แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1324

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๒๗


วิธีจำชื่อของจิตไม่ยาก คือ จิตทุกดวงต้องประกอบด้วยเวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้น จะใช้เวทนากับสหคตัง หมายความว่า จิตดวงนั้นเกิดพร้อมกับเวทนานั้น เช่น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาก็เป็น โสมนัสสสหคตัง เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็เป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง เป็นจิตที่มีกำลังกล้า ไม่ได้อาศัยการชักจูง ก็เป็น อสังขาริกัง

สำหรับโลภมูลจิตที่แสดงไว้ใน อัฏฐสาลินี ข้อความใน จิตตุปปาทกัณฑ์ กถาแสดงธัมมุทเทสวาระ ในอกุศลบท พระบาลีอกุศลจิตดวงที่ ๑ มีข้อความว่า

ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน

ธรรมที่เป็นอกุศล ไม่ใช่เฉพาะจิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นอกุศลธรรมด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีคำถามว่า ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน

อกุศลจิตสหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตต์ด้วยทิฏฐิ มีรูปเป็นอารมณ์ หรือมีเสียงเป็นอารมณ์ มีกลิ่นเป็นอารมณ์ มีรสเป็นอารมณ์ มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ มีธรรมเป็นอารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นในสมัยใด ย่อมเกิดผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต วิริยินทรีย์ สมาธินทรีย์ มนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสมาธิ วิริยพละ สมาธิพละ อหิริกพละ อโนตตัปปพละ สมถะ ปัคคาหะ อวิกเขปะ ในสมัยนั้น ก็หรือย่อมเกิดนามธรรมที่อิงอาศัยเกิดขึ้นแม้อื่นใด ในสมัยนั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นอกุศล

จะเห็นว่า ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิก ๔ ดวง นี่เป็นเรื่องที่จะพิจารณาสิ่งที่มีปรากฏในอรรถกถาถึงเหตุผลว่า เพราะเหตุใด

จะเห็นได้ว่า โลภมูลจิตดวงที่ ๑ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ที่กล่าวว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง แต่ในอัฏฐสาลินีได้กล่าวถึงทั้งผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต วิริยินทรีย์ สมาธินทรีย์ มนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสมาธิ วิริยพละ สมาธิพละ อหิริกพละ อโนตตัปปพละ สมถะ ปัคคาหะ อวิกเขปะ มากมายใช่ไหม แสดงให้เห็นว่า โลภมูลจิตจะมีกำลังเพิ่มขึ้นๆ เพราะขณะที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีความเห็นผิดได้ไหม ลองคิดดู

บางคนบอกว่า เห็นเทวดา ผิดหรือถูก เห็นหรือเปล่า เข้าใจว่าสิ่งที่เห็นเป็นเทวดา หรือบางทีก็สนทนากับเทวดา แต่ผู้ที่จะเห็นเทพ ธรรมดาจะเห็นได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่จักขุทิพย์ หรือถ้าไม่ใช่เป็นเพราะเทพนั้นเนรมิตรูปหยาบให้เห็นเพียงบางกาล แต่ไม่ใช่ว่าจะเห็นได้บ่อยๆ ตามใจที่ต้องการจะเห็น หรือไม่ใช่ว่าจะสนทนากับเทพเป็นเรื่องเป็นราวทุกวันไป ไม่ใช่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้ามีความรู้สึกว่ากำลังสนทนากับเทพ ถูกหรือผิด ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิได้ เป็นความเห็นผิดได้ หรือว่ามีกลิ่นเป็นอารมณ์ ก็เข้าใจว่าอาจจะเป็นกลิ่นเทพก็ได้ จริงหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องซึ่งตามเหตุตามปัจจัย มีรสเป็นอารมณ์ บางท่านไปที่บางสำนัก ทุกคนต้องนั่งหลับตา เพราะประเดี๋ยวเทพจะมาหยอดยาให้ ทุกคนต้องนั่งอ้าปาก ขณะนั้นจะมีรสปรากฏ และก็เข้าใจว่าเป็นยาวิเศษ เป็นความเห็นถูก หรือเป็นความเห็นผิด ทำไมต้องหลับตา

นี่เป็นสิ่งซึ่งความเห็นผิดย่อมมีได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางกายกระทบสัมผัสแล้ว มีความเห็นผิดได้ไหม เช่น แตะสิ่งนี้แล้วจะ หายโรค อาจจะมีวัตถุซึ่งเข้าใจว่าเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์บางอย่างซึ่งเพียงแตะก็สามารถจะหายโรคได้ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าจะหายโรค ก็เพราะโรคบางอย่างไม่รักษาก็หาย โรคบางอย่างต้องรักษาจึงหาย โรคบางอย่างไม่รักษา ไม่หาย เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดย่อมเกิดได้โดยง่าย ถ้ามีการสะสมมาที่จะเห็นผิด

ถ. บางสำนัก หรือบางวัดที่เคยไปศึกษา สมัยก่อนงมงายมาก สร้างเหรียญบ้าง สร้างรูปเหมือนบ้าง ยังเคยถามว่า ทำไมอาจารย์ไม่บอกเขาไปตรงๆ ว่า ต้องการเงินสร้างโบสถ์จำนวนเท่าไร ท่านบอกว่า ปกติถ้าบอกขอเงินมาทำบุญ เขาไม่ทำหรอก แต่ถ้ามีเหรียญหลวงพ่อดังๆ เท่าไรเท่ากัน แบบนี้เท่ากับพระรูปนั้นหรือสำนักนั้น ยุยงส่งเสริมให้คนหลงผิดงมงาย ใช่ไหม

สุ. ถ้าให้เห็นถูก คือ ให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นคือให้เข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องผิด

ถ. ยังไม่เข้าใจ

สุ. ถ้าสำนักใดทำให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้บุคคลที่ได้รับฟังธรรมมีปัญญา มีความเห็นถูก นั่นคือถูก แต่ถ้าไม่ทำให้เข้าใจ สภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นคือผิด

ถ. ท่านบอกว่า ไม่ทำวิธีนี้ก็ไม่ได้เงิน

สุ. ความเข้าใจธรรมอยู่ที่ไหน ถ้าทำให้เข้าใจธรรมได้ นั่นคือถูก แต่ถ้าไม่ทำให้เข้าใจธรรม ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร เพราะทุกท่านที่เป็นพุทธบริษัท ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม และประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงเพื่อเข้าใจอย่างเดียว

ถ. จะกล่าวได้ไหมว่า คนที่ถูกหลอกลวงก็เพราะตนเองทำอกุศลกรรมมา จึงต้องได้รับผลเช่นนั้น

สุ. ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ไม่มีใครสามารถจะไปบอกคนที่กำลังเห็นผิดว่า อย่างนี้ผิดและเขาจะเชื่อ เพราะเขากำลังเห็นผิด คนที่กำลังเห็นผิด และมีความโน้มเอียงที่จะเห็นผิดต่อไป ยากเหลือเกินที่จะให้เขาเข้าใจว่า เขากำลังเห็นผิด แม้ว่าจะอาศัยพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้มากโดยประการทั้งปวง แต่เขาก็ยังพอใจที่จะคิดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น รู้ผิดๆ อย่างนั้น เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อสะสมความเห็นผิดมามาก ย่อมไวต่อการที่จะเห็นผิด และย่อมพอใจที่จะยึดถือความเห็นผิดนั้นต่อไปอีก

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งจะต้องพิจารณา เพื่อตัวท่านเองที่จะไม่เป็นอย่างนั้น

ขอกล่าวถึงมิจฉาสมาธิว่า ได้แก่ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์นั่นเอง

สำหรับความเห็นผิดก็มีมาก และก็มีโทษต่างๆ แม้แต่ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ความเห็นผิดของบุคคลซึ่งเป็นครูทั้ง ๖ และสาวกของครูทั้ง ๖ ได้ สำหรับครูทั้ง ๖ นี้ เคยกล่าวถึงบ้างแล้ว เพราะฉะนั้น จะไม่ขอกล่าวอีก

ขอกล่าวถึงเรื่องของมิจฉาสมาธิ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ อธิบายสมถะ ปัคคาหะ อวิกเขปะ กล่าวถึงอกุศลจิตดวงที่ ๑ มีข้อความว่า ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน เริ่มตั้งแต่ อกุศลจิตสหรคตด้วยโสมนัส ตลอดไปจนถึง อหิริกพละ อโนตตัปปพละ สมถะ ปัคคาหะ อวิกเขปะ รวมเป็นธรรมที่เกิดกับอกุศลจิตดวงที่ ๑ และได้อธิบายคำว่า สมถะ ปัคคาหะ และ อวิกเขปะที่เกิดกับโลภมูลจิตซึ่งเป็นอกุศล มีข้อความว่า

ชื่อว่าสมถะ เพราะระงับความฟุ้งซ่านในจิตอื่นๆ

หมายความว่า ในขณะนั้นจิตไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ก็เข้าใจว่าในขณะนั้นสงบ ที่ใช้คำว่า สมถะ

ชื่อว่าปัคคาหะ ด้วยอรรถว่า ประคองจิตในการประพฤติอกุศล

ถ้าเป็นความเห็นผิด การปฏิบัติผิด ผู้นั้นก็ประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์ซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อารมณ์ที่จะทำให้ปัญญาเจริญ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นคิดว่าเป็นสมถะ ชื่อว่าสมถะ ชื่อว่าปัคคาหะ ด้วยอรรถว่า ประคองจิตในการประพฤติอกุศล

ชื่อว่าอวิกเขปะ ด้วยอรรถว่า ไม่ฟุ้งซ่าน

ที่จริงแล้ว อุทธัจจะเกิดขึ้นในขณะนั้น แต่เพราะไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่นจึงมีลักษณะที่ว่า ไม่ฟุ้งซ่าน

ในจิตดวงนี้ไม่ได้ทรงถือเอาธรรมที่เป็นโสภณธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา สติ ปัญญา และธรรม ๖ คู่ ได้แก่ โสภณเจตสิก ๖ คู่ คือ ปัสสัทธิ ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา ปาคุญญตา อุชุกตา

แสดงให้เห็นว่า ที่เข้าใจว่าสงบ ที่เข้าใจว่าเป็นปัคคาหะและอวิกเขปะนั้น แท้จริงไม่มีศรัทธา สติ ปัญญา และโสภณธรรมเกิดร่วมด้วยเลย

ถามว่า เพราะเหตุใดเล่า

ตอบว่า ชื่อว่าความเลื่อมใส คือ ความผ่องแผ้ว ความสงบจากอกุศล ย่อมไม่มีในจิตอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา

หมายความถึงอกุศลจิตทั้งหลายนั่นเอง ย่อมไม่มีธรรมที่เป็นโสภณะ

ถามว่า ก็คนมีทิฏฐิทั้งหลายไม่เชื่อศาสดาของตนๆ หรอกหรือ

ตอบว่า เชื่อ แต่ความเชื่อนั้นไม่ชื่อว่าเป็นศรัทธา นี่เป็นแต่เพียงการรับคำเท่านั้น

เพราะไม่มีสภาพธรรมที่เป็นสัจธรรมให้พิสูจน์ เพราะฉะนั้น ก็เพียงแต่รับคำมาว่า ศาสดานั้นสอนอะไร แต่ไม่มีสัจธรรมที่จะให้พิสูจน์ได้

โดยเนื้อความ ก็เป็นการไม่เข้าไปพิจารณาเห็นอย่างรอบคอบบ้าง เป็นทิฏฐิบ้าง อนึ่ง สติย่อมไม่มีในจิตอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งสติ

คือ ในอกุศลจิต ไม่มีสติเจตสิกซึ่งเป็นโสภณธรรมเกิดร่วมด้วยเลย

ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา

หมายความว่า จึงไม่ใช่โสภณเจตสิก

ถามว่า คนมีทิฏฐิทั้งหลายย่อมไม่ระลึกถึงกรรมที่ตนกระทำแล้วหรือ

ตอบว่า ระลึก แต่ความระลึกนั้นหาชื่อว่าเป็นสติไม่ เป็นแต่ความเป็นไปแห่งอกุศลจิตโดยอาการนั้นอย่างเดียว ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอาสติ

หมายความว่า จึงไม่ใช่สติที่ระลึก

วันหนึ่งๆ ทุกคนคิดถึงเรื่องต่างๆ มากมาย สิ่งนั้นทำแล้วหรือยัง สิ่งนี้ยังไม่ได้ทำ แต่ในขณะนั้นถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ระลึก จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็น อกุศลจิต ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นกุศลจิต ที่เป็นสติปัฏฐาน ที่ระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏ หรือระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำแล้วด้วยกุศลจิต เพราะการระลึกถึง ระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำแล้วด้วยกุศลจิตก็ได้ ด้วยอกุศลจิตก็ได้

ระลึกด้วยกุศลจิต เคยตั้งใจไว้ว่าจะกระทำกุศล และหลงลืมไป ไม่ได้ทำ ขณะที่ระลึกได้ว่าไม่ได้ทำกุศลซึ่งตั้งใจจะกระทำ และกระทำ ขณะนั้นเป็นการระลึกด้วยกุศลจิต แต่การระลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาเป็นเรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นไป ในกุศล ขณะนั้นเป็นการระลึกด้วยอกุศลจิต

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุใดจึงตรัสในพระสูตรว่า มิจฉาสติ

ตอบว่า ก็มิจฉาสตินั้น ทรงกระทำให้เป็นเทศนาโดยปริยายในพระสูตรนั้น เพื่อจะยังมิจฉามรรคและมิจฉัตตะให้บริบูรณ์ เพราะอกุศลขันธ์ทั้งหลายเป็นธรรมเว้นจากสติ และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ

อกุศลนอกจากจะไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อสติด้วย เพราะว่ากำลังยึด กำลังติด กำลังประพฤติในข้อปฏิบัติที่ผิด เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถละทิ้งในขณะนั้นเพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิดได้

แต่มิจฉาสตินี้ว่าโดยนิปริยาย คือ โดยตรง ย่อมไม่มี ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา

คือ จึงไม่ใช่สติ ในขณะที่ระลึกที่ไม่ใช่กุศล

อนึ่ง ปัญญาย่อมไม่มีในจิตของคนอันธพาล ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา

คือ ความรู้ผิดทั้งหมดไม่ใช่ปัญญา

ถามว่า ปรีชาหลอกลวงไม่มีแก่คนมีทิฏฐิทั้งหลายหรือ

คือ คนมีทิฏฐิไม่ใช่จะหลอกลวงไม่เป็น แต่มีความสามารถในการที่จะหลอกลวงด้วย เพราะฉะนั้น ก็มีคำถามว่า ปรีชาหลอกลวงไม่มีแก่คนมีทิฏฐิทั้งหลายหรือ

ตอบว่า มี แต่นั่นไม่ใช่ปัญญา นั่นชื่อว่ามายา

คือ ความไม่จริง มายานั้นโดยอรรถ ได้แก่ ตัณหานั่นเอง

ใครจะมีมายาหรือว่ามีมายาอยู่ หรือว่าเป็นผู้ที่ไม่ตรง ในขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นเพราะโลภมูลจิต

ก็จิตนี้มีความกระวนกระวาย หนัก หยาบ กระด้าง ไม่ควรแก่การงาน ล้า คดโกง เหตุนั้นจึงไม่ทรงถือเอาธรรมทั้ง ๖ คู่ มีปัสสัทธิเป็นต้น

หมายความว่า ในอกุศลจิตไม่มีโสภณสาธารณเจตสิก ๖ คู่ ดังที่ได้กล่าวถึง เพราะอกุศลจิตทุกดวงมีความกระวนกระวาย หนัก หยาบ กระด้าง ไม่ควรแก่ การงาน ล้า คดโกง

เพราะถ้าเป็นฝ่ายโสภณธรรม คือ ปัสสัทธิ ได้แก่ กายปัสสัทธิเจตสิก และจิตตปัสสัทธิเจตสิก กายปัสสัทธิเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทำให้เจตสิกอื่นทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยสงบ ไม่กระวนกระวาย จิตตปัสสัทธิเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทำให้จิตสงบ ไม่ กระวนกระวาย เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมกระวนกระวาย เวลาที่จิตเป็นโลภะ ขณะนั้นจะไม่มีกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิเจตสิก

อกุศลจิตหนัก เพราะฉะนั้น จึงไม่มีกายลหุตาเจตสิก และจิตตลหุตาเจตสิก เพราะกายลหุตาเจตสิกและจิตตลหุตาเจตสิกเป็นเจตสิกที่ทำให้กุศลเป็นสภาพที่เบา เวลาที่รู้สึกหนักอกหนักใจ ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นอกุศลแน่นอน

แต่ถ้ามีสติปัญญาที่พิจารณาธรรมถูกต้อง โดยเห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่ควรจะจริงจัง หรือถือเป็นสาระ เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ถ้ามีปัญญาเข้าใจสภาพธรรมได้ถูกต้องในสภาพที่เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้นก็มีกายลหุตาเจตสิกและจิตตลหุตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นสภาพที่เบา ตรงกันข้ามกับลักษณะของอกุศลธรรมซึ่งหนัก

อกุศลจิตเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ตรงกันข้ามกับกุศลจิต ซึ่งเป็นสภาพที่อ่อน คือ ประกอบด้วยกายมุทุตาเจตสิก และจิตตมุทุตาเจตสิก

อกุศลจิตเป็นสภาพที่ไม่ควรแก่การงาน จึงไม่ประกอบด้วยกัมมัญญตา คือ กายกัมมัญญตาเจตสิก และจิตตกัมมัญญตาเจตสิก แสดงให้เห็นว่า เป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกัน ทางฝ่ายอกุศลกระด้าง ไม่ควรแก่การงานที่ถูก ที่ดี

อกุศลจิตนั้นเป็นสภาพที่ล้า ตรงกันข้ามกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปาคุญญตา ได้แก่ กายปาคุญญตาเจตสิก และจิตตปาคุญญตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่คล่อง ไวต่อการที่จะเป็นกุศล

คนที่กุศลจิตเกิดบ่อยๆ คงจะสังเกตความคล่อง ความไวของกุศล คือ ไม่รีรอ ไม่รู้สึกลำบากในการที่จะทำกุศล แต่คนที่ไม่คล่องเพราะมีอกุศลจิตเกิดมากและ กุศลจิตเกิดน้อย เวลาที่กุศลจิตจะเกิดรู้สึกว่าหนักๆ ยาก ถ่วงๆ ไม่ค่อยจะเกิด ไม่ค่อยจะเป็นไปโดยรวดเร็วหรือว่าโดยสะดวก เพราะเหตุว่า ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นจะประกอบด้วยกายปาคุญญตาเจตสิกและจิตตปาคุญญตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่คล่อง สะดวกแก่การกุศล

นอกจากนั้นแล้ว อกุศลจิตคดโกง แต่กุศลจิตไม่คดโกง เพราะประกอบด้วย กายุชุกตา และจิตตุชุกตา กายุชุกตาทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยตรง จิตตุชุกตาทำให้จิตในขณะนั้นเป็นสภาพที่ตรง คือ เป็นกุศล

เปิด  239
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565