แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1311

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๗


ถ. โลภะเป็นกิเลสอย่างหนึ่งของมนุษย์ทุกคน และที่ว่าเกิดจากกรรม และเกิดจากกิเลสนั้น พอจะเข้าใจ แต่เราจะโทษสิ่งแวดล้อมได้ไหม เพราะตั้งแต่ เกิดมา จะทานข้าว หรือจะแต่งกาย จะไปไหน จะพูดจาอะไร ก็มีคนคอยทักท้วง หรือว่าสนับสนุนว่า อย่างนั้นดี อย่างนี้สวย จะกล่าวได้ไหมว่า ไม่ได้เกิดจากกรรมหรือกิเลสอย่างเดียว แต่เกิดจากสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะตลอดเวลาไม่เคยมีใครบอกเลยว่า ไม่ต้องสวย มีแต่บอกว่า ต้องสวย ต้องดี ต้องรวย ต้องเลิศ มีแต่คนคอยสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้จะใช่ไหม

สุ. เพราะฉะนั้น บุคคลอื่นจึงต่างกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้นก็สอนเพื่อให้มีโลภะ เว้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เดียวที่สอนให้ละโลภะ และให้เห็นโทษของโลภะตามความเป็นจริง นี่คือความต่างกันของผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามีผู้วิเศษที่จะบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้ทุกท่านตามความต้องการ และท่านก็ตื่นเต้นกับผู้วิเศษ ลืมแล้วว่า ผู้วิเศษนั้นไม่ได้แสดงหนทางที่จะทำให้ท่านหมดโลภะเลย ตรงกันข้ามผู้วิเศษนั้นกลับทำให้โลภะของท่านเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรจะตื่นเต้นกับผู้วิเศษอื่นซึ่งทำให้โลภะของท่านเพิ่ม

แต่มีผู้ที่วิเศษด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณที่จะแสดงธรรมให้บุคคลอื่นได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และสามารถจะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ตั้งแต่เด็กจนโตที่มีเมตตาช่วยสอนในสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจะสอนให้ละโลภะ แต่สอนให้มีชีวิตในขอบเขตที่ดีตามสมควร เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาพระธรรม เพราะบุคคลอื่นไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ นอกจากพระรัตนตรัย

ทุกท่านยังคงแสวงหาความสวยความงามอยู่ ไม่ใช่ว่าจะหมดไปได้ ในชีวิต ไม่มีใครที่จะอยู่ได้โดยไม่มีโลภะ แม้พระโสดาบันก็ยังมีโลภะ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ควรจะอบรมเจริญปัญญาเพื่อสามารถละโลภะด้วย ไม่ใช่เจริญโลภะอย่างเดียว โดยไม่แสวงหาทางดับโลภะเลย

ถ. ตอนไหนที่จะเห็นตัวโลภะได้ง่ายที่สุด ชัดเจนที่สุด โลภะนี่จะเห็นง่ายๆ ได้อย่างไร อย่างบางทีเรานึกว่า อยากทานอาหาร จะเห็นตอนนี้ได้ไหมว่า นี่คือโลภะ

สุ. ได้ แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสติไม่เกิด โลภะก็เกิดไปโดยไม่รู้ลักษณะของโลภะ แม้สิ่งนั้นจะเกิดอยู่เป็นประจำก็ยังไม่รู้ ต้องอาศัยพระปัญญาคุณ ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ จึงจะพิจารณาได้

ถ. ถ้าปฏิสนธิในมนุษยภูมิ หรือเทวภูมิ หรือพรหมภูมิ ชวนวิถีแรกเป็นโลภะก็ไม่น่าสงสัย แต่ถ้าไปเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น วิถีจิตแรกก็ยังเป็นโลภะ ไม่น่ามีอะไรที่ยินดี ทำไมยังเป็นโลภะ

สุ. ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดที่ไหน เป็นใคร แต่เมื่อวิถีจิตเกิด วิถีแรกคือ มโนทวารวิถี เพราะอารมณ์กระทบจึงมีการเริ่มรู้สึกตัว เพียงแค่รู้สึกตัวเท่านั้น ยังไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จึงยังไม่เห็นสิ่งที่ไม่ดี ยังไม่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ยังไม่ได้กลิ่นที่ไม่ดี ยังไม่ได้ลิ้มรสที่ไม่ดี ยังไม่ได้กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดี ในขณะนั้นยังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพียงแต่เริ่มรู้สึกตัวนิดเดียว โลภมูลจิตก็พอใจในภพที่เกิด ในสภาพ ในความที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้น ซึ่งแสดงว่าทุกคนไม่อยากจะสิ้นสุดภพชาติเลย

บางคนบอกว่า ไม่ขอเกิดอีก จะไม่เกิดอีกไม่ได้ ไม่มีทางเป็นได้ที่จะไม่เกิด แต่ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ไม่เกิด โดยการบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะไม่เกิด

เพราะฉะนั้น เมื่อเพียงเกิด ยังไม่ได้รับการทรมาน หรือยังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะว่ามโนทวารวิถีเกิดก่อน ในขณะนั้นจึงยินดีพอใจในชีวิต ในภพชาติที่มีอยู่ ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ไม่มีใครที่จะเว้นความพอใจในการมีชีวิตได้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

ไม่มีใครสงสัยหรือว่า เป็นโลภมูลจิตดวงไหน โลภมูลจิตมี ๘ ดวง จะเป็นดวงไหน หรือผ่านไปแล้ว ไม่เป็นไร ดวงไหนก็ไม่เป็นไร เคยคิดสงสัยบ้างไหม

สำหรับอกุศล จำแนกออกเป็นระดับขั้นต่างๆ ด้วย อกุศลที่เป็นอาสวะ เป็นอกุศลอย่างบางเบา ไหลอยู่เป็นประจำ เพราะหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ไม่ว่าจะประสบกับรูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ ที่จะไม่ให้อาสวะเหล่านี้เกิดก็ยาก เพราะว่าสะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์

ธรรมสังคณีปกรณ์ อัตถุธารกัณฑ์ อาสวโคจฉกะ ข้อ ๙๑๓ แสดง อกุศลธรรมที่เป็นอาสวะ มีข้อความว่า

อาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ ทิฏฐาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑

กามาสวะเกิดในโลภมูลจิต ๘ ดวง ภวาสวะเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง ทิฏฐาสวะเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง และอวิชชาสวะเกิดในอกุศลจิตทุกดวง

นี่เป็นความต่างกัน

กามาสวะ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดใน โลภมูลจิต ๘ ดวง

ภวาสวะ คือ ความพอใจในภพ ในขันธ์ เกิดในโลภมูลจิต ๔ ดวง ที่ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ คือ เกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

ทิฏฐาสวะ คือ ความพอใจในความเห็นผิด เกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

สำหรับอวิชชาสวะ เกิดในอกุศลจิตทุกดวง

เพราะฉะนั้น หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว โลภมูลจิตที่เป็นโลภชวนะก็เกิด และก็มีอวิชชาสวะเกิดร่วมด้วยด้วย

ถ. อาจารย์ยังไม่ได้บอกเลยว่า โลภะดวงไหน

สุ. กามาสวะเกิดในโลภมูลจิต ๘ ดวง กามาสวะ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภวาสวะเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง ภวาสวะ คือ ความพอใจในภพ ในขันธ์ ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิด เกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง อวิชชาสวะเกิดในอกุศลจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิต หลังจากที่ภวังคจิตและปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เป็นดวงไหน

ถ. ขึ้นอยู่กับภูมิหรือเปล่า

สุ. ลองคิดดู ตามความเป็นจริง ควรจะเป็นดวงไหนในโลภมูลจิต ๘ ดวง

ถ. ผมคิดว่า ถ้าในกามภูมิ คงจะเป็นโลภมูลจิตดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวง

สุ. เกิดมาก็มีทิฏฐิ ความเห็นผิดเลยหรือ เพียงแค่รู้สึกตัวขึ้นมานิดเดียว เท่านั้นเอง ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่มีเรื่องราวใดๆ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ควรจะเป็นโลภมูลจิตดวงไหนใน ๘ ดวง

ถ. ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

สุ. ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เพราะว่าเป็นภวาสวะ ความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ มีอยู่ทุกภูมิ ไม่ว่าจะเป็นในนรก หรือสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์ เทวดา รูปพรหม หรืออรูปพรหม ก็มีความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ ในชีวิตที่มีอยู่ ในขณะนั้น

ถ. ไม่ยกเว้นแม้พระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้ายหรือ

สุ. ไม่ได้แสดงไว้ แต่อย่าลืมว่า ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ มีทางที่จะพิเศษจากบุคคลทั้งหลายได้ แต่ไม่ได้แสดงไว้ ในพระสูตรแสดงว่า พระโพธิสัตว์มีการรู้สึกตัวเมื่อปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นไปได้ที่ว่าวิถีจิตแรกอาจจะเป็นโลภมูลจิต เพราะว่า สั้นนิดเดียวเพียง ๗ ขณะ วิถีต่อไปก็เป็นมหากุศลได้สำหรับพระโพธิสัตว์ แต่ไม่ได้แสดงไว้ในพระสูตร นอกจากแสดงว่า พระโพธิสัตว์ทรงรู้สึกตัวในกาลไหนบ้าง เช่น ในขณะปฏิสนธิ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้

สำหรับลักษณะของโมหเจตสิก อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ มีข้อความว่า

โมหเจตสิก

จิตตัสสะ อันธภาวลักขโณ อัญญาณลักขโณ วา

มีความมืดของจิตเป็นลักษณะ หรือมีความไม่รู้เป็นลักษณะ

อสัมปฏิเวธรโส อารัมมณสภาวัจฉาสาทนรโส วา

มีความไม่แทงตลอดเป็นรสะ หรือมีความปกปิดสภาวะของอารมณ์เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

อสัมมาปฏิปัตติปัจจุปัฏฐาโน อันธการปัจจุปทัฏฐาโน วา

มีความไม่ปฏิบัติชอบเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีอันธการ คือ มืดมน เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ

อโยนิโสมนสิการปทัฏฐาโน

มีการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคายเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

พึงเห็นว่าเป็นมูลแห่งอกุศลทั้งปวง

เป็นการยากที่เกิดมาแล้วจะรู้ตัวโดยกุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ต้องเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้สึกตัว และเป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วย โมหเจตสิก คือ เป็นโลภมูลจิต มีความยินดีในขันธ์ ในภพ ในชีวิตที่ตนเกิดในขณะนั้น

ข้อความใน อัฏฐสาลินี ได้อธิบายพรรณนาลักษณะของโมหเจตสิกต่อไปว่า

พระบาลีนิทเทส โมหะ

โมหะเกิดขึ้นในสมัยนั้นเป็นไฉน

คือ อัญญาณ ความไม่รู้

อทัสสนะ ความไม่เห็น

อนภิสมัย ไม่ตรัสรู้

อนนุโพธะ ไม่รู้โดยสมควร

อสัมโพธะ ไม่รู้ตามความเป็นจริง

อัปปฏิเวธะ ไม่แทงตลอด

อสังคาหณา ไม่ถือเอาให้ถูกต้อง

อปริโยคาหณา ไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ

อสมเปกขนา ไม่พินิจ

อปัจจเวกขณา ไม่พิจารณา

อปัจจักขกัมมะ ไม่มีการกระทำให้ประจักษ์

ทุมเมชฌะ ทรามปัญญา

พาลยะ ความโง่เขลา

อสัมปชัญญะ ความไม่รู้ชัด

โมหะ ความหลง

ปโมหะ ความลุ่มหลง

สัมโมหะ ความหลงใหล

อวิชชา ไม่ใช่วิชชา

อวิชโชฆะ โอฆะ คือ อวิชชา

อวิชชานุสัย อนุสัย คือ อวิชชา

อวิชชาปริยุฏฐานะ ปริยุฏฐานะ คือ อวิชชา

อวิชชาลังคี ลิ่ม คือ อวิชชา

อกุศลมูล คือ โมหะ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าโมหะเกิดในสมัยนั้น

ต้องใช้คำมาก เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะสภาพของโมหเจตสิก ซึ่งเป็น สภาพธรรมที่ไม่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

เปิด  227
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565