แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1259
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๒๖
ถ. ทำไมอกุศลจิต ๑๒ ให้วิบากเพียง ๗ แต่มหากุศล ๘ ให้วิบากถึง ๑๖
สุ. เพราะว่าอารมณ์ทางฝ่ายกุศลที่ประณีตมีมาก
ถ. อกุศลวิบาก ๗ พูดว่าอกุศลวิบาก แต่กุศลวิบาก ทำไมต้องเติมคำว่า อเหตุกกุศลวิบาก
สุ. เพราะเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ให้ผลทั้งที่เป็นอเหตุกกุศลวิบาก และ สเหตุกกุศลวิบาก เช่น กามโสภณะ ๒๔ เป็นมหากุศลจิต ๘ เป็นมหาวิบาก ๘ เป็นมหากิริยา ๘ มหาวิบากเป็นผลของมหากุศล เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับปัญญา และเป็นอสังขาริกก็ได้ หรือจะเป็นมหาวิบากดวงอื่นๆ ซึ่งจำนวนก็ตรงเท่ากับของมหากุศลทั้ง ๘ แต่นอกจากจะให้ผลเป็นมหาวิบาก ๘ แล้ว มหากุศลยังให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบาก คือ เห็นสิ่งที่ดีทางตา ๑ ได้ยินเสียงที่ดีทางหู ๑ ได้กลิ่นที่ดีทางจมูก ๑ ลิ้มรสที่ดีทางลิ้น ๑ กระทบสัมผัสสิ่งที่ดีทางกาย ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๑ สันตีรณจิต ๒ มิฉะนั้น ขณะที่เห็นสิ่งที่ดีจะเป็นผลของกรรมอะไร ก็ต้องเป็นผลของมหากุศลนั่นเอง
ถ. ฆานวิญญาณ ๒ ชิวหาวิญญาณ ๒ กายวิญญาณ ๒ ไม่เกิดใน รูปพรหมภูมิ อรูปพรหมภูมิ และโลกุตตรภูมิ เพราะเหตุใด
สุ. ที่อบรมเจริญความสงบ ก็เพราะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ที่รูปพรหมยังมีจักขุวิญญาณและโสตวิญญาณ ก็เพราะจักขุวิญญาณและโสตวิญญาณนั้นสามารถเกื้อกูลในการเจริญกุศล
ถ. อเหตุกจิต ๑๘ มีมโนธาตุ คือ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ซึ่งเรียกว่า มโนธาตุ ๓ แต่สันตีรณจิต ๓ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑ เป็นมโนวิญญาณธาตุ มโนธาตุกับมโนวิญญาณธาตุต่างกันอย่างไร
สุ. ถ้าจะกล่าวโดยนัยของวิญญาณธาตุ คือ ธาตุรู้ จะเห็นได้ว่า จิตต่างกันไปถึง ๘๙ ประเภท เพราะฉะนั้น ถ้าจำแนกความต่างของวิญญาณธาตุออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็จำแนกวิญญาณธาตุ คือ จิตทั้งหมด เป็นวิญญาณธาตุ ๗ ซึ่งท่านผู้ฟังอย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แม้แต่ในขณะนี้เองก็กำลังเป็นวิญญาณธาตุ ๗
วิญญาณธาตุ ๗ ได้แก่
จักขุวิญญาณธาตุ ที่กำลังเห็นทางตา เป็นเพียงวิญญาณธาตุเท่านั้น เป็นวิญญาณธาตุประเภทที่เห็นเท่านั้นเอง ไม่สามารถได้ยิน ไม่สามารถคิดนึก ไม่สามารถทำกิจอื่นได้เลย นามธรรมประเภทนี้เมื่ออาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว เป็นวิญญาณธาตุประเภทหนึ่ง ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำกิจเห็นกิจเดียว ไม่ว่าจะเป็นในภพภูมิไหนทั้งสิ้น จะเป็นที่ภูมิมนุษย์ หรือในสวรรค์ หรือในรูปพรหมภูมิ หรืออบายภูมิก็ตาม เมื่อจักขุวิญญาณธาตุเกิดขึ้นแล้ว เป็นธาตุเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ ประเภท
โสตวิญญาณธาตุ ก็เป็นวิญญาณธาตุ คือ เป็นนามธาตุ เป็นจิตประเภทหนึ่ง เมื่ออาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดขึ้นทำกิจได้ยิน จะทำกิจอื่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังมีเสียงปรากฏ ให้ทราบว่าเป็นเพราะวิญญาณธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจได้ยิน จะไม่ทำกิจอื่นเลย
ฆานวิญญาณธาตุ ก็เป็นวิญญาณธาตุที่เกิดขึ้นได้กลิ่น
ชิวหาวิญญาณธาตุ เป็นวิญญาณธาตุที่เกิดขึ้นลิ้มรส แม้ว่าจักขุวิญญาณธาตุจะเห็น ไม่มีทางลิ้มรสสิ่งที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอาหารชนิดใด มีรสอย่างไร เนื่องจากเคยบริโภค เคยรับประทานแล้วก็จริง แต่จักขุวิญญาณธาตุไม่มีโอกาสที่จะลิ้มรสนั้นได้เลย เพราะสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งกระทำกิจลิ้มรส คือ ชิวหาวิญญาณธาตุ เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ชิวหาวิญญาณธาตุนั้นเป็นสภาพธรรมที่ลิ้มรส ที่กระทบกับชิวหาปสาท
สำหรับทางกาย ก็เช่นเดียวกัน ทุกคนกำลังมีกายะ คือ รูปธรรมซึ่งประชุมรวมกันหลายรูป แต่กายปสาทรูปเป็นรูปที่กระทบกับสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เป็นปัจจัยให้กายวิญญาณธาตุซึ่งเป็นจิตเกิดขึ้น รู้สิ่งที่กระทบทางกาย ที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวได้
สำหรับวิญญาณธาตุอีก ๒ คือ มโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ
มโนธาตุ เป็นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้ถึง ๕ อารมณ์ และสามารถเกิดได้โดยอาศัย ๕ ทวาร ซึ่งต่างกับจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ที่รู้อารมณ์ได้เพียงอย่างละ ๑ อารมณ์ แต่จิตหรือวิญญาณธาตุที่เป็นมโนธาตุนั้น สามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์ ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่เกิดก่อนทวิปัญจวิญญาณ คือ เกิดก่อนจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส สามารถรำพึงถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่กระทบ ทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงเป็นมโนธาตุ เพราะสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร
เช่นเดียวกับสัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือโสตวิญญาณซึ่งกำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ สัมปฏิจฉันนจิตสามารถที่จะเกิดต่อจาก จักขุวิญญาณก็ได้ เกิดต่อจากโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณก็ได้ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิตทั้ง ๒ คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จึงเป็นมโนธาตุ
สำหรับมโนวิญญาณธาตุ ได้แก่ จิตอื่นทั้งหมด เช่น โลภมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี โมหมูลจิตก็ดี มหากุศลจิตก็ดี หรือจิตอื่นทั้งหมด เป็นมโนวิญญาณธาตุ
ถ. วิบากเป็นปัจจัย หมายถึงเป็นปัจจัยให้แก่วิบาก ใช่ไหม
สุ. โดยเป็นวิปากปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นวิบากนั้นเอง เป็นปัจจัยให้ วิบากอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย
ถ. เช่น จักขุวิญญาณเป็นวิบาก เป็นปัจจัยให้เกิดสัมปฏิจฉันนะ ใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่ ต้องในจิตดวงเดียวกัน เช่น จักขุวิญญาณเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น อะไรเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ เจตสิกซึ่งเป็นวิบากที่เกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นวิปากปัจจัยแก่วิปากเจตสิก ๗ ประเภทที่เกิดร่วมด้วย คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ และเจตสิกทั้ง ๗ ซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยนี้ ก็เป็นวิปากปัจจัยแก่จักขุวิญญาณด้วย หมายความว่า วิบากจิตเป็นปัจจัยให้วิบากเจตสิกเกิดขึ้นร่วมกัน และวิบากเจตสิกก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดร่วมกัน โดยเป็นวิปากปัจจัย
ท่านผู้ฟังถามว่า จักขุวิญญาณเป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดได้ไหม เนื่องจากว่าจักขุวิญญาณเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดต่อก็เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นวิปากปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดได้ไหม
ตอบว่า ไม่ได้ แต่จักขุวิญญาณเป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดได้ โดยอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ไม่ใช่โดยวิปากปัจจัย
เพราะฉะนั้น คำว่า วิปากปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นวิบาก เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นที่เป็นวิบากเกิดร่วมด้วย เช่น ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เป็นวิบากจิต เกิดพร้อมกับวิบากเจตสิก ๗ ประเภท ผัสสเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณเป็นวิบาก ถ้ายกผัสสเจตสิกซึ่งเป็นวิบากขึ้นเป็นปัจจัย เจตสิกอื่นอีก ๖ ซึ่งเกิดร่วมด้วย และจักขุวิญญาณที่เกิดในขณะนั้น เป็นปัจจยุปบัน
ถ้ายกเวทนาซึ่งเป็นวิบากที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณเป็นปัจจัย ผัสสะ สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ และจักขุวิญญาณที่เกิดในขณะนั้น ก็เป็น ปัจจยุปบัน
เพราะฉะนั้น วิปากปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นวิบากเป็นปัจจัยแก่สภาพธรรมที่เป็นวิบากที่เกิดร่วมกัน เมื่อยกสภาพธรรมหนึ่งเป็นวิปากปัจจัย สภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิปากปัจจยุปบัน
ในขณะนี้ ไม่มีใครที่จะสร้างผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการเจตสิกให้เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณได้ แต่เพราะจักขุวิญญาณนั่นเองเป็นวิปากปัจจัยให้เจตสิกอีก ๗ ประเภท ซึ่งเป็นวิบากเกิดร่วมด้วย และโดย นัยเดียวกัน วิบากเจตสิกแต่ละดวงก็เป็นปัจจัยให้วิบากเจตสิกอื่นและจักขุวิญญาณเกิดพร้อมกันในขณะนั้นโดยวิปากปัจจัย คือ ต่างก็เป็นวิปากปัจจัยซึ่งกันและกัน ต้องเกิดร่วมกัน
ถ. ในชีวิตประจำวัน อเหตุกจิตเกิดอยู่ตลอดเวลา ทั้งการเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เราจะทราบได้อย่างไรว่า อย่างไหนเป็นวิบากของกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว
สุ. ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่ทราบเลย แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็เริ่มเห็นความต่างกันว่า ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ไม่แช่มชื่น ขุ่นเคืองใจ เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพที่ขุ่นเคืองใจไม่พอใจในขณะนั้น ต่างกับขณะที่เห็น นี่เป็นทางที่จะทำให้รู้ว่า จิตที่ขุ่นเคืองใจเป็นอกุศล แต่จิตที่เห็นไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้น ก็เริ่มรู้ลักษณะที่ต่างกันของจิตประเภทที่เป็นวิบาก กับจิตที่เป็นกุศลและอกุศล
ถ. จะรู้ได้จากการเจริญสติปัฏฐาน ใช่ไหม
สุ. ใช่ สำหรับการศึกษาปริยัติ โดยอาศัยการฟังว่า จิตที่เป็นกุศล อกุศลมีเท่าไร จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลมีเท่าไร แต่การที่จะรู้จริงๆ ได้ ต้องในขณะที่ สติระลึก และจะรู้ในลักษณะประเภทของจิตซึ่งต่างกันกว้างๆ เช่น วิบากจิตกับ กุศลจิตหรืออกุศลจิต ไม่เหมือนกันเลย
ถ. ในขณะที่ยืนอยู่อย่างนี้ หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอน ถ้าเราจะพิจารณารูปยืน รูปนั่ง รูปนอน จะเป็นการพิจารณาที่ถูกต้องไหม ได้ฟังจากบางแห่งที่แสดงไว้ มีความสงสัยว่า ขณะที่รูปยืนอยู่ จะโยนิโสอย่างไร โยนิโสทั้งก้อนทั้งแท่งอย่างนี้หรือ
สุ. นี่เป็นเรื่องของการใช้พยัญชนะ คือ โยนิโส พยายามจะโยนิโส แต่ ต้องเข้าใจว่า ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดบอกให้พิจารณาอย่างนั้น ก็เป็นโยนิโสมนสิการที่จะพิจารณาว่า คำบอกเล่านั้นถูกหรือผิด ถ้าเป็นผู้ที่สะสมความเห็นผิดมามาก ฟังแล้วเชื่อทันที
ขณะนั้นแม้จะมีผู้กล่าวว่า เป็นโยนิโสมนสิการ แต่สภาพจริงๆ ในขณะนั้น เมื่อเป็นอกุศล เพราะเป็นความเห็นผิด ขณะนั้นแม้จะใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ แต่ลักษณะที่แท้จริง คือ อโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นการเข้าใจผิด ไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและดับไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจริงๆ
ถ. การพิจารณารูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน จะพิจารณาได้ไหม ขณะที่ยืนก็พิจารณารูปยืน หรือในขณะที่นั่งก็พิจารณารูปนั่ง
สุ. พิจารณาเพื่ออะไร
ถ. เพื่อละกิเลส จะถูกต้องไหม
สุ. เป็นเพียงการคิดนึก แต่ไม่ใช่หนทางที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับ
ทางตาเห็น ดับแล้วในขณะที่ทางหูได้ยิน ขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น ลักษณะของปริตตธรรม คือ อารมณ์ที่เล็กน้อย เพราะถูกบั่นทอนรอบด้าน ทางตาเห็นนิดเดียว ยังไม่ทันไรเลย ทางหูได้ยินแล้ว จะห้าม ไม่ให้ได้ยินไม่ได้ ใครเป็นคนทำให้ได้ยินเกิดขึ้น ใครเป็นคนทำให้เห็นนิดเดียวและก็ดับ และจึงมีการได้ยิน นี่เป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่ง เกิดดับ ถ้าไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่สามารถเห็นไตรลักษณะทั้ง ๓ ของสังขารธรรมได้ เพราะสภาพธรรมที่ปิดบังไตรลักษณ์ ได้แก่ สันตติ การเกิดดับสืบต่อกัน ปิดบังอนิจจัง สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับสืบต่อกัน ทำให้ไม่เห็นว่า สภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นและดับไป สภาพธรรมอื่นจึงเกิดต่อ
อิริยาบถปิดบังทุกข์ ถ้ายังคงมีรูปร่างกายที่ยึดถือควบคุมประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่ในท่าทางอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด ย่อมไม่เห็นการเกิดดับซึ่งเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เพราะไตรลักษณะ เป็นลักษณะทั้ง ๓ ของสังขารธรรม ฉันใด การที่จะประจักษ์ลักษณะที่เป็นไตรลักษณ์ของสังขารธรรม ต้องไม่มีสิ่งที่ปิดบังทั้ง ๓ นี้ เพราะฉะนั้น ต้องเพิกอิริยาบถ โดยเห็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นฆนสัญญา
เนื่องจากฆนสัญญาปิดบังอนัตตา ทำให้ไม่เห็นว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะรวมกันอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้ายังรวมกันอยู่ อิริยาบถยังไม่เพิก ฆนสัญญายังไม่ทำลาย การเกิดดับก็ไม่ปรากฏ
ถ. การฟังธรรมจากผู้ที่มีความเห็นผิด และประพฤติปฏิบัติผิด และนำไปสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติผิดตาม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไหมว่า ความผิดนี้จะรุนแรงขนาดไหน
สุ. เป็นโทษมาก เพราะไม่ใช่เป็นความเห็นผิดเฉพาะตน แต่ยังทำให้ความเห็นผิดนั้นกว้างขวางไปถึงบุคคลอื่นด้วย
ถ. ที่ว่าเป็นโทษหนักกว่าอนันตริยกรรม นิยตมิจฉาทิฏฐิที่ประพฤติปฏิบัติผิด และแนะนำให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติผิดตามไปด้วย จะหนักกว่าไหม
สุ. ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงว่า มีโทษมาก
อนันตริยกรรม หมายความว่าเมื่อจุติจิตของชาตินี้ดับไปแล้ว ต้องไปสู่อบายภูมิทันที แม้ว่าจะได้กระทำกุศลมากมายสักเท่าไรก็ตาม ก็ไม่สามารถกั้นไม่ให้ไปสู่อบายภูมิได้ นั่นคือความหมายของอนันตริยกรรม