แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1256

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๖


ปัญจทวาราวัชชนจิต มีอีกชื่อหนึ่งว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ หมายความว่า เป็นวิถีจิตดวงแรก ขณะแรก หรือเป็นจิตซึ่งกระทำทางให้วิถีจิตอื่นๆ เกิดต่อ

กำลังหลับสนิท ยังไม่เห็น ภวังคจิตเกิดดับอยู่ มีอารมณ์กระทบทางหนึ่งทางใด เช่น เสียงกระทบกับโสตปสาท ทำไมจึงมีการได้ยิน ถ้ายังคงเป็นภวังคจิตอยู่จะไม่มีการได้ยินเสียงเลย แต่ที่มีการได้ยินเสียง เพราะว่าโสตปสาทเกิด ยังไม่ดับ เสียงเกิดยังไม่ดับ และเสียงที่ยังไม่ดับนั้นก็กระทบกับโสตปสาทที่ยังไม่ดับ และไม่ใช่เพียงกระทบเฉยๆ ต้องทำให้ภวังคจิตไหวด้วย เนื่องจากว่าจิตเกิดดับเป็นภวังค์ตราบเท่าที่ไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดกระทบทวารหนึ่งทวารใด และเมื่อมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดกระทบทวารหนึ่งทวารใด ภวังคจิตไหวแล้ว (คือ ภวังคจลนะ) แต่ก็ยังคงเป็นภวังค์ต่อไปอีก ๑ ขณะ คือ ภวังคุปัจเฉทะ

จะหยุดการเป็นภวังค์ทันทีไม่ได้ เพราะกระแสของภวังค์ที่เกิดดับสืบต่อมีปัจจัยว่า เมื่อภวังคจิตเกิดและดับไป ก่อนที่จะรู้อารมณ์อื่นทางหนึ่งทางใดต่อได้ ต้องมีการกระทบระหว่างอารมณ์อื่นกับทวารหนึ่งทวารใดทำให้ภวังคจลนะเกิดก่อน และเป็นปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์เกิดขึ้นและดับไป ต่อจากนั้น วิถีจิต คือ เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์มารำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวารหนึ่งทวารใด มิฉะนั้นก็ไม่มีการตื่น ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน แม้ว่าอารมณ์จะกระทบกับทวารแล้ว คือ จะต้องมีจิตซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิต รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร

เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่ภวังค์ จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ภวังค์เป็น วิถีจิต แต่เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตขณะแรก จึงยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน เพียงแต่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงชื่อว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ หมายความว่า เป็นจิตซึ่งกระทำทางให้วิถีจิตต่อๆ ไปเกิดขึ้น ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้ โสตวิญญาณเกิดไม่ได้ ฆานวิญญาณเกิดไม่ได้ ชิวหาวิญญาณเกิดไม่ได้ กายวิญญาณเกิดไม่ได้ โลภมูลจิตเกิดไม่ได้ กุศลจิตเกิดไม่ได้ วิถีจิตทั้งหลายเกิดไม่ได้ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น จึงต้องมีอเหตุกกิริยาจิตหนึ่งขณะเกิดก่อน ซึ่งวิริยเจตสิกไม่เกิดร่วมกับปัญจทวาราวัชชนจิต

อเหตุกจิตทั้งหมด มี ๑๘ ประเภท วิริยเจตสิกไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ประเภท ถ้าศึกษาเรื่องของสภาพธรรมละเอียดขึ้นๆ โดยจุดประสงค์ที่จะให้เห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะเห็นเหตุผลที่ละเอียดขึ้นว่าเพราะเหตุใดจิตประเภทนั้นจึงประกอบด้วยเจตสิกประเภทนั้นๆ หรือไม่ประกอบด้วยเจตสิกประเภทนั้นๆ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงสัมมัปปธานซึ่งเป็นโพธิปักขิยธรรม ได้แก่ วิริยเจตสิก ก็จะรู้ว่าขณะใดจิตมี วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งจำนวนก็ไม่มากและ ไม่ยาก คือ ถ้าทราบว่าอเหตุกจิตมี ๑๘ วิริยเจตสิกไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ เพราะฉะนั้น เกิดกับอเหตุกจิตเพียง ๒ ดวง ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ เป็นวิบากจิต ๑๕ ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะที่กำลังเห็นจริงๆ จักขุวิญญาณกำลังทำทัสสนกิจ คือ กิจเห็นในขณะนี้ ไม่ต้องมี วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเกิดต่อ เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย คือ เมื่อจักขุวิญญาณเกิดแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ ไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้สันตีรณจิตซึ่งเกิดต่อก็ไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้อเหตุกกิริยาจิตดวงแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็ไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิด ร่วมด้วย

วิริยเจตสิกจะเกิดกับอเหตุกจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ มโนทวาราวัชชนจิต และหสิตุปปาทจิต

ทุกท่านไม่มีหสิตุปปาทจิต เพราะไม่ใช่พระอรหันต์ แต่มีมโนทวาราวัชชนจิต คือ จิตที่เกิดทางมโนทวาร ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่คิด

ขณะที่คิด ให้ทราบว่า จิตที่คิดต้องเป็นกุศลหรืออกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ พระอรหันต์ แต่แม้กระนั้นก่อนที่การคิดคำหนึ่งคำใดจะเกิดขึ้น จะต้องมีอเหตุกจิตซึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน เพราะฉะนั้น อีกชื่อหนึ่งของมโนทวาราวัชชนจิต คือ ชวนปฏิปาทกมนสิการ หมายความว่าเป็นจิตซึ่งกระทำทางให้ชวนจิตเกิดต่อ ชวนจิต ได้แก่ กุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเอง

ในวันหนึ่งๆ จะเห็นความเกิดดับสืบต่อกันระหว่างภวังคจิต กิริยาจิต วิบากจิต กุศลจิตหรืออกุศลจิต และก็วิบากจิต กิริยาจิต สลับกันไปเรื่อยๆ

สำหรับมโนทวาราวัชชนจิต ผู้ใดจะทราบหรือไม่ทราบก็ตาม ขณะที่จะคิด เรื่องหนึ่งเรื่องใด วิริยเจตสิกต้องเกิดกับมโนทวาราวัชชนจิตด้วยในขณะนั้น ต่างกับ ปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตอาศัยทวาร คือ ต้องมีอารมณ์กระทบทวารเป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตรำพึงถึงอารมณ์ ไม่ใช่เพราะวิริยะ แต่เพราะอาศัยทวารกระทบกับอารมณ์ ทำให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบ

แต่มโนทวาราวัชชนจิต แม้ไม่มีตากระทบกับอารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเสียงไม่ได้กระทบกับหู โสตปสาท แต่ทำไมจึงคิด เพราะฉะนั้น ขณะที่จะคิดนั่นเอง ต้องอาศัยวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ประเภท มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๒ ประเภท คือ มโนทวาราวัชชนจิต และหสิตุปปาทจิต เป็นจิตที่ทำให้เกิดการแย้มหรือยิ้มเพียงเห็นไรฟันของพระอรหันต์ ซึ่งขณะนั้นต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว แม้ว่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วเกิดดับสลับกัน แต่ปัจจัยที่ปรุงแต่สภาพของจิตแต่ละขณะก็ต่างกัน

มโนทวาราวัชชนะและโวฏฐัพพนะเป็นจิตประเภทเดียวกัน ประกอบด้วยเจตสิกเท่ากัน เป็นชาติเดียวกัน คือ เป็นชาติกิริยา ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล เป็นอเหตุกะ แต่กระทำกิจต่างกัน คือ ถ้ากระทำกิจทางปัญจทวาร เมื่อสันตีรณจิตดับแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นก่อนกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น โวฏฐัพพนจิต อีกชื่อหนึ่งคือ ชวนปฏิปาทกมนสิการ เป็นจิตซึ่งกระทำทางให้ชวนจิตเกิดต่อ ไม่ใช่ว่ากุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิดได้ตามใจชอบ อย่างท่านผู้ฟังถามเสมอว่า เป็นกุศลหรืออกุศล ทำอย่างนี้เป็นกุศลหรืออกุศล ดูเสมือนว่าอยากจะทำให้กุศลจิตเกิด แต่ทำไม่ได้ ต้องแล้วแต่โวฏฐัพพนจิต ถ้าเป็นทางปัญจทวารที่เห็น ทันทีที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าสติ ไม่ระลึก จะไม่ทราบว่า อกุศลจิตเกิดต่อแล้ว

เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จักขุวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตดับไป สันตีรณจิตดับไป โวฏฐัพพนจิตดับไป กุศลหรืออกุศลเกิดแล้ว โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เห็นทางตาเป็นอะไร หรือว่าเสียงที่ได้ยินทางหูเป็นอะไร แต่กุศลหรืออกุศลก็เกิดเพราะโวฏฐัพพนจิตซึ่งเกิดก่อน เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ คือ เป็นจิตที่กระทำทาง ให้ชวนจิตเกิดต่อเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดยไม่มีใครยับยั้งได้เลย

ถ. โวฏฐัพพนจิตมีวิริยะเกิดร่วมด้วยไหม

สุ. โวฏฐัพพนะจิตต้องมีวิริยะเกิดร่วมด้วย

มโนทวาราวัชชนจิต อีกจิตหนึ่ง คือ โวฏฐัพพนจิตทางปัญจทวาร จะเรียกว่า โวฏฐัพพนะก็ได้ จะเรียกว่า มโนทวาราวัชชนะก็ได้ แต่ควรจะเรียกตามทวาร เมื่อไม่ได้เกิดทางมโนทวาร ไม่ได้ทำกิจของมโนทวารเลย จึงไม่ชื่อว่ามโนทวาราวัชชนะ ในขณะที่ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร แต่ที่ใช้ชื่อประจำว่า มโนทวาราวัชชนะ เพราะว่ามโนทวาราวัชชนจิตเกิดได้ทุกภูมิ ไม่ว่าจะในกามภูมิ หรือในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ เพราะฉะนั้น จึงใช้ชื่อประจำว่า มโนทวาราวัชชนะ แต่ถ้าโดยกิจ เมื่อเกิดทางมโนทวารก็ดับทางมโนทวาร เมื่อเกิดทางปัญจทวารก็ดับทางปัญจทวาร และเมื่อเกิดทางปัญจทวารไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ แต่ทำโวฏฐัพพนกิจ

จะเห็นได้ว่า มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนชวนจิต คือ เกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิตทุกครั้ง และเมื่อเกิดทางมโนทวารกระทำอาวัชชนกิจ จึงเป็น มโนทวาราวัชชนจิต กระทำทางให้ชวนจิตซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศลทางมโนทวารเกิดต่อ

เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตจึงเป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ เป็นจิตที่กระทำทางให้ชวนะซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศลเกิดทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวารหรือทางมโนทวาร

ถ. ต่อจากชวนะเป็นตทาลัมพนะ ใช่ไหม

สุ. ใช่

ถ. ที่ว่ายึดหน่วงอารมณ์ ไม่ทราบว่ายึดหน่วงอารมณ์ต่อจากชวนะ หรืออย่างไร

สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวถึงจิตที่เกิดต่อจากชวนะ คือ เกิดต่อจากกุศลหรืออกุศล ก่อนที่จะเป็นภวังค์ นี่คือชีวิตจริงๆ ในขณะนี้ เมื่อมีการเห็น หรือการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส รูปๆ หนึ่งมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กระทบกับจักขุปสาทก็ดี หรือโสตปสาทก็ดี และจิตเกิดดับสืบต่อตั้งแต่ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ อาวัชชนจิต ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต จากนั้นเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ แล้วแต่ว่าเป็นอารมณ์ใด สัมปฏิจฉันนจิตดับแล้ว สันตีรณจิตดับแล้ว โวฏฐัพพนจิตดับแล้ว ชวนจิต ๗ ขณะดับแล้ว อารมณ์ยังไม่ดับ ยังมีเหลือต่ออีก ๒ ขณะจิต เป็นปัจจัยอีกแล้วที่จะให้วิถีจิต คือ จิตที่ไม่ใช่ภวังค์ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากชวนจิต

สำหรับกามบุคคล คือ ผู้ที่เกิดในกามภูมิ ผู้ที่ยังไม่สามารถออกไปจากกามภูมิ ได้ จะต้องมีกรรมซึ่งเนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วแต่ว่าจะเป็น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ตาม เป็นปัจจัยที่ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นอีกต่อจากชวนะ เพื่อที่จะรู้อารมณ์หลังจากที่ชวนจิตเกิดและดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อจิต ๒ ขณะนั้นเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากชวนะโดยที่ไม่ใช่ภวังคจิต จึงกระทำตทาลัมพนกิจ หมายความว่า มีอารมณ์เดียวกับชวนะ เท่านั้นเอง

ไม่ควรจะแปล ตทาลัมพนะ เป็นอย่างอื่น เพราะโดยชาติเป็นวิบาก จิตที่เป็นวิบากเมื่อเกิดขึ้นและหมดไป ไม่สามารถกระทำให้วิบากอื่นเกิดอีก เพราะสภาพของวิบากจิตเป็นผลของกรรม

วิบากจิตจะเกิดได้ต้องอาศัยกรรม เมื่อกรรมหนึ่งกรรมใดมี พร้อมด้วย เหตุปัจจัยที่จะให้ผล ก็ทำให้วิบากจิตนั้นเกิดขึ้นได้ และเมื่อจิตที่เป็นวิบากเกิดแล้ว ดับแล้ว ก็หมดเรื่อง ไม่เหมือนกุศลและอกุศลกรรมซึ่งถึงแม้ว่าจะดับไปแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นข้างหน้าได้

เพราะฉะนั้น สำหรับตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบากจิต ไม่สำคัญเท่ากับชวนจิต เพราะว่าอาศัยกรรมจึงเกิด ซึ่งต้องเป็นกรรมประเภทกามาวจรด้วย และบุคคลนั้นต้องเป็นกามบุคคล คือ เกิดในกามภูมิ และอารมณ์ซึ่งกำลังรู้ ต้องเป็นกามอารมณ์ด้วย คือ จะต้องเป็นรูปทางตา หรือเสียงทางหู หรือกลิ่นทางจมูก หรือรส หรือโผฏฐัพพะเท่านั้น ที่วิบากนี้จะเกิดขึ้น โดยชาติเป็นกาม เพราะฉะนั้น ก็เกิดขึ้นรับกามอารมณ์ตามที่เคยสะสมมา ไม่ทิ้งไปเลย แม้ว่าอารมณ์จะเหลือเพียง ๒ ขณะ รูปทางตา เหลือ ๒ ขณะ เสียงทางหูเหลือ ๒ ขณะ หลังจากที่ชวนจิตซึ่งเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ดับไปแล้ว แต่กามบุคคลซึ่งเกิดเพราะกามาวจรกุศลหรืออกุศลเป็นปัจจัย ทำให้ วิบากจิตไม่ทิ้งอารมณ์นั้น

เห็นความเหนียวแน่นไหมว่า กามบุคคลต้องติดในกาม รูปเหลือนิดเดียว เพียงชั่ว ๒ ขณะจิต ก็ไม่ผ่านไป ยังเป็นปัจจัยให้กามวิบากเกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจ คือ ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่ภวังคกิจ

ข้อความในอรรถกถาอุปมาตทาลัมพนจิต เหมือนอย่างว่า เวลาที่ท่านผู้ฟังบริโภคอาหารแล้วเคยกลืนน้ำลายต่อไหม หรือว่ามีอะไรที่ยังค้างอยู่ในปากหรือในคอ ก็ไม่ใช่จะทิ้งไป นั่นคือขณะที่ตทาลัมพนะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากชวนะ คือ ไม่ยอมทิ้งกามอารมณ์นั้นไป เมื่อยังเหลืออยู่ ก็เป็นปัจจัยให้กามวิบากเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อ

ถ. โลภมูลจิตจำแนกโดยชาติแล้ว ได้แก่ชาติอะไร

สุ. ชาติอกุศล

การศึกษาเรื่องจิต จำเป็นต้องทราบชาติ เพราะว่าจิตที่เป็นเหตุไม่ใช่จิตที่ เป็นผล จิตที่เป็นเหตุมี ๒ คือ กุศลเหตุและอกุศลเหตุ เพราะฉะนั้น อกุศลจิต โดยชาติเป็นอกุศล ไม่ใช่ชาติวิบาก ไม่ใช่ชาติกุศล และไม่ใช่ชาติกิริยา

ถ้าโดยชาติ มีเพียง ๔ ชาติ

ชาติ หมายถึงการเกิดขึ้นของจิต จิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศล จึงเป็นชาติกุศล จิต ที่เกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็เป็นชาติอกุศล จิตที่เกิดขึ้นเป็นวิบาก ก็เป็นชาติวิบาก ตามการเกิดขึ้น จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ก็เป็นกิริยา สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิต ๒ ประเภทเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดก่อน จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และ มโนทวาราวัชชนจิต เกิดก่อนชวนจิต

ถ. ถ้าจำแนกโดยภูมิ ได้แก่ภูมิอะไร

สุ. ถ้ากล่าวโดยภูมิ มี ๔ ภูมิ คือ ระดับขั้นของจิต ขั้นต่ำสุด คือ กามภูมิ สูงขึ้นไปเป็นรูปาวจรภูมิ พวกรูปฌาน สูงขึ้นไปอีก คือ อรูปาวจรภูมิ พวกอรูปฌาน และสูงที่สุด คือ โลกุตตรภูมิ

เพราะฉะนั้น สำหรับโลภมูลจิต หรืออกุศลทั้งหมด เป็นกามภูมิ ไม่ว่าจะเกิดในสวรรค์ หรือในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ โดยชาติ โลภมูลจิตต้องเป็นกามาวจรภูมิ คือ ระดับขั้นของจิตประเภทนี้ต้องเป็นขั้นกาม

ถ. จำแนกเป็นโสภณะและอโสภณะ โลภมูลจิตเป็นโสภณะหรืออโสภณะ

สุ. ต้องเป็นอโสภณะแน่นอน เพราะไม่ประกอบด้วยเจตสิกซึ่งเป็นโสภณะ ด้วยเหตุนี้จิต ๘๙ ประเภท จึงเป็นอโสภณะ ๓๐ เพราะไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

ถ. จำแนกโดยโลกียะและโลกุตตระ โลภมูลจิตเป็นโลกียะหรือโลกุตตระ

สุ. เป็นโลกุตตระไม่ได้แน่ ต้องเป็นโลกียะ เมื่อได้ศึกษาธรรมละเอียดขึ้นๆ เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลขึ้นทีละน้อย จะทำให้ตอบปัญหาได้ด้วยตนเอง

ถ. จำแนกโดยเหตุ โลภมูลจิตเป็นสเหตุกะหรืออเหตุกะ

สุ. จำแนกโดยเหตุ ชื่อบอกแล้ว โลภมูล เพราะฉะนั้น ต้องประกอบด้วยโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ และโมหเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ

เพราะฉะนั้น โลภมูลจิต โดยเหตุ เป็นสเหตุกะ คือ ประกอบด้วยเหตุ และ เป็นทวิเหตุกะ เพราะประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ จะมีแต่โลภเจตสิกเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งในบางแห่งเมื่อกล่าวถึงเหตุจะแสดงว่า โลภมูลจิตเป็น ทวิเหตุกะ หรือบางแห่งจะใช้คำว่า ทุเหตุ ทุ คือ ๒

ถ. จำแนกโดยเวทนา โลภมูลจิตประกอบด้วยเวทนาเท่าไร อะไรบ้าง

สุ. โลภมูลจิต ๘ โลภมูลจิต ๔ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา โลภมูลจิตอีก ๔ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

ถ. จำแนกโดยสัมปยุตต์ โลภมูลจิตเป็นสัมปยุตต์หรือวิปปยุตต์

สุ. โลภมูลจิตที่เป็นสัมปยุตต์มี ๔ เป็นวิปปยุตต์มี ๔ โดยความหมายที่ว่า ถ้าโลภมูลจิตเกิดร่วมกับทิฏฐิ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ถ้าโลภมูลจิตนั้นไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ก็เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์

ถ. จำแนกโดยสังขาร โลภมูลจิตเป็นอสังขารหรือเป็นสสังขาร

สุ. เป็นสังขาริก ๔ เป็นอสังขาริก ๔

เปิด  221
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565