แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1335

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๗


อีกปัจจัยหนึ่ง คือ โลภมูลจิตไม่เป็นวิปากปัจจัย เพราะโลภมูลจิตไม่ใช่ วิบากจิต สภาพธรรมที่เป็นวิปากปัจจัย ต้องได้แก่วิบากจิตและวิบากเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน ต่างเป็นปัจจัยแก่กันและกัน โดยต่างเป็นวิบาก

วิบากเจตสิกเป็นปัจจัยแก่วิบากจิตเท่านั้น และวิบากจิตก็เป็นปัจจัยแก่ วิบากเจตสิกเท่านั้น วิบากจิตจะเป็นปัจจัยแก่กุศลเจตสิกไม่ได้ วิบากจิตจะเป็นปัจจัยแก่อกุศลเจตสิกไม่ได้ วิบากจิตจะเป็นปัจจัยให้เกิดกิริยาจิตไม่ได้ แต่วิบากจิตเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากเจตสิกได้ ในขณะที่วิบากจิตเกิดร่วมกันกับวิบากเจตสิก

และวิบากเจตสิกจะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิด อกุศลจิตเกิด กิริยาจิตเกิดไม่ได้ วิบากเจตสิกต้องเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดเท่านั้น

เพราะฉะนั้น วิปากปัจจัย คือ สภาพธรรมที่เป็นวิบาก เป็นปัจจัยให้วิบากเกิดร่วมกัน คือ วิบากจิตเป็นวิปากปัจจัยให้เกิดวิบากเจตสิก และวิบากเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิต เมื่อโลภมูลจิตไม่ใช่วิบาก โลภมูลจิตจึงไม่เป็นวิปากปัจจัย

การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของปัจจัย พระองค์ทรงแสดงโดยละเอียดมาก คือ บางครั้งทรงแสดงโดยปัจจัยว่า สภาพธรรมใดเป็นปัจจัย และบางครั้งทรงยกปัจจยุปบันธรรม คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นผลจากปัจจัยใดเพราะฉะนั้น ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ คือ นอกจากจะทรงแสดงโดยนัยของปัจจัย ยังทรงแสดงโดยนัยของปัจจยุปบัน นอกจากนั้นยังทรงแสดงโดย น ปัจจัยต่างๆ

เช่น เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ๖ คือ อกุศลเจตสิก ๓ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ และโสภณเจตสิก ๓ ได้แก่ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑ นอกจากนั้น ถ้าสภาพธรรมใดเป็นปัจจัย สภาพธรรมนั้นเป็นปัจจัยโดยเป็น น เหตุปัจจัย เช่น ผัสสเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต ไม่ใช่โลภเจตสิก ไม่ใช่โทสเจตสิก ไม่ใช่โมหเจตสิก ไม่ใช่อโลภเจตสิก ไม่ใช่ อโทสเจตสิก และไม่ใช่อโมหเจตสิก เพราะฉะนั้น ผัสสะเป็นปัจจัยในโลภมูลจิต โดยเป็น น เหตุปัจจัย

ทรงแสดงไว้โดยละเอียดเพื่อที่จะให้ไม่คลาดเคลื่อน และให้เข้าใจชัดเจนจริงๆ แต่ต้องอาศัยการพิจารณาที่ละเอียดขึ้นๆ

ขอกล่าวทบทวนโดยนัยของปัจจัย ๒๔ เพียงเล็กน้อย เพื่อให้ท่านผู้ฟังไม่ลืมเรื่องของปัจจัย ๒๔ คือ

ปัจจัยที่ ๑ เหตุปัจจัย

ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง นอกจากนั้นเจตสิกอื่นซึ่งเกิดกับจิต เช่น ผัสสเจตสิก หรือเวทนาเจตสิก ซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต เป็นปัจจัยด้วย ไม่ใช่ไม่เป็นปัจจัย แต่เป็นปัจจัยโดยเป็น น เหตุปัจจัย

ปัจจัยที่ ๒ อารัมมณปัจจัย

อารัมมณปัจจัย คือ สภาพธรรมที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ เพราะฉะนั้น ปัจจยุปบันธรรมของอารัมมณปัจจัย คือ จิตและเจตสิกเท่านั้น รูปทุกรูปจึงไม่ใช่เกิดขึ้นโดยอารัมมณปัจจัย แต่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอื่น ซึ่งเป็น น อารัมมณปัจจัย

สำหรับปัจจัยอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน

ปัจจัยที่ ๓ อธิปติปัจจัย

ได้แก่ สภาพธรรม ๔ อย่าง คือ ฉันทเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑ และชวนจิต ๕๒ เว้นโมหมูลจิต ๒ และหสิตุปปาทจิต ๑ เพราะว่าอธิปติมี ๔ คือ ฉันทาธิปติ วิริยาธิปติ จิตตาธิปติ และวิมังสาธิปติ

และสำหรับจิตที่จะมีฉันทะหรือวิริยะเป็นอธิบดีได้ ต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ ขึ้นไปจึงเป็นจิตที่มีกำลังพอที่ฉันทะหรือวิริยะจะเป็นอธิบดีได้ ถ้าเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุเดียวก็ไม่มีกำลัง ไม่สามารถมีสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเป็นอธิบดีได้

สำหรับอธิปติปัจจัย ได้แก่ สภาพธรรม ๑ ใน ๔ เป็นหัวหน้า เป็นอธิบดี ในบรรดาสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกัน คือ บางขณะฉันทะเป็นอธิบดี บางขณะวิริยะเป็นอธิบดี บางขณะจิตเป็นอธิบดี บางขณะวิมังสาเป็นอธิบดี แต่สภาพธรรมอื่นก็เป็นปัจจัยด้วย ไม่ใช่ไม่เป็นปัจจัย และเมื่อสภาพธรรมอื่นไม่ใช่อธิบดี เพราะฉะนั้น สภาพธรรมอื่นซึ่งเป็นปัจจัยด้วยนั้น จึงเป็นปัจจัยโดย น อธิปติปัจจัย

ผัสสะที่เกิดร่วมกันก็เป็น น อธิปติปัจจัย คือ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ฉันทะ ไม่ใช่วิริยะ ไม่ใช่วิมังสา ไม่ใช่ชวนจิต ๕๒ สภาพธรรมนั้นก็เป็นปัจจัย แต่เป็นโดย น อธิปติปัจจัย

ปัจจัยที่ ๔ อนันตรปัจจัย

จิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ ถ้าเป็นจุติจิตของบุคคลซึ่งไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เป็นอนันตรปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที แต่สำหรับจุติจิตของพระอรหันต์ไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่ออีกเลย

เพราะฉะนั้น อนันตรปัจจัย หมายความถึงจิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเท่านั้นที่เป็นอนันตรปัจจัย รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัยเนื่องจากรูปเกิดเพราะกรรม ถึงแม้รูปที่เกิดเพราะกรรมรูปหนึ่งดับไปแล้ว แต่กรรมยังเป็นปัจจัยให้รูปอื่นเกิดต่อตามกำลังของกรรม หรือจิตแต่ละดวงเว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ทันทีที่จิตเกิดก็เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิด ฉะนั้น การดับไปของรูปก่อน ไม่ได้เป็นอนันตรปัจจัยให้รูปต่อไปเกิด เพราะรูปแต่ละรูปย่อมเกิดเพราะสมุฏฐานของตนๆ

สำหรับ น อนันตรปัจจัย คือ สภาพธรรมที่ไม่ใช่อนันตรปัจจัย ได้แก่ รูปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในขณะไหนก็ตาม ก็เป็นปัจจัยโดย น อนันตรปัจจัย

ปัจจัยที่ ๕ สมนันตรปัจจัย

ถ้าเข้าใจความหมายของอนันตรปัจจัย ก็เข้าใจความหมายของสมนันตรปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับ น สมนันตรปัจจัย ก็ได้แก่รูปทั้งหมดด้วย ไม่เป็นปัจจัยโดยสมนันตรปัจจัย แต่เป็นปัจจัยโดย น สมนันตรปัจจัย

ปัจจัยที่ ๖ สหชาตปัจจัย

สภาพธรรมที่เป็นปัจจัยเกิดร่วมกับปัจจยุปบัน เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ สภาพธรรมเป็นปัจจัยโดยไม่เกิดร่วมกับปัจจยุปบัน ขณะนั้นก็เป็นโดย น สหชาตปัจจัย

ปัจจัยที่ ๗ อัญญมัญญปัจจัย

เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันด้วย และต้องอาศัยซึ่งกันและกันด้วย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดไม่เป็นอย่างนี้ ก็เป็น น อัญญมัญญปัจจัย เช่น รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่อัญญมัญญปัจจัย เพราะถ้าเป็นอัญญมัญญปัจจัย หมายความว่า จิตต้องเกิดเพราะรูปนั้นด้วย แต่เมื่อรูปนั้นเกิดเพราะจิตโดยที่จิตไม่ได้เกิดเพราะรูปนั้นซึ่งจิตเป็นสมุฏฐาน รูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน จึงไม่ใช่ อัญญมัญญปัจจัย เมื่อไม่ใช่อัญญมัญญปัจจัยก็เป็นปัจจัยโดย น อัญญมัญญปัจจัย

ปัจจัยที่ ๘ นิสสยปัจจัย

ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยของปัจจยุปบันธรรม เพราะฉะนั้น ถ้า สภาพธรรมใดไม่ได้เป็นที่อาศัยของปัจจยุปบันธรรม สภาพธรรมนั้นก็เป็นปัจจัย โดย น นิสสยปัจจัย

ปัจจัยที่ ๙ อุปนิสสยปัจจัย

เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะอุปนิสสยปัจจัย ก็เป็นโดย น อุปนิสสยปัจจัย

ปัจจัยที่ ๑๐ ปุเรชาตปัจจัย

ได้แก่ รูปซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับ เป็นปัจจัยแก่จิตโดยปุเรชาตปัจจัย เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกไม่ใช่รูป แต่เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันได้โดย น ปุเรชาตปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยไม่ใช่ปุเรชาตปัจจัย

ปัจจัยที่ ๑๑ ปัจฉาชาตปัจจัย

ได้แก่ จิตทุกดวงอุปการะแก่รูปซึ่งเกิดก่อน โดยที่จิตนั้นเกิดภายหลัง เพราะฉะนั้น สำหรับ น ปัจฉาชาตปัจจัย คือ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดโดยไม่ได้อาศัยปัจฉาชาตปัจจัย

ปัจจัยที่ ๑๒ อาเสวนปัจจัย

อาเสวนปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยให้สภาพธรรมประเภทเดียวกันเกิดขึ้นกระทำกิจซ้ำในขณะที่เป็นชวนวิถี นอกจากนั้นแล้วไม่ใช่ อาเสวนปัจจัย เพราะฉะนั้น สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะเมื่อโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ดับไป เป็นอาเสวนปัจจัยให้โลภมูลจิตขณะที่ ๒ เกิดต่อ จะเป็นจิตประเภทอื่นไม่ได้เลย เพราะชวนวิถีจิตจะต้องเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะตามปกติ เพราะฉะนั้น น อาเสวนปัจจัยได้แก่ในขณะไหน ก็ได้แก่ โลภมูลจิตปฐมชวนะ คือ ขณะแรก จิตดวงนั้นเกิดขึ้นโดย น อาเสวนปัจจัย

ปัจจัยที่ ๑๓ กัมมปัจจัย

ได้แก่ เจตนาเจตสิก เพราะฉะนั้น เจตสิกอื่นซึ่งเป็นปัจจัยในขณะนั้น เป็นโดย น กัมมปัจจัย

ปัจจัยที่ ๑๔ วิปากปัจจัย

เวลาที่กุศลจิตและกุศลเจตสิกเกิด กุศลจิตอาศัยกุศลเจตสิกเป็นปัจจัย กุศลเจตสิกอาศัยกุศลจิตเป็นปัจจัยโดย น วิปากปัจจัย คือ ไม่ใช่โดยเป็นวิปากปัจจัยนั่นเอง เวลาที่กิริยาจิตเกิด เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นกิริยาเจตสิกโดย น วิปากปัจจัย คือ ขณะที่ไม่ใช่วิบาก เป็นปัจจัยโดยอย่างอื่น ก็ต้องเป็นโดย น วิปากปัจจัย

ปัจจัยที่ ๑๕ อาหารปัจจัย

โต๊ะ เก้าอี้ มีอาหารปัจจัยไหม ไม่มี แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้รูปภายนอกเกิดขึ้น โดย น อาหารปัจจัย

นี่โดยคร่าวๆ ให้ทราบถึงความต่างกันของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหาร และรูปซึ่งไม่ได้เกิดเพราะรูปอาหาร เช่น รูปภายนอกนี้ไม่ต้องกิน ไม่ต้องดื่ม ไม่ต้องเคี้ยว แต่ก็เกิดดับโดย น อาหารปัจจัย ถ้ากล่าวถึงโดยอาหารที่เป็นรูป

ปัจจัยที่ ๑๖ อินทริยปัจจัย

ได้แก่ รูปที่ไม่ได้อาศัยอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใด หรือไม่ได้เป็นปัจจัยโดย อินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใด ซึ่งได้แก่รูปภายนอกเป็นตัวอย่าง

ปัจจัยที่ ๑๗ ฌานปัจจัย

สภาพธรรมที่เป็นองค์ฌานมี ๗ คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ สุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา ๑ และเอกัคคตา ๑ นอกจากนั้นยังมีเวทนาอีก ๒ ที่เป็นฌานปัจจัย คือ อุเบกขาเวทนา ๑ และโทมนัสเวทนา ๑ เพราะฉะนั้น จิตใดที่ไม่ประกอบด้วยวิตกเจตสิก จิตนั้นไม่ได้เกิดเพราะฌานปัจจัย

จิตใดไม่ได้เกิดเพราะฌานปัจจัยบ้าง

ขณะนี้มีจิตซึ่งไม่ได้เกิดเพราะฌานปัจจัย ไม่ได้เกิดเพราะวิตกเจตสิก ไม่ได้เกิดเพราะวิจารเจตสิก ไม่ได้เกิดเพราะฌานปัจจัยเลย ไม่ได้เป็นผลของ ฌานปัจจัย นั่นคือ ทวิปัญจวิญญาณ จิตเห็นในขณะนี้ จิตได้ยินในขณะนี้ ไม่ได้เกิดเพราะฌานปัจจัย

ปัจจัยที่ ๑๘ มัคคปัจจัย

สภาพธรรมใดที่ไม่ได้เกิดเพราะมัคคปัจจัย สภาพธรรมนั้นก็เกิดเพราะ น มัคคปัจจัย ได้แก่ อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ คือ จักขุวิญญาณ ๒ โสตวิญญาณ ๒ ฆานวิญญาณ ๒ ชิวหาวิญญาณ ๒ กายวิญญาณ ๒ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ โวฏฐัพพนจิต ๑ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และหสิตุปปาทจิต ๑

จักขุวิญญาณในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่มัคคปัจจัย และไม่ได้เกิดเพราะมัคคปัจจัย ไม่ใช่เป็นผลของมัคคปัจจัย เพราะว่าเป็นวิปากปัจจัย

จักขุวิญญาณทำอะไรได้บ้างนอกจากเห็น ทำกุศลได้ไหม ไม่ได้ เห็นได้อย่างเดียว ในขณะที่ทำกุศลใดๆ ก็ตาม ในขณะนั้นไม่ใช่จักขุวิญญาณ ไม่ใช่โสตวิญญาณ ไม่ใช่วิบากจิตเลย เพราะถ้าเป็นกุศล ต้องเป็นกุศลจิตและกุศลเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน

ปัจจัยที่ ๑๙ สัมปยุตตปัจจัย

ได้แก่ นามธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น น สัมปยุตตปัจจัยได้แก่อะไร รูปทั้งหมดไม่เป็นสัมปยุตตธรรม เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมด ถ้าจะเป็นปัจจัย ก็โดย น สัมปยุตตปัจจัย

ปัจจัยที่ ๒๐ วิปปยุตตปัจจัย

ได้แก่ นามธรรมที่เกิดเพราะรูป หรือรูปซึ่งเกิดเพราะนามธรรมนั้นเป็น วิปปยุตตปัจจัย เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเกิดเพราะเจตสิกเป็นปัจจัย และเจตสิกเกิดเพราะจิตเป็นปัจจัย จึงเป็นปัจจัยโดย น วิปปยุตตปัจจัย คือ เป็นปัจจัยโดยไม่ใช่เป็นวิปปยุตตปัจจัย

มหาภูตรูปเป็นปัจจัยให้อุปาทายรูปเกิด โดยวิปปยุตตปัจจัยได้ไหม

วิปปยุตตปัจจัย คือ นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรม หรือรูปธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะที่นามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม ต้องเป็นโดย น วิปปยุตตปัจจัย หรือในขณะที่รูปธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรม ขณะนั้นต้องเป็นโดย น วิปปยุตตปัจจัย ต้องขณะใดที่รูปเป็นปัจจัยแก่นาม หรือนามเป็นปัจจัยแก่รูป จึงจะเป็นวิปปยุตตปัจจัย แต่ถ้ารูปเป็นปัจจัยแก่รูป ไม่ใช่โดยวิปปยุตตปัจจัย จึงเป็น น วิปปยุตตปัจจัย หรือในขณะที่นามเป็นปัจจัยแก่นาม ไม่ใช่เป็นปัจจัยโดย วิปปยุตตปัจจัย จึงต้องเป็นโดย น วิปปยุตตปัจจัย

ปัจจัยที่ ๒๑ อัตถิปัจจัย

สภาพธรรมใดที่ไม่ใช่อัตถิปัจจัย สภาพธรรมนั้นก็เป็นปัจจัยโดย โน อัตถิปัจจัย คือ ไม่ใช่อัตถิปัจจัย

ปัจจัยที่ ๒๒ นัตถิปัจจัย

ถ้าไม่ใช่โดยนัตถิปัจจัย ก็โดย โน นัตถิปัจจัย

ปัจจัยที่ ๒๓ วิคตปัจจัย

โดยนัยเดียวกันว่า ถ้าไม่ใช่โดยวิคตปัจจัย ก็เป็นปัจจัยโดย โน วิคตปัจจัย

สภาพธรรมนี่มีจริงๆ เพียงแต่ต้องคิดเท่านั้นเองว่า สภาพธรรมใดเกิดโดย โน วิคตปัจจัย หรือ โน นัตถิปัจจัย

ปัจจัยที่ ๒๔ อวิคตปัจจัย

เมื่อไม่ใช่อวิคตปัจจัย ก็เป็นปัจจัยโดย โน อวิคตปัจจัย

นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคยังทรงแสดงโดยละเอียด เช่น แสดงโดยธรรมเป็นคู่ขึ้นไปอีก เช่น น เหตุปัจจัย น อารัมมณปัจจัย ถ้าผู้ใดสนใจในเรื่องของปัจจัยก็ค่อยๆ พยายามศึกษาไปทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเข้าใจความละเอียดขึ้น เพราะเรื่องของปัจจัยเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันก็จริง และดับพร้อมกันไปอย่างรวดเร็ว แต่การที่จะเกิดมาเกื้อกูลเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันนั้น ต้องอาศัยสภาพธรรมหลายอย่าง และต่างเป็นปัจจัยโดยปัจจัยต่างๆ กันด้วย

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565