แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1332

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๗


ถ. ถ้าเป็นการสรรเสริญคนที่ผิด โสตวิญญาณของคนที่ได้ยินจะเป็น กุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก

สุ. ควรจะต้องเป็นอะไร

ถ. อกุศลวิบาก

สุ. เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลควรพิจารณาตนเองจริงๆ เพื่อประโยชน์ว่า กายและวาจาในแต่ละวันนั้น เกิดเพราะจิตประเภทไหน

ถ้ามีการแสดงความเคารพนับถือ ก็ควรระลึกถึงจิตในขณะนั้นทันทีว่า ประกอบด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง หรือว่าด้วยความเห็นผิด ท่านผู้ใดมีตัวอย่างบ้างไหม

ถ. ญาติเขาเคารพต้นไม้ว่าศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนที่ไปก็กราบกันหมด มีแต่เราคนเดียวที่ไม่กราบ ขณะที่เราไม่กราบ หรือเรากราบตามเขาซึ่งที่จริงไม่ได้ศรัทธาเลย จัดอยู่ในจิตประเภทไหน

สุ. ต้องระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น

ถ. เราไม่ได้ศรัทธา แต่พ่อแม่พี่น้องกราบหมด เราจะนั่งอยู่คนเดียวโดยที่ไม่กราบต้นไม้ต้นนี้ก็ไม่ได้ เราก็ทำตาม กราบไปด้วย แต่ไม่ได้มีศรัทธา

สุ. ไม่กราบ ก็ไม่มีใครว่าอะไรไม่ใช่หรือ

ถ. ถูกว่า ทำไมหัวแข็ง

สุ. ก็ไม่กราบล่ะ กราบพระรัตนตรัย ไม่อย่างนั้นก็ลำบากมาก ถ้าทุกคนต้องตามทุกอย่างไป ไม่ว่าใครจะจูงไปทางไหนก็ต้องไปโดยไม่เป็นตัวของตัวเอง

ถ. ไม่ได้คิดว่าจะตามใคร แต่เหมือนเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม ทำนองนี้

สุ. เคยกราบไหว้ศาลพระภูมิหรือเปล่า ย้ายจากต้นไม้มา เคยไหม

ถ. เคย

สุ. ในขณะนั้นจิตเป็นอะไร

ถ. เป็นกุศลจิต ซึ่งแต่ก่อนนี้เชื่อว่า ถ้ากราบศาลพระภูมิแล้วอาจจะ ดลบันดาลตามที่เราขอได้ แต่เมื่อมาศึกษาธรรม ก็เชื่อในเหตุปัจจัยมากกว่า

สุ. และยังกราบไหม

ถ. เดี๋ยวนี้ไม่ได้กราบ

สุ. เพราะอะไร ทำไมไม่กราบ

ถ. เพราะมีอยู่ตั้งไว้ เพื่อให้คนไปกราบไหว้ขอให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ตามเหตุตามปัจจัย ก็เลยไม่กราบ

สุ. ท่านที่กราบต้นไม้บ้าง หรือศาลพระภูมิก็แล้วแต่ เพราะอะไร

ถ. ประการแรก ทำตามผู้หลักผู้ใหญ่

สุ. คิดว่า กราบเทวดาอารักษ์ที่สิงสถิตอยู่ที่นั่นได้ไหม

ถ. เคยได้ยินเหมือนกัน

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังจะน้อมระลึกถึงคุณของเทวดาได้ไหม

ถ. ได้ แต่ข้อความที่อาจารย์กล่าวมานี้ ยังไม่เคยอยู่ในความคิดเลย

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าจะไหว้ หรือถ้าจะกราบ สามารถมีเหตุผลได้ไหม ในเมื่อแต่ละคนทำแต่ละอย่างไปตามความรู้ ความคิด ความเข้าใจของแต่ละคน เพราะฉะนั้น ถ้าคนอื่นเขาไหว้ เราจะน้อมจิตระลึกถึงคุณของเทวดา หรืออาจจะอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาในขณะนั้น ซึ่งอาจจะอยู่ ณ ที่นั้น หรือไม่อยู่ก็ไม่เป็นไร จะเป็นต้นไม้ หรือจะเป็นศาลพระภูมิ หรือไม่ใช่ก็ได้ เพียงแต่ระลึกถึงคุณของเทวดา ซึ่งต้องเป็นผลของกุศลแน่ๆ ต้องเป็นผู้ที่ได้กระทำความดีไว้จึงได้เกิดในสวรรค์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็สามารถที่จะเกิดกุศลจิต ทำสิ่งที่ดูเสมือนคนอื่นทำ แต่ด้วยเหตุด้วยผล ที่เข้าใจก็ได้

ถ. ใช่ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยคิดแบบนี้

สุ. อาจจะเกื้อกูลคนอื่นว่า ที่กราบนั้นกราบอย่างไร ถ้ากราบเพื่อขอ แบบขอพร จะได้เข้าใจใหม่ว่า ต้องการพรอะไรก็ต้องทำด้วยตัวเองทั้งนั้น ถ้ามีคนมาขอพร ก็บอกคนที่มาขอให้ทำความดีอย่างนั้นๆ ให้สมกับที่เขาจะได้รับพรอย่างนั้นๆ เขาจะขอไหม เพราะต้องทำความดีให้สมกับพรที่จะได้รับ มิฉะนั้นแล้วไม่ได้รับแน่ๆ

ถ. วันอาสาฬหบูชา ที่โรงเรียนเขาทำบุญเลี้ยงพระ ขณะนั้นผมนั่งอยู่หน้าโต๊ะหมู่บูชา มีอาจารย์ท่านหนึ่งเอาข้าวพระพุทธมาให้ผม ผมไม่รู้จะทำอย่างไร ผมรับแล้วก็ถวาย และกราบพระพุทธ แต่ไม่ได้พูดเรื่องนี้ให้เข้าใจกันเลย คิดว่าอาจจะเป็นเรื่องเสียหาย แต่อาจารย์ท่านนี้ ท่านเคยบวชพระมาหลายพรรษา

สุ. เรื่องของธรรมเนียม เป็นเรื่องที่ถ้าศึกษาให้เข้าใจในเหตุผลทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขณะนั้นจิตย่อมเป็นกุศลได้

ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็มีการถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเสด็จ ดับขันธปรินิพพานแล้ว ที่มีดอกไม้บ้าง ธูปเทียนบ้าง ของหอมต่างๆ บ้าง ที่เป็น อามิสบูชาทั้งหลาย ก็เป็นเพราะความเคารพสักการะที่แสดงให้เห็นถึงความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นในการเลี้ยงพระในสมัยใดก็ตาม พระสงฆ์ก็ยังคงถือว่า มีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขนั่นเอง

ถ. ปัญหาอยู่ที่ว่า คนอื่นที่ไม่รู้เรื่อง ไม่มีปัญญาในเรื่องนี้ จะเข้าใจผิด เป็นเรื่องเสียหายหรือเปล่า

สุ. คนอื่น ก็เป็นเรื่องของเขาที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะรับผิดชอบคน ทั้งโลกเป็นไปไม่ได้ ตัวเองเข้าใจให้ถูกก่อน เพื่อทำให้คนอื่นค่อยๆ พิจารณาในเหตุผลเพิ่มขึ้น

ถ. แต่ที่ทำนี่ก็ทำเป็นการกุศลทั้งนั้น ทำเพราะเกิดกุศล

สุ. เพราะฉะนั้น แต่ละคนควรพิจารณาจิตใจว่า ก่อนที่จะได้ศึกษาในเหตุผล ก็มีการกระทำบางอย่างที่ทำตามกันไปด้วยความไม่เข้าใจบ้าง แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็สามารถเกิดกุศลจิตในขณะที่กระทำกิริยาอาการอย่างนั้นๆ แทนที่จะเป็นอกุศล

เวลาเข้าป่า เคยไหว้เทวดาบ้างไหม จะไหว้ได้ไหม แสดงความเคารพ อุทิศส่วนกุศลให้ ดีไหม โดยไม่ดูถูกดูหมิ่น ก็ย่อมกระทำได้ แต่ต้องทำด้วยกุศลจิต ถ้าจะอุทิศส่วนกุศลให้เทวดา ซึ่งอาจจะอยู่ในเขตบ้าน อุทิศให้ได้ไหม ก็ได้

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และกุศลจิตที่จะเกิดในขณะนั้น แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แล้วแต่ว่าจะเป็นอุเบกขาเวทนา หรือว่าโสมนัสเวทนา เป็นอสังขาริก หรือว่าเป็นสสังขาริก

ต่อไป โดยอารัมมณปัจจัย

โลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง เป็นอารัมมณปัจจัยได้ไหม ได้ เพราะสภาพธรรมทุกอย่างสามารถเป็นอารมณ์ได้ แม้ โลภมูลจิตก็เป็นอารมณ์ได้ อย่างท่านที่บอกว่า เคยเห็นผิด เคยเข้าใจผิด เคยกราบไหว้ผิด ในขณะนั้นก็เป็นการระลึกถึงโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์

โลภมูลจิตเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ เป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ไหม ได้ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น เป็นอกุศล เป็นจิตที่ยินดีพอใจในความเห็นผิด แต่แม้กระนั้นกุศลจิตก็ยังมีโลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดนั้นเป็นอารมณ์ได้

สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกได้ หรือสามารถที่จะพิจารณาเห็นว่า สิ่งนั้นเป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ซึ่งการที่รู้อย่างนั้นเป็นมหากุศล และในขณะนั้นมี โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เป็นอารมณ์

วันหนึ่งๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่ทราบเลยว่ามีอะไรเป็นอารมณ์บ้าง ทุกคนคิดหลายเรื่อง คิดถึงเรื่องที่สนุกสนาน ขณะนั้นก็เป็นสภาพของจิตซึ่งเป็นโลภะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นโลภมูลจิตเป็นอารมณ์ได้

หรือเวลาที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นโลภะ ขณะนั้นเป็น สติปัฏฐาน ย่อมสามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นมีลักษณะของโลภมูลจิตเป็นอารมณ์ แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็ยากที่จะรู้ว่า วันหนึ่งๆ มีอะไรเป็นอารมณ์บ้าง

ต่อไป โดยอธิปติปัจจัย

อธิปติมี ๒ อย่าง คือ สหชาตาธิปติปัจจัย ๑ และอารัมมณาธิปติปัจจัย ๑

สหชาตาธิปติปัจจัย หมายความถึงนามธรรม ได้แก่ ฉันทะ ๑ หรือวิริยะ ๑ หรือจิตตะ ๑ หรือวิมังสา คือ ปัญญา ๑ เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในหมู่ของ สหชาตธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน

กล่าวคือ เวลาที่จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นต้องประกอบด้วยสหชาตธรรม คือ เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย และในบรรดาสหชาตธรรม หรือสัมปยุตตธรรมซึ่งเกิดร่วมกันนั้น สภาพธรรมใดเป็นใหญ่ในขณะนั้น จะต้องเป็นสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดใน ๔ คือ ฉันทะเป็นใหญ่ หรือวิริยะเป็นใหญ่ หรือจิตเป็นใหญ่ หรือวิมังสา คือ ปัญญา เป็นใหญ่

แต่สำหรับโลภมูลจิต ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ แล้วแต่ว่าจะมีฉันทะเป็นอธิบดี หรือมีวิริยะเป็นอธิบดี หรือมีจิตเป็นอธิบดี แต่ไม่มีวิมังสา คือ ปัญญา เพราะปัญญาเป็นโสภณธรรม

พอที่จะสังเกตได้ไหม โลภะในวันหนึ่งๆ มีมากเหลือเกิน ไม่มีใครจะกล่าวได้ว่า วันนี้ไม่มีโลภะ โลภะมากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าเริ่มพิจารณาลักษณะของโลภะที่เกิดจะเป็นประโยชน์มากที่สามารถรู้ได้ว่า ในขณะที่โลภะนั้นกำลังเกิดขึ้นปรากฏ มีฉันทะ หรือวิริยะ หรือจิตตะเป็นอธิบดี ซึ่งคนอื่นไม่สามารถบอกได้เลย นอกจากสติที่ระลึกสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

พอที่จะมีตัวอย่างบ้างไหมว่า ขณะไหนมีฉันทะเป็นอธิบดี ขณะไหนมีวิริยะเป็นอธิบดี หรือว่าขณะไหนมีจิตเป็นอธิบดี

ถ. ขณะที่ไตร่ตรองเหตุผลจากธรรม มีจิตเป็นใหญ่ ใช่ไหม

สุ. ขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิต

ถ. ไตร่ตรองเหตุผลตามที่ ….

สุ. ขณะนั้นต้องเป็นมหากุศล

เคยจำเป็นต้องทำอะไรซึ่งไม่ค่อยชอบ แต่ก็ทำบ้างไหม ขณะนั้นอะไรเป็นอธิบดี ฉันทะใช่ไหม ไม่ใช่แน่ อะไรเป็นอธิบดี ต้องอาศัยความเพียร วิริยะ อย่างเช่น ถ้ามี ปมเชือก อยากจะตัดหรืออยากจะแก้ อย่างไหนง่ายกว่ากัน แต่ถ้าเพียรที่จะแก้ ขณะนั้นไม่ใช่มหากุศลแน่ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังพยายามแก้ปมนั้น ก็เป็นโลภมูลจิตที่มีวิริยะเป็นอธิบดี

ขณะนี้กำลังกล่าวถึงโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่ใช่กล่าวถึง โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ในขณะนั้นที่กำลังแก้ปมเชือกด้วยวิริยะ ก็ควรที่จะเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์

แต่ถ้าเป็นการกระทำที่ต้องทำเพราะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย มีความยากลำบากที่จะต้องทำตามความเห็นผิดนั้นๆ ในขณะนั้นก็สามารถจะพิจาณาได้อีกว่า เพราะฉันทะ หรือเพราะวิริยะเป็นอธิบดี ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏในวันหนึ่งๆ ตามความเป็นจริงได้

สำหรับอธิปติที่ ๒ คือ อารัมมณาธิปติ ได้แก่ อารมณ์ที่เป็นใหญ่ ซึ่งเมื่ออารมณ์นั้นเกิดเป็นใหญ่ ย่อมไม่มีใครทอดทิ้งไป เพราะเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา โทสมูลจิตไม่มีใครชอบ เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตไม่เป็นอารัมมณาธิปติ โมหมูลจิตก็ไม่เป็นอารัมมณาธิปติ ทุกขกายวิญญาณก็ไม่เป็นอารัมมณาธิปติ นอกจากนั้นแล้ว เป็นอารัมมณาธิปติ รวมทั้งโลภมูลจิต

และทิฏฐิคตสัมปยุตต์ดวงที่ ๑ นี้ ก็เป็นอารัมมณาธิปติด้วย

โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ใครชอบ

ทั้งๆ ที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ใครชอบ ผู้ที่มีความเห็นผิดย่อมชอบ ย่อมพอใจในความเห็นผิดอย่างนั้น จึงมีความเห็นผิดมากมาย โดยในขณะที่เห็นผิดนั้นต้องมีความพอใจอย่างยิ่ง ถ้าเป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง

การที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นของคนอื่น ถ้าได้ศึกษาเรื่องของปัจจัยโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า ยากที่จะเปลี่ยนได้ เพราะแต่ละคนย่อมเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมสืบต่อของเหตุปัจจัย ถ้าสะสมความเห็นผิดไว้มาก ไม่ว่าจะมีเหตุผลที่ถูกต้องประการใดๆ ก็ตาม ผู้ที่พอใจที่จะเห็นผิด ก็ย่อมพอใจที่จะยึดถือความเห็นผิดนั้นต่อไป

เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เพราะทางที่จะเห็นผิดในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๒๕๐๐ กว่าปีนี้ ถ้าไม่ศึกษา ไม่พิจารณาพระธรรมโดยละเอียดให้ถูกต้องจริงๆ ย่อมจะทำให้มีความเห็นผิดใน พระธรรมได้

ต่อไป โดยอาหารปัจจัย

จากคำถามตอนต้น คือ สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร เมื่อไหร่จะพ้นจากความเป็นสัตว์ซึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ก็ต้องต่อเมื่อดับอาหาร เมื่อไม่มีอาหารที่จะเลี้ยงดู ย่อมหมดความเป็นสัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพราะยังมีอาหารเป็นปัจจัยเลี้ยงดูค้ำจุนอยู่ เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่สิ้นสภาพของการที่จะต้องเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะเหตุว่ายังพร้อมด้วยอาหาร

สำหรับสภาพธรรมที่เป็นอาหารปัจจัย นอกจากที่เป็นรูป ๑ คือ กพฬีการาหารแล้ว ก็เป็นนามธรรม ๓ ได้แก่ ผัสสาหาร ๑ มโนสัญเจตนาหาร ๑ วิญญาณาหาร ๑ ไม่มีใครสามารถยับยั้งอาหารทั้ง ๓ นี้ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นไป

สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ในนามอาหาร ๓ คือ ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร เป็นอาหารอะไร เป็นวิญญาณาหาร เพราะเป็นจิต นำมาซึ่งเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย และรูป ในภูมิที่มีขันธ์ ๕

เวลาที่จิตเกิดขึ้น เว้นทวิปัญจวิญญาณ อรูปาวจรวิบากจิต ปฏิสนธิจิต และจุติจิตของพระอรหันต์แล้ว จิตทุกดวงที่เกิดเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด เพราะฉะนั้น เมื่อโลภมูลจิตเกิด เป็นวิญญาณาหาร นำมาซึ่งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยและจิตตชรูป นอกจากนั้นแล้ว เจตนาเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ก็เป็นมโนสัญเจตนาหาร

เปิด  239
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565