แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1271

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๖


สุ. เรื่องปฏิสนธิเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเป็นการประมวลกรรมเท่าที่สามารถจะเกิดได้ในกาลที่ปฏิสนธิ เช่น การเกิดในกาลสมบัติ กับการเกิดในกาลวิบัติ

การเกิดในกาลสมบัติ ต้องประมวลกรรมที่ทำให้ได้รับผลในกาลสมบัตินั้น หรือถ้าเป็นในกาลวิบัติ ก็ประมวลกรรมที่ทำให้ได้รับผลในยุคที่เป็นกาลวิบัติ ซึ่งไม่มีใครสามารถฝืนได้ เพราะกาลก็ดี หรืออุปธิก็ดี หรือปโยคะก็ดีนั้น เป็นฐานะของวิบาก ส่วนกรรมเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก

เป็นเรื่องละเอียดที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตของแต่ละบุคคลต่างกันเพราะ ปฏิสนธิจิต ผลของอกุศลกรรมทำให้เกิดในอบายภูมิ ถ้าดูในภูมิของสัตว์ดิรัจฉานจะเห็นได้ว่า ชีวิตของช้างก็ต้องอยู่อย่างช้าง ชีวิตของนกก็ต้องอยู่อย่างนก ชีวิตของปลาก็ต้องอยู่อย่างปลา ชีวิตของเสือ สัตว์ร้าย ก็ต้องอยู่อย่างสัตว์ร้าย เพราะปฏิสนธิด้วยอกุศลวิบาก และก็ต่างกันไปตามการสะสมของจิต ฉันใด ถ้าคิดถึงมนุษย์แต่ละคน แทนที่จะคิดถึงช้าง ถึงนก ถึงปลา และแต่ละคนจำแนกออกไปให้ละเอียดกว่านั้นอีก จะเห็นได้ว่า ปฏิสนธิของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นผลของกรรมที่ต่างกัน จะต่างกันโดย ทานบ้าง โดยศีลบ้าง โดยภาวนาบ้าง โดยอธิปติ หรือโดยกำลังของกรรมต่างๆ บ้าง ก็ตาม ทำให้ชีวิตของแต่ละคนประมวลมาซึ่งกรรมที่บุคคลนั้นได้สะสมแล้วที่จะเกิดขึ้นเป็นไป ทั้งในขณะที่เกิดและหลังจากที่เกิดแล้ว เพราะว่าการให้ผลของกรรม ให้ผลในขณะปฏิสนธิกาล คือ ในขณะที่เกิดขึ้นเป็นปฏิสนธิจิต เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้วก่อนที่จะจุติ ทั้งหมดนั้นชื่อว่าปวัตติกาล กรรมอื่นที่ได้สะสมประมวลไว้สามารถที่จะให้ผลในแต่ละวัน ในแต่ละช่วงขณะของชีวิตได้

เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกถึงช้าง นึกถึงม้า นึกถึงปลา นึกถึงนก ก็เป็นแต่ละคนที่มีวิถีชีวิตเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งกรรมของแต่ละคนได้สะสมมาอย่างวิจิตรจริงๆ

ขอกล่าวถึงความวิจิตรของจิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรรมที่แสดงให้เห็นว่า วิจิตรในการที่จะให้ผลเกิดขึ้น

อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อัพยากตวรรค ภริยาสูตร ข้อ ๖๐ มีเนื้อความว่า

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องภริยา ๗ จำพวกแก่นางสุชาตา ซึ่งเป็นบุตรสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางสุชาตาหรือนางสุชาดาเป็นน้องหญิงคนเล็กของ นางวิสาขา นางไม่ทำวัตรปฏิบัติที่หญิงสะใภ้พึงกระทำต่อมารดาของสามี และไม่ยอมรับนับถือมารดาสามีว่าเป็นมารดาอีกด้วย และนางสุชาดานั้นย่อมไม่เชื่อฟังแม้ถ้อยคำของบิดาสามีและสามีด้วย คือ ไม่สนใจฟังบ้าง ไม่ทำตามคำบ้าง แม้แต่ พระผู้มีพระภาคนางก็ไม่สักการะเคารพนับถือบูชา

นี่คือความวิจิตรของจิตที่จะเป็นไปได้ด้วยประการต่างๆ ทั้งๆ ที่เกิดในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน แต่ก็สะสมการที่จะเป็นผู้ที่ไม่อ่อนน้อม

วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินเสียงอื้ออึง ก็ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านอนาถบิณฑิกะก็ได้กราบทูลถึงความประพฤติของนางสุชาดา ซึ่งในขณะนั้นนางสุชาดาก็ยืนฟังอยู่ไกลๆ ว่า ท่านอนาถบิณฑิกะจะกล่าวคุณความดีของนาง หรือโทษของนาง

เป็นธรรมดาใช่ไหม เวลาที่ใครพูดถึงท่าน เขาจะพูดถึงเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดี สนใจไหม อยากจะให้สรรเสริญ อยากจะให้ชม อยากจะฟังว่าคนอื่นพูดถึงตัวท่านว่าอย่างไร แม้แต่นางสุชาดาซึ่งเป็นผู้ที่ความประพฤติไม่ดี ก็ยังอยากจะทราบว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะกล่าวคุณความดีของนางหรือโทษของนาง เมื่อพระผู้มีพระภาคเห็นนางยืนอยู่ไกลๆ อย่างนั้น ก็ตรัสเรียกนางมาเฝ้า และได้ทรงแสดงลักษณะของภริยา ๗ จำพวก

สำหรับความวิจิตรของจิต ขอกล่าวถึงเฉพาะโจรีภริยา ภริยาจำพวกหนึ่ง ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา ภริยาสูตร มีว่า

ภริยาเพื่อยักยอกทรัพย์แม้มีอยู่น้อยนั้น ก็คือ พยายามเพื่อยักยอกทรัพย์ ทีละน้อย แม้จากข้าวสารที่ใส่ในหม้อหุงข้าวอันตนยกตั้งแล้วบนเตาไฟ

นี่คือข้อความในพระสูตร ซึ่งยากที่ใครจะคิดถึงว่าจะมีจิตที่วิจิตรอย่างนี้ การยักยอกทีละน้อย ยักยอกแม้ข้าวที่ใส่ในหม้อที่ตั้งแล้วบนไฟ ใครคิดจะหยิบข้าวในหม้อที่ตั้งไว้บนไฟแล้วออกบ้างไหม แต่การยักยอกก็ยังมีความวิจิตรที่โจรีภริยาทำอย่างนั้นได้ เมื่อจิตวิจิตรถึงอย่างนี้ย่อมเป็นปัจจัยให้กระทำกรรมต่างๆ ที่วิจิตรต่างกันได้ ซึ่ง ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตต่างๆ กัน ทั้งในภูมิมนุษย์ ภูมิสัตว์ดิรัจฉาน และในภูมิอื่นๆ ด้วย

วันนี้ท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานบ้างหรือเปล่า เพราะว่าจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมมากๆ และไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด แม้ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น คืออะไร ด้วยเหตุนี้การบรรยายทั้งหมดโดยตลอดมา จุดประสงค์ คือ เพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด

ถ. ทุกวันนี้ การปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่ชื่อว่าปฏิบัติกัมมัฏฐาน บางสำนักหรือบางคนเจริญเฉพาะสมาธิ เรียกว่า เจริญวิปัสสนา หรือบางสำนักเจริญให้เกิดสติ รวมความว่า เจริญเพื่อสมาธิ กับเจริญเพื่อสติ อย่างไหนเป็นการปฏิบัติเพื่อสติปัฏฐาน สำหรับอาตมามีความเห็นว่า เรามีจิต มีสติสัมปชัญญะ เราจะเจริญสมาธิให้จิตนิ่งไป คล้ายๆ ว่าไม่มีวิญญาณ จะไม่ใช่ทางของสติปัฏฐาน และที่ว่าเจริญสมาธิ ต้องการให้จิตนิ่งอยู่ก็เป็นของยาก และ ...

สุ. จิตนิ่งนั่นรู้อะไร ปัญญารู้อะไรในขณะที่จิตนิ่ง

ถ. อาตมาเข้าใจว่า ถ้าเพียงแต่นิ่งอยู่เช่นนั้น ก็ไม่เกิดปัญญา

สุ. ถ้าไม่เกิดปัญญา ควรเจริญหรือไม่ควรเจริญเจ้าคะ

ถ. อาตมาว่า ไม่ควรเจริญ

สุ. เจ้าค่ะ

ถ. สมาธิก็เพียงขณิกสมาธิ จะเป็นบาทแห่งสติปัญญา นี่จะถูกไหม

สุ. ถ้าจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อเจริญปัญญา ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ปัญญารู้อะไร ปัญญาเข้าใจอะไร ไม่ใช่จะทำสติหรือจะทำสมาธิ แต่ควรจะอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจเพิ่มขึ้น

ถ. สติปัฏฐานที่กำหนดอัสสาสะ ปัสสาสะ เพื่อฝึกจิตให้มีสติ ให้เกิดปัญญา อย่างนี้จะถูกไหม

สุ. ไม่ว่าจะเป็นบรรพใด หมวดใดในมหาสติปัฏฐาน ก่อนอื่นควรระลึกว่า สติเป็นอนัตตาหรือเปล่า

ถ. สติเป็นอนัตตา

สุ. เมื่อสติเป็นอนัตตา ใครสามารถเลือกอารมณ์ให้สติได้ จะเลือกอารมณ์ให้สติระลึกได้ไหมในเมื่อสติเป็นอนัตตา

ถ. ไม่ได้

สุ. เมื่อเลือกอารมณ์ให้สติไม่ได้ ทำไมจะกำหนดหมวดนั้นหมวดนี้ใน สติปัฏฐาน ถ้าต้องการที่จะกำหนดหมวดนั้นหมวดนี้ในมหาสติปัฏฐาน หมายความว่าไม่เข้าใจความหมายลักษณะของสติที่ว่า สติเป็นอนัตตา

ถ. หมวดกายอย่างเดียวได้ไหม เวทนายังไม่เอา

สุ. ไม่ได้ทั้งหมด ถ้าเป็นอย่างนั้นหมายความว่า สติไม่ได้เป็นอนัตตา ลืมแม้แต่พระพุทธพจน์สั้นๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

เวลาที่จะเจริญสติปัฏฐาน ทำไมไม่รู้ว่าสติเองก็เป็นอนัตตา เมื่อสติเป็นอนัตตา เลือกอารมณ์ให้สติไม่ได้เลย ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด อาจจะคิดว่า อยากจะฟังวิทยุ และคิดว่าสามารถเปิดวิทยุให้ได้ยินเสียงวิทยุได้ แต่ยังไม่ทันจะเปิดวิทยุ ได้ยินเสียงอื่น ได้ไหม

ถ. เข้าใจว่า สติปัฏฐานทำให้เกิดปัญญา พยายามให้สติรู้ในเวลาที่อารมณ์เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ

สุ. มิได้ ต้องทราบว่าลักษณะของสติคืออย่างไร และอารมณ์ที่สติระลึกคือขณะไหน อารมณ์อะไร ตามปกติ ตามความเป็นจริง อย่างที่ได้กราบเรียนถามว่า เวลาที่ต้องการจะฟังวิทยุ และคิดว่าเมื่อเปิดวิทยุก็จะได้ยินเสียงวิทยุ แต่ยังไม่ทันที่จะเปิดวิทยุ ได้ยินเสียงอื่นก่อนเสียงวิทยุได้ไหม อาจจะได้ยินเสียงดังตึงตังอะไรก็ได้ก่อน ที่จะเปิดวิทยุ หรือแม้แต่ในขณะที่ยังไม่เปิดวิทยุ เห็นก็มี เพราะฉะนั้น สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ทางตาก็ได้ โดยที่เสียงวิทยุยังไม่ได้เกิดเลย

ฉันใด เมื่อเข้าใจ หรือเมื่อคิดว่าต้องการได้ยินเสียงนั้นเสียงนี้ แต่ยังไม่สามารถได้ยินได้ เมื่อคิดว่าสติจะต้องระลึกที่อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ หรือต้องการที่จะให้สติระลึกที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แต่เวลาที่สติเกิดจริงๆ สติจะระลึกที่อารมณ์ไหนก็ได้ ย่อมแล้วแต่สติ เพราะว่าสติเป็นอนัตตา นี่จึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

แต่ถ้ามีการเลือกอารมณ์ นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

ถ. หมายความว่า เอาอารมณ์ปัจจุบัน

สุ. อารมณ์ปัจจุบัน คือ เดี๋ยวนี้

ถ. อารมณ์ปัจจุบัน คือ เดี๋ยวนี้ ทางตา ทางหู

สุ. สติระลึกเดี๋ยวนี้ ทางตาที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ทางหูที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ทางใจที่กำลังคิดนึกเดี๋ยวนี้

ถ. ถ้าคิดพิจารณาจะเป็นปริยัติ ไม่ใช่ปฏิบัติ

สุ. ทุกคนคิด แล้วแต่จิตที่คิดนั้นจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ซึ่งปกติก็เป็นอกุศลจิต ถ้าไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบ ในเรื่องของธรรมที่ได้ศึกษาแล้ว แต่สติสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่เป็นของจริง ที่กำลังปรากฏ ซึ่งในขณะนั้นชื่อว่าเป็นปัจจุบันทั้งนั้น ถ้าสติระลึกเดี๋ยวนี้ คือ ปัจจุบัน

ถ. จะเริ่มต้นปฏิบัตินั้น จะต้องทำอะไรก่อน

สุ. เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อสติจะเกิดขึ้นระลึกได้ ตามปกติตามที่เข้าใจแล้ว แต่ถ้ายังไม่เข้าใจและจะทำ ทำไม่ถูกแน่นอน

เรื่องการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องตัวตนที่จะทำ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจ ซึ่งจะค่อยๆ เจริญขึ้นจนกระทั่งเป็นความรู้ชัด จนสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้เข้าใจแล้วโดยถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน

เช่น เคยได้ยินได้ฟังว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ในขณะที่เห็น เป็นสภาพธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งในขณะที่กำลังได้ยินว่า กำลังเห็นในขณะนี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ธรรมนี้เพื่อใคร ที่ว่าการเห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้

ก็ทั้งผู้ฟังและทั้งผู้พูด จะพูดกี่ครั้ง หรือจะได้ยินกี่ครั้ง ประโยคนี้ต้องสำหรับผู้ที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น สติจึงจะระลึกได้

เพราะฉะนั้น ที่ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมซ้ำแล้วซ้ำอีก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าในฐานะที่กำลังได้ฟัง ซึ่งผู้พูดเองก็ต้องได้ยิน ได้ฟังด้วย หรือแม้ผู้ไม่พูดก็กำลังฟังอยู่ ประโยชน์ คือ เพื่อให้สติระลึกทันทีในขณะที่กำลังเห็น เพื่อที่จะได้น้อมศึกษาพิจารณาว่า ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้นั้น คือ อาการรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า

ต้องเป็นมหาสติปัฏฐานอยู่เรื่อยๆ ตลอดทั้งพระไตรปิฎก ไม่ว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมเรื่องอะไร ที่ไหน ก็เพื่อให้ผู้ฟังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมก็ดี หรือการฟังธรรมก็ดี เพื่อให้สติระลึกตามที่ได้เข้าใจธรรมที่ได้ฟัง แต่ถ้ายังไม่เข้าใจเลย สติย่อมเกิดระลึกไม่ได้ ไม่สามารถระลึกได้ถูกว่า สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ในขณะที่กำลังเห็นคืออย่างไร และสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนคืออย่างไร

เพราะฉะนั้น ต้องฟัง จนกระทั่งมีความเข้าใจเกิดขึ้น สติจึงจะระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่ได้ฟังแล้ว และเข้าใจแล้ว

แต่จะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่ตรงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และกราบทูลถามว่า จะให้ทำอย่างไร เพราะผู้ที่ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นจนกว่าผู้ฟังจะเข้าใจ และเมื่อผู้นั้นอบรมเจริญบารมีในอดีตมาแล้ว สติก็สามารถระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟังทันที ถ้าอบรมเจริญบารมีมามาก ก็สามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ที่จะต้องอบรมเจริญขึ้นโดยอาศัยการฟังเพิ่มขึ้น เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึก และสามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

ถ. ที่อาจารย์กล่าวนี้อยู่ในหลักปริยัติ และต้องมีปฏิบัติ เพราะฉะนั้น พวกเราจะต้องฟัง ต้องศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจจริงๆ จึงลงมือปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าใจก็คงเสียเวลาที่เราปฏิบัติ

สุ. ข้อสำคัญ คือ ไม่ใช่ตัวตนหรือเราปฏิบัติ แต่สติเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งโดยปกติเป็นมรรคมีองค์ ๕ เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของมรรคแต่ละองค์ ไม่มีตัวตนที่จะปฏิบัติได้เลย ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีสภาพธรรมใดที่จะระลึกได้ว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังปรากฏ

เปิด  236
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566