แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1293

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


ต่อไปวจีกรรม ๔

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พูดเท็จ คือ เขาอยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางแห่งราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้กล่าวว่ารู้ หรือเมื่อรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น หรือเมื่อเห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ ๑

เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกัน ให้แตกกัน หรือส่งเสริมคนทั้งหลายผู้แตกกันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกัน เพลิดเพลินในความแยกกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้แยกกัน ๑

นี่คือเรื่องของวาจา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความวิจิตรมากในเรื่องของวาจาที่ ไม่จริง เป็นคำพูดเท็จก็อย่างหนึ่ง คือ เรื่องไม่จริงเลยก็กล่าวได้ นั่นเป็นเพราะ อกุศลจิตซึ่งไม่เห็นโทษของวจีกรรม และทางวาจาไม่ได้มีแต่การพูดเท็จ ยังมีการ พูดส่อเสียดเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือเพื่อทำลายคนหมู่โน้น หรือส่งเสริมคนทั้งหลาย ผู้แตกกันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกัน เพลิดเพลินในความแยกกัน

ไม่น่าจะสนุกเลยที่เห็นคนแตกความสามัคคีกัน แต่ผู้ที่มีอกุศลจิตก็มีความพอใจที่จะเห็นความแตกแยก จนกระทั่งยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน และเพลิดเพลินในความแยกกัน

แสดงให้เห็นถึงการสะสมของอกุศล ซึ่งสามารถกระทำอกุศลกรรมได้ทั้ง ทางกาย และทางวาจา นอกจากนั้นสำหรับวจีกรรมที่ควรจะพิจารณา คือ

เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าววาจาที่หยาบคาย กล้าแข็ง เดือดร้อนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ (หรือความสงบของจิต) ๑

นี่คือวจีกรรมที่ ๓ ไม่เป็นวาจาที่ดีเลยสักอย่างเดียว คำเท็จ คำส่อเสียด หรือคำหยาบ คือ วาจาที่หยาบคาย กล้าแข็ง เดือดร้อนผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ หรือความสงบของจิต

ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่สามารถสังเกตวาจาในขณะนั้นได้ว่า หยาบคาย หรือว่ากล้าแข็ง หรือว่าเดือดร้อนต่อผู้อื่น เสียดสีผู้อื่น หรือใกล้ต่อความโกรธ เมื่อได้ยิน ได้ฟังแล้วทำให้คนอื่นไม่สบายใจ

วจีกรรมประการที่ ๔ คือ

เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย กล่าววาจาที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันไม่ควร ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ

ถ. ถ้าเราได้ยินคำที่เขาว่าคนอื่น และอีกคนมาถามว่า เราได้ยินอย่างนี้ๆ หรือไม่ เราควรจะตอบตามความจริงว่า ได้ยินมาอย่างนี้ หรือว่าจะไม่ตอบ

สุ. เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งทุกท่านจะต้องพิจารณาถึงจิตของท่านเอง ประการสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะพูดเรื่องจริง ก็ต้องพิจารณาว่า ในขณะที่พูด จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล กำลังมีโทสะหรือไม่ประกอบด้วยโทสะ ไตร่ตรองรอบคอบแล้วว่าเป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษในการที่จะกล่าว แม้เป็นเรื่องจริง

ถึงแม้เป็นเรื่องจริง แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ควรจะกล่าว

ถ้าเป็นเรื่องจริง และเห็นว่าควรจะกล่าวเพื่อประโยชน์ ก็ควรที่จะกล่าว เพราะอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้น สำหรับทางวาจา จะไม่ทำให้บุคคลเดียวเป็นอกุศล แต่จะทำให้อีกหลายบุคคลเป็นอกุศล

ถ้าได้ยินเรื่องที่ไม่จริง ใครจะทราบว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะคนที่บอกหรือ คนที่เล่าก็จะต้องบอกว่านี่เป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าสิ่งที่ได้รับฟังนั้นจริงหรือเท็จ และถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้มีความรู้สึกขุ่นเคืองต่อบุคคลอื่นโดยที่เป็นเรื่องไม่จริง ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้วทั้งที่ไม่ควรจะเกิด และอกุศลนั้นจะไม่หยุดอยู่เพียง แค่นั้น อาจจะต่อไปอีกหลายวันหลายเดือนก็ได้ เพราะฉะนั้น มีทางใดที่จะป้องกันไม่ให้อกุศลนั้นเกิดเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้น เมื่อพิจารณาโดยเหตุผล เห็นสมควรที่จะพูดก็ควรพูด เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นเข้าใจเรื่องจริงๆ ที่ถูกต้อง เพื่ออกุศลจิตของเขา จะได้ไม่เกิด และอกุศลจิตของคนอื่นๆ อีกหลายคนจะได้ไม่พลอยเกิดตามไปด้วย เพราะอกุศลของคนหนึ่งจะต่อไปถึงอกุศลของคนอื่นๆ อีกหลายคนทางวาจาด้วย

เพราะฉะนั้น เรื่องของวาจาทั้งหมด ต้องคิดถึงประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะเป็น เรื่องจริงก็ต้องคิดด้วยว่า เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ คือ เพื่อให้กุศลจิตเกิด ให้มีความเข้าใจถูก ให้พ้นจากอกุศลซึ่งจะติดตามมาอีกมากมาย ก็ควรพูด แต่ไม่ใช่จงใจ เจตนาที่จะพูดเพื่อที่จะให้เกิดอกุศล

ถ. เมื่อตอนเด็กเคยได้ยินนิทานเล่าว่า มีพ่อคนหนึ่งมีที่นา และไม่ได้ไปถากถางอะไร ตอนจะตายบอกลูกว่า ในที่นานั้นได้ฝังทองไว้ พวกลูกๆ ก็พากันไปขุดหาทอง ดินที่ถูกขุดจนทั่วเมื่อปลูกพืชก็ได้ผลดี อย่างนี้เป็นการหลอกลวงหรือไม่ และผลจะเป็นอย่างไร

สุ. ลูกอาจจะเข้าใจว่ามีทองจริงๆ แต่พ่อหมายถึงทองในพื้นดินซึ่งเมื่อ ปลูกพืชลงไปแล้ว ก็เป็นเงินเป็นทองขึ้นมา

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า มีความตั้งใจเป็นอกุศล อย่าลืมข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายหรือทางวาจาก็ตาม ที่จะเป็นอกุศลกรรม มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ก็เพราะมีความตั้งใจเป็นอกุศล ขึ้นอยู่กับเจตนาหรือความตั้งใจ

เวลาที่ได้เงินได้ทองแล้วก็คงจะดีใจ ลูกหลานที่ไปขุดและปลูกพืช ทำผลประโยชน์ขึ้นมา ก็ไม่ได้เสียใจอะไรถ้าเขาจะเข้าใจความหมาย ว่าทองหมายความถึงอะไร อยู่ในดินหมายความถึงอะไร เมื่อขยันหมั่นเพียรปลูกพืชผล ก็ย่อมเป็นเงินเป็นทอง แต่ถ้าไม่ไปขุด ไม่ทำ ก็ไม่ได้ อย่าลืม ต้องมีความตั้งใจเป็นอกุศล จึงจะเป็นอกุศลกรรม

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้อยากได้ของของผู้อื่น คือ อยากได้วัตถุอันเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นว่า ไฉนหนอวัตถุอันเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ ๑

เป็นผู้มีจิตคิดปองร้าย คือ มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า ขอสัตว์เหล่านี้ จงถูกฆ่า จงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ หรืออย่าได้เป็นแล้ว ดังนี้ ๑

เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นอันวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และปรโลกให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่มีในโลก ดังนี้ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความวิบัติอันเป็นโทษแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นอกุศล ย่อมมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก อย่างนี้แล ฯ

นี่เป็นมโนกรรม ๓ คือ อภิชฌา เพ่งเล็งอยากได้ของบุคคลอื่น ๑ พยาปาทะ มีจิตคิดปองร้ายบุคคลอื่น ๑ และมีความเห็นผิด มีความตั้งใจที่เป็นอกุศล ๑ รวมเป็นมโนกรรม ๓

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ขอเริ่มตั้งแต่เรื่องของอภิชฌา มีท่านผู้หนึ่งถามว่า เขาเห็นของๆ คนอื่นสวย คือ ไปบ้านเพื่อน เห็นของๆ คนอื่นสวย และอยากจะได้บ้าง อย่างนี้จะเป็นอภิชฌาหรือเปล่า

นี่เป็นแต่เพียงโลภมูลจิตธรรมดา เห็นสวย อยากได้ แต่ไม่มีความตั้งใจเป็นอกุศล อาจจะถามว่าซื้อที่ไหน และไปซื้อหามาบ้าง ขณะนั้นไม่เป็นอกุศลกรรมบถ เพียงแต่มีความต้องการ หรือความอยากได้สิ่งที่คนอื่นมี แต่ไม่ได้หมายความว่า คิดที่จะเอาของของคนนั้นมาเป็นของตนในทางทุจริต ถ้าอยากได้และถามเพื่อที่จะซื้อ ไม่เป็นทุจริต เป็นปกติธรรมดาของโลภมูลจิต เมื่อไม่มีความตั้งใจที่จะทำอกุศลกรรม ย่อมไม่เป็นอกุศลกรรมบถ

ถ. การเซ่นสรวงที่ไม่มีผล อาจารย์ช่วยอธิบายให้เห็นชัดในเรื่องนี้

สุ. อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทศของทิฏฐุปาทาน ซึ่งมีข้อความเรื่องของมโนกรรม ๓ ในข้อทิฏฐิ ว่า

เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นอันวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล

แสดงว่าการให้หรือทาน มี เมื่อโลกนี้มี การให้ซึ่งกันและกันย่อมมี การให้ที่เป็นทานย่อมมี แต่สำหรับผู้ที่เห็นผิด ไม่ใช่เห็นว่าทานไม่มี แต่เห็นว่าทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล คือ ทานการให้มี แต่ผลของทานไม่มี บางคนถึงกับพูดว่า ยิ่งให้ก็ยิ่งหมด ยิ่งให้ก็ยิ่งยากจน แสดงให้เห็นว่า คิดว่าทานที่ให้ไปแล้วนั้นไม่มีผล นี่เป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง

การเซ่นสรวงไม่มีผล

การเซ่นสรวง หมายถึงมงคลกิริยา ได้แก่ การคำนับ การต้อนรับ การแสดงมารยาทที่สมควร ซึ่งบางคนคิดว่าไม่มีผล แสดงว่าการคำนับ การต้อนรับ มี แต่ผลของการคำนับหรือการต้อนรับซึ่งเป็นมงคลกิริยานั้นไม่มี แต่ความจริงทุกอย่างที่ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ถ้าพิจารณาจะเห็นได้ว่า ที่เป็นอกุศลนั้นอย่างหนึ่ง และที่เป็นกุศลนั้นอย่างหนึ่ง ต่างกันจริงๆ

ถ้าเห็นใครต้อนรับใครด้วยใจจริง เป็นกุศลจิตหรือเปล่าของบุคคลซึ่งต้อนรับ แสดงกิริยาที่เป็นมงคลในการต้อนรับ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าเป็นด้วยใจจริง ขณะนั้นต้องเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ตรงกันข้าม ไม่มีมงคลกิริยา ไม่แสดงอาการต้อนรับใดๆ ซึ่งก็ส่องไปถึงสภาพของจิตในขณะนั้นว่า จิตในขณะนั้นหยาบกระด้าง หรือว่าเป็นอกุศล ขาดความเมตตา

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นผิด เห็นว่ามงคลกิริยา คือ การคำนับ การต้อนรับของบุคคลทั้งหลายในโลกซึ่งมีต่อกัน รู้ว่ามงคลกิริยาเหล่านั้นมี แต่ผลของมงคลกิริยาเหล่านั้นไม่มี ซึ่งความจริงแล้วเรื่องของกุศลจิตและอกุศลจิต ย่อมเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล โดยเฉพาะขึ้นอยู่ที่ความตั้งใจที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศล ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นอกุศล ก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นกุศล ก็โดย นัยเดียวกัน ทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรม ย่อมทำให้เกิดผล

ถ. บางครั้งชวนใครทำบุญ เขาก็ถามว่า บุญอยู่ที่ไหน บาปอยู่ที่ไหน เราก็บอกว่า บุญกับบาปมีอธิบายในหนังสือธรรม เขาก็บอกว่า เขาไม่เคยเห็น อย่างนี้จะนับได้ไหมว่า บุคคลคนนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ

สุ. นับได้

ถ. เขาแย้งต่อไปอีกว่า โลกพระจันทร์เขาไปถึงกันแล้ว น้ำมันใต้บาดาล เขาก็เจาะขุดกันแล้ว ไหนสวรรค์ ไหนนรก มีไหมคนที่ตายไปแล้วกลับมาบอกว่า มีความสุขอย่างไร ตั้งแต่พ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายตายไป ไม่เคยเห็นมีใครกลับมาบอกว่าสบายอย่างไร และที่ไปลำบากตกนรกมีไหม ที่เจ็บอย่างนั้น ปวดอย่างนี้ ร้อนอย่างนั้น ก็ไม่มีใครกลับมาบอก ล้วนแต่เป็นเรื่องเล่ากันทั้งนั้น อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายให้กระจ่างด้วย

สุ. คำตอบนี้มีใน ทีฆนิกาย ปายาสิราชัญญสูตร ซึ่งแสดงไว้โดยละเอียด ท่านที่สนใจหาอ่านได้ไม่ยาก มีคำตอบอย่างนี้หมดทุกข้อ

ชีวิตในปัจจุบันนี้มีสุข มีทุกข์ไหม มี บางครั้งก็สุข บางครั้งก็ทุกข์ ถ้าไม่มีเหตุของสุขที่จะเกิด สุขก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีเหตุของทุกข์ที่จะเกิด ทุกข์ก็เกิดไม่ได้ เพียงแต่เขาไม่รู้เหตุของทุกข์และสุขนั้นว่า สุขและทุกข์อาศัยเหตุปัจจัยอะไรจึงเกิดขึ้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีเหตุมีปัจจัย และเป็นการดีที่ไม่เชื่อง่ายๆ แต่ควรจะศึกษาด้วย ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อและจะเชื่อต่อเมื่อผู้ที่ตายแล้วกลับมาบอก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่จะเข้าใจขึ้น ถ้าได้ศึกษา

ถ. เขายังบอกว่า เวลาทำบุญ บางคนของดีๆ ไม่ทาน อดออมตระหนี่หรือหวงแหนเก็บไว้ถวายพระหมด แอปเปิลลูกละ ๑๔ บาท ๑๕ บาท พยายามอด ไม่ทาน เอาไปใส่บาตรพระ เขาว่า คนเราตายไปแล้วปากก็เน่า จะเอาอะไรไปกิน

สุ. การให้ทาน แล้วแต่เจตนา และสามารถพิสูจน์จิตใจของผู้ให้ได้ ถ้าสามารถให้สิ่งซึ่งตนเองไม่ใช้สอยแล้ว ลองพิจารณาสภาพจิตของตัวเอง เปรียบเทียบกับการที่สามารถให้สิ่งซึ่งตนเองก็ใช้สอยอย่างนั้น บริโภคอย่างนั้น ก็ต้องต่างกัน และกับการที่สามารถสละให้ได้แม้สิ่งซึ่งประณีตแก่ผู้อื่น ลองพิจารณาดูจิตใจในขณะที่ให้ทั้ง ๓ อย่างว่า ต่างกัน หรือเหมือนกัน

ให้สิ่งซึ่งเหลือใช้แล้ว ไม่ยาก แต่สำหรับบางคนก็ยังยาก เหลือแล้วก็ยังไม่ให้ ยังต้องเก็บไว้อีกนานเป็นปีๆ บางคนแม้คนอื่นไปจับไปแตะต้องสิ่งที่ตนเองก็ไม่ได้ใช้และเก็บไว้นานก็ยังไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของความตระหนี่ ซึ่งก็ตระหนี่มากโดยลักษณะนั้น

แต่ถ้าเป็นผู้ที่สามารถให้สิ่งซึ่งตนเองก็ใช้ ก็ยังแบ่งปันให้คนอื่น ใช้อย่างไร บริโภคอย่างไร ก็ให้บุคคลอื่นอย่างนั้น ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง

และถ้าสามารถสละสิ่งที่ประณีตซึ่งตนเองก็อยากจะใช้ แต่คิดว่าเหมาะควรที่จะให้ท่านผู้นั้นท่านผู้นี้ได้ใช้เพราะท่านเป็นผู้ทรงคุณความดี เป็นผู้ที่มีวิริยะในทางกุศลต่างๆ เป็นการแสดงความมีน้ำใจ และความเคารพนอบน้อมต่อท่านผู้นั้น นี่ก็ เป็นสภาพของจิตอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่แต่ละบุคคลจะเลือกว่า จะให้อย่างไร

เปิด  245
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565