แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1340
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๗
ถ. เรื่องแข่งดี ดิฉันผ่านมากับตัวเองเหมือนกัน แต่เป็นคนไม่ชอบแข่งดีกับใคร ดิฉันทำงานโรงเรียน พยายามปรับปรุงของตนเองให้ดีที่สุด คนเขาว่าไปเอาอย่างโรงเรียนใหญ่ ดิฉันก็เฉย พยายามทำของเราให้ดีที่สุด แต่งานของดิฉันก็ได้ผลสำเร็จ เรียกว่าไม่กลัวโรงเรียนใหญ่ๆ ใครๆ ก็พูดลับหลังว่า ถ้าแกขยายที่ได้ แกตีโรงเรียนอื่นแตกหมด เพราะดิฉันเอาแบบอย่างของโรงเรียนใหญ่มาอ่าน และเอามาแก้ โดยไม่แข่งดีกับใคร แต่ปรับปรุงงานให้ถึงขนาดของงาน เหนื่อย แต่สบายใจ เพราะเรามีนิสัยไม่แข่งดี ดิฉันเคยเป็นช่างทำผม เขาวิจารณ์กันมาก ดิฉันก็ไม่สนใจ พยายามทำให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น ผลของงานและนิสัยของเรา ทำให้ดิฉันสามารถที่จะ.. พูดนี่ ก็เป็นมานะอีก ดิฉันปรับปรุงงานของดิฉันโดยไม่แข่งดี แต่งานได้ผลสมหวัง ที่อยู่ได้ทุกวันนี้ ด้วยฐานะ ด้วยหยาดเหงื่อทุกหยาดและนิสัยนี้ทำให้สำเร็จ
สุ. ฟังชื่อว่า แข่งดี ซึ่งไม่ดีเลย ชื่อว่าแข่งดี แต่ความจริงเป็นอกุศล เพราะถ้าดีจริงๆ ไม่ต้องแข่งกับใครเลย พยายามทำทุกอย่างเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยเฉพาะต้องเป็นกุศลด้วย
ขอกล่าวถึง สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส เพื่อให้พิจารณาธรรม และสังเกตความละเอียดของธรรมด้วย
มิจฉามานนิทเทส ความถือตัวผิด
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปาปเกน วา กมฺมายตเนน เป็นต้น
การงานของพรานเบ็ด ชาวประมง และผู้ฆ่าสัตว์ เป็นต้น ชื่อว่าหน้าที่การงานอันลามก
ต้องตรงจริงๆ ต่อสภาพธรรม ไม่ว่าใครจะมีอาชีพอย่างไรก็ตาม
ความฉลาดเฉียบแหลมในการทำตาข่าย แห ไซ เครื่องดักปลา และในการยกบ่วง วางกับดัก ทำหลาว เป็นต้น ชื่อว่าศิลปะอันลามก
วิชาในการทำร้ายสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิทยฐานะอันลามก
การประกอบพร้อมเฉพาะด้วยเรื่องทั้งหลาย มีการนำเรื่องภารตยุทธและเรื่องนางสีดาเป็นต้น ชื่อว่าการศึกษาอันลามก
ความเฉียบแหลมในกาพย์กลอน การฟ้อนรำ การรำพัน เป็นต้น อันประกอบด้วยทุพภาษิต ชื่อว่าปฏิภาณอันลามก
อัชชศีล มีความประพฤติอย่างแพะ โคศีล การประพฤติอย่างโค ชื่อว่า ศีลอันลามก
ทิฏฐิ ๖๒ อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าทิฏฐิอันลามก
ต่อไปเป็นชีวิตประจำวันซึ่งทุกคนจะได้พิจารณาว่า ในวันหนึ่งๆ ถ้าสังเกตแล้ว อาจเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลได้
ข้อความมีว่า
ในนิทเทสแห่งความวิตกถึงญาติ คือ ความคิดถึงญาติ เป็นต้น
ชื่อว่าคิดถึงญาติ คือ มีวิตกอันเกิดขึ้นปรารภญาติทั้งหลาย เนื่องด้วยความ รักใคร่อันเกี่ยวข้องกันในบ้าน อาศัยกามคุณ ๕ อย่างนี้ว่า ญาติทั้งหลายของเราเป็นอยู่สบาย มีทรัพย์สมบัติ ดังนี้
เริ่มคิดถึงญาติแล้ว
แต่ว่าบุคคลนั้นมีความตรึกเป็นไปอย่างนี้ว่า ญาติทั้งหลายของเรามีศรัทธา มีความเลื่อมใส ถึงความสิ้นไป ถึงความเสื่อมไปแล้ว ดังนี้ ไม่ชื่อว่าตรึกถึงญาติ
การคิดถึงญาติด้วยอกุศล ด้วยความผูกพัน ถ้าคิดในลักษณะที่ว่า ญาติของเราเป็นอยู่สบาย มีทรัพย์สมบัติ ก็เป็นเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ถ้าคิดถึงว่า ญาติทั้งหลายของเรามีศรัทธา มีความเลื่อมใส เป็นต้น อันนี้ก็เป็นกุศลจิตที่อนุโมทนา และระลึกถึงในทางที่เป็นกุศล ไม่ใช่ระลึกถึงในเรื่องของทรัพย์สมบัติ หรือในเรื่องของความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน และวันหนึ่งๆ ทุกคนก็มีญาติซึ่งเป็นที่รักที่เคารพ ถ้าคิดถึงโดยมากจะพิจารณาได้ว่า คิดถึงด้วยอกุศล หรือคิดถึงด้วยกุศล เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อกุศลมากสักแค่ไหน ลองคิดดู ถ้าไม่สังเกต ความผูกพัน ความสัมพันธ์ด้วยอกุศลจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นไปด้วยเมตตา หวังดี เกื้อกูล ในขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น เปลี่ยนจากการคิดถึงด้วยอกุศลไปในทางที่เป็นกุศล ย่อมได้
บางท่านคิดถึงชนบท เช่น
ชนบทของเราทั้งหลาย มีภิกษาหาได้โดยง่าย มีข้าวกล้าสมบูรณ์
เป็นการคิดถึงที่อาศัยเรือน คือ เคหสิตเปมัง
แต่ว่าบุคคลบางคนมีความตรึกเป็นไปอย่างนี้ว่า
มนุษย์ทั้งหลายในชนบทของพวกเรามีศรัทธา มีความเลื่อมใส ถึงความสิ้นไป ถึงความเสื่อมไปแล้ว ดังนี้ ย่อมไม่ชื่อว่าความตรึกถึงชนบท
บางคนคิดถึงแถวที่ท่านอยู่อาศัย คิดถึงบ้านใกล้เรือนเคียง มีที่แห่งหนึ่งซึ่งมี ผู้เรียกว่า กุรุน้อย ที่เมืองไทย เพราะแถวนั้นมีผู้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และ สนทนาธรรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จึงมีผู้เรียกถิ่นนั้นว่า กุรุน้อย แต่ต่อไปคงจะมีอีกหลายแห่ง ได้ทราบว่าที่จังหวัดราชบุรีก็มีด้วย
ข้อความต่อไป เป็นการคิดถึงผู้อื่น มีข้อความว่า
ความคิดเกี่ยวด้วยความเอ็นดูผู้อื่น ได้แก่ ความตรึกประกอบด้วยความรักอาศัยเรือนอันเหมาะสมกับความเอ็นดู
นี่แสดงถึงพระภิกษุซึ่งเป็นผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ฉะนั้น ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี มีว่า
เมื่ออุปัฏฐากทั้งหลายมีความยินดีร่าเริง หรือมีความเศร้าโศก เธอก็ย่อมมีความร่าเริงเป็นทวีคูณ หรือย่อมเศร้าโศกทวีคูณร่วมกับด้วยอุปัฏฐากเหล่านั้น เมื่ออุปัฏฐากเหล่านั้นมีความสุขหรือทุกข์ เธอก็จะเป็นผู้มีความสุขทวีคูณหรือมีทุกข์ทวีคูณร่วมกับอุปัฏฐากเหล่านั้น
ถึงแม้ว่าจะละอาคารบ้านเรือนไปแล้ว แต่เมื่อเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีความผูกพันกับมิตรสหายบ้าง วงศาคณาญาติบ้าง หรือวงศาคณาญาติเองก็ยังมีความผูกพันกับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนสู่เพศบรรพชิตแล้ว เพราะฉะนั้น การตรึกนึกถึง ก็แล้วแต่ว่า ยังคงมีการคิดถึงที่แสดงถึงความโศกร่วมกัน ความร่าเริงร่วมกัน ความทุกข์ร่วมกันหรือเปล่า
หรือเมื่อบุคคลอื่นเหล่านั้นมีการงานใหญ่น้อยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อภิกษุยังกิจเหล่านั้นๆ ให้สำเร็จอยู่ คือ เป็นผู้ที่ช่วยทำให้กิจการงานนั้นสำเร็จไป ย่อมก้าวล่วงพระบัญญัติ (พระวินัย) ย่อมละเมิดธรรมอันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส
ในการคลุกคลีกับคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้แก่ ความตรึกใดอันเป็นเคหสิตมีอยู่ในวิหารอันคลุกคลีกันนั้น หรือว่าในการละเลยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความตรึกนี้ชื่อว่าความคิดเกี่ยวด้วยความเอ็นดูผู้อื่น
นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องสังเกตความรู้สึกเวลาที่คิดถึงคนอื่น
เวลาที่คิดถึงแม้ญาติหรือมิตรสหายด้วยความผูกพัน ดีไหม ต้องเป็นผู้ตรง ต้องตรงจริงๆ เมื่อเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล แต่ถ้าคิดในทางเกื้อกูล เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ย่อมเปลี่ยนได้จากอกุศลเป็นกุศล ถ้าสังเกตจิตในขณะนั้น
สำหรับข้อความต่อไป ขอกล่าวถึงเพื่อการพิจารณาชีวิตประจำวัน คือ ข้อความอธิบายมายา ความเจ้าเล่ห์ อกุศลจิตย่อมสามารถกระทำได้หลายอย่าง มายานิทเทส อธิบายมายา ความเจ้าเล่ห์ มีว่า
คำว่า วาจัง ภาสติ ได้แก่ ภิกษุผู้ก้าวล่วงพระบัญญัติอันรู้อยู่นั่นแหละ ทำให้เป็นภาระหนัก ย่อมพูดราวกับว่าตนเป็นผู้เข้าไปสงบ ด้วยประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้ว่า ชื่อว่าฐานะคือการล่วงพระบัญญัติ ย่อมไม่มีแก่ตัวเอง ดังนี้
นี่สำหรับพระภิกษุ แต่สำหรับคฤหัสถ์ ถ้าได้ทำอกุศลกรรมแล้ว ย่อมราวกับว่า ตนเป็นผู้เข้าไปสงบ ด้วยประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้ว่า ชื่อว่าฐานะคือการล่วงพระบัญญัติ ย่อมไม่มีแก่ตัวเอง
คนที่ทำผิดแล้วขอให้พิจารณาจริงๆ ว่า ไม่อยากจะให้คนอื่นรู้ แน่นอนใช่ไหม ถ้าเป็นความดี ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สิ่งไหนน่าจะทำมากกว่ากัน สิ่งที่ทำแล้วคนอื่นรู้ไม่เป็นไร กับสิ่งที่ทำแล้วไม่อยากจะให้ใครรู้เลย แต่ว่าเมื่อได้ทำแล้วก็ยังมีความเจ้าเล่ห์ โดยที่ปฏิบัติด้วยกายบ้าง หรือด้วยวาจาบ้าง ซึ่งข้อความใน อรรถกถามีว่า
ลักษณะนี้ ชื่อว่ามายา ความเจ้าเล่ห์ เป็นราวกะว่าการเล่นกล
ไม่ต้องเป็นนักเล่นกลจริงๆ แต่ขณะใดที่ปกปิด หรือทำสิ่งที่ไม่ตรง ขณะนั้น ก็ราวกับว่าเล่นกล ภาษาบาลีใช้คำว่า จักขุโมหนมายา
เพราะการปกปิดไว้ซึ่งโทษอันตนรู้อยู่ ความเป็นแห่งบุคคลผู้มีมายา ชื่อว่า มายาวิตา สัตว์ทั้งหลายทำบาปแล้ว ก็ยังล่วงละเมิด คือ ทำบาปอีก เพราะความเป็นผู้ปกปิดไว้ด้วยสภาวะใด สภาวะนั้นชื่อว่าความเจ้าเล่ห์
อย่าลืม ใครที่จะปกปิดความผิดที่ได้ทำไว้ ขณะนั้นเพิ่มความผิด เพราะไม่ยอมรับความผิด แต่เพิ่มด้วยการปกปิดความผิดด้วยสภาวะใด สภาวะนั้นชื่อว่า ความเจ้าเล่ห์
ชื่อว่าลวง ความหมายของคำว่า ลวง ในอรรถกถามีว่า
เพราะย่อมลวงโดยให้เห็นเป็นไปโดยประการอื่น ด้วยการกระทำทางกายและวาจา สัตว์ทั้งหลายย่อมทำซึ่งความฉ้อโกงด้วยสภาวะใด สภาวะนั้นชื่อว่าความฉ้อโกง อธิบายว่า ย่อมทำให้เปล่าประโยชน์
ชื่อว่าความกลบเกลื่อน เพราะยังบาปทั้งหลายให้เกิดสับสนกันไป ด้วยกล่าวคำว่า เราย่อมไม่ทำอย่างนี้ ดังนี้
วิธีที่จะกลบเกลื่อน คือ ต้องทำให้สับสน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าความจริงเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อทำให้สับสนแล้ว ก็กลบเกลื่อนสิ่งที่ได้ทำแล้ว
ชื่อว่าความหลีกเลี่ยง เพราะการเว้นด้วยคำพูดว่า เราย่อมไม่ทำอย่างนี้
ชื่อว่าความซ่อน เพราะความไม่สำรวมด้วยกายเป็นต้น การซ่อนโดยทั้งปวง ชื่อว่าการซ่อนบัง
ชื่อว่าความปกปิด เพราะย่อมปกปิดบาปด้วยกายกรรม วจีกรรม ราวกับคูถอันบุคคลปกปิดไว้ด้วยหญ้าและใบไม้ทั้งหลาย
การปกปิดโดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่าความปิดบัง ชื่อว่าความไม่เปิดเผย เพราะย่อมไม่ทำให้แจ้ง
ชื่อว่าความปิดบังมิดชิด เพราะไม่แสดงให้ปรากฏ
การปกปิดด้วยดี ชื่อว่าความปกปิดมิดชิด
ชื่อว่าการกระทำที่ชั่ว เพราะทำบาปแม้อีกด้วยสามารถแห่งการซ่อนเร้นอันตนทำแล้ว
คำว่า อยัง วุจจติ ความว่า ลักษณะนี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มายา อันมีการซ่อนปิดไว้อันตนทำแล้วเป็นลักษณะ บุคคลประกอบด้วยลักษณะนี้ใด ย่อมเป็นราวกับถ่านเพลิงอันปิดไว้ด้วยขี้เถ้า ย่อมเป็นราวกับตอไม้อันน้ำปกปิดไว้ ย่อมเป็นราวกับว่าศาสตราอันบุคคลพันไว้ด้วยเศษผ้า
นี่เป็นคำอุปมาอกุศลซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งซึ่งน่ารังเกียจ และน่ากลัวจริงๆ แต่อกุศลก็มีประการต่างๆ เช่น สาเถยยะ ความโอ้อวด ชีวิตประจำวันทั้งนั้นที่ควรจะได้พิจารณา ซึ่งใน สาเถยยนิทเทส อธิบายสาเถยยะ ความโอ้อวด ในขณะที่โอ้อวดนั้น เป็นเพราะอกุศล
ข้อความมีว่า
การไม่กล่าวโดยชอบ เพราะแสดงคุณอันตนไม่มีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้โอ้อวด
ความโอ้อวดโดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่าเป็นผู้โอ้อวดมาก
คำว่า ยัง ตัตถะ ได้แก่ ความโอ้อวดอันใดในบุคคลนั้น
ความคดโกง คือ การแสดงคุณอันไม่มีอยู่ ชื่อว่าการโอ้อวด
คำว่า กักขรตา ได้แก่ ความเป็นแห่งความกระด้าง มีความไม่อดทนต่อสิ่งอันไม่เป็นภัยราวกับความหยาบกระด้างของก้านปทุม แม้คำว่า สภาพที่กระด้าง ก็เป็นไวพจน์ของความโอ้อวดนั้นนั่นแหละ
ความคดโกงอันมั่นคง ราวกับเสาเขื่อนอันบุคคลขุดหลุมฝังตั้งไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยบททั้งสอง คือ การพูดเป็นเหลี่ยมเป็นคู สภาพที่พูดเป็นเหลี่ยมเป็นคู
นี่ก็ชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องสังเกตใช่ไหม และการเป็นผู้ละเอียดจะทำให้สังเกตเห็นลักษณะของจิต ซึ่งทำให้มีคำพูดเป็นเหลี่ยมเป็นคู
คำว่า อิทัง วุจจติ ความว่า ความโอ้อวด มีการประกาศคุณอันไม่มีอยู่ของตนเป็นลักษณะนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า สาเถยยะ ความโอ้อวด
ความโอ้อวดนั้น อันใครๆ ไม่อาจเพื่อรู้ซึ่งการกล่าวลวงของผู้ประกอบด้วยอาการใด อาการนั้นย่อมเป็นเช่นกับสุกรยักษ์ซึ่งกล่าวไว้ดังนี้ว่า ยักษ์นั้นย่อมแปลงเพศเป็นสุกรอยู่ข้างซ้าย เป็นแพะอยู่ข้างขวา เป็นโคแก่มีเขายาว เป็นละมั่งส่งเสียงร้อง ดังนี้
นี่คือลักษณะของความโอ้อวดในสิ่งที่ไม่มี แต่สามารถที่จะทำเหมือนมี ทั้งซ้ายทั้งขวา ที่เป็นลักษณะต่างๆ
ข้อความต่อไป เป็นเรื่องความไม่ซื่อตรง อนาชชวนิทเทส มีข้อความว่า
อาการแห่งความเป็นผู้คดโกง ชื่อว่าอนาชชวะ คือ ความไม่ซื่อตรง
ความเป็นแห่งบุคคลผู้ไม่ซื่อตรง ชื่อว่าสภาพไม่ซื่อตรง
ความคดโค้งดุจแห่งดวงจันทร์ ชื่อว่าชิมหตา คือ ความไม่ตรง
คำว่า วังกตา ได้แก่ ความคดดังโคมูตร
คำว่า กุฏิลตา แปลว่า ความโค้ง ได้แก่ ความโค้งดังปลายงอนของไถ ความคดแห่งกายวาจาและจิตนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยบทแม้ทั้งปวงเหล่านี้
ก่อนที่จะถึงโลภมูลจิตดวงที่ ๓ ซึ่งไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ จะขอกล่าวถึงลักษณะของการที่จะต้องเป็นผู้ตรง และเป็นผู้ที่สังเกต เพื่อที่จะไม่มีความโน้มเอียงในการที่จะเห็นผิดในสภาพธรรมด้วย
ข้อความตอนหนึ่งใน อมัททวนิทเทส ความไม่อ่อนโยน มีว่า
ความเป็นแห่งบุคคลผู้ไม่อ่อนโยน ชื่อว่าอมุทุตา
อาการแห่งความไม่อ่อนโยน ชื่อว่าอมัททวตา
ความเป็นแห่งบุคคลผู้กระด้าง ชื่อว่ากักขฬิยะ
ความเป็นแห่งบุคคลผู้หยาบคาย ชื่อว่าผารุสิยะ
ความเป็นแห่งจิตอันแข็งกระด้าง เพราะความไม่ประพฤติอ่อนน้อม ชื่อว่า อุชุจิตตตา
ขณะใดที่ไม่อ่อนโยน ระลึกได้ทันทีว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าสังเกตตัวเองจริงๆ ว่า วันหนึ่งๆ ไม่อกุศลอย่างนั้น ก็อย่างนี้บ้าง แต่สามารถที่จะ ขัดเกลาและละคลายได้ เพราะสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอกุศลในขณะนั้น และต้องเห็นตามความเป็นจริงด้วยว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล
ต้องเป็นผู้ตรงที่ว่า อยากจะเป็นคนอย่างนั้นอีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์ฎ์ไหม อยากจะมีมากๆ เพิ่มขึ้น หรือว่าอยากจะให้ไม่มี ถ้าอยากจะไม่มี ต้องพยายามอบรมอุปนิสัยที่เป็นกุศล คือ มีความเป็นผู้ตรงและความเป็นผู้อ่อนโยนในขณะใด ขณะนั้นจึงเป็นกุศล
เหตุให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แม้ในลักษณะสภาพของจิตซึ่งเป็นเหตุให้มีกายวาจาเกิดขึ้นเป็นกุศลและอกุศลก็ต้องตรง ไม่ใช่ว่า คนอื่นมีอกุศล แต่เราไม่มี
ถ. คำพูดที่เป็นเหลี่ยมเป็นคม มีความหมายอย่างไร
สุ. มีท่านผู้ใดทราบบ้างไหม ดูเป็นคำธรรมดาๆ ที่ใช้กันอยู่ ท่านที่เป็นทนายความ ทราบไหม
ผู้ฟัง คำว่า เป็นเหลี่ยมเป็นคม คือ ไม่ตรง แต่ว่าไม่ตรงแบบอ้อมๆ ถ้าไม่ตรงจริงๆ ก็เป็นมายา คำที่มีเหลี่ยมมีคม พูดลำบาก ถ้ามีตัวอย่างก็พอจะวินิจฉัยได้ เพราะฉะนั้น คำว่า เหลี่ยมคมในที่นี้ ก็ไม่พ้นคำว่า คดโกง แน่นอน
สุ. คำแปลมีว่า ความคดโกงอันมั่นคง ราวกับเสาเขื่อนอันบุคคลขุดหลุมฝังตั้งไว้ อกุศลที่ลึกเป็นถึงอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยบททั้งสอง คือ การพูดเป็นเหลี่ยมเป็นคู สภาพที่พูดเป็นเหลี่ยมเป็นคู
ผู้ฟัง จะเหลี่ยมคู หรือเหลี่ยมคม ผมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ตรง เพราะมีเหลี่ยมแล้ว ถ้าตรง ก็ไม่มีเหลี่ยม
สุ. เป็นเหลี่ยมเป็นคู หรือเป็นเหลี่ยมเป็นคม คงใช้ได้ทั้ง ๒ คำ