แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1275

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๖


ถ. ผมเคยได้ยินคำว่า เศษของกรรม หมายความว่าอย่างไร

สุ. กรรมที่ทำแล้วให้ผลยังไม่หมด ยังเหลือโอกาสที่จะให้ผล

ถ. หมายความว่า ถ้ารับผลในอบายแล้ว เศษของกรรมนั้นยังไม่หมด

สุ. ยังไม่หมดได้

ถ. และเศษของกรรมทำปฏิสนธิได้อีก

สุ. ได้

ถ. กรรมใช้ไปจะหมดแล้ว เศษของกรรมทำไมจึงมีกำลังทำปฏิสนธิได้อีก

สุ. เมื่อเป็นกรรมที่ครบองค์ ก็สามารถทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้

ถ. กรรมลักษณะไหน ทำไมจึงเป็นเศษของกรรม

สุ. กรรมหนึ่งๆ จิตเกิดขึ้นกี่ดวง การกระทำกรรมหนึ่งที่สำเร็จลงไป แต่ละครั้งๆ จิตเกิดขึ้นกี่ดวง

ถ. ไม่ทราบ

สุ. วิถีจิตเกิดขึ้น ที่เป็นชวนกุศลจิต หรืออกุศลจิต จะเกิดซ้ำกัน ๗ ขณะ ถ้าเป็นชวนะดวงที่ ๑ สามารถให้ผลได้ในปัจจุบันชาติ คือ ชาติที่ทำกรรมนั้น ถ้าไม่ให้ผลในชาตินั้น ชวนะดวงที่ ๑ จะไม่ทำให้เกิดวิบากในชาติต่อๆ ไปได้เลย เพราะชวนะดวงที่ ๑ มีกำลังอ่อนกว่าชวนะอื่น สามารถให้ผลได้เฉพาะในปัจจุบันชาติเท่านั้น จึงเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่สามารถให้ผลในปัจจุบันชาติ

แต่ไม่มีผู้ใดสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะที่วิบากจิตนี้กำลังเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมใด จะเป็นผลของทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ ชวนจิตดวงที่ ๑ ในชาตินั้น หรือว่าจะเป็นผลของอดีตกรรมในชาติก่อน หรือว่าจะเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว เนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เพราะชวนจิตที่เป็นกุศล ๗ ขณะ หรืออกุศล ๗ ขณะ มีกาลที่จะให้ผลต่างกัน คือ ถ้าเป็นชวนจิตดวงที่ ๑ ทำให้วิบากเกิดขึ้นในปัจจุบันชาตินั้น ถ้าเป็นชวนะดวงที่ ๗ ก็ทำให้วิบากเกิดขึ้นในชาติต่อไป ถ้าเป็นชวนะดวงที่ ๒ ถึงดวงที่ ๖ ก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดในชาติหลังๆ ต่อไปอีกได้ ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น แต่ละกรรมที่ได้กระทำสำเร็จลง ชวนจิตเกิด ๗ ครั้งๆ กว่ากรรมหนึ่งๆ จะสำเร็จลงไป

ถ. ผมยังไม่เข้าใจว่า การกระทำกรรมสำเร็จครั้งหนึ่ง จิตเกิดกี่ดวง

สุ. ขณะนี้ทางตาที่เห็น มีชวนจิตเกิดแล้ว ๗ ขณะ ที่กำลังได้ยิน ซึ่ง ดูเสมือนว่าทั้งเห็นด้วยทั้งได้ยินด้วย ความจริงมีภวังคจิตคั่น และมีมโนทวารวิถีจิตคั่น และก็มีชวนะทางโสตทวารวิถีอีก ๗ ขณะ ในขณะที่ดูเหมือนทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดความคิดหรือเจตนาที่จะทำกรรมหนึ่งกรรมใด เริ่มตั้งแต่คิด ชวนจิต ๗ ขณะจะเกิดกี่ครั้ง ๗ ขณะ ๗ ขณะ ๗ ขณะ กี่ครั้ง กว่ากรรมหนึ่งๆ จะสำเร็จลง

ท่านผู้ฟังคิดจะถวายทาน กี่ขณะจิตที่คิดอย่างนั้น มีการนับได้ไหม ทางตาเห็น ๗ ขณะ ทางหู ๗ ขณะ ทางมโนทวาร ๗ ขณะ เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เพียงชวนะ ๗ ขณะ โดยไม่นับจิตอื่นซึ่งเกิดก่อนและเกิดหลังชวนะนั้น และกว่าจะ นึกว่า ถ้าจะถวายทานจะทำอาหารอะไร ชวนะอีกเท่าไร

ถ. นับไม่ถ้วน

สุ. ก็นับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมให้ผล และยังให้ผลไม่หมด ก็มีเศษของกรรมที่จะให้ผลต่อไปได้ คือ กรรมที่ให้ผลแล้วแต่ยังให้ไม่หมด จึงชื่อว่า เศษของกรรม

ถ. ผมเคยได้ยินว่า เศษของกรรม หมายความถึงการที่จะกระทำกรรมที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ดี จะต้องมีการรำพึงคือคิดนึกก่อน ใคร่ครวญก่อน นั่นเป็นเศษของกรรมหรือเปล่า ก่อนที่จะทำให้ครบองค์

สุ. นั่นเป็นบุพเจตนา

ถ. ไม่ใช่ลักษณะเศษของกรรม

สุ. ไม่ใช่ เป็นตัวกรรม ที่จะครบองค์ต่อเมื่อการกระทำนั้นสำเร็จลง ถ้าท่านผู้ฟังคิดที่จะถวายทาน หรือจะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด กุศลจิตเกิด การให้นั้นสำเร็จแล้วหรือยัง

ถ. สำเร็จแล้ว

สุ. เพียงคิดว่าจะให้ ยังไม่สำเร็จ กุศลจิตเกิดแล้ว แต่กรรมยังไม่สำเร็จ และกว่ากรรมจะสำเร็จ กุศลจิตที่เป็นชวนะจะเกิดอีก ๗ ขณะ ๗ ขณะ อีกกี่ครั้ง

ถ. นับไม่ได้

สุ. ก็นับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผลหมด หรือยังให้ผลไม่หมด ก็เป็นเศษของกรรม ยังสามารถให้ผลต่อได้

ถ้าอ่านในอรรถกถา จะมีเรื่องเศษของกรรมอยู่เสมอ กรรมนั้นให้ผลแล้ว ยังให้ไม่หมด เพราะฉะนั้น ต่อมาภายหลังก็เกิดเป็นอะไรๆ หรือว่ากรรมนั้นให้ผลแล้ว ยังให้ผลไม่หมด เพราะฉะนั้น ในชาตินั้นจึงได้รับผลของกรรมนั้นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอย่างไรๆ

เคยปวดหัวตัวร้อนนิดๆ หน่อยๆ ไหม ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม เป็นเศษของกรรมได้ไหม เพียงนิดหน่อย หกล้มนิดหนึ่ง มีบาดแผลเล็กน้อย แต่กรรมที่ทำ จริงๆ สำเร็จครบองค์ไปแล้ว สามารถที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิได้ เกิดในนรกก็ได้ เกิดเป็นเปรตก็ได้ เกิดเป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ นั่นคืออกุศลกรรมที่สำเร็จเป็นกรรมบถครบองค์ให้ผล แต่ว่าการเจ็บปวดนิดหน่อย ปวดหัวตัวร้อนเล็กๆ น้อยๆ เจ็บไข้ได้ป่วยเล็กน้อย ก็ต้องเป็นผลของอกุศลเหมือนกัน จะเป็นเศษของกรรมได้ไหม

ถ. ได้

สุ. เรื่องของกรรม เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมาก ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่า วิบากจิตที่เกิดในขณะนี้เป็นผลของกรรมใด

ถ. เมื่อกี้อาจารย์ถามว่าอย่างไร ขอทวนคำถามอีกที

สุ. เจ็บปวดเล็กน้อย ปวดหัวตัวร้อนนิดหน่อย หกล้มมีแผลเล็กน้อย เป็นผลของอกุศลกรรม ใช่ไหม แต่อกุศลกรรมจริงๆ ที่ทำครบองค์แล้ว สามารถทำให้ปฏิสนธิเกิดในอบายภูมิได้ คือ เกิดในนรกได้

ฆ่าสัตว์ ครบองค์ มีเจตนาก่อนฆ่า รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีความเพียรในการฆ่า และสัตว์นั้นตายลงจากการฆ่านั้นด้วย ครบองค์ ทำให้เกิดในอบายภูมิ แต่ยังไม่หมดผลของกรรม โดยที่เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็ยังเป็นผู้ที่มีโรคภัยเบียดเบียนบ่อยๆ

ถ. เป็นลักษณะเศษของกรรม ใช่ไหม

สุ. ใช่ ถ้าเป็นผลของกรรมจริงๆ ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ แต่เศษของกรรมก็ติดตามมา ทำให้เป็นผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่ดี ไม่แข็งแรง

ถ. เศษของกรรมที่ทำปฏิสนธิเป็นอย่างไร

สุ. ก็สามารถทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อไปได้

ถ. ยังมีกำลังอยู่มาก ใช่ไหม

สุ. ใช่ พอที่จะให้เกิดอย่างนั้นอีกก็ได้

ถ. ที่ว่าปฏิสนธินั้น ไม่จำเป็นต้องปฏิสนธิในมนุษย์ภูมิ

สุ. ไม่เจาะจง

ถ. อาจจะเกิดในอบายได้อีก หรือเป็นสัตว์เดรัจฉานต่างๆ

สุ. ต้องแล้วแต่ประเภทของกรรมด้วยว่า เป็นกรรมประเภทไหน

ถ. ที่อาจารย์พูดถึงเรื่องกรรมว่า เจตนาเป็นกรรม และผลของกรรมคือวิบาก อาจารย์พูดถึงอาการปวดหัวตัวร้อนว่าเป็นเศษของกรรม เรียนถามว่า เศษของวิบากจะมีหรือไม่ ทำไมอาการปวดหัวตัวร้อนไม่เป็นเศษของวิบาก แทนที่จะเป็นเศษของกรรม

สุ. วิบากเกิดขึ้นโดยมีกรรมเป็นปัจจัย แต่วิบากจิตไม่สามารถทำให้เกิดวิบากจิตได้ วิบากจิตทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เมื่อกรรมให้ผล คือ ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็หมดเรื่องของวิบาก แต่กรรมยังมีอยู่ต่อไปไหม ถ้ากรรมยังมีอยู่ต่อไป ก็ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะฉะนั้น วิบากจิตที่เกิดต่อเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เป็นผลของวิบาก

ถ. ที่เป็นอาการปวดหัวตัวร้อน ยังไม่เรียกว่าเป็นวิบาก ใช่ไหม

สุ. เป็นวิบากจิต ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย อกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น วิบากจิตทั้งหมดจะเกิดขึ้นโดยไม่มีกรรมเป็นปัจจัยไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องทราบว่า จิตขณะไหนเป็นวิบากซึ่งเป็นผล และขณะไหนเป็นกรรมซึ่งเป็นเหตุ เพราะวิบากไม่ใช่กรรม แต่วิบากเป็นผลของกรรม

ถ. ที่สงสัยว่าทำไมไม่มีเศษของวิบาก เพราะเจตนาคือกรรม ถ้ามีเศษของกรรม ก็น่าจะเป็นเศษของเจตนา อะไรในทำนองนั้น

สุ. เจตนามี ๒ ประเภท คือ สหชาตกัมมปัจจัย ๑ นานักขณิกกัมมปัจจัย ๑ สหชาตกัมมปัจจัย หมายความถึงเจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวง เจตนาที่เกิดกับ วิบากจิตก็เป็นวิบาก เจตนาที่เกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลเจตนา เพราะเกิดกับกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอกุศลเจตนา เพราะเกิดกับอกุศลจิต เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยาเจตนา เพราะเกิดกับกิริยาจิต

เพราะฉะนั้น ต้องจำแนกว่า เจตนาที่เป็นกรรม เป็นนานักขณิกกัมมะ ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นข้างหน้าได้ คำว่า นานักขณิกกัมมะ หมายความถึงกรรมที่ให้ผล ต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่เจตนานั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นสหชาตกัมมะ เจตนานั้นให้ผล คือ ทำให้เจตสิกอื่นเกิดพร้อมกับตนในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น จึงเป็นสหชาตกัมมะ แต่ถ้าเป็นนานักขณิกกัมมะ หมายความถึงกรรมที่เราเข้าใจกันว่า เมื่อกรรมได้กระทำแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากเกิดขึ้นภายหลัง คือ ให้ผลต่างขณะ ไม่ใช่ในขณะที่ตนเองเกิดขึ้น

ถ. ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ไม่มีอะไรกั้นระหว่างสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏ ไม่เข้าใจคำว่า ไม่มีอะไรกั้น หมายความว่าอย่างไร

สุ. เวลานี้ทางตา บางท่านกล่าวว่า เห็น และชี้มือออกไปไกลๆ ดูเหมือนว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไกล ถูกหรือไม่ถูก เก้าอี้อยู่ไกล กระดานดำหลังห้องอยู่ไกลสุดห้อง

ถ. ถ้าเห็นเป็นเก้าอี้ เป็นกระดานดำ แสดงว่ามีอะไรกั้นระหว่างสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏแล้ว ใช่ไหม

สุ. เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่เพียงเห็น แต่คิดด้วยถึงระยะทาง ใกล้และไกล แต่ในขณะใดที่จิตเห็นเกิดขึ้น ทันทีที่ลืมตาเห็น มีระยะไหม ระหว่างสิ่งที่ปรากฏกับสภาพรู้

ถ. ไม่มี

สุ. นั่นคือความหมายว่า ไม่มีอะไรกั้น

ถ. หมายความว่า ในขณะที่เห็น ถ้ายังไม่มีความคิดใดๆ เกิดขึ้น ก็ไม่มีอะไรกั้นในระหว่างสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏ ใช่ไหม

สุ. สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ต้องคิดถึงระยะทาง ไม่ต้องคิดถึงสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีอะไรขวางกั้นลักษณะของธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าคิดถึงระยะทาง มีสิ่งที่ขวางกั้นใช่ไหม ความไกล ความใกล้ แต่นั่นไม่ใช่รูปารมณ์หรือไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ นั่นเป็นการนึกถึงระยะไกล ใกล้ และรูปร่างสัณฐาน

แต่ถ้าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจริงๆ จะรู้ว่า ในขณะใดซึ่งธาตุรู้ สภาพรู้เกิดขึ้นเห็น ขณะนั้นไม่มีอะไรกั้นเลยระหว่างสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏ การได้ยินเสียงก็เช่นเดียวกัน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด สภาพรู้กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น โดยที่ไม่มีสิ่งอื่นกั้น

ขณะที่กำลังเห็น มีเสียงกั้นหรือเปล่า

ถ. ไม่มี

สุ. ไม่มี เพราะสภาพรู้ ธาตุรู้ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ เมื่อสิ่งที่ปรากฏกำลังเป็นอารมณ์ จึงไม่มีอะไรกั้นระหว่างสภาพรู้กับสิ่งที่ปรากฏ

ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ว่า ไม่ใช่รูปใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงอาการรู้ เป็นนามธรรมล้วนๆ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะกั้นขวางอารมณ์กับธาตุรู้ได้

ถ. เคยได้ยินท่านอาจารย์บรรยายบ่อยๆ ถึงคำว่า สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ก็เข้าใจเพียงขั้นการฟัง แต่ความเข้าใจขั้นประจักษ์แจ้งจริงๆ ยังไม่เกิด ยังไม่เข้าใจจริงๆ ว่า อาการรู้เป็นอย่างไร

สุ. ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะระลึกได้ในขณะเห็น ในขณะได้ยิน ในขณะ ได้กลิ่น ในขณะลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส ในขณะคิดนึก จึงจะค่อยๆ น้อมไป เข้าใจในลักษณะของธาตุรู้ จนกว่าจะประจักษ์ชัดในสภาพที่ไม่ใช่เรารู้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง สภาพชนิดหนึ่ง อาการรู้ชนิดหนึ่ง ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ละอย่าง

ถ. อาการเหนื่อย ดิฉันเข้าใจว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่า เป็นเวทนาอะไร ไม่ทราบว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือเปล่าว่า เป็นเวทนา

สุ. ชอบไหม

ถ. ก็แล้วแต่ ถ้าหัวเราะจนเหนื่อย

สุ. มีคนชอบเหนื่อยด้วยหรือ

ถ. ถ้าหัวเราะจนเหนื่อย ก็เกิดจากโสมนัส

สุ. คนละขณะแล้ว ตอนที่เหนื่อยเพราะหัวเราะ ชอบไหม

ถ. ถ้าเป็นเรื่องตลกหรือขำมาก ก็อยากจะหัวเราะต่อ แม้ว่าเหนื่อย

สุ. ถูก แต่ต้องแยกว่า ขณะที่เหนื่อยเพราะหัวเราะนั้น ยังชอบขณะที่เหนื่อยไหม แยกกันระหว่างขณะหัวเราะกับขณะที่เหนื่อย หัวเราะจนเหนื่อย ชอบความรู้สึกในขณะที่กำลังเหนื่อยเพราะหัวเราะไหม

ถ. ถ้าไม่เหนื่อยก็ดีเหมือนกัน

สุ. เพราะฉะนั้น พอจะรู้ได้ว่า เวทนาในขณะนั้นเป็นอะไร ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ธรรมเป็นเรื่องที่สติระลึกจนกว่าจะรู้ชัด มากกว่าที่จะฟังคำบอกเล่าของคนอื่น เพราะคนอื่นไม่สามารถที่จะให้ความแจ่มแจ้งได้ นอกจากสติสัมปชัญญะจะเกิดและระลึกลักษณะของเวทนาซึ่งเกิดดับสลับกัน

ถ. แสดงว่าโสมนัสเวทนาและโทมนัสเวทนา เกิดดับสลับกันรวดเร็วมาก ใช่ไหม

สุ. ใช่ แต่ต้องมีเวทนาอื่นคั่นด้วย

ถ. ผมเคยให้ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างเกี่ยวกับลักษณะของโมหะ อาจารย์เปรียบเทียบว่า การเห็นในห้องนี้ เห็นแล้วรู้อะไรบ้าง ผมตอบว่าเห็นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน ท่านอาจารย์บอกว่านั่นเป็นลักษณะของโมหะ แต่โมหะมีเจตสิกอีก ๒ ดวง คือ อุทธัจจะกับวิจิกิจฉา อยากให้อาจารย์อธิบายโดยละเอียดว่า ลักษณะของโมหะที่ว่านี้เป็นอย่างไร

สุ. พูดถึงโมหเจตสิก หรือโมหมูลจิต

ถ. ให้อาจารย์อธิบายทั้งสองอย่าง

สุ. เวลานี้ความสงสัยอยู่ที่ไหน ที่จะให้หายสงสัยต้องรู้ว่าสงสัยอะไร เฉพาะเจาะจงตอนที่สงสัยว่า สงสัยอะไร สงสัยลักษณะของโมหะ ใช่ไหม

ถ. ใช่

สุ. หมายความว่า สงสัยในลักษณะของโมหเจตสิก เพราะไม่ได้พูดถึง โมหมูลจิต เพราะฉะนั้น ลักษณะของโมหเจตสิก คือ มีลักษณะที่ไม่รู้สภาพที่แท้จริงของอารมณ์ที่ปรากฏ แม้ว่าอารมณ์นั้นกำลังเผชิญหน้าอยู่ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น โมหะไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่สามารถที่จะรู้ สภาพเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ อาการรู้ นั่นคือลักษณะของโมหเจตสิก ตรงกันข้ามกับอโมหะหรือปัญญาเจตสิก

ถ. ยังมีอุทธัจจเจตสิกและวิจิกิจฉา ใช่ไหม

สุ. นี่ต่อไปอีกเรื่องแล้ว เมื่อกี้สงสัยในลักษณะของโมหเจตสิก ขณะนี้หมดความสงสัยในลักษณะของโมหเจตสิกแล้วหรือ

ถ. ผมอ่านในหนังสือที่ว่า มีอุทธัจจะ และก็วิจิกิจฉา

สุ. ท่านผู้ฟังหมายถึงโมหมูลจิตซึ่งมี ๒ ดวง นี่พ้นจากเรื่องของโมหเจตสิก มาถึงโมหมูลจิต ๒ ดวง คือ เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ ๑ ดวง เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง จึงยก ๒ เจตสิกนี้ขึ้นมา ซึ่งความจริงเวลาที่อกุศลจิตจะเกิดขึ้นแต่ละขณะ หรือแต่ละดวง ต้องมีอกุศลเจตสิก ๔ ดวงเกิดร่วมกัน คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑

เจตสิก ๔ ดวงนี้ ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง แต่โมหะเป็นหัวหน้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าโมจตุกะ หมายความว่า หมวดของโมหะซึ่งประกอบด้วยเจตสิกอีก ๓ ดวง รวมเป็น ๔ ดวง เป็นโมจตุกะ ๔ คือ มีโมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ และอุทธัจจเจตสิก ๑

คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับโมจตุกะ ๔ แต่สงสัยในเรื่องของโมหมูลจิต ๒ ดวง ที่ต่างกันเป็นดวงหนึ่งเกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก ซึ่งไม่ใช่โมจตุกะ เพราะฉะนั้น โมหมูลจิตที่เกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตตัง ๑ ดวง และโมหมูลจิตอีกดวงหนึ่งซึ่งไม่ได้เกิดร่วมกับวิจิกิจฉา จึงเป็นอุทธัจจสัมปยุตตัง ไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ถ. ผมเข้าใจว่า วิจิกิจฉาก็เป็นโมหะ

สุ. ไม่ใช่

ถ. จะเป็นดวงเดียวกันหรืออย่างไร

สุ. ไม่ใช่ โมหเจตสิก ๑ ดวง วิจิกิจฉาเจตสิกเป็นอกุศลเจตสิกต่างหาก อีกหนึ่งดวง

ถ. หมายความว่า โมหมูลจิตที่เกิดขึ้น ที่ไม่ประจักษ์ในสภาวะตามความเป็นจริง ก็คือโมหมูลจิตที่มีอุทธัจจเจตสิกประกอบและโมจตุกะที่เหลือด้วย ใช่ไหม

สุ. โมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ คือ ขณะที่ไม่ประกอบด้วย วิจิกิจฉาเจตสิก

ถ. เท่านั้น

สุ. ถูกต้อง

เปิด  242
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565