แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1303

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๗


ถ้าเป็นทางอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ก็ดีกว่าอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากปฏิสนธิ เพราะไม่ต้องเกิดในอบายภูมิ แต่ก็เกือบจะเท่าๆ กัน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายเท่ากัน สามารถที่จะเห็นสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แล้วแต่ผลของกรรม แต่ก็ยังไม่ประกอบด้วยปัญญาที่จะทำให้กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดหลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น ความต่างกันอยู่ที่มหาวิบากญาณสัมปยุตต์ หรือมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ที่ทำกิจปฏิสนธิ เพราะสำหรับพวกที่เป็นอุเบกขาสันตีรณปฏิสนธิ ก็เจริญกุศลได้น้อยกว่า

นี่เป็นเพียงจิตที่ได้กล่าวถึง สำหรับจิต ๘๙ ดวง มีกิจทั้งหมด ๑๔ กิจ เริ่มจากปฏิสนธิกิจ ตามที่มีท่านผู้ฟังขอให้กล่าวถึงกิจ ๑๔ กิจของจิตทั้ง ๘๙ ดวง แต่เวลาที่กล่าวถึงปฏิสนธิกิจ ก็ได้กล่าวถึงกิจอื่นๆ ไปด้วย ก็คงจะครบทั้ง ๑๔ กิจแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เจาะจงกล่าวถึงแต่ละกิจๆ ไป

ต่อไปขอกล่าวถึงมรรคปัจจัยเพียงเล็กน้อย เพราะเรื่องของฌานปัจจัยและ มรรคปัจจัยนั้นคู่กัน

ท่านผู้ฟังคงได้ยินคำว่า มรรค บ่อยๆ ซึ่งสัมมามรรคมี ๘ มิจฉามรรคก็มี ๘ เหมือนกัน และสภาพธรรมที่เป็นมรรคมี ๑๒ เมื่อกล่าวรวมทั้งสัมมามรรคและ มิจฉามรรค

สัมมามรรค ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ๑ คือ สัมมาทิฏฐิ วิตกเจตสิก ๑ คือ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ วิริยะ ๑ สติ ๑ สมาธิ ๑ เจตสิกอื่นนอกจากนี้ ไม่ใช่มรรค

สังเกตได้ว่า วิตกเจตสิกเป็นทั้งฌานปัจจัยและมรรคปัจจัย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นมรรคปัจจัย คือ สภาพธรรมที่นำไปสู่สุคติ ทุคติ หรือนิพพาน ถ้าปัญญาเกิดขึ้น กุศลจิตเกิด นำไปสู่สุคติ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นมรรค ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นฌานปัจจัย แม้ว่าจะเป็นเจตสิกเดียวกัน แต่ความสามารถในการเป็นปัจจัยนั้นแยกกัน เช่น วิตกเจตสิก เป็นทั้งฌานปัจจัยและมรรคปัจจัยด้วย แต่วิจารเจตสิกซึ่งเกิดกับวิตกเจตสิกเป็นฌานปัจจัย ไม่ใช่มรรคปัจจัย

ที่กล่าวถึงมรรคบ่อยๆ จะต้องรู้ด้วยว่า ทำไมเจตสิกแต่ละประเภทนั้นจึง เป็นมรรค เช่น ปัญญาเจตสิก เป็นมรรคแน่นอน เป็นทางนำไปสู่สุคติ ปัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัมมามรรคจะไม่นำไปสู่ทุคติเลย วิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะ การตรึก การดำริในทางที่เป็นกุศล ก็นำไปสู่สุคติ ถ้าเกิดคิดในทางที่เป็นอกุศล ก็นำไปสู่ทุคติ

เพราะฉะนั้น ลักษณะของวิตกเจตสิกเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ และเพิ่มกำลังขึ้น ถ้าเป็นทางมโนทวารก็เป็นการจรดหรือตรึกในอารมณ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศลก็เป็นสัมมาสังกัปปะ เป็นมรรค คือ เป็นทางที่นำไปสู่สุคติ

สัมมาวาจา คำพูด สำคัญ พูดดี เป็นกุศล ประกอบด้วยเจตนาที่เป็นกุศลขณะใด ขณะนั้นก็เป็นสุคติ คือ เป็นทางที่จะนำไปสู่สุคติด้วย กุศลเองก็จัดว่า เป็นสุคติ เพราะเป็นทางที่จะนำไปสู่สุคติ

สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ โดยนัยเดียวกัน รวมทั้งสัมมาวายาโม คือ วิริยะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดเป็นสัมมามรรค

ทางฝ่ายมิจฉามรรค มีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด นำไปสู่ทุคติแน่ จะไม่นำไปสู่สุคติเลย มิจฉาสังกัปปะ การดำริผิด เมื่อมีความเห็นผิด การดำริก็ต้องผิดด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเห็นผิด มีการดำริผิด มิจฉาวายามะ ความพยายามผิดก็ต้องมี และพร้อมกันนั้นก็ต้องมีมิจฉาสมาธิเกิดร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น องค์ธรรมของมรรคปัจจัยมี ๑๒ คือ ปัญญาเจตสิก ๑ วิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายาโม ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ และฝ่ายที่เป็นมิจฉามรรคเป็นทางที่นำไปสู่ทุคติอีก ๔ คือ มิจฉาทิฏฐิ ๑ มิจฉาสังกัปปะ ๑ มิจฉาวายามะ ๑ มิจฉาสมาธิ ๑

กลัวไหม มิจฉาสมาธิ หรือถ้าเป็นสมาธิก็อยากจะเป็น ไม่คิดว่าจะเป็นมิจฉาหรือสัมมา แต่อย่าลืมว่า ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นทางนำไปสู่ทุคติ ไม่ใช่เป็นทางนำไปสู่สุคติ

สำหรับมรรคปัจจัย ไม่เกิดกับอเหตุกจิต

มรรค คือ ทาง เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นทางได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไรบ้าง เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท แต่สำหรับเจตสิกซึ่งเป็น องค์มรรคมีเพียง ๑๒ คือ ปัญญาเจตสิก ๑ วิตกเจตสิก ๑ สัมมาวาจาเจตสิก ๑ สัมมากัมมันตเจตสิก ๑ สัมมาอาชีวเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ สติเจตสิก ๑ สมาธิหรือ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ที่เป็นสัมมา คือ เป็นฝ่ายกุศล มี ๘ ตามที่ท่านผู้ฟังได้ยินบ่อยๆ ว่า มรรคมีองค์ ๘

สำหรับทางฝ่ายอกุศลมี ๔ คือ มิจฉาทิฏฐิ ๑ มิจฉาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ มิจฉาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก ๑ และมิจฉาสมาธิ ๑

ไม่มีเจตนาเจตสิกเลย เจตนาเจตสิกไม่ใช่มรรค แต่เจตนาเจตสิกเป็น กรรมปัจจัย คือ เป็นสภาพธรรมที่ขวนขวายที่กระทำกิจให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น เจตนานั่นเองเป็นสภาพที่กระทำ คือ เป็นตัวกระทำกิจต่างๆ แต่ที่เจตนาจะเกิดขึ้นกระทำกิจให้สำเร็จลงไปแต่ละครั้งทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจนั้น ต้องอาศัยมรรค ต้องเกิดกับมรรค เช่น ปัญญาเจตสิกเกิดขึ้น จะมีเจตนาที่เป็นกุศล ที่กระทำกรรมต่างๆ โดยปัญญานั่นเองเป็นทางให้กรรมนั้นเกิดขึ้น

สำหรับคนที่ไม่มีปัญญา หรือไม่ได้สะสมอบรมความสนใจที่จะเจริญปัญญา แม้ว่ากุศลจิตจะเกิด ก็ไม่มีทางทำให้กุศลนั้นเป็นไปในทางปัญญาได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปัญญาเกิดขึ้น จะเป็นทางให้กรรมที่เป็นกายกรรมบ้าง วจีกรรมบ้าง มโนกรรมบ้างที่เป็นกุศลเกิดขึ้นในทางของปัญญา เพราะปัญญาเป็นทาง แต่เจตนาเป็นผู้กระทำ ซึ่งการกระทำนั้นต้องแล้วแต่ทาง

เหมือนการจะไปสู่ที่หนึ่งที่ใด มีผู้ที่จะไป แต่ต้องมีหนทางที่จะไปด้วย ไม่ใช่มีแต่ผู้ที่จะไปโดยไม่มีหนทางที่จะไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไปนั้นคือกรรม แต่หนทางที่ไปคือมรรค ที่จะทำให้กรรมนั้นสำเร็จเป็นฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศล

เพราะฉะนั้น สำหรับเจตสิกที่เป็นสัมมามรรคมี ๘ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก วิตกเจตสิก สัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิก วิริยเจตสิก สติเจตสิก และสมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งไม่มีเจตนาเจตสิกเลยสำหรับมรรคปัจจัย

วิตกเจตสิก เป็นได้ทั้งสัมมาสังกัปปะ หรือมิจฉาสังกัปปะ เพราะเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ หรือเป็นสภาพที่ตรึก หรือคิดอารมณ์ต่างๆ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ถ้า กุศลจิตเกิด การตรึก การดำริ การคิด จะเป็นไปในทางฝ่ายกุศล แต่ขณะใดที่ อกุศลจิตเกิดขึ้น การตรึก การคิดนั้นตรงกันข้าม เช่น คิดเรื่องโกรธ ที่จะต้องโกรธ ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่มีฉันทะที่จะโกรธ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องเป็นมิจฉาสังกัปปะ

บางเวลาอาจจะเห็นโทษของความโกรธ และเห็นว่าความโกรธไม่มีประโยชน์เลย ในวันหนึ่งๆ เคยเป็นอย่างนี้บ้างไหมที่จะเห็นโทษของความโกรธ เห็นโทษของอกุศล ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิกซึ่งเป็นกุศลเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น การคิดหรือสภาพของ วิตกเจตสิกก็เป็นทางของกรรม คือ ถ้าเป็นสัมมาสังกัปปะก็เป็นทางของกุศลกรรม ถ้าเป็นมิจฉาสังกัปปะก็เป็นทางของอกุศลกรรม

สำหรับสัมมาวาจา เป็นโสภณเจตสิก วิรัติวจีทุจริต ซึ่งทางฝ่ายอกุศลมีคำว่า มิจฉาวาจา แต่ไม่มีมิจฉาวาจาเจตสิก แสดงให้เห็นว่า ชีวิตประจำวันอกุศลจิตที่เกิด มีทวารหรือมีทางของอกุศลนั้นๆ คือ บางครั้งก็เป็นกายทวาร บางครั้งก็เป็นวจีทวาร ตามกำลังของอกุศล

วันหนึ่งๆ ที่ทุกท่านพูด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะรู้ได้ไหมว่า ขณะนั้นโลภะเป็นปัจจัยให้พูดอย่างนั้นๆ หรือว่าโทสะเป็นปัจจัยให้พูดอย่างนั้นๆ เป็นปกติเลย ใช่ไหม แต่เวลาที่เห็นว่า วาจาอย่างนั้นไม่ควรพูด พูดแล้วเป็นโทษ พูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ขณะที่วิรัติทุจริตในขณะนั้น เป็นเพราะสภาพของปรมัตถธรรมหนึ่ง คือ สัมมาวาจาเจตสิก เกิดขึ้นวิรัติทุจริต

ปกติธรรมดาไม่มีการวิรัติ จะพูดเรื่องอาหารอร่อย ในขณะนั้นจิตอะไรที่ทำให้วาจาเช่นนั้นเกิดขึ้น เป็นทวารของโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่อกุศลที่มีกำลังขึ้นๆ จนถึงจะทำให้เป็นวจีกรรม และเกิดการวิรัติทุจริตขึ้น ในขณะนั้นสภาพ ที่วิรัติทุจริตนั้น เป็นสัมมาวาจาเจตสิก มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีธรรมที่จะวิรัติวจีทุจริต เพราะเรื่องของอกุศลเป็นเรื่องที่เกิดเป็นปกติ และมีทวารที่จะปรากฏ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ซึ่งการที่จะวิรัติ ต้องเป็นเพราะโสภณเจตสิกเกิดขึ้นวิรัติทุจริตในขณะนั้นเพราะฉะนั้น วาจาหรือคำพูดก็เป็นทางซึ่งเป็นมรรค ทำให้เป็นกรรมที่ทำให้ไปสู่ผล ต่างๆ และการเกิดในที่ต่างๆ ได้

สำหรับสัมมากัมมันตะ ก็โดยนัยเดียวกัน เป็นโสภณเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นวิรัติทุจริตทางกาย แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ กายทวารของแต่ละคนเป็นไปในทางฝ่ายอกุศลมากเพียงใด เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมา มีการเคลื่อนไหวกาย ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นเป็นกายทวารของอกุศลจิต เพราะโลภะเกิดเป็นประจำ ทันทีที่ตื่นพลิกตัวลุกขึ้น ขณะนั้นก็เป็นกายทวารของอกุศลจิต คือ โลภมูลจิตที่มีความพอใจ มีความต้องการขวนขวายทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าอกุศลนั้นมีกำลังขึ้นถึงขั้นที่จะกระทำทุจริตกรรม ทุจริตกรรมนั้นก็เกิด ถ้าสัมมากัมมันตเจตสิก ไม่เกิดขึ้นวิรัติทุจริตกรรม โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อย อย่างเช่น มะม่วงของเพื่อนบ้าน ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ตั้งแต่เห็นและพอใจ แต่ถ้าหลงลืมสติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเด็กเล็กๆ ก็อาจจะเก็บมะม่วงของเพื่อนบ้าน ดูเป็นการกระทำที่เล็กน้อยในสายตาของคนอื่น แต่ถ้าคิดว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลจิตที่ทำให้กายกรรมเกิดขึ้น ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นซึ่งเจ้าของไม่ได้ให้ แม้ว่าจะโดยรู้หรือโดยไม่รู้ก็ตามว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรม อกุศลกรรมก็ได้กระทำสำเร็จแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นสัมมากัมมันตเจตสิกไม่เกิดขึ้นวิรัติ ก็จะมีการล่วงทุจริตต่างๆ ตั้งแต่เด็ก สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งถึงเมื่อโตแล้ว ถ้าไม่พิจารณาการกระทำของตนเอง อาจจะไม่ทราบว่า สัมมากัมมันตะเกิดขึ้นวิรัติทุจริตกรรมที่เคยเห็นว่าเล็กๆ น้อยๆ นั้นหรือเปล่า เพราะคนที่เคยเก็บมะม่วงของเพื่อนบ้าน อาจจะเก็บตั้งแต่เด็กจนโตเรื่อยไปตลอด เพราะคิดว่าเป็นเพียงมะม่วงของเพื่อนบ้านที่เข้ามาในเขตบ้าน แต่ถ้าสัมมากัมมันตะเกิดขึ้นวิรัติ จะไม่กระทำกายกรรมนั้น เพราะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ในขณะนั้นก็เป็นมรรค คือ เป็นทางของกุศล

สำหรับเจตสิกที่เป็นมรรคปัจจัยทางฝ่ายกุศล ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ๑ วิตกเจตสิกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจาเจตสิก ๑ สัมมากัมมันตเจตสิก ๑ สัมมาอาชีวเจตสิก ๑ วิริยเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศล ๑ สติซึ่งเป็นโสภณเจตสิกต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น ๑ และสัมมาสมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลอีก ๑ รวมเป็น ๘ นอกนั้นไม่ใช่มรรค ไม่เป็นมรรคปัจจัย

มรรคปัจจัยนั้น เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เกิดกับวิบากจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ แต่สำหรับอเหตุกจิตทั้งหมด ๑๘ ดวง เป็นจิตซึ่งอ่อนกำลัง ไม่มีกำลัง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ กรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยทำให้ วิบากจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ๗ ดวง และกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะ ๘ ดวง และกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะเกิดขึ้นเท่านั้น ทำกิจหน้าที่ให้สำเร็จการรู้อารมณ์ทางทวารแต่ละทวาร เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เจตสิกเหล่านี้ไม่ชื่อว่ามรรคปัจจัย เมื่อเกิดกับอเหตุกจิต

เปิด  245
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566