แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1253

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๖


ถ. สมัยก่อนที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม ยังไม่เคยฟังอาจารย์ จิตที่ระลึกรู้ไม่ เคยเกิด แต่ขณะนี้ได้เกิดขึ้นบ้างแล้ว ถึงแม้อาจารย์จะกล่าวว่าเป็นปัจจัตตังก็ตาม แต่ผมว่า แต่ละท่านๆ สติได้เริ่มระลึกรู้กันบ้างแล้วในหลายๆ ทาง ซึ่งผมคิดว่า เป็นสัมมามรรคอย่างที่อาจารย์ว่าแน่นอน จะเป็นญาณสัมปยุตต์ขนาดไหน ซึ่งมีหลายขั้น ก็เป็นทางที่ถูกต้องแล้ว ขอถามว่า สิ่งที่ปฏิบัติกันมา ถือว่าเราได้เริ่มจับด้ามมีดแล้วหรือยัง

สุ. จะให้คนอื่นตอบ หรือตอบเองก็ได้ ซึ่งความจริงแล้วตอบเองได้ ต้องเป็นผู้ที่มั่นใจในเหตุผลด้วยตนเอง แม้คนอื่นเขาจะบอกว่าไม่ใช่ ต้องทำอย่างอื่น แต่ ผู้ที่สัมมาสติเกิดแล้วก็รู้ว่า นี่ต่างหากที่เป็นสัมมาสติ แม้คนอื่นสัก ๑๐๐ คน ๑๐๐๐ คนจะบอกว่า นี่ไม่ใช่หนทางที่ถูก

เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นที่จะอาศัยคนอื่น แต่ต้องเป็นปัญญาของผู้นั้นเอง ซึ่งสามารถที่จะแสดงกับบุคคลอื่นได้ด้วยว่า เป็นสัมมาสติเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีจริงกำลังปรากฏ สติซึ่งเป็นโสภณธรรมควรเกิด ควรเจริญ จำปรารถนาในที่ทั้งปวง สภาพธรรมทั้งหมดควรรู้ ไม่ใช่ควรหลงลืมสติ

ถ. ในขณะที่เราระลึก โดยมากมักจะเป็นว่า เป็นสติของเรา หรือว่า เรากำลังระลึก ผมเน้นว่า ถ้าระลึกก็เป็นตัวเราที่ระลึก หรืออดที่จะมีความรู้สึกไม่ได้ว่า เป็นสติของเรา หรือเป็นเรากำลังระลึก แบบนี้ผมคิดว่า ไม่ใช่สัมมาสติ เพราะสติเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีบุคคลที่กำลังระลึก

สุ. เมื่อสัมมาสติเกิด ก็เป็นพระอริยบุคคลทันทีหรือ หมดการยึดถือนามธรรมใดๆ รูปธรรมใดๆ ว่าเป็นตัวตนทันทีหรือ

ถ. ไม่ใช่

สุ. เพราะฉะนั้น สัมมาสติต้องเกิดก่อน ใช่ไหม ต้องอบรมเจริญจนกว่า โลกุตตรจิตจะเกิด

ถ. ทั้งๆ ที่ระลึก แต่เป็นเราระลึก ก็เป็นสติของเรา

สุ. ถ้าไม่เป็นเรา ก็เป็นพระอริยบุคคล พระโสดาบันบุคคลไม่มีการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมใดๆ ว่าเป็นตัวตน เพราะระลึกจนทั่วหมดทั้ง ๖ ทาง

ถ. เราไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่เราเป็นผู้อบรมเจริญปัญญา ซึ่งอาจจะเกิดอย่างที่อาจารย์ว่า คือ ลืมหมดทุกสิ่งทุกอย่างในขณะนั้น มีแต่สภาพรู้กำลังรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น

สุ. ใช่ ไม่ผิด

ถ. เป็นสิ่งที่สามารถจะเกิดได้กับผู้เจริญสติ แต่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน ขอเรียนถามว่า สัมมาสติเฉยๆ กับสัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ เหมือนกันไหม

สุ. ขณะที่กำลังระลึกที่แข็ง ทุกท่านพิสูจน์ธรรม เห็น มีไหม ความจริงแล้วคนละขณะ ใช่ไหม จะเอามาเป็นขณะเดียวกันได้ไหม และเมื่อสัมมาสติเกิดแล้ว ดับไหม เมื่อสัมมาสติดับแล้ว เห็นมีได้ไหม ในขณะที่เห็นมี สัมมาสติไม่ได้ระลึกที่เห็นได้ไหม ได้ เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่สัมมาสติเกิดช่างเล็กน้อยเหลือเกิน กว่าจะปรากฏเป็นความมั่นคงที่เป็นสติพละ ลักษณะของสติพละเป็นอย่างไรยังไม่รู้ เพราะยังไม่ได้แยกที่จะรู้ว่า ขณะนี้สติกำลังระลึกทางกายที่แข็ง แต่ว่าทางตาที่กำลังเห็นนี่สติไม่ได้ระลึก แต่ความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ทั้งๆ ที่สติระลึกที่แข็ง ทางตาก็เห็น ยังไม่ได้ดับ ซึ่งตามความเป็นจริงขณะที่กำลังรู้แข็ง จะไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น ไกลกันมากทีเดียว และในช่วงที่ไกลกันนี้ เมื่อสติชำนาญขึ้นสติจะรู้ว่า ในช่วงนั้นมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร เช่น ในขณะนี้ กำลังเห็น เสียงมี กี่เสียง ก๊อกๆ แก๊กๆ เมื่อกี้ได้ยินไหม บางท่านผ่านไปเลยไม่สนใจ หลงลืมไปเลย แต่ผู้ที่มีสติรู้ว่า แม้ชั่วขณะเล็กน้อยนั้นที่ได้ยิน ไม่ใช่เรา สติสัมปชัญญะจะต้องรู้ว่า แม้ขณะที่ได้ยินชั่วเล็กน้อยนั้นไม่ใช่เรา เมื่อไม่ใช่เราจริงๆ สติต้องระลึกในลักษณะ นั้นด้วยจึงจะไม่ใช่เรา

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าผ่านไป และไปนั่งจ้องเพียงนามเดียวรูปเดียว ระหว่างนั้นจะมีนามธรรมอะไร รูปธรรมอะไรเกิดดับก็ไม่ระลึก ไม่รู้เลย ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สัมมาสติเกิดแล้ว เล็กน้อย สั้นนิดเดียว และก็ดับ นี่เป็นเหตุที่ทำให้ดูเหมือนกับว่า ไม่น่าจะเรียกว่าสัมมาสติ เพราะความเป็นตัวตนยังมากเหลือเกิน และขณะที่เห็นไม่เคยระลึก ก็ต้องเป็นเราที่กำลังเห็น ความเป็นเรายังมีอยู่ แต่สติไประลึกตรงแข็ง เพิ่งเริ่ม เพราะฉะนั้น ความเป็นตัวตนในระหว่างที่ทางตาเห็นแล้วไม่ได้ระลึกทำให้มีความรู้สึกว่า แม้ในขณะนั้นก็เป็นเรา เพราะสติเพียงระลึกนิดเดียวและก็ดับ

สัมมัปปธาน นี่คือลักษณะของวิริยะในชีวิตประจำวันที่จะต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา การสนทนาธรรม การเข้าใจ ค่อยๆ อบรมจนกว่าจะเป็นสัมมัปปธาน ในโลกุตตรจิต แต่ต้องเริ่มจากโลกียสัมมัปปธานในชีวิตประจำวัน วิริยะก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ลักษณะของวิริยะปรากฏไหม ยากที่จะรู้ได้ ใช่ไหม

ถ. เรื่องของปัจจัยที่ได้เรียนมาแล้ว เจตนาที่เกิดในสหชาตกัมมปัจจัย หรือในนานักขณิกกัมมปัจจัย หรือในมโนสัญเจตนาหาร ทำไมเจตนาจึงทำหน้าที่ได้หลายอย่าง ทำไมเจตนาเก่งนัก ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง

สุ. สภาพธรรมแต่ละอย่างมีหลายระดับขั้น จิตทั้งๆ ที่เกิดขึ้นเพียง ขณะเดียว จะเกิดพร้อมกันหรือซ้อนกัน ๒ ขณะไม่ได้เลย และปัจจัยที่ปรุงแต่งให้จิต แต่ละขณะต่างกัน มี เพราะฉะนั้น จิตที่ต่างกัน ก็ต่างกันตามสภาพของปัจจัยที่ปรุงแต่ง

ในวันหนึ่งๆ ขณะนี้ทุกท่านกำลังเห็น ถ้าโดยคร่าวๆ ก็บอกว่า เป็นจิตที่เห็น ในขณะนี้ เป็นสภาพที่มีจริง แต่ถ้าโดยละเอียด ก่อนเห็นมีจิตไหม เป็นจิตประเภทไหนกว่าจะเห็น และหลังจากที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำกิจเห็นดับไปแล้ว จิตอะไรเกิดต่อจากจิตเห็น นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงทุกๆ วัน เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด พร้อมทั้งเจตสิกต่างๆ ที่เกิดกับจิต

สำหรับในภูมิมนุษย์ซึ่งทุกท่านกำลังอยู่ในภูมินี้ เป็นภูมิหนึ่งในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ เป็นภูมิที่มีทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ในกามภูมิ ๑๑ ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ภูมิที่ต่ำซึ่งไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาได้มี ๔ ภูมิ ชื่อว่าอบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก ๑ ดิรัจฉาน ๑ เปรต ๑ และอสุรกาย ๑ นอกจากนั้น คือ มนุษยภูมิ เป็นภูมิที่ ๕ และสวรรค์อีก ๖ ชั้น รวมเป็นกามภูมิ ๑๑

เวลาที่ทุกท่านศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียดจะต้องทราบว่า จิตแต่ละขณะ นั้นๆ โดยชาติ คือ โดยการเกิดขึ้น เป็นชาติอะไร

ซึ่งชาติของจิตมี ๔ ชาติ คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ จิตที่เป็นกุศลและจิตที่เป็นอกุศลเป็นเหตุ จิตที่เป็นวิบากเป็นผล จิตที่เป็นกิริยาไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก

เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เกิดกับจิต ต้องต่างกันไหม

จิตที่เป็นกุศลไม่ใช่จิตที่เป็นอกุศล ต่างกัน เพราะประกอบด้วยเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตฝ่ายไม่ดี จึงทำให้จิตนั้นเป็นอกุศลประเภทต่างๆ ซึ่งเวลาเกิด ก็เกิดทีละขณะ แต่ให้เห็นกำลังที่ต่างกันของแม้โลภมูลจิตว่า โลภมูลจิตซึ่งเป็นจิตที่ประกอบด้วยโลภเจตสิกเป็นเหตุและโมหเจตสิกเป็นเหตุนั้น มีกำลังแรงไม่เท่ากัน บางครั้งเป็นความพอใจเพียงเล็กน้อย และบางครั้งถึงกับกระทำทุจริตกรรมได้ ทั้งๆ ที่ก็คือโลภะนั่นเอง เวลาที่โลภะเกิดกับจิตขณะนั้นยังไม่กระทำอกุศลกรรม แต่เวลาที่โลภะมีกำลังขึ้น จึงเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมได้

เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายอกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยและจิตนั้นมีกำลังต่างกันเป็นขั้นๆ ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็เหมือนกันฉันนั้น มีกุศลประเภทต่างๆ ตั้งแต่ขั้นทาน เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นทานประเภทใหญ่ได้ มีขั้นศีล มีขั้นความสงบของจิต และมีขั้นอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระอริยบุคคลที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้งหมด รวมทั้งเจตนาเจตสิกด้วย ก็จะต้องต่างกันโดยประเภทที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง ตามชาติของเจตสิกและจิตในขณะนั้นๆ

เป็นเรื่องที่ละเอียดมากซึ่งจะต้องศึกษาเรื่องของจิต โดยเฉพาะเรื่องของกามาวจรจิต คือ จิตที่วนเวียน หรือจะใช้คำว่า ท่องเที่ยวอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ ไม่ว่าจะเกิดในโลกนี้ หรือว่าในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด ก็ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ผู้ที่จะพ้นจากกามาวจรจิต พ้นจากความเกี่ยวพันกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะโดยอบรมความสงบถึงขั้นฌานจิตไม่เสื่อม คือ ฌานจิตสามารถเกิดก่อน จุติจิตเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในพรหมโลกเป็นพรหมบุคคล ซึ่งรูปาวจรวิบากจิตที่เกิดในรูปพรหมภูมิ ไม่ใช่กามาวจรจิต แต่แม้กระนั้น เมื่อมีตาเห็น ขณะที่เห็นก็เป็นกามาวจรจิต เพราะว่าเห็นรูป ขณะที่ได้ยินเสียงในรูปพรหมภูมิ จิตที่ได้ยินก็เป็นกามาวจรจิต เพราะว่าได้ยินเสียง

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขณะนั้นๆ เป็นกามาวจรจิต ซึ่งทุกท่านยังต้องวนเวียนอยู่ในกามภูมิ ๑๑ หรือว่าในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยไม่สามารถพ้นไปได้ จนกว่าจะถึงปรินิพพาน เพราะว่าใน รูปพรหมก็ไม่เที่ยง และถ้าเกิดในอรูปพรหมภูมิ เมื่อหมดกรรมที่จะทำให้เกิดใน อรูปพรหมภูมิ ก็ต้องเกิดในกามสุคติภูมิเป็นเป็นมนุษย์หรือเทวดา และหลังจากชาตินั้นแล้วอาจจะเกิดในอบายภูมิ ซึ่งไม่สามารถเจริญปัญญาได้ เพราะว่าเกิดเป็นสัตว์ ในนรกบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง หรือเป็นอสุรกายบ้าง

เพราะฉะนั้น เรื่องของกามาวจรจิต ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกวันในขณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ถ้าจะศึกษาโดยละเอียดให้เข้าใจ เพื่อเกื้อกูลแก่การที่จะได้รู้ว่า การที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละขณะ เป็นเพียงการรู้อย่างคร่าวๆ ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างละเอียด ซึ่งถ้าเป็นไปตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงประจักษ์แจ้งและได้ทรงแสดงไว้แล้ว จะละเอียดกว่านี้มาก

การที่จะรู้เรื่องของกามาวจรจิต ๕๔ จะต้องเป็นไปตามลำดับขั้น โดยขั้นของความหมายให้ทราบว่า ถ้าสติเกิดระลึกได้ขณะใด ลองพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏ จะไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้แต่การคิดนึก ก็คิดนึกไปในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง เพราะฉะนั้น แต่ละท่านเมื่อไม่ได้อบรมเจริญฌาน ฌานจิตยังไม่เกิด อัปปนาสมาธิยังไม่เกิด แม้ในขณะที่กำลังอบรมเจริญความสงบนั้น ก็เป็นกามาวจรจิต

มีใครอยากจะพ้นกามาวจรจิตบ้างไหม

รูปเป็นที่รัก อยากได้รูปที่น่าพอใจ ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง เพราะผู้ที่จะ ไม่ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ มีแต่พระอนาคามีบุคคลและ พระอรหันต์เท่านั้น นี่คือผู้ที่ตรงตามความเป็นจริง บางท่านอาจจะไม่พอใจในรูป ไม่สนใจเท่าไร รูปจะงาม น่ายินดี หรือไม่น่ายินดี ก็ไม่เป็นไร แต่อาจจะพอใจในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในสัมผัส ก็ไม่พ้นไปได้

ขอกล่าวถึงกามาวจรจิต ๕๔ ดวง เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ยากนักหนาที่จะพ้น เพราะการที่จะอบรมเจริญความสงบของจิตให้มั่นคงจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิต ยากเหลือเกิน แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็มีผู้ที่ รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยที่ไม่ประกอบด้วยฌานจิตมากกว่าผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่ประกอบด้วยฌานจิต เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ สมัยนี้ ท่านผู้ฟังจะเป็นถึงผู้ที่ได้ อัปปนาสมาธิด้วยและได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย ย่อมยากกว่าการที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่ให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเท่านั้น

เพราะฉะนั้น คงจะไม่จำเป็นต้องพูดถึงรูปาวจรจิต คือ จิตของสมาธิขั้น อัปปนาที่ทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิ หรือว่าอรูปาวจรจิตซึ่งทำให้เกิดในอรูปพรหมภูมิ แต่ที่ควรจะเข้าใจจริงๆ คือ จิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวง หรือ ๘๙ ประเภท จำแนกตามภูมิ คือ ตามระดับขั้น มี ๔ ภูมิ ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง และโลกุตตรจิต ๘ ดวง สำหรับจิตที่เป็นรูปาวจรจิตและ อรูปาวจรจิต ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมากนัก

ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวง แบ่งเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง ซึ่งทุกท่านมีครบ มีใครขาดอกุศลจิตประเภทไหนบ้างไหม

อกุศลจิต ๑๒ ดวง คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง ครบไหม ครบ เพราะแม้แต่รูปพรหมภูมิก็ยังมีโลภมูลจิตและโมหมูลจิต แต่ ไม่มีโทสมูลจิต เพราะความสงบที่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิไม่เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ

สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ ที่เป็นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ มี ๑๘ ดวง ฟังชื่อดูจะยาก แต่ถ้าทราบจริงๆ โดยความสนใจเพียงเล็กน้อยจะรู้ได้ว่า เรื่องของจิต ๕๔ ดวง ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้

การที่จะศึกษาเรื่องจิต แม้เพียงดวงเดียวก็ต้องรู้ชัดว่า จิตนี้เป็นภูมิอะไร คือ เป็นกามาวจรจิต หรือเป็นรูปาวจรจิต หรือเป็นอรูปาวจรจิต หรือเป็นโลกุตตรจิต จะต้องรู้ว่าจิตนี้เป็นชาติอะไร คือ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือ เป็นกิริยา และจะต้องรู้ชัดว่า จิตนี้ประกอบด้วยเหตุ คือ เจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ดวง ได้แก่ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิก ๓ และเป็น โสภณเจตสิกอีก ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

เหตุทั้งหมดมีเพียง ๖ เท่านั้น คือ อกุศลเจตสิก ๓ และโสภณเจตสิก ๓ ซึ่งคู่กัน คือ โลภะ – อโลภะ โทสะ – อโทสะ โมหะ – อโมหะ ไม่เป็นสิ่งที่ยากเกินไป เพราะฉะนั้น จิตใดที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ นี้ จิตนั้นเป็นอเหตุกจิต

จิตที่เป็นอเหตุกจิต หรือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ มีเพียง ๑๘ ดวงเท่านั้น และ ๑๘ ดวงนี้ คุ้นหู ชินหูมาก เพราะว่าเกิดเป็นปกติทุกขณะ เพียงแต่ไม่ทราบเท่านั้นเองว่า จิตในขณะนี้ประกอบด้วยเหตุหรือว่าไม่ประกอบด้วยเหตุ แม้ขณะนี้ก็มีจิตที่เป็นอเหตุกะ ที่กำลังเกิดอยู่

ที่เหลืออีก ๒๔ ดวง คือ กามาวจรโสภณจิต เป็นจิตที่เป็นกามาวจระ เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เป็นฝ่ายดี

เปิด  264
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565