แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1342

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๒๗


ถ. ตั้งแต่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก็หลายพระองค์ เป็นธรรมดาหรือไม่ว่า ทุกๆ ครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ขณะนั้นจะไม่มีกระดาษ ไม่มีเทป ไม่มีสมุดดินสอที่จะจดกันไว้บ้างหรือ

สุ. ในสมัยพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีการศึกษา มีการเรียนคำนวณต่างๆ ศิลปวิทยาต่างๆ มีจดหมายด้วย เขียนได้ ก็คงต้องมีสิ่งซึ่งใช้ในการเขียน

ถ. พระพุทธเจ้าในอนาคตที่จะมีต่อไป ถ้าขณะนั้นวิวัฒนาการเจริญอย่างสมัยนี้ ผมเชื่อว่าศาสนาพุทธจะน่าเชื่อถือกว่าทุกๆ อย่างเลย เพราะทุกอย่างพิสูจน์ได้ คือ ทั้งเทปก็ดี วิดีโอก็ดี เสียงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นทุกคนจะได้ยิน และน่าจะหนักแน่นเชื่อถือแก่คนมากขึ้น

สุ. เสียงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอิฏฐารมณ์ เพราะฉะนั้น โสตวิญญาณที่ได้ยินเสียงนั้นต้องเป็นกุศลวิบาก กุศลวิบากเกิดแล้วก็ดับเช่นเดียวกับเสียง เพราะฉะนั้น ในยุคที่ไม่มีใครมีกุศลวิบากพอที่จะได้ฟังเสียงของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไปหาเครื่องมือต่างๆ มาไม่ได้ เพราะเป็นกาลสมัยซึ่งไม่ใช่กุศลวิบากที่จะได้ยินเสียงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่อย่าลืมว่า ผู้ที่สะสมความเห็นผิด แม้ได้ไปเฝ้าฟังพระธรรมที่พระวิหารเชตวันแล้วก็ไม่เชื่อ เป็นผู้ที่โสตวิญญาณเป็นกุศลวิบาก ได้ฟังพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคจากพระโอษฐ์ แต่เป็นผู้ที่สะสมความเห็นผิดไว้มาก เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ได้ฟัง ได้เห็น ได้เฝ้า ก็ยังมีความเห็นผิดได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุผล ตามกาล ซึ่งในสมัยนี้ไม่ใช่โอกาสของกุศลวิบากที่จะได้ฟังพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคโดยตรง แต่ถ้าใครเกิดในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป มีโอกาสที่จะได้ฟัง แต่อย่าลืม ความเห็นถูกหรือความเห็นผิด ต้องเตรียมให้พร้อมที่ว่า เมื่อได้เฝ้าได้ฟังจะได้เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง อย่าเพียงแต่หวังที่จะได้ยิน เพราะได้ยินแล้วเห็นผิดก็มี ไม่ใช่ได้ยินแล้ว จะเห็นถูกเสมอไป

ถ. เวลาเจริญสติ ทางตามีสีเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ และเห็นก็เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหูมีเสียงเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ยินก็เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ผมสงสัยว่า ทางมโนทวาร จิตนึกคิดเรื่องราว จิตที่กำลังนึกคิดเรื่องราว จิตนั้นก็เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ทางมโนทวารก็มีแต่นามคิดนึกอย่างเดียว ความหมายของคำก็เอามา เป็นอารมณ์ไม่ได้

สุ. ตามปริยัติที่ได้ศึกษา เมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารทุกขณะดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ รู้อารมณ์เดียวกับอารมณ์ที่ทางปัญจทวาร เพิ่งรู้และดับไป เพราะฉะนั้น ทางมโนทวารหลังจากที่ทางจักขุทวารวิถีจิต แล้วแต่จะเป็นกี่ขณะก็ตามดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อรู้อารมณ์เดียว คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนอย่างที่จิตทางจักขุทวารทุกขณะนั้นรู้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ ๒ ทวาร คือ ทางจักขุทวารวิถี ๑ และทางมโนทวารวิถี ๑ เสียงที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ก็ปรากฏ ๒ ทวาร คือ ทาง โสตทวารวิถี ๑ เมื่อภวังคจิตคั่นแล้วก็ปรากฏทางมโนทวารวิถีอีก ๑ วาระ หรือหลายวาระก็ได้ เพราะฉะนั้น ทางมโนทวารเกิดมากกว่าทางปัญจทวาร

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เสียงดับนี่น่าจะรู้ ทางตานั้นยกไว้ให้ว่า กำลังเห็นยังไม่สามารถพิจารณาว่าดับไปได้ แต่สำหรับทางหู คือ เสียงที่ปรากฏทางหูดูไม่น่าจะสงสัย เพราะเกิดแล้วก็หมดๆ แต่ละขณะๆ ไป

แต่ผู้นั้นอบรมเจริญปัญญาจนรู้เสียงที่ปรากฏทางมโนทวารสืบต่อจากทาง ปัญจทวารแล้วหรือยัง เพราะว่ารูปๆ หนึ่งซึ่งเป็นสภาวรูป จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ การที่จะรู้ว่ารูปๆ หนึ่งเกิดแล้วดับเมื่อไร ต้องอาศัยจิตซึ่งมีอายุที่สั้นกว่าเป็นเครื่องวัดว่า รูปที่เป็นสภาวรูปเมื่อเกิดขึ้นแล้วขณะไหนก็ตาม ขณะจิตใดก็ตาม เมื่อจิตเกิดดับสืบต่อกันไป ๑๗ ขณะ รูปๆ นั้นก็ดับ

เพราะฉะนั้น การที่แสดงวิถีจิตทางตา คือ จักขุทวารวิถี ๑๗ ขณะ เป็นการแสดงอายุของรูปให้เห็นว่า ทันทีที่รูปเกิดแล้วกระทบกับจักขุปสาท กระทบภวังค์ และเพื่อให้รู้ว่าภวังค์ดวงใดเป็นภวังค์ที่รูปเกิดพร้อมกันในขณะนั้น จึงใช้คำว่า อตีตภวังค์ เป็นเครื่องหมายว่า รูปเกิดที่นั่น กระทบจักขุปสาท และกระทบภวังค์ เป็นขณะที่ ๑

ขณะที่ ๒ เป็นภวังคจลนะ

ขณะที่ ๓ เป็นภวังคุปัจเฉทะ รูปยังไม่ดับ

ขณะที่ ๔ เป็นปัญจทวาราวัชชนะ

ขณะที่ ๕ เป็นจักขุวิญญาณ

ขณะที่ ๖ เป็นสัมปฏิจฉันนะ

ขณะที่ ๗ เป็นสันตีรณะ

ขณะที่ ๘ เป็นโวฏฐัพพนะ

ขณะนี้ถ้าเกิดพลั้งเผลอไป โลภมูลจิตเกิดต่อ ๗ ขณะ

เหลืออีก ๒ ขณะ เพราะโลภมูลจิตต้องเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ รูปยังไม่ดับไป เหลืออีก ๒ ขณะ ตทาลัมพนจิตเกิด และดับไป ๒ ขณะ รูปจึงดับ เมื่อรูปดับ จักขุทวารวิถีจิตเกิดต่อไปไม่ได้ เพราะจักขุปสาทรูปก็ดับ รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา ก็ดับ เพราะฉะนั้น จึงเป็นภวังคจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ หลังจากนั้น มโนทวาราวัชชนจิต คือ อาวัชชนจิตทางมโนทวาร ๑ ขณะเกิดขึ้น ต่อจากนั้นชวนจิตซึ่งจะเป็นโลภมูลจิต หรือจิตใดก็ตามเกิดสืบต่อ ๗ ขณะ มีรูปที่ทางจักขุทวารเพิ่งรู้นั่นเองเป็นอารมณ์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง มิฉะนั้น จะไม่รู้เลยว่าเห็นอะไร หรือถ้าเป็นทางหู ก็จะไม่รู้เลยว่าได้ยินเสียงอะไร

ถ้าเปลี่ยนเป็นทางหู เมื่อเสียงดับพร้อมกับวิถีจิตทางโสตทวาร ภวังคจิตเกิดคั่น และมโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ มีเสียงนั้นแหละเป็นอารมณ์ ถ้าผู้นั้นยังไม่สามารถรู้ลักษณะของมโนทวารวิถี จะรู้ได้อย่างไรว่า เสียงดับแล้วเมื่อสักครู่นี้

เพราะฉะนั้น เรื่องของการเกิดดับของสภาพธรรม เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญาที่จะฟังเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ เพื่อให้สติสามารถมีสัญญาความจำที่มั่นคง เป็นปัจจัยทำให้ สติระลึกได้ เช่น ทางตาในขณะนี้ หลายท่านบอกว่า ไม่ทราบจะระลึกอย่างไรจึงไม่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏ

ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนให้ทราบว่า ในที่นี้ท่านเห็นอะไรบ้าง ท่านอาจจะกล่าวถึง บางสิ่งบางอย่างเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ท่านไม่ได้กล่าวถึงแม้ว่าปรากฏด้วย ในห้องนี้ ลองดู ถ้าถามว่าเห็นอะไรบ้าง ก็จะเริ่มนับว่า เห็น ๑ ๒ ๓ ๔ แต่ก็ยังมี สิ่งอื่นที่ปรากฏที่ท่านไม่ได้กล่าวถึง แสดงว่านั่นคือรูปารมณ์เหมือนกันเช่นเดียวกับ สิ่งที่ท่านสนใจและก็กล่าวว่า เห็นโต๊ะ เห็นคน เห็นเก้าอี้ แต่สิ่งอื่นที่ปรากฏด้วย ซึ่งท่านไม่ได้กล่าวถึงก็เป็นรูปารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะพิจารณาเห็นสิ่งที่ปรากฏเป็นแต่เพียงรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องให้เหมือนกับสิ่งอื่นที่ปรากฏและท่านไม่ได้สนใจที่จะนึกถึงรูปร่างสัณฐานที่จะนับดูว่ามีกี่อย่าง มีอะไรบ้างในห้องนี้ แต่ทั้งหมดก็เป็นแต่เพียงรูปารมณ์เช่นเดียวกันทั้งนั้น

ถ. การระลึกรู้ว่าเป็นเห็น คือ ขณะที่กำลังทำเจริญสติปัฏฐาน หมายความว่าระลึกรู้ว่านี่เป็นรูปธรรม ขณะนั้นจะไม่มีอะไรเลยก็ได้ เพราะมันดับแล้ว ใช่ไหมหมายความว่า จิตดวงหนึ่งที่สติระลึกรู้ ดวงนั้นจะไม่เกิดเลย เพราะว่าดับไปแล้ว ใช่ไหม

สุ. ยังไม่มีการรู้ดวงนั้น ถ้าปัญญายังไม่เจริญพอที่จะรู้ได้ เพราะขณะนี้ที่เห็นก็ไม่รู้ว่าจักขุวิญญาณเกิดดับไปตั้งกี่ครั้งกี่ขณะแล้ว และไม่มีการปรากฏว่า ทางตาเห็นดับไปเลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ข้ามขั้น และไม่เอาปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้ามาคิดว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ควรรู้ความจริงว่า ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยสำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนนั้น เป็นความเลื่อมใสที่ยังไม่หมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ต่อเมื่อใดได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ได้ประจักษ์การเกิดดับจริงๆ ของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยนั้น เป็นความเลื่อมใสที่หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ในขณะที่ยังไม่เป็นพระอริยเจ้า ก็ศึกษาให้เข้าใจเรื่องที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเจริญและท่านได้ประจักษ์แจ้ง และก็อบรม แต่ไม่ใช่ในขณะที่ทางตา ยังไม่ดับก็ไปคิดว่า เมื่อกี้ขณะนั้นดับไปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะปรากฏ

ถ. ผมไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น บอกให้เข้าใจว่า ขณะที่กำหนด สติระลึกรู้ต่อเนื่องกันไปใช่ไหม ในสภาพความเป็นกลุ่มก้อนรวมเป็นสัญญานั้นก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไป ให้เห็นความแตกต่างว่า คือ ไม่ใช่หมดไปเลย ก็ยังมีบ้าง แต่ก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาช่วงนั้น

สุ. ขณะใดหลงลืมสติก็รู้ว่า ต่างจากขณะที่สติระลึก และรู้ว่าเมื่อสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางไหน

ถ. มีความแตกต่างกันเกิดขึ้น

สุ. ระหว่างมีสติกับหลงลืมสติ

ถ. ผมเคยศึกษาปรัชญาทางด้านวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่าจิตคือสมอง ผมอยากทราบว่า พระพุทธศาสนาของเราสามารถที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้หรือไม่

สุ. เข้าใจว่า พระพุทธศาสนาละเอียดและเป็นสัจธรรมกว่าวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ละเอียดและเป็นสัจธรรมยิ่งกว่าพระพุทธศาสนา

ถ. พระพุทธศาสนาละเอียดกว่า แต่ผมอยากจะบอกให้ทราบว่า วิทยาศาสตร์เข้าใจว่า จิตคือสมอง แต่ความจริงนั้นสมองเป็นรูปธรรม ส่วนจิตเป็นนามธรรม แต่ทั้งสมองทั้งจิตก็เกิดดับพร้อมกัน ใช่ไหม

สุ. รูปเกิดขึ้นพร้อมจิตก็ได้ แต่ดับไม่พร้อมจิต และรูปดับพร้อมจิตก็ได้ แต่รูปที่ดับพร้อมจิตนั้นก็ไม่ได้เกิดพร้อมจิต

ถ. หมายความว่า อาจจะเกิดพร้อมหรือไม่พร้อมก็ได้ ใช่ไหม

สุ. เกิดพร้อมได้ แต่ดับไม่พร้อมกัน ถ้าเกิดพร้อมกันก็ดับไม่พร้อมกัน ถ้ากล่าวถึงสภาวรูป

สำหรับการฟังพระธรรมทั้งหมด อย่าลืมว่า เพื่อให้เข้าใจถูก และเพื่อละความเห็นผิด เพราะความเห็นผิดไม่ใช่เฉพาะแต่ชาตินี้ชาติเดียว ถ้าขาดการพิจารณาโดยรอบคอบจริงๆ ทั้งในขั้นปริยัติและในขั้นปฏิบัติ และมีการโน้มเอียงไปในทางที่จะเห็นผิดและปฏิบัติผิดแล้ว ก็จะยึดถือในข้อปฏิบัตินั้นเป็นชาติๆ ต่อไปอีกนานแสนนาน

สำหรับเหตุให้เกิดความเห็นผิดได้เคยกล่าวถึงแล้ว แต่จะขอกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณา คือ

อสัทธัมมสวนัง การฟังแต่อสัทธรรม

การฟังพระธรรม ควรฟังมากๆ บ่อยๆ และเทียบเคียงเพื่อถือเอาประโยชน์ คือ ธรรมที่ประกอบด้วยเหตุผล แต่ถ้าไม่ฟังสิ่งที่เป็นสัทธรรมเพราะคิดว่ายากเกินไป หรือละเอียดเกินไป หรือบางท่านอาจจะคิดว่าน่าเบื่อ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นย่อมไม่สามารถพิจารณาเหตุผลได้ยิ่งขึ้น ก็จะรับฟังแต่สิ่งซึ่งเข้าใจว่าง่าย แต่สิ่งที่ง่ายนั้นจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าไม่ศึกษาและเทียบเคียงโดยละเอียดย่อมไม่สามารถทราบได้ว่า ธรรมที่พอใจและง่ายนั้น แท้จริงแล้วอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้

อกัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ จะต้องพิจารณาด้วยความเที่ยงตรงจริงๆ ในการมีมิตรสหาย ไม่ว่าจะเป็นมิตรสหายที่ใกล้ชิดหรือไม่ใกล้ชิดก็ตาม ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมมีความคิดความเห็นต่างๆ กันไป นอกจากจะมีความคิดความเห็นต่างๆ กันในทางโลกแล้ว อาจจะมีความคิดความเห็นต่างๆ กันในทางธรรมอีกก็ได้ เพราะเรื่องของความคิดความเห็นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่สะสมมาต่างๆ กันจริงๆ

บางคนแม้ว่าเป็นเพื่อนสนิท แต่ความเห็นความคิดอาจต่างกันก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้พิจารณาด้วยความเที่ยงตรงจริงๆ ที่จะไม่โน้มเอียงไปในความเห็นผิด เพราะการคบหาสมาคมอาจจะมีความโน้มเอียงไปในความเห็นผิด เนื่องจากเป็นผู้ที่มีมิตรชั่ว

ขอกล่าวถึงในสมัย ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งพระอริยบุคคลท่านหนึ่งได้กล่าวธรรมกับพวกอัญญเดียรถีย์ แต่ก็ไม่สามารถเกื้อกูลพวกอัญญเดียรถีย์ให้ละทิ้งความเห็นผิดได้

ข้อความโดยย่อใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อุปาสกวรรคที่ ๕ ทิฏฐิสูตรข้อ ๙๓ มีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีออกจากพระมหานครสาวัตถีแต่ยังวันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ท่านได้มีความคิดเช่นนี้ว่า มิใช่เวลาเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน เพราะพระผู้มีพระภาคยังทรง หลีกเร้นอยู่ มิใช่กาลเพื่อจะเยี่ยมภิกษุทั้งหลายผู้ยังใจให้เจริญ เพราะพวกภิกษุผู้ยังใจให้เจริญยังหลีกเร้นอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด

ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ก็สมัยนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังร่วมประชุมกันบันลือเสียงเอ็ดอึง นั่งพูดกันถึงดิรัจฉานกถาหลายอย่าง พอได้เห็นท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเดินมา แต่ไกล ก็จึงยังกันและกันให้หยุดด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงเบาเสียง อย่าได้ เปล่งเสียง อนาถบิณฑิกคฤหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังเดินมา อนาถบิณฑิกคฤหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่งบรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว ซึ่งเป็นสาวกของพระสมณโคดมอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี ก็ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ในเสียงเบา ได้รับแนะนำในทางเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา แม้ไฉนเขาทราบบริษัทผู้มี เสียงเบา พึงสำคัญที่จะเข้ามาหา

ก็ยังเป็นผู้ที่ต้องการพบท่านท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เพื่อที่จะได้ฟังความคิดเห็นของท่านท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี

ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า

ดูกร คฤหบดี ขอท่านจงบอก พระสมณโคดมมีทิฏฐิอย่างไร

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีตอบว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของพระผู้มีพระภาค ฯ

เป็นการยากที่จะแสดงพระปัญญาทั้งหมดของพระผู้มีพระภาค ซึ่งสาวกทั้งหลายไม่สามารถรู้ได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยพระปัญญามากมายอย่างไรบ้าง ซึ่งปริพาชกก็กล่าวว่า

ดูกร คฤหบดี นัยว่าบัดนี้ท่านไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของพระสมณโคดม ขอท่านจงบอก ภิกษุทั้งหลายมีทิฏฐิอย่างไร ฯ

เมื่อไม่รู้ทิฏฐิของพระผู้มีพระภาค ก็ขอให้ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีบอกถึงทิฏฐิของภิกษุทั้งหลาย ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีก็กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดแม้ของภิกษุทั้งหลาย ฯ

การที่จะกล่าวแทนคนอื่นว่า คนอื่นมีทิฏฐิ มีความเห็นต่างกันมากน้อยอย่างไร ย่อมไม่ใช่วิสัยของบุคคลอื่นที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีท่านจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดแม้ของภิกษุทั้งหลาย ฯ ซึ่งปริพาชกได้กล่าวว่า

ดูกร คฤหบดี นัยว่า ท่านไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของพระสมณโคดม ทั้ง ไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของภิกษุด้วยประการดังนี้ ขอท่านจงบอกตัวท่านมีทิฏฐิอย่างไร ฯ

เมื่อไม่สามารถตอบเรื่องของคนอื่นได้ ก็ขอถามเฉพาะทิฏฐิของท่าน อนาถบิณฑิกคฤหบดี ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีก็กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าบอกทิฏฐิของข้าพเจ้าว่ามีทิฏฐิ อย่างใดนี้ไม่ยาก เชิญท่านทั้งหลายบอกทิฏฐิของตนเสียก่อน ข้าพเจ้าจึงจะบอกทิฏฐิของข้าพเจ้าว่ามีทิฏฐิอย่างใดในภายหลัง ซึ่งเป็นการทำไม่ยาก ฯ

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีท่านก็อยากฟังทิฏฐิของพวกเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายก่อนว่า พวกปริพาชกนั้นมีทิฏฐิ มีความเห็นอย่างไร เพราะสำหรับความเห็นของท่าน ไม่ยากที่ท่านจะกล่าว

เปิด  218
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566