แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1281

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๗


ชีวิตของแต่ละคนที่เกิดมา ชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิ และยังทำให้วิบากจิต เกิดสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้น ในสกุลนั้น ในฐานะนั้น และหลังจากนั้น ชีวิตของแต่ละคนจะมีการขึ้นและลงตามผลของกรรมอื่นซึ่งสามารถที่จะให้ผลหลังจากปฏิสนธิแล้วด้วย

เพราะฉะนั้น ชีวิตแบ่งออกเป็นปฏิสนธิกาล หรือปฏิสันธิกาลตามภาษาบาลี คือ ในขณะปฏิสนธิ และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้วตลอดไปจนถึงจุติ ชื่อว่าปวัตติกาล

ซึ่งในปวัตติกาลของแต่ละชีวิต ย่อมแล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผลในขณะไหน โดยที่ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า พรุ่งนี้ทุกคนกรรมใดจะให้ผล มีใครรู้ได้ไหม น้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ โจรผู้ร้าย สารพัดอย่าง โรคภัยที่จะเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่ให้ทราบว่า วิบากทั้งหลายที่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้นได้เพราะแต่ละกรรม แล้วแต่ว่า เมื่อกรรมหนึ่งเป็นชนกกรรมแล้ว กรรมอื่นย่อมเป็นอุปัตถัมภกกรรมบ้าง อุปปีฬกกรรมบ้าง หรืออุปฆาตกกรรมบ้าง

สำหรับอุปัตถัมภกกรรม ถ้าท่านผู้ใดกำลังสบาย มีความสุขพร้อมอยู่ ความสุขนั้นสั้นหรือยาวย่อมแล้วแต่ว่ากรรมที่อุปถัมภ์นั้นมีหรือไม่มี ถ้าไม่มีกรรมอุปถัมภ์ กรรมที่ให้ผลทำให้ท่านเป็นสุข อาจจะสุขเพียงเล็กน้อยชั่วคราว และความทุกข์ ก็เกิดขึ้น เพราะไม่มีกุศลกรรมอื่นอุปถัมภ์ แต่ถ้าท่านมีช่วงของชีวิตที่กำลัง สุขสบายเพราะกรรมหนึ่ง และยังมีกรรมอื่นซึ่งเป็นกุศลกรรมพร้อมที่จะอุปถัมภ์ เป็นปัจจัย ก็ทำให้ชีวิตที่กำลังสุขสบายนั้นมีกาลยืดยาวต่อไปได้อีก เพราะว่ามีกรรมอื่นอุปถัมภ์

แต่สำหรับอุปปีฬกกรรม เมื่อท่านกำลังสุขสบายอยู่ และความทุกข์เกิดคั่น ทำให้ความสุขสบายนั้นลดน้อยลงหรือว่าสั้นลง ขณะนั้นก็เป็นเพราะอกุศลกรรมหนึ่งเป็นอุปปีฬกกรรม ย่อมบีบคั้นหรือเบียดเบียนความสุขในขณะนั้นให้สั้นลง

เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า เคยรับประทานอาหารอร่อยๆ อาจจะเกือบทุกมื้อ หรือเฉพาะมื้อหนึ่งก็ได้ ซึ่งอาหารอร่อยมาก เป็นกุศลวิบากหรือเปล่า เป็นผลของ กุศลกรรมหรือเปล่าในขณะนั้น เป็น แต่เพียงคำเดียวซึ่งเคี้ยวพริกเผ็ดๆ สี่ห้าเม็ดไป ขณะนั้นเป็นผลของกรรมอะไร ตัดรอนความสุขหรือกุศลวิบากในขณะนั้นที่กำลังเกิดให้สั้นหรือว่าน้อยลง ซึ่งคงจะไม่มีใครคิดว่า การเคี้ยวพริกเผ็ดๆ ไปสักคำจะเป็น อุปปีฬกกรรม เพราะในขณะนั้นกำลังมีความอร่อยมาก และการที่อกุศลวิบากเกิดขึ้น ก็เป็นชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ สั้นมาก แต่ควรที่จะพิจารณาว่า ทำไมเกิดได้ ถ้าไม่ใช่เพราะมีอกุศลกรรมเบียดเบียนความสุข

ถ. พูดถึงการรับประทาน เป็นมุมกลับอย่างนี้ได้ไหม แทนที่จะได้ทานอาหารดีๆ ทุกมื้อ กลายเป็นว่า เราทานอะไรก็อร่อยหมด เช่น ทานข้าวกับเกลือ กับน้ำ อะไรอย่างนี้ ก็รู้สึกอร่อย จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม

สุ. ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นลิ้มรสที่น่าพอใจ ซึ่งรสในโลกนี้มีหลายรส ทุกรสสามารถเป็นที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ได้ เค็มเป็นรสที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ หวานเป็นรสที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ เปรี้ยวเป็นรสที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ เค็มมากยังคงเป็นรสที่น่าพอใจหรือเปล่า หวานมากยังคงเป็นรสที่น่าพอใจหรือเปล่า เปรี้ยวมากยังคงเป็นรสที่น่าพอหรือเปล่า

ถ. อย่างกับข้าวญี่ปุ่นหวานๆ เลี่ยนๆ บางคนทานไม่ได้ แต่เราทานได้ ดิฉันไม่ทราบว่าทุกคนมีมาตรฐานอย่างไร บางคนอาจจะทานสเต็กทุกมื้อ บางคนอาจจะทานข้าวกับน้ำพริก รสชาติต่างคนต่างชอบ แต่คิดในมุมกลับที่ว่า ถ้าเราจะทานอะไรก็รู้สึกอร่อย อย่างพวกแม้วเขาทานข้าวกับน้ำ เขาไม่ยอมทานอย่างอื่น แต่เขาก็อร่อย และมีกำลังที่จะต่อสู้โรคได้ คือ ถ้าเราทานอะไรก็แล้วแต่และรู้สึกอร่อย จะถือว่าเป็นผลของกรรมดีหรือเปล่า

สุ. สภาพธรรมเป็นสิ่งซึ่งยากถ้าจะใช้บุคคลตัดสิน แต่ลักษณะของ สภาพธรรมจริงๆ ไม่ต้องมีชื่อว่าเป็นญี่ปุ่น ไทย หรืออะไรเลย แต่ว่ารสมี รสที่ทำให้เกิดทุกข์มี รสที่ทำให้เกิดสุขมี เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นรสที่น่าพอใจ ทำให้ ชิวหาวิญญาณลิ้มรสที่น่าพอใจในขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศลวิบาก แต่ไม่ใช่ช่วงขณะที่เราพอใจ แต่ต้องเป็นขณะที่ชิวหาวิญญาณลิ้มรส ปนกันไม่ได้ สภาพธรรมต้องตามความเป็นจริง

ความพอใจ บางคนอาจจะพอใจรสเผ็ด บางคนอาจจะพอใจรสเปรี้ยว บางคนอาจจะพอใจรสเค็ม เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้รับประทานอาหารที่เค็มสำหรับผู้ที่ชอบเค็ม โลภมูลจิตเกิด แต่ชิวหาวิญญาณก่อนโลภมูลจิต ต้องตรงต่อลักษณะสภาพของรส ที่ปรากฏ จะอาศัยบุคคลหนึ่งบุคคลใดตัดสินย่อมไม่ได้

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ขณะที่กำลังทานอาหารอร่อย และเคี้ยวถูกพริก ขณะนั้นเป็นอุปปีฬกกรรม ผมว่าอาจจะเป็นอุปฆาตกกรรม เพราะกระทำโอกาสของกรรมอื่นให้หมด และทำโอกาสของตนให้เกิดขึ้น

สุ. ถ้าลิ้นขาดไปเป็นอุปฆาตกกรรมแน่ๆ แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็เป็นเพียงอุปปีฬกกรรม ชั่วนิดชั่วหน่อย

ถ. อุปฆาตกกรรมต้องรุนแรง ใช่ไหม

สุ. ใช่ ตัดรอนทีเดียว

ถ. ในพระไตรปิฎกมี รสบุรุษ รสสตรี เป็นอย่างไร

สุ. แล้วแต่ความพอใจ ทุกอย่างจะใช้คำว่า รส ก็ได้ แม้แต่รสพระธรรม ทุกอย่างมีรส ถ้าทำให้เกิดความรู้สึกชุ่มชื่นใจ หรือตรงกันข้าม อย่างรสพระธรรม มีไหม

ถ. เข้าใจแล้ว

ถ. รสอร่อย มีไหม

สุ. ทุกอย่างในโลกนี้ที่เป็นรูปธรรม มีทั้งฝ่ายที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ ฝ่ายที่น่าพอใจ และฝ่ายที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ ไม่น่าพอใจ แม้รสก็เช่นเดียวกัน

ถ. รสเค็ม เปรี้ยว หวาน เผ็ด มี แต่รสอร่อยไม่มี ใช่ไหม

สุ. จะพ้นจากเปรี้ยว เค็ม หวานได้ไหม รสทั้งหลาย เปรี้ยว เค็ม หวาน มัน เฝื่อน ฝาด แล้วแต่ว่าจะเรียก ขม ขื่น มีทุกรส

ใครชอบรสขื่นรสขม ชิวหาวิญญาณชอบรสขื่นรสขมไหม

แต่บุคคลชอบได้ ใช่ไหม ชอบรสขื่นรสขม เป็นบุคคล ในขณะที่โลภมูลจิตเกิด แต่ไม่ใช่ชิวหาวิญญาณ ต้องแยกกัน

จักขุวิญญาณเพียงเห็น โสตวิญญาณเพียงได้ยิน ฆานวิญญาณเพียงได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณเพียงลิ้มรส กายวิญญาณเพียงกระทบสัมผัส แต่หลังจากเห็นแล้ว ความชอบไม่ชอบเกิดในสิ่งที่เห็นทันที เช่นเดียวกับในขณะที่ลิ้มรส ความชอบหรือ ไม่ชอบในรสนั้นเกิดต่อทันที แต่ความชอบหรือไม่ชอบในขณะนั้น ไม่ใช่สภาพของชิวหาวิญญาณซึ่งเป็นสภาพที่เพียงลิ้มรสเท่านั้น เพราะฉะนั้น ชิวหาวิญญาณจึงเกิดกับอุเบกขาเวทนา แต่โลภมูลจิตเกิดกับโสมนัสเวทนาได้ มีความพอใจ มีความชอบ มีความอร่อย แต่ชิวหาวิญญาณไม่เกิดกับโสมนัสเวทนา

ถ. เรื่องของทางลิ้น กำลังรับประทานปลาจาระเม็ดตัวใหญ่ กำลังอร่อย หลังจากนั้นก้างติดคอ ต้องนำส่งโรงพยาบาล เป็นอุปปีฬกกรรม หรือเป็น อุปฆาตกกรรม

สุ. ใครตอบ สภาพธรรมเป็นแล้ว แต่จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะวินิจฉัยด้วย ทุกคนต้องวินิจฉัย

อุปปีฬกกรรม เป็นเพียงกรรมที่เบียดเบียน ไม่ถึงกับตัดรอน ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ ขณะใดที่ความทุกข์กำลังเกิดเป็นเวลานาน แต่ความสุขก็เกิด ทำให้ความทุกข์นั้นลดน้อยลงไป ขณะนั้นกุศลกรรมเป็นอุปปีฬกกรรม เบียดเบียนความทุกข์ซึ่งควรจะยาวนานต่อไปให้สั้นลง

แต่ถ้าเป็นอุปฆาตกกรรม กำจัดกรรมที่มีกำลังอ่อนอย่างอื่น ขัดขวางวิบากของกรรมนั้น และทำโอกาสแก่วิบากของตน อย่างเช่นพระเจ้าอชาติศัตรู ควรจะได้เป็นพระอริยบุคคลเมื่อได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่อกุศลกรรมที่ได้กระทำ คือ ปิตุฆาต ตัดรอนมรรคผลไม่ให้เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นอุปฆาตกกรรม

ท่านผู้ฟังอาจได้ทราบข่าวต่างประเทศ ที่มีคนหนึ่งตาบอดอยู่นานมาก วันหนึ่งเกิดมองเห็น ก็เป็นอุปฆาตกกรรมฝ่ายกุศล ซึ่งตัดรอนทางฝ่ายอกุศล

เพราะฉะนั้น พิจารณาดูเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่พ้นไปจากหลังจากที่ชนกกรรมให้ผลทำให้ปฏิสนธิแล้ว ก็ยังมีกรรมอื่นเป็นอุปัตถัมภกกรรม คือ อุปถัมภ์กรรมที่กำลังเป็นอยู่ให้เป็นอยู่ต่อไปนานๆ หรืออุปปีฬกกรรม คือ เบียดเบียนกรรมซึ่งกำลังให้ผลอยู่ ทำให้ผลน้อยลง สั้นลง อุปมาเหมือนกับตัดหรือทำลายต้นไม้ พุ่มไม้ เถาวัลย์ที่กำลังเจริญ ทำให้ต้นไม้ กอไม้ หรือเถาวัลย์นั้นไม่อาจเจริญขึ้น นั่นคือ กิจของอุปปีฬกกรรม ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

ในชีวิตของแต่ละบุคคล อาจจะพิจารณาชีวิตของท่านเองได้ว่า ขณะใด เป็นกรรมใด เพราะบางท่านก็อาจจะมีอุปฆาตกกรรม

ถ. เรื่องจริง คือ เกิดมาชนกกรรมดี การศึกษาเล่าเรียนก็ดี มีความจำดี แต่เกิดมีอุบัติเหตุทำให้จำอะไรไม่ได้เลย เป็นอุปปีฬกกรรมหรือเปล่า

สุ. ตอบเองได้อีกเหมือนกัน

ถ. คิดว่า คงใช่ และต่อมาได้รับการรักษาจนดีขึ้น จำความขึ้นได้บ้างเป็นบางอย่าง จะเป็นอุปัตถัมภกกรรมไหม

สุ. ก็ต้องตอบเองอีก ถ้าจะต้องตอบไปทุกเรื่องนี่คงลำบาก แต่ทุกท่าน ซึ่งเข้าใจหลักที่ได้ทรงแสดงไว้ หรือข้อความในอรรถกถา คงจะสามารถพิจารณาได้ แต่ละเรื่องด้วยตัวของท่านเอง

ขออภัยที่ให้ท่านผู้ฟังพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องของกรรมแต่ละกรรมเอง เพราะหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกุศลกรรมบถ หรืออกุศลกรรมบถ หรือในเรื่องของกรรมประเภทต่างๆ ก็เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาได้พิจารณา ได้เข้าใจในเหตุผล แทนที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเป็นผู้ตอบ เพราะเรื่องของกรรมในชีวิตประจำวันก็มีมาก ถ้าสติเกิดระลึก เมื่อได้ศึกษาเรื่องของกรรม อาจจะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ เป็นเรื่องของกรรมประเภทไหน

เช่น มีอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เสื้อผ้าขาด ซึ่งอาจจะเป็นชีวิตประจำวันของ แต่ละบุคคล ถ้าได้ศึกษาเรื่องของกรรมจะทราบได้ว่าเป็นกรรมอะไร คือ เป็นอกุศลกรรมที่เป็นอุปปีฬกกรรม ไม่ถึงกับเป็นอุปฆาตกกรรม เพราะการที่จะเป็น อุปฆาตกกรรมได้นั้น ต้องเป็นกรรมที่มีกำลัง สามารถตัดรอนกรรมอื่นที่กำลังให้ผล เพื่อให้วิบากของตนเกิดขึ้น

เรื่องของกรรมมีมาก ซึ่งท่านผู้ฟังสามารถที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองทั้ง ในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา เช่น ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ พระสูตรที่ ๔ นิทานสูตร ข้อ ๔๗๓ จะมีเรื่องของกรรมทุกประเภท พร้อมทั้งตัวอย่างด้วย

มีท่านผู้ฟังถามว่า วันนี้จะจบเรื่องของกรรมไหม ซึ่งความจริงสำหรับการบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนา ก็สมควรแก่การพิจารณาของท่านผู้ฟังนานแล้ว จะถือว่าจบลงแล้วก็ได้ แต่ที่ยังคงมีการบรรยายธรรมเรื่องต่างๆ ต่อมาเรื่อยๆ ก็เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องที่บรรยาย ก็เป็นเพียงแต่ละเรื่องพอสังเขปที่จะให้ ท่านผู้ฟังพิจารณาในเหตุผล เพื่อที่จะได้ศึกษาค้นคว้าต่อไปด้วยตนเอง เพราะการศึกษาพระธรรมนั้น ไม่จบ ไม่ว่าจะศึกษาจากอรรถกถาหรือจากในพระไตรปิฎก เพราะแม้เพียงพระสูตรเดียว ก็มีเรื่องที่จะต้องคิด ต้องเข้าใจ ต้องโยงไปถึงเรื่องธรรมอื่นๆ ถ้าอ่านพระสูตรก็จะโยงไปถึงพระอภิธรรมด้วย หรือถ้าพูดถึงเรื่องกรรม ก็ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของกุศลจิตอกุศลจิตที่เป็นเหตุ ที่ทำให้เกิดวิบากจิตต่างๆ ซึ่งเป็นผล

การบรรยายแนวทางการเจริญวิปัสสนา คงจะจบลงในวันหนึ่งวันใดก็ได้ แต่ ที่ยังคงบรรยายไปเรื่อยๆ ก็เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ และถ้ามีความรู้มีความเข้าใจในธรรมอื่นๆ ประกอบ ก็ย่อมทำให้มีปัจจัยเป็นสังขารขันธ์ทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ทุกขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลัง ได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก

ขอกล่าวถึงเรื่องของกรรมโดยนัยของพระอภิธรรม ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณีอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต พรรณนาสีหสูตร อธิบายผลอันเกิดจากเหตุ อันเป็นฐานะที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบชัดด้วยพลญาณ

ข้อความมีว่า

กรรมเป็นเหตุแห่งวิบาก เพราะคติสมบัติหรือวิบัติ ๑ อุปธิสมบัติหรือวิบัติ ๑ กาลสมบัติหรือวิบัติ ๑ ปโยคสมบัติหรือวิบัติ ๑ ซึ่งมาแล้วในพระอภิธรรมปิฎก นั่นแหละ โดยนัยเป็นต้นว่า อัตเถกัจจานิ ปาปกานิ กัมมสมาทานานิ คติสัมปัตติ ปฏิพาฬหานิ นะ วิปจันติ ซึ่งแปลความว่า กัมมสมาทานฝ่ายบาปบางอย่าง อันคติสมบัติห้ามไว้ ย่อมไม่ให้ผลมีอยู่ ดังนี้

นี่เป็นเรื่องของกุศลกรรมและอกุศลกรรม ซึ่งยังไม่ได้โอกาสที่จะเกิดขึ้นกระทำกิจของกรรมนั้นๆ เพราะถึงแม้ว่าเหตุได้กระทำไปแล้วก็จริง แต่ว่าโดยกิจ คือ บางกรรมกระทำชนกกิจ ทำกิจให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ซึ่งการที่แต่ละบุคคลได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ หรือเป็นเทวดา หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ตามแต่ ย่อมแล้วแต่ปฏิสนธิจิต

เมื่อปฏิสนธิในโลกมนุษย์ ก็ชื่อว่ามนุษย์ และถ้าวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ ในสวรรค์ ยังคงเรียกมนุษย์หรือเปล่า ก็เปลี่ยนเป็นเทพ หรือเวลาที่สัตว์ดิรัจฉานเกิดขึ้น ที่ชื่อว่าสัตว์ดิรัจฉานก็เพราะปฏิสนธิจิตนั่นเอง ซึ่งเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในภูมินั้นๆ เพราะฉะนั้น กรรมที่เป็นเหตุแห่งวิบาก เพราะ คติสมบัติหรือวิบัติ ๑

เปิด  246
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565