แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1255

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๖


ถ. อุเบกขาเวทนาที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต บางตำราแสดงไว้ว่า ไม่เหมือนกับอุเบกขาในโมหมูลจิต ถ้าอุเบกขาในโมหมูลจิตหมายความถึงไม่มีความยินดียินร้าย เป็นอุเบกขาแท้ๆ แต่อุเบกขาในโลภมูลจิตหมายความถึงมีความโสมนัสนิดหน่อย ไม่เหมือนกับอุเบกขาในโมหมูลจิต

สุ. อย่าปนโสมนัสเวทนากับโลภเจตสิก เพราะโสมนัสเวทนาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง โลภเจตสิกเป็นเจตสิกต่างหากอีกประเภทหนึ่ง

โลภะเป็นสภาพที่ติด ที่ต้องการอารมณ์ จะสังเกตได้ว่า ไม่ขาดความต้องการอารมณ์ แต่ในขณะนั้นประกอบด้วยเวทนาอย่างไร ถ้าไม่ถึงกับโสมนัส ดีใจ เพราะเป็นอารมณ์ปานกลาง เวทนาขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงอุเบกขา ความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่ยังมีความต้องการอารมณ์นั้นอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการ

ต้องการเห็น ต้องการได้ยิน ต้องการได้กลิ่น ต้องการลิ้มรส อาหารต้องรับประทาน คงไม่มีใครที่คิดจะไม่รับประทานอาหาร ต้องการบริโภคอาหารอร่อยด้วย แต่ไม่ใช่ว่าอาหารจะอร่อยทำให้เกิดโสมนัสเวทนาทุกครั้งที่รับประทาน เพราะฉะนั้น เรื่องของความต้องการ เรื่องของความติด เรื่องของความพอใจ เป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่ง ส่วนความรู้สึกโสมนัสในขณะที่กำลังได้อารมณ์นั้นๆ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความต้องการนั้น มีเป็นประจำ แต่โสมนัสเวทนาไม่ได้เกิดเป็นประจำ แล้วแต่ว่าอารมณ์ที่ประสบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะเป็นอารมณ์ที่ประณีตมากหรือว่า เป็นแต่เพียงอารมณ์ที่ปานกลาง

ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ปานกลาง จะฝืนใจให้เป็นโสมนัสก็ไม่ได้ และถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ประณีตพิเศษ จะฝืนใจไม่ให้เป็นโสมนัสก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สังเกตได้จากลักษณะของโสมนัสเวทนาว่า ต่างจากลักษณะของความต้องการ หรือความติดในอารมณ์ที่ปรากฏ

สำหรับอกุศลจิต ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ ทุกท่านมีครบ แล้วแต่ว่ากาลไหนจะเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดร่วมกับความเห็นผิด หรือว่าไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

ความเห็นผิดมีหลายขั้น ความเห็นผิดที่เกิดจากการไม่ได้ศึกษาเลย อาจจะเข้าใจว่าพระธรรมไม่ต้องศึกษา เพียงอ่านก็คงจะเข้าใจได้ แต่เมื่อได้ศึกษาแล้วจะรู้ว่า ถ้าเพียงอ่าน จะเข้าใจผิด ไม่ใช่เข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดก็มีหลายขั้น รวมทั้งความคิดที่ว่า การประพฤติปฏิบัติที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ต้องศึกษาพระธรรม ปฏิบัติทันทีได้ นั่นเป็นความเห็นที่ผิดแล้ว เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด แต่ละท่านก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้โลภมูลจิตเกิดร่วมกับความเห็นผิด ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นในขั้นใด ต่อเมื่อได้ศึกษาแล้วก็จะเห็นว่า ขณะใด ในวันหนึ่งๆ เป็นอกุศลประเภทใด

สำหรับโทสมูลจิต ๒ คือ เป็นสสังขาริกประเภทหนึ่ง และอสังขาริกอีก ประเภทหนึ่ง อสังขาริก หมายความถึงจิตที่เกิดโดยไม่อาศัยการชักจูง ไม่ใช่สภาพจิตที่ลังเล ไม่ใช่สภาพจิตที่มีกำลังอ่อน ถ้าเกิดโกรธขึ้น ไม่ได้อาศัยใครมาชวนให้โกรธ หรือมาชวนให้ไม่พอใจในบุคคลนั้นบุคคลนี้ ขณะนั้นเกิดโกรธขึ้นตามเหตุปัจจัยของตนเอง เป็นอสังขาริก แต่บางครั้งจะสังเกตได้ว่า ไม่ได้คิดเรื่องของบุคคลอื่นในทางที่จะเป็นอกุศล หรือในทางที่จะไม่ชอบ แต่ก็มีคนอื่นมาชักจูงให้เกิดโทสะหรือความไม่พอใจในบุคคลอื่นนั้นได้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นสภาพจิตที่เป็นสสังขาริก

สำหรับโมหมูลจิต ๒ คือ ขณะที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา ความสงสัยใน สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคต เป็นต้น และอีกประเภทหนึ่งคือ ขณะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ ซึ่งเป็นเจตสิกที่ทำให้เผลอ หรือว่าไม่รู้ลักษณะของอารมณ์

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ สติปัฏฐานย่อมจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของ อกุศลจิต ๑๒ ประเภทนี้ได้ เพราะทุกท่านชินกับคำว่าอกุศลจิต และก็ชินกับคำว่า กุศลจิต แต่ไม่ชินกับคำว่า อเหตุกจิต

สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ ถ้าจำแนกอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นโสภณะ ๒๔ เป็น อโสภณะ ๓๐ นี่คือการศึกษาพระธรรม คือ ศึกษาได้โดยหลายหลากนัยจริงๆ ถึงแม้ว่าจะกล่าวถึงกามาวจรจิต ๕๔ จัดแบ่งประเภทเป็นอกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ กามโสภณะ ๒๔ ก็จริง แต่แม้กระนั้นแทนที่จะแบ่งเป็น ๓ ก็แบ่งเป็น ๒ ได้ คือ แบ่งเป็นโสภณจิตกับอโสภณจิต โสภณจิตเป็นจิตที่ดีงาม อโสภณจิตเป็นจิตที่ ไม่ดีงาม

ถ้าไม่ได้ศึกษา อาจจะได้ยินคำว่า อกุศลจิตกับกุศลจิต แต่ไม่ได้ยินคำว่า โสภณจิตกับอโสภณจิต และจะไม่ได้ยินคำว่า อเหตุกจิต

เพราะฉะนั้น ควรจะได้ทราบว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้มีเฉพาะจิตที่เกิดพร้อมกับเหตุเท่านั้น แต่ในวันหนึ่งๆ ยังมีจิตซึ่งเป็นอเหตุกจิต คือ เป็นจิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ และอโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วย ซึ่งอเหตุกจิตทั้งหมดมีเพียง ๑๘ ประเภท แบ่งเป็นอกุศลวิบาก ๗ กุศลวิบาก ๘ และกิริยา ๓

อกุศลจิต มีครบทั้ง ๑๒ แต่สำหรับอเหตุกะ ๑๘ ไม่ครบ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ พระอรหันต์จะมีอเหตุกจิตเพียง ๑๗ เว้นหสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำให้พระอรหันต์ท่านแย้มหรือยิ้มประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จึงมีอโสภณจิตเพียง ๒๙ ประเภท

ตัวเลขไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะคิดแบบไหน อย่างไร ตัวเลขต้องตรงตัวว่า ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีอเหตุกจิต ๑๗ มีอกุศลจิต ๑๒ เพราะฉะนั้น ก็มีอโสภณจิต ๒๙ ซึ่ง อโสภณจิตทั้งหมดมี ๓๐ แต่ผู้ที่เป็นปุถุชนมีอโสภณะ ๒๙ ไม่ถึง ๓๐

สำหรับกามโสภณะ ๒๔ ชินหู คือ มีมหากุศล ๘ เป็นเหตุ มหาวิบาก ๘ เป็นผลของมหากุศล และมหากิริยา ๘ เป็นจิตที่เป็นโสภณะ แต่ไม่ใช่กุศล เพราะว่าเป็นจิตของพระอรหันต์ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ กามาวจรจิตมีน้อยกว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

เป็นเรื่องซึ่งดูเหมือนเป็นตัวเลข แต่ที่เป็นตัวเลขนั้นเป็นขณะจิตจริงๆ ซึ่งเกิด ซ้ำไปซ้ำมาวนไปเวียนมาในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบว่า แต่ละท่านมีกามาวจรจิตมากหรือน้อย ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกามาวจรจิตทั้งหมด ไม่เกิน ๔๕ ประเภท ที่ใช้คำว่าไม่เกิน แสดงว่ามีน้อยกว่านั้นก็ได้ สำหรับบางท่าน มีน้อยกว่า ๔๕ และบางท่านมีครบทั้ง ๔๕

เป็นเรื่องที่ละเอียดที่ควรจะได้ทราบ แต่ก่อนที่จะได้ทราบ ควรที่จะชินหูกับกามาวจรจิตทั้ง ๓ หมวดนี้

สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ มีกามาวจรจิต ๓๔ ประเภท เว้นอกุศลจิต ๑๒ และกุศลจิต ๘ รวมเว้น ๒๐ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์มีกามาวจรจิตเพียง ๓๔ น้อยกว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

ท่านผู้ฟังอยากจะขาดกามาวจรจิตประเภทไหนบ้าง ใน ๔๕ ประเภทที่ท่านมี

อกุศลจิต ๑๒ ไม่มีทางจะดับได้ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาถึงความเป็น พระอริยบุคคลตามลำดับขั้น ไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้นที่จะดับการเกิดดับของอกุศลจิต ซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น นอกจากการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจนกว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล จึงจะดับอกุศลจิตได้ตามขั้นของความเป็น พระอริยะ

สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ จำแนกเป็นอกุศลวิบาก ๗ กุศลวิบาก ๘ และกิริยา ๓

สำหรับอกุศลวิบาก ๗ ทุกท่านมีครบ คือ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ เห็นสิ่งที่ไม่ดีในวันหนึ่งๆ โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ในขณะที่ได้ยินเสียงไม่ดี ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ในขณะที่ได้กลิ่นไม่ดี ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ในขณะที่ลิ้มรสไม่ดี กายวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ในขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดี

เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาปริยัติธรรมและสติระลึก จะรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังเห็น ในขณะนั้น สภาพของจิตที่เห็นสิ่งที่ไม่ดีนั้นเป็นอกุศลวิบาก ที่กล่าวว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นอกุศลวิบากเกิดขึ้นทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ดี ทางตา ฉันใด ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ฉันนั้น

นี่เป็นอกุศลวิบาก ๕ ประเภทแล้ว แต่ว่ากรรมไม่ได้ทำให้เพียงอกุศลวิบาก ๕ ประเภทนี้เกิด แต่ยังทำให้วิบากจิตเกิด รับอารมณ์ต่อจากจิตเห็น ต่อจากจิตได้ยิน ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า สัมปฏิจฉันนะ

ถ้าจักขุวิญญาณเห็นสิ่งที่ไม่ดีดับไป สัมปฏิจฉันนะที่เป็นอกุศลวิบากเกิด รู้อารมณ์ที่ไม่ดีต่อ เมื่อจักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะต้องเป็น อกุศลวิบากด้วย ถ้าจักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก จะให้สัมปฏิจฉันนกุศลวิบากเกิด เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจิตแต่ละขณะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หรือเมื่อ จักขุวิญญาณดับแล้ว ให้โลภมูลจิตเกิดต่อทันที ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการที่จิตแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นและดับไป ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ควรที่จะทราบว่า ในขณะที่ทุกท่านกำลังเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่มีแต่จักขุวิญญาณเท่านั้น ทันทีที่จักขุวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เป็นวิบากจิตประเภทเดียวกัน และเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับ จิตที่เกิดต่อ คือ สันตีรณจิต ถ้าเห็น สิ่งที่ไม่ดี สัมปฏิจฉันนะที่เป็นอกุศลวิบากดับไป สันตีรณะที่เป็นอกุศลวิบากต้องเกิดต่อ

นี่คืออกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะ คือ ไม่ประกอบด้วยโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก หรืออโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จึงเป็นอเหตุกจิต ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีแต่จิตที่เป็นเหตุเท่านั้น ยังมีจิตที่ไม่เป็นเหตุคือ เป็นอเหตุกจิตด้วย

สำหรับกุศลวิบาก ๘ ต่างกับอกุศลวิบาก ๗ ตรงที่ว่า สันตีรณจิตมี ๒ ไม่ใช่ มี ๑ เหมือนทางฝ่ายอกุศลวิบาก คือ สันตีรณจิตอกุศลวิบากมี ๑ แต่สันตีรณจิตกุศลวิบากมี ๒ คือ ดวงหนึ่งเกิดกับอุเบกขาเวทนา อีกดวงหนึ่งเกิดกับโสมนัสเวทนา เพราะว่าอารมณ์ที่เป็นฝ่ายดี ที่เป็นอิฏฐารมณ์ มีทั้งอารมณ์ที่ดีปานกลาง และ อารมณ์ฝายดีที่ประณีต เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการเห็น หรือการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ประณีตจริงๆ ไม่มีใครจะยับยั้งการเกิดขึ้นของโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากได้ เพราะว่าเป็นไปตามอารมณ์ซึ่งเป็นไปตามกรรม เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายอเหตุกกุศลวิบากจึงมี ๘ ไม่ใช่มี ๗

เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านจะสังเกตได้ว่าเป็นวิบากประเภทใด

ขณะนี้มีสันตีรณจิตไหม มี

มีสัมปฏิจฉันนจิตไหม มี

สำหรับอเหตุกวิบาก มี ๑๕ ประเภท ซึ่งทุกท่านมีครบ แต่อเหตุกกิริยาจิต ๓ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นอเหตุกกิริยาจิต เกิดก่อนจักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะฉะนั้น ก่อนเห็น ซึ่งกำลังเห็นในขณะนี้ จะต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิตเกิดก่อน ๑ ขณะ และดับไปก่อน จักขุวิญญาณในขณะนี้จึงเห็นได้

ไม่ว่าจะเป็นปุถุชน หรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ก็มีจิตดวงนี้ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิต เกิดก่อนจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ

เวลาที่หลับสนิท มีปัญจทวาราวัชชนจิตไหม ไม่มี

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าขณะที่นอนหลับสนิทไม่มี ปัญจทวาราวัชชนจิต ขณะไหนจึงจะรู้ได้ว่ามีปัญจทวาราวัชชนจิต ก็คือ ขณะที่ไม่ใช่หลับสนิท ขณะที่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด คือ สี หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ เพราะชื่อของจิตดวงนี้บอกแล้วว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต จิตที่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร

เพราะฉะนั้น จิตดวงนี้จะไม่ทำหน้าที่เกี่ยวกับทางมโนทวารเลย แต่ขณะใด ก็ตามที่จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะขาดจิตดวงนี้ไม่ได้ เพราะจิตดวงนี้ต้องเกิดก่อน และเป็นกิริยาจิต

เปิด  247
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566