แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1328

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๗


สุ. ในขณะที่กุศลจิตเกิด และสติสัมปชัญญะสามารถพิจารณาสภาพของกุศลจิตในขณะนั้น จะทำให้เข้าใจได้ว่า สภาพที่เป็นกุศลนั้นสามารถเพิ่มกำลังความมั่นคงขึ้นได้ถ้าเข้าใจลักษณะของกุศล แต่ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของกุศล และมุ่งที่จะไปทำสมาธิ ขณะนั้นย่อมเป็นมิจฉาสมาธิ

อยู่ดีๆ ก็ต้องการสงบขึ้นมาเฉยๆ โดยที่ไม่มีเหตุเลยว่า ขณะที่สงบเดี๋ยวนี้ เพราะอะไร

ขณะนี้ทุกท่านเป็นกุศลจิตหรือเปล่า ถ้าเป็น ต้องสงบ และลักษณะของความสงบปรากฏไหม ถ้าลักษณะของความสงบไม่ปรากฏ เพราะอะไร ก็เพราะสติสัมปชัญญะไม่ได้พิจารณาสภาพความสงบของจิตซึ่งเกิดสลับกับอกุศลอย่างเร็วมาก เช่น ในขณะที่กำลังฟังธรรมและเกิดความสนใจ สภาพของจิตที่ผ่องใสเลื่อมใสในการที่ได้ยินพระธรรมเป็นกุศลจริง แต่ถ้ามีเสียงอื่นคั่น อกุศลจิตเกิดติดตามเสียงนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ไวที่จะรู้ว่า ลักษณะของกุศลที่สงบนั้นไม่ใช่ในขณะอื่น แต่ต้องเป็นในขณะหนึ่งขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใดนั่นเอง จึงจะค่อยๆ อบรมเจริญความสงบที่เป็นกุศลให้มั่นคงขึ้นได้ มิฉะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น

ถ. ท่านอาฬารดาบสและอุทกดาบสเจริญสมถภาวนาจนขั้นสูงสุด แต่ไม่มีปัญญาก็ละกิเลสไม่ได้ และถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้เป็นลูกศิษย์ของ ๒ อาจารย์นี้ ท่านจะสามารถบรรลุโพธิญาณได้ไหม

สุ. บารมีที่ได้สะสมมาพร้อมที่จะทำให้ชีวิตของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแต่ละขณะต้องเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถไม่ให้เป็นอย่างนี้ ไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้

ถ. เพราะฉะนั้น แม้ไม่ได้พบฤๅษีทั้งสอง ก็ต้องบรรลุพระโพธิญาณแน่นอนใช่ไหม

สุ. แต่ต้องพบ เพราะจะต้องได้ฌานขั้นสูงสุด ไม่มีผู้อื่นเสมอด้วย

ถ. ต้องพร้อมด้วยอภิญญาต่างๆ ทั้งหมด อย่างเราไม่ต้องเอาก็ได้ ใช่ไหม

สุ. แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จปรินิพพาน ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่ได้บรรลุฌานมีมากกว่าผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมและบรรลุฌานจิตด้วย แสดงให้เห็นว่า การที่จะบรรลุทั้งสองอย่างนั้นยาก ไม่ใช่ง่าย และต้องเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยสะสมมาด้วย ยิ่งในสมัยนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปีผ่านมาแล้ว ผู้ที่ปรารถนาบรรลุ ทั้งสองย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้เพียงอย่างเดียวก็ยากที่จะเป็นไปได้ แม้เพียงความเข้าใจให้ตรงให้ถูกในลักษณะของเหตุและผล ในลักษณะของธรรม ก็ยังจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ

เรื่องของสภาพธรรม เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าได้เข้าใจถึงขณะจิตที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยว่า ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างไร จะทำให้ค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะแม้โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและดับไป ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยถึง ๑๙ ดวง ซึ่งเจตสิกแต่ละอย่างก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นทำกิจของตนและ ดับไป แต่ถ้าไม่รู้ ขณะใดที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นเราด้วยความไม่รู้

เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะจิตเดียว แสดงให้เห็นว่า โลภมูลจิตนั้นมีปัจจัยอะไรบ้าง โดยสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันนั่นเองต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน อาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากกันแล้วก็เกิดไม่ได้เลย

สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง จะขอทบทวนไปเรื่อยๆ สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องของเจตสิก

เจตสิก ๑๙ ดวงที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง และอกุศลเจตสิก ๖ ดวง

อัญญสมานาเจตสิก ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ คือ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ เจตสิก ๗ ดวงนี้ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดทั้งสิ้น

นอกจากนั้น มีปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเกิดกับจิตได้บางดวง และเว้น ไม่เกิดกับจิตบางดวง แต่สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ปกิณณกเจตสิกเกิดร่วมด้วยทั้ง ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑

ขณะนี้เอง เพียงแต่ไม่รู้ว่าขณะใดสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นลักษณะของเจตสิกประเภทไหน ถ้าเป็นอกุศลจิต เช่น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ก็จะต้องประกอบด้วย อกุศลเจตสิก คือ โมจตุกะ ๔ ได้แก่ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ ซึ่งโมจตุกะ ๔ นี้ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง แต่เมื่ออกุศลจิตดวงนี้เป็นประเภทโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ จึงมีอกุศลเจตสิกอีก ๒ ดวงเกิดร่วมด้วย คือ โลภเจตสิก ๑ และทิฏฐิเจตสิก ๑

การทบทวนปัจจัย จะไม่ทบทวนตามลำดับของปัจจัยก็ได้ แต่จะทบทวนโดยสภาพความเป็นปัจจัยของจิตและเจตสิก ๑๙ ดวง ซึ่งเกิดร่วมกันในโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ โดยสหชาตปัจจัย

คำว่า สหชาต หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยธรรมต้องเกิดพร้อมกับปัจจยุปบันธรรม คือ สภาพธรรมที่ปัจจัยนั้นทำให้เกิดขึ้น

ทั้งจิตและเจตสิก ๑๙ ดวงนี้ เป็นสหชาตปัจจัย คือ ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกอื่นๆ อีก ๑๘ ดวง โดยนัยเดียวกันสำหรับเจตสิกอื่น เช่น เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตดวงนี้ ก็เป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกอื่นๆ อีก ๑๘ ดวง เพราะจิตจะเกิดโดยปราศจากเจตสิกไม่ได้ ทั้งจิตและเจตสิกอาศัยกันและกันเกิดขึ้น คือ ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน

จะให้มีความเห็นผิดซึ่งเป็นสภาพของทิฏฐิเจตสิกเกิดโดยไม่มีโลภเจตสิกเกิด ร่วมด้วยไม่ได้ เพราะขณะใดที่มีความเห็นผิด หมายความว่า ขณะนั้นมีความพอใจ มีความติด มีการยึดถือในความเห็นนั้น เพราะฉะนั้น ทิฏฐิเจตสิกไม่สามารถเกิดได้โดยปราศจากโลภเจตสิก แต่โลภเจตสิกสามารถเกิดได้โดยปราศจากทิฏฐิเจตสิก

นี่เป็นสิ่งที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ในวันหนึ่งๆ ก็มีโลภมูลจิตเกิดบ่อยๆ เป็นไปทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง แต่เมื่อใดในวันหนึ่งที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะนั้นต้องมีความยึดมั่นในความเห็นผิดซึ่งไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น สำหรับปัจจัยที่ ๑ โดยสหชาตปัจจัย โลภมูลจิตเกิดร่วมกับเจตสิก ๑๙ ดวง ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน และต้องเกิดพร้อมกัน จึงชื่อว่า โลภมูลจิต โลภมูลจิตเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และเจตสิกซึ่งเกิดกับ โลภมูลจิตนั้น ก็เป็นสหชาตปัจจัยแก่โลภมูลจิต

ต่อไปปัจจัยที่ ๒ โดยสัมปยุตตปัจจัย หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งเป็นปัจจัยแก่สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมด้วยกันในขณะที่เกิดร่วมกันเท่านั้น เพราะเป็นสภาพธรรมที่เข้ากันได้สนิทจึงเป็นสัมปยุตตปัจจัย และที่เข้ากันได้สนิทก็เพราะ เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน ๑ ดับพร้อมกัน ๑ รู้อารมณ์เดียวกัน ๑ และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องเกิดที่รูปเดียวกันด้วย ๑ แสดงให้เห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่เข้ากันได้ สนิทจริงๆ ซึ่งเป็นนามธรรม ถ้าเป็นรูปธรรมกับนามธรรม ไม่สามารถที่จะเข้ากันได้สนิท เพราะรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้อารมณ์ นอกจากนั้นที่เป็นสัมปยุตตปัจจัยนั้น ยังต้องหมายถึงในขณะที่เกิดพร้อมกัน ไม่ใช่ในขณะที่เกิดต่างขณะกัน

จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไรก็ตาม ทั้งจิตและเจตสิกนั้นเป็นสัมปยุตตปัจจัยซึ่งกันและกัน เพราะเข้ากันได้สนิทในขณะที่เกิดร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน และเกิดที่รูปเดียวกัน

ถ้าโลภมูลจิตดวงนี้ดับไป มีจิตอื่นเกิดต่อ จะชื่อว่าสัมปยุตตปัจจัยได้ไหม

ถ้าจิตขณะนี้เกิดเป็นโลภมูลจิต และดับไป จิตขณะต่อไปก็เกิดเป็นโลภมูลจิต โลภมูลจิตขณะที่ ๑ กับโลภมูลจิตขณะที่ ๒ เป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือไม่ ไม่เป็น

ต้องเข้าใจว่า ในขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้น ยังไม่พูดถึงขณะต่อไปเลย เพียงในขณะจิตเดียวที่เกิดขึ้น จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกันเป็นสหชาตปัจจัย ต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นจริง แต่ต้องเกิดพร้อมกันด้วย

นอกจากจะเป็นสภาพที่เกิดพร้อมกันแล้ว ยังเป็นสัมปยุตตปัจจัย เพราะเป็นนามธรรมที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น รู้อารมณ์เดียวกันในขณะนั้น และถ้าเป็นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องเกิดที่รูปเดียวกันในขณะนั้น และต้องดับพร้อมกันด้วย จึงจะเป็นสัมปยุตตปัจจัย

เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ดับไป เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตดวงที่ ๒ เกิด แต่ไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย

ปัจจัยที่ ๓ โดยอัญญมัญญปัจจัย ชื่อเป็นภาษาบาลี แต่ลักษณะของ สภาพธรรมไม่ต้องมีชื่ออะไรก็ได้ แต่ที่ต้องใช้ชื่อก็เพื่อแสดงให้เห็นลักษณะความเป็นปัจจัยของธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ถ้าโดยอัญญมัญญปัจจัย หมายความว่า สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยธรรมและสภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบันธรรม ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน คือ ในขณะที่โลภมูลจิตเกิด และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย โลภมูลจิตเป็น อัญญมัญญปัจจัยของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมด และเจตสิกซึ่งเกิดทั้งหมดนั้นก็ เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่โลภมูลจิต คือ โลภมูลจิตต้องอาศัยเจตสิกที่เป็น ปัจจยุปบันธรรม และเจตสิกที่เป็นปัจจยุปบันธรรมต้องอาศัยจิตซึ่งเป็นปัจจัย ทั้งปัจจัยและปัจจยุปบันต่างต้องอาศัยกันและกัน จึงเป็นอัญญมัญญปัจจัย

ซึ่งบางครั้ง หรือบางขณะ หรือบางสภาพธรรม ปัจจัยทำให้ปัจจยุปบันเกิดโดยที่ปัจจัยนั้นไม่ได้อาศัยปัจจยุปบันเลย เช่น จิตเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด เนื่องจากว่ารูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุก็มี รูปที่เกิดจากอาหารก็มี ฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงจิตตชรูป ก็หมายความว่า รูปนี้ต้องอาศัยจิตเป็นสมุฏฐาน จึงเกิดมีขึ้นได้ ถ้าไม่มีจิต จิตตชรูปจะเกิดไม่ได้เลย

อย่างคนที่ตายแล้ว ไม่มีจิตตชรูปอีกเลย เพราะจิตไม่เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นจิตตชรูปแล้ว จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นสมุฏฐาน เป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้น แต่จิตตชรูปไม่ได้เป็นที่อาศัยเกิดของจิต จิตตชรูปจึงไม่ใช่ อัญญมัญญปัจจัย แต่สำหรับจิตต้องอาศัยเจตสิกเกิด และเจตสิกต้องอาศัยจิตเกิด ต่างต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ต่างก็เป็นอัญญมัญญปัจจัยซึ่งกันและกัน

นี่เป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ทรงแสดงให้ละเอียดขึ้นว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างที่อาศัยกันเกิดขึ้นเป็นปัจจัยโดยอย่างไรเท่านั้นเอง ถ้าเข้าใจแล้ว ก็เป็นการทบทวนโดยสภาพของปัจจัยนั้นๆ ซึ่งชื่อเป็นภาษาบาลีก็จริง แต่สภาพธรรมก็คือ สภาพธรรมตามปกติ แต่เป็นปัจจัยโดยปัจจัยอย่างไรบ้าง

อัญญมัญญปัจจัย เปรียบเหมือนกับไม้ ๓ อัน ซึ่งต้องอาศัยกันจึงตั้งอยู่ได้ ถ้าเอาอันหนึ่งอันใดออกไป ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้ฉันใด อัญญมัญญปัจจัยก็ฉันนั้น

ถ้าบอกว่า จิตเป็นอัญญมัญญปัจจัย ต้องรู้เลยว่า สิ่งซึ่งเป็นปัจจยุปบันธรรมที่จิตนั้นทำให้เกิด จิตต้องอาศัยปัจจยุปบันธรรมนั้นด้วย มิฉะนั้นจะไม่ใช้คำว่า อัญญมัญญปัจจัย หรือถ้ากล่าวว่า เจตสิกเป็นอัญญมัญญปัจจัย จะต้องรู้ทันทีว่า เมื่อเป็นปัจจัย หมายความว่า เป็นสภาพธรรมที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเป็นปัจจยุปบันเกิดขึ้น และสภาพของปัจจัยนั้นต้องอาศัยปัจจยุปบันด้วย จึงเป็นอัญญมัญญปัจจัย ซึ่งกันและกัน

๓ ปัจจัยแล้ว คือ สหชาตปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย และอัญญมัญญปัจจัย ในขณะจิตเดียวเท่านั้น มีหลายปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นไปชั่วขณะเดียว

ปัจจัยที่ ๔ คือ โดยนิสสยปัจจัย ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยธรรมนั้น เป็นปัจจัยแก่ปัจจยุปบันธรรม โดยเป็นที่อาศัยของปัจจยุปบันธรรม

คำว่า นิสสัย หมายถึงที่อาศัย เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิก ทั้ง ๒ อย่างต่างก็เป็นนิสสยปัจจัยแก่กันและกัน เพราะต้องอาศัยกัน

ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เช่นในภูมินี้ จิตของทุกท่านต้องอาศัยรูปเกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะเกิดข้างนอกรูปร่างกายได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งเป็นโสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง เกิดขึ้น ลองพิจารณาดูว่า อะไรเป็นนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยเกิดของโลภมูลจิตดวงนี้

ได้กล่าวถึงแล้วทั้งหมดว่า จิตประเภทใดอาศัยรูปใดเกิด แต่ถ้ากล่าวถึง โลภมูลจิต ทุกคนมีโลภมูลจิต ควรที่จะรู้ด้วยว่า เวลาที่โลภมูลจิตเกิดอาศัยรูปใดเป็นนิสสยปัจจัย เป็นที่เกิด เป็นที่อาศัยเกิด

ทางตา ขณะที่เห็น จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาท เพราะฉะนั้น จักขุปสาทเป็นนิสสยปัจจัย ที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณ สำหรับโลภมูลจิต เวลาที่เห็นแล้วชอบ โลภมูลจิตมีรูปใดเป็นนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยเกิดของโลภมูลจิต

โลภมูลจิตเกิดที่ไหน ต้องเกิดในตัว ที่เกิดมีอยู่ ๖ จักขุปสาท ๑ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวงที่กำลังเห็น โสตปสาทเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานปสาทเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาปสาทเป็นที่เกิดของ ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายปสาทเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ ๒ ดวง

เวลาที่เห็น หรือได้ยิน และเกิดชอบ พอใจ โลภมูลจิตนั้นเกิดที่รูปไหน เฉพาะโลภมูลจิตขณะเดียวที่เกิดขึ้น มีรูปใดเป็นนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยเกิด รูปเดียว คือ รูปใด

รูปนั้น คือ หทยวัตถุรูป

เปิด  321
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565