แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1312

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๗


ข้อความต่อไป อธิบายนิทเทสของโมหะเป็นข้อๆ ตามที่ได้กล่าวแล้ว คือ

ข้อ ๓๙๐

ที่ชื่อว่าอัญญาณ ความไม่รู้ อทัสสนะ ความไม่เห็น เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อญาณ ความรู้ และทัสสนะ ความเห็น

ขณะใดที่เกิดความรู้ หรือความเข้าใจ หรือการเห็นถูก ในขณะนั้นไม่ใช่ สภาพลักษณะของโมหะ เพราะลักษณะของโมหะตรงกันข้ามกับความรู้ ความเห็น

ที่ชื่อว่าอนภิสมัย ความไม่ตรัสรู้ ด้วยอรรถว่า เป็นสภาวะที่เผชิญหน้าก็ ไม่ตรัสรู้ คือ ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องโดยธรรม

ในขณะนี้หรือเปล่า ถ้าไกลตัวออกไปก็ไม่ได้พิจารณาธรรม จึงไม่สามารถเข้าใจสภาพของโมหะได้ แต่ถ้าไม่ไกลตัว ในขณะนี้เองสามารถที่จะรู้ลักษณะของโมหะได้ว่า ที่ชื่อว่าอนภิสมัย ความไม่ตรัสรู้ ด้วยอรรถว่า เป็นสภาวะที่เผชิญหน้าก็ไม่ตรัสรู้ คือ ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องโดยธรรม

เห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไร กระทบสัมผัสอะไร โมหะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าโมหะไม่เกิด ตรัสรู้สภาวะที่เผชิญหน้าอย่างถูกต้องโดยธรรม คือ ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ ต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นจึงไม่ใช่ลักษณะของโมหะ แต่ถ้าเห็นคนเดิน มีความยึดมั่นว่าเป็นคนกำลังเดิน เป็นรถกำลังวิ่ง ไม่สามารถที่จะถ่ายถอนความเป็นคนเดิน หรือความเป็นรถวิ่งออกเหลือแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาที่คนตาบอดไม่เห็น ขณะใดที่เป็นอย่างนี้ ให้ทราบว่าในขณะนั้น คือ ความไม่ตรัสรู้ ด้วยอรรถว่า เป็นสภาวะที่เผชิญหน้าก็ไม่ตรัสรู้ คือ ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องโดยธรรม

สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ โดยสภาพที่แท้จริงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น ไม่ได้เป็นอย่างอื่นเลย ไม่ได้เป็นคน ไม่ได้เป็นสัตว์ ไม่ได้เป็นวัตถุสิ่งใด ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสีสันวัณณะที่ปรากฏเพราะกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ถ้ากระทบสัมผัสดู แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แข็งหรืออ่อนเป็นคนหรือเปล่า เป็นรถหรือเปล่า ตึงหรือไหวเป็นคนหรือเปล่า เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือเปล่า

โดยปรมัตถธรรม แข็งเป็นแข็ง เย็นเป็นเย็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ฉันใด ทางตาต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น ลักษณะของโมหะคือ อนภิสมัย ความไม่ตรัสรู้ ด้วยอรรถว่า เป็นสภาวะที่เผชิญหน้า ขณะนี้กำลังเห็นอยู่แท้ๆ รูปารมณ์กำลังปรากฏทางตา และเป็นรูปารมณ์เท่านั้นจริงๆ แต่โมหะ ก็ไม่ตรัสรู้ คือ ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องโดยธรรม

พอที่จะรู้ลักษณะของโมหะหรือยัง ขณะใดที่ไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังเผชิญหน้าตามความเป็นจริงในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ยังมีความเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่ นั่นคือ การไม่ตรัสรู้สภาพธรรม เป็นลักษณะของโมหะ

มีอยู่ทุกวัน ใช่ไหม ไม่ต้องไปหาที่ไหน เกือบจะไม่ต้องเปิดตำราเลย ถ้ารู้ว่าโมหะมีลักษณะอย่างไร คือ ไม่สามารถรู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเผชิญหน้าอยู่จริงๆ เพราะฉะนั้น โมหะมีมากเหลือเกิน เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง ทุกประเภท

ข้อความต่อไปแสดงว่า

สภาวะที่ตรัสรู้ธรรมโดยสมควร ชื่อว่าอนุโพธะ ที่ชื่อว่าอนนุโพธะ ความไม่ ตรัสรู้โดยสมควร เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่ออนุโพธะนั้น

ตราบใดที่โมหะยังมีอยู่มากมาย ก็รู้ได้ว่าไม่ใช่กาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าจะไปนั่งจ้องที่รูปหนึ่งรูปใด อยากจะให้ประจักษ์ความเกิดดับ แต่ไม่รู้ลักษณะของโมหะเลยว่า ในขณะที่เห็น ก็ยังไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ในขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ก็ยังไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และจะไปตรัสรู้สภาพของอริยสัจธรรมได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ สภาวะที่ตรัสรู้ธรรมโดยสมควร ชื่อว่าอนุโพธะ ที่ชื่อว่าอนนุโพธะ ความไม่ตรัสรู้โดยสมควร เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่ออนุโพธะนั้น

ยังมีปฏิปักษ์มากไหมต่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทางตา พิสูจน์ได้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ที่ชื่อว่าอสัมโพธะ ไม่รู้ตามเป็นจริง ด้วยอรรถว่า ไม่รู้เกี่ยวกับความไม่เที่ยง เป็นต้น

ขณะนี้ทางตาเกิดขึ้นและดับไป ในขณะที่ได้ยินเสียง ทางตาต้องไม่ปรากฏ นั่นจึงจะเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าอสัมโพธะ ไม่รู้ตามเป็นจริง ด้วยอรรถว่า ไม่รู้เกี่ยวกับความไม่เที่ยงเป็นต้น

ชื่อว่าอสัมโพธะ ด้วยอรรถว่า รู้สิ่งที่ไม่จริงและไม่เสมอกัน ดังนี้ ก็มี

ขณะนี้กำลังรู้สิ่งที่ไม่จริงหรือเปล่า ถ้าไม่รู้สิ่งที่จริงก็เท่ากับรู้สิ่งที่ไม่จริง ไม่รู้ว่าไม่เที่ยง จึงยังคงคิดว่าเที่ยง ยังไม่เห็นอะไรดับไปสักอย่างเดียว เพราะโมหะเป็น สภาพธรรมที่ ไม่รู้เกี่ยวกับความไม่เที่ยงเป็นต้น

ที่ชื่อว่าอัปปฏิเวธะ ไม่แทงตลอด ด้วยอรรถว่า ไม่แทงตลอดธรรม คือ สัจจะทั้ง ๔

ที่ชื่อว่าอสังคาหณา ไม่ถือเอาให้ถูกต้อง ด้วยอรรถว่า ไม่ถือเอาให้ถูกต้อง แม้ธรรมข้อหนึ่งในบรรดารูปธรรมเป็นต้น โดยความไม่เที่ยงเป็นต้น เสมอกัน

ชีวิตประจำวันทั้งนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดจะไม่เข้าใจลักษณะของโมหะ ซึ่งปิดบังลักษณะที่ไม่เที่ยงของสภาพธรรม

ที่ชื่อว่าอปริโยคาหณา ไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ด้วยอรรถว่า ไม่หยั่งลงโดยรอบคอบซึ่งธรรมนั้นแหละ

ที่ชื่อว่าอสมเปกขนา ไม่พินิจ ด้วยอรรถว่า ไม่เพ่งให้สม่ำเสมอ

ที่ชื่อว่าอปัจจเวกขณา ไม่พิจารณา ด้วยอรรถว่า ไม่เล็งเฉพาะถึงสภาวะแห่งธรรมทั้งหลาย

ขณะนี้หรือเปล่า ที่สติไม่เกิดระลึกลักษณะของรูปธรรมใดนามธรรมใด ชื่อว่า ไม่เล็งเฉพาะถึงสภาวะแห่งธรรมทั้งหลาย ทีละอย่างๆ ที่ปรากฏ ทีละทาง

ที่ชื่อว่าอปัจจักขกัมมะ ไม่มีการกระทำให้ประจักษ์ ด้วยอรรถว่า ข้อนี้ไม่มีกรรมที่ประจักษ์แม้แต่ข้อเดียว ในบรรดากุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย ด้วยความเป็นไปวิปริตบ้าง ด้วยไม่มีการถือเอาภาวะของตนบ้าง อีกอย่างหนึ่งชื่อว่า อปัจจักขกัมมะ ด้วยอรรถว่า ชื่อว่าการกระทำให้ประจักษ์ซึ่งกรรมข้อไรๆ ด้วยตนเองมิได้มี

โมหะเป็นสภาพธรรมที่กระทำกรรมให้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ไหม ไม่มีทางเลย เพราะโมหะไม่รู้ แม้แต่สิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ เพราะฉะนั้น กุศลจิต สติปัฏฐานสามารถจะกระทำกรรมที่จะทำให้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ แต่โมหะจะทำอย่างสติปัฏฐานไม่ได้เลย

ที่ชื่อว่าทุมเมชฌะ ด้วยอรรถว่า เมื่อธรรมชาตินี้ยังไม่เกิด จิตสันดานใดพึงเป็นความบริสุทธิ์ คือ สะอาดผ่องแผ้วอยู่ จิตสันดานนั้นกลับถูกธรรมชาตินี้ประทุษร้ายความสะอาดเสียแล้ว

ไม่เคยคิดว่า จิตจะไม่สะอาดในขณะที่โมหะเกิดใช่ไหม เพราะโมหะเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง ทุกประเภท เวลาโลภะเกิด ไม่เคยรู้สึกเลยว่าจิตไม่สะอาด เวลาโทสะเกิดก็ไม่รู้ว่าจิตไม่สะอาด ไม่ชอบโทสะ แต่ไม่รู้ว่าขณะนั้นไม่สะอาดแล้วด้วยโมหะและโทสะ เวลาที่อิสสาเกิด สะอาดไหมอิสสา ความริษยา ในขณะนั้นพอที่จะเห็นความไม่สะอาดได้ มัจฉริยะ ความตระหนี่ และอกุศลธรรมอื่นๆ ก็ต้องเกิดกับโมหะทั้งสิ้น

ที่ชื่อว่าพาลยะ ความโง่เขลา ด้วยอรรถว่า เป็นภาวะของพวกคนเขลา

คนอื่นหรือเปล่า คนอื่นเขลาทั้งนั้น หรืออย่างไร หรือตัวเองก็ยังเขลามากๆ ทีเดียว เพราะยังมีโมหะ เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่าพาลยะ ความโง่เขลา ด้วยอรรถว่า เป็นภาวะของพวกคนเขลา

ที่ชื่อว่าโมหะ ด้วยอรรถว่า หลง ความหลงที่แรงยิ่งขึ้น ชื่อว่าปโมหะ ความลุ่มหลง

ไม่ใช่หลงเฉยๆ บางครั้งก็ยังถึงกับลุ่มหลงอย่างมากด้วย

ที่ชื่อว่าสัมโมหะ ความหลงใหล ด้วยอรรถว่า หลงโดยรอบด้าน

ที่ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่า ไม่ใช่วิชชา เพราะภาวะเป็นปฏิปักษ์ต่อวิชชา

ความหมายแห่งโอคะและโยฆะ ได้กล่าวแล้วในตอนก่อนๆ ของอัฏฐสาลินี

ที่ชื่อว่าปริยุฏฐานะ ด้วยอรรถว่า กลุ้มรุม คือ ครอบงำจิต

ที่ชื่อว่าลังคี ด้วยอรรถว่า ไม่สามารถจะไป

ทุกคนพิจารณาตนเอง สามารถจะไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคลหรือยัง ถ้ายังเพราะอะไร เพราะโมหะ ชื่อว่าลังคี ด้วยอรรถว่า ไม่สามารถจะไป

คือ ย่อมติดอยู่โดยแท้ทีเดียว อธิบายว่า ไปลำบาก เฉพาะหน้าประโยชน์เกื้อกูล ด้วยไม่มีการถือเอาประโยชน์เกื้อกูล อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าลังคี ด้วยอรรถว่า ถอนขึ้นได้ยาก อุปมาเหมือนลังคี กล่าวคือ ลิ่มอันใหญ่ ย่อมเป็นอันถอนขึ้นได้ยาก ฉันใด แม้อวิชชานี้ก็ฉันนั้น เหมือนอย่างลังคี คือ ลิ่ม เหตุนั้นจึงชื่อว่าลังคี

เพราะเหตุว่าเพียงแต่จะไปก็ไม่สามารถจะไป อยู่กับอกุศลมากมาย ย่อมติดอยู่โดยแท้ทีเดียว ถ้าไม่อบรมเจริญกุศลจนเป็นพละ จนกระทั่งมีกำลังจริงๆ ย่อมไม่สามารถละคลายอวิชชาคือโมหะได้

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับอวิชชา มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ วิชชา ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาไม่มีทางละอวิชชาได้

ถ. คนที่ไม่รักชีวิตตนเอง และฆ่าตนเอง ทุกคนมักตำหนิว่า โง่และบาป อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่า บาปอย่างไร

สุ. ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ที่ว่าบาปเพราะเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต และที่เป็นอกุศลจิตเพราะมีโมหเจตสิกหรือมีอวิชชาเกิดร่วมด้วย ไม่รู้ความจริงของ สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันโดยปัจจัยต่างๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

คนที่ฆ่าตัวเองมักจะคิดว่า จะพ้นจากสภาพที่ตนเองไม่พอใจ แต่ถ้าเขาเกิดอีก และเป็นอย่างนั้นอีกเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ ก็ไม่ใช่ทางออก ทางออกไม่ใช่โดยการฆ่าตัวเอง แต่โดยการอบรมเจริญปัญญา เพราะถ้าไม่มีปัญญา ฆ่าแล้วก็ต้องเกิดอีก และก็ฆ่าอีก เกิดอีก ไม่มีทางที่จะยุติได้ด้วยการฆ่าตัวเอง

ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องโลภมูลจิตซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำ และเป็นชวนวิถีแรกหลังจากที่ปฏิสนธิจิตและภวังคจิตที่เกิดสืบต่อดับไป วิถีจิตทางมโนทวารจะ เกิดก่อน โดยที่มโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่เกิดในภพภูมิไหนทั้งสิ้น โลภมูลจิตจะเกิดขึ้นกระทำกิจชวนะเกิดดับติดต่อกัน ๗ ขณะและดับไป ตามการสะสมของจิตซึ่งมีอยู่ในทุกภพทุกชาติเป็นประจำ เพราะฉะนั้น เมื่อโลภะสะสมไว้มากก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้เป็นชวนวิถีที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนะ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจในเรื่องของโลภมูลจิต

สำหรับโลภมูลจิต แม้จะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะจิตหนึ่งเพราะ เหตุปัจจัยและดับไป แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงปัจจัยที่ทำให้เกิดโลภมูลจิตว่า ในขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ นั้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ซึ่งขณะนี้ก็ไม่รู้เลยว่าโลภะหนึ่งขณะสั้นแค่ไหน แต่พระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค ทรงสามารถที่จะทราบว่า ในขณะที่โลภมูลจิตเกิดนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร และเป็นเจตสิกอะไรบ้าง ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายเจตสิกโดยฐานะต่างๆ มีข้อความว่า

แม้ถ้อยคำที่พระองค์ไม่ทรงทราบแล้วตรัส ก็ย่อมไม่มี

แสดงว่าพระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพราะทรงทราบ ไม่ใช่เพราะไม่ทรงทราบ

พระองค์ทรงทราบทั้งหมดแล้วจึงตรัสทั้งนั้น แท้จริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงทราบหน้าที่แห่งธรรมนั้นๆ ครั้นทรงทราบหน้าที่นั้นแล้ว ทรงยกขึ้นจำแนกตามหน้าที่ อุปมาว่า น้ำหรือน้ำมันหลายชนิดที่ใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดวัน การมองดู ดมกลิ่น หรือลิ้มรส ก็อาจจะรู้ได้ว่าต่างกันเพราะสี กลิ่น และรสต่างกัน แม้จะเป็นได้ถึงอย่างนั้น การนั้นท่านก็พูดว่าทำได้ยาก แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงจำแนกธรรม คือ จิตและเจตสิก ซึ่งไม่มีรูป อยู่ในอารมณ์เดียวกันเหล่านี้ออกเป็นแผนกๆ แล้วยกบัญญัติขึ้นตรัส ชื่อว่าทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก

ถ้าเอาน้ำมันต่างชนิดหลายๆ อย่าง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมัน หรือจะเป็นเครื่องปรุงหลายๆ อย่างใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดทั้งวัน ด้วยการดู หรือ ดมกลิ่น หรือลิ้มรส ก็อาจจะแยกได้ว่า รสอะไรแรง รสอะไรอ่อน เพราะฉะนั้น ในการปรุงอาหารแต่ละครั้ง ผู้ที่ชำนาญเพียงเห็นด้วยตาก็สามารถจะบอกได้ว่า สีที่ต่างกันนั้น ต่างกันเพราะอะไร หรือถ้าเป็นน้ำมันที่เข้ากันได้สนิทหลายชนิด ก็ยังสามารถที่จะบอกได้ด้วยความชำนาญ แม้ว่าจะใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดวัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของความชำนาญในทางโลก แต่สำหรับสภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งไม่มีรูป และเป็นสภาพธรรมที่ใช้คำว่า อยู่ในอารมณ์เดียวกัน คือ รู้อารมณ์เดียวกัน แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังแยกออกเป็นส่วนๆ และยกขึ้นตรัส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก

ถ้าเข้าใจเรื่องของปัจจัยต่างๆ จะเห็นได้ว่า ความละเอียดของธรรม นอกจากเรื่องของนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงลักษณะของธรรมนั้นๆ โดยละเอียดแล้ว แม้แต่รูปของแต่ละบุคคลซึ่งความจริงแล้วละเอียดยิ่งเหมือนกัน ถ้าจะแตกย่อยออกไป ย่อมได้จนถึงขนาดที่เล็กที่สุด แม้ อย่างนั้นแต่ละรูปซึ่งเล็กที่สุด ซึ่งรวมเป็นกลุ่มที่แยกไม่ได้เป็นแต่ละกลุ่มนั้น ก็ยังเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เกิดดับสืบต่อดำรงอยู่ตั้งแต่ปฏิสนธิในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ตราบจนกระทั่งถึงจุติ คือ ขณะที่เคลื่อนจากภูมินี้

แสดงให้เห็นว่า แม้รูปธรรม อย่าคิดถึงตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าซึ่งเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ แต่ควรจะคิดถึงกลุ่มเล็กๆ เล็กที่สุดที่สามารถแยกย่อยออกไปโดยละเอียด และเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นปัจจัยแก่นามธรรมด้วย จะเห็นได้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน และถ้าได้ศึกษาสภาพของธรรมโดยละเอียด ทั้งฝ่ายของรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งแต่ละท่านอาจจะเข้าใจว่าโลภะเป็นตัวท่าน แต่ความจริงไม่ใช่เลย โดยธาตุ เป็นธาตุแต่ละอย่าง แต่ละชนิด ที่อาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้น

เปิด  232
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566