิริยาบถบรรพ ผมเข้าใจที่อาจารย์อธิบาย

สุ. เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่คุณธงชัยกำลังนั่ง ถ้าสติระลึก เป็นอิริยาบถบรรพได้ไหม

ถ. ได้

สุ. เป็นสัมปชัญญบรรพได้ไหม

ถ. ในสัมปชัญญบรรพบอกว่า เมื่อเราเหลียว เราก็รู้ตัวว่าเหลียว

สุ. เพราะฉะนั้น เป็นสัมปชัญญบรรพได้ไหม

ถ. รู้ว่าเหลียว ก็ต้องรู้ว่าเหลียว อาจารย์

สุ. เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่คุณธงชัยกำลังนั่ง เป็นสัมปชัญญบรรพได้ไหม นั่งพูดอยู่เดี๋ยวนี้เป็นสัมปชัญญบรรพได้ไหม แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติ เท่านั้นเอง เดี๋ยวจะคิดว่า นี่อิริยาบถบรรพ เมื่อเหลียวก็ไม่ได้แล้ว นั่นก็ผิดอีก เพราะถ้าเหลียวสติเกิดก็เป็นสัมปชัญญบรรพ จะต้องอยู่ในบรรพหนึ่งบรรพใดทั้งหมด แสดงไว้โดยไม่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม กำลังคิด เป็นบรรพไหน เพราะฉะนั้น ต้องอยู่ในบรรพหนึ่งบรรพใด โดยไม่ต้องเป็นห่วงว่า บรรพไหน

ถ. ผมไม่ได้เป็นห่วง แต่อ่านแล้วอดสงสัยไม่ได้

สุ. ก็ห่วงอยู่นี่

ถ. ผมต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตอบปัญหากับใครๆ อีกมากมาย

สุ. ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เขาจะต้องรู้ว่า อยู่ในทุกบรรพ ถามเขาว่า ระลึกทางตา จะให้เป็นบรรพไหน เขาก็ต้องหาบรรพใส่เข้าไปจนได้

ถ. ความจริงผมเองก็ยังจำบรรพทั้งหมดไม่ได้เลย

สุ. ไม่ใช่เราจะจำ ถ้าเขาถามมา ก็ให้เขาไปดูว่าอยู่บรรพไหน

ถ. ถ้าอ่านเผินๆ อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่า ถ้าเรารู้ตัวว่าเหลียว กับการที่เราเจริญสติในชีวิตประจำวัน ขณะที่เราเหลียว ในอิริยาบถจะเหลียว ในขณะที่เดินก็ดี ขณะนั้นสติก็จะระลึกที่ทวารตาก็ได้ ทางโสตทวารก็ได้ ใช่ไหม

สุ. ก็มีอยู่ ๖ ทาง ไปดูในพระไตรปิฎกไม่พ้นจาก ๖ ทางเลย

ถ. ขณะที่เหลียว ขณะที่เดิน ขณะที่ลุกขึ้น คือ อารมณ์นั้นจะเกิดทางทวารไหนก็ได้

สุ. เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่ละอย่างได้ว่า ไม่ได้อยากหรือต้องการให้ สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น แต่สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นตามปัจจัย เวทนา ความรู้สึก ใครสร้างได้ ไม่มีใครสร้างได้เลย มีปัจจัยก็เกิด

ถ. อิริยาบถบรรพที่ว่า นั่งก็รู้ว่านั่ง เราจะรู้ชัดว่านั่ง มีอยู่ทางเดียว คือ สิ่งที่ปรากฏทางกาย ผมเข้าใจดี แต่สัมปชัญญบรรพ ผมยังไม่เข้าใจ

สุ. เหมือนกัน ใครจะนั่งเฉยๆ ต้องมีขยุกขยิกบ้าง นั่นสัมปชัญญบรรพ ได้ไหม

ถ. ขณะที่ขยุกขยิก อาจจะเกิดทางกายก็ได้

สุ. แน่นอน นั่นล่ะสัมปชัญญบรรพ อะไรก็ได้ ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และในทุกๆ ขณะที่จะไม่ให้เป็นผู้หลงลืมสติ

ถ. ในอิริยาบถบรรพที่ให้เรา ...

สุ. ไม่อย่างนั้นคุณธงชัยต้องนั่งตัวแข็ง ไม่มีการขยับเขยื้อนเลย อิริยาบถบรรพ

ถ. ถ้าพิจารณาอย่างนั้น ในอิริยาบถบรรพ เป็นการถอนอัตตสัญญา เป็นการถอนความเป็นตัวตนได้ชัดเจนดี

สุ. ในวันหนึ่งๆ คุณธงชัยนั่งเฉยๆ มีไหม

ถ. ก็มีบ้าง

สุ. และในวันหนึ่งๆ คุณธงชัยนั่ง แต่ไม่เฉย มีไหม

ถ. มี

สุ. เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่นั่งเฉยๆ ก็เป็นอิริยาบถบรรพ ขณะที่นั่งไม่เฉยก็เป็นสัมปชัญญบรรพ คือ เป็นผู้มีปกติเจริญสติ

ถ. ก็อยู่ในเวทนานุปัสสนาอยู่แล้ว

สุ. คุณธงชัยจะต้องเดือดร้อนทำไมถ้าเป็นเวทนานุปัสสนา เป็นก็เป็น ทำไมจะต้องมีถ้า

ถ. ในแง่ปฏิบัติไม่มีปัญหา แต่ในเรื่องทฤษฎี ผมต้องการความเข้าใจ อย่างแจ่มแจ้งในเหตุผล

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าเจริญสติปัฏฐานตามปกติ เราก็ถามเขาได้อย่างนี้ ทุกขณะ เมื่อไม่หลงลืมจะต้องเป็นบรรพหนึ่งบรรพใด เขานั่งเฉยๆ มีไหม มี ยืน เฉยๆ มีไหม ก็เป็นอิริยาบถบรรพ แต่ยืนไม่เฉย นั่งไม่เฉยก็มี ก็เป็นสัมปชัญญบรรพ

ถ. เรารู้ชัดว่า เราเหลียวนั้น โดยที่สติเกิดทางทวารใดทวารหนึ่ง

สุ. แน่นอน จึงรู้ว่าลักษณะที่ปรากฏนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรมปรากฏ ก่อนเจริญสติเป็นเราเหลียว แต่เมื่อรู้ชัดแล้วไม่มีเรา แต่มี สภาพธรรมปรากฏ

ถ. ก็ไม่เกี่ยวกับเหลียวเลย ถ้าเกิดทางหู

สุ. เกิดทางหู ไม่เกี่ยวกับเหลียว ก็ไม่ใช่บรรพนี้

ถ. สัมปชัญญบรรพ ตัดออกไปก็ได้

สุ. ทรงแสดงไว้ ก็ต้องพิจารณาว่า ทำไมทรงแสดง ก็เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ จำแนกออกไปเพื่อให้รู้ว่า ไม่หลงลืมสติเท่านั้นเอง ไม่ใช่ให้เรามาสงสัย แต่เพื่อให้เราไม่หลงลืมสติ

ถ. คำที่แปลไว้ เรื่องที่หนักคือ นั่ง ก็ให้รู้ว่านั่ง

สุ. นั่ง ก็ให้รู้ชัดว่าเรานั่ง

ถ. เพราะฉะนั้น เราก็เลยนั่งจริงๆ เหมือนกัน จึงจะเรียกว่านั่ง

สุ. และต้องรู้ชัดด้วยว่า เรานั่ง ก็เลยไม่มีสภาพธรรมปรากฏ มีแต่เรา

ถ. แต่ที่เขียนเอาไว้

สุ. มิได้ คือ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ผู้ที่เข้าใจอรรถแล้วก็เข้าใจอรรถ โดยตลอดไปเลย แต่คนที่ไม่เข้าใจอรรถก็ว่า อันนี้คงจะเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่สงสัย หรือเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดไปเลย

แต่ต้องสอดคล้องกับส่วนอื่น เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อเป็นอนัตตา เราไม่มี อะไรมี ก็มีธรรมซึ่งเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าถึงว่า ธรรมที่เป็นอนัตตาปรากฏในขณะที่นั่งมีลักษณะอย่างไร ก็ต้องอาศัยปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะทางที่จะรู้อารมณ์ที่ปรากฏต้องอาศัยตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ มีอยู่ ๖ ทาง ถ้าไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ธรรมจะไม่ปรากฏเลย

เพราะฉะนั้น เมื่อกำลังนั่ง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และที่จะปรากฏลักษณะของธรรมได้ ต้องทางหนึ่งทางใด ก็ยืนยันกันอยู่แล้วว่าจะต้องเป็นอย่างนี้

ถ. ก็งงกันมากที่แปลออกมาว่า ให้รู้ชัดว่าเรานั่ง

สุ. แต่ถ้าเข้าใจความหมายของธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็ถ่ายถอนความเป็นเราออกได้ รู้ว่าธรรมปรากฏ ไม่ใช่เรา

ถ. ผมเข้าใจ

สุ. เข้าใจแล้ว คนอื่นเขาจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปเกี่ยวข้อง

ถ. การเข้าใจปริยัติ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติเกิดได้

สุ. เข้าใจ แต่ไม่ใช่ไปสงสัย

ถ. ก่อนจะเข้าใจก็ต้องสงสัยก่อน

สุ. ขณะสงสัย ไม่เข้าใจ เมื่อหมดสงสัยแล้วจึงเข้าใจ หรือเมื่อเข้าใจแล้ว ก็หมดสงสัย

ถ. สำหรับอิริยาบถบรรพ ผมไม่สงสัย

สุ. สัมปชัญญบรรพก็เหมือนกัน เหมือนกันหมดทุกบรรพ เมื่อถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว ทุกบรรพเหมือนกัน

เวลายืน ลมพัด เย็นไหม เย็น มีแข็งที่เท้าไหมขณะที่เย็นปรากฏ เท้าเย็นหรือตรงไหนเย็น

ถ. แข็งก็มี เย็นก็มี

สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า เมื่อคุณธงชัยยืนแล้วจะต้องมีแข็ง ที่เท้าแน่ๆ จะเป็นอะไรก็ได้ที่ปรากฏ เพื่อความเป็นตัวตนจะได้หมดเสียที อยากจะหมดความเป็นตัวตนก็ต้องไม่เอาเท้ามาไว้ที่แข็ง หรือเอาแข็งมาไว้ที่เท้า อะไรก็ได้ ที่ปรากฏ ชั่วขณะเดียว

ถ. ... สภาพที่รู้ร้อนอีกอย่าง ...

สุ. นี่คือนามธรรม พูดว่าจิต เข้าใจ แต่เมื่อถึงสภาพที่รู้ร้อน ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น เข้าใจคำ แต่ไม่เข้าใจลักษณะ จนกว่าสติจะระลึก จนกว่าลักษณะของนามธรรมนั้นจะปรากฏ

เรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่อบรมเจริญได้แน่นอน สามารถ ที่จะค่อยๆ อบรมเจริญไปจนกว่าปัญญาจะคมกล้า จะรู้ชัด แต่ต้องเริ่มจากความเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจก็เริ่มจากการพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดที่พิสูจน์ได้ สิ่งใดที่พิสูจน์ไม่ได้ สิ่งใดเป็นของจริง สิ่งใดไม่ใช่ของจริง

ถ. ศรัทธาอย่างเดียวไม่พอใช่ไหม

สุ. ไม่พอ เพราะศรัทธาในขั้นของทานก็ทำทานไปเรื่อยๆ ศรัทธาใน ขั้นของศีลก็วิรัติทุจริต เท่านั้นเอง แต่ศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญาต้องมีด้วย ไม่อย่างนั้นไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ จะอาศัยทานดับกิเลสไม่ได้ อาศัยศีลดับกิเลสไม่ได้ ต้องอาศัยปัญญาจึงจะดับกิเลสได้ และอยู่ดีๆ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นเองลอยๆ เหมือนอย่างอกุศลที่ต้องเกิดอยู่เรื่อยๆ เพราะมีเหตุปัจจัยของ อกุศลมาก

เปิด  231
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566