แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1305
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๗
ถ. ถ้าจุติจิตของภพนี้มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต อารมณ์จะไม่เที่ยงหรือ
สุ. ทำไมจะต้องเที่ยง ในเมื่อจิตก็ไม่เที่ยง
ถ. กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์ ไม่ได้เกิดในจุติจิตหรือปฏิสนธิจิต เกิดเฉพาะในมรณาสันนวิถีเท่านั้นหรือ
สุ. ปฏิสนธิจิตต้องมีอารมณ์ ขณะนี้ปฏิสนธิจิตของชาติหน้ายังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ยังรู้ไม่ได้ว่า เวลาที่จุติจิตเกิดจะมีอารมณ์อะไร แต่ต้องมีอารมณ์แน่ ลองคิด ลองพิจารณาว่า กำลังจะสิ้นชีวิต และปฏิสนธิจิตจะเกิดต่อจากจุติจิต ปฏิสนธินั้นจะมีอารมณ์อะไร เพราะจิตทุกดวงต้องมีอารมณ์ ลองหาเหตุผล
ถ้าใกล้จะจุติ มีอารมณ์อะไร ซึ่งอารมณ์นั้นต้องปรากฏเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่ใช่อย่างอื่นเลย กรรมที่ได้กระทำแล้วกรรมหนึ่ง จะเป็นชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ซึ่งกรรมนั้นนั่นเองที่จะทำให้อารมณ์อย่างนั้นๆ ปรากฏ โดยมีอยู่ ๓ ประเภท คือ การนึกถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว ๑ ชื่อว่ากรรมอารมณ์
ปกติธรรมดาก่อนจะตาย ขณะที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนก็คิดถึงเรื่องราวในอดีต กรรมอะไรที่ได้ทำตอนเป็นเด็ก บางครั้งก็นึกขึ้นมาได้ว่า เคยทำกรรมอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า วันหนึ่งวันใด ขณะหนึ่งขณะใด จะนึกถึงกรรมหนึ่งกรรมใดที่ได้กระทำแล้ว และถ้าจุติจิตเกิดต่อจากการนึกถึงกรรมที่ได้ทำแล้ว ปฏิสนธิจิตก็จะมีกรรมที่ได้ทำแล้วที่ได้นึกถึงก่อนจุตินั้นเองเป็นอารมณ์ มิฉะนั้นแล้วปฏิสนธิจิตจะมีอารมณ์มาจากไหน
ปฏิสนธิจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ก็ย่อมมีอารมณ์เดียวกับจิตก่อนจะจุติ ใกล้จะจุติ ซึ่งเป็นชวนจิต อุปมาเหมือนกับเสียงสะท้อน ต้องมีเสียงจึงมีเสียงสะท้อนได้ และเสียงสะท้อนนั้น ก็เหมือนกับเสียงนั่นเอง แต่เสียงสะท้อนก็ไม่ใช่เสียง ฉันใด เสียงก็เป็นเสียง เสียงสะท้อนก็เป็นเสียงสะท้อน แต่เสียงสะท้อนก็ไม่ต่างจากเสียงที่สะท้อนนั้น เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจิตที่ใกล้จะจุติ ซึ่งเป็นชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติ นี่อุปมาหนึ่ง
อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนกับตรา เวลาที่ประทับตราลงไป ตราที่ปรากฏอยู่บนกระดาษก็เหมือนกับตราที่ประทับลงไป ฉันใด เวลาที่ชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตมีอารมณ์อะไร เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับชวนจิตสุดท้ายก่อนจุตินั่นเอง ซึ่งอารมณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นตามความพอใจ แต่ต้องปรากฏเพราะกรรมหนึ่งกรรมใดที่เป็นชนกกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด
ถ. จุติจิตของชาตินี้ ซึ่งปฏิสนธิได้ผ่านมาแล้ว จุติจิตในชาตินี้ก็ต้องอาศัยชนกกรรมที่เกี่ยวกับจิตดวงนั้นที่ใกล้จะจุติอีกที ไม่น่าจะเป็นอารมณ์เดียวกับจุติจิต
สุ. จุติจิตเป็นวิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ต้องแยกประเภท ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต คือ เป็นผลของกรรม ฉันใด ภวังคจิตก็เป็นวิบากจิต ฉันนั้น คือ เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติระหว่างที่กรรมนั้นยังให้ผลอยู่ ระหว่างที่กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลนี้ยังให้ผลอยู่ จะยังไม่สิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้
ในระหว่างที่กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลนี้ยังไม่สิ้นสภาพ ก็ยังเป็นโอกาสของกรรมอื่นๆ จะให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จนกว่ากรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในภพนี้จะทำให้จุติจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนพ้นจากสภาพของความเป็นบุคคลนี้ นี่อย่างหนึ่ง คือ การตายโดยสิ้นกรรม
ซึ่งการตายมี ๔ อย่าง คือ การตายโดยสิ้นอายุ ๑ การตายโดยสิ้นกรรม ๑ การตายโดยการสิ้นทั้งอายุและกรรม ๑ และการตายโดยถูกกรรมอื่นตัดรอน ๑
จุติจิตเป็นวิบากจิต เป็นจิตดวงสุดท้ายของกรรมที่ได้ทำให้ปฏิสนธิและภวังค์เกิดดับสืบต่อ เมื่อสิ้นกรรมจะไม่ให้จุติจิตเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น จุติจิตจึงเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากภพนี้ ทำให้สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ โดยจะไม่กลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลย ชื่ออะไร เคยทำอะไรมา ทั้งหมดจะไม่มีการย้อนกลับมาเป็นบุคคลนั้นอีก เพราะกรรมใหม่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิต เป็นบุคคลใหม่ทันที แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมใด และมีอารมณ์ใกล้จะจุติประเภทไหน อาจจะเป็นกรรมอารมณ์ หรืออาจจะเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ หรืออาจจะเป็นคตินิมิตอารมณ์ ซึ่งก็ได้แก่อารมณ์ที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เหมือนอย่างปกตินี่เอง แต่ที่ยังไม่ใช้คำว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์ เพราะ จุติจิตยังไม่เกิด จึงไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิตในชาติหน้า
ถ้ากำลังเห็นในขณะนี้เกิด หมดวิถีไป และจุติจิตเกิด สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าเป็นกรรมนิมิตที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภูมิต่อไปในภพต่อไปว่า จะเป็นผลของกุศลหรือผลของอกุศล
ในขณะที่เพียงปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะนั้นจะไม่รู้เลยว่า กำลังเป็นบุคคลใด ยังไม่มีการเห็น ยังไม่มีการได้ยิน ยังไม่มีการคิดนึกใดๆ ยังไม่รู้แม้ว่าตัวเองเกิดเป็นมนุษย์หรือว่าเกิดเป็นสัตว์ภูมิหนึ่งภูมิใด จะเป็นเทวดา หรือจะเป็นรูปพรหม หรือจะเป็นอรูปพรหม ในขณะที่เพียงปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะนั้นไม่รู้เลยว่า กำลังเป็นบุคคลใด จนกว่าจะมีการเห็นเกิดขึ้น จึงจะรู้ว่าอยู่ในโลกไหน
ถ. ตอนใกล้จะจุติจิต ถ้าเกิดเวทนาอย่างมาก เวทนานี้จะติดตามไปเป็นปฏิสนธิจิตอีกหรือไม่
สุ. ไม่มีเลยที่จะตามไปได้ เพราะจิตเกิดขึ้นขณะเดียวและดับ เพราะฉะนั้น จุติจิตในชาตินี้ไม่ตามไปปฏิสนธิในชาติหน้า จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจเฉพาะของตนและดับทันที ไม่มีการที่จะติดตามไปได้ เพราะฉะนั้น จิตก่อนๆ ของชาติก่อนๆ ไม่ได้ติดตามมาในชาตินี้สักดวงเดียว แต่จิตแต่ละขณะมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นไปตามปัจจัยนั้นๆ
ถ. อยากทราบว่า มรณาสันนวิถีเป็นชนกกรรมหรือไม่
สุ. ไม่เป็น แต่มรณาสันนวิถีมีชนกกรรมเป็นปัจจัย
ถ. หมายถึงว่า ได้รับปัจจัยจากกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมอื่นๆ
สุ. กรรมที่ได้กระทำแล้วหนึ่งกรรม จะเป็นปัจจัยทำให้วิถีจิตสุดท้ายเกิดขึ้น และมีอารมณ์ตามที่กรรมนั้นเป็นปัจจัยทำให้ปรากฏ สมมติว่าท่านผู้ใดจะสิ้นชีวิตในขณะนี้และเกิดในอบายภูมิ ซึ่งในขณะนี้ก็ไม่ได้ทำอกุศลกรรม ไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ ลักทรัพย์ แต่ทำไมเมื่อจุติจิตดับไปและปฏิสนธิเกิดในอบายภูมิ ทั้งๆ ที่ขณะที่กำลังเห็น กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ ไม่มีการฆ่า ไม่มีการกระทำทุจริตกรรม
ถ. ก่อนจะตาย จะมีช่วงของการเปลี่ยนอารมณ์ที่ชวนจิต ๕ ขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าอารมณ์ไม่เปลี่ยน ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ มีอารมณ์เดียวกัน ก็ต้องเกิดเป็นอย่างนั้นตลอดไป จึงต้องมีการเปลี่ยนอารมณ์ที่ชวนจิตก่อนจุติจิต ถูกไหม
สุ. ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติ เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์และจุติ จึงทำให้เปลี่ยนจากสภาพของการเป็นบุคคลในภพนั้น
ถ. เปลี่ยนตอนไหน
สุ. ชวนวิถีสุดท้ายก่อนจะตาย
สำหรับเรื่องจุติและปฏิสนธิเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แม้ว่าจะเป็นสมมติมรณะ ก็ ต่างกับขณิกมรณะ ขณิกมรณะ หมายถึงขณะนี้ซึ่งจิตกำลังเกิดดับสืบต่อกันทุกๆ ขณะแต่ละขณะ แต่เมื่อไม่ได้ทำจุติกิจ คือ จุติจิตยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังไม่มีสมมติมรณะ แต่ไม่มีความต่างกัน เพราะโดยขณิกมรณะ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นและดับไปเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ฉันใด เวลาที่เป็นสมมติมรณะ คือ จุติจิตเกิดและดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น ไม่มีช่วงคั่นเลย
เพราะฉะนั้น ถ้าจะนึกถึงโดยสภาพของขณิกมรณะ ก็ไม่มีความต่างกันระหว่างปฏิสนธิของชาติหน้าและจุติจิตของชาตินี้ เพราะเหมือนกับทุกๆ ขณะนี้เอง แต่ที่ต่าง โดยเป็นสมมติมรณะ ก็เพราะเมื่อจุติจิตเกิดและดับไป กรรมหนึ่งทำให้เปลี่ยนสภาพจากความเป็นบุคคลนั้นสู่ความเป็นบุคคลอื่นในภพหนึ่งภพใด ซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ ถ้าปฏิสนธิจิตยังไม่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก ที่สามารถจะเปลี่ยนสภาพของบุคคลจากความที่เคยเป็นบุคคลนี้ มีความทรงจำใน เรื่องนี้ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งโต จนถึงวัยที่จะจากโลกนี้ไป แต่ก็ยังมีกรรมที่จะทำให้เปลี่ยนสภาพจากความเป็นบุคคลนี้โดยเด็ดขาด ไม่ย้อนกลับไปสู่ความเป็นบุคคลเก่าอีกเลย แสดงให้เห็นว่าการเกิดดับสืบต่อกันของนามธรรมและรูปธรรมนั้นรวดเร็วที่สุด เพียงพริบตาเดียว หรือรวดเร็วกว่านั้นอีก เพียงขณะที่จุติจิตเกิดและดับไป เปลี่ยนสภาพทำให้เป็นบุคคลใหม่ทันที แล้วแต่ว่าจะเกิดในภูมิไหน ซึ่งตราบใดที่ยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ปฏิสนธิจะเกิดในภูมิหนึ่งภูมิใดก็ได้ใน ๓๑ ภูมิ โดย ปฏิสนธิจิต ๑ ดวงในบรรดาปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง ทำกิจเกิดขึ้นในภูมิหนึ่งภูมิใด ใน ๓๐ ภูมิ
ใน ๓๑ ภูมินั้น เป็นอบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ รวมเป็นกามภูมิ ๑๑ ซึ่งทุกท่านก็คงจะทราบอนาคตของทุกท่านได้ว่า ไม่พ้นจากกามภูมิ ตราบใดที่ไม่ได้อบรมเจริญความสงบของจิตจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิโดยไม่เสื่อม ไม่มีทางที่จะไปสู่ภูมิอื่นเลย นอกจากกามภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งใน ๑๑ ภูมิ และถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล ก็อาจจะเกิดในอบายภูมิหนึ่งอบายภูมิใดในอบายภูมิ ๔ คือ อาจจะเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นผลของกุศลก็ทำให้เกิดในโลกมนุษย์ หรือในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดในสวรรค์ ๖ ชั้น เพราะฉะนั้น ทุกท่านสามารถจะทราบได้ว่า ท่านจะพ้นจากกามภูมิได้ หรือไม่ได้
การที่จะพ้นจากกามภูมิสู่รูปพรหมภูมิ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากในสมัยนี้ เพราะต้องมีความเห็นถูกในการอบรมเจริญกุศลที่เป็นสมถภาวนาจนกระทั่งความสงบเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นโดยไม่เสื่อม คือ ฌานจิตต้องเกิดก่อนจุติ จึงจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิได้
สำหรับรูปพรหมภูมิทั้งหมด คือ พรหมบุคคลซึ่งมีรูป มีทั้งหมด ๑๖ ภูมิ เป็นปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ ตามกำลังของสมาธิ คือ เป็นสมาธิที่มีกำลังเพียงเล็กน้อย ที่มีกำลังปานกลาง และที่มีกำลังประณีต โดยจตุกกนัย สำหรับ ๙ ภูมินั้น เป็นภูมิของปฐมฌาน ๓ ภูมิ ทุติยฌาน ๓ ภูมิ ตติยฌาน ๓ ภูมิ
และสำหรับอีก ๗ ภูมิ เป็นภูมิของจตุตถฌาน โดยจตุกกนัย หรือปัญจมฌานโดยปัญจกนัย คือ ฌานที่ ๔ โดยจตุกกนัย หรือฌานที่ ๕ โดยปัญจกนัย มีภูมิที่เกิด ๗ ภูมิ ได้แก่ เวหัปผลาภูมิ ๑ สำหรับผู้ที่มีขันธ์ ๕ ปฏิสนธิ ที่เป็นปุถุชน หรือเป็น พระโสดาบัน หรือเป็นพระสกทาคามี จะเกิดในเวหัปผลาภูมิ
และสำหรับผู้ที่เห็นโทษของนามธรรม ไม่ต้องการให้มีนามธรรมปฏิสนธิเลย จะมีแต่รูปปฏิสนธิ ซึ่งก็ต้องเป็นผลของปัญจมฌาน โดยปัญจกนัย ทำให้มีแต่รูปปฏิสนธิในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ อีก ๑ ภูมิ นี่คือผลของฌานขั้นสูง คือ ขั้นรูปปัญจมฌาน สำหรับในอสัญญสัตตาพรหมภูมินั้น ไม่มีพระอริยบุคคลที่จะไปเป็นรูปปฏิสนธิโดยไม่มีนามปฏิสนธิ
สำหรับปัญจมฌานภูมิอีก ๕ ภูมิ คือ สุทธาวาสภูมิ เป็นภูมิพิเศษเฉพาะ พระอนาคามีที่ได้ปัญจมฌานเท่านั้น ถ้าเป็นพระอนาคามีที่ได้เพียงปฐมฌานถึง ตติยฌานโดยจตุกกนัย หรือถึงจตุตถฌานโดยปัญจกนัย จะไม่เกิดในสุทธาวาสภูมิ
เพราะฉะนั้น ภูมิของปัญจมฌานมีถึง ๗ ภูมิ ได้แก่ เวหัปผลาภูมิ ๑ เป็นภูมิของผู้ที่มีขันธ์ ๕ ปฏิสนธิ อสัญญสัตตาภูมิ ๑ เป็นภูมิของรูปปฏิสนธิเท่านั้น ไม่มีนามปฏิสนธิเลย และสุทธาวาสภูมิ ๕ เฉพาะพระอนาคามีที่ได้ถึงปัญจมฌานปฏิสนธิ รวมเป็นรูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ
ท่านผู้ฟังอาจจะเคยเกิดมาแล้ว นานแสนนาน แต่ในปัจจุบันชาตินี้ที่เป็นมนุษย์ก็ต้องแล้วแต่เหตุ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญฌานสมาบัติ ไม่มีทางที่จะเกิดในรูปพรหม ๑๖ ภูมินี้ได้เลย
นอกจากนั้น ยังมีอรูปภูมิ ๔ ภูมิ ซึ่งก็ประณีตขึ้นตามขั้น ตั้งแต่ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน และ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
การเกิดในภูมิต่างๆ ไม่สับสนกัน และไม่สับภูมิกันด้วย คือ ถ้าชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตเป็นกามชวนะ ก็ต้องเกิดในกามภูมิ ถ้าชวนจิตก่อนจุติจิตเป็นรูปาวจรจิต คือ รูปฌานขั้นหนึ่งขั้นใด ก็จะต้องเกิดในรูปพรหมภูมิตามลำดับขั้นนั้น ถ้าชวนจิตสุดท้ายเป็นอรูปาวจรจิต คือ เป็นอรูปาวจรกุศลจิต ก็เป็นปัจจัยให้อรูปาวจรวิบากจิตปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ คือ ภูมิซึ่งไม่มีรูปเลย
สำหรับการเกิดในกามภูมิ ย่อมแล้วแต่ว่าจะเกิดโดยกำเนิดใด ก็มีรูปเกิดร่วมด้วยมากน้อยตามภูมินั้นๆ เช่น ถ้าเป็นโอปปาติกะกำเนิด คือ เกิดสมบูรณ์พร้อมด้วยอายตนะทั้งหมด เป็นสัตว์ในนรก หรือเป็นเปรต หรือเป็นเทวดา ก็จะมีรูปครบ ทั้งจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท
ถ้าเกิดในรูปพรหมภูมิ ยังมีรูปอยู่ แต่เป็นภูมิที่ไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีกายปสาท ไม่ต้องบริโภคอาหารเลย และไม่มีลมหายใจด้วย
สำหรับในอรูปพรหมภูมิ เป็นภูมิซึ่งมีแต่นามปฏิสนธิ ไม่มีรูปสักรูปเดียว
สำหรับอสัญญสัตตาพรหม มีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิเลย
เพราะฉะนั้น รูปในแต่ละภูมิก็มากน้อยต่างกัน เช่น ในอสัญญสัตตาพรหม เมื่อไม่มีนามปฏิสนธิ ก็ไม่ต้องมีจักขุปสาท ไม่ต้องมีโสตปสาท ไม่ต้องมีฆานปสาท ไม่ต้องมีชิวหาปสาท ไม่ต้องมีกายปสาท เพราะไม่มีนามขันธ์เกิด ไม่มีจิตเจตสิกเกิด ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น