แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1350

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ สิงหาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๗


กิจทั้ง ๑๔ กิจนี้ โลภมูลจิตทำชวนกิจ เช่นเดียวกับอกุศลอื่นๆ และกุศลอื่นๆ หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์

สำหรับโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ดวง คือ โสดาปัตติมรรคจิต สกทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต อรหัตตมรรคจิต ซึ่งเป็นโลกุตตรกุศล ๔ และโลกุตตรวิบาก ๔ คือ โสดาปัตติผลจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตผลจิต ก็กระทำชวนกิจ

เพราะฉะนั้น วิบากจิตที่จะทำชวนกิจได้ มีภูมิเดียว คือ โลกุตตรวิบาก เพราะโลกุตตรวิบากไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และกิจอื่นๆ เช่นวิบากอื่นๆ โลกุตตรวิบากมีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นธรรมที่ดับกิเลสแล้ว เป็นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยฐานะที่ดับกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้น โลกุตตรวิบากจิตจึงทำชวนกิจเช่นเดียวกับโลกุตตรกุศลจิต

ในขณะที่เป็นฌานสมาบัติ ผู้ที่อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งฌานจิตเกิด ในขณะที่เป็นฌานจิตนั้น ก็ทำชวนกิจ แต่ก่อนที่ชวนจิตจะเกิดได้ต้องมีอาวัชชนจิตเกิดก่อน อย่าลืม อาวัชชนจิตต้องเป็นชาติกิริยา แต่ชวนจิตเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นโลกุตตรวิบากได้ และเป็นกิริยาได้ ถ้าไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิตและ มโนทวาราวัชชนจิต

และควรจะได้ทราบเรื่องอารมณ์ของโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นไปในอารมณ์ ๖ และทวาร ๖ อย่างไร

ชีวิตขณะนี้ เป็นชีวิตประจำวันของทุกท่าน ซึ่งมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เป็นทางที่จะรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ ทุกท่านเข้าใจเรื่องของอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ละเอียดและถูกต้องพอที่จะละกิเลสทั้งหลายได้แล้วหรือยัง ซึ่งถ้า ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า อารมณ์ของโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ความต้องการอารมณ์ซึ่งไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ที่มีอยู่เป็นประจำในวันหนึ่งๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต่างกันอย่างไร

ถ้าพูดง่ายๆ ว่า ทางตา สิ่งที่ปรากฏต่างกับทางหู จะไม่พอเลย เพราะนั่น ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ขณะนี้ การศึกษาธรรมเพื่อพิสูจน์สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง

อารมณ์ ๖ คือ

อารมณ์ที่ ๑ รูปารมณ์ ได้แก่ วัณณะ คือ สิ่งที่ปรากฏได้ทางตา ไม่ใช้คำว่า วัณณะก็ได้ ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริง เป็นรูปารมณ์ เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฐัพพนจิต และชวนจิตซึ่งปกติก็เป็นโลภมูลจิตที่เป็น ทิฏฐิคตวิปปยุตต์

แสดงให้เห็นว่า จักขุปสาทเป็นปัจจัยให้แต่เฉพาะจิตที่อาศัยจักขุปสาทเป็นทวารเท่านั้น จักขุปสาทจะไม่เป็นปัจจัยให้จิตที่อาศัยโสตปสาทเลย ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี อุปมาว่า เหมือนเม็ดมะม่วงที่เป็นปัจจัยแก่การเกิดขึ้นของผลมะม่วง แต่ว่าไม่เป็นปัจจัยแก่การเกิดขึ้นของตาล เพราะฉะนั้น จักขุปสาทในขณะนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นเฉพาะจิตที่อาศัยจักขุปสาท

ขณะนี้ท่านผู้ฟังกำลังเห็นรูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือกำลังเห็นคน เห็นวัตถุ เห็นสิ่งต่างๆ นี่คือสิ่งที่จะต้องพิสูจน์เพื่อจะได้พิจารณาว่า เข้าใจลักษณะของรูปารมณ์แค่ไหน และเข้าใจโดยเพียงขั้นการฟัง โดยชื่อ หรือว่าเข้าใจเพราะขณะนี้กำลังพิจารณาจริงๆ ว่า เห็นอะไร

ถ้าเห็นคน ก็ล่วงเลยปัญจทวารวิถีไปสู่มโนทวารวิถีแล้วอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงเรื่องของอารมณ์ทั้ง ๖ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เห็นความต่างกันจริงๆ ของทางปัญจทวารและทางมโนทวาร ซึ่งทันทีที่ทางจักขุทวารวิถีจิตเห็นและดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตจะเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะกั้น ไม่ให้มโนทวารวิถีจิตเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วได้

ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ อุปมาว่า

เปรียบเสมือนนกที่บินมาทางอากาศ แล้วซ่อนตัวอยู่ที่ยอดไม้ ย่อมกระทบ กิ่งไม้ด้วย และเงาของนกนั้นย่อมกระทบที่แผ่นดินด้วย การกระทบกิ่งไม้กับการแผ่ไปของเงาย่อมมีในขณะเดียวกัน ไม่ก่อน ไม่หลังกันเลย ฉะนั้น

ข้อความนี้ไม่ได้หมายความว่า ทั้งปัญจทวารวิถีจิตและมโนทวารวิถีจิต เกิดพร้อมกัน แต่หมายความถึงความรวดเร็วของขณะที่อารมณ์หนึ่งปรากฏกระทบ จักขุปสาท วิถีจิตทางจักขุทวารดับไปหมดแล้ว ภวังค์เกิดคั่น มโนทวารวิถีจะเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว เหมือนนกที่บินมาทางอากาศ แล้วซ่อนตัวอยู่ที่ยอดไม้ ทันทีที่กระทบกิ่งไม้ เงาของนกก็ย่อมกระทบที่แผ่นดินด้วย

แสดงให้เห็นถึงการสืบต่ออย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็สงสัยว่า ไม่เคยเห็นรูปารมณ์อย่างเดียวสักครั้งหนึ่ง เห็นแต่คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด ย่อมไม่มีการที่จะแยกพิจารณาถ่ายถอนความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้เลย แต่ถ้าได้ฟังบ่อยๆ และพยายามที่จะรู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ ถึงแม้ว่าจะเคยเห็นเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ โดยขั้นการศึกษาก็ทราบว่า นั่นคือจิตทางมโนทวาร ไม่ใช่ทางจักขุทวาร

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งวันใดที่สติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ แยกอารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารออกจากทางมโนทวารได้ เมื่อนั้นก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริง

ทางตา ซึ่งเห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น

อารมณ์ที่ ๒ สัททารมณ์ ได้แก่ เสียง คือ สภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางหู เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยโสตปสาทเป็นทวาร และปรากฏต่อทางมโนทวารหลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่น คือ แต่ละวิถีจะต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น ทางหูก็เช่นเดียวกัน ได้ยินเสียง แต่กำลังรู้คำ ที่กำลังรู้คำ ก็เตือนตัวเองให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถี ที่กำลังคิดถึงคำ ไม่ใช่โสตทวารวิถีที่เพียงได้ยินแต่เสียง

อารมณ์ที่ ๓ คันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่น คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูก เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยฆานปสาทเป็นทวาร ต่อจากนั้นก็ปรากฏทางมโนทวารหลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่น

อารมณ์ที่ ๔ รสารมณ์ ได้แก่ รส คือ สภาพธรรมที่ปรากฏที่ลิ้น เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยชิวหาปสาทเป็นทวาร เมื่อจิตที่อาศัยชิวหาปสาทดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีก็รู้รสารมณ์นั้นต่อ

อารมณ์ที่ ๕ โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ สภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยกายปสาทเป็นทวาร และปรากฏทางมโนทวารต่อ หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่น

สำหรับอารมณ์ทั้ง ๕ นี้ เรียกว่า ปัญจารัมมณะ หรือปัญจารมณ์ แม้ว่าจะเป็นอารมณ์ทั้ง ๕ ก็จริง แต่ปรากฏได้ ๖ ทวาร คือ ปรากฏทางจักขุทวาร และปรากฏต่อทางมโนทวาร ปรากฏทางโสตทวาร และปรากฏต่อทางมโนทวาร เป็นต้น

อีกอารมณ์หนึ่งซึ่งปรากฏได้เฉพาะทางใจ ชื่อว่าธัมมารัมมณะ หรือธัมมารมณ์

หลายท่านสนใจในคำว่า ธัมมารมณ์ เพราะเป็นอารมณ์ที่ไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ธัมมารมณ์ที่ปรากฏทางใจ ได้แก่สภาพธรรมอะไร

สำหรับอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ คือ ธัมมารมณ์ มี ๖ อย่าง ได้แก่ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด นิพพาน และบัญญัติ

ขณะที่เห็นคน เห็นอะไร ทางปัญจทวารเห็นสี ทางมโนทวารมีอะไรเป็นอารมณ์ ทางมโนทวารก็มีสีเช่นเดียวกับที่ทางตาเห็นและดับไปวาระหนึ่ง ภวังคจิตคั่น และ วาระต่อไปจะมีบัญญัติเป็นอารมณ์

ที่ว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง จะต้องยืนคำนี้อยู่ตลอดเวลา แม้ยังไม่ประจักษ์ว่าปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร แต่ได้ฟังแล้วว่า ปรมัตถธรรมหมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงธาตุต่างๆ เป็นธรรมประเภทต่างๆ จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นี่ต้องเป็นความจริงตามที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นคน ไม่ได้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ทั้งๆ ที่ทางตา ปัญจทวารวิถีเห็นสิ่งที่ปรากฏจริง แต่ทางใจเป็น บัญญัติแล้ว เพราะว่าเห็นคน เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความต่างกันของทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งอยากจะประจักษ์ หรืออยากจะมีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เป็นอารมณ์

จักขุปสาทอยู่กลางตาที่กระทบกับรูปารมณ์ ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ รูปที่เป็นสีสันวัณณะที่จะปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น จักขุปสาทเป็นธัมมารมณ์ สามารถรู้ได้ทางใจ เป็นไปได้ไหม ลองคิดดูถึงเหตุผล เพราะปกติเมื่อปัญจทวารวิถีดับไป เช่น เสียงที่กำลังได้ยินในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตดับ ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตรู้อะไร ก็รู้เสียงนั้นต่อ ไม่เปิดโอกาสที่จะให้มีโสตปสาทเป็นอารมณ์เลย

กลิ่นกระทบจมูก วิถีจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นทางฆานทวาร ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตรู้กลิ่นนั้นที่เพิ่งดับต่อจากทางฆานทวาร

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่โอกาสที่จะมีปสาทรูปปรากฏเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังเห็นบ้าง กำลังได้ยินบ้าง กำลังได้กลิ่นบ้าง ทุกท่านทราบแล้วว่า รูปที่เป็นสภาวรูปทุกรูปมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ปสาทรูปแต่ละอย่าง เช่น จักขุปสาทรูปก็ดี โสตปสาทรูปก็ดี ฆานปสาทรูปก็ดี ชิวหาปสาทรูปก็ดี กายปสาทรูปก็ดี ก็ต้องมีอายุ ๑๗ ขณะเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในขณะที่รูปทางตาปรากฏ กระทบกับปสาทรูป มีอายุเท่ากับปสาทรูป ๑๗ ขณะ และดับพร้อมกัน ในขณะที่รูปกำลังปรากฏทางตา จักขุปสาทย่อมปรากฏไม่ได้ เพราะว่าเกิดพร้อมกันและดับพร้อมกัน ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง เสียงก็เป็นสภาวรูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ โสตปสาทรูปก็มีอายุ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เสียงปรากฏ ไม่ใช่โสตปสาทรูปปรากฏ เมื่อเสียงดับ โสตปสาทรูปก็ดับ และจะให้โสตปสาทรูปเป็นอารมณ์ของ มโนทวารวิถีจิตในวันหนึ่งๆ ได้ไหม มีโอกาสที่ปสาทรูปจะเป็นอารมณ์ของจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวารได้ไหม

อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ พรรณนาฉักกนิทเทสเป็นต้น ในรูปวิภัต ข้อ ๖๗๒ มีข้อความว่า

จิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร รู้รูปทั้งหมด

ไม่เว้นเลย ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะเหตุว่าทรงตรัสรู้

ซึ่งใน อัฏฐสาลินี อธิบายว่า

ที่ตรัสไว้ว่ารูปทั้งหมด เพราะเหตุว่าแม้แต่รูปเดียวที่ชื่อว่าอันมโนวิญญาณธาตุไม่พึงรู้ ย่อมไม่มี

จริงอยู่ นัยคือข้อที่ควรจะอธิบายให้เข้าใจถึงขั้นพระอภิธรรมแล้ว ที่จะชื่อว่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ทรงกระทำไว้ในฐานะที่ควรจะกระทำนัยคือการแนะให้เข้าใจ ย่อมไม่มี

แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าในวันหนึ่งๆ ไม่มีใครที่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ซึ่งเป็นธัมมารมณ์ที่จะรู้ได้ทางใจเป็นอารมณ์ก็จริง แต่เพราะเหตุว่ารูปนี้มี ถ้าไม่มี ขณะนี้จะเห็นได้อย่างไร จะได้ยินได้อย่างไร จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสได้อย่างไร แต่ต้องเข้าใจในเหตุผลด้วยว่า ที่ไม่ปรากฏเพราะอะไร

เพราะรูปเกิดดับ ๑๗ ขณะของจิต ทั้งเสียงและโสตปสาท เพราะฉะนั้น ในขณะที่เสียง คือ สัททารมณ์ ปรากฏในขณะนี้ โสตปสาทจึงไม่ปรากฏ แต่แม้กระนั้นด้วยเหตุที่รูปทั้งหมดมีจริง และพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงกระทำนัยคือการแนะให้เข้าใจ ซึ่งการเข้าใจนี้ต้องเป็นเรื่องของ มโนทวารวิถี ไม่ใช่เป็นเรื่องของจักขุทวารวิถีที่เพียงเห็น หรือโสตทวารวิถีที่เพียงได้ยินเสียงที่ปรากฏ หรือฆานทวารวิถีที่เพียงได้กลิ่น หรือชิวหาทวารวิถีที่เพียงลิ้มรส หรือกายทวารวิถีที่เพียงรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

เพราะฉะนั้น สำหรับธัมมารมณ์ซึ่งมี ๖ ได้แก่ ปสาทรูป ๕ คงไม่มีท่านผู้ใดข้องใจที่ยังอยากจะรู้ปสาทรูป ๕ นี้ เมื่อทราบเหตุผลแล้วว่า เสียงปรากฏและดับไปพร้อมปสาทรูป และขณะที่เสียงไม่ปรากฏ สภาพธรรมอื่นก็ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่ผู้ใดจะมีปสาทรูปเป็นอารมณ์ นอกจากผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญามา สมควรพอที่จะรู้ได้

สำหรับท่านผู้ฟังเองคงจะไม่ขวนขวาย เพราะถ้าจะขวนขวาย ควรจะขวนขวายศึกษาลักษณะของรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏว่า สภาพของรูปารมณ์ที่ไม่ใช่บัญญัติ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร แทนที่จะไปอยากรู้รูปที่ไม่ปรากฏ เพราะสิ่งที่กำลังปรากฏ ควรที่จะได้พิจารณาจนกว่าประจักษ์แจ้ง และรู้ความต่างกันของการปรากฏของอารมณ์ทางปัญจทวารและทางมโนทวาร

สำหรับสุขุมรูป ๑๖ ก็โดยนัยเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องที่ควรขวนขวายที่จะรู้เมื่อ ไม่ปรากฏ

ปสาทรูป ๕ เป็นรูปหยาบเช่นเดียวกับสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๗ รูป รวมปสาทรูปอีก ๕ เป็นรูปหยาบ คือ โอฬาริกรูป ๑๒

สำหรับจิตทั้งหมด ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมระลึกรู้ลักษณะของจิต เป็นจิตตานุปัสสนาตามควรแก่สติที่จะเกิดขึ้นระลึกลักษณะของจิตประเภทต่างๆ เช่นเดียวกับเจตสิกทั้งหมด ซึ่งเป็นธัมมารมณ์ ก็แล้วแต่ว่าขณะใดมีลักษณะของเจตสิกประเภทใดปรากฏ สติก็ระลึกลักษณะของเจตสิกนั้น เช่น เวทนาเจตสิก ความรู้สึก มีอยู่เป็นประจำ ถ้าขณะใดที่สติระลึกลักษณะของเวทนา ขณะนั้นก็เป็นธัมมารมณ์

เปิด  219
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565