แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1283

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๗


ถ. ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส เป็นทุกข์ที่แท้จริงไหม

สุ. เป็น ทุกข์ที่แท้จริงหมายความถึงสภาพที่เกิดดับ

ถ. รวมในปฏิจจสมุปบาทด้วยหรือ

สุ. สภาพธรรมที่เกิดดับเป็นทุกข์

ถ. จะขยายความให้ละเอียดกว่านั้นได้ไหม คำว่าทุกข์ที่แท้จริง

สุ. ทุกข์ที่แท้จริง คือ ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ นั่นแหละเป็นสัจจะ เป็นทุกขอริยสัจจะ ที่ใช้คำว่าทุกข์ที่แท้จริง คือ ทุกขอริยสัจจะ หรือทุกขสัจ เพราะเหตุว่าความสุขมีจริง แต่โดยสภาพที่เป็นอริยสัจจะ คือ เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง

ถ. อุปาทินนธาตุคืออะไร

สุ. ถ้าแสดงว่า ๔ ย่อมหมายความถึงรูปธาตุที่เป็นมหาภูตรูป ซึ่งเป็นที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นของเรา

ถ. มหาภูตรูป ๔ ที่ไม่เป็นของเรามีไหม

สุ. มหาภูตรูป ๔ ที่เป็นของเราก็มี ที่ไม่ใช่ของเราก็มี แต่รูปใดที่เกิดเพราะกรรม รูปนั้นเป็นที่ยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา

อุปาทานขันธ์ หมายความถึงขันธ์ที่เกิดเพราะอุปาทาน หรือเป็นที่อาศัยเกิดของอุปาทานด้วย

ถ. ผมเคยอ่านพบว่า มีกรรมหนึ่งใน ๑๒ ประการนั้น ที่ผู้ทำปราศจากเจตนา เรียกว่า กฏัตตากรรมหรือกฏัตตาวาปนกรรม ผมเคยนำเรื่องนี้เรียนถามผู้รู้ บางท่าน ท่านกล่าวว่า กรรมชนิดนี้ถึงแม้จะขาดเจตนา แต่ก็ให้ผล เพราะฉะนั้น พระพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงกล่าวว่า ภิกษุทั้งหลาย ที่เรากล่าวว่าเจตนานั้นเป็นกรรม ท่านยกเว้นเอากรรมตัวนี้ เพราะกรรมตัวนี้ย่อมให้ผล แม้ว่าจะขาดเจตนาก็ตาม และ ในการธัมมสากัจฉากัน ท่านก็อธิบายโดยยกตัวอย่าง เช่น เราโยนของแข็ง จะเป็นขวดเหล้าก็ตาม ขวดเบียร์ก็ตาม โยนออกไปนอกหน้าต่างโดยปราศจากเจตนา คนเดินผ่านมาก็ถูกสิ่งเหล่านั้นเข้าเป็นเหตุให้เขาบาดเจ็บหรืออาจจะถึงตาย สิ่งเหล่านั้นมีผล คือ ความเจ็บปวดหรือความตายเกิดขึ้น การตายนี้จะต้องสนองต่อผู้กระทำ แม้ว่าผู้นั้นจะขาดเจตนาก็ตาม ผมขอคำอธิบายโดยละเอียดจากอาจารย์

สุ. ไม่มีจิตสักขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นได้โดยปราศจากเจตนาเจตสิก เจตนาเป็นเจตสิกดวงหนึ่งซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิต ทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขณะใด ขณะนั้นต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิตขณะใด ขณะนั้นต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิบากจิตซึ่งไม่ใช่กุศลจิตและอกุศลจิต ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันต์ คือ กิริยาจิต ซึ่งไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ก็ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เจตนาจึงมีทั้งที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ที่เป็นวิบาก ที่เป็นกิริยา

ที่กล่าวว่าเป็นกรรมที่ปราศจากเจตนา น่าจะหมายความถึงกรรมซึ่งปราศจากปุพพเจตนา คือ เจตนาก่อนที่จะทำกรรมนั้น เป็นความตั้งใจที่จะทำกุศลหรืออกุศล ซึ่งโดยปกติในการที่จะกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมย่อมมีปุพพเจตนา ความตั้งใจที่จะทำก่อนที่การกระทำนั้นจะสำเร็จลง นั่นคือปุพพเจตนา

เช่น คิดที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ใคร เป็นกุศล แม้ยังไม่ได้ให้ แต่ปุพพเจตนา มีแล้ว และมีการตระเตรียม เช่น การถวายภัตตาหาร ก็ต้องมีการซื้อหา มีการจัดเตรียมปรุงเพื่อที่จะถวาย เหล่านี้เป็นปุพพเจตนา แต่ถ้ายังไม่ได้ถวาย แม้ว่า อาหารเสร็จแล้ว จัดว่าเป็นทานการให้หรือยัง ยัง กุศลยังไม่สำเร็จ

ต่อเมื่อใดได้มีการให้ คือ การถวายแล้ว ขณะนั้นก็เป็นมุญจนเจตนา คือ เจตนาในขณะที่กำลังทำกุศล และหลังจากนั้นถ้าเป็นกุศลที่มีกำลัง ยังไม่ลืม ก็มี อปรเจตนา คือ กุศลจิตที่ระลึกถึงกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วบ่อยๆ ซึ่งแล้วแต่กำลังของกรรมนั้น ถ้าเป็นกรรมที่มีกำลังมากก็ระลึกถึงบ่อยๆ แต่ถ้าเป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เกิดความปีติโสมนัสมากเท่าไร ทำแล้วก็ลืมไป เช่น ถ้าจะถามท่านผู้ฟังว่า ทำกุศลกรรมอะไรบ้าง อาจจะนึกไม่ออก แต่บางกุศลกรรมก็อาจจะนึกออก

เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าเป็นกรรมที่ไม่มีเจตนา ถ้าเป็นกุศลหรืออกุศลจิต ในขณะนั้นหมายความถึงกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปุพพเจตนา คือ ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะกระทำกรรมนั้นก่อนที่จะกระทำกรรมนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ในขณะที่เป็น กุศลจิตหรืออกุศลจิตนั้นไม่มีเจตนา เพราะต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตทุกครั้ง

ก่อนที่จะมาฟังธรรม มีเจตนาที่จะมาหรือเปล่า มี เป็นปุพพเจตนา เมื่อมาแล้วกำลังฟัง ก็เป็นมุญจนเจตนา เป็นกุศลจิต แสดงให้เห็นว่า กรรมแต่ละกรรม บางกรรมมีปุพพเจตนา มีมุญจนเจตนา มีอปรเจตนา และบางกรรมมีมุญจนเจตนา แต่ไม่มีปุพพเจตนา ไม่มีอปรเจตนา แต่จะกล่าวว่า ไม่มีเจตนา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เจตนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตสักดวงเดียวซึ่งปราศจาก เจตนาเจตสิก แล้วแต่ว่าเจตนานั้นจะเป็นกุศลเจตนา หรืออกุศลเจตนา หรือ วิบากเจตนา หรือกิริยาเจตนา

ถ. กฏัตตากรรม กรรมที่ขาดเจตนา ท่านอาจารย์กล่าวว่า ขาด ปุพพเจตนา ใช่ไหม

สุ. ขาดเจตนาไม่ได้ แต่ขาดปุพพเจตนาได้

ถ. ในกรณีที่ผมถาม คือ โยนของแข็งลงไปโดยปราศจากความรู้ว่า มีคนข้างล่าง และเขาไม่ได้ติดตามผล มุญจนเจตนาก็ย่อมไม่เกิดกับตัวเขา แต่ปรากฏว่าผลเกิดแล้ว คือ คนนั้นหัวแตก อปรเจตนาเขาก็ไม่มีเพราะเขาไม่ทราบว่า เขาทำความผิด แต่กรรมที่ทำนั้นจะทำให้เกิดวิบากกับเขาในชาติหน้าหรือเปล่า

สุ. ไม่มีวิบาก แต่อย่าโยนบ่อยๆ เพราะคิดว่าไม่มี ต้องระมัดระวัง ที่ว่า ไม่มี หมายความว่าไม่มีเจตนาที่จะเบียดเบียนประทุษร้ายใครในขณะนั้นแน่นอน เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาถึงเจตนาในขณะนั้นว่า จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะที่กำลังโยนของทิ้งไปเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

ถ. เป็นอัพยากฤต

สุ. ไม่ได้ เมื่อไม่ใช่พระอรหันต์จะเป็นกิริยาจิตไม่ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ พระอรหันต์หลังจากวิบากจิต คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ก็เป็นกุศลหรืออกุศลต่อจากโวฏฐัพพนะซึ่งเป็นกิริยาจิต สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวง

เป็นเรื่องละเอียด แต่ให้ทราบว่า สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จะกล่าวว่า เป็นกิริยาจิตในขณะที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ ต้องเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต

ถ. สรุปแล้วปุพพเจตนาย่อมจะเกิดเสมอ จะไม่เกิดไม่ได้ ยกเว้น พระอรหันต์ ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่ ทุกท่านย่อมมีกุศลจิตและอกุศลจิตสลับกัน ถ้าไม่กล่าวถึง วิบากจิตและกิริยาจิต ซึ่งสำหรับปุถุชนมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น แต่สำหรับ พระอรหันต์มีกิริยาจิตแทนกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต

ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะคิด จะรับประทานอาหาร มีชีวิตอยู่เป็นปกติประจำวัน ย่อมไม่พ้นจากกุศลจิตและอกุศลจิต ในขณะที่พระอรหันต์ท่านก็นั่ง นอน ยืน เดิน พูด คิด บริโภคอาหารเป็นประจำ ทำกิจบริหารร่างกายเป็นประจำ แต่ด้วยกิริยาจิต เพราะฉะนั้น ปุถุชนจะไปเป็นกิริยาจิตอย่าง พระอรหันต์ในขณะที่นั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด ไม่ได้

ในขณะที่กำลังโยนของเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องเข้าใจเรื่องของกรรมเพิ่มขึ้นจากสภาพของจิต ซึ่งจะต้องเข้าใจก่อนว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต

ถ้าไม่ได้โยนของในขณะนี้ กำลังยืนอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต กำลังพูดอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต กำลังคิดอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต

ถ. ขณะที่กำลังฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ ผมยังไม่กระจ่าง ยังมีความสงสัย เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต

สุ. ขณะสงสัยเป็นกุศลไม่ได้ แต่ขณะที่เข้าใจเป็นกุศล ขณะที่สงสัยไม่ใช่กุศล นี่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ขณะที่ไม่ฟัง เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต

ถ. เป็นอัพยากฤต

สุ. เป็นอัพยากฤตไม่ได้ อัพยากฤต หมายความถึงวิบากหรือกิริยา หลังเห็นแล้วจะพ้นจากอกุศลหรือกุศลไม่ได้สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน หลังได้ยินแล้วจะพ้นจากอกุศลหรือกุศลไม่ได้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. มิได้ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวง หรือ ๒ ประเภท

ถ. กิริยาจิตคืออะไร

สุ. กิริยาจิต คือ จิตซึ่งไม่ใช่เหตุที่จะให้เกิดผล คือ ไม่ใช่กุศลและอกุศล กิริยาจิต คือ จิตที่ไม่ใช่วิบาก คือ ไม่ได้เป็นผลของกุศลและอกุศล

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็มีกุศลจิตและอกุศลจิตเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากและอกุศลวิบาก แต่สำหรับพระอรหันต์ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ไม่มีทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการเกิดอีกหลังจากปรินิพพานแล้ว และเมื่อเป็นพระอรหันต์ก็มีเพียงวิบากจิตกับกิริยาจิตแทนกุศลและอกุศล กิริยาจิตของพระอรหันต์แทนกุศลและอกุศลของปุถุชนหรือผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

ถ. ขณะที่ผมเดินมา อาจจะเป็นอกุศลจิต โดยที่ไม่ครบองค์ ผลก็ย่อมไม่มี ใช่ไหม ขณะที่ถือไมค์อยู่ อาจจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้

สุ. อาจจะ และทำอย่างไรจึงจะรู้ได้แน่ว่า เป็นหรือไม่เป็น

ถ. สติต้องเกิด

สุ. ถ้าอาจจะ บางคนก็คิดว่าตนเองมีกุศลมาก ในขณะที่ไม่ทำอกุศลก็ คิดว่าเป็นกุศลโดยตลอด แต่ต้องเป็นสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้จริงๆ ลองคิดอีกทีว่า เป็นกุศลหรืออกุศล

ถ. เป็นอกุศล

สุ. ใช่ เพราะในขณะนั้นเป็นไปในทานหรือเปล่า เป็นไปในศีลหรือเปล่า เป็นไปในภาวนาคือความสงบของจิต หรือว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น อกุศลนี่ ชินและชำนาญมาก ชำนาญจนนั่งด้วยอกุศล นอนด้วยอกุศล ยืนด้วยอกุศล เดินด้วยอกุศล คิดด้วยอกุศล พูดด้วยอกุศล เพียงแต่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด จะถึงขั้นเป็นกรรมบถ หรือไม่เป็นกรรมบถ

ถ. อกุศลหรือกุศลเหล่านั้น ชื่อว่ามีวิบาก ใช่ไหม

สุ. เฉพาะกรรมเท่านั้น เจตนาเป็นกรรมที่ทำให้จิตและเจตสิกที่เป็นวิบากเกิด กัมมปัจจัยเป็นปัจจัยให้วิปากธรรมเกิดขึ้น แต่ต้องเป็นกรรม เป็นเจตนาซึ่งเป็นกุศลและอกุศล ถ้าเป็นอกุศลจิต แต่ยังไม่เป็นกรรมบถหนึ่งกรรมบถใดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไม่ใช่ธรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก

เห็นดอกไม้สวยๆ ชอบ จะทำให้เกิดวิบากอะไร ถ้าชอบรสหวาน เอาน้ำตาลใส่ในอาหารและรับประทาน จะทำให้เกิดวิบากอะไร อกุศลจิตธรรมดาไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก แต่อกุศลกรรม คือ เจตนาที่เป็นอกุศลในอกุศลกรรมบถ ๑๐ จะทำให้วิบากธรรมเกิดขึ้น

ถ้าเพียงแต่พอใจเฉยๆ ไม่ได้ทำกรรมหนึ่งกรรมใดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไม่ทำให้เกิดวิบาก แต่สะสมเป็นอุปนิสสยปัจจัยทำให้มีอัธยาศัยต่างๆ กัน บางคนชอบดนตรี เล่นดนตรี เป็นอกุศลกรรมอะไรหรือเปล่า จะทำให้เกิดอกุศลวิบากอะไรหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ แต่สะสมอุปนิสัยรักดนตรี ชอบดนตรี หรือฟังดนตรี ถ้าเป็นนักดนตรีที่สะสมมามาก ก็เป็นผู้ที่เล่นดนตรีอย่างชำนาญแม้ในวัยเด็กได้ โดยการสะสมที่เป็น อุปนิสสยปัจจัย

ถ. อาจารย์กล่าวว่า เคยชินกับอกุศลจนไม่รู้ว่าอยู่รอบๆ ตัวเรา แต่ การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นความคุ้นเคย เพราะฉะนั้น ให้ทำความคุ้นเคยกับอาการเห็น อาการได้ยิน ทั้ง ๖ ทวาร แต่จะทำความคุ้นเคย จะหาวิธีอย่างไร อยากจะคุ้นเคยเหลือเกิน ก็ยังไม่ค่อยจะคุ้นเคย

สุ. สติเกิด ระลึกลักษณะของนามธรรมเนืองๆ บ่อยๆ เวลานี้มีนามธรรมแล้ว อย่าลืม ขณะนี้มีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ ทันทีที่พูดถึงลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ กำลังมีแล้วในขณะนี้ ทางตาที่กำลังเห็น จะคุ้นเคย ก็โดยสติระลึกได้ในสภาพที่เป็นเพียงอาการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

เพียงเท่านี้ ฟังไปเรื่อยๆ ระลึกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ ชินกับสภาพธรรม ที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ

เปิด  220
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565