แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1262

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๖


ถ. ในอเหตุกจิต ๑๘ ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ ต้องมีปัจจัยอื่นที่ทำให้จิตเกิดขึ้น ขอให้ท่านอธิบาย

สุ. จิตที่จะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยปัจจัยนั้น ไม่มี จิตแต่ละดวงต้องมีปัจจัยหลายปัจจัยทำให้เกิดขึ้น

จิตทุกดวงที่เกิด จะต้องเกิดร่วมกับเจตสิก จะไม่มีสักขณะหนึ่งที่มีแต่ จิตปรมัตถ์เกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกปรมัตถ์เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เจตสิกปรมัตถ์เป็นสหชาตปัจจัย คือ ทันทีที่เจตสิกนั้นเกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตและเจตสิกอื่นเกิดขึ้นพร้อมกัน นี่เป็นปัจจัยหนึ่ง ชื่อว่าสหชาตปัจจัย ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว

และยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง คือ สัมปยุตตปัจจัย จิตและเจตสิกเป็นนามธรรมด้วยกัน รู้อารมณ์ร่วมกัน คือ อารมณ์เดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตและเจตสิกเกิดโดยสภาพที่เป็นนามธรรม และไม่มีรูปธรรมใดๆ เจือปนเลย ลักษณะของนามธรรม คือ จิตและเจตสิกเข้ากันสนิท ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะว่าเป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม สิ่งที่เป็นรูปธรรมอาจจะแยกได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีรูปซึ่งต้องเกิดร่วมกันโดยแยกกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เป็นจิตเป็นประเภทหนึ่ง และเป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง โดยลักษณะเท่านั้นที่แยกกัน แต่โดยการเกิด เกิดร่วมกันสนิท เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน โดยสัมปยุตตปัจจัย นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

สำหรับจิตแต่ละดวง หรือแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากตามที่ได้กล่าวถึงแล้วทั้งหมด ๑๖ ปัจจัย เพียงแต่ว่าอเหตุกจิต ๑๘ นี้ ไม่เกิดกับเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ดวงเท่านั้น

ถ. อกุศลวิบากจิตดวงที่ ๑ คือ จักขุวิญญาณ เมื่อไม่มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย มีปัจจัยอะไรที่ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น

สุ. จักขุปสาทต้องมี เป็น ๑ ปัจจัย โดยเป็นนิสสยปัจจัย คือ เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณ ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง คือ เป็นอารัมมณปัจจัย และต้องมีจิตที่เกิดก่อน ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต มิฉะนั้นแล้ว จักขุวิญญาณจะเกิดไม่ได้เลย

ถ. และโสตวิญญาณ

สุ. เช่นเดียวกัน คือ ต้องมีโสตปสาท มีเสียง และมีปัญจทวาราวัชชนะเป็นเหตุใกล้

ถ. เจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วยมีไหม

สุ. ต้องมี เพราะอย่างน้อยจิตขณะหนึ่งต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง

ถ. ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็โดยนัยเดียวกัน

สุ. ใช่ โดยนัยเดียวกัน ชีวิตประจำวัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

สำหรับท่านที่มีเวลา ลองคิดเรื่องของกามาวจรจิต ๕๔ โดยนัยอื่นอีกก็ได้ เช่น โดยนัยที่เป็นสสังขาริกและอสังขาริกว่า ในกามาวจรจิตจะเป็นสสังขาริกกี่ดวง และเป็นอสังขาริกกี่ดวง

สสังขาริก สำหรับกามาวจรจิต เป็นจิตที่ไม่มีกำลัง ไม่เหมือนกับอสังขาริก อสังขาริกเป็นจิตที่มีกำลังกล้า เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยการชักจูง

สำหรับอกุศลจิต ๑๒ โลภมูลจิต ๔ เป็นสสังขาริก อีก ๔ เป็นอสังขาริก โทสมูลจิต ๒ เป็นสสังขาริก ๑ เป็นอสังขาริก ๑ โมหมูลจิต ๒ เป็นอสังขาริกทั้งหมด คือ เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการชักจูง เพราะพื้นของจิตเป็นโมหะ

อเหตุกจิต ๑๘ เป็นอสังขาริกทั้ง ๑๘ เวลาที่เสียงกระทบกับโสตปสาท มีปัจจัยให้การได้ยินเกิดขึ้น ไม่มีใครยับยั้งจิตได้ยินได้เลย เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ เป็นอสังขาริก

สำหรับกามาวจรโสภณะ ๒๔ ซึ่งแบ่งเป็นมหากุศล ๘ มหาวิบาก ๘ มหากิริยา ๘

มหากุศล เป็นสสังขาริก ๔ เป็นอสังขาริก ๔

มหาวิบาก เป็นสสังขาริก ๔ เป็นอสังขาริก ๔

มหากิริยา เป็นสสังขาริก ๔ เป็นอสังขาริก ๔

เป็นเรื่องที่ใครจะคิดก็ได้ ไม่คิดก็ได้ เพราะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้าคิด ก็ออกมาถูกต้อง ถ้าไม่คิดก็ไม่เป็นไร แต่คิดเมื่อไร จำนวนต้องถูกต้อง ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะแม้ว่าสภาพธรรมจะมีมากมายสักเท่าไร แต่ถ้าสรุปรวมลักษณะประเภทของจิตจะเห็นได้ว่า ไม่พ้นจากอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดใน ๑๒ ประเภท ไม่พ้นจาก อเหตุกจิต และไม่พ้นจากกามโสภณจิต ทุกวัน เพียงแต่ไม่รู้ชื่อว่าขณะนี้กำลังเป็นกามาวจรจิตประเภทไหน จนกว่าจะได้ศึกษาเรื่องของกามาวจรจิตโดยละเอียด

สำหรับเรื่องของกามาวจรจิต ๕๔ ไม่ใช่เพียงเรื่องชื่อ จบ แต่เป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน ซึ่งเกิดมาต่างกันทุกขณะตามเหตุตามปัจจัย จิตขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิตในกามสุคติภูมิ คือ ในภูมิมนุษย์ ต้องเป็นผลของกุศลกรรม และกุศลจิต ก็มี ๘ ดวง เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๔ ดวงเพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลให้ผล จะเห็นได้ว่า ทำไมคนเราต่างกัน ถ้าเป็นไปในทางโลกก็จะคิดว่า ต่างกันโดยสกุล ต่างกันโดยโภคสมบัติ ต่างกันโดยยศ ต่างกันโดยบริวาร นี่เป็นเรื่องของความต่างกันทางโลก

แต่ถ้าเป็นความต่างกันทางธรรม อะไรต่างกัน เพราะทุกคนเกิดในกามสุคติภูมิ เป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม แต่อะไรต่างกัน ปฏิสนธิจิตต่างกัน เพราะฉะนั้น การเกิดต่างกัน ย่อมแสดงให้เห็นถึงกรรมที่ได้กระทำมาแล้วเป็นเหตุให้ปฏิสนธิจิตต่างกันว่า แม้แต่กุศลกรรม ซึ่งเป็นกามาวจรกุศล หรือมหากุศลเพียง ๘ ดวงก็จริง แต่ความวิจิตร ความต่างกันของกุศลกรรมนั้น เป็นเหตุทำให้วิบากจิตเกิดต่างกันออกไป

สำหรับมหากุศลดวงที่ ๑ คือ โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง เป็นกุศลที่เกิดพร้อมกับโสมนัส เกิดร่วมกับปัญญาคือญาณ และมีกำลังกล้า ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า กุศลแต่ละครั้งที่ทำเป็นจิตดวงนี้ใช่ไหม เพราะมหากุศลมีถึง ๘ การศึกษาเรื่องของมหากุศล ๘ ก็เพื่อจะได้ทราบว่า กุศลครั้งหนึ่งๆ ที่ทำ ขณะนั้นเป็นมหากุศลจิตดวงไหน เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา หรือเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

เวลาที่ทำกุศล ฝืนปัจจัยไม่ได้ เพราะทุกคนทราบว่า ควรทำกุศลด้วยความปีติโสมนัส แต่ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้กุศลนั้นเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ใครจะบังคับหรือ ฝืนใจให้กุศลนั้นเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาไม่ได้ ซึ่งเวทนาในวันหนึ่งๆ จะสังเกตได้ว่า เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่มีใครสามารถฝืนได้เลย ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ทุกท่านซึ่งยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ก็มีปัจจัยที่จะให้ความ ขุ่นใจ ความไม่พอใจเกิดขึ้น หรือแม้ความเสียใจ ความน้อยใจ ก็เป็นลักษณะของจิตซึ่งไม่สบาย ไม่ใช่ลักษณะของจิตที่เป็นสุข แต่เป็นลักษณะของจิตที่เป็นทุกข์ คือ สภาพของจิตในขณะนั้นไม่ใช่สภาพที่ดี เพราะเป็นลักษณะที่เสียใจบ้าง น้อยใจบ้าง ขุ่นเคืองใจบ้าง ไม่แช่มชื่นใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เพราะฉะนั้น เวทนาก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ว่าอารมณ์อะไรจะปรากฏทางไหน ขณะใด ก็เป็นปัจจัยให้เวทนานั้นๆ เกิดขึ้น

แม้แต่ขณะที่กระทำกุศลกรรม ก็ไม่ใช่ว่าทุกครั้งจะเป็นโสมนัส เกิดร่วมกับญาณ คือ ปัญญา และเป็นอสังขาริก ซึ่งเป็นกุศลที่มีกำลังแรง ถ้ากุศลที่ได้กระทำไปแล้วนี้มีโอกาสจะให้ผล ก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในชาติหนึ่งชาติใด เป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา และจะได้ผลของกุศลที่เป็นกามาวจรจิตถึง ๑๖ ดวงด้วย

แสดงให้เห็นว่า กรรมจำกัดปฏิสนธิว่า ชีวิตของบุคคลนั้น มีปัจจัยที่จะให้ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มากน้อยแค่ไหน ประการใด ตามประเภทของปฏิสนธิจิต

สำหรับการที่จะรู้จักปฏิสนธิ ไม่สามารถรู้ได้โดยละเอียด เพราะว่าปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว แต่ก็ยังมีอุปนิสัยซึ่งสะสมอยู่ในจิตที่พอจะให้รู้ได้ว่า ปฏิสนธิของบุคคลนั้น ถึงแม้จะไม่รู้ว่าเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาหรือโสมนัสเวทนาก็จริง แต่ยังพอจะรู้ได้ว่า เป็นญาณสัมปยุตต์ หรือว่าญาณวิปปยุตต์ แม้ว่าจะรู้ยาก

ถ้าบุคคลใดได้สะสมกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาในทางธรรม สำหรับทางโลก ใช้คำว่า ปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่โสภณเจตสิก จะใช้คำว่า ฉลาด ก็ได้ แต่ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะถ้าเป็นปัญญาเจตสิก ต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจธรรม คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง การศึกษาธรรมเป็นการพิสูจน์ได้ แม้ว่าไม่สามารถจะรู้ชัด แต่ก็พอจะรู้ได้ว่า เมื่อฟังพระธรรมแล้วมีความเข้าใจถูกผิดมากน้อยอย่างไร มีความเข้าใจลึก กว้าง และละเอียดเพียงใด

นี่เป็นเรื่องการสะสมของกุศลที่ได้กระทำแล้ว และกุศลนั้นสามารถเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า ถ้าเป็นผลของมหากุศลดวง ที่ ๑ เป็นจิตที่มีกำลังแรง จะทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบาก เกิดร่วมกับปัญญา และโสมนัสเวทนา และเป็นอสังขาริก

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นการยากที่จะรู้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาเป็นอย่างไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ประสูติใน โลกมนุษย์ เพื่อที่จะได้ทรงตรัสรู้และแสดงธรรม ปฏิสนธิของพระองค์เป็นติเหตุกะอย่างสูงซึ่งมีกำลัง คือ เป็นผลของมหากุศลดวงที่ ๑ ได้แก่ กุศลที่เกิดร่วมกับ โสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับปัญญา และมีกำลังกล้าเป็นอสังขาริก

ท่านผู้ฟังอาจสงสัยว่า คนที่ปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาจะต้องหัวเราะทั้งวันหรืออย่างไร แต่ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่หมายความว่าผู้ที่ปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนาจะต้องหัวเราะทั้งวัน เบิกบานทั้งวันอย่างนั้น แต่เป็นผู้ที่มีจิตแช่มชื่นในทางกุศล นี่คือพื้นฐานของจิต

การทำกุศลแต่ละครั้ง ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก จะไม่รู้ว่าแม้ในขณะที่กระทำกุศลกรรมครั้งหนึ่งๆ กุศลเกิดมาก หรือว่าอกุศลเกิดมาก

ตั้งใจที่จะถวายทาน ขอให้ระลึกถึงความวุ่นวายตั้งแต่เรื่องการจับจ่ายของ จนกระทั่งการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งถ้ามีผู้คนบริวารพร้อมพรั่ง กุศลนั้นดำเนินไปด้วยดี จะต่างกับขณะที่ขาดผู้คนบริวาร ขาดเครื่องไทยธรรมที่ต้องการ เพราะฉะนั้น สภาพของจิตเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกในเรื่องของกุศลว่า ควรจะเป็นกุศล จิตที่จะเกิดเป็นโทสะความไม่แช่มชื่นใจก็จะน้อยลง เพราะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ควรที่จะคิดเดือดร้อนใจต่างๆ ในขณะที่กำลังทำกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด

เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาย่อมรักษาจิตให้สม่ำเสมอ คือ เป็นกุศล ไม่เดือดร้อนกับเสียงที่เป็นคำครหา หรือคำกล่าวร้าย หรือแม้แต่จะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่ปรากฏในขณะนั้น ด้วยการที่รู้ว่า กุศลจิตเกิดดีกว่าที่จะให้อกุศลจิตเกิดในขณะที่กระทำกุศล มิฉะนั้นแล้วกุศลกรรมนั้นเอง ถึงแม้ว่าจะให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แต่อัธยาศัยของบุคคลนั้นย่อมต่างกันไปตามสภาพของจิต ซึ่งเกิดสลับในขณะนั้น

บางคนเป็นผู้ที่มีโลภะแรง สำหรับผู้ที่มีโลภะแรงมักจะเป็นผู้ที่มักได้ ชอบสบาย แต่สำหรับการทำกุศลแต่ละครั้ง ไม่ใช่มีแต่เฉพาะโลภะอย่างเดียว บางครั้งก็มีโทสะ หรืออโทสะ บางครั้งก็มีโมหะหรืออโมหะ เกิดสลับอยู่ในการกระทำกุศลแต่ละครั้งด้วย เพราะฉะนั้น การที่กุศลนั้นจะให้ผล ทำให้บุคคลนั้นเกิดมา นอกจากจะต่างกันตามกำลังของกุศลที่จะทำให้วิบากจิตเกิดได้มากน้อยต่างกันแล้ว ยังทำให้อุปนิสัยที่ สะสมมานั้นต่างกันด้วย

ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาตัวของท่านเอง จะเข้าใจชัดกว่าบุคคลอื่น เพราะว่าบุคคลอื่นไม่สามารถจะรู้จักท่านตลอดเวลานาทีในวันหนึ่งๆ ได้ แต่สำหรับตัวท่านสามารถรู้จักตัวเองได้ละเอียดจริงๆ ว่า ท่านเป็นผู้ที่มักได้ไหม มักได้ในที่นี้ คือ เป็น ผู้ที่มีความอยากได้มาก อยากได้บ่อยๆ หรือเป็นผู้ที่แม้จะเห็นสิ่งใดก็ไม่รู้สึกว่าต้องการสิ่งนั้น ไม่เหมือนกับว่า เห็นอะไรก็อยากได้ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นอะไรก็อยากได้ทั้งนั้น แสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีโลภะแรง

บางท่านแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีโลภะแรง ไม่ค่อยจะสละสิ่งใดให้บุคคลอื่นก็จริง แต่เป็นผู้ที่ไม่ค่อยโกรธ

บางคนโกรธเก่ง เจ้าโทสะ แต่บางคนมีความต้องการจริง แต่ไม่ค่อยจะโกรธ ก็หมายความว่า บุคคลนั้นโทสะไม่แรง แต่ว่าโลภะแรง

บางท่านเป็นผู้ที่อาจจะไม่โกรธ แต่ก็ยังมีความอยากได้สิ่งต่างๆ อยู่มาก แต่ขณะเดียวกันก็มีญาณปัญญาดุจเพชร ซึ่งแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้มีอโมหะหรือมีปัญญาแรง มีอโลภะอ่อน มีโลภะแรง และมีอโทสะแรงด้วย

พูดอย่างนี้ ดูเป็นชื่อทั้งหมด แต่ความจริงเป็นขณะจิตแต่ละขณะ ซึ่งทุกท่าน จะพิจารณาได้ว่า ท่านเป็นบุคคลที่มากและน้อยทางฝ่ายอกุศลประเภทใด และทางฝ่ายกุศลประเภทใด

เปิด  228
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565