แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1339

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๗


การที่จะฟังพระธรรม พิสูจน์ได้ตั้งแต่ ๒,๕๐๐ กว่าปีที่พระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน พระวิหารต่างๆ จนกระทั่งถึงสมัยนี้ จิตไม่ได้อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาเลย เกิดดับอย่างรวดเร็ว ขณะนี้คิดถึงอะไรบ้าง กำลังว่างๆ เงียบๆ ชั่วขณะนี่ จิตเกิดขึ้นแล้ว คิดแล้ว นึกแล้ว เรื่องอื่นแล้ว เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีสติในขณะที่ฟัง เพราะ เมื่อคิดถึงสิ่งอื่นอยู่ เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง พิจารณาธรรมอยู่บ้าง

การที่จะฟังพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระโอษฐ์ ณ พระวิหารเชตวัน เป็นต้น กับการที่จะพิจารณาธรรมเอง อย่างไหนจะเป็นประโยชน์กว่ากัน

บางคนอาจจะพิจารณาธรรมจริง แต่เมื่อมีโอกาสได้เฝ้าได้ฟังพระธรรมจาก พระโอษฐ์ ย่อมสามารถได้ฟังสิ่งซึ่งเกื้อกูลต่อบุคคลนั้นตามอัธยาศัยที่สะสมมา ซึ่ง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะทรงสามารถแสดงธรรมได้ตรงกับอัธยาศัยของผู้ฟังว่า ธรรมใดเหมาะควรกับอัธยาศัยของบุคคลใด

เพราะฉะนั้น แม้พิจารณาธรรมอยู่บ้าง พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสเรียกเพื่อที่จะให้เกิดสติ ในขณะที่ฟังธรรม

ข้อความต่อไปที่ว่า บางท่านในขณะนั้น ใส่ใจกัมมัฏฐานอยู่บ้าง

แม้ในขณะที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่พระธรรมที่ได้ฟังจากพระโอษฐ์จะทำให้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏชัดเจนถูกต้อง เพิ่มขึ้น เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ใช่ว่าปล่อยไป ให้ไปนั่งอยู่ที่ไหนคนเดียว และไม่มีพระธรรมที่จะเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงแสดงพระธรรมเป็นเนืองนิตย์ เมื่อผู้ใดอบรม เจริญปัญญามาแล้วในอดีตที่จะเข้าใจ สะสมอบรมความเข้าใจมามาก ก็เป็น สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้ในขณะที่ไม่ได้เฝ้า ไม่ได้ฟังพระธรรมเฉพาะพระพักตร์ แต่แม้ขณะที่กำลังเฝ้าฟังพระธรรม และใส่ใจกัมมัฏฐานอยู่ พระธรรมที่ทรงแสดงในขณะนั้น ย่อมเกื้อกูลที่จะทำให้ฟังไป พิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น เกื้อกูลต่อการที่ปัญญาจะคมพอที่จะละการยึดถือลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกภิกษุ เพื่อให้เกิดสติ

เพราะฉะนั้น ไม่มีเลยที่เมื่อไม่ตรัสเรียกแล้วทรงแสดงธรรม

นี่คือความเป็นผู้ละเอียด ซึ่งทุกท่านจะต้องสังเกตสภาพของจิต และเหตุผลที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก และจะเห็นได้ว่า แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยที่ต่างกัน แม้ในเรื่องของความละเอียด บางคนละเอียดมาก บางคนละเอียดน้อย เพราะฉะนั้น แต่ละขณะจิตที่เกิดและดับไป ย่อมสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทำให้เป็นผู้มีจริตอัธยาศัยต่างๆ กันอย่างละเอียดที่สุด ที่จะสังเกต พิจารณาแม้โทษของกุศลที่เป็นไปในวัฏฏะ เพราะโดยมากทุกคนเห็นโทษของอกุศล แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดกว่านั้นอีกในการที่จะเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส เพราะจะต้องเป็นผู้ที่สังเกต พิจารณาเห็นโทษแม้ของกุศลที่เป็นไปในวัฏฏะ เพื่อการไม่ติดในผลของกุศล ซึ่งใน มโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๓ สูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

บัณฑิตพึงทราบจิตที่บังเกิดขึ้นด้วยสามารถวัฏฏะนั่นเทียว ข้อว่าจิตย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศมากดังนี้ ความว่า จิตใดเมื่อให้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในมารและพรหมก็ดี เมื่อให้ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ความเศร้าโศก ความปริเทวนา ความทุกข์ ความโทมนัส ความแห้งผากแห่งใจบ่อยๆ และ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และวัฏฏะในปฏิจสมุปปาทะ ชื่อว่าย่อมให้กองทุกข์ทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้นจิตนั้นชื่อว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์อันใหญ่

เพราะฉะนั้น กุศลย่อมให้ผลที่ดี แต่เมื่อยังเป็นกุศลในวัฏฏะ ก็ต้องเห็นแม้โทษด้วยว่า ถ้ามีความติด ความเพลิดเพลิน ความพอใจในผลของกุศลนั้นๆ ย่อมเป็น การยากที่จะบรรลุอริยธรรม แม้เพียงจะฟังก็ยังไม่ค่อยมีเวลา หรือว่ายังไม่สามารถที่จะพิจารณาธรรมได้บ่อยๆ ในวันหนึ่งๆ เพราะเป็นไปในเรื่องของความสนุก ความเพลิดเพลินต่างๆ

ถ. คำว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายที่มี ถีนมิทธะอยู่ จะหายไหม

สุ. แล้วแต่บุคคล แล้วแต่เหตุปัจจัย ทุกคนเป็นได้ทุกอย่างในทุกชาติ พิสูจน์ได้จากในชาตินี้ ถ้าบอกว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถีนมิทธะหายไหม พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ที่กล่าวไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ที่ตรัสเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมขึ้นกับการสะสมของบุคคลที่ฟังด้วย ถ้าท่านผู้ฟังได้เคยฟังมาแล้วในอดีต ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร แต่พิสูจน์ได้จากชาตินี้ ลองฟังคำนี้และสังเกตดูว่า ถีนมิทธะหายไปหรือเปล่า

ถ. คำว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ที่อาจารย์อธิบายว่า เป็นการเตือนสติ ผมเห็นด้วย ผมเคยทำงานกับฝรั่ง ก่อนที่เขาจะพูด เขาต้องใช้คำว่า look ทุกครั้ง คล้ายกับให้ระวัง ฟังให้ดี อะไรอย่างนี้ เป็นการเตือนสติจริงๆ ผมเห็นด้วย

สุ. ต้องเป็นผู้ที่สังเกตละเอียดขึ้นๆ เพื่อที่จะเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ต่อลักษณะของสภาพธรรม เพราะถ้าไม่เป็นผู้สังเกต ยากที่จะรู้

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ สารัมภนิทเทส อรรถกถา ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส สารัมภนิทเทส อธิบายถึงความแข่งดี ซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรม คือ กิเลส อกุศล ที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด จะไม่รู้ขณะจิตของแต่ละบุคคลได้เลย ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลอุปการะให้เป็น ผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ข้อความใน สารัมภนิทเทส มีว่า

ชื่อว่าความแข่งดี ด้วยสามารถแห่งการฉุนเฉียวกับบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก

เพราะฉะนั้น ใครเป็นเพื่อนแท้ ลองพิจารณาดู เพื่อนแท้นั้นจะไม่แข่งดี แต่ถ้ามีการแข่งดีขณะจิตใด เป็นกาลหนึ่งๆ เพราะจิตก็เกิดดับ กาลนั้นจะพิจารณาได้ว่า ขณะนั้น ด้วยสามารถแห่งการฉุนเฉียว

การแข่งดีแผ่ออกไป ชื่อว่าการแข่งขึ้นหน้า ปฏิสารัมภะ

อาการที่แข่งดี ชื่อว่ากิริยาที่แข่งดี กิริยาที่แข่งดีแผ่ออกไป ชื่อว่ากิริยาที่แข่งดีขึ้นหน้า ความเป็นแห่งบุคคลแข่งดีแผ่ไปแล้ว ชื่อว่าสภาพความแข่งดีขึ้นหน้า

คำว่า อยัง วุจจติ นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลนี้ ชื่อว่ามีความแข่งดี

ว่าโดยลักษณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกบุคคลนั้นว่า มีสิ่งเปรียบด้วยการกระทำเกินเป็นลักษณะ คือว่า บุคคลใดประกอบด้วยสิ่งใด บุคคลผู้แข่งดีนั้นย่อมกระทำสิ่งนั้นๆ ให้เป็น ๒ เท่า

ลักษณะของความแข่งดีในชีวิตประจำวัน ในการงาน ในการเรียน แม้แต่ในเรื่องของความดี จะได้ทราบว่า บุคคลใดก็ตามที่เป็นผู้แข่งดี ย่อมกระทำสิ่งนั้นๆ ให้เป็น ๒ เท่าของบุคคลอื่น

เช่น ผู้ครองเรือน บุคคลอื่นตบแต่งหรือตระเตรียมสิ่งของภายในบ้านด้วยวัตถุเพียง ๑ อย่าง บุคคลผู้แข่งดีย่อมจัดแจงสิ่งนั้น ๒ อย่าง

ถ้าใครทำอาหารอร่อย คนแข่งดีจะทำอย่างไร ก็ทำให้อร่อยกว่า หรือทำให้เป็น ๒ เท่า เพราะเหตุว่า มีสิ่งเปรียบด้วยการกระทำเกินเป็นลักษณะ

ผู้แข่งดีคนอื่นอีกย่อมจัดแจงสิ่งนั้นเป็น ๔ ผู้อื่นอีกย่อมจัดแจงเป็น ๘ ผู้แข่งดีอื่นอีกย่อมจัดแจงเป็น ๑๖

เพราะเหตุว่าเมื่อมีคนแข่งดีคนที่ ๑ ย่อมจะมีคนแข่งดีคนที่ ๒ คนที่ ๓ คนที่ ๔ และต่อๆ ไป เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ว่า ขณะใดเป็นอกุศล

จำเป็นไหมที่จะต้องแข่งดี ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมจริงๆ ทุกคนควรดีมากๆ ไม่ใช่แค่เราคนเดียว

ต่อไปสำหรับผู้ที่ไม่ครองเรือน แม้แต่ผู้ที่เป็นสมณะ

ผู้มีการแข่งดีมีอยู่ เมื่อผู้หนึ่งเรียนพระพุทธพจน์นิกายหนึ่งด้วยสูตรหนึ่ง ผู้แข่งดีคนอื่นย่อมคิดว่า เราจะเป็นผู้ล้าหลังผู้นั้น ดังนี้ จึงเรียน ๒ นิกาย ผู้แข่งดีอื่นอีกย่อมเรียน ๓ นิกาย ผู้แข่งดีอื่นอีกย่อมเรียน ๔ นิกาย ผู้แข่งดีอื่นอีกย่อมเรียน พระพุทธพจน์ ๕ นิกาย

ก็การเรียนพระพุทธพจน์นั้น ไม่ควรด้วยสามารถแห่งความแข่งดี เพราะว่าความแข่งดีนั้นเป็นฝักฝ่ายแห่งอกุศล เป็นทางยังสัตว์ให้ถึงนรก

นี่คือเรื่องของอกุศล คือ เรื่องแข่งดี แต่ทางฝ่ายกุศลก็ย่อมมีกิริยาอาการปรากฏที่ดูคล้าย แต่ไม่ใช่อกุศล ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า

แต่ว่า ว่าด้วยสามารถแห่งฝักฝ่ายในกุศล เมื่อบุคคลถวายสลากภัตเพียงหนึ่งอย่าง บุคคลอื่นควรให้เพิ่มเป็น ๒ เมื่อบุคคลถวาย ๒ อย่าง บุคคลอื่นควรถวายเพิ่มเป็น ๔ อย่าง อย่างนี้สมควร

ก็ครั้นเมื่อภิกษุเรียนพระพุทธพจน์นิกายหนึ่ง ภิกษุอื่นเรียนเอา ๒ นิกายด้วยคิดว่า เมื่อเราสาธยายพระพุทธพจน์อยู่ ความผาสุกย่อมมี ดังนี้ก็ควร

ฉะนั้น การเรียนพุทธพจน์ให้ยิ่งกว่านั้น เพราะมั่นอยู่ในฝักฝ่ายแห่งกุศลอันเป็นวิวัฏฏะ ก็ควร

เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจิตโดยละเอียดจริงๆ แม้แต่การที่บุคคลหนึ่งให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และคนอื่นเพิ่มให้อีกเท่าหนึ่ง ก็จะต้องรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า ที่เพิ่มให้นั้นเพราะอะไร จิตเป็นสภาพที่เกิดดับสลับอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น ควรที่สติจะระลึกลักษณะของจิตในขณะนั้นว่าเพราะกุศล หรือว่าเพราะอกุศล

ต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียด และเป็นผู้ที่สังเกต แม้แต่ในการศึกษา หรือในการที่จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศล มิฉะนั้นแล้วบางท่านก็เลยไม่กล้า เมื่อคนอื่นให้ ๑ ก็ต้องให้ ๑ เหมือนกัน กลัวไหมว่าให้ ๒ ไม่ได้ เพราะความคิดก็มีได้หลายอย่าง ไม่กลัว อกุศลอย่างนี้ ก็กลัวอกุศลอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นอกุศลอยู่

แต่ถ้าเป็นกุศลจริงๆ ไม่ต้องกลัวอะไรเลย ไม่ต้องหวั่นไหว ไม่ต้องหวาดหวั่น ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร ในเมื่อขณะนั้นจิตเป็นกุศล ย่อมกระทำสิ่งที่ควรได้ จะเรียน ๕ นิกายก็ได้ จะถวาย ๓ เท่า หรือ ๕ เท่าของบุคคลอื่นก็ได้ ด้วยจิตที่เป็นกุศล แต่ถ้าด้วยจิตที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเมื่อสะสมแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยยากต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถ. แต่ก่อนที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม ยังไม่ทราบว่าอะไรถูกอะไรผิด เมื่อศึกษาแล้วก็ทราบว่า สิ่งนั้นเป็นกิเลส สิ่งนี้เป็นอกุศล คราวนี้เวลาจะทำอะไร จะหยิบ จะจับ จะดู หรือจะเล่นอะไร ก็ระแวงไปหมด กลัวเป็นอกุศล ทำให้เกิดความไม่แช่มชื่น เกิดความไม่สบายใจ เกิดความท้อถอยหดหู่ แบบนี้ไม่ทราบว่า ผิดหรือถูกอย่างไร

สุ. นี่ไม่ใช่การละอกุศล เพราะอกุศลอย่างหนึ่งเกิดและไม่ชอบในอกุศลอย่างนั้น การไม่ชอบในอกุศลนั้นก็เป็นอกุศลอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงปรากฏเป็นความไม่แช่มชื่น

ถ. ปกติชอบทานขนม แต่รู้แล้วว่า ชอบเป็นโลภะ ก็เลยไม่ทาน

สุ. ขณะที่ไม่ทานนั้นเป็นกุศล หรือว่ายังคงเป็นอกุศลอยู่นั่นแหละ

ถ. ก็เป็นปัญหาที่สงสัย ทำให้ไม่แช่มชื่น

สุ. ถ้าขณะใดไม่เกิดจิตที่เป็นไปในทาน ในศีล ในสมถะ หรือในสติปัฏฐาน ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิตประเภทใดประเภทหนึ่ง คือ ถ้าไม่เป็นโลภะ ก็เป็นโทสะ หรือโมหะ

ถ. ขณะที่มีความไม่พอใจ ไม่แช่มชื่นในสิ่งที่เราได้ประสบ เพราะเรารู้แล้วว่า สิ่งนั้นเป็นกิเลสที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เมื่อทราบแล้ว เราเกิดความไม่แช่มชื่น

สุ. ขณะนั้นเป็นอกุศล สังเกตได้จากเวทนาที่เกิดกับจิตในขณะนั้นได้ สภาพที่ไม่แช่มชื่นเป็นอกุศล แต่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดมาก

สติปัฏฐานเท่านั้นที่สามารถจะอบรมเจริญได้มากในวันหนึ่งๆ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจและได้อบรมจนกระทั่งสติปัฏฐานเจริญขึ้น ย่อมสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เวลาที่เกิดความอยาก ความอยากก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เวลาที่ไม่ชอบ ไม่แช่มชื่น ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป เพราะในขณะที่เห็น ก็ไม่ใช่ขณะที่เป็น โลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต ชั่วขณะที่ได้ยิน ขณะนั้นก็ไม่ใช่โลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต ขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่กำลังปรากฏเพื่อที่จะให้สติระลึกจนกว่าจะรู้ความจริง ไม่ใช่ให้ไม่ชอบอกุศล แต่ให้สติระลึกจนกว่าจะรู้ความจริง

โลภะเกิด ไม่ชอบโลภะ ก็เป็นอกุศล แต่โลภะที่เกิด เป็นสิ่งที่มีจริงซึ่ง สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะโลภะนั้นได้ จึงจะเป็นกุศลในขณะนั้น

ถ. ที่อาจารย์บรรยายเรื่องการแข่งดี อย่างตนเองมีอาชีพค้าขาย ถ้าหาก ไม่แข่งดี หรือไม่ชิงดีชิงเด่นกันแล้ว เราก็ตั้งอยู่ไม่ได้

สุ. ไม่จริงแน่ๆ เพียงแต่ทำดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ จะแข่งดีหรือไม่แข่งดี ก็ตาม ทำดีที่สุดโดยไม่แข่งดี กับเวลาที่แข่งดี ก็คือ พยายามทำดีที่สุดนั่นเอง แต่ประกอบด้วยความแข่งดี ซึ่งผลก็คือกระทำดีที่สุด ใช่ไหม อย่างไรๆ ก็กระทำให้ดีที่สุด

กระทำดีที่สุดอย่างหนึ่ง ด้วยความสามารถ ด้วยความตั้งใจโดยไม่ประกอบด้วยความแข่งดี แต่อีกอย่างหนึ่งนั้น คือ ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว แต่ประกอบด้วยความแข่งดี ซึ่งเป็นโทษ

เพราะฉะนั้น แต่ละคน ทำเถอะ สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ ทุกอย่าง แต่ไม่ใช่เพราะความแข่งดี ทำทุกอย่างเต็มตามความสามารถที่จะทำได้โดยไม่ต้อง แข่งดีเลย เสียเวลาแข่งดี เสียมาก เสียเวลาให้อกุศลจริงๆ จะแข่งดีหรือไม่แข่งดี ก็ทำอย่างดีที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้น จะไปเสียเวลาให้อกุศลจิตเกิดทำไม

ถ. หมายความว่า ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

สุ. ทำเต็มความสามารถ ถึงแม้ไม่แข่งดี ก็ทำโดยเต็มความสามารถ และถึงแม้ว่าอยากจะแข่งดี ความสามารถมีเท่าไรก็ทำเต็มความสามารถเท่านั้นเอง ผลคือเท่ากัน เมื่อเท่ากันแล้ว ทำไมต้องเพิ่มความแข่งดีเข้าไปด้วยโดยไม่จำเป็น

ถ. ถ้าไม่เพิ่มความแข่งดีเข้าไปด้วย ก็ไม่มีสิ่งกระตุ้นให้อยากทำ

สุ. ไม่จริง ต้องเป็นผู้ที่ทำเต็มความสามารถเท่าที่จะกระทำได้ และขอให้คนอื่นเขาได้ดีมีสุขเหมือนๆ กัน หรือมากตามกรรมตามบุญที่เขาได้กระทำแล้ว เพราะทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน ไม่จำเป็นต้องริษยาใครเลย หรือไม่ต้องแข่งดีกับใครด้วย เพราะคนที่ต้องการจะแข่งดี ถ้าไม่ได้ทำดี ถึงอยากจะแข่งสักเท่าไร ก็แข่งไม่ได้

ฟังพระธรรม เพื่อพิจารณาสังเกตโดยละเอียดด้วยโยนิโสมนสิการ และประพฤติปฏิบัติตาม นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม

เปิด  238
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566