แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1292

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


สุ. เรื่องของภพภูมิต่างๆ ตราบใดที่ยังมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ก็ย่อมแล้วแต่ว่ากรรมใดจะเป็นชนกกรรม ถ้าเกิดในสวรรค์ เมื่อจุติจิตทำกิจเคลื่อนจากการเป็นเทพบุตรในสวรรค์แล้ว เกิดในอบายภูมิได้ไหม ได้

แสดงให้เห็นว่า สำหรับกามภูมิทั้ง ๑๑ ภูมิ เกิดเป็นมนุษย์ เมื่อจุติแล้วอาจจะเกิดในกามสุคติภูมิ ภูมิหนึ่งภูมิใด ซึ่งอาจจะเป็นมนุษย์อีก หรือว่าในสวรรค์ชั้นหนึ่ง ชั้นใดใน ๖ ชั้นก็ได้ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ ภูมิหนึ่งภูมิใด คือ เกิดในนรก หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย

ไม่เหมือนอย่างรูปพรหมบุคคล ถ้าผู้ใดอบรมเจริญฌานสมาบัติ มี วสีแคล่วคล่องชำนาญจนกระทั่งฌานจิตเกิดก่อนจุติ ทำให้ปฏิสนธิเป็นพรหมบุคคล ในรูปพรหมภูมิ เมื่อจุติจากรูปพรหมภูมิบุคคลแล้ว จะไม่เกิดในอบายภูมิทันที แต่จะเกิดในกามสุคติภูมิ แล้วแต่ว่าจะเป็นทวิเหตุหรือติเหตุ หมายความว่า ปฏิสนธิจิตประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก หรือประกอบด้วย ๓ เหตุ คือ ทั้งอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหะคือปัญญาเจตสิกด้วย

มีความสำคัญไหมที่ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกเท่านั้น หรือประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหะคือปัญญาเจตสิก

สำคัญ เพราะสำหรับในชาติที่ประกอบด้วยอโลภะและอโทสะ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก พื้นฐานของจิตย่อมไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นรูปพรหมบุคคลแล้วจุติจากรูปพรหมเกิดใน กามสุคติภูมิ เพราะจะไม่เกิดในอบายภูมิทันที แต่เมื่อเกิดในกามสุคติภูมิอาจจะเป็นทวิเหตุกบุคคล ประกอบด้วยอโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกเท่านั้น ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมก็ได้ หรืออาจจะเป็นติเหตุกบุคคล คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิกด้วย

แต่ถ้าเป็นผู้ที่เกิดในอรูปพรหมภูมิ ปัญญามั่นคงกว่าจะได้ถึงขั้นอรูปฌาน เป็นอเนญชาภิสังขาร ไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น เมื่อจุติจากอรูปพรหมภูมิแล้วจะเกิดในกามสุคติภูมิ และเป็นติเหตุกบุคคล คือ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และปัญญา

ท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ ท่านมาจากภพภูมิไหนก็ไม่ทราบ อาจจะมาจากภพภูมิอื่น และถ้าปฏิสนธิของท่านเป็นติเหตุกะ คือ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ อาจจะมาจากอรูปพรหมภูมิก็ได้ เคยไปมาแล้ว แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมดีกว่าที่จะเป็นอรูปพรหมบุคคลโดยที่จะไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะถ้าไม่ได้เป็น พระโสดาบันบุคคลในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และเกิดในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เนื่องจากการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ต้องในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และเป็นกามสุคติภูมิ เพราะฉะนั้น การเกิดเป็นมนุษย์ เป็น กามสุคติ มีโอกาสฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น หรือว่าเกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดใน ๖ ชั้น ก็มีศาลาสุธรรมาทุกชั้นที่จะได้ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น ถ้าไม่เพลิดเพลินในสมบัติ เพราะสมบัติที่แท้จริง คือ กรรม ไม่ใช่วัตถุสมบัติอื่นๆ

สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องของนรกสวรรค์ ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ธรรมปริยายสูตร ข้อ ๑๙๓ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯ

ให้นึกถึงคราวที่จะได้รับผลของกรรม เพื่อจะระลึกได้ว่า กรรมใดเป็นอกุศลก็จงรีบละเว้นเสีย เพราะอกุศลในอดีตก็ได้กระทำมามากมายแล้ว ถ้ายังกระทำต่อไป ย่อมเป็นปัจจัยทำให้ได้รับผลของกรรมนั้น

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ที่มีชีวิตทั้งปวง บุคคลนั้นย่อมกระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาคด วจีกรรมของเขาก็คด มโนกรรมของเขาก็คด คติของเขาก็คด อุบัติของเขาก็คด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดดิรัจฉานอันมีปกติกระเสือกกระสนของบุคคลผู้มีคติคด ผู้มีอุบัติคด ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็กำเนิดดิรัจฉานอันมีปกติกระเสือกกระสนนั้นเป็นไฉน คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่เห็นมนุษย์แล้วย่อมกระเสือกกระสน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้ว ด้วยประการดังนี้แล คือ เขาย่อมอุบัติด้วยกรรมที่เขาทำ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรม ด้วยประการฉะนี้ ฯ

เวลาที่จะทำอกุศล กระเสือกกระสนไหม ยังไม่เป็นอกุศลกรรม เพียงอกุศลจิตก็กระเสือกกระสนกันวุ่นวายไปหมด ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ในการทำทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นปกติในชีวิตประจำวันซึ่งจำเป็น แต่สำหรับอกุศลกรรม ไม่น่าจะจำเป็นที่จะกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ แต่ถ้าทำแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เรากล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดดิรัจฉานอันมีปกติกระเสือกกระสน

ถ. ไม่เข้าใจข้อความที่ว่า ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว

สุ. ผู้อุบัติแล้ว คือ เกิดมาแล้ว มีใครบ้างที่จะไม่ได้รับผลของกรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่คือการรับผลของกรรม เพราะผัสสะต้องกระทบ ไม่มีสัตว์บุคคลเลย ผัสสะเป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ ซึ่งจิตที่เกิดพร้อมผัสสะนั้นก็รู้แจ้งในอารมณ์ที่ผัสสะกระทบ และเวทนาก็รู้สึกในอารมณ์ที่ผัสสะกระทบที่จิตกำลัง รู้แจ้ง นี่คือการรับผลของกรรม

ถ. ผัสสะอันเป็นวิบาก หมายถึงผัสสะในจักขุวิญญาณ เป็นต้น ใช่ไหม

สุ. วิบากจิตทั้งหลายที่จะรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

เกิดเป็นสัตว์กระเสือกกระสนไหม หนีมนุษย์ ตามข้อความที่ว่า ก็กำเนิดดิรัจฉานอันมีปกติกระเสือกกระสนนั้นเป็นไฉน คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่เห็นมนุษย์แล้วย่อมกระเสือกกระสน

หนีภัย เพราะกลัวภัยที่จะเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้สัตว์ดิรัจฉานก็เหมือนกัน

ถ. ความตระหนี่ ๕ ประการ มีตระหนี่ในอาวาส ตระหนี่ในตระกูล ตระหนี่ในลาภ ตระหนี่ในวรรณะ และตระหนี่ในธรรม ๔ ประการข้างต้นผมเข้าใจ แต่ ตระหนี่ในธรรมหมายความว่าอย่างไร

สุ. การเป็นผู้รู้ในธรรม บางคนต้องการศึกษาธรรมเพื่อที่จะเก่งกว่า แทนที่จะศึกษาเพื่อขัดเกลา เพื่อจะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อละคลายอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่รู้จุดประสงค์จริงๆ ของการศึกษาธรรมของตนเอง ไม่ได้พิจารณา บุคคลนั้นอาจจะเป็นผู้ที่ศึกษาธรรมเพื่อต้องการเก่งกว่า หรือต้องการเก่งที่สุด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น บุคคลนั้นจะตระหนี่ธรรม หมายความว่า ไม่ยอมให้คนอื่นเข้าใจธรรมส่วนละเอียด เพราะถ้าบุคคลอื่นเข้าใจแล้วอาจจะเก่งกว่าก็ได้ นั่นคือ ตระหนี่ธรรม แต่ข้อความในอรรถกถาอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าบุคคลที่ต้องการธรรมเป็น ผู้ที่มีอกุศลจิต ไม่ได้ศึกษาธรรมเพื่อประโยชน์จริงๆ ผู้ที่อธิบายธรรมหรือให้ความรู้เรื่องธรรมนั้นเห็นว่าเป็นการไม่สมควรที่จะให้บุคคลนั้นมีอกุศลจิตอย่างนั้น ก็จะไม่ชี้แจงข้อความในธรรมให้ก็ได้ เพราะไม่เป็นประโยชน์ และอาจเป็นการเพิ่มอกุศลจิตให้บุคคลนั้นยิ่งขึ้น

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต กรรมสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๙๔ มีข้อความที่แสดง ให้เห็นว่า ผลของกรรมมี นรกสวรรค์มี

ข้อความมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าว แต่เพราะทรงรู้ว่า ความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น มี ซึ่งทุกท่านอาจจะคิดว่า ชีวิตของแต่ละท่านวันหนึ่งๆ ไม่ได้ทำกรรมอะไร ทำไมสังสารวัฏฏ์จึงมียืดยาวต่อไปไม่สิ้นสุด วันนี้ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำกรรมอะไร และจะมีเหตุปัจจัยอะไรที่จะทำให้ต้องเกิดอีก ตายอีกไม่สิ้นสุด แต่กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสม แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตประจำวัน ถ้าคิดว่าไม่ได้กระทำกรรม ความจริงกระทำแล้ว บางอย่างเป็นกายกรรม บางอย่างเป็นวจีกรรม บางอย่างเป็นมโนกรรม ที่ตั้งใจกระทำ ไม่สูญหาย กรรมทุกกรรมที่ได้กระทำแล้ว เกิดดับสะสมสืบต่ออยู่ในจิต เป็นเหตุที่จะให้วิบากเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

ถ้าวิบากยังไม่เกิด กรรมจะสิ้นสุดได้ไหม เหตุมีแล้ว ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง สั่งสมไปอยู่เรื่อยๆ และถ้าผลคือวิบากของกรรมนั้นยังไม่เกิด จะถือว่ากรรมคือ ความตั้งใจกระทำกายกรรมบ้าง วจีกรรมบ้างเหล่านั้นที่สั่งสมอยู่ในจิตจะหมดสิ้นไป ได้ไหม ในเมื่อผลยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้

เมื่อเหตุ คือ กรรมได้กระทำและสั่งสมแล้ว มี ทุกคนต้องรับวิบาก คือ ผลของกรรมนั้นๆ โดยไม่รู้ตัวเลย ถ้าสติไม่เกิดขึ้นไม่ระลึก ไม่พิจารณาว่า ได้กระทำอกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง หรือว่าได้กระทำกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง

นี่เป็นเหตุที่ทุกท่านจะต้องพิจารณากาย วาจา ใจของตนเองอย่างละเอียด จริงๆ เพราะเป็นความตั้งใจที่กระทำกรรม ที่สั่งสมเพื่อที่ให้วิบากเกิดขึ้น เป็นเหตุให้สังสารวัฏฏ์ไม่หมดสิ้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็วิบากนั้นแล อันสัตว์ผู้ทำพึงได้เสวยในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียะ) ในอัตภาพถัดไป (อุปปัชชเวทนียะ) หรือในอัตภาพต่อๆ ไป (อปรปริยายเวทนียะ)

บางท่านอาจจะกระทำอกุศลกรรม และคิดว่าไม่ได้รับผลของอกุศลกรรม สบายดี พ้นเคราะห์ พ้นกรรม แต่ความจริงไม่พ้น เพราะว่า ก็วิบากนั้นแล อันสัตว์ผู้ทำพึงได้เสวย คือ ได้รับวิบาก ในปัจจุบัน หรือ ในอัตภาพถัดไป คือ ในชาติหน้า หรือในอัตภาพต่อๆ ไป เหมือนอย่างชาตินี้ จะได้รับผลของอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมก็ตามแต่ เป็นผลของกรรมที่ได้สั่งสมมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ อาจจะเป็นกรรมในชาตินี้ หรือกรรมในชาติก่อน หรือกรรมในชาติก่อนๆ โน้นก็ได้

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ในข้อนั้น ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล

แสดงให้เห็นว่า อกุศลกรรมทั้งหลายย่อมมีความตั้งใจเป็นอกุศล สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพลาดพลั้งทางกายอาจจะมีได้ ไม่ใช่อกุศลกรรม ถ้าไม่มีความตั้งใจ แต่ถ้ามีความตั้งใจกระทำ

ข้อความต่อไปมีว่า

ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ฯ

นี่เป็นผลของอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ คือ มีทุกข์เป็นกำไร ไม่น้อยเลย เป็นกำไร แสดงว่ามากกว่าต้นทุน

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นแห่งโทษการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ผู้หยาบช้า มีมือ ชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิตทั้งปวง ๑ เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ ถือเอาวัตถุอันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑ เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษา พี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา ผู้มีสามี ผู้มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรีผู้ที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565