แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1302

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๗


ปกิณณกเจตสิกมี ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑

ขณะที่รู้อารมณ์แต่ละวาระ ทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ควรจะทราบว่า ภวังคจิตต่างกับวิถีจิต ทั้งโดยเจตสิกที่ประกอบและชาติของจิตด้วย เช่น บุคคลที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ภวังคจิตไม่ต่างกับปฏิสนธิจิต ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์เกิดและดับไป ภวังคจิตก็เป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ประเภทเดียวกันนั่นเองเกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ซึ่งในระหว่างที่เป็นภวังค์ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่มีการรับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งในชาติก่อน และในชาติโน้นๆ ในสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่วิถีจิตยังไม่เกิด ก็เป็นเพียงปฏิสนธิเกิดในขณะแรกในภพนั้นชาตินั้นและก็เป็นภวังค์ นี่คือการรับผล เพียงเกิดและเป็นภวังค์ ยังไม่ได้รับผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะการที่จะรับผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องไม่ใช่ภวังคจิต

เพราะฉะนั้น ที่จะรับผลทางตา คือ เห็น สภาพของจิตต้องเปลี่ยนจากภวังค์ เพราะถ้ายังเป็นภวังค์อยู่ จะไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการ ลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และไม่คิดนึกเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น

ถ้าเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ซึ่ง เป็นปัญจทวาร วิถีจิตแรกที่ไม่ใช่ภวังคจิต คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เปลี่ยนสภาพจากภวังค์ และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยกับปัญจทวาราวัชชนจิตก็ต้องต่างกับเจตสิกที่เกิดร่วมกับภวังคจิต เพราะภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต

ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่วิบากจิต นี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้เรื่องชาติของจิตทุกดวง เพื่อจะได้รู้ว่าจิตใดเป็นเหตุ คือ เป็นกุศลหรืออกุศล จิตใดเป็นผล คือ เป็นวิบาก และจิตใดไม่ใช่ทั้งเหตุและผล คือ เป็นกิริยา

ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเจตสิก ที่เป็นเหตุ จึงเป็นกิริยาจิตประเภทอเหตุกกิริยา ซึ่งจะเกิดก่อนจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้ จะเกิดก่อนโสตวิญญาณที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตขณะแรกที่เปลี่ยนสภาพของภวังค์ และทำอาวัชชนกิจ คือ เพียงรู้ว่า อารมณ์กระทบทวาร

ขณะที่จะเห็น ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ยังไม่เห็น เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบจักขุปสาท ถ้าเป็นทางหูที่กำลังได้ยิน ก่อนโสตวิญญาณจะได้ยิน ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ยังไม่ได้ยิน เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบ

ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นจิตหนึ่งดวงหรือหนึ่งประเภท ซึ่งเป็นวิถีจิตแรกของปัญจทวารวิถี ทุกครั้งที่จะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน ซึ่งปัญจทวาราวัชชนจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ เพราะว่าในจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ มีเพียง ๑๐ ดวงเท่านั้น คือ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายวิญญาณ ๒ ดวง จิต ๑๐ ดวงนี้เท่านั้นที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ นอกจากนั้นจิตอื่นทั้งหมดต้องมีเจตสิกเกิดมากกว่า ๗

เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ แต่ไม่ใช่อกุศลจิต จึงไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย และไม่ใช่กุศลจิต จึงไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีแต่ปกิณณกเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามสมควร ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่เวทนา เพราะปกิณณกเจตสิกมี ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ และฉันทเจตสิก ๑ ซึ่งปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา จึงไม่ประกอบด้วยปีติเจตสิก

แสดงให้เห็นว่า แม้ปกิณณกเจตสิกมีเพียง ๖ แต่ที่จะเกิดกับจิตแต่ละประเภท ก็ต้องแล้วแต่ประเภทของจิตนั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตดวงแรกก่อนจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณเหล่านั้น มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย

วิตกเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่จรดในอารมณ์ เกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต และจิตอื่นๆ นอกจากทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของวิตกเจตสิกที่กำลังจรดในอารมณ์นั้น ใช่ไหม

ทันทีที่จักขุวิญญาณเห็นและดับไป สัมปฏิจฉันนะจรดในรูปารมณ์ที่ จักขุวิญญาณเห็น เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะเกิดร่วมกับวิตกเจตสิก ซึ่งถ้า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้และไม่ทรงแสดง จะไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ขณะใด วิตกเจตสิกเกิดและขณะใดวิตกเจตสิกไม่เกิด และการที่วิตกเจตสิกเกิดจะมีความสำคัญอย่างไร ก็เพราะว่าวิตกเจตสิก ถ้าเกิดกับจิตอื่นๆ จะเพิ่มกำลังขึ้น ลักษณะของวิตกเจตสิกเป็นสภาพที่จรด แต่ลักษณะของวิจารเจตสิกเป็นสภาพที่ประคองอารมณ์ที่วิตกเจตสิกจรด

ถ้าจะคิดถึงเจตสิกแต่ละชนิด ก็เหมือนกับสภาพธรรมแต่ละอย่าง หรือถ้าจะคิดถึงคน ก็เป็นคนแต่ละคน ไม่ใช่คนเดียว แต่ก็ไม่ควรที่จะคิดอย่างนั้น เพราะจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อนได้ ควรเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงอุปมาเท่านั้น เช่น คนหนึ่งจับ อีกคนหนึ่งประคอง เพราะฉะนั้น ลักษณะของวิตกเจตสิกต่างกับลักษณะของวิจารเจตสิก

วิตกเจตสิกถ้าเกิดกับจิตอื่นๆ ต่อไป เช่น ฌานจิต หรือมหากุศลจิตซึ่งเป็นไปในสมถภาวนา ต้องอาศัยวิตกเจตสิกเป็นสำคัญ เพราะถ้าปราศจากวิตกเจตสิกซึ่ง เป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบ จิตย่อมไม่ระลึกถึงอารมณ์นั้นบ่อยๆ คือ จะไม่จรดที่อารมณ์นั้น เพราะสภาพของจิตต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ถ้ามีปัจจัยที่จะให้ได้ยินเสียง คือ เสียงกระทบกับโสตปสาท จิตได้ยินก็เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อาศัยวิตกที่จรดในอารมณ์ของสมถภาวนาบ่อยๆ เนืองๆ จิตย่อมสงบไม่ได้ วิตกเจตสิกจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ เป็นฌานปัจจัย ในการเจริญสมถภาวนา เมื่อถึงปฐมฌาน คือ อัปปนาสมาธิ องค์ของฌานทั้ง ๕ จะปรากฏสภาพที่ต่างกัน คือ วิตกเจตสิกต่างกับวิจารเจตสิก ถ้าไม่ปรากฏสภาพที่ต่างกัน ทุติยฌานเกิดไม่ได้ เพราะผู้ที่มีความชำนาญขึ้นจะสามารถละวิตกเจตสิก จึงจะถึงทุติยฌานได้ ซึ่งวิจารเจตสิกยังคงประคองจิตที่เป็นอัปปนาสมาธิให้แนบแน่นอยู่ในอารมณ์ของทุติยฌาน

แสดงให้เห็นว่า สภาพของเจตสิกที่เกิดร่วมกัน คือ ปกิณณกเจตสิก จะมีกำลังต่างกัน และประกอบกับจิตต่างกัน อย่างเช่น วิตกเจตสิก ประกอบกับจิตอื่นทั้งหมด เว้นทวิปัญจวิญญาณและทุติยฌานจิตขึ้นไป สำหรับวิจารเจตสิก โดยทั่วไปจะเกิดพร้อมกับวิตกเจตสิกในกามภูมิหรือในกามาวจรจิต แต่เมื่อเป็นฌานจิตแล้ว จะเกิดพร้อมกับวิตกเจตสิกเฉพาะในปฐมฌาน แต่เมื่อถึงทุติยฌาน วิตกเจตสิกไม่เกิด วิจารเจตสิกก็ยังเกิดได้

สำหรับปกิณณกเจตสิกที่ ๓ คือ อธิโมกขเจตสิก เป็นสภาพที่ปักใจ

ชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ถึงลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทซึ่งเกิดกับจิต เวลาที่อารมณ์ปรากฏ ผัสสะกระทบ เวทนารู้สึก วิตกจรด วิจารประคอง อธิโมกข์ปักใจในอารมณ์นั้นไม่คลอนแคลน เพราะฉะนั้น อธิโมกขเจตสิกจะเกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นเฉพาะทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ซึ่งจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ และเว้นโมหมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับวิจิกิจฉา เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เพราะขณะใดที่วิจิกิจฉาเกิดขึ้น เป็นสภาพที่ไม่ปักใจ คลอนแคลนด้วยความสงสัย เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยอธิโมกขเจตสิก

นี่คือปกิณณกเจตสิก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดกับจิตประเภทต่างๆ แต่ก็เว้นตามสมควร

สำหรับวิริยเจตสิก เป็นปกิณณกเจตสิกดวงที่ ๔ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปกิณณกเจตสิก เมื่อเว้นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกแล้ว เจตสิกใดที่เกิดกับจิตอื่นๆ ได้โดยทั่วไป ก็เป็นปกิณณกเจตสิก

วิริยะเกิดกับโลภะบ่อยๆ ไหม ทำอย่างไรอาหารจะอร่อย ต้องอาศัยวิริยะไหม เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ต้องการจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สวยด้วยอำนาจของความพอใจ ในขณะนั้นจะเห็นลักษณะของวิริยเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตประเภทนั้นได้

ทางฝ่ายกุศล การมาฟังธรรม ก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดด้วยแน่ๆ ง่วงนอนบ้าง มีธุระมากบ้าง หรืออาจจะไม่แข็งแรงนักก็ได้ มาแล้วอาจจะไม่ค่อยสบาย แต่กุศลจิตทั้งหลายก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ปีติเจตสิก เป็นสภาพที่ปลื้มใจ เป็นปกิณณกเจตสิกดวงที่ ๕ เป็นสภาพที่ปลาบปลื้มใจ ต้องเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เวลาที่สภาพปลาบปลื้มใจเกิดขึ้น เวทนาจะเป็นอุเบกขาได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่รู้สึกปลาบปลื้มใจ เวทนาต้องเป็นโสมนัสเวทนา เคยสังเกตลักษณะของปีติไหม สภาพที่ปลาบปลื้มใจ

ผู้ฟัง เวลารุ่นน้องที่แผนกจัดงานให้ รู้สึกเป็นโลภะที่มีปีติ

สุ. เวลาที่มีความรู้สึกโสมนัสประกอบด้วยปีติ เป็นความปลาบปลื้ม ซึ่งจะระลึกได้ว่า เป็นสภาพของโสมนัสเวทนาที่หวั่นไหวเวลาที่เกิดกับโลภมูลจิต ตื่นเต้นดีใจ เวลาที่รู้สึกตื่นเต้น สงบหรือเปล่า หรือหวั่นไหวไปด้วยความปลาบปลื้ม ด้วยความสุข เพราะฉะนั้น โสมนัสเวทนาที่เป็นอกุศล ที่ประกอบด้วยปีติ เป็นลักษณะสภาพของจิตที่ปลาบปลื้มและหวั่นไหว ไม่สงบ ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล สภาพก็จะต่างกันไป แต่ลักษณะของปีติก็ยังคงเป็นปีติ ลักษณะของโสมนัสเวทนาก็ยังคงเป็นโสมนัสเวทนา

เพราะฉะนั้น สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรกที่เปลี่ยนสภาพจากภวังค์ เวลาที่จะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่อไม่ใช่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เป็นกิริยาจิตซึ่งเกิดก่อน เป็นวิถีจิต เพียงรู้อารมณ์ที่กระทบเท่านั้น และประกอบด้วยเจตสิกมากกว่า ๗ คือ นอกจากประกอบด้วยผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก และมนสิการเจตสิก รวม ๗ ดวงแล้ว ยังประกอบด้วยปกิณณกเจตสิก คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก และอธิโมกขเจตสิก แต่ไม่ประกอบด้วยวิริยเจตสิก ปีติเจตสิก และ ฉันทเจตสิก ซึ่งต้องจำแนกให้รู้ว่าเพราะเหตุใดจึงประกอบด้วยปกิณณกเจตสิกเหล่านี้ แต่ไม่ประกอบด้วยปกิณณกเจตสิกเหล่านั้น เพราะสำหรับการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีใครต้องใช้วิริยะบ้างไหม

เสียงที่ได้ยิน เกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาท ไม่ต้องอาศัยวิริยเจตสิกเลย เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิดร่วมกับวิริยเจตสิก และปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดกับอุเบกขาเวทนา จึงไม่เกิดร่วมกับปีติเจตสิก และสำหรับอเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง ไม่เกิดร่วมกับฉันทเจตสิก เพราะฉันทเจตสิกเป็นสภาพที่เลือกอารมณ์ แต่การเห็นเลือกไม่ได้ การได้ยินเลือกไม่ได้ ถ้าเลือกได้ทุกคนต้องเห็นสิ่งที่ดีทั้งหมด ได้ยินเสียงที่ดีทั้งหมด แต่เมื่อเลือกไม่ได้ จึงไม่ประกอบด้วยฉันทเจตสิก

เพราะฉะนั้น สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าไม่อาศัยตำรา แต่ทราบว่า อัญญสมานาเจตสิกมี ๑๓ ดวง ก็น่าที่จะนับเองได้ว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง ซึ่งคำตอบคือ ๑๐ ดวง ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ ก็จะทำให้จำได้ และเพลิดเพลินในการคิดในทางที่ถูก เพราะประกอบด้วยเหตุผล

นี่คือการที่จะเข้าใจว่า ทำไมอกุศลจิตมี ๑๒ แต่ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ และเฉพาะอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากเท่านั้นที่ทำปฏิสนธิกิจ

ถ้าท่านผู้ฟังเข้าใจเรื่องของวิถีจิตแต่ละทวาร คือ จักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี กายทวารวิถี มโนทวารวิถี ก็น่าจะจัดประเภทของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตแต่ละวิถีนั้นได้ว่า จะประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง

ถ้าเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ปฏิสนธิ มีฌานปัจจัยไหม มีวิตกเจตสิกเกิดด้วยไหม ต้องมี เพราะเพียงอเหตุกอกุศลวิบากยังมีฌานปัจจัยเมื่อทำปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ หรือมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ หรือ รูปาวจรวิบาก หรืออรูปาวจรวิบาก ก็ต้องมีฌานปัจจัยทั้งนั้น เพราะปฏิสนธิประณีตขึ้นๆ

สำหรับอกุศลกรรม ไม่ต้องประณีตอะไรเลย เพราะทำให้เมื่อปฏิสนธิเกิดแล้ว ก็รับผลของกรรมโดยอกุศลวิบากทั้งนั้นเกิด ทางตาก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี ทางหูก็ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ทางจมูกก็ได้กลิ่นไม่ดี ทางลิ้นก็ลิ้มรสไม่ดี ทางกายก็กระทบสัมผัสไม่ดี ถ้าเห็นขยะ รูปารมณ์ไม่ดี เป็นอนิฏฐารมณ์ กลิ่นก็ไม่ดี เป็นอนิฏฐารมณ์ กระทบสัมผัสก็ ไม่ดี เป็นอนิฏฐารมณ์

เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลกรรมให้ผล คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดี ก็เหลือที่จะพอแล้ว ปฏิสนธิเกิดขึ้นไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ เกิดมาเพื่อที่จะรับผลของอกุศลกรรม โดยอกุศลวิบากเหล่านี้เกิดขึ้น รับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายที่ไม่ดี ตามภูมิของจิต

ถ้าเกิดในนรก ต้องเป็นภูมิที่ได้รับทุกข์ทรมานทางกายมาก และทางตาจะเห็นสิ่งที่ดีได้ไหม เมื่อกำลังทรมานกันอยู่ คนที่ป่วยไข้ได้เจ็บ มีทุกขเวทนาคร่ำครวญ จะกล่าวว่า เห็นคนที่กำลังคร่ำครวญเป็นอารมณ์ที่ดีที่น่าพอใจได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ภูมิของอบายว่า จะเป็นการเกิดในภูมินรก หรือเกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย จะได้รับผลของอกุศลกรรมมากน้อยก็ตามควรแก่กรรมนั้นๆ แต่ให้ทราบว่า ไม่มีอะไรนอกจากเกิดขึ้นรับผลของอกุศลกรรม โดย อเหตุกอกุศลวิบากเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ

เปิด  222
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566