แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1298

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๗


ถ. เรื่องของอภิชฌาที่ว่า เพ่งเล็งสิ่งของของคนอื่นโดยที่เป็นทุจริต คำว่า ทุจริต มีความหมายอย่างไร คิดจะขโมย ใช่ไหม

สุ. โดยวิธีไหนก็ได้

ถ. พระโสดาบันละอภิชฌายังไม่ได้ ใช่ไหม

สุ. เรื่องของศัพท์อีกแล้ว ใช้คำว่าโลภะได้ไหม หรือต้องใช้คำว่าอภิชฌา และก็เข้าใจว่าอภิชฌาต้องเป็นมโนกรรมที่เป็นทุจริต พระโสดาบันยังมีโลภมูลจิต

ถ. โลภมูลจิต คือ อภิชฌา

สุ. แน่นอน แต่พระโสดาบันไม่ล่วงศีล ๕

ถ. แสดงว่า อภิชฌานี่ ...

สุ. ขณะที่มีอทินนาทาน ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้ ขณะนั้นมีอภิชฌาไหม ถ้าอยากจะใช้คำว่าอภิชฌา

ถ. มี

สุ. ขณะนั้นมีอภิชฌา ซึ่งขณะนั้นเป็นกายกรรม จะใช้คำว่าอภิชฌาก็ได้ เพราะอภิชฌา คือ โลภะนั่นเอง

ถ้าจะกล่าวว่าเป็นมโนกรรม อย่าลืมว่า อกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทั้งหมดเป็นมโนกรรม นี่ตอนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นระดับใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดทางปัญจทวาร เช่น ทางตาเห็นแล้วเกิดโลภมูลจิตขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต มีอกุศลเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็นมโนกรรม นี่คือความหมายทั่วไปของคำว่ามโนกรรม

แต่ถ้ากล่าวถึงมโนกรรมในอกุศลกรรมบถ ยกเพียง ๓ อย่าง ซึ่งจำแนกให้เห็นว่า กรรมใดเป็นกายกรรม กรรมใดเป็นวจีกรรม กรรมใดเป็นมโนกรรม และสำหรับมโนกรรมที่เป็นอกุศล เกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร เพราะแม้แต่เพียงอกุศลเจตนาที่เกิดกับ อกุศลจิตทั่วๆ ไป ก็เป็นมโนกรรมแล้ว โดยนัยที่กว้างมาก เมื่อยังไม่ได้ล่วงเป็นทุจริตทางหนึ่งทางใดก็เป็นมโนกรรม เพราะฉะนั้น อภิชฌา เมื่อยังไม่ล่วงเป็นทุจริตทางกาย หรือทางวาจา ก็เป็นมโนกรรม

ถ. แสดงว่าพระโสดาบันละอภิชฌาในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้ ใช่ไหม

สุ. ไม่คิดอยากจะได้ของของคนอื่นในทางทุจริตเลย ถ้าถามว่าพระโสดาบัน ยังมีมโนกรรมไหม จะตอบว่าอย่างไร

ถ. มี

สุ. เพราะอะไร ก็เพราะอกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวงเป็นมโนกรรมเพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด ข้อความในอัฏฐสาลินีที่ว่า กุศลเจตนาและอกุศลเจตนา ๒๙ อันเป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่ามโนกรรมและมโนทวาร ที่ใช้คำว่ามโนทวาร เพราะยังไม่ล่วงออกไปทางกายหรือทางวาจา

ถ. ถ้าเห็นว่าคุณบิดามารดามี แค่นี้ก็เป็นมโนกรรมที่เป็นกุศลกรรม ใช่ไหม

สุ. เห็นว่าบิดามารดามีคุณ ต้องเป็นกุศลกรรม

ถ. เป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นว่าคุณบิดามารดามี และต้องทำการตอบแทน อย่างนี้ก็เป็นมโนกรรมแล้ว ใช่ไหม

สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นมโนกรรม

เรื่องของมโนกรรม ถ้าคิดอย่างกว้างที่สุดจะไม่มีปัญหาเลย คือ ขณะใดก็ตามที่ยังไม่ล่วงออกไปทางกาย ทางวาจา กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาทั้งหมดเป็นมโนกรรม ตัดปัญหาไปได้เลย แต่ถ้าถึงขั้นอกุศลกรรมบถ ยกเฉพาะ ๓ ที่เป็นมโนกรรม คือ อภิชฌา ๑ พยาปาทะ ๑ และมิจฉาทิฏฐิ ๑

และสำหรับมิจฉาทิฏฐิ ต้องเป็นความเห็นที่ดิ่งมั่นคงว่า การกระทำนั้นไม่ใช่กรรมที่จะให้เกิดผล ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิ ๓ อย่าง จึงจะทำให้อกุศลกรรมบถแตกหรือขาด คือ เชื่อว่าผลของกรรมไม่มี เชื่อว่ากรรมไม่มี เชื่อว่าการกระทำนั้นไม่เป็นกรรม

พิจารณาจิตสะดวกกว่า ง่ายกว่า ใช่ไหม ถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้นก็รู้ว่า ลักษณะสภาพธรรมนั้นเป็นสภาพของอกุศล เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้ไม่กังวล และไม่ห่วงเรื่ององค์ ของกรรมบถต่างๆ เพราะสติสามารถระลึกรู้ความมีกำลังขึ้นของอกุศลได้

ถ้าสติเกิดในขณะนี้ พอที่จะรู้ลักษณะของกุศลและอกุศลไหม ค่อยๆ รู้ไป ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ต้องห่วงว่ายังไม่สามารถที่จะแยกว่า ขณะนี้เป็นกุศลจิต ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเป็นวิบากจิต หรือเป็นกิริยาจิต แต่การที่สติระลึก ก็เพื่อที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นลักษณะของสภาพรู้ ซึ่งใช้คำว่านามธรรม หรือเป็นลักษณะที่ไม่ใช่สภาพรู้ ที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ต้องค่อยๆ รู้ไปในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกว่าจะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต

ขอกล่าวถึงเรื่องจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ

จิตทั้งหมดมี ๘๙ แต่จิตที่จะทำกิจปฏิสนธิกิจได้มี ๑๙ ได้แก่

อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ

อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน ทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ และในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

มหาวิบาก ๘ เป็นผลของมหากุศล ทำกิจปฏิสนธิในสุคติภูมิ ๗ คือ ภูมิมนุษย์ ๑ ภูมิ และสวรรค์ ๖ ภูมิ

รวมเป็นกามาวจรปฏิสนธิจิต ๑๐

สำหรับจิตที่ทำปฏิสนธิกิจทั้ง ๑๙ แยกออกเพื่อให้จำง่ายว่า จิตที่ทำกิจปฏิสนธิในกามภูมิ คือ ในภูมิของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะเป็นอบายภูมิ ๔ หรือว่าสุคติภูมิ ๗ ก็ตาม จิตที่ทำกิจปฏิสนธิในกามภูมิได้มีเพียง ๑๐ เท่านั้น

กรรมมีมากมายที่เป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การลักทรัพย์ หรือการประพฤติทุจริตทางกายทางวาจาต่างๆ แต่เวลาที่อกุศลกรรมทั้งหมดทุกประเภท จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิในนรก หรือว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต หรืออสุรกาย จะปฏิสนธิด้วยอกุศลวิบากจิตเพียงดวงเดียวเท่านั้น คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก

อกุศลจิตมี ๑๒ ก็จริง แต่อกุศลจิต ๑๒ เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากจิต เพียง ๗ เท่านั้น คือ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ไม่ดี ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ เช่น กำลังเห็นในขณะนี้ จิตที่กำลังเห็นทำทัสสนกิจ คือ เห็น รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ โสตวิญญาณอกุศลวิบาก จิตที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ๑ ทำสวนกิจ กิจเดียว ทำกิจอื่นไม่ได้ คือ เกิดขึ้นครั้งใดก็กระทำกิจได้ยินเฉพาะเสียงเท่านั้น ทำกิจอื่นไม่ได้เลย

ทางจมูก ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก เกิดขึ้นทำกิจได้กลิ่นที่ไม่ดี ๑

ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก เกิดขึ้นทำกิจลิ้มรสที่ไม่ดี ๑

กายวิญญาณอกุศลวิบาก เกิดขึ้นทำกิจรู้โผฏฐัพพะที่ไม่ดี ๑

๕ ประเภทแล้ว คือ ปัญจวิญญาณ และเมื่อปัญจวิญญาณดับแล้ว อกุศลวิบากที่เกิดต่อ คือ สัมปฏิจฉันนจิต ๑ ทำกิจรับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ทางตา ทำกิจรับเสียงต่อจากโสตวิญญาณ ถ้าเป็นการรู้อารมณ์ทางหู และทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อจากวิญญาณนั้นๆ ทางทวารนั้นๆ รวมเป็นอกุศลวิบากจิต ๖

สำหรับอกุศลวิบากจิตประเภทที่ ๗ คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เป็นจิตที่ทำหลายกิจ คือ นอกจากทำสันตีรณกิจต่อจากสัมปฏิจฉันนกิจทางปัญจทวาร ทวารใดทวารหนึ่งแล้ว ยังทำปฏิสนธิกิจด้วย ซึ่งเมื่อทำปฏิสนธิกิจแล้ว ก็ย่อมกระทำภวังคกิจ และจุติกิจด้วย

เพราะฉะนั้น อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากกระทำกิจ ๕ กิจ กิจที่ ๑ ปฏิสนธิกิจ กิจที่ ๒ ภวังคกิจ กิจที่ ๓ สันตีรณกิจ กิจที่ ๔ ตทาลัมพนกิจ ถ้าอารมณ์ทางปัญจทวารยังไม่ดับเมื่อชวนจิตดับแล้ว อุเบกขาสันตีรณะจะเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่ออีก ๒ ขณะ คือ กระทำตทาลัมพนกิจ และสำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณะ อุเบกขาสันตีรณะก็เกิดขึ้นทำจุติกิจ ซึ่งเป็นกิจสุดท้ายทำให้เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในอบายภูมิ

สำหรับในอบายภูมิ ๔ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ เป็นอกุศลวิบากดวงเดียว คือ สันตีรณอกุศลวิบาก

สำหรับในกามสุคติภูมิ กุศลกรรม มหากุศลมี ๘ ซึ่งบางท่านถามว่า มหากุศลกับกุศลเหมือนกันหรือเปล่า เพราะชื่อว่ามหากุศล ก็คิดว่าคงจะใหญ่โตกว่า กุศลธรรมดา แต่ตามความเป็นจริง จะใช้คำว่ากามาวจรกุศล หรือมหากุศลก็ได้ เพราะสามารถที่จะกระทำได้ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่เหมือนกับ มหัคคตกุศลซึ่งเป็นฌานจิต เกิดได้เฉพาะทางมโนทวารทวารเดียว

เพราะฉะนั้น เมื่อมหากุศลจิต หรือกามาวจรกุศลจิตสามารถจะกระทำได้ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ จึงชื่อว่ามหากุศลก็ได้ จะใช้คำว่ากุศลเฉยๆ ก็ได้ ถ้าไม่ได้จำแนกออกว่าเป็นกุศลขั้นใด แต่ถ้าจำแนกแล้ว ก็จำแนกเป็นกามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล โลกุตตรกุศล ตามระดับขั้นของกุศล แต่สำหรับ กามาวจรกุศล เนื่องจากมีความกว้างขวางมาก จึงใช้คำว่า มหากุศล

สำหรับมหากุศลจิต ๘ จำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภท คือ เกิดร่วมกับปัญญา ๔ และไม่เกิดร่วมกับปัญญา ๔ ซึ่งทำให้จำแนกวิบาก คือ การปฏิสนธิออกเป็น ๓ ประเภท ไม่ใช่ ๒ ประเภท

สำหรับมหากุศลจิตที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบด้วยโสภณเหตุอย่างน้อย ๒ เหตุ คือ ต้องประกอบด้วยอโลภเหตุและอโทสเหตุ ถ้ายังมีโลภเจตสิกเกิด ไม่ใช่กุศล ถ้ามีโทสเจตสิกเกิดก็ไม่ใช่กุศล แต่ขณะใดก็ตามที่มีอโลภเจตสิก จะต้องมี อโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นกุศลในขณะนั้น พร้อมกับเจตสิกอื่นๆ อีกหลายดวง ซึ่งถ้ากล่าวโดยเหตุแล้ว จำแนกมหากุศลออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ประกอบด้วย ๒ เหตุ ได้แก่ อโลภเหตุและอโทสเหตุ ชื่อว่าทวิเหตุ ประเภทหนึ่ง และประกอบด้วย ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุคือปัญญาเจตสิก อีกประเภทหนึ่ง ชื่อว่าติเหตุ

ฉะนั้น จิตที่เป็นกุศลที่เป็นเหตุมี ๘ ดวง จำแนกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ทวิเหตุและติเหตุ แต่เวลาที่ทำให้เกิดผล ทำให้เกิดผล ๓ ประเภท คือ เป็น อเหตุกปฏิสนธิ ซึ่งเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นโสภณเหตุสักเหตุเดียว จึงชื่อว่าอเหตุกปฏิสนธิ เกิดในมนุษย์ ในสวรรค์ชั้นต้น คือ จาตุมหาราชิกา แต่จิตที่ปฏิสนธิเนื่องจากเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน เพราะฉะนั้น จึงปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ซึ่งไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ คือ ไม่ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ นี่ประเภทหนึ่ง

อีกประเภทหนึ่ง คือ ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ เป็นทวิเหตุกบุคคล ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยอโลภเหตุและอโทสเหตุ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก นี่ก็เป็นผลของมหากุศลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา

เพราะฉะนั้น การทำบุญให้ทานใดๆ ก็ตามซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา เมื่อเวลาให้ผล ย่อมไม่สามารถทำให้ปฏิสนธิจิตนั้นประกอบด้วยปัญญาตามควรแก่เหตุ หรือถ้าเป็นปัญญาที่อ่อนมาก เพียงแต่เกิดขึ้น เชื่อว่ากรรมมี ผลของกรรมมีเท่านั้นเอง ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นปฏิสนธิจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๓ ก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า มหากุศล บางครั้งให้ผลแม้นเหมือนกับตนเอง คือ แม้นเหมือนกับกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุ และบางครั้งก็ให้ผลไม่แม้นเหมือนกับกุศลกรรมที่เป็นเหตุ เพราะกรรมประกอบด้วยเหตุ ๓ แต่ผลประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือว่ากรรมประกอบด้วยเหตุ ๒ แต่ผลไม่ประกอบด้วยเหตุเลยก็ได้

เพราะฉะนั้น สำหรับมหากุศลที่เป็นทวิเหตุ คือ ประกอบด้วยเหตุ ๒ ให้ผล ทำให้ปฏิสนธิไม่ประกอบด้วยเหตุเลย คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ ในสุคติภูมิ เป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งตลอดชีวิตจะเป็นคนตาบอด หูหนวก เป็นต้น ประเภทหนึ่ง หรือให้ผลทำให้เป็นผู้ที่เกิดมามีความสุขสบายทุกประการก็ได้ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก เพราะปฏิสนธิจิตประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ อโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกเท่านั้น ซึ่งเป็นผลของกุศลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา หรืออาจจะเป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างอ่อนที่สุด

สำหรับมหากุศลที่เป็นติเหตุ คือ ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิกคือปัญญาเจตสิกนั้น ให้ผลเป็นติเหตุกปฏิสนธิ คือ มหาวิบากที่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิกก็ได้ หรือให้ผลเป็น ทวิเหตุกปฏิสนธิก็ได้

เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้นเพียงเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่พอ จะต้องสะสมให้ปัญญานั้นมีกำลังขึ้น จึงสามารถเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิประกอบด้วยปัญญาเจตสิกได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ประมาทคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่สะสมปัญญาให้เพิ่มขึ้น เวลาที่เป็นผลของกุศลกรรมนั้นๆ ก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยอโลภะและอโทสะเท่านั้น เป็นทวิเหตุกบุคคล ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

สำหรับมหัคคตจิต ได้แก่ รูปฌานและอรูปฌาน มีภูมิ คือ พรหมภูมิ ตามระดับขั้นของฌานนั้นๆ

เปิด  245
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565