แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1329

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๗


สุ. เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะเห็นได้ว่า การที่สภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละประเภทจะเกิดขึ้น ถ้าสามารถรู้ถึงที่เกิดด้วย จะเห็นความต่างกันว่า จริง เห็นทางตา และเกิดความพอใจขึ้น แต่โลภมูลจิตไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท เกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น หทยวัตถุเป็นนิสสยปัจจัยของโลภมูลจิต แต่โลภมูลจิตเป็นนิสสยปัจจัยของหทยวัตถุหรือเปล่า

เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าศึกษาเรื่องของปัจจัย ก็มีเรื่องที่จะต้องพิจารณา ได้มาก เช่น เมื่อหทยวัตถุเป็นนิสสยปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตแล้ว โลภมูลจิตเป็น นิสสยปัจจัยให้เกิดหทยวัตถุหรือเปล่า

คำตอบคือ ไม่เป็น เพราะหทยวัตถุเป็นที่เกิดเท่านั้น เนื่องจากในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด

เวลาเห็น ชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่พบเห็นสิ่งนั้น ย่อมไม่ชอบในสิ่งนั้น แต่เวลาที่โลภมูลจิตเกิด ไม่ใช่จิตเห็นซึ่งเกิดที่จักขุปสาท เพียงแต่อาศัยจักขุปสาทเป็นทวารที่จะให้เกิดความพอใจ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตเกิดที่หทยวัตถุ ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาท แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วและความเป็นปัจจัยของจิตที่ต่างขณะกันว่า แม้แต่การที่จะอาศัยรูปเกิดขึ้น ก็อาศัยรูปที่ต่างกันด้วย

อาศัยจักขุปสาทเป็นทวารหรือเป็นทาง แต่โลภมูลจิตเกิดที่หทยวัตถุ ถ้าเป็น จักขุวิญญาณต้องมีจักขุปสาทเป็นนิสสยปัจจัย คือ เป็นที่อาศัยเกิด

ถ้าทราบความหมายในภาษาบาลีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น คำว่า นิสสยะ หมายความถึงที่อาศัย ภาษาไทยเราอาจจะใช้คำว่านิสัยสำหรับนิสสยะ แต่ทางธรรมแล้ว นิสสยะ หมายความถึงที่อาศัย แม้แต่ทางพระวินัย พระภิกษุที่บวชก็จะต้องถือนิสัยกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เพราะต้องอาศัยคำสั่งสอนของท่านที่จะอบรมจนกว่า จะพ้นสภาพของการเป็นภิกษุใหม่ นั่นก็เป็นความหมายในทางธรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงนิสสยปัจจัยก็รู้ได้ว่า จักขุปสาทเป็นที่อาศัยที่เกิดของจักขุวิญญาณ แต่สำหรับโลภมูลจิตเป็นนิสสยปัจจัยแก่นามธรรม คือ เจตสิก แต่ไม่เป็นนิสสยปัจจัยแก่รูปธรรม เนื่องจากจักขุปสาทเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แม้หทยวัตถุ ก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่ใช่จิตตชรูป

อย่าลืม การที่จะอาศัย เป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม แต่ถ้ากล่าวถึง โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นนิสสยปัจจัยไหม

เป็น

เป็นนิสสยปัจจัยของอะไร

ของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย พร้อมกันนั้นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตก็เป็นนิสสยปัจจัยของโลภมูลจิตด้วย นี่คือปฏิจจสมุปบาท โดยนัยของปัจจยาการที่แสดงถึงว่า เมื่ออาศัยเกิดแล้ว โดยปัจจัยอะไรด้วย

ปัจจัยที่ ๕ คือ โดยอุปนิสสยปัจจัย ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่สภาพธรรมอื่นที่เกิดขึ้น แต่สำหรับอุปนิสสยปัจจัยนั้น เป็นสภาพที่เป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่สภาพธรรมที่ไม่ได้เกิดพร้อมกัน นี่เป็นความต่างกัน

อุปนิสสยปัจจัย มี ๓ คือ อารัมมณูปนิสสยปัจจัย ๑ อนันตรูปนิสสยปัจจัย ๑ และปกตูปนิสสยปัจจัย ๑

โดยนัยของอารัมมณูปนิสสยปัจจัย โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง โดยเป็นอารมณ์ของโลภมูลจิตขณะต่อๆ ไปที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า

ถ้ามีความชอบใจ หรือมีความพอใจในความเห็นผิดอย่างไหน มักจะคิดถึงความเห็นผิดนั้นอีก และมีความโน้มเอียงที่ต้องการ ที่พอใจ ที่ติด ที่ยึดในความเห็นนั้นอีก นี่เป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ที่เกิดขึ้นขณะหนึ่ง และเป็นที่พอใจในความเห็นผิดนั้น ถึงแม้ว่าจะดับไปแล้วก็จริง แต่ก็ยังเป็นอารมณ์ที่จะทำให้โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิดต่อไปข้างหน้าได้

สำหรับอนันตรูปนิสสยปัจจัย ก็โดยนัยเดียวกันกับอนันตรปัจจัย คือ การดับไปของโลภมูลจิตดวงก่อนเป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังทำให้โลภมูลจิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อในชวนวิถี และสำหรับดวงสุดท้ายที่เป็นชวนวิถี ก็เป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนะ หรือว่าภวังคจิตเกิด

โดยนัยของปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยปกติที่ได้กระทำ คือ สะสมไว้ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ โลภมูลจิตขณะหนึ่งเกิดและดับไป ไม่สูญหาย แต่สะสมสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป เคยกระทำไว้ เคยคิดอย่างนั้น เคยเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เป็นการสะสมที่มีกำลังที่จะทำให้โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์อย่างนั้น เกิดอีก

ถ้าไม่กล่าวถึงโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมด้วยกับความเห็นผิด จะเห็นได้จากชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า แต่ละท่านที่มีความพอใจหรือมีอัธยาศัยต่างๆ กันไปในสิ่งที่เห็นทางตา ในเสียงที่ได้ยินทางหู ในกลิ่นต่างๆ ในรสต่างๆ ในเสื้อผ้า ในวัตถุ ในเครื่องใช้ ในเรื่องราวต่างๆ ที่สนใจ ที่สนุกสนาน แม้แต่การละเล่น จะเห็นได้ว่า เพราะได้เคยพอใจอย่างนั้น เคยสะสมมาอย่างนั้น เคยกระทำอย่างนั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง โดยปกติที่ได้เคยกระทำสะสมไว้แล้ว

สำหรับเรื่องในอดีตที่เป็นเรื่องชาดกจะเห็นได้ว่า การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงชาดก ก็เพราะได้เกิดการกระทำและเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นที่พระวิหารเชตวันบ้าง ที่กรุงสาวัตถีบ้าง ที่เมืองพาราณสีบ้าง เมื่อมีเหตุการณ์นั้นๆ หรือการกระทำของบุคคลนั้นๆ เกิดขึ้น เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมแต่ละบุคคลนั้นจึงกระทำสิ่งนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ไปเฝ้าและกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงได้ทรงแสดงชาดก คือ เหตุการณ์ที่ได้เคยเกิดขึ้นอย่างนั้นๆ มาแล้วแก่บุคคลนั้นๆ ในอดีต

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านลองพิจารณาตนเอง จะคิด จะพูด จะทำ จะชอบ หรือจะไม่ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว แต่ต้องเคยคิด เคยทำ เคยพูด เคยชอบ เคยไม่ชอบอย่างนั้นๆ มาแล้วในอดีต จนกระทั่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดคิด พูด หรือทำอย่างนี้ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิตประเภทใด ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะโดยปกตูปนิสสยปัจจัย

ใน อรรถกถา มหานิบาต มโหสถชาดกที่ ๕ มโหสถทูลพระเจ้าวิเทหราชว่า คนพาลเห็นโลกนี้เป็นปกติ ไม่เห็นโลกหน้าเป็นปกติ

เพียงข้อความสั้นๆ แต่เป็นชีวิตประจำวันของทุกคนที่โลภ ต้องการสิ่งหนึ่ง สิ่งใดในชีวิตประจำวัน เพราะเห็นความสำคัญในโลกนี้เท่านั้น ถ้าต้องการลาภ ต้องการยศ ต้องการสรรเสริญ ต้องการสักการะ จะติดตามไปถึงโลกหน้าได้ไหม

ลาภที่ปรารถนานักในชาตินี้ แม้แต่ยศ แม้แต่สรรเสริญ ไม่สามารถจะติดตามไปได้เลย แต่ทำไมจึงติดในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ก็เพราะเหตุว่า คนพาลเห็นโลกนี้เป็นปกติ คือ คิดถึงเฉพาะโลกนี้ที่กำลังเป็นอยู่เท่านั้น จนกระทั่งสามารถที่จะกระทำทุจริตต่างๆ หรืออาการที่เป็นไปเพราะอกุศลจิตต่างๆ ด้วย โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เพราะไม่เห็นโลกหน้าเป็นปกติ

ถ้ามีมานะ มีความสำคัญตนในโลกนี้ ในชาตินี้ ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ชาติหน้าลองคิดดูว่าจะหนาแน่นขึ้นอีกเท่าไหร่ที่จะเป็นผู้ติดในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ ยากแก่การที่จะสละ ที่จะคลาย เพราะในชาตินี้ยังไม่ยอมคลายความติดในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ

เพราะฉะนั้น อกุศลแต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ที่จะทำให้เกิดอกุศลจิตนั้นๆ ในอนาคตข้างหน้า แม้โลภมูลจิตที่เกิดเพียงชั่วขณะเดียว ก็เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะให้เกิดโลภมูลจิตข้างหน้าอีก

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า คนส่วนมากมักจะติดในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ เท่าที่สังเกตดูในปัจจุบันนี้ ก็รู้สึกว่าเราจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นเช่นนั้น

สุ. ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียวที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ ทุกชาติมาแล้ว และชาติต่อไปด้วยก็จะกล่าวว่า อยู่ในสิ่งแวดล้อมของลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญอีก

ถ. ปัจจุบันนี้สิ่งแวดล้อมมีส่วนอย่างมาก ไม่ทราบว่าในสมัยพุทธกาลมีไหมที่พระองค์นี้สอบได้เปรียญนั้น ต้องให้พัดยศเท่านี้ พระองค์นั้นได้เปรียญนี้ ต้องได้ พัดยศเท่านั้น เป็นเจ้าคุณ เป็นรองเจ้าอาวาส พระปลัด อะไรทำนองนี้ เท่าที่ศึกษาท่านก็สอนให้ละ ให้คลาย ไม่ให้ยึดถือ ไม่ให้ติด แต่ทำไมจึงมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

สุ. เป็นเรื่องของทางคณะสงฆ์ที่จะต้องมีผู้นำที่ต้องรับผิดชอบ เป็นเรื่องของกาลสมัยซึ่งคงต้องพัฒนาไปตามเหตุการณ์เรื่อยๆ แต่แม้จะไม่กล่าวว่าโดยพัดยศ หรือว่าโดยตำแหน่งต่างๆ ลาภก็ยังคงคือลาภ คือ เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ยศก็คือเกียรติยศต่างๆ คุณความดีต่างๆ หรือว่าสรรเสริญ สักการะ ก็ไม่พ้นไปจากโลกนี้ได้ เพราะเป็นธรรมประจำโลก แล้วแต่ว่าจะออกมาในรูปลักษณะอย่างไร แม้ไม่มี เจ้าอาวาส ไม่มีพัดยศ ไม่มีอะไร ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดโลภะ โทสะ โมหะ อาจจะออกมาในรูปอื่นก็ได้

ถ. ก็ถูกต้อง แต่รู้สึกว่า นับวันสิ่งเหล่านี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะขัดเกลา หรือเป็นเพราะกึ่งพุทธกาลมาแล้ว จึงเป็นเช่นนั้น

สุ. ต่อไปก็ยิ่งมากขึ้น เพราะแต่ละคนก็มีชีวิตต่อไปเพิ่มขึ้น อกุศลก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ลดลงไป

ถ. เพราะเหตุใด หรือเพราะปัจจัยใดจึงทำให้ผู้ที่มีเจตนาดี ต้องการไปสร้างกุศลด้วยการเดินทาง ต้องประสบกับเคราะห์หรือวิบากที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ

สุ. บางท่านคิดว่า ไปทำบุญ ไม่น่าจะสิ้นชีวิต ราวกับว่าเมื่อทำบุญแล้ว ไม่ต้องตาย แต่ถึงจะทำบุญก็ต้องตาย จะทำบุญมากสักเท่าไรก็ต้องตาย เพราะไม่มีใครหนีความตายพ้นได้

เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ถึงตาย ก็อาจจะบาดเจ็บสาหัส ไม่ใช่ว่าทุกท่านเคยทำแต่บุญกุศลมาแล้วทั้งนั้น อกุศลกรรม อกุศลจิตในวันหนึ่งๆ ก็มีมากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งถ้าได้โอกาสของกรรมใด กรรมนั้นย่อมให้ผล เพราะฉะนั้น เรื่องของเหตุ คือ กุศลในขณะนี้ จะเป็นปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้นข้างหน้า แต่อดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่จะให้ผลเกิดขึ้นในชาตินี้

เพราะฉะนั้น วันนี้วิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายของ แต่ละคน เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทำแล้ว แต่กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ทำในชาตินี้ จะเป็นปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้นข้างหน้า

ศึกษาธรรมวันนี้ อยากได้ผลของธรรมที่ได้ศึกษาในวันนี้เลยหรืออย่างไร

ถ. มิได้ เป็นแต่เพียงปัญหา เช่น มารดาของเพื่อนไปทำบุญแล้วประสบอุบัติเหตุถึงกับสิ้นชีวิต ทำให้เพื่อนไม่เข้าใจว่า ทำบุญอย่างไรจึงเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นบุญจริง ต้องไม่ตาย ทำนองนี้

สุ. มีใครผัดผ่อนความตายได้ไหม ขอร้องว่า ขอเพิ่มอีกสักขณะเดียว อย่าให้ตายเดี๋ยวนี้ขณะนี้เลย

จุติจิตเป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมฉันใด จุติจิตก็เป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมฉันนั้น ซึ่งจะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลหนึ่งใน ชาติหนึ่ง โดยที่ไม่มีใครสามารถขอร้องผัดผ่อนวิงวอนได้ว่า อย่าให้ผลในขณะนี้เลย เพราะฉะนั้น แม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ไปทอดกฐิน หรือไม่ไปทำบุญ แต่ถ้าจะต้องสิ้นชีวิตลงในขณะนั้น ก็เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

ถ. คนที่รักษาศีลแม้ไม่หวังผลตอบแทน แต่อานิสงส์ของศีลทำให้เมื่อเกิดมาแล้วเป็นคนรูปสวย แต่เพราะเหตุใดคนที่สวยๆ มักจะไม่ค่อยมีปัญญา หรือว่า แล้งน้ำใจ

สุ. คนสวยไม่มีปัญญาหรือ

ถ. มิได้ บางทีคนสวยอาจจะพลาดพลั้งซื้อของแพงกว่า อาจจะเกรงใจแม่ค้าไม่กล้าต่อ ทำให้ซื้อของแพง หรือบางทีสิ่งที่คิดง่ายๆ สามารถตัดสินได้ ก็ไม่สามารถจะตัดสินได้

สุ. คนสวยซื้อของแพงเพราะไม่กล้าต่อ และบางทีปัญหาที่น่าจะตัดสินได้ง่ายๆ คนสวยก็ตัดสินไม่ได้ จึงเป็นที่สงสัยว่า บุญทำให้เกิดมาสวย แต่ทำไมบางครั้งไม่ฉลาด และเสียเปรียบซื้อของแพง เป็นต้น เพราะอะไร ใช่ไหม

มีกรรมเดียวเท่านั้นหรือที่ทำให้เป็นคนสวย ปฏิสนธิเกิดขึ้นในชาติหนึ่งชาติใดเป็นผลของกรรมหนึ่ง กรรมเดียวเท่านั้นเอง แต่อย่าลืมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาในสังสารวัฏฏ์ที่เกิดมาเป็นคนสวยบ้าง ไม่สวยบ้าง อกุศลจิตเกิดเท่าไร และกุศลจิตเกิดเท่าไร ผลของกุศลต้องเป็นสิ่งที่ดีเสมอ แม้แต่รูปซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม ก็ต้องเป็นรูปที่ดี เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าเป็นคนสวย ก็เพราะเป็นผลของกุศลกรรมแน่นอน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็ต้องเป็นรูปที่ไม่สวย

อย่าลืม มีเพียงกรรมเดียวเท่านั้นที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นพร้อมกับรูปซึ่งเป็นกัมมชรูป แต่กรรมอื่นอีกที่สะสมมาในสังสารวัฏฏ์ เคยริษยาไหม มีมานะบ้างไหม มีความตระหนี่บ้างไหม มีความคดโกงบ้างไหม มีความแข่งดีบ้างไหม มีอกุศลหลายอย่างที่สะสมอยู่ในจิต ไม่ได้ไปไหนเลย เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมหนึ่งทำให้เป็นคนสวย แต่ว่าอกุศลอื่นๆ ที่สะสมไว้มาก ก็แสดงออกมาเป็นคนสวยซึ่งไม่ฉลาดบ้าง หรือไม่ดีต่างๆ บ้าง โดยปกตูปนิสสยปัจจัย

แต่คนสวยที่ดีก็มี เพราะสะสมกุศลกรรมมามากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็มีจิตใจที่อ่อนโยน มีเมตตากรุณาได้ และที่เป็นพระอริยบุคคลที่งามพร้อมก็มี คือ สติปัญญาเป็นเลิศถึงความเป็นพระอรหันต์ และยังเป็นผู้ที่มีความงามอย่างมากด้วย เช่น พระนางยโสธราพิมพา อย่างนี้พอจะเป็นตัวอย่างได้ไหม

ถ. ขอบพระคุณมาก

เปิด  232
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565