แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1260

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๒๖


สุ. การศึกษาเรื่องของจิต ต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง โดยจะต้องรู้ว่า จิตที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งดวงหนึ่งนั้น เป็นจิตชาติอะไร เป็นจิตภูมิไหน เป็นจิตที่เป็นวิถีจิต หรือว่าไม่ใช่วิถีจิต เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารใด รู้อารมณ์ใด และอาศัยวัตถุใด จึงจะรู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของจิตแต่ละประเภท

สำหรับเรื่องของกิจต่างๆ ของจิต ถ้ากล่าวถึงในชีวิตประจำวันจริงๆ พร้อมทั้งตัวอย่างด้วย จะทำให้เข้าใจเรื่องของอเหตุกะ เช่น การเกิด มีอยู่เป็นปกติทุกวัน แต่ถ้าไม่ศึกษาเรื่องจิต ก็เป็นคนเกิด สัตว์เกิด สัตว์ดิรัจฉานเกิด แต่ถ้าศึกษา ปรมัตถธรรมแล้ว ต้องมีปฏิสนธิจิต ซึ่งปฏิสนธิจิตที่เกิดเป็นมนุษย์และเกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน จะเป็นจิตประเภทเดียวกันได้ไหม นี่เป็นสิ่งที่จะต้องคิดพิจารณา

เมื่อการเกิดต่างกัน เป็นมนุษย์เกิด กับสัตว์ดิรัจฉานเกิด ในภูมิที่เห็นได้ คือ ภูมิมนุษย์กับภูมิดิรัจฉาน แม้อยู่ในโลกนี้ด้วยกัน ปฏิสนธิจิตก็ต้องต่างกัน อกุศลจิต ทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ กุศลจิตทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ กิริยาจิตทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีจิตเพียงชาติเดียวเท่านั้นที่ทำปฏิสนธิกิจ คือ ชาติวิบาก

การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา เป็นอบายภูมิ เป็นภูมิซึ่งไม่สามารถจะอบรมเจริญกุศล จะฟังธรรมให้เข้าใจรู้เรื่อง อบรมความสงบของจิต หรือว่าอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็กระทำไม่ได้ในภูมิหรือในชาติซึ่งเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แม้ม้ากัณฐกะ จุติจากชาติที่เป็นม้ากัณฐกะแล้วเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฟังธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน แต่ไม่ใช่ในชาติที่เป็นม้ากัณฐกะ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นม้ากัณฐกะ เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นมด เป็นไก่ เป็นสัตว์ดิรัจฉานประเภทหนึ่งประเภทใดก็ตาม การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกายในอบายภูมิ ๔ ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม

อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว อาจจะเป็นปาณาติบาต หรืออทินนาทาน หรือกาเมสุมิจฉาจารก็แล้วแต่ที่ได้กระทำไปในสังสารวัฏฏ์ สามารถเป็นปัจจัยทำให้ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นภพไหนก็ได้ ชาติไหนก็ได้ในอบายภูมิ ตราบใดที่ยังไม่เป็น พระโสดาบันบุคคล อกุศลกรรมนั้นก็ยังเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดในอบายภูมิได้

เพราะฉะนั้น การเกิดในอบายภูมิ ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งในสังสารวัฏฏ์

จิตทั้งหมด มี ๘๙ ดวง หรือ ๘๙ ประเภท ที่เป็นอกุศลวิบาก คือ เป็นผลของอกุศลกรรม มีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น และเป็นอเหตุกจิต คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ในอเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวง

สำหรับอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ควรจะทราบว่า ดวงไหนทำกิจปฏิสนธิ

อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง คือ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ กายวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้

รวมอกุศลวิบากจิต ซึ่งเป็นปัญจวิญญาณ ๕ ดวง ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้

เหลืออกุศลวิบากจิตอีกเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ สัมปฏิจฉันนอกุศลวิบาก ๑ และสันตีรณอกุศลวิบาก ๑

สำหรับสัมปฏิจฉันนะ เป็นมโนธาตุ สามารถรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณได้ เกิดขึ้นทำกิจ สัมปฏิจฉันนะกิจเดียว ทำกิจอื่นไม่ได้เลย และดับไป เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิต ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้

เหลืออกุศลวิบากจิตอีกประเภทเดียว คือ สันตีรณอกุศลวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใดที่เกิดขึ้น ช้างตัวใหญ่ มดตัวเล็ก จิตขณะแรกของสัตว์ดิรัจฉานทั้งหมดเป็นสันตีรณอกุศลวิบาก ที่ทำปฏิสนธิกิจ

เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเท่านั้น กรรมนั้นยังทำให้จิตขณะต่อไปเป็นวิบากจิตเกิดสืบต่อ คงความเป็นสัตว์ประเภทนั้นๆ ต่อไป โดยเป็นภวังคจิต เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ภวังคจิตก็คือ สันตีรณอกุศลวิบาก ในขณะที่สัตว์ดิรัจฉานนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย เมื่อปฏิสนธิจิตที่เป็นสันตีรณอกุศลวิบากดับไปแล้ว ภวังคจิตของสัตว์ดิรัจฉานก็เป็นสันตีรณอกุศลวิบากเกิดสืบต่อ จนกว่าจะมีรูปกระทบทางตา เสียงกระทบทางหู กลิ่นกระทบทางจมูก รสกระทบทางลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสกระทบทางกาย

สำหรับสัตว์ดิรัจฉาน จะมีกุศลวิบากเกิดได้ไหม

เสียงที่เราได้ยิน สัตว์ดิรัจฉานได้ยินด้วยหรือเปล่า ในโลกอันเดียวกัน หรือว่าปิดกั้นไม่ให้สัตว์ได้ยินเสียงที่เราได้ยิน ที่มนุษย์ได้ยิน สัตว์ดิรัจฉานได้ยินเสียงอย่างที่เราได้ยิน ได้ไหม เพราะฉะนั้น สัตว์ดิรัจฉานจะมีโสตวิญญาณกุศลวิบากได้ไหม ได้ แต่หลังจากนั้นแล้ว มหากุศลจะเกิดเหมือนอย่างมนุษย์ที่ฟังรู้เรื่อง รู้ความหมาย และก็อบรมเจริญความเข้าใจต่อไปได้ไหม ก็ไม่ได้

นี่เป็นการแสดงประเภทว่า ปฏิสนธิจิตของแต่ละบุคคล ย่อมประมวลกรรมที่จะให้ผลข้างหน้าโดยไม่สูญหายไปเลย เพราะฉะนั้น ทุกชีวิตต่างกันตามการสะสม ตามเหตุปัจจัยที่จะให้กรรมที่ได้สะสมมาแล้วมีโอกาส มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ทำให้ วิบากจิตต่างๆ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายต่างกัน รวมทั้งการสะสมของกุศลและอกุศล ก็ต่างกันด้วย

ถ. ที่ว่าสัตว์ดิรัจฉานไม่สามารถอบรมปัญญาได้ แต่ทำไมในชาดกมี สัตว์ดิรัจฉานที่แสดงธรรมได้

สุ. ไม่ถึงกับจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถ. เมื่อคนอื่นเขาทำความดี จิตเราเกิดอกุศล อกุศลที่คิดไม่ดีจะเกิดวิบากได้ ใช่ไหม

สุ. เป็นการสะสม ถ้าไม่ถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรม

ถ. เราคิดในทางอิจฉาริษยา เป็นอกุศลหรือเปล่า

สุ. ถ้าไม่ถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรม เป็นเพียงอกุศลจิต ก็เป็นการสะสมอุปนิสัยที่จะเป็นผู้ที่ริษยาแม้ผู้ที่ทำความดี ซึ่งอกุศลจิตก็มีกำลังตามลำดับขั้นด้วย

ถ. จะส่งผลให้เรามีความทุกข์ทางกาย ทางใจได้ไหม คือ เป็นวิบาก

สุ. ถ้าเป็นวิบาก จำกัดประเภทว่าต้องได้แก่ ถ้าเป็นอเหตุกวิบาก ก็มี จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ คือ ขณะใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นวิบาก ถ้าไม่ใช่ขณะนั้น คือ หลังจากที่วิบากจิตดับไปแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตไม่ใช่วิบาก แต่จะเป็นเหตุใหม่ที่สะสมสืบต่อไปทำให้เกิดอุปนิสัยต่างๆ กัน และเกิดการกระทำกรรมต่างๆ กันด้วย ตามอุปนิสัยที่สะสมมา

ถ. เพราะฉะนั้น กรรมที่เป็นทางใจ ที่จะส่งผลให้เกิดทุกข์ทางกาย หรือทางใจ เป็นอย่างไร

สุ. ต้องถึงขั้นอกุศลกรรมบถ การคิดฆ่าเป็นพยาบาท ไม่ใช่เพียงแต่ ขุ่นเคืองใจเฉยๆ ใช่ไหม ทุกท่านจะมีความขุ่นใจ จะมีความโกรธที่แรงขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับกระทำกรรมหนึ่งกรรมใดก็ได้ หรือถึงกับเตรียมแผนการที่จะกระทำกรรม ซึ่ง ต่างกับขณะที่เพียงโกรธ เพราะฉะนั้น ก็เห็นกำลังของอกุศลที่เพิ่มขึ้นจนกระทั่งสำเร็จเป็นอกุศลกรรมที่ให้ผลทำให้วิบากจิตเกิดได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรมบถ ก็สะสมเป็นอุปนิสัย

ถ. ก่อนที่ผมจะขึ้นมาถามอาจารย์ จิตมีความกลัว ความหวาดหวั่น หวั่นไหว เป็นอกุศลใช่ไหม

สุ. เป็นโทสมูลจิต

ถ. มีวิธีแก้อย่างไร

สุ. เป็นพระอริยบุคคล

ถ. อย่างเราๆ ท่านๆ มีคนที่เขาไม่กลัว ถ้ามีสติ จะหาย ใช่ไหม

สุ. แต่ไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

ถ. ที่เราอิจฉาริษยาคนที่ทำความดี ถ้าเรามีสติ ก็ไม่เป็นกรรม …

สุ. ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล นี่เป็นความต่างกันของ กุศลจิตกับอกุศลจิต

ถ. ขณะที่จักขุวิญญาณเกิด เป็นสภาพธรรมนามธรรมที่รู้ ก็รู้เพียงสี ยังไม่รู้เรื่อง ยังไม่รู้ว่าเป็นสีอะไร แต่ก็เกิดโยนิโสมนสิการในจิตดวงที่เป็นโวฏฐัพพนะแล้ว เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชวนะเกิดเป็นกุศล ผมสงสัยว่า ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร รู้แต่เพียงปรมัตถธรรมอย่างเดียว ใช่ไหม

สุ. น่าสงสัย ใช่ไหม เพราะปกติแล้ว ปุถุชนมักจะเป็นผู้ที่ตกจากกุศล ใช้คำว่า ตกจากกุศล บ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่เป็นผู้ที่พร้อมด้วยกุศลที่จะเกิด สำหรับ ผู้ที่เป็นปุถุชน จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ ตกไปในทางโลภะ อยากจะได้สิ่งที่ปรากฏ ทางตาบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง เพราะฉะนั้น ตกจากกุศลบ่อยเหลือเกิน

ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าลืม หนทางเดียวที่จะรู้ได้ว่า ทางตาที่กำลังเห็น แม้ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร กุศลจิตก็เกิดได้ คือ เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เห็นแล้วก็เป็นอกุศล ประเภทหนึ่งประเภทใดเป็นประจำ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

เสียงดังที่เกิดขึ้น ตกใจกลัว ยังไม่รู้เลยว่าเสียงอะไร ต้องรู้ก่อนหรือเปล่าจึง จะกลัว จะตกใจ แต่เสียงอย่างนั้นเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดแล้ว เป็นโทสมูลจิต โดยยังไม่ต้องรู้เลยว่าเป็นเสียงอะไร

ถ้าในขณะที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน สติก็ระลึกสืบเนืองต่อกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นปกติ เป็นปกติเมื่อไร เมื่อนั้นแม้เห็น กุศลจิต ก็เกิดได้ โดยที่ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ไม่จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละบุคคล เป็นเครื่องพิสูจน์ธรรมตามความเป็นจริงว่า ปกติของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม หรือว่าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ได้อบรมเจริญ สติปัฏฐาน ก็เป็นอย่างหนึ่ง คือ จะเกิดกุศลได้อย่างไรทั้งๆ ที่ทางตาเห็น จะทำอย่างไร มนสิการอย่างไร จึงจะเป็นกุศล

แต่ไม่ใช่ให้ใครไปมนสิการ หรือไม่ใช่เพียงใช้ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งตามความจริงเป็นอโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นความเข้าใจผิด เป็นความเห็นผิด แม้จะใช้คำว่า โยนิโสอย่างนั้น โยนิโสอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ว่าใครจะสามารถทำได้ตามใจชอบ

ขอย้อนกลับไปที่สันตีรณอกุศลวิบาก ซึ่งท่านผู้ฟังก็ได้ทราบกิจของจิตที่เป็นอกุศลวิบากแล้วว่า จักขุวิญญาณอกุศลวิบากทำกิจเห็นสิ่งที่ไม่ดี โสตวิญญาณอกุศลวิบากทำกิจได้ยินเสียงที่ไม่ดี ฆานวิญญาณอกุศลวิบากทำกิจได้กลิ่นที่ไม่ดี ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบากทำกิจลิ้มรสที่ไม่ดี กายวิญญาณอกุศลวิบากทำกิจกระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดี สลับกันไม่ได้ และจิตแต่ละประเภทนี้ทำกิจอื่นไม่ได้เลย ทำกิจได้เฉพาะของตนๆ รู้อารมณ์เฉพาะของตนๆ เช่น โสตวิญญาณ ได้ยินแต่เสียงเท่านั้น ไม่สามารถลิ้มรส หรือกระทบสิ่งที่สัมผัสกายได้ เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากจิตทั้ง ๕ นี้เป็นวิญญาณธาตุ ๕

สำหรับสัมปฏิจฉันนจิต ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ และเป็นมโนธาตุ เพราะสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕

สันตีรณอกุศลวิบากจิต ทำปฏิสนธิกิจ ๑ ทำภวังคกิจ ๑ ทำจุติกิจ ๑ เพราะว่าจิตใดก็ตามที่ทำปฏิสนธิกิจ จิตประเภทเดียวกันนั้นแหละทำภวังคกิจ และจิตประเภทเดียวกันนั้นแหละทำจุติกิจ

สันตีรณอกุศลวิบาก นอกจากจะทำกิจปฏิสนธิเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใดในอบายภูมิ ทำภวังคกิจ ทำจุติกิจ ยังทำสันตีรณกิจ และทำ ตทาลัมพนะกิจหลังจากชวนจิตดับไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ในจิตทั้งหมด ๘๙ อุเบกขาสันตีรณะทำกิจได้ ๕ กิจ

ถ. ผู้ที่พิการมาแต่กำเนิด หรือเป็นผู้ที่มีปัญญาน้อย เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำ เพราะว่ากุศลกรรมนั้นมีกำลังน้อย ใช่ไหม

สุ. สำหรับการเกิดในอบายภูมิ เป็นผลของอกุศลกรรม แต่สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์พิการตั้งแต่กำเนิด เป็นผลของกุศลกรรม นี่คือความต่างกัน

ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ทำให้เกิดในอบายภูมิ ๔ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ไม่ทำให้เกิดในอบายภูมิ แต่ทำให้เกิดในสุคติภูมิ แต่เพราะกุศลนั้นมีกำลังอ่อนมาก จึงทำให้เป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด

บางท่านอาจจะพิการหลังจากโตแล้ว เช่น บางคนอาจจะตกใจมากทำให้เป็นใบ้ หรืออาจจะได้รับอุบัติเหตุ รับประทานยาต่างๆ ทำให้ร่างกายพิกลพิการไป และไม่ถือในระหว่างที่อยู่ในครรภ์ แต่ถือกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิว่า กรรมที่ทำให้ปฏิสนธินี้ ทำให้บุคคลนั้นพิการ เมื่อถึงเวลาที่จักขุปสาทจะเกิด ก็ไม่มีจักขุปสาทเกิดขึ้น นั่นจึงจะนับว่าเป็นการพิการตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้น การเกิดเป็นมนุษย์ในสุคติภูมิ ต้องเป็นผลของกุศลกรรม แต่เป็นกุศลกรรมอย่างอ่อน เพราะจิตที่ทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ไม่ใช่มีประเภทเดียว แต่จำแนกออกไปตามกำลังของกุศลกรรม

กุศลจิตมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากซึ่งเป็น กามาวจรกุศลวิบากหรือมหาวิบาก ๘ ดวงเกิดขึ้น มหาวิบาก ๘ แต่ละดวงทำกิจปฏิสนธิได้ สำหรับผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิดไม่ได้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใด ใน ๘ ดวง แต่สันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ เป็นบุคคลที่ใบ้ บ้า บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด

ถ. ตรงกันข้ามกับบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ตั้งแต่เกิดมาก็ได้รับความสุขความสบายจนกระทั่งตาย มีทั้งทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ บริวารสมบัติ ได้รับแต่อารมณ์ที่ดีอยู่เป็นประจำ ต้องกล่าวว่าบุคคลผู้นั้นได้สะสมกุศลกรรมที่มีกำลังมาก ใช่ไหม

สุ. เพราะฉะนั้น ผลของกุศลกรรม จำแนกชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้ ให้ต่างกันไป ตามปฏิสนธิจิต

การเกิดเป็นมนุษย์ มีจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ ๙ ดวง ไม่ใช่แต่เฉพาะมหาวิบากจิต ๘ ดวงเท่านั้น แม้สันตีรณกุศลวิบากก็ทำกิจปฏิสนธิได้ เพราะฉะนั้น บุคคลใดเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นเป็นสันตีรณกุศลวิบาก แต่ถ้าไม่ใช่เป็น ผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ปฏิสนธิจิตต้องเป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง

สำหรับมหาวิบากที่ยอดเยี่ยมที่สุด ต้องเป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา ญาณสัมปยุตต์ และอสังขาริก ซึ่งเป็นมหาวิบากดวงที่ ๑

เพราะฉะนั้น แล้วแต่แต่ละบุคคลจะมีกรรมใดที่ได้กระทำแล้ว สะสมมาเป็นปัจจัยทำให้มหาวิบากจิตดวงหนึ่งดวงใดเกิดขึ้นเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้

บางคนเกิดมาเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดจริง แต่ในทางโลก ไม่ใช่ในทางธรรม ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นจะเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ คือ มีปัญญา ได้ไหม

ความเฉลียวฉลาดในทางโลก ต่างกับความเฉลียวฉลาดในทางธรรม ถ้าไม่ได้สะสมปัญญาในทางธรรมที่จะพิจารณาเหตุผลโดยรอบคอบ โดยถี่ถ้วน โดยถูกต้อง อาจจะมีปัญญาฉลาดในทางโลก แต่ไม่สามารถที่จะเข้าใจเหตุผลในทางธรรมได้เลย เพราะไม่ได้สะสมมาที่จะเข้าใจเหตุผลในทางธรรม

บางท่านศึกษาวิชาทางโลกไม่เก่ง คำนวณไม่ชอบเลย ยาก ยุ่งจริงๆ แต่ท่านสะสมมาในการพิจารณาศึกษาธรรม เพราะฉะนั้น ท่านก็สามารถที่จะเป็น ญาณสัมปยุตต์ คือ มีปัญญา เข้าใจเรื่องของธรรมได้

เปิด  243
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566