แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1336

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๗


โลภมูลจิตดวงที่ ๒ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ต่างกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยเป็นสสังขาริกัง แต่โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอสังขาริกัง สำหรับเวทนาเหมือนกัน คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และเกิดพร้อมกับความเห็นผิด แต่โลภมูลจิตดวงที่ ๑ มีกำลังกล้า โลภมูลจิตดวงที่ ๒ มีกำลังอ่อน เกิดโดยอาศัยการชักจูงได้ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ มีข้อความที่อธิบายสสังขาระ คือ จิตที่เกิดโดยมีการชักจูง ว่า

ในอกุศลจิตดวงที่ ๒ ต่างกันแต่บทว่า สสังขาเรนะ ก็อกุศลจิตดวงนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยโสมนัสในอารมณ์ทั้ง ๖ ยังโลภะให้เกิดขึ้น ถือผิด โดยนัยว่า สัตว์ๆ ดังนี้เป็นต้น ก็จริงอยู่

หมายความว่า ปกติธรรมดาผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลยังมีสักกายทิฏฐิ คือ ยังมีความเห็นผิดในสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลจริงๆ ที่จะให้เห็นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นที่กำลังปรากฏ ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาอย่างมากที่จะน้อมพิจารณาสภาพธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงจะสามารถแยกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อกันตามทวารต่างๆ จนเสมือนปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ได้

เช่น ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ถ้าปัญญายังไม่อบรมเจริญถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริง และกระทบกับจักขุปสาทจึงปรากฏเท่านั้น ก็ขอให้คิดถึงความจริงอันนี้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งใดๆ เลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง และปรากฏให้เห็นได้เมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

สำหรับโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก ข้อความอุปมาใน อัฏฐสาลินี มีว่า

กุลบุตรที่ปรารถนาธิดาตระกูลของมิจฉาทิฏฐิ แต่เขาเหล่านั้น คือ พวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่ยอมยกธิดาให้ ด้วยอ้างว่า พวกท่านเป็นคนถือทิฏฐิอื่น ต่อมาพวกญาติเหล่าอื่นบอกให้ยกให้ด้วยตกลงว่า ท่านผู้นี้จะยอมกระทำพิธีที่พวกท่านกระทำ กุลบุตรผู้นั้นก็เข้าไปหาเดียรถีย์ทีเดียวร่วมกับพวกเขาเหล่านั้น ทีแรกก็ยังมีความลังเลอยู่ ครั้นล่วงกาลนานไปก็ชอบใจลัทธิว่า กิริยาของเดียรถีย์เหล่านั้นน่าชอบใจ แล้วก็ยึดถือเป็นทิฏฐิ

คือ มีความเห็นเหมือนกัน จากการที่ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเข้าใกล้คบหาสมาคม ทีแรกก็ยังลังเล แต่แล้วนานเข้าๆ ก็ชอบใจลัทธิความเห็นนั้นว่า กิริยาของเดียรถีย์เหล่านั้นน่าชอบใจ แล้วก็ยึดถือเป็นทิฏฐิ

อกุศลดวงนี้พึงทราบว่า ย่อมได้ในกาลเห็นปานนี้ เพราะเกิดขึ้นด้วยหมู่แห่งปัจจัย พร้อมทั้งปโยคะ คือ การชักจูง พร้อมทั้งอุบาย เหตุที่เป็นสสังขาริกจิต

แสดงถึงความสำคัญของการคบหาสมาคม หรือการโฆษณาต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพล หรือการที่ค่อยๆ คุ้นกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ก็ย่อมจะมีความโน้มเอียง เพราะถูกชักจูงไป โดยที่ตอนแรกก็ยังไม่มีความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการ ชักจูงจึงเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง เป็นประเภทสสังขาริก แม้ความเห็นก็ย่อมจะค่อยๆ เปลี่ยนได้ หรือว่าความชอบความพอใจทุกอย่าง จะเห็นได้ว่า ถ้าค่อยๆ คุ้นขึ้นทีละน้อย ก็ย่อมมีความพอใจที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ จากการที่ไม่เคยชอบหรือไม่เคยพอใจ เช่น การบริโภคอาหาร ตอนแรกไม่ชอบรสนั้น แต่เมื่อรับประทานบ่อยๆ ค่อยๆ คุ้น ทีละนิดทีละน้อยกับกลิ่นกับรสต่างๆ ภายหลังก็มีความพอใจในรสนั้นได้

สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๒ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ มีอัญญสมานาเจตสิกทั้ง ๑๓ ดวง ได้แก่ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ซึ่งเป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ และปกิณณกเจตสิก ๖ คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก วิริยเจตสิก ฉันทเจตสิก ปีติเจตสิก และอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ อกุศลเจตสิกอีก ๒ ดวง คือ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ รวมเป็นเจตสิก ๑๙ ดวง

นอกจากนั้น สำหรับโลภมูลจิตซึ่งเป็นสสังขาริกที่มีกำลังอ่อน จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้อีก ๒ ดวง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

สำหรับเจตสิกที่จะเกิดกับโลภมูลจิตสสังขาริก ๒ ดวงนี้ ต้องเป็นอกุศลเจตสิก เพราะว่าโสภณเจตสิกจะเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้ และอัญญสมานาเจตสิกก็เกิดครบแล้วทั้ง ๑๓ ดวง เพราะฉะนั้น เจตสิกอีก ๒ ดวงซึ่งจะเกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๒ นี้ได้ คือ ถีนเจตสิก ๑ และมิทธเจตสิก ๑

สำหรับลักษณะของถีนเจตสิก คือ สภาพที่หดหู่ ท้อถอย ไม่อาจหาญ ลักษณะของมิทธเจตสิก คือ สภาพที่ง่วงงุน หรือว่าเคลิบเคลิ้ม เป็นสภาพที่ ไม่สามารถ และเป็นความทำลาย ซึ่งใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ มีข้อความว่า

ถีนเจตสิก มีความไม่อุตสาหะ มีลักษณะที่ท้อแท้ ไม่อาจหาญ เซาซึม เป็นลักษณะ

ทุกคนเคยมีไหม เป็นนามธรรม เป็นอกุศล

มีความบรรเทาความเพียรเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

ถ้าถีนะเกิดแล้ว ที่คิดว่าจะเพียรทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนั้นก็ไม่อาจหาญและไม่อุตสาหะ

มีความซบเซา ท้อถอยเป็นปัจจุปัฏฐานะ คือ เป็นอาการปรากฏ

สำหรับลักษณะของมิทธเจตสิก มีข้อความว่า

มิทธเจตสิก มีความไม่ควรแก่การงาน คือ มีความไม่สามารถในการงาน เป็นลักษณะ

มีความลัดลง หรือมีความดิ่งลง ด้วยอำนาจความไม่ขะมักเขม้น เป็นลักษณะที่จมลง มีความตั้งลง เป็นรสะ

ไม่ใช่ตั้งขึ้น แต่ตั้งลง

มีความง่วงงุน หรือมีความหดหู่ หรือโงกง่วง เป็นปัจจุปัฏฐานะ คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

ถีนมิทธะแม้ทั้งสอง มีอโยนิโสมนสิการในเพราะความไม่ใยดีและความ เกียจคร้าน ความหาวนอน เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ถ. พระธรรมที่กล่าวมานี้ คำที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ความท้อถอย ใช่ไหม

สุ. ได้ ความเซาซึม ความโงกง่วง

ถ. คือ หมดกำลังใจที่จะปฏิบัติ

สุ. ความท้อแท้ เวลาที่ถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะทำให้จิตดวงนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๒๑ ดวง คือ เพิ่มอีก ๒ ดวง

ถ. เวลาที่ถีนมิทธเจตสิกเกิด มีความอยากนอน ง่วงนอน อยากนอนมาก ในขณะนั้นถีนมิทธเจตสิกเกิดกับโลภะ สสังขาริกจิต ใช่ไหม

สุ. ใช่ ถีนมิทธะจะเกิดกับจิตประเภทอสังขาริกไม่ได้เลย ถีนมิทธะเป็นอกุศลเจตสิก และต้องเกิดกับอกุศลจิตที่เป็นสสังขาริก ทั้งที่เป็นโลภมูลจิต และ โทสมูลจิต

ถ. ในขณะที่มีความง่วงนอน อยากนอนมากๆ ในขณะนั้นก็อยากนอนเอง ไม่มีใครมาชักจูงว่า จงมานอน คือ มีความอยากนอนเกิดขึ้นมาเอง ก็น่าจะเป็นโลภะ อสังขาริก

สุ. ไม่ต้องเป็นคนมาชักจูง เวลาที่ไม่มีกำลัง เช่น อยากจะไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีใครพาไป ก็ไม่ไป ไม่ใช่ความอยากที่มีกำลังถึงขนาดที่ว่าใครไม่ไปก็จะไป ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม สภาพของจิตที่มีกำลัง กับสภาพของจิตที่ไม่มีกำลัง มีลักษณะที่ต่างกัน ไม่ใช่ว่าไม่อยาก อยาก แต่ความอยากนั้นเป็นความอยากที่ไม่มีกำลัง

ถ. อยากนอนมากๆ ก็เป็นความอยากที่มีกำลังมากในการอยากจะนอน

สุ. เวลาจะทำงาน ความอยากทำงานมีกำลังมากกว่าอยากนอนหรือเปล่า

ถ. มีมากกว่า

สุ. เวลาที่อยากนอน แสดงว่าไม่อยากจะทำอะไรแล้ว ใช่ไหม เคยอยากได้อะไรก็เอาไว้ก่อน เก็บไว้ก่อน นอนเสียก่อน ใช่ไหม เพราะฉะนั้น แสดงว่าขณะนั้นเป็นโลภะที่ไม่มีกำลัง ถ้ามีกำลังจะไม่นอน จะต้องทำให้เสร็จทันที เพราะเป็นโลภะที่มีกำลัง แต่เวลาที่อยากจะนอนขึ้นมา ทำลายวิริยะ ความเพียร

ถ. เป็นกำลังของความอยากที่จะนอน

สุ. แต่ความอยากนั้น เมื่อเทียบกับความอยากอื่นแล้ว ก็เท่ากับไม่มีกำลัง ลองเปรียบเทียบดู ขณะที่กำลังอยากนอน แต่อยากจะทำอย่างอื่นให้เสร็จมากกว่า และไม่นอน อยากไหนจะมีกำลังมากกว่ากัน

ถ. อยากจะทำงานมีกำลังมากกว่า แต่ขณะที่ไม่อยากทำงาน อยากจะนอนอย่างเดียว ความอยากที่จะนอนก็มีกำลัง

สุ. แสดงให้เห็นแล้วว่า ในขณะนั้นจิตเป็นโลภมูลจิต เพราะมีความอยาก แต่ว่าความอยากนั้นเกิดร่วมกับถีนมิทธะ จึงทำให้ลักษณะของความอยากนั้นเป็นความอยากที่ซบเซา โงกง่วง ไม่ต้องการที่จะทำอย่างอื่น อยากจะพัก คือ ไม่ทำอะไร อยากไม่ทำอะไร ก็เป็นความอยาก แต่อยากไม่ทำอะไร ก็ต้องมีกำลังน้อยกว่า

ถ. ก็เป็นโลภมูลจิตสสังขาริก แต่โดยอะไรชักจูง

สุ. สำหรับโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริก ก่อนอื่นควรทราบว่า ต่างกับอสังขาริกโดยมีกำลังอ่อน ที่มีกำลังอ่อนเป็นเพราะไม่ได้สะสมมาที่จะมีกำลังกล้าในขณะนั้น

ที่ว่าอาศัยการชักจูง ไม่จำเป็นต้องมีคนอื่นมาพูด มาชักจูง แต่อาจจะเป็นความคิดที่ลังเลและภายหลังก็ทำ ไม่เหมือนกับความตั้งใจที่มั่นคงแน่วแน่ที่มีกำลังตั้งแต่แรก เช่น คิดว่าจะไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง และก็คิดอยู่นั่นแหละว่า จะไปดีหรือ ไม่ไปดี ถ้าไปก็หมายความว่า ไม่มีกำลังกล้าเท่ากับในขณะที่ไม่ลังเล เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นสสังขาริก เป็นประเภทของจิตที่มีกำลังอ่อน โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการ ชักจูงของคนอื่นก็ได้ แต่เป็นเพราะขณะนั้นมีกำลังอ่อน จึงต้องอาศัยการคิดไปคิดมา คิดแล้วคิดอีก ลังเลไปลังเลมาก็ได้ แต่ควรจะถือหลักว่า เป็นสภาพของจิตที่มีกำลังอ่อนกว่าจิตที่เป็นอสังขาริก

ถ. โลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่มีมานเจตสิกร่วมด้วย ใช่ไหม

สุ. ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่มีมานเจตสิก

ถ. เพราะเหตุใด

สุ. เพราะกำลังมีทิฏฐิ คนละขณะกับขณะที่มีมานะ ขณะนั้นเป็นเรื่องของความเห็น กำลังหมกมุ่น กำลังยุ่งอยู่กับเรื่องของความเห็น กำลังมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ถ. หมายความว่า ขณะที่มีทิฏฐิ มานเจตสิกก็ไม่เกิด

สุ. จะไม่เกิดร่วมกันเลย มานเจตสิกจะเกิดร่วมกับทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ในขณะที่ไม่มีทิฏฐิ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดว่า เป็นคนละขณะจิต

ถ. ถีนมิทธะ ๒ ดวงนี้ เกิดกับโมหมูลจิตได้ไหม

สุ. เกิดกับจิตประเภทสสังขาริก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ ดวง คือ โลภมูลจิต สสังขาริก ๔ และโทสมูลจิตสสังขาริก ๑ เพราะฉะนั้น ถีนมิทธเจตสิกจะเกิดกับจิตเพียง ๕ ดวงเท่านั้น

ถ. หมายความว่า ในโมหมูลจิตไม่มีถีนมิทธะประกอบเลย

สุ. ไม่มี

ถ. ขณะที่โมหมูลจิตเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีความง่วงเลย

สุ. ไม่ใช่

ถ. ก็น่าคิด มีผู้ปฏิบัติบางท่านบอกว่า ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นและ พิจารณาในขณะที่ง่วง ขณะนั้นท่านบอกว่าเป็นโมหะ ในเมื่อรู้อย่างนี้ พูดอย่างนี้ ข้อปฏิบัตินั้นจะถูกหรือผิด

สุ. สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ถ้าขาดการศึกษาปริยัติ สภาพธรรมเกิดดับสลับกันอย่างเร็ว ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ บางครั้งจะถือกุศลเป็นอกุศล หรือจะถืออกุศลเป็นกุศลก็ได้

ลักษณะสภาพที่ง่วงมี ใช่ไหม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะเป็นเราที่กำลังง่วง แต่ลักษณะที่ง่วงก็เป็นสภาพของอกุศลเจตสิกซึ่งเกิดในขณะนั้น ไม่ใช่เรา ซึ่ง สติปัฏฐานเมื่อระลึกแล้วจะรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ข้อสำคัญ คือ ต้องรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม

สำหรับเรื่องของถีนมิทธะก็น่าสนใจ ซึ่งต้องทราบว่าเป็นอกุศล และใน วันหนึ่งๆ ถ้าไม่พิจารณาจิตจะไม่ทราบเลยว่า ในขณะที่กำลังเกียจคร้าน หรือกำลัง ซบเซา หดหู่ ง่วงเหงา โงกง่วงต่างๆ เหล่านั้น ก็เป็นสภาพของอกุศลซึ่งเป็น นิวรณธรรม

ถ. ขณะที่ง่วงนอน เป็นโลภมูลจิต โสมนัสทำไมเกิดในขณะนั้น น่าจะเป็นอุเบกขา

สุ. ความรู้สึกของคนเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย แต่ละคนจะเกิดโสมนัสหรือจะเกิดอุเบกขา โสมนัสที่นี่ไม่จำเป็นต้องเป็นโสมนัสอย่างแรงก็ได้ บางคนสภาพของจิตเป็นคนที่มีจิตใจแช่มชื่น รื่นเริง สนุกสนานอยู่เสมอ หัวเราะแล้วก็หลับ ได้ไหม แล้วแต่บุคคลจริงๆ

อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ พระบาลีนิทเทส ถีนมิทธนิวรณ์ ข้อ ๑๑๖๒ มีข้อความว่า

ใน ๒ อย่างนั้น ถีนะ เป็นไฉน

คือ ความเป็นธรรมชาติไม่สามารถแห่งจิต ความเป็นธรรมชาติไม่สำเร็จประโยชน์ในการงานแห่งจิต ความท้อแท้ ความถดถอย ความหดหู่ กิริยาที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่ ความกระด้าง กิริยาที่กระด้าง ภาวะที่กระด้างแห่งจิตอันใด นี้เรียกว่า ถีนะ

มิทธะ เป็นไฉน

คือ ความเป็นธรรมชาติไม่สามารถแห่งกาย (กายที่นี่หมายความถึงเจตสิก) ความเป็นธรรมชาติไม่สำเร็จประโยชน์ในการงานแห่งกาย ความปกคลุม ความหุ้มห่อ ความปิดบังไว้ภายใน ความง่วงเหงา ความโงกง่วง ความหาวนอน กิริยาที่หาวนอน ภาวะที่หาวนอนอันใด นี้เรียกว่า มิทธะ

สำหรับเจตสิก ๒ ดวงนี้ ไม่แยกกัน เวลาที่ถีนะเกิด มิทธะก็เกิดร่วมด้วย ถ้าจะกล่าวถึงถีนะ ย่อมหมายความว่า ในขณะนั้นมีมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย

เป็นอย่างนี้บ่อยไหม หรือไม่เคยเลย หดหู่ ท้อแท้ ถดถอย ทำไม่ไหวแล้วเลิกที นี่เป็นลักษณะของถีนมิทธะ ไม่ว่าจะกำลังทำอะไร ถ้ามีความรู้สึกที่เป็นภาวะของจิต ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์ในการงาน หรือท้อแท้ เป็นจิตประเภทที่มีกำลังอ่อน

เปิด  228
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565