แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1317

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๗


บุคคลอีกประเภทหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครจะเป็นบุคคลนี้หรือเปล่า ซึ่งตอนปฏิสนธิไม่ทราบแน่ แต่เมื่อโตแล้วอาจจะทราบได้ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นทำให้สภาพธรรม นั้นๆ ปรากฏจึงรู้ได้ แต่ตราบใดที่สภาพธรรมนั้นๆ ยังไม่ปรากฏ ย่อมรู้ไม่ได้ว่า ตนเองยังมีสภาพธรรมนั้นๆ อยู่

บุคคลชื่อว่าปาปมิตตะ เพราะพวกคนลามก ไม่มีศรัทธา เป็นมิตรของบุคคลนั้น ภาวะแห่งปาปมิตตะนั้น ชื่อว่าปาปมิตตตา อันเป็นไปแล้วด้วยอำนาจ ความภักดีมั่นในพวกปาปบุคคล และด้วยอำนาจความเป็นผู้เอียงไปทางบุคคลนั้นด้วยกายและจิต

เวลาที่มีมิตรชั่ว เป็นจิตดวงไหน โดยมากจะนึกถึงโมหมูลจิต แต่ที่จริงแล้ว โมหเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง จึงไม่รู้ว่ามิตรดีคืออย่างไร มิตรชั่วคืออย่างไร แต่ในขณะที่คบหาสมาคมกับปาปมิตร ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน

คำตอบ คือ เป็นโลภมูลจิต

การศึกษาธรรม ควรพิจารณาถึงธรรมที่ทรงแสดงไว้ด้วย เพื่อความชัดเจน

และมีทางที่จะรู้ได้ไหมในขณะที่กำลังมีปาปมิตร มิตรซึ่งไม่ใช่กัลยาณมิตร ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดจะรู้ไหมว่ากำลังเอียง เพราะข้อความมีว่า ด้วยอำนาจความเป็นผู้เอียงไปทางบุคคลนั้นด้วยกายและจิต

จิตเป็นสภาพที่รู้ยาก ซึ่งโดยมากมักจะคิดถึงจิตคนอื่น แต่ลืมว่าจิตของตนเองตรงหรือเอียง พระธรรมมีประโยชน์ไหม เวลาจะเอียงก็อาจจะกลับมาตรงได้ ถ้าพิจารณา แต่ถ้าไม่พิจารณาก็ค่อยๆ เอียงไปทีละน้อยๆ เพราะขาดการพิจารณาพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ มิฉะนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคคงจะไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียด แม้แต่การที่บุคคลใดเกิดมาในสังสารวัฏฏ์ ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง จะมี มิตรดีมิตรเลวอย่างไร ก็ได้ทรงแสดงไว้ด้วยว่า เป็นเพราะจิตประเภทไหน

สำหรับผู้ที่มีมิตรดี ก็ตรงกันข้าม คือ

โสวจัสสตา และกัลยาณมิตตตา พึงทราบโดยตรงกันข้ามกับคำที่กล่าวแล้ว

สำหรับผู้ที่มีศรัทธาบวชในพระธรรมวินัย ก็แล้วแต่ว่าบรรพชิตท่านนั้นจะเป็น ผู้ฉลาดในอาบัติ ๕ หรือ ๗ และเป็นผู้ฉลาดในการออกจากอาบัติหรือเปล่า เป็น ผู้ฉลาดในธาตุ ๑๘ ชื่อว่าธาตุกุสลตา คือ ปัญญาเป็นเครื่องฟัง เป็นเครื่องทรงจำ เป็นเครื่องแทงตลอด และเป็นเครื่องปัจจเวกขณะ ความเป็นผู้ฉลาด ในการทำไว้ในใจซึ่งธาตุเหล่านั้นแล ชื่อว่ามนสิการกุสลตา

เรื่องของการอบรมเจริญปัญญามีมาก ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาธรรมโดย แยบคายที่จะเป็นกุศล คือ มนสิการกุสลตา

นอกจากนั้น ก็เป็นผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ คือ เหตุและผลของธรรมต่างๆ

ข้อ ๑๓๔

ความเป็นผู้ตรง ชื่ออาชชวะ ความเป็นผู้อ่อนน้อม ชื่อมัททวะ ได้แก่ คุณธรรมทั้ง ๒ คือ ความตรงและความอ่อนน้อมแห่งกายและจิต

อุชุปฏิปันโน

ถ้าไม่ตรง ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างต้องตรง ไม่ว่าจะในเรื่องของโลก หรือในเรื่องชีวิตประจำวัน หรือในเรื่องของการอบรม เจริญปัญญา ตราบใดที่ยังรู้สึกตัวเองว่ายังไม่ตรง จะเป็นพระอริยบุคคลได้ไหม ก็ไม่มีทาง ต้องเป็นผู้ตรงก่อน และพิจารณาธรรมตรงขึ้น ถูกต้องขึ้น จึงสามารถที่จะละอกุศลธรรมได้

ในข้อ ๑๓๔ ได้กล่าวถึงธรรม ๒ ข้อ คือ ความเป็นผู้ตรง ชื่อว่าอาชชวะ ความเป็นผู้อ่อนน้อม ชื่อว่ามัททวะ แม้ว่าจะเป็นผู้ตรง แต่ขาดความอ่อนน้อม กุศลก็ไม่ครบ เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสก็ห่างไกลไปอีกมาก เพราะเมื่อเป็นผู้ตรงแล้ว ทำไมจึงไม่อ่อนน้อมด้วย ถ้ายังมีความสำคัญตนอยู่ ขณะนั้นก็ยากที่จะอบรม เจริญกุศล และละคลายอกุศลอื่นๆ ด้วย

ความอดทน กล่าวคือ ความอดกลั้น ชื่อว่าขันติ คือ กามาวจรชวนะ อันเป็นไปแล้วโดยประการนั้น บุคคลชื่อว่าโสรตะ (ผู้สงบเสงี่ยม) โดยอรรถวิเคราะห์ว่า งดเว้นด้วยดีจากบาป ภาวะแห่งโสรตะ (ผู้สงบเสงี่ยม) นั้น ชื่อว่าโสรัจจะ

ในขณะที่วิรัติทุจริตทั้งหมด ในขณะนั้นก็งดเว้นด้วยดีจากบาป คือ โลกียชวนะและโลกุตตรชวนะ อันได้แก่ ศีล คือ ความสำรวมด้วยกาย วาจา และใจ

ข้อความในอรรถกถา ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กล่าวโดยตลอดไปเลย สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาแล้ว เข้าใจแล้ว หรือสามารถที่จะเข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องแสดงไว้เป็นขั้นตอนเช่น ที่ชื่อว่าโสรตะ ภาวะแห่งโสรตะนั้น ชื่อว่าโสรัจจะ คือ โลกียชวนะและ โลกุตตรชวนะ ถ้ายังไม่ศึกษาเรื่องของโลกุตตรชวนะ ก็ผ่านไปก่อน แต่จะเห็นได้ว่า ข้อความในอรรถกถาสำหรับให้ค้น ให้ศึกษา ให้พิจารณาในเหตุผลว่า การวิรัติทุจริต มีทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ สำหรับที่เป็นโลกียะ ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว วันนี้อาจจะวิรัติทุจริตทางกายสักข้อหนึ่ง แต่วันหลังข้อนี้ไม่ได้วิรัติแล้ว หรือวันนั้นอาจจะวิรัติทุจริตทางวาจาสักข้อสองข้อ วันหลังก็ไม่ได้วิรัติแล้ว นี่คือโลกียชวนะ ซึ่งเป็นกุศลที่ไม่ใช่โลกุตตระ แต่ถ้าเป็นโลกุตตรชวนะ คือ มรรคจิต ดับอกุศลธรรมเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลยตามลำดับขั้น

เพราะฉะนั้น การวิรัติ มีทั้งที่เป็นสมุจเฉท คือ ดับโดยไม่เกิดอีก หรือว่า เพียงชั่วครั้งชั่วคราวที่เป็นกามชวนะ ที่เป็นโลกียะ

การที่จะเป็นผู้ฉลาด คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า แต่ละอย่างล้วนเป็นธาตุแต่ละชนิด ซึ่งยากเหลือเกินที่จะรู้ได้ที่จะเห็นว่า ในขณะนี้ที่กำลังนั่งในที่นี้เป็นธาตุอะไรบ้าง ทางตาเป็นธาตุเห็น ทางหูที่กำลังได้ยินเสียงเป็น ธาตุได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นแต่ละธาตุ เมื่อไรถึงจะรู้แจ้งอย่างนี้สักที

ได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรมมาก็นาน ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น และที่จะได้ฟังต่อไป ก็ไม่พ้นจากเรื่องของธาตุต่างๆ แต่ถึงกระนั้น ที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ในชีวิตประจำวันของแต่ละภพแต่ละชาติ จนกว่าจะถึงโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

และการที่จะรู้ลักษณะของธาตุทั้งหลายที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องเป็นผู้ตรง เป็นผู้ที่อ่อนน้อมด้วย ซึ่งเป็นลักษณะของอาชชวะ และ มัททวะ คือ ไม่เป็นผู้ว่ายากต่อการอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะละอกุศลธรรม

ข้อความใน อัฏฐสาลินี ได้อธิบายลักษณะของอาชชวะและมัททวะว่า

อาชชวะเป็นไฉน

คือ ความซื่อตรง ความไม่คด ความไม่งอ ความไม่โกง อันใด นี้เรียกว่า อาชชวะ

มัททวะเป็นไฉน

คือ ความอ่อนโยน ความละมุนละไม ความไม่แข็ง ความไม่กระด้าง ความเจียมใจ อันใด นี้เรียกว่า มัททวะ

บุคคลชื่อว่าเจียมใจ เพราะอรรถว่า มีใจเจียมด้วยไม่มีมานะ ภาวะแห่งบุคคลผู้เจียมใจ ชื่อว่าความเจียมใจ

เป็นชีวิตประจำวันซึ่งต้องอาศัยการสังเกตจริงๆ มิฉะนั้นไม่สามารถจะรู้จักสภาพธรรมในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ

สำหรับการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทุกคนคงจะทราบแน่ว่า ไม่ใช่เพียงการอบรมเจริญปัญญาเพียงหนึ่งชาติ สองชาติ สามชาติ ซึ่งในแต่ละชาติก็สั้นมาก การที่บุคคลใดเกิดมาในชาตินี้ที่จะมีชื่อเสียง มีสกุล มีมิตรสหาย มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ขณะที่เป็นอกุศล มีมากกว่าขณะที่เป็นกุศล

ถ้าชาตินี้หมดไป คือ ผ่านไป ซึ่งก็ต้องหมดไปแน่นอน ผ่านไปโดยไม่มีสิ่งใดเหลือในความเป็นบุคคลนี้อีก เมื่อเกิดชาติหน้าและสามารถจะระลึกได้ ก็อาจจะรู้สึกเสียดายว่า ชาตินี้ทำกุศลน้อยไป หรือเสียเวลาให้กับสิ่งซึ่งไม่มีสาระมากไป แต่ในขณะนี้ กำลังเป็นชาตินี้อยู่ และทั้งๆ ที่รู้ ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะกิเลสหรือว่า หมดกิเลสได้

ถ้ากล่าวถึงกิเลสมากมายที่สะสมมาในอดีตอนันตชาติ ก็เป็นของแน่นอนที่เห็นชัดว่า ช่างละยาก เพราะสะสมมามาก แต่ลองคิดถึงกิเลสเพียงขณะเดียว ไม่ต้องคิดถึงกิเลสมากๆ ที่ได้สะสมมาที่จะดับเป็นสมุจเฉท ขอเป็นเพียงกิเลสขณะหนึ่งขณะใดที่จะละในขณะนั้น ละได้ไหม ลองคิดดู

กำลังสนุก ละกิเลสในขณะนั้นเพียงขณะเดียว ไม่ต้องคิดถึงขณะที่สะสมมามากมาย เพียงแต่ละขณะๆ ที่นึกจะละลิเลส ขณะที่กำลังมีกิเลสอยู่ ก็ยังละไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริง เมื่อกิเลสมีมากยิ่งกว่าเพียงขณะเดียวๆ การที่จะละกิเลสจึงเป็นเรื่องที่ต้องอบรมเจริญปัญญาอีกนานมาก

ขอกล่าวถึงชีวิตความเป็นมาของพระเถระในชาดกต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะของกุศลธรรม อกุศลธรรม ลักษณะของหิริ โอตตัปปะ หรืออหิริกะ อโนตตัปปะในชีวิตจริงๆ ของพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ผ่านมาแล้ว

สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ก็ต้องมีชีวิตที่แม้นเหมือน หรือคล้ายคลึงกับชีวิตในครั้งที่พระอริยสาวกทั้งหลายยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ซึ่งก็มีชีวิตเหมือนอย่างปุถุชนธรรมดา

และเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงชาดก คือ ชีวิตในอดีตของแต่ละบุคคลนั้น ก็เพราะมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เป็นเหตุให้พระองค์ตรัสถึงสภาพในอดีต คือ ชาติต่างๆ ของบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งทุกท่านควรจะเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถ้าชาดก ต่างๆ ไม่มีประโยชน์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงแสดง แต่ที่จะได้รับประโยชน์จากชาดกแต่ละชาดกนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ฟังว่า สามารถจะพิจารณาประโยชน์ของชาดกนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงชาดกด้วยพระองค์เองนั้น ผู้ฟังเมื่อได้ฟังแล้วเป็นพระโสดาบันก็มี เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาประโยชน์จากชาดก

อรรถกถา ราโชวาทชาดกที่ ๑ มีข้อความว่า

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน วันหนึ่งพระเจ้าโกศลทรงวินิจฉัยคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งพระองค์วินิจฉัยไว้ไม่ดี มีอคติ แต่เมื่อพระองค์ได้วินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้วินิจฉัยด้วยดี เมื่อวินิจฉัยคดีนั้นเสร็จแล้ว เสวยพระกระยาหารเช้า ทั้งๆ ที่มีพระหัตถ์เปียก เสด็จขึ้นทรงราชรถที่จัดไว้เรียบร้อยแล้ว เสด็จไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ทรงหมอบลงแทบพระบาท ถวายบังคมพระศาสดา ประทับนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง

พระศาสดาได้ตรัสปฏิสันถารกับพระเจ้าโกศลว่า

พระองค์เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน

พระเจ้าโกศลกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์วินิจฉัยคดีเรื่องหนึ่งซึ่งวินิจฉัยไว้ไม่ดี จึงไม่มีโอกาส บัดนี้พิจารณาคดีนั้นเสร็จแล้ว จึงบริโภคอาหารทั้งๆ ที่มือยังเปียก มาเฝ้าพระองค์ พระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า

ขอถวายพระพร ชื่อว่าการวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรมเป็นความดี เป็นทางสวรรค์แท้ ก็ข้อที่มหาบพิตรได้โอวาทจากสำนักของผู้เป็นสัพพัญญูเช่นตถาคต ทรงวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรมนี้ ไม่อัศจรรย์เลย การที่พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนทรงสดับโอวาทของเหล่าบัณฑิต ทั้งที่ไม่ใช่สัพพัญญู แล้วทรงวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรม เว้นอคติ ๔ อย่าง บำเพ็ญทศพิธราชธรรมไม่ให้เสื่อมเสีย เสวยราชสมบัติโดยธรรม บำเพ็ญทางสวรรค์ เสด็จไปแล้ว นี่แหละน่าอัศจรรย์

นี่เป็นเหตุการณ์ของทุกท่านในชีวิตหรือเปล่า หรือว่าไม่เคยมีเรื่องที่จะต้องวินิจฉัยคดีใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นชีวิตประจำวันที่จะให้เห็นว่า เป็นผู้ตรงเพียงใดจากการวินิจฉัยคดีแต่ละคดี แต่ละเรื่อง มิฉะนั้นแล้ว ถ้าวินิจฉัยผิดพลาด แทนที่จะเป็นกุศล ก็จะทำให้อกุศลเจริญขึ้น

เมื่อพระเจ้าโกศลกราบทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องในอดีตว่า

ในอดีต ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชานั้น ทรงประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา พระชนกชนนีได้ทรงตั้งพระนามของพระโพธิสัตว์ว่า พรหมทัตกุมาร

เมื่อพรหมทัตกุมารพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา ก็เสด็จไปเมืองตักศิลา ทรงสำเร็จศิลปศาสตร์ทุกแขนง เมื่อพระชนกสวรรคต พระองค์ก็ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ครอบครองราชสมบัติโดยทำนองคลองธรรม ทรงวินิจฉัยคดี ไม่ล่วงอคติ มีฉันทาคติเป็นต้น เมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติโดยธรรมอย่างนี้ แม้พวกอำมาตย์ต่างก็วินิจฉัยคดีโดยธรรมเหมือนกัน เมื่อคดีทั้งหลายได้รับการวินิจฉัยโดยธรรม จึงไม่มีคดีโกงเกิดขึ้น เพราะไม่มีคดีโกงเหล่านั้น การร้องทุกข์ ณ พระลานหลวงเพื่อให้เกิดคดี ก็หมดไป พวกอำมาตย์นั่งบนบัลลังก์วินิจฉัยตลอดวัน ไม่เห็นใครๆ มาเพื่อให้วินิจฉัยคดี ต่างก็ลุกกลับไป สถานที่วินิจฉัยคดีก็ถูกทอดทิ้ง

นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ทำให้พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เมื่อเราครองราชสมบัติโดยธรรม ไม่มีผู้คนมาให้วินิจฉัยคดี ไม่มีผู้มาร้องทุกข์ สถานที่วินิจฉัยคดีก็ถูกทอดทิ้ง บัดนี้เราควรตรวจสอบโทษของตน

เพียงเท่านี้ ก็จะเตือนให้ทุกคนได้พิจารณาตนเองแล้วใช่ไหมว่า แม้ พระโพธิสัตว์ก่อนที่จะได้ทรงตรัสรู้ ไม่ว่าทรงเกิดในกำเนิดใด เช่น เป็นพระราชา ก็ยังทรงดำริที่จะพิจารณาสอบโทษของตน บางท่านอาจจะคิดดูความดีของตัวเอง แต่ พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า ควรตรวจสอบโทษของตน

ทรงดำริต่อไปว่า ครั้นเรารู้ว่านี่เป็นโทษของเรา จักละโทษนั้นเสีย ประพฤติในสิ่งที่เป็นคุณเท่านั้น

ในวันหนึ่งๆ ถ้าคิดได้อย่างนี้ จะเป็นประโยชน์มาก เป็นทางที่จะทำให้ศึกษาและปฏิบัติธรรมจริงๆ คือ ไม่เพียงแต่ศึกษาเรื่องของกุศล อกุศล แต่ยังเป็นผู้ที่เพียรละโทษและประพฤติในสิ่งที่เป็นคุณ

เปิด  228
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565