แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1323

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๗


สุ. ทุกท่านคงจะเห็นแล้วว่า การเจริญกุศลทุกประการเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เว้นไม่ได้เลย สิ่งใดก็ตามที่เป็นกุศล และยังไม่ได้กระทำ ขอให้พิจารณาว่า ชาตินี้จะกระทำได้ไหม กุศลอย่างนั้นๆ ที่ยังไม่ได้กระทำ แต่ต้องเห็นคุณประโยชน์ของกุศล ทุกประการด้วย เช่น อาชชวะ ความเป็นผู้ตรง ต้องพิจารณาตนเองว่าตรงเมื่อไร ตลอดเป็นปกติหรือไม่ มัททวะ ความเป็นผู้อ่อนน้อม มีประโยชน์ไหม สามารถที่จะ ทำให้คลายความสำคัญตนลง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมย่อมเห็นคุณของอาชชวะและ มัททวะว่า เป็นกุศลธรรมที่มีประโยชน์ ถ้าไม่มีประโยชน์พระผู้มีพระภาคไม่ทรงยกขึ้นแสดงว่า เป็นสิ่งที่ควรจะต้องอบรม

ขันติ ความอดทน มีมากไหม พอไหม ที่จะฟังธรรมและศึกษาลักษณะ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมสติที่กำลังระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ สาขัลยะ ความเป็นผู้มีวาจาอ่อนหวาน กล่าวคือ ความเป็นผู้มีปกติกล่าวคำอันน่ารัก ยังใจให้ชื่นบาน

ทุกอย่างเป็นกุศลในชีวิตประจำวัน ทำแล้วหรือยัง หรือว่ายังทำไม่ได้ ถ้า ชาตินี้ทำไม่ได้ ชาติต่อไปจะเป็นอย่างไร คิดว่าชาติต่อไปจะทำได้หรือถ้าชาตินี้ทำไม่ได้ ในเมื่อชาตินี้ยังยาก ชาติหน้าย่อมยากยิ่งขึ้นไปอีก มิฉะนั้นแล้วพระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงกุศลปลีกย่อยอย่างอื่น แม้แต่โสวจัสสตา ความเป็นผู้เอื้อเฟื้อเมื่อถูกกล่าวสอนแสดงสหธรรม เป็นผู้ที่ว่าง่าย โสรัจจะ ได้แก่ ศีล คือ ความสำรวมด้วยกาย วาจา ใจ

ถ้าพิจารณาอดีตชาติต่างๆ ของท่านพระสาวกจะเห็นได้ว่า ท่านเคยเป็นผู้ที่มีอกุศล มีความโลภในทรัพย์แม้ว่าเป็นพระราชา เช่น ท่านพระอานนท์ในชาติหนึ่ง ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อน แต่แม้กระนั้นท่านก็เป็นผู้ที่ว่าง่ายและอ่อนน้อม เป็น ผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่ตั้งใจมั่นที่จะขัดเกลาอกุศลด้วยการอบรมเจริญปัญญา

เพราะฉะนั้น ถ้าในชาตินี้ยังไม่เป็นผู้ที่ตรง ยังไม่เป็นผู้ที่อ่อนน้อม ยังไม่เป็นผู้ที่อดทน ยังไม่เป็นผู้ที่มีวาจาอ่อนหวาน ยังไม่เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ คือ ว่าง่ายเมื่อถูกกล่าวสอนแสดงสหธรรม ก็ควรที่จะพิจารณา และเริ่มตั้งแต่ในชาตินี้ ซึ่งย่อมเป็นการกระทำตามอย่างพระอริยเจ้าในอดีตชาติทั้งหลายที่ท่านยอมรับฟังคำของบัณฑิต และประพฤติตามคำของบัณฑิต แม้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก แต่ต้องเป็นผู้ตรงที่จะเห็นว่า อกุศลเป็นอกุศล และเริ่มขัดเกลาจริงๆ

ถ. การตั้งความปรารถนา หรือการขอนั้น คิดว่า ตราบใดที่เรายังไม่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉทเป็นพระอรหันต์ ก็ยังคงตั้งความปรารถนากันต่อไป ในครั้งพุทธกาล อดีตอัครสาวก หรือสาวกท่านผู้ใหญ่ต่างๆ ก่อนตรัสรู้ เมื่อท่านทำบุญกุศลครั้งใดก็ตั้งความปรารถนาขึ้น หรือว่าขอพรนั่นเอง อย่างเช่น พระอนุรุทธะ ท่านเคยทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้าและตั้งความปรารถนาว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป ขอคำว่า ไม่มี อย่าได้เกิดขึ้นกับเราเลย คือ สมัยนั้นท่านเกิดมายากจนลำบากมาก หรือพระเจ้าอโศกมหาราช ก่อนที่ท่านจะเสวยชาติเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านได้ถวายน้ำผึ้งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าและตั้งความปรารถนาว่า ชาติหน้าเมื่อข้าพเจ้าเกิดขึ้นแล้วไซร้ ขอให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีอำนาจครอบครองไปทั่วแดนมหาสมุทร หรือ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ตอนที่ท่านเสวยชาติเป็นกุฎุมพีทำนา ท่านถวายข้าวแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกและตั้งความปรารถนาว่า ขอให้เราเป็นคนแรกที่ได้ดวงตาเห็นธรรมในจำนวนสาวกทั้งหลายแห่งพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เรื่องที่น่าพิจารณาก็คือ การตั้งความปรารถนาแต่ละข้อนั้น บางเรื่องเป็นกุศล และบางเรื่องอาจจะเป็นอกุศลก็ได้ อย่างนั้นใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง

ผู้ฟัง ที่นักศึกษาธรรมของเรามักจะหวั่นไหวเกิดความกลัวว่า จะเป็นอกุศล คือ เป็นโลภะ เราต้องยอมรับความจริงว่า ตราบใดที่เรายังไม่เป็นพระอรหันต์โลภะย่อมต้องเกิดขึ้น ในเรื่องของการตั้งความปรารถนาหรือไม่ตั้งความปรารถนาก็ตามที เราไม่ควรกลัวโลภะที่จะเกิดขึ้น แต่เราควรเอาโลภมูลจิตนั้นให้เป็นประโยชน์โดยการมีสติเข้าไปกำหนดระลึกรู้ คือ ตั้งสติปัฏฐานในโลภมูลจิตเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งโลภะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเกิดแน่นอน ไม่ว่าอย่างไรก็ตามที

สุ. ท่านผู้ฟังปรารถนาอะไร แต่ละท่าน เป็นเรื่องเฉพาะแต่ละบุคคล แล้วแต่กำลังของปัญญา ถ้ายังมีปัญญาน้อย และปรารถนาปัญญาเพิ่มขึ้น นั่นเป็นกุศล แต่ถ้ามีปัญญาน้อย ก็เลยขอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะในขณะนั้นปัญญาไม่เกิด จึงติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้เข้าใจเหตุและผลตรงขึ้นว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรจะปรารถนา อย่างเช่น พระอริยเจ้าทั้งหลายในอดีตก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เช่น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านปรารถนาสิ่งที่ประเสริฐ คือ ปรารถนาที่จะได้เป็นสาวกองค์แรกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์หลังๆ ก็ยังช้าไปใช่ไหม จะต้องเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก ตายแล้วตายอีก เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเห็นประโยชน์ ท่านก็ใคร่ที่จะได้เป็นปฐมสาวก คือ สาวกองค์แรก แต่ก็ต้องเจริญเหตุให้สมควรแก่ผล

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านตั้งความปรารถนาที่เป็นกุศล แต่ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่มากและมีปัญญาน้อย ก็เป็นของธรรมดาที่ยังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้จะรู้ว่าปัญญาเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยังอดปรารถนารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนิดๆ หน่อยๆ บ้างไม่ได้ หรืออาจจะมากก็ได้ เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละท่านจริงๆ ที่จะทราบว่า ในปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ ท่านปรารถนาอะไร ซึ่งย่อมเป็นไปตามการสะสมทั้งนั้น

สำหรับอกุศลสำคัญที่เป็นมูลเหตุ เป็นสมุทัยของทุกข์และสังสารวัฏฏ์ คือ โลภะ ซึ่งเกิดบ่อยเป็นประจำทุกภพชาติ ไม่จบสิ้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพียงทางตาอย่างเดียว มีวัตถุซึ่งเป็นที่พอใจของโลภะมากไหม ไม่ว่าจะเป็นในเสื้อผ้า เครื่องใช้ อาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเห็นอะไรทั้งหมด ดอกไม้ใบหญ้า ทุกอย่าง อาหารทุกชนิด เครื่องใช้ทุกชนิด ในรูปลักษณะต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่โลภะมีความพอใจ มีความติด โดยไม่จบสิ้น ไม่ว่าตั้งแต่ในอดีตอนันตชาติ จนกระทั่งถึงปัจจุบันชาติ และที่จะเกิดต่อไปอีก

ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ของพระเจ้าพรหมทัต ของท่านวิสาขามิคารมาตา ของราชสีห์ ของสุนัขจิ้งจอก ของท่านพระเทวทัต หรือของใครๆ ก็ตามในอดีตที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด และในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ก็เป็นโลภมูลจิตดวงใดดวงหนึ่งในโลภมูลจิต ๘ ดวง

สำหรับโลภมูลจิต ไม่ว่าจะมีมากมายทางทวารต่างๆ วิจิตรต่างๆ ตามกาลสมัย ซึ่งชาติหนึ่งๆ ก็ต้องมีสิ่งที่เป็นอารมณ์ของโลภะแตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย แต่แม้กระนั้น เมื่อประมวลลักษณะของโลภมูลจิตทุกภพทุกชาติและทุกภูมิ จะมี โลภมูลจิต ๘ ประเภท คือ

ดวงที่ ๑ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง

เป็นโลภมูลจิตที่เป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมกับความเห็นผิด

และเป็นโลภมูลจิตที่เป็น โสมนัสสสหคตัง คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

และเป็นโลภมูลจิตที่เป็น อสังขาริกัง คือ มีกำลังกล้าด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยการชักจูง

นี่คือโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดร่วมกับความเห็นผิด เกิดร่วมกับโสมนัส คือ มีความยินดีพอใจอย่างยิ่งในความเห็นผิดนั้น และมีกำลังกล้า คือ เกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องอาศัยการชักจูง

น่ากลัวไหม โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ดวงนี้ บางคนอาจจะมีความเห็นผิด แต่เวทนาเป็นเพียงอุเบกขา คือ ไม่ถึงกับชื่นชมโสมนัสยินดีในความเห็นผิดนั้นอย่างมาก หรือบางคนก็ยังต้องอาศัยการชักจูงทีละเล็กทีละน้อยที่จะคล้อยไปตามความเห็นผิด ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นไป แต่คนที่มีความเห็นผิดที่มีกำลังกล้าประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ย่อมเป็นอันตรายมากน้อยตามประเภทของความเห็นผิดนั้นๆ และย่อมสามารถที่จะกั้นสวรรค์ก็ได้ หรือกั้นมรรคผลนิพพานก็ได้ ถ้าเป็นความเห็นผิดที่มีกำลัง

ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ปลาบปลื้มโสมนัสว่า ได้บรรลุธรรม แต่รู้ผิด ขณะนั้นก็เป็น โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง ถ้ามีกำลังกล้าก็เป็น อสังขาริกัง เพราะ บางท่านคิดเองว่า ในขณะนี้ท่านกำลังเจริญโพชฌงค์ เพียงท่านอ่านหรือผ่านหนังสือบางข้อความ ท่านก็เข้าใจว่าในขณะนี้ท่านกำลังเจริญโพชฌงค์อยู่ ซึ่งโพชฌงค์เป็นธรรมที่เป็นองค์ของการตรัสรู้อริยสัจ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นพละ มีกำลัง ไม่หวั่นไหวที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ อยู่ดีๆ จะเจริญโพชฌงค์ทีเดียว เป็นไปไม่ได้

ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานทรงแสดงธรรมว่า สาวกบางท่านก็เจริญสติปัฏฐาน บางท่านเจริญอินทรีย์ บางท่านเจริญพละ บางท่านเจริญโพชฌงค์ ซึ่งแล้วแต่การสะสมของแต่ละท่านว่า ในขณะนั้นสาวกท่านนั้นๆ กำลังอบรมปัญญาในขั้นใด เพราะผู้ที่สามารถจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยโพชฌงค์ แต่สำหรับผู้ที่กำลังฟังและพิจารณา และสติเริ่มระลึก ขณะนั้นยังไม่ใช่ทั้ง สติพละ หรือว่าสติโพชฌงค์

เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ตรงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ จึงสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ มิฉะนั้นแล้ว ย่อมจะรู้ผิด และเข้าใจผิดได้

ขณะที่โลภมูลจิตประเภท โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในอดีต หรือในอนาคต หรือในปัจจุบัน หรือกับบุคคลใดๆ ก็ตาม ภพภูมิไหนก็ตาม จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ประเภท คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ และอกุศลเจตสิก ๖

สำหรับอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตดวงนี้ ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ รวมเจตสิก ๗ ดวงนี้ ชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดทั้งสิ้น จะขาดสัพพจิตตสาธารณะ ๗ นี้ไม่ได้

อัญญสมานาเจตสิกที่เหลืออีก ๖ เป็นปกิณณกเจตสิก ได้แก่ เจตสิกที่เกิดกับจิตบางดวง เว้นไม่เกิดกับจิตบางดวง สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ นี้ ปกิณณกเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย มีวิตกเจตสิก เพราะวิตกเจตสิกไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และทุติยฌานขึ้นไปเท่านั้น มีวิจารเจตสิก เพราะตามปกติเมื่อวิตกเจตสิกเกิด วิจารเจตสิกก็เกิดพร้อมกันเสมอ เว้นวิจารเจตสิกที่เกิดในทุติยฌาน ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าพูดถึงจิตที่เป็นกามาวจรจิต คือ ไม่ใช่ฌานจิต ไม่ใช่จิตที่เจริญความสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ วิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกจะเกิดพร้อมกันทุกครั้งนอกจากนั้น มีอธิโมกขเจตสิก วิริยเจตสิก และเนื่องจากประกอบด้วยโสมนัสเวทนา จึงมีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย สุดท้าย คือ ฉันทเจตสิก รวมเป็นปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ นี้

เพราะฉะนั้น อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตดวงนี้ทั้ง ๑๓ ดวง คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก วิริยเจตสิก ปีติเจตสิก และฉันทเจตสิก

ถ้าไม่รู้ ก็ผ่านไป ทุกขณะที่โลภมูลจิตเกิด ไม่มีใครรู้ถึงความละเอียดเลยว่า จะมีอัญญสมานาเจตสิกทั้ง ๑๓ ดวงเกิดร่วมด้วยกับโลภะที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา

นอกจากนั้น ต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย อกุศลเจตสิกทั้งหมดมี ๑๔ ดวง แต่อกุศลเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงนี้ มีเพียง ๖ ดวง คือ โมจตุกะ ๔ ได้แก่ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑

อกุศลเจตสิก ๔ ดวงนี้ ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท และที่เรียกว่า โมจตุกะ ก็เพราะกลุ่มของเจตสิก ๔ ดวงนี้มีโมหเจตสิกเป็นหัวหน้า

อกุศลเจตสิกอีก ๒ ดวงที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ นี้ คือ โลภเจตสิก ๑ และทิฏฐิเจตสิก ๑ รวมเป็นเจตสิกทั้งหมด ๑๙ ดวง หรือ ๑๙ ประเภท

ไม่มากเท่าไรใช่ไหม ๑๙ ดวง ถ้าเป็นฝ่ายกุศล เจตสิกฝ่ายดีต้องเกิดมากกว่านี้ จึงมีกำลังที่จะเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลได้

อัญญสมานาเจตสิก เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ แต่อกุศลเจตสิก ต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น

สำหรับจิตประเภทโลภะ นอกจากโมจตุกะ ๔ ก็มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน จึงเป็นโลภมูลจิต และขณะใดที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ขณะใดที่ทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๘ ดวง คือ เว้นทิฏฐิเจตสิก

ขณะใดที่ไม่ได้เป็นไปกับความเห็นผิด แต่เกิดพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามปกติ ขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๘ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิกทั้ง ๑๓ ดวง และอกุศลเจตสิก ๕ ดวง ไม่มีทิฏฐิเจตสิก

สำหรับเจตสิกที่จะเกิดกับโลภมูลจิต มีอีก ๑ ดวง คือ มานะเจตสิก

เปิด  246
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565