แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1251
สนทนาธรรมที่โรงแรมรานายานี นครกัตมัณฑุ ประเทศเนปาล
วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖
ถ. ขณะที่จับตัวเราเอง ยังไขว้เขวว่า แขนรู้สภาพเย็นที่มือ หรือมือรู้ สภาพร้อนที่แขน
สุ. นั่นไม่ใช่ลักษณะของการศึกษาสภาพของนามธรรมและรูปธรรม
ถ. แต่เป็นของจริง
สุ. คุณธงชัยกำลังคิดว่า นี่แขน หรือมือ
ถ. ผมคิดถึงปรมัตถธรรม
สุ. ปรมัตถธรรมมีแต่แข็ง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ตัวตนนี่ละเอียดและเหนียวแน่นซึมซาบสักแค่ไหน ในเมื่อยังมีตัวเราเองจับ ยังมีความเป็นตัวเราอยู่ ไม่มีทางที่จะเอาตัวตนออกได้ เพราะยังเป็นตัวเราอยู่ จึงไปสืบสาวว่านี่มือหรือแขน ซึ่งไม่ใช่การศึกษาลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม
ถ. อดที่จะใคร่ครวญหาเหตุผลไม่ได้
สุ. แต่ไม่ใช่ใคร่ครวญว่ามือหรือแขน ถ้ามือหรือแขนก็ของเรา มือก็ของเรา แขนก็ของเรา และจะเอาตัวตนออกได้อย่างไร
ถ. ก่อนศึกษาไม่ได้พิจารณา แต่เมื่อศึกษาแล้ว สภาพที่รู้ ก็ลองจับดูว่า เรามีความรู้สึกที่มือ หรือมีความรู้สึกที่แขน
สุ. กลายเป็นมาศึกษาเรื่องตัวเราว่า เป็นแขน หรือเป็นมือของเรา จะเอาตัวตนออกไปไม่ได้ เพราะไม่ได้ศึกษาลักษณะที่เป็นนามธรรมว่าต่างกับลักษณะของรูปธรรม ไม่ต้องทำอย่างอื่น จะอยู่ที่ไหน จะเป็นของใคร ก็ไม่ต้องสนใจ ถ้าขณะนั้นกำลังศึกษาลักษณะที่เป็นนามธรรม คือ สภาพรู้ และรู้ว่าต่างกับลักษณะของรูปธรรม ต้องแยก ๒ อย่างนี้ให้ออก
ถ. จินตามยปัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ
สุ. ก็อย่างนี้ อีกหน่อยก็ต้องไปบอกคนอื่นว่า ให้ทำอย่างนี้ก่อน ทำอย่างนั้นก่อน ไปตั้งขึ้นมาใหม่อีก เหมือนกับที่มีคนพยายามตั้งแล้วว่า ถ้าทำอย่างเขา อย่างนี้ๆ จะดีไหม จะถูกไหม แต่บอกไม่ได้เลย ไม่มีกฎ
ผู้ฟัง คำว่า เป็นเครื่องอาศัยระลึกเท่านั้น สำคัญที่สุด
สุ. ใช่ คือ ไม่ติด เมื่อสติระลึกที่ลักษณะไหนไม่ต้องไปคำนึงถึงว่า อยู่ในบรรพไหน เราจะต้องไปรู้อะไร ศึกษาเฉพาะลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเท่านั้น
ถ. อย่างการเห็น สภาพรู้ที่เป็นนามธรรม ส่วนมากเรามักจะดึงมาที่ตา ซึ่งความจริงผิด ใช่ไหม
สุ. ใครดึง ตัวตนดึง เป็นเราอยู่ตลอดเวลา
ถ. เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพรู้เห็นชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องนึกถึงว่าอยู่ที่ตา หรือที่หู หรือที่ไหน ใช่ไหม
สุ. ขณะที่กำลังให้อยู่ที่หนึ่งที่ใด ขณะนั้นไม่ได้ศึกษาสภาพรู้ว่า นี่คือ อาการรู้ ลักษณะรู้ คือ ตัวตนจะทำให้ผิดไปนิดๆ อยู่เรื่อยๆ แทรกเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
ถ. ใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนี้
สุ. จนกว่าปัญญาของคนนั้นเองจะเกิดขึ้น และค่อยๆ รู้วิธีละ ต้องเป็นปัญญาของตัวเอง จึงเป็นปัจจัตตัง รู้วิธีละด้วยตัวของตัวเองว่า เมื่อเข้าใจอย่างนี้ และค่อยๆ ประพฤติอบรมอย่างนี้ ความเป็นตัวตนจะค่อยๆ หมดไป
ถ. แต่ถ้าระลึกเฉยๆ รู้สึกเหมือนกับว่า รู้เฉยๆ และว่างๆ ไป
สุ. นั่นคือไม่ได้ศึกษา คำว่า ไตรสิกขา อยู่ที่ไหน ทั้งๆ ที่ทรงแสดงไว้
เมื่อรู้ว่าสติระลึกจะเฉยไม่ได้ เพราะถ้าเฉยปัญญาไม่เกิด ในขณะที่สติเกิด ต้องศึกษา และศึกษาในขณะนั้นเป็นไตรสิกขา ทั้งศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา คือ พยายามน้อมที่จะรู้ในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม จึงจะเป็นไตรสิกขา ซึ่งอยู่ที่นั่นเอง
ถ้าคนอ่านตำราไตรสิกขา พูดได้หมดเลยว่า ในมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นไตรสิกขาเป็นอย่างไร แต่เมื่อไม่เคยระลึกจึงไม่รู้ว่า เมื่อสติเกิดแล้ว ไตรสิกขาอยู่ในขณะที่กำลังน้อมไปศึกษาพร้อมสติที่จะรู้ในลักษณะของสภาพที่ปรากฏ
ถ. แต่ตัวเราก็รู้ ในใจเราก็รู้
สุ. ใจเรารู้อะไร
ถ. รู้ว่า เป็นสภาพรู้ ไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล
สุ. รู้ว่าไม่มีตัวตน แต่กำลังเห็น เห็นใคร เป็นเครื่องพิสูจน์ตอบอยู่ใน ตัวเลย รู้ว่าไม่มีตัวตน แต่ขณะที่กำลังเห็น เห็นใคร นี่คือข้อสอบในความหมายที่ว่า เรารู้แล้วว่าไม่มีตัวตน
ถ. ก็เห็นเฉยๆ
สุ. เห็นอะไร จะเห็นเฉยๆ ได้อย่างไร
ถ. ขณะที่เรามีโยนิโส
สุ. ไม่อยากให้ใช้คำว่าโยนิโสเลย เหมือนกับจะทำ เพราะแปลว่า ทำไว้ ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ก็จะทำกัน โยนิโสเอาไว้ โยนิโสเอาไว้ เปลี่ยนเป็น สติระลึกและศึกษาดีไหม พิจารณา สังเกต แทนที่จะให้เป็นโยนิโส ซึ่งจะต้องสอบถามว่า ที่โยนิโส อะไรโยนิโส ถามลงไปจนลึกว่าอะไรโยนิโส ก็ตัวตนโยนิโส เพราะเหตุใด เพราะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมว่า ขณะนั้นเป็นสภาพอะไรที่กำลัง เป็นความเพียร เป็นความสังเกต หรือเป็นการพิจารณา
เห็น รู้แล้วว่าเป็นอนัตตาทั้งหมด และกำลังเห็น ใช่ไหม
ถ. มองไปก็เห็นสี บัญญัติก็ไม่มี
สุ. ไม่มีแล้วเห็นอะไร
ถ. ก็เห็นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา
สุ. ไม่มีใครสักคนเดียวที่นี่เลยหรือ
ถ. ขณะนั้นมีความรู้สึกอย่างนั้น
สุ. ขณะนั้นมีความรู้สึกอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะอะไรจึงรู้สึกอย่างนั้น ผลกับเหตุต้องตรงกัน จะมีผลเปล่าๆ โดยปราศจากเหตุไม่ได้ เพราะฉะนั้น ใครเอาผลมาบอก ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องชื่นชมยินดี ไม่ต้องคัดค้าน จนกว่าจะถามถึงเหตุว่า ทำอย่างไร เพราะฉะนั้น คนที่เขาคิดว่าคนอื่นเป็นพระอรหันต์มีมาก เพียงเพราะเขาบอกว่าไม่ต้องยึดถือว่าเป็นตัวเรา ก็ดูเหมือนว่าคนพูดนั่นไม่ยึดถือแล้ว แต่เหตุที่จะทำให้กล่าวคำนั้นได้ หรือจะให้ไม่ยึดถือจริงๆ นั้นคืออย่างไร ที่คุณหมอว่างไปเฉยๆ เห็นเป็นสีเฉยๆ
ถ. มีสติ
สุ. สติระลึกเท่านั้นเอง สติไม่ใช่ปัญญา สติกับปัญญาต่างกัน ปัญญาต้องเจริญขึ้นสติจึงจะเป็นพละ คือ มีกำลังขึ้น และปัญญาต้องเจริญขึ้นด้วย ไม่ใช่เพียงมีปัญญา แต่ถ้าปัญญาไม่เจริญ สติจะมั่นคงไม่หวั่นไหวไม่ได้
ส่วนมากทุกคนไม่อยากระลึกสภาพที่เป็นอกุศล แสดงถึงความหวั่นไหวหรือเปล่า เมื่อเป็นอกุศลก็เดือดร้อน หรือว่านี่เป็นกุศลไหม นั่นเป็นอกุศลไหม นั่นเป็นบาปไหม แสดงถึงความหวั่นไหว
เพราะฉะนั้น ที่สติจะมั่นคงได้ เพราะปัญญามั่นคง และปัญญาที่จะมั่นคงขึ้น ก็ต้องอาศัยการศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่เราจริงๆ
ที่กล่าวว่าไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น เป็นอนัตตาทั้งหมด แต่เวลาอกุศลเกิดก็หวั่นไหว หรือทางตาที่กำลังเห็น ที่จะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องมีเหตุเหมือนกัน การรู้สภาพธรรมทางตา การรู้สภาพธรรมทางใจ เกี่ยวข้องสืบเนืองต่อกันอย่างไรจึง ไม่ใช่ตัวตน นี่ไม่ใช่ปริยัติเลย แต่เป็นเพราะสติระลึกจนทั่ว ทุกทวาร เมื่อสภาพธรรมเกิดสืบต่อกันแต่ละทวาร ก็ปรากฏตรงตามที่ได้ศึกษา
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ในรูปแต่ละกลาป หรือแต่ละกลุ่มซึ่งเล็กที่สุดในทุกๆ สิ่ง เช่น ที่ตัวสามารถที่จะแตกย่อยกระจัดกระจายละเอียดยิบได้เล็กที่สุด คือ กลุ่มของรูปซึ่งมีจำนวนของรูปไม่เท่ากัน บางกลุ่มมีเพียง ๘ รูป บางกลุ่มมี ๙ รูป บางกลุ่มมี ๑๐ รูป บางกลุ่มมี ๑๑ รูป บางกลุ่มมี ๑๒ รูป บางกลุ่มมี ๑๓ รูป ถ้ากลุ่มที่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วยก็ต้องเกิดพร้อมกับมหาภูตรูป ๔ และ สี กลิ่น รส โอชา รวม ๘ รูป ไม่แยกกัน วิการรูปจะแยกจากมหาภูตรูปในกลุ่มที่เล็กที่สุดไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของอ่อนหรือแข็ง เวลานี้ที่กระทบสัมผัส หลายกลุ่ม พอกระทบไปก็ต้องรู้หลายกลุ่ม แต่ว่าอ่อนหรือแข็งหลายกลุ่มซึ่งไม่มี วิการรูปเกิดร่วมด้วย กับอ่อนหรือแข็งหลายกลุ่มซึ่งมีวิการรูปเกิดร่วมด้วย มีลักษณะต่างกันให้รู้ว่า อ่อนหรือแข็งกลุ่มนี้มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย และอ่อนหรือแข็งกลุ่มนั้นไม่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย
วิการรูป เป็นรูปที่มีลักษณะวิการ เป็นอาการวิการของมหาภูตรูปซึ่งไม่แยกออกจากกัน เป็นกลุ่มละเอียดๆ เล็กๆ แต่รวมกันจนกระทั่งลักษณะนั้นปรากฏ เหมือนกับกลุ่มละเอียดๆ เล็กๆ ของแข็งรวมกัน ลักษณะของแข็งจึงปรากฏ
ท่าทาง นั่งไม่ได้ ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่มีลักษณะปรากฏ ซึ่งเป็นส่วนที่เล็กน้อยปลีกย่อย ถ้ากระทบที่นิ้ว ส่วนอื่นไม่ปรากฏเลย ศีรษะตลอดเท้าส่วนอื่นจะไม่ปรากฏ ถ้าย้ายจากกระทบที่นิ้วมากระทบที่หลัง ส่วนอื่น ทั้งแขน ทั้งตา ตลอดศีรษะจรดเท้าไม่ปรากฏ เพราะเกิดแล้วดับแล้วเร็วที่สุด จึงจะไม่มีตัวตนได้
การที่จะไม่มีตัวตน เพราะว่าสภาพธรรมแต่ลักษณะปรากฏจริงๆ กับจิตที่กำลังรู้เฉพาะสภาพธรรมนั้นอย่างเดียว เมื่อเป็นเพียงแข็งจริงๆ ไม่มีอย่างอื่นมาปนด้วยเลย ซึ่งในขณะนั้นตัวตนจะยังคงมีอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าตราบใดยังเป็นเพียงการนึกว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่มีทุกอย่างครบ ยังนึกถึงตรงโน้น ยังนึกถึงตรงนี้ ตัวตนก็ยังอยู่ อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ท่านั่งจึงมีไม่ได้ เพราะเมื่อลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ทางกาย ก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบเท่านั้นเอง ซึ่งส่วนอื่นจะมารวมอยู่ในที่นั้นไม่ได้
ถ้ามีท่านั่ง ก็ต้องเป็นเราแน่ๆ ที่กำลังนั่งอยู่ ต่อให้นึกว่าเป็นรูป ก็ไม่มีทางสำเร็จ
ผู้ฟัง คิดเอาเองว่า นี่รูปนั่ง
ถ. ขณะที่พิจารณาตรงแข็งนั้น ผมยอมรับว่าที่อื่นไม่มี
สุ. ยอมรับ แต่ก็อยากจะรู้ว่า มันแขนหรือมันมือ
ถ. เพียงแข็ง
สุ. ก็แข็งนั่น มือหรือแขน
ถ. บางครั้งก็ไม่คิด
สุ. ถ้าไม่คิด ขณะนั้นก็ศึกษาเพียงสภาพที่แข็ง เพื่อที่จะปล่อยความเป็น ตัวเราที่กำลังนั่งอยู่ออกให้หมด ใช้คำว่า ออกให้หมด
ถ. ผมยอมรับว่า ถ้าอารมณ์แรงๆ เช่น ร้อนจัดๆ สภาพตัวตนก็ไม่ปรากฏ เหมือนไม่มีจริงๆ
สุ. จนกระทั่งไม่มีเลย ทุกครั้ง ตลอดไปเลย ไม่เกิดอีกเลย ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น เป็นปัจจัตตัง รู้ด้วยตัวเอง ซึ่งการฟังบ่อยๆ จะทำให้รู้ว่า รู้จริงๆ เพราะสติระลึก หรือรู้เพราะเข้าใจ
ผู้ฟัง จริงๆ รู้เพราะเข้าใจ แต่ยังไม่รู้จริงๆ
ถ. แล้วต่อไปเป็นอย่างไร
สุ. ต่อไปเป็นอย่างไร จะทำอีกแล้ว ต้องเข้าใจว่า ไม่มีคุณจรีย์กำลังยืน พิงกำแพง แต่มีนามธรรมซึ่งกำลังรู้เย็น เพราะฉะนั้น เมื่อไรเป็นเพียงนามธรรมไม่ใช่เราที่กำลังรู้เย็น อย่างอื่นไม่มีเลย นั่นคือการเริ่มที่จะเข้าถึงความหมายของคำว่า อนัตตา หรือสภาพที่เป็นอนัตตาจริงๆ
ถ. ความเย็นนี่ รู้สึกว่าต่อกัน
สุ. ไม่เป็นไร ศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพื่อเอาเราออกจากที่กำลังรู้เย็น จะต่อหรือไม่ต่อไม่ต้องไปคิด ตราบใดที่อย่างอื่นยังไม่แทรกเข้ามา ก็มีแต่เย็นที่กำลังปรากฏ เมื่อยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับ ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ก็ศึกษาสภาพที่กำลังปรากฏ จะเป็นเย็นในขณะนั้นก็คือเย็น ถ้ามีเสียงปรากฏ ยังไม่เคยรู้อีก ก็ต้องศึกษาทวารอื่นต่อไปอีกเรื่อยๆ
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. สลับกัน ก็แล้วแต่ สติก็จะต้องระลึกสลับกันไป
ถ. เป็นตัวตนด้วย ไม่เป็นตัวตนด้วย สลับกันไปมา
สุ. จนกว่าตัวตนจะหมด
ถ. เวลาเป็นตัวตน รู้สึกว่า ขณะนั้นเรายังไม่ได้ระลึก
สุ. เพราะฉะนั้น ก็ระลึกต่อไปจนกว่าตัวตนจะหมด สติเคยระลึกบ้างไหม ทางอื่น ทางไหนที่สติเริ่มระลึก ทางไหนที่สติยังไม่ได้ระลึก สติระลึกรู้ทางไหนบ้างแล้ว ทางไหนยังไม่รู้ ก็ต้องระลึกไป จนกว่าจะรู้ทั่ว
ถ. ความรู้สึก รู้เย็นนี่มากกว่า
สุ. แล้วแต่ ไม่ต้องสนใจว่าใครจะเป็นอย่างไร จะต่างกัน จะเหมือนกัน แต่สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ มั่นคงเลยว่า สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ สติระลึกศึกษาเพื่อรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ต้องรู้ในลักษณะของรูปหรือในลักษณะของนามจนกว่าจะชิน ถ้าไม่ชินก็ยังเป็นตัวเรา เมื่อชินในลักษณะของนามธรรมเพิ่มขึ้นจนกระทั่งนามธรรมปรากฏลักษณะที่เป็นนามธรรม แม้อย่างนั้นก็ยังไม่พอที่จะละความเป็นตัวตน ต้องระลึกไปเรื่อยจนกว่าการรู้แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏเป็นลำดับขั้น อย่าผิดทางเท่านั้น
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ธรรมดาที่สุด เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าท่านเหล่านั้นไม่มีข้อสงสัยในเรื่องการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ไม่มีเรื่องอื่นเลย นอกจากทรงแสดงธรรมเพื่อเตือนให้สติระลึกรู้ลักษณะของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้นเอง ไม่ว่าในพระสูตรไหนทั้งนั้น สภาพของจริง ไม่ว่าใครไปเฝ้าทูลถามปัญหา ทรงแสดงธรรมเรื่องสิ่งที่มีจริงซึ่งกำลังมี เพื่อให้สติระลึก ให้พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีหน้าที่ คือ ระลึกต่อไป ระลึกต่อไป ศึกษาต่อไป สังเกตต่อไป จนกว่าจะเป็นความรู้
ขออนุโมทนาทุกท่านที่เจริญกุศลทุกทาง รวมทั้งการสนทนาธรรมระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานและพุทธสถาน ซึ่งการสนทนาธรรมนั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่คณะเดินทางแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วย
ในคราวก่อนเป็นเรื่องของสัมมัปปธาน ซึ่งเป็นโพธิปักขิยธรรม ๔ ใน โพธิปักขิยธรรม ๓๗
สัมมัปปธาน ได้แก่ วิริยเจตสิก ถ้ากล่าวถึงวิริยเจตสิก ขณะนี้มีไหม ซึ่งเป็นการยากที่จะรู้ได้ เพราะการที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องเป็นไป ทีละเล็กทีละน้อย ทีละประเภท ทีละอย่าง เพราะฉะนั้น จึงยากที่จะมีใครสามารถระลึกรู้ลักษณะของวิริยะซึ่งเป็นสภาพที่เพียร ที่อุปถัมภ์ค้ำจุนสหชาตธรรม คือ จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ให้ดำเนินไปสู่จุดประสงค์ที่ต้องการ
เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ จริงๆ และเริ่มอบรมวิริยะจากชีวิตประจำวัน จนกว่าวิริยะนั้นจะเป็นสัมมัปปธาน ๔ ในโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม
การที่จะกล่าวถึงธรรมแต่ละลักษณะ จะเห็นได้ว่า สัมพันธ์กันโดยตลอด ถ้ากล่าวถึงเจตสิกเพียง ๑ ประเภท จะต่อไปถึงจิตทุกประเภท หรือว่าอาจจะสืบเนื่องไปถึงเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกัน
ในการบรรยายเรื่องของสติปัฏฐาน เมื่อได้กล่าวถึงสติปัฏฐานไว้มากแล้ว ในบางตอนจะขอกล่าวถึงพระอภิธรรมหรือปรมัตถธรรมประกอบด้วย เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจในลักษณะสภาพธรรมละเอียดขึ้น
การฟังทั้งหมด เรื่องความละเอียดของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เพื่อให้เข้าใจในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อใดที่สติระลึก เมื่อนั้นสัมปชัญญะหรือปัญญาจะค่อยๆ น้อมสังเกตตามที่ได้ฟัง จนกระทั่งสามารถที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งจะต้องเป็นเวลาที่ นานมาก แม้แต่ในเรื่องของการฟัง ในเรื่องการพิจารณาที่จะให้เข้าใจละเอียดขึ้น ในเรื่องที่สติจะเริ่มระลึกลักษณะของนามหรือรูป และยังไม่ชัดทีเดียว ต้องค่อยๆ ระลึกไปอีกเรื่อยๆ ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่คือเรื่องของวิริยเจตสิก ซึ่งจะต้องค่อยๆ อบรมเจริญขึ้นจนกว่าจะถึงการเป็นสัมมัปปธาน
ถ. เมื่อวานนี้ได้สนทนาธรรมกันในหัวข้อการเจริญวิปัสสนา ดิฉันเล่าให้กลุ่มฟังว่า ก่อนนอนสติเกิดขึ้น และก็นอนหลับไป รุ่งเช้าสติก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยทางทวารเดียวกัน คือ เสียง ขณะนั้นจะเป็นสัมมาสติหรือเปล่า
สุ. ถ้าเป็นสัมมาสติ หมายความถึงขณะนั้นระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง และรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งบางครั้งจะสังเกตได้ว่า อาจจะเป็นระยะที่สั้นมาก คือ สติระลึกแล้วก็หมด และสติก็หายไป หรืออาจจะเป็นสติที่ระลึกแล้วระลึกอีก ที่เสียง ซึ่งเกิดต่อจากนั้น หรืออาจจะเป็นทวารอื่นก็ได้
ข้อสำคัญที่สุด คือ ให้ทราบว่า การที่ปัญญาเจริญขึ้น หมายความว่า ในขณะนี้ที่ทางตาเห็นและทางหูได้ยิน สติที่อบรมเจริญแล้วสามารถที่จะระลึกในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน คือ อาจจะระลึกลักษณะของนามธรรมที่เห็น และนามธรรมที่ได้ยินเสียง
ถ. ขณะที่กำลังระลึก ที่สติเกิด ก็แน่ชัดว่าไม่มีตัวตน หลังจากนั้นก็เกิดความดีใจขึ้น มีท่านหนึ่งกล่าวว่า อย่าไปดีใจ ถ้าดีใจก็เป็นตัวเป็นตน แต่ขณะนั้นก็ อดดีใจไม่ได้ เพราะไม่เคยเกิดในลักษณะนั้น
สุ. อย่าไปดีใจ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะดีใจไปแล้ว สภาพธรรมใดที่เกิดแล้วทั้งหมด ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ มากหรือน้อย ดีใจหรือเสียใจ จะเห็นได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเกิดขึ้นและหมดไป