แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1337

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๗


ข้อความต่อไปอธิบายนิทเทสถีนมิทธะ มีข้อความว่า

คำว่า ถีนะ ความว่า ความเป็นธรรมชาติไม่สามารถแห่งจิต ได้แก่ ความเป็นไข้แห่งจิต ก็คนไข้ เรียกว่า คนไม่สามารถ

ไข้กาย ปวดหัวตัวร้อน แต่ว่าไข้ของจิต คือ ความไม่สามารถของจิต ความเป็นธรรมชาติไม่สามารถแห่งจิต ได้แก่ ความเป็นไข้แห่งจิต

สำหรับทางกาย เวลาไม่สบาย ไม่มีแรง ไม่มีกำลัง ไม่สามารถทำงานอะไรได้ แต่ถึงแม้ว่าร่างกายจะแข็งแรง ไม่ได้ปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้เลย แต่ใจหดหู่ ท้อถอย ในขณะนั้นก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ลักษณะของถีนะ คือ ความเป็นไข้แห่งจิต แสดงว่าในขณะนั้นเป็นคนที่ไม่สามารถ เหมือนกับคนที่เป็นไข้

คำว่า ความท้อแท้ ได้แก่ อาการท้อแท้ จริงอยู่ จิตที่ค้ำจุนอิริยาบถเมื่อไม่สามารถจะธำรงไว้ซึ่งอิริยาบถ ย่อมท้อแท้ ดุจค้างคาวห้อยอยู่บนต้นไม้ และดุจหม้อน้ำอ้อยที่คล้องไว้บนเสา ฉะนั้น ที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ความท้อแท้ ดังนี้ ทรงหมายถึงอาการนั้นของจิต

คำว่า ความหดหู่ คือ หด งอ เพราะเป็นธรรมชาติไม่แผ่ไป

ในขณะนั้นไม่คิดอ่านแก้ไขทำอะไรทั้งนั้น เพราะเป็นธรรมชาติที่หดหู่ ถ้าแผ่ไป ก็มีความคิดสร้างสรรค์ก้าวหน้าว่าจะทำอะไรๆ แต่ในขณะที่ถีนมิทธะเกิด เป็นธรรมชาติที่ไม่แผ่ไป เพราะฉะนั้น ก็ไม่คิดอ่านที่จะแก้ไข หรือทำอะไรทั้งนั้น

คำว่า ความกระด้าง ได้แก่ ตั้งอยู่ในความเป็นแท่ง เพราะเป็นธรรมชาติ ไม่แผ่ไป ดุจก้อนเนย

สิ่งซึ่งแข็ง กระด้าง ไม่อ่อน ไม่ควรแก่การงาน ย่อมไม่สามารถที่จะทำอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ถีนมิทธะเกิด ก็ตั้งอยู่โดยสภาพที่กระด้างโดยความเป็นแท่ง เพราะเป็นธรรมชาติที่ไม่แผ่ไป ทำให้ในขณะนั้น เมื่อกระด้าง จิตไม่ควรแก่การงาน ก็คิดอะไรไม่ออก ไม่เหมือนกับเวลาที่ไม่มีถีนมิทธะ

ถ. มีทางแก้ไหม คือ สภาพธรรมสามารถที่จะละได้ทั้งนั้น แต่ที่ละไม่ได้เพราะไม่มีกำลังใจที่จะแก้ คือ ไม่เห็นความสำคัญว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ จึงยอมมัน ถูกไหม สุ. มีอกุศลหลายอย่างซึ่งท่านผู้ฟังไม่ชอบใจ เช่น ถีนมิทธะ เป็นต้น แต่โลภะอยากแก้ไหม โทสะอยากแก้ไหม มัจฉริยะอยากแก้ไหม อิสสาอยากแก้ไหม มีลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างซึ่งเป็นอกุศลที่ควรให้น้อยลง หรือว่าดับเป็นสมุจเฉท และทางแก้ที่ประเสริฐสุดมีทางเดียว ซึ่งสามารถจะดับอกุศลได้ คือ การเจริญ สติปัฏฐาน

ถ. ขณะที่ถีนมิทธะเกิด และง่วงนอน สามารถเจริญสติปัฏฐานได้ ใช่ไหม

สุ. สติสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏได้

ถ. เมื่อความง่วงเกิดกับโลภะที่เป็นสสังขาริก ซึ่งสติไม่สามารถจะเกิดร่วมได้ หมายความว่า ความง่วงนั้นต้องหายไปแล้ว สติจึงเกิดระลึกตาม อย่างนี้ใช่ไหม

สุ. สติไม่เกิดกับจักขุวิญญาณ ไม่เกิดกับโสตวิญญาณ ไม่เกิดกับ ฆานวิญญาณ ไม่เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ไม่เกิดกับอกุศลจิต อเหตุกจิต สติย่อมเกิดกับกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็ต่างขณะกัน

ไม่ใช่ว่าสติจะไปเกิดกับจักขุวิญญาณในขณะที่กำลังเห็น จักขุวิญญาณก็เป็นขณะหนึ่งซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นพร้อมด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยและดับไป และก็มีปัจจัยให้จิตอื่นเกิดดับสืบต่อจนกว่าจะถึงขณะที่เป็นสติปัฏฐาน ซึ่งระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อจนเสมือนว่าปรากฏเป็นปัจจุบัน

ถ. หมายความว่า ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะที่ง่วง ลักษณะที่ง่วงนั้นต้องดับไปแล้ว และสติตามรู้

สุ. เวลานี้สติระลึกลักษณะที่เห็นได้ไหม ขณะนี้กำลังเห็น สติที่เกิดกับจิตที่เป็นมหากุศลจะระลึกลักษณะสภาพที่เห็นในขณะนี้ได้ไหม ฉันใด โดยนัยเดียวกัน สติก็สามารถระลึกลักษณะของถีนมิทธะในขณะที่ความง่วงเหงานั้นกำลังปรากฏได้

ถ. ในขณะที่ไม่ง่วง สติก็ยังไม่เกิด ขณะที่ง่วง สติจะเกิดก็ยิ่งยากกว่า

สุ. ไม่มีใครบังคับได้ และไม่มีใครเจาะจงได้ว่า ต้องการให้สติระลึกลักษณะที่ง่วง แต่ถ้าสติจะเกิด ใครก็ยับยั้งไม่ได้

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เป็นเรื่องจะทำ หรือตั้งใจที่จะให้สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด แต่ขณะใดที่สติเกิดจะรู้ได้ว่า สติเป็นอนัตตา เพราะขณะที่สติเกิด ขณะนั้นสติจะทำกิจของสติ คือ ระลึก โดยไม่มีใครไปสั่ง หรือไม่มีใครไปเตรียมไว้ว่า ให้สติระลึกที่นั่นที่นี่ เพราะสติเกิดพร้อมกับ มหากุศลจิตและดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น สติจะเกิดระลึกที่นามธรรมหรือรูปธรรม ก็ย่อมเป็นอนัตตา

ถ. ถ้าอย่างนั้น สติเกิดกับมหากุศลจิต และสามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพที่ง่วงที่กำลังปรากฏ หมายความว่า ลักษณะที่ง่วงที่เกิดกับโลภะสสังขาริก เกิดสลับกับมหากุศลซึ่งมีสติ อย่างนี้ได้ใช่ไหม

สุ. แน่นอน เวลานี้จิตก็เกิดดับสลับกันจนกระทั่งปรากฏเสมือนคนกำลัง นั่งอยู่ ยืนอยู่

ถ. แต่ความง่วงจะปรากฏมากกว่าสติ เป็นประจำ

สุ. เพราะฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

ถ. พอสติระลึก ระลึกที่ถีนมิทธะ ก็หลับไปเลย

สุ. ระลึกที่ชื่อ หรือระลึกที่ลักษณะ

ถ. ระลึกที่ลักษณะ

สุ. ใส่ชื่อลงไปด้วยไหม

ถ. ก็คงจะต้องใส่ก่อน เพราะยังไม่คมพอ

สุ. ทำไมต้องใส่ชื่อ ลองให้เหตุผลว่า ทำไมต้องใส่ชื่อ กลัวจะไม่ใช่ ถีนมิทธะหรืออย่างไร หรือว่าดีใจที่ขณะนั้นกำลังระลึกที่ถีนมิทธะ

ถ. อาจจะมีบางครั้ง แต่ผมเคยได้ยินว่า เวลาสติระลึกที่รูปหรือที่นาม อย่างเช่น ระลึกที่ถีนมิทธะ ระลึกเสร็จก็หลับเลย มีใช่ไหม

สุ. เป็นไปได้ ไม่ใช่ของแปลกอะไรเลย

ถ. คงจะคมมากเลยตอนนั้น

สุ. แต่ให้ทราบว่า ถีนมิทธะเป็นนามธรรม ไม่ใช่ต้องถามว่า ถีนมิทธะเป็นรูปหรือเป็นนาม เหมือนอย่างบางคนถามว่า เมื่อยเป็นรูปหรือเป็นนาม เพราะว่าลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ ต่างกับรูปซึ่งไม่รู้อะไรเลย รูปจะง่วงไม่ได้เลย รูปจะท้อถอยไม่ได้

สำหรับลักษณะของมิทธเจตสิก ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

คำว่า มิทธะ คือ สภาพธรรมที่ไม่สามารถแห่งกาย คำว่า แห่งกาย ได้แก่ แห่งนามกาย คือ ขันธ์ ๓

นามกายที่เป็นขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์

ที่ชื่อว่าความปกคลุม ด้วยอรรถว่า ปกคลุมภายใน ดุจเมฆปกคลุมอากาศ ฉะนั้น

เหมือนกันไหมกับลักษณะของมิทธะเวลาเกิดขึ้น มองอะไรไม่เห็นเวลาที่เมฆ ปกคลุม เพราะฉะนั้น ลักษณะของมิทธะ คือ ถ้าปกคลุมจิตในขณะนั้น ก็ไม่เห็น คิดอะไรก็ไม่ออก เรื่องอะไรทั้งหลายก็ลืมหมด ในขณะนั้นเป็นลักษณะสภาพที่ถูก ปกคลุมด้วยมิทธะ

ที่ชื่อว่าความหุ้มทุกส่วน ชื่อว่าความหุ้มห่อ

ไม่ใช่เล็กน้อยเวลาที่ถีนมิทธะเกิด ทั้งหุ้ม ห่อ คือ หุ้มทุกส่วน

ที่ชื่อว่าความปิดบังไว้ภายใน ด้วยอรรถว่า ปิดกั้นไว้ภายใน อุปมาเหมือน เมื่อนครที่เขาปิดเอาไว้ คนทั้งหลายออกไปภายนอกไม่ได้ ฉันใด ธรรมทั้งหลายอันมิทธะปิดบังไว้ จะออกไปด้วยอำนาจความแผ่ไปไม่ได้เหมือนฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ความปิดบังไว้ภายใน

เจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันในขณะนั้น เพียงสามารถเกิดขึ้นกระทำกิจเฉพาะของตนๆ แต่ไม่สามารถที่จะมีความเฉียบแหลม ความคิดอ่านที่กว้างขวางที่จะทำสิ่งอื่นในขณะที่ถีนมิทธะเกิดขึ้นปิดบัง

ที่ชื่อว่าความง่วงเหงา มิทธัง ด้วยอรรถว่า ขจัด อธิบายว่า เบียดเบียน โดยความเป็นธรรมชาติไม่สำเร็จประโยชน์ในการงาน

ที่ชื่อว่าความหาวนอน โสปปัง ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้หลับ

ที่ชื่อว่าความโงกง่วง ปจลายิกา ด้วยอรรถว่า กระทำให้อวัยวะมีเปลือกตาเป็นต้น ปรือลง

ถ. การง่วงเป็นอุปนิสัยปัจจัยได้ไหม เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้เรา ...

สุ. ทำให้ถีนมิทธะเกิดบ่อยๆ ได้

สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิด ถึงแม้ว่าดับไปแล้วก็สะสมสืบต่ออยู่ ทำให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น บางคนก็ไม่ค่อยจะง่วงเท่ากับบางคนซึ่งจะหลับอยู่เรื่อยเลย นั่นก็เป็นเพราะการสะสมได้

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า กิริยาที่หาวนอน ภาวะที่หาวนอน แสดงขยายถึงอาการและภาวะ ก่อนหลับและหลังจากหลับ ถีนมิทธนิวรณ์ใดย่อมเกิดขึ้นแก่พระเสกขะและปุถุชนโดยมาก ถีนมิทธนิวรณ์นั้น อรหัตตมรรคย่อมตัดได้โดยเด็ดขาด พระขีณาสพทั้งหลาย (คือ พระอรหันต์ทั้งหลาย) ย่อมจะหยั่งลงสู่ภวังค์ด้วยความที่กรัชกายอ่อนเพลีย เมื่อกิริยาที่หยั่งลงสู่ภวังค์ของท่านนั้นเป็นไป มิได้ระคนกันเลย ท่านย่อมหลับ

สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กายกับใจระคนกันเวลาที่จะหลับ คือ ร่างกายก็อ่อนเพลีย ทั้งวันๆ ที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เคลื่อนไหว นั่ง นอน ยืน เดิน ประกอบกิจการงานต่างๆ เรี่ยวแรงก็ใช้ไปมาก เพราะฉะนั้น ร่างกายก็ต้องล้า อ่อนแรง นอกจากนั้นยังมีถีนมิทธะเกิดด้วยก่อนที่จะหลับ มีความง่วง ความโงกง่วงเป็นต้น แต่สำหรับพระอรหันต์ พระขีณาสพทั้งหลายย่อมจะหยั่งลงสู่ภวังค์ด้วยความที่กรัชกายอ่อนเพลีย เมื่อกิริยาที่หยั่งลงสู่ภวังค์ของท่านนั้นเป็นไป มิได้ระคนกันเลย ท่านย่อมหลับ คือ ไม่มีถีนมิทธะเกิดร่วมด้วย เพียงแต่เป็นความอ่อนแรง อ่อนกำลังของร่างกายอย่างเดียว

ข้อความต่อไปมีว่า

ชื่อว่าความหลับของท่าน (คือ ของพระอรหันต์) ย่อมเป็นดังนั้น ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ดูกร อัคคิเวสสนะ ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เราปูลาดสังฆาฏิ ๔ ชั้น มีสติสัมปชัญญะก้าวลงสู่ความหลับโดยปรัศว์เบื้องขวา รู้ตัวอยู่

แสดงว่าในขณะนั้นไม่มีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ได้ตรัสไว้อย่างนี้

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็ความที่กรัชกายอ่อนเพลียนี้ เห็นปานนี้ ไม่ใช่ภาวะที่มรรคจะพึงฆ่า

เพราะเรื่องของกิเลสเท่านั้น เป็นเรื่องที่มรรคจะดับ

ย่อมได้แม้ในรูปที่มีใจครอง แม้ในรูปที่ไม่มีใจครอง เมื่อจะได้ในรูปที่มีใจครอง ย่อมได้ในกาลเห็นปานนี้ คือ ในเมื่อพระขีณาสพเดินทางไกล ก็หรือทำการงาน อย่างใดอย่างหนึ่งเหน็ดเหนื่อย เมื่อได้ในรูปที่ไม่มีใจครอง ย่อมได้ในใบไม้และดอกไม้ จริงอยู่ ใบของต้นไม้บางอย่างย่อมคลี่ออกด้วยแสงของพระอาทิตย์ ตกกลางคืนกลับ งอเข้า ดอกบัวบานด้วยแสงพระอาทิตย์ พอตกกลางคืนหุบตามเดิม และมิทธะนี้ ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพทั้งหลาย เพราะเป็นอกุศล

ถ. หมายความว่า พระอรหันต์ทำงานจนตรากตรำ เป็นเหตุให้ง่วงได้ ไม่ได้หมายความว่าขณะนั้นมีอกุศล ใช่ไหม

สุ. ไม่เรียกว่าง่วง แต่หมายความว่า ร่างกายอ่อนล้าเหน็ดเหนื่อยได้ เป็นเรื่องของร่างกายซึ่งไม่มีแรง ควรที่จะได้พักผ่อน แต่ว่าไม่ง่วง

เพราะฉะนั้น แม้พระอนาคามีบุคคลก็ยังมีถีนมิทธะซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต แต่ ไม่มีถีนมิทธะซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต สำหรับพระอรหันต์ไม่มีถีนมิทธะเพราะ ถีนมิทธะเป็นอกุศลเจตสิก ซึ่งพระอรหันต์ท่านดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย

มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๒ อธิบายลักษณะของถีนมิทธะ มีข้อความว่า

ความที่จิตไม่ควรแก่การงาน ชื่อว่าถีนะ คำว่าถีนะนั้น เป็นชื่อของความเป็น ผู้เกียจคร้าน ความที่ขันธ์ทั้ง ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ไม่ควรแก่การงาน ชื่อว่ามิทธะ คำว่ามิทธะนั้น เป็นชื่อของความเป็นผู้ซบเซาของบุคคลผู้เกียจคร้านดุจลิง

วันหนึ่งๆ ถีนะเกิดมาก ซึ่งแต่ละท่านอาจจะสังเกตได้ว่า บางวันขี้เกียจตื่น ขี้เกียจลุก หรือว่าขี้เกียจทำงาน หรือบางวัน บางท่านอาจจะถึงกับขี้เกียจฟังธรรมก็ มีได้ แล้วแต่สภาพธรรมที่เกิดในขณะนั้นว่า ถีนมิทธเจตสิกจะเกิดกับจิตในขณะนั้นหรือเปล่า

ข้อความที่ว่า คำว่ามิทธะนั้น เป็นชื่อของความเป็นผู้ซบเซาของบุคคลผู้ เกียจคร้านดุจลิง

บางท่านอาจจะคิดว่า ลิงซน ไม่น่าที่จะเป็นผู้ซบเซาได้เลย แต่ก็ต้องมีขณะที่ลิงนั่งเฉยๆ และซบเซาเหมือนกัน เพราะสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สำหรับมนุษย์เท่านั้น เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อเกิดแล้ว ดับไปแล้วก็จริง แต่สะสมเป็นอุปนิสสยปัจจัยทำให้แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน

บางท่านบอกว่า ท่านง่วงบ่อยมาก อ่านหนังสือได้สัก ๒ บรรทัดก็ง่วงแล้ว ก็เป็นเพราะการสะสมอีกเหมือนกัน ที่เมื่อสะสมถีนมิทธะไว้มาก ก็ย่อมเป็นผู้ที่ง่วง บ่อย

ข้อความต่อไปเป็นคำอธิบายความหมายของถีนมิทธะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีข้อความว่า

บรรดาถีนะและมิทธะทั้งสองนั้น ถีนะเป็นไฉน

ความที่จิตไม่คล่องแคล่ว ความที่จิตไม่ควรแก่การงาน ความที่จิตหดหู่ ความที่จิตซึมเซา ชื่อว่าถีนะ

ในบรรดาถีนะและมิทธะทั้งสองนั้น มิทธะเป็นไฉน

ความที่กาย คือ ขันธ์ ๓ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ไม่คล่องแคล่ว ไม่ควรแก่การงาน อ่อนเพลีย อ่อนเพลียโดยรอบ ชื่อว่ามิทธะ

ข้อความต่อไปอธิบายแม้ลักษณะของความคร้าน หรือความเกียจคร้าน ว่า

ความคร้านเป็นไฉน ความขี้เกียจ ภาวะแห่งความเป็นผู้ขี้เกียจ นี้ท่านเรียกว่า ตันทิ คือ ความเกียจคร้าน

ความเหงาเป็นไฉน ความที่กาย คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ซบเซา ซึมเซา ไม่กระปรี้กระเปร่า ความทรงอยู่แห่งกาย ความน้อมไป หมุนไป การหมุนไปโดยรอบ การหมุนไปรอบ นี้ท่านเรียกว่า วิชัมภิกา คือ ความซบเซา

ขณะนี้มีไหม สภาพธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทันที เพราะตามความเป็นจริงแล้วขณะนี้เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ขาดการสังเกต ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เริ่มสังเกตลักษณะของสภาพธรรมจะพบว่า ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นต่างๆ กัน ในขณะหนึ่ง ในวันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ทุกคนหาวนอน แต่ก่อนนี้ไม่เคยสังเกตเลยว่า ขณะที่หาวสภาพของจิตในขณะนั้นหดหู่ ไม่กระปรี้กระเปร่า ซบเซา ไม่ควรแก่การงาน ไม่คล่อง

เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไปอาจจะเป็นปัจจัยทำให้ขณะใดที่หาว ระลึกลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นทันที เพื่อที่ถีนมิทธะจะได้ไม่อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เพียงในตำรา แต่กำลังเกิดขึ้น มีลักษณะปรากฏให้เห็น เพื่อเทียบเคียงให้เห็นว่า ในขณะที่กำลังหาว ลักษณะของจิตชั่วในขณะนั้นต่างกับในขณะที่ไม่หาว และโดยเจตสิกซึ่ง เกิดประกอบ ก็ต่างกัน

เปิด  261
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566