แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1295

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗


ถ. ที่ว่าพ่อแม่มีบุญคุณ แต่บางคนเกิดมาไม่รู้จักพ่อแม่ก็มีอยู่ไม่น้อย มีเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง พ่อแม่หย่ากันตั้งแต่ลูกยังเล็ก คนที่เป็นพ่ออายุจะ ๗๐ แล้วจึงโผล่มาให้ลูกๆ เห็น ซึ่งตอนนี้ลูกฐานะดีแล้ว มาขอเงินขออะไร พวกลูกๆ ก็ไม่สนใจ ไม่ให้ เพราะทิ้งลูกไปตั้งแต่เด็กๆ ต้องไปอาศัยอยู่ที่โรงเจ และตายที่โรงเจ อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร

สุ. มีความเห็นว่า ไม่ถูก ที่ถูกควรทราบว่า มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร คือ เป็นผู้ให้กำเนิด ถ้าไม่มีมารดาบิดา คนนั้นก็เกิดมาในโลกนี้ไม่ได้ ที่คนนั้นจะเกิดมาในโลกจนกระทั่งมีเงินมีทอง ไม่ว่าจะเป็นวัยกลางของชีวิตก็ตาม อย่าลืมว่า เพราะมารดาบิดาเป็นพรหม คือ เป็นผู้ให้กำเนิด

เรื่องของมารดาบิดา เป็นเรื่องของตัวท่าน แต่เรื่องของบุตร เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักพระคุณว่า มารดาบิดาเป็นผู้ที่มีคุณโดยสถานหนึ่งสถานใด ไม่ว่าจะโดยเป็นพรหม คือ ผู้ให้กำเนิด หรือเป็นบุรพาจารย์ คือ เป็นครูคนแรกในชีวิตที่สั่งสอนลูกแม้แต่ให้เดิน ให้รับประทานอาหาร ให้แต่งตัว ให้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง หรือว่าเป็นบุรพเทพ หรือเป็นอาหุเนยยบุคคลของบุตร คือ ผู้ที่ควรแก่การที่จะได้รับของที่บุตรนำมาให้เป็นการบูชา

เพราะฉะนั้น เรื่องของบุตรต้องเป็นเรื่องของบุตร ไม่ควรที่จะระลึกถึงมารดาบิดาในทางส่วนตัวของท่านว่า ท่านเป็นผู้ที่ไม่ทำหน้าที่นั้น แต่จะเป็นด้วยเคราะห์กรรมของบุตรนั้นเองได้ไหม หรือต้องคิดว่า เป็นการกระทำของมารดาบิดา ซึ่งไม่สมควรคิด

เรื่องของใคร ต้องเป็นเรื่องของคนนั้น ในเมื่อเป็นบุตรก็ควรที่จะได้ทำหน้าที่ของบุตร ส่วนมารดาบิดาจะมีเคราะห์กรรมที่ทำให้พลัดพรากจากกันอย่างไรนั้น ต้องเป็นเรื่องของบุตรด้วย ถ้าบุตรทำกรรมมาดี ก็จะไม่มีการพลัดพรากจากมารดาบิดา ย่อมจะได้รับการอุปถัมภ์อุปการะจากมารดาบิดา ควรที่จะคำนึงถึงกรรมของตน และไม่ควรสร้างกรรมต่อไป โดยการที่ไม่เห็นคุณของมารดาบิดา

สำหรับทางฝ่ายกุศลกรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นแลย่อมเกิดในปัจจุบัน ในอัตภาพถัดไป หรือ ในอัตภาพต่อๆ ไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวการทำที่สุดทุกข์แห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นสมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงาน ทางวาจา ๔ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก

ทางฝ่ายกุศลก็ให้ผลตามกาละ คือ อาจจะเป็นในปัจจุบันชาติ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อๆ ไปได้

สำหรับการรับผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรมในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ คือ ในอบายภูมิ ๔ ภูมิ ได้แก่ นรก ๑ ดิรัจฉาน ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑ และในสุคติภูมิ ๗ คือ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖

ผลของกรรมที่จะได้รับ บางครั้งอาจจะแม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่บางครั้งไม่แม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะว่าโลกย่อมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สมัยก่อนไม่มีรถยนต์ ก็ไม่มีการขับรถชนคนตาย แต่มีเจตนาที่จะเบียดเบียน ที่จะประทุษร้าย และวัตถุเครื่องใช้ในแต่ละสมัยก็ย่อมต่างกัน เพราะฉะนั้น ผลของกรรมที่จะได้รับในแต่ละยุคในแต่ละสมัย ย่อมแม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้วบ้าง และไม่แม้นเหมือนกับกรรมที่ได้กระทำแล้วบ้าง

อย่างผลของกุศลวิบาก ในแต่ละประเทศย่อมต่างกัน รสของผลไม้อร่อยๆ ในเมืองร้อนกับในเมืองหนาวก็ต่างกัน แต่เมื่อเป็นผลของกุศลวิบาก ย่อมจะได้รับผลที่ น่าพอใจ แต่ผลที่น่าพอใจจะเป็นรสผลไม้ชนิดใด ในกาลไหน ย่อมแล้วแต่ทวารและอารมณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเหมาะควรแก่กรรมนั้นๆ หรือแม้แต่ในสวรรค์ อารมณ์ทั้งหลายประณีตกว่าในมนุษย์ เพราะเป็นผลของกุศลกรรม แต่ในมนุษย์ก็มีอารมณ์ที่ประณีตเมื่อเป็นผลของกุศลด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผลของกุศลในมนุษย์กับผลของกุศลในสวรรค์ย่อมต่างกันไปตามควรแก่ทวารและอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นๆ เพราะกรรมนั้นๆ

ให้ทราบว่า ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ย่อมทำให้ได้รับกระทบกับอารมณ์ที่ น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ก็ไม่เที่ยง เพียงชั่วขณะเล็กน้อยที่ได้รับผลของกุศลกรรม และหมดไป และต้องได้รับผลของอกุศลกรรม เมื่อถึงโอกาสที่อกุศลกรรมจะให้ผล

ใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สุพรหมสูตร มีข้อความว่า

ได้ยินว่า เทพบุตรนั้นอันเหล่าเทพอัปสรห้อมล้อมแล้ว ไปยังสนามกีฬานันทวัน

นี่เป็นที่เพลิดเพลินมากในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งใครๆ ก็ย่อมจะไปเที่ยวไม่ว่า ในโลกมนุษย์หรือในสวรรค์ และที่เที่ยวของโลกมนุษย์ที่น่าเพลิดเพลิน มีอิฏฐารมณ์ ทางตา ทางหู ก็อย่างหนึ่ง แต่บนสวรรค์ ที่เที่ยวที่เพลิดเพลิน ก็เป็นสวนนันทวัน

เทพบุตรนั้นนั่งในอาสนะที่จัดไว้ใต้โคนต้นปาริฉัตร เหล่าเทพธิดา ๕๐๐ ก็นั่งล้อมเทพบุตรนั้น เหล่าเทพธิดา ๕๐๐ ก็ปีนขึ้นต้นไม้

ท่านที่อยากจะคิดคำนวณว่า สวรรค์กว้างใหญ่สักเท่าไร ซึ่งต้นไม้แต่ละต้น สูง ๕๐๐ โยชน์ พิสูจน์ได้เมื่อถึงที่นั่น ไม่ใช่ที่นี่

ถามว่า ก็ต้นไม้แม้สูง ๑๐๐ โยชน์ ก็น้อมลงมาถึงมือด้วยอำนาจจิตของเหล่าเทวดา มิใช่หรือ

นี่คือความสุขในสวรรค์ ไม่ต้องลำบากเลย ต้องการดอกไม้ ต้นไม้ก็น้อมกิ่ง ลงมา เพราะฉะนั้น ก็มีคำถามว่า เหตุไรเทพธิดาเหล่านั้นจึงต้องปีนขึ้นเล่า น่าสงสัยใช่ไหม อยู่บนสวรรค์แล้วยังสนุก มีเรื่องที่จะต้องสนุกตามที่เคยสนุกในสังสารวัฏฏ์

ตอบว่า เพราะเทพธิดาเหล่านั้นสนใจแต่จะเล่น

อยู่เฉยๆ ไม่เป็น ในโลกมนุษย์นี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครที่นั่งเฉยๆ อยู่เฉยๆ ทุกคนแสวงหาที่เที่ยว ที่จะสนุก แม้จะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ก็สนใจแต่จะเล่น

แต่ครั้นปีนขึ้นไปแล้ว ก็ขับเพลงด้วยเสียงอันไพเราะ ทำดอกไม้ทั้งหลายให้หล่นลง

ในขณะนี้ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ย่อมมีเทพธิดาซึ่งกำลังทำอย่างนี้อยู่ คนละโลก

เหล่าเทพธิดานอกนี้ (ที่ไม่ได้ปีนขึ้นเก็บดอกไม้) ก็เก็บดอกไม้เหล่านั้นเอามาร้อยทำเป็นพวงมาลัยขั้วเดียวกัน เป็นต้น ครั้นนั้น เหล่าเทพธิดาที่ปีนขึ้นต้นไม้ก็ทำ กาละ (จุติ) ด้วยอำนาจอุปัจเฉทกกรรมประหารครั้งเดียวเท่านั้น ไปบังเกิดในอเวจีนรก เสวยทุกข์ใหญ่

สำหรับอุปัจเฉทกกรรมหรืออุปฆาตกกรรมย่อมมีในมนุษย์และในสวรรค์ บางเหล่า กับเทพธิดาหรือเทพบุตรบางพวก เพราะฉะนั้น เทพธิดาที่กำลังปีนต้นไม้เล่นและขับเพลงด้วยเสียงอันไพเราะ ทำดอกไม้ทั้งหลายให้หล่นลง มีอุปัจเฉทกกรรมเกิดขึ้น ตัดรอนความสุขที่กำลังสุขอย่างยิ่งในสวนนันทวัน ไปเกิดในอเวจีนรก เสวยทุกข์ใหญ่ ไม่มีใครทำได้นอกจากกรรม ขณะไหนเมื่อไรย่อมได้ทั้งสิ้น ซึ่งทุกคนควรจะเห็นว่า สิ่งซึ่งไม่คาดฝันว่าจะเกิด กรรมก็ยังกระทำให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงเหตุการณ์ประจำวัน อุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ย่อมเป็นไปตามกรรมทั้งสิ้น

เมื่อเวลาล่วงไป เทพบุตรก็นึกรำพึงว่า ไม่ได้ยินเสียงเทพธิดาเหล่านั้น ดอกไม้ก็ไม่หล่น เขาไปไหนกันหนอ ก็เห็นว่าไปเกิดในนรก เกิดรันทดใจเพราะความโศกในของรัก จึงดำริว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เหล่าเทพธิดาก็ไปตามกรรม

คือ ยังเห็นกันหลัดๆ ยังสนุกสนาน ยังเพลิดเพลิน ยังขับเพลง แต่ว่าเพียงอุปัจเฉทกกรรม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เหล่าเทพธิดาก็ไปตามกรรม

ตัวเราจะมีอายุสังขารเท่าไรกันเล่า เทพบุตรนั้นดำริว่า ในวันที่ ๗ เราก็จะพึงทำกาละพร้อมกับเหล่าเทพธิดา ๕๐๐ ส่วนที่เหลือ พากันไปเกิดในนรกนั้นเหมือนกัน รันทดระทมเพราะความโศกที่รุนแรง เทพบุตรนั้นก็ดำริว่า ในมนุษยโลกพร้อมทั้ง เทวโลก นอกจากพระตถาคตแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถดับความโศกของเรานี้ได้ จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กล่าวคาถา

ตามข้อความในสุพรหมสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

สุพรหมเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์

ทุกคนลองพิจารณาดูว่า ถ้าเห็นอย่างนี้จะสะดุ้งสักแค่ไหน

ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์

ถ้าเห็นนรกจริงๆ จะรู้ว่าอกุศลกรรมทั้งหลายไม่ควรกระทำเลย เพราะจะต้องได้รับผลที่เป็นทุกข์มาก

เทพบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งเมื่อกิจไม่เกิดขึ้น ทั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว โปรดตรัสบอกความไม่สะดุ้งนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

ข้อความที่ว่า จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งเมื่อกิจไม่เกิดขึ้น ทั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม กิจที่ไม่เกิดขึ้น คือ จุติกิจที่ยังไม่เกิดขึ้น สำหรับทุกท่านในขณะนี้ คือ กิจที่ยังไม่เกิดขึ้น เห็น กำลังเห็น เป็นกิจหนึ่งของจิตที่กำลังเกิดอยู่ ได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นกิจที่เกิดขึ้น แต่ว่ากิจหนึ่งซึ่งยังไม่เกิดในภพนี้ในชาตินี้ คือ จุติกิจ กิจสุดท้ายที่จะทำให้เคลื่อนพ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้

เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งเมื่อกิจไม่เกิดขึ้น คือ จุติกิจของตนเองยังไม่เกิด ทั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม คือ จุติจิตของคนอื่นที่เกิดแล้ว ซึ่งมองเห็นอยู่ชัดๆ ว่าหนีไม่พ้น จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่เมื่อเห็นจุติของคนอื่น ก็คือ จุติจิตของคนอื่นเกิดขึ้นแล้ว กิจนั้นของบุคคลนั้นเกิดขึ้นแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นกิจที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีความหวาดเสียว มีความสะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ก็กราบทูลว่า โปรดตรัสบอกความไม่สะดุ้งนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

มีหนทางไหมที่จะพ้นจากความสะดุ้ง ความหวาดเสียว ก็มีหนทางเดียว ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เรายังมองไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากความสละวางทุกสิ่งทุกอย่าง

ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎก สุพรหมสูตร ตอนท้ายมีว่า

สุพรหมเทวบุตรเมื่อกล่าวดังนี้แล้ว ก็อันตรธานไปในที่นั้นเอง

และข้อความในอรรถกถามีว่า

เมื่อจบธรรมเทศนา เทพบุตรนั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

แสดงให้เห็นว่า หลงลืมสตินานมากไหม ระหว่างที่อยู่ที่สวนนันทวัน กำลังเพลิดเพลิน ฟังเพลงขับ และดูดอกไม้ที่กำลังร่วงหล่นลงมา แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม ก็ระลึกได้ นี่คือผลของสะสมกุศลที่จะทำให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าได้ฟังบ่อยๆ และระลึกบ่อยๆ จนกระทั่งชิน จนกระทั่งชำนาญ ถึงแม้ว่าจะเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเวลาที่จะเพลิดเพลินมากมาย แต่เพียงได้ฟังพระธรรมเทศนาให้สำรวมอินทรีย์ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะนั้นนั่นเองย่อมระลึกได้ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจถูกและได้สะสมอบรมอุปนิสัยมาเป็นอันมาก ก็ทำให้สภาพธรรมปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาและความเพียร ไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจ แต่ต้องมีการสะสมอบรมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกระทั่งรู้แจ้งชัดจริงๆ

ทางตาในขณะนี้ ระลึกบ้างหรือยัง ถ้ายัง ต้องระลึกไปเรื่อยๆ อย่าประมาทว่า เมื่อไปอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่สวนนันทวัน ได้ฟังนิดเดียวก็จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

สำหรับผู้ที่สั่งสมอุปนิสัยมาที่ยังไม่ควรจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมไม่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมแม้ที่กำลังปรากฏอยู่ เมื่อไรจะเห็นแก้วน้ำที่วางอยู่เป็นแต่เพียงรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ตามความเป็นจริง ทุกคนต้องเป็น ผู้ที่ตรง เมื่อไรจะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ต่างๆ กำลังเคลื่อนไหว กำลังยืนบ้าง กำลังนั่งบ้าง กำลังนอนบ้าง กำลังพูดบ้าง เหล่านี้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งความจริงก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ลองคิดดู จนกระทั่งหยั่งลงไปถึงว่า ลักษณะจริงๆ ที่เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น คือ อย่างนี้ ในขณะนี้เอง

แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกบ่อยๆ ก็ยังคงสงสัยอยู่นั่นเองว่า สภาพธรรมที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นได้อย่างไร ในเมื่อขณะนี้เป็นแก้วน้ำอยู่ แสดงให้เห็นว่า กว่าสติและปัญญาจะเจริญขึ้น ต้องอาศัยกาลเวลา ทั้งปัญญาและความเพียรจริงๆ

ถ. อภิชฌาล่วงทางทวารไหน

สุ. ถ้าเพียงคิดว่า อยากจะได้ของๆ คนนั้นมาเป็นของตน คิดไป ๑๐ ปี โดยไม่ทำอะไรเลย จะมีทางที่ของของคนนั้นมาเป็นของท่านได้ไหม

ถ. คิดในลักษณะที่จะซื้อหรือจะขโมย ใช่ไหม

สุ. สำหรับโลภมูลจิต เป็นสภาพที่พอใจ ติดข้อง ต้องการ อยากจะได้ ไม่สละสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือลักษณะของโลภมูลจิต ไม่ใช่อกุศลกรรม แต่เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมต้องเป็นอกุศลเจตนา ความตั้งใจที่เป็นอกุศลด้วย ถ้าตั้งใจจะซื้อ ตั้งใจจะขอ ไม่เป็นอกุศลกรรม แต่ตั้งใจที่เป็นทุจริต ที่จะได้ของนั้นมาใน ทางทุจริต ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตที่เป็นอกุศลกรรม

ถ้าเป็นมโนกรรม คือ คิดเฉยๆ ไม่มีการกระทำล่วงออกไปทางกาย ทางวาจาอย่างหนึ่งอย่างใด จะมีทางที่จะได้ของๆ คนนั้นไหม

ถ. ไม่มีทาง

สุ. เพราะฉะนั้น ก็เป็นคิด แต่เมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น ตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่เห็น มีทุจริตกรรมเกิดขึ้น การกระทำหรือเหตุการณ์นั้นเป็นกายกรรม หรือ เป็นมโนกรรม ต้องพิจารณาเพื่อจะแยกเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นว่า กรรมนั้นๆ การกระทำนั้นๆ ที่ได้กระทำไปแล้ว เป็นกายกรรมหรือว่าเป็นมโนกรรม ถ้าเป็นกายกรรมก็ไม่ได้มีความตั้งใจไว้ก่อน เกิดขึ้นทันทีได้

ถ. อภิชฌา ผมเข้าใจว่าล่วงทางมโนกรรมที่คิดจะ...

สุ. องค์ของอภิชฌามีอะไรบ้าง อภิชฌามีองค์ ๒ คือ ปรภัณฑะ สิ่งของของผู้อื่น ๑ อัตตโน ปริณามนัญจะ น้อมมาเพื่อตน ๑

ฟังดูเหมือนแค่ ๒ แต่ ๒ สำหรับที่จะวินิจฉัยว่า เหตุการณ์หรือการกระทำที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกายกรรมหรือมโนกรรม เพราะเป็นแต่เพียงกายกรรมก็ได้ หรือเป็นมโนกรรมก็ได้ เพราะฉะนั้น องค์ ๒ ของมโนกรรม เพื่อวินิจฉัยว่ากรรมนั้นเป็นมโนกรรม ไม่ใช่กายกรรม เมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว ที่จะวินิจฉัยว่าเป็นกายกรรมหรือมโนกรรม ก็ตามองค์ของมโนกรรม และตามองค์ของกายกรรม

ถ. หมายความว่า ต้องหยิบของ

สุ. ต้องมีการกระทำสำเร็จ อย่างที่แสดงไว้ในอรรถกถาว่า ผู้มีอิทธิฤทธิ์ สามารถจะทำลายคนในตำบล ในหมู่บ้าน ในนครนั้นได้ด้วยใจ คือ อิทธิฤทธิ์ แต่ต้องมีการล่วงออกไปให้คนเหล่านั้นสิ้นชีวิตด้วย ไม่ใช่อยู่เฉยๆ และถ้าดูตามตัวอย่างในอรรถกถาทั้งหมด จะเป็นเรื่องของกรรมที่สำเร็จทางกายหรือทางวาจาทั้งนั้น แต่จะวินิจฉัยว่า กรรมนั้นเป็นมโนกรรม หรือเป็นกายกรรม ก็ดูที่องค์ว่า องค์ของมโนกรรมนั้นคืออย่างนี้ ต้องมีความตั้งใจที่เป็นอกุศลที่จะกระทำ ถ้าเป็นพยาปาทะ ก็ต้องมีความพยาบาท ความผูกโกรธ ความคิดที่จะให้บุคคลนั้นพินาศ หรือเสียประโยชน์

ถ้าโกรธและกล่าวคำที่ยับยั้งไม่ได้ ทุจริตทางวาจา เป็นคำหยาบ เป็นวจีทุจริต เป็นมโนกรรมหรือเปล่า หรือเป็นวจีกรรม ก็เป็นวจีกรรม แต่ถ้าตั้งใจไว้ก่อนว่าจะพูดอย่างไรๆ บ้างกับคนนี้ เพราะบางคนสามารถจะฆ่าคนอื่นได้ด้วยคำพูด เจตนานั้นต้องการที่จะฆ่า แต่ไม่ได้ฆ่าด้วยอาวุธ จะฆ่าด้วยคำพูด มีคำพูดที่คนฟังฟังแล้วสามารถจะฆ่าตัวตายได้ หรือฟังแล้วถึงกับหัวใจแตกสลายตายได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาของบุคคลนั้นว่า เจตนาของบุคคลนั้นในขณะที่กล่าวคำอย่างนั้น เป็นมโนกรรมหรือเป็นวจีกรรม เพราะว่ามโนกรรม โดยกายทวารหรือว่าโดยวจีทวารก็ได้ ไม่ใช่ว่ามโนกรรม อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย แต่มโนกรรม ต้องมีทวารของมโนกรรมว่า ทางกายหรือทางวาจา แต่กรรมนั้นเป็นมโนกรรม

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าโจรผู้ร้ายเลย แต่ป้องกันตัว หรือไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่เคยรู้ว่าเขาจะประทุษร้าย แต่เมื่อทำไปแล้ว คนนั้นตาย ขณะนั้นเป็นกายกรรม ไม่ใช่มโนกรรม

ผลคือมีคนตาย แต่ว่ากรรมนั้นเป็นกายกรรมหรือมโนกรรม จึงได้วางองค์ของมโนกรรมไว้เป็นเครื่องวัดว่า กรรมที่ได้สำเร็จลงไปนั้นเป็นกายกรรมหรือเป็นมโนกรรม มิฉะนั้นจะสับสนระหว่างมโนกรรมกับกายกรรม

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565