แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1315

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗


สำหรับปกิณณกเจตสิกดวงที่ ๖ คือ ฉันทเจตสิก เป็นสภาพที่พอใจ ใคร่ในการที่จะกระทำ เพราะฉะนั้น ฉันทเจตสิก ไม่เกิดกับจิต ๒๐ ดวง คือ ไม่เกิดกับ อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง และโมหมูลจิต ๒ ดวง

สำหรับอกุศลจิต มี ๑๒ ดวง ฉันทเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง แต่ไม่เกิดกับโมหมูลจิต ๒ ดวง และไม่เกิดกับอเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า เลือกไม่ได้

เสียงเกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาท ได้ยินแล้วในขณะนี้ ห้ามได้ไหม ไม่ให้ได้ยิน พอใจจะได้ยินก็ได้ยิน พอใจจะไม่ได้ยินก็ไม่ได้ยิน เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่เป็น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ฉันทเจตสิกจึงไม่เกิดกับอเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง และไม่เกิดกับ โมหมูลจิต ๒ ดวงด้วย เพราะเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ตามความเป็นจริง จึงไม่มี ฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ใครมีฉันทะที่จะให้โมหมูลจิตเกิดบ้างไหม ก็ไม่มี แต่มีฉันทะที่จะให้โลภะเกิด ใช่ไหม มีฉันทะที่จะให้โทสะเกิดใช่ไหม มีแน่ๆ ใช่ไหม

ธรรมเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องน่าอนุโมทนาสำหรับผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

ผู้ฟัง เรื่องการยุให้คนแตกแยกกัน เคย เหตุการณ์นี้เป็นความจริง สมัยก่อนยังไม่ได้เรียนธรรม ไม่พอใจเพื่อนคนหนึ่ง ก็ต้องยุอีกคนหนึ่งว่า คนนี้ไม่ดีอย่าไปคบด้วย ที่จริงเขาไม่ใช่เป็นคนไม่ดี เราต่างหากที่คิดผิด ต้องการให้เขาแตกแยกกัน จึงยุให้โกรธกัน แตกความสามัคคีกัน เพราะยังไม่ทราบว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ศึกษาธรรมแล้วก็รู้ว่าตัวเองดีหรือไม่ดี ก่อนศึกษาจะเข้าข้างว่าตัวเองดี ตัวเองถูก ตัวเองเลิศอยู่เสมอ

สุ. ขออนุโมทนา

ถ. หสิตุปปาทจิต ทำไมไม่มีฉันทะประกอบด้วย

สุ. เลือกอารมณ์ไม่ได้ ขณะใดที่เป็นอเหตุกจิต คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ ขณะนั้นจะไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ถ. ฉันทะเป็นความพอใจ

สุ. ความพอใจในการที่จะทำ

ถ. โมหะไม่น่าสงสัย เพราะโมหะไม่น่าพอใจอยู่แล้ว แต่หสิตุปปาทจิต ผมยังสงสัย

สุ. ถ้าคิดว่า เลือกอารมณ์ไม่ได้ จะสงสัยไหม

ถ. ก็ยังไม่เข้าใจ อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างว่า เลือกอารมณ์อย่างไร

สุ. ทุกคนเกิดมาอยากจะเห็นสิ่งที่ดีๆ อยากจะได้กลิ่นดีๆ แต่ขณะใดที่ได้กลิ่นไม่ดี จะเลือกได้ไหม

ถ. เลือกไม่ได้

สุ. เพราะฉะนั้น จึงไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าฉันทเจตสิกเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ คือ สามารถที่จะเกิดด้วยความพอใจ สามารถที่จะเลือกอารมณ์ได้ เลือกที่จะพอใจ คือ เลือกเป็นโลภะก็ได้ หรือจะเลือกเป็นโทสะก็ได้ ในสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งอาจจะเป็นโทสะ อีกคนหนึ่งอาจจะเป็นโลภะ ตามฉันทะ ตามการสะสมมาที่จะเป็นโลภะหรือที่จะเป็นโทสะ แต่การเห็น บังคับหรือเลือกไม่ได้ ไม่ว่าใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง จึงไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นไปตามการกระทบของอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

ถ. ถ้าเราเลือกได้เป็นฉันทะ ส่วนโทสะ เราจะโกรธหรือไม่โกรธ เราเลือกได้หรือเปล่า บางทีก็เลือกไม่ได้ อดโกรธไม่ได้

สุ. บางคนชอบโกรธ

ถ. ชอบโกรธก็มี ไม่ชอบโกรธก็มี รู้ว่าโกรธไม่ดี แต่ทนไม่ได้ ต้องโกรธ

สุ. โกรธไม่ดี แต่ก็ยังอยากจะโกรธเหมือนกัน

ถ. ห้ามไม่ได้

สุ. มีความพอใจอยู่บ้างไหมในขณะที่โกรธ พอใจที่จะโกรธ ต้องโกรธ เรื่องนี้ต้องโกรธ ไม่โกรธไม่ได้

ถ. หมายความว่า ที่เราโกรธนั้นเพราะเราพอใจ ถ้าเราไม่พอใจที่จะโกรธ ก็ไม่โกรธ ใช่ไหม

สุ. ต้องมีฉันทะ ความพอใจอยู่ด้วย พร้อมกับเจตสิกอื่น

สำหรับอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ขอกล่าวตามลำดับ คือ เมื่อโลภมูลจิตเป็น ชวนวิถีแรกในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็ควรที่จะทราบว่า เมื่อโลภมูลจิตเกิดจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย และที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ มีปกิณณกเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจาก ปกิณณกเจตสิกแล้ว ยังมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมกับโลภมูลจิตเลย เพราะโลภมูลจิตเป็นอกุศลจิต

สำหรับอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง จำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือ เป็น อกุศลสาธารณะ ๔ ดวง ได้แก่ เจตสิกซึ่งต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต จะต้องมีอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวงนี้ เกิดร่วมด้วยเสมอไปทุกครั้ง

อกุศลสาธารณะเจตสิก ๔ คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ และอุทธัจจเจตสิก ๑

ควรสังเกตและพิจารณาสภาพของอกุศลธรรม เพื่อจะได้ละคลาย ถ้าไม่สังเกต ไม่พิจารณา จะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล และย่อมไม่เกิดความคิดที่จะละอกุศลนั้นๆ ต่อเมื่อใดที่ได้พิจารณาลักษณะสภาพของอกุศลธรรม และเห็นว่าเป็นอกุศลธรรมจริงๆ เมื่อนั้นจะละคลายตามสมควรแก่การพิจารณานั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นในขั้นใด

สำหรับลักษณะของโมหเจตสิกตามที่ได้กล่าวถึงในคราวก่อนว่า เป็น สภาพธรรมที่แม้ว่ามีอารมณ์ปรากฏแก่โมหมูลจิต ลักษณะของโมหเจตสิกก็เป็น สภาพธรรมที่ปิดบังลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์นั้น เหมือนกับความมืดบอด ไม่สามารถที่จะเห็นอารมณ์นั้นตามความเป็นจริงได้ คือ เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง และไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ตามืดบอด กับตามืด ไม่เหมือนกันใช่ไหม ขณะใดที่หลับตาหรือมองอะไร ไม่เห็นเพราะมืด จะไม่เหมือนกับขณะที่มืดบอดหรือบอด เพราะฉะนั้น ลักษณะของโมหเจตสิกเหมือนกับความมืดบอดจริงๆ คือ ขณะใดที่โมหเจตสิกเกิดกับจิตใด ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

สำหรับอหิริกเจตสิก ข้อความใน อัฏฐสาลินี พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ จิตตุปาทกัณฑ์ มีว่า

อหิริกะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ละอายต่อบาปอกุศล

ยังไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นบาปเป็นอกุศลจะละอายได้ไหม เพราะฉะนั้น ด้วยความไม่รู้ คือ จะขาดโมหะไม่ได้เลย ไม่ใช่มีแต่อหิริกะ หรืออโนตตัปปะ หรืออุทธัจจะ แต่ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีอหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจเจตสิก เป็น อกุศลสาธารณเจตสิก เพราะฉะนั้น ที่ไม่ละอายก็เพราะไม่รู้ว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศลและอกุศล

ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

อหิริกะนั้น

กายทุจริตาทีหิ อชิคุจฉนลักขณัง อลัชชนลักขณัง วา

มีการไม่เกลียดกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ หรือมีความไม่ละอาย กายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ

ปาปานังกรณรสัง

มีการกระทำบาปเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

อสังโกจนปัจจุปัฏฐานัง

มีความไม่เกลียดต่อบาปธรรมเป็นอาการปรากฏ

อัตตอคารวปทัฏฐานัง

ไม่มีความเคารพตนเป็นเหตุใกล้

สำหรับลักษณะของอหิริกะ คือ มีการไม่เกลียดกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ หรือมีความไม่ละอายกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ

เวลาโลภะเกิด ไม่เคยละอายเลยที่จะมีโลภะ ใช่ไหม แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงว่า เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมที่ไม่สะอาด แต่ทุกคนก็พอใจที่จะมีโลภะต่อไป เพราะไม่ละอาย หรือไม่เกลียดอกุศลธรรม

ทำอย่างไรจึงจะเห็นและละอายได้ มีหนทางไหม หรือยังคงไม่ละอายไปเรื่อยๆ ไม่ว่าโลภะจะเกิดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมากมายสักเท่าไร

ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอกุศล อยากจะละอาย แต่เวลาที่อกุศลเกิด ขณะนั้นแสดงว่าไม่ละอายจึงเป็นอกุศลแล้ว เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ต่อเมื่อใดอบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะเห็นอกุศลเป็นอกุศลที่น่ารังเกียจและน่าละอาย เมื่อนั้นจึงจะค่อยๆ ละคลายตามลำดับขั้นของการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้ว่าควรละอาย แต่ขณะใดที่อกุศลจิตระดับใดก็ตามเกิดขึ้น ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นความไม่ละอายในอกุศลขั้นนั้นๆ อกุศลขั้นนั้นๆ จึงเกิดได้

ทุกคนมีโลภะ แต่ว่ามีกายทุจริตหรือเปล่า นี่ก็แสดงระดับขั้นที่ต่างกัน

ไม่ละอายโลภะขั้นที่ยังไม่ได้เป็นกายทุจริต แต่ถ้ามีกายทุจริตเกิดขึ้นขณะใดก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ขณะนั้นไม่มีความละอายในกายทุจริตขั้นนั้นแล้ว กายทุจริตขั้นนั้นจึงเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การกระทำของแต่ละบุคคล ทางกาย ทางวาจา แม้ทางใจ ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงอหิริกะ ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ละอายต่อบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในขณะนั้นๆ ไม่หลอกตัวเอง

การศึกษาธรรมจะทำให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน บางครั้งกุศลธรรมก็เกิด บางครั้งอกุศลธรรมก็เกิด แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยทำให้อกุศลธรรมขั้นใดเกิด อกุศลธรรมขั้นนั้นก็เกิด แม้จะรู้ว่าเป็นอกุศลธรรม แต่ปัญญาไม่มีกำลังพอที่จะละคลายอกุศลธรรมขั้นนั้นๆ เพราะฉะนั้น อหิริกะจึง มีการไม่เกลียดกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ หรือมีความไม่ละอายกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ มีการกระทำบาปเป็นกิจ มีความไม่เกลียดต่อบาปธรรมเป็นอาการปรากฏ

ทุกคนไม่เกลียดบาปธรรม ชวนกันมีโลภะมากๆ สนุกขณะใด ขณะนั้นเป็นอาการปรากฏ คือ ไม่เกลียดต่อบาปธรรม เป็นอาการที่ปรากฏ บางคนมุสาและคิดว่าไม่เป็นไร เป็นธรรมดา แสดงให้เห็นว่า ไม่เกลียดต่อบาปธรรมขั้นมุสา เป็นอาการที่ปรากฏในขณะที่มุสา

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะกาย วาจา แม้ใจก็ต้องรู้ว่า มีอกุศลธรรมระดับขั้นต่างๆ และเมื่อยังไม่ใช่พระอริยบุคคล สติก็ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ในแต่ละขณะ ให้เป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ถ้ายังคด คือ ไม่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่สามารถที่จะละอกุศลธรรมได้ อาจจะเข้าใจว่า อกุศลธรรมไม่เป็นไร เพราะไม่เกลียดต่อบาปธรรม

สำหรับเหตุใกล้ให้เกิดที่ว่า อัตตอคารวปทัฏฐานัง ไม่มีการเคารพตน โดยที่ไม่เห็นว่า ตนเป็นผู้ที่ไม่ควรจะมีอกุศลธรรมนั้นๆ ถ้าขณะใดคิดว่าตนเป็นผู้ที่ไม่ควร จะมีอกุศลธรรมนั้นๆ จะทำให้เกิดหิริ ความละอายต่ออกุศลธรรม แต่ถ้าไม่คิดอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นเพราะอหิริกะ มีเหตุใกล้ คือ ไม่เห็นว่าตนเป็นผู้ที่ไม่ควรจะมี อกุศลธรรมนั้นๆ

อโนตตัปปเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ไม่กลัว คือ ไม่หวั่นเกรงอกุศลธรรม บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านกลัวบาป แต่กลัวอกุศลจิตขั้นไหน ขั้นที่เป็นอกุศลกรรม หรือหวั่นเกรงแม้ภัยของโทษเพียงเล็กน้อยที่เกิดอกุศลจิตขึ้น เพราะฉะนั้น แม้แต่ อกุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นไปในโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะเล็กๆ น้อยๆ อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นต้องมีสภาพของอโนตตัปปเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่หวั่นเกรง อกุศลธรรมเกิดร่วมด้วย

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ มีข้อความว่า

อโนตตัปปะนั้น

อสารัชชลักขณัง อนุตตาสลักขณัง วา

มีความไม่กลัว คือ ไม่พรั่นพรึง ไม่เดือดร้อนต่อกายทุจริตเป็นต้นนั่นแหละ เป็นลักษณะ หรือไม่หวั่นเกรง ไม่สะทกสะท้านกายทุจริตเป็นต้นนั่นแหละ เป็นลักษณะ

โดยมากข้อความที่กล่าวถึงลักษณะ มักกล่าวถึงข้อความที่เห็นได้ชัด เช่น ในขณะที่ไม่หวั่นเกรงต่อกายทุจริตหรือวจีทุจริต แต่ความจริงควรจะเห็นภัยแม้โทษเพียงเล็กน้อย คือ ในขณะที่อกุศลจิตเกิดด้วย ไม่ว่าจะเป็นขั้นใด เพราะในขณะนั้น ไม่พรั่นพรึง ไม่เดือดร้อนต่ออกุศลธรรมขั้นนั้นนั่นเอง

ปาปานังกรณังรสัง

มีการกระทำบาปเป็นกิจ

อสังโกจนปัจจุปัฏฐานัง

มีความไม่เกลียดต่อบาปธรรมเป็นอาการปรากฏ

ปรอคารวปทัฏฐานัง

ไม่มีการเคารพผู้อื่นเป็นเหตุใกล้

เพียงอกุศลจิต คือ โลภะ เกิดขึ้นขณะหนึ่ง อาจจะพอใจในรูป หรือในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในโผฏฐัพพะ เพียงเล็กน้อยเท่านั้นหรือ ที่มีอโนตตัปปเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว เพราะข้อความมีว่า ปรอคารวปทัฏฐานัง แปลโดยศัพท์โดยอรรถว่า ไม่มีการเคารพผู้อื่นเป็นเหตุใกล้ เพราะไม่เห็นภัยว่า เมื่ออกุศลนั้นๆ เกิดขึ้นแล้ว สะสมแล้ว จะเป็นเหตุให้ตนเองเป็นผู้ที่เดือดร้อน โดยปรมัตถธรรม เอาสัตว์ เอาบุคคล ตัวตน บุคคลอื่นออก แสดงว่าเป็นผู้ที่ไม่หวั่นเกรงต่อภัยที่จะได้รับเพราะอกุศลธรรมนั้นๆ ในขณะนั้นก็เป็นลักษณะของอโนตตัปปเจตสิก

เห็นยากไหมธรรม แสนยากทีเดียว แม้แต่อวิชชาซึ่งเป็นปัจจัยที่จะให้สังขาร ทั้งที่เป็นปุญญาภิสังขารและอปุญญาภิสังขารเกิดขึ้น ก็ยากที่จะเห็น เพราะเหตุว่าพอใจแล้วในผลที่ดีๆ เมื่อพอใจในผลที่ดีๆ ที่จะได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในการเกิดในภพที่ดีๆ ขณะนั้นก็ชื่อว่า อวิชชาปิดบังไม่ให้เห็นโทษของบุญ ซึ่งมีโทษ เพราะแม้บุญที่เกิดขึ้น เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ไม่เที่ยง คือ เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ถ้าใครยังติดอยู่ในบุญหรือในผลของบุญ ก็เป็นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดการแสวงหา ทั้งกุศลธรรมและ อกุศลธรรม ถ้าเป็นบุคคลที่เห็นโทษของอกุศลธรรม ก็หลีกเลี่ยงแต่เฉพาะอกุศลธรรม และแสวงหากุศลธรรม แต่ทั้งหมดนี้ก็เพราะอวิชชายังปิดบังไม่ให้เห็นโทษของกุศลอยู่

เรื่องของธรรมทั้งหมด เป็นเรื่องที่ละเอียด แม้แต่ลักษณะของเจตสิก เช่น อโนตตัปปเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับอหิริกเจตสิกและโมหเจตสิกทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิด

เปิด  220
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565