แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1345

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๗


ลำดับนั้น วัชชิยมาหิตคฤหบดีทราบว่า ปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ แล้วลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องที่สนทนากับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบทุกประการ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดีละ ดีละ คฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยกาลอันควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล

ดูกร คฤหบดี เราไม่กล่าวตบะทั้งหมดว่า ควรบำเพ็ญ

ลองเทียบดูกับความเห็นของคนสมัยนี้ ปฏิบัติอย่างไรก็ถูกทั้งนั้น แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เราไม่กล่าวตบะทั้งหมดว่า ควรบำเพ็ญ เราไม่กล่าวตบะทั้งหมดว่า ไม่ควรบำเพ็ญ เราไม่กล่าวการสมาทานทั้งหมดว่า ควรสมาทาน เราไม่กล่าวการสมาทานทั้งหมดว่า ไม่ควรสมาทาน เราไม่กล่าวการเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมดว่า ควรเริ่มตั้งความเพียร เราไม่กล่าวการเริ่มตั้งความเพียรทั้งหมดว่า ไม่ควรเริ่มตั้งความเพียร

ไม่ใช่ว่าเพียรผิดๆ ก็ควรจะเพียร แต่ต้องระวังอย่างที่สุดว่า ต้องไม่เพียรผิด เพราะบางท่านเพียรมากที่จะปฏิบัติธรรม แต่ไม่ได้พิจารณาข้อปฏิบัตินั้นว่า สมควรแก่การที่จะเพียรหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นความเห็นผิด เมื่อเพียรไป ผลที่ได้ คือ ความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เราไม่กล่าวการสละทั้งหมดว่า ควรสละ เราไม่กล่าวการสละทั้งหมดว่า ไม่ควรสละ เราไม่กล่าวการหลุดพ้นทั้งหมดว่า ควรหลุดพ้น เราไม่กล่าวการหลุดพ้นทั้งหมดว่า ไม่ควรหลุดพ้น

ทั้งหมดเป็นเรื่องที่จะให้พิจารณาว่า ข้อปฏิบัติใดผิด ไม่ควรเพียร เพราะเป็นความเพียรผิด และเมื่อเพียรผิดก็จะเข้าใจว่าหลุดพ้น แต่ว่าเป็นการหลุดพ้นผิด เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่กล่าวการที่จะให้ปฏิบัติอย่างนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดี เมื่อบุคคลบำเพ็ญตบะอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวตบะเห็นปานนี้ว่า ไม่ควรบำเพ็ญ

นี่เรื่องของการปฏิบัติ

ก็เมื่อบุคคลบำเพ็ญตบะอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง เรากล่าวตบะเห็นปานนี้ว่า ควรบำเพ็ญ

ขอข้ามข้อความบางตอนซึ่งซ้ำ

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่อบุคคลสละซึ่งการสละอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการสละเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรสละ

บางคนสละทรัพย์ สละบ้าน สละทุกอย่าง เพื่อที่จะเข้าป่า แต่ต้องพิจารณาว่า ข้อปฏิบัติถูกหรือเปล่า และถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่อบุคคลหลุดพ้นการหลุดพ้นอันใดอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมไป เรากล่าวการหลุดพ้นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรหลุดพ้น

เพราะเหตุว่าเป็นมิจฉาวิมุตติ เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะต้องพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องของการทำสมาธิ ซึ่งหลายท่านอาจจะทำโดยที่ไม่เห็นโทษ เพราะเมื่อทำแล้วจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของ สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งมีตัวอย่างหลายตัวอย่าง แต่เป็นตัวอย่างเฉพาะบางบุคคล ท่านที่สนใจอาจจะสอบถามจากท่านที่ปฏิบัติ ข้อสำคัญที่สุด คือ การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความจงใจ ด้วยความต้องการ นั่นไม่ใช่ การเจริญสติปัฏฐาน เพราะเป็นสภาพของตัวตนที่ต้องการจะรู้เฉพาะอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด

ควรที่จะรู้จริงๆ ว่า สติเป็นอนัตตา ไม่สามารถรู้ได้ว่า สติจะเกิดขณะไหน และไม่สามารถจะรู้ด้วยว่า เมื่อสติเกิด ขณะนั้นสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด จะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้

ขอกล่าวถึงโทษของมิจฉาทิฏฐิ ก่อนที่จะกล่าวถึงโลภมูลจิตดวงที่ ๓ ซึ่งไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ข้อความใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๑๙๑

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร คือ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากสัทธรรมแล้วให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เป็นโทษเฉพาะตนคนเดียวเท่านั้น แต่ยังเผยแพร่ความเห็นผิดออกไปสู่บุคคลเป็นจำนวนมากด้วย

ข้อ ๑๙๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่งซึ่งจะมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง ฯ

ซึ่งใน ข้อ ๑๙๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นบุคคลอื่นแม้คนเดียวที่ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนกับโมฆบุรุษชื่อว่า มักขลินี้เลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลพึงทิ้งลอบไปที่ปากอ่าว เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม เพื่อความพินาศแก่ปลาเป็นอันมาก แม้ฉันใด โมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เป็นดังลอบสำหรับดักมนุษย์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก ฯ

ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา เอกนิบาต มีว่า

ก็ในคำนี้ว่า เอกปุคคโล บัณฑิตพึงทราบ พระเทวทัตและพร้อมกับครู ๖ คน และชนเหล่าอื่นเห็นปานนั้น

ไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะท่านพระเทวทัตหรือครูทั้ง ๖ แต่ ชนเหล่าอื่นเห็นปานนั้น คือ ผู้ที่มีความเห็นผิด ปฏิบัติผิดทั้งหมด

ข้อความต่อไป อธิบายโทษของมิจฉาทิฏฐิว่า

จริงอยู่ อนันตริยกรรมทั้งหลาย ชื่อว่ามีโทษมาก มิจฉาทิฏฐินั่นเทียวยังมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรมเหล่านั้น

ถามว่า เพราะเหตุไร

แก้ว่า การกำหนดอนันตริยกรรมเหล่านั้นมีอยู่ จริงอยู่ อนันตริยกรรม ๔ อย่างท่านกล่าวว่า ย่อมยังสัตว์ให้เกิดในนรก แม้กรรม คือ สังฆเภท เป็นของตั้งอยู่ตลอดกัปในนรก การกำหนดของอนันตริยกรรมเหล่านั้นมีอยู่ ที่สุดก็ยังปรากฏ แต่การกำหนดนิยตมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไม่มี

จริงอยู่ นิยตมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นมูลของวัฏฏะ การออกจากจากภพของสัตว์ผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐิย่อมไม่มี สัตว์เหล่าใดย่อมสำคัญคำที่ตนพึงฟังของ นิยตมิจฉาทิฏฐิกบุคคล สัตว์เหล่านั้นย่อมให้ถึงความพินาศนั่นเทียว ก็สำหรับสัตว์ผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐินั้น ไม่มีสวรรค์ ไม่มีมรรค

กรรมใดๆ ที่ทำแล้ว เมื่อมีปัจจัยที่จะให้ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น แม้อกุศลกรรมที่เป็นอนันตริยกรรม ที่เป็นกรรมหนัก ที่จะต้องให้ผลในชาติหน้าสืบต่อจากจุติจิตของชาตินี้ที่ดับลง ซึ่งอกุศลวิบากที่ทำให้เกิดในอบายก็ยังมีกาลที่จะหมดสิ้น แต่สำหรับความเห็นผิด ตราบใดที่ยังไม่ละทิ้งให้หมดสิ้น ยังไม่อบรมเจริญความเห็นถูกขึ้น ผู้นั้นย่อมต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์โดยไม่มีการกำหนดได้ว่า เมื่อไรจึงจะพ้น เพราะยังมีความเห็นผิดอยู่

สำหรับโทษของอนันตริยกรรม ซึ่งเป็นครุกรรมทางฝ่ายอกุศล จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิชาติต่อไปทันทีที่จุติจิตของชาตินี้ดับลง สำหรับอนันตริยกรรมซึ่งโทษหนักที่สุด คือ สังฆเภท

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อานันทสังฆเภทสูตร มีว่า

ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆเภท สังฆเภท ดังนี้ สงฆ์จะเป็น ผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่า เป็นธรรม ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่า ไม่ใช่ธรรม ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัยว่า เป็นวินัย ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่า ไม่เป็นวินัย ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ว่า ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ว่า ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่เคยประพฤติมาว่า ตถาคตเคยประพฤติมา ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตเคยประพฤติมาว่า ตถาคตไม่เคยประพฤติมา ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ตถาคตบัญญัติไว้ ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ๑

ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกัน ย่อมแยกจากกัน ย่อมทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้

ดูกร อานนท์ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ

ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน จะประสบผลอะไร พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น จะประสบผลอัน เผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่ง ฯ

ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผลอันเผ็ดร้อนซึ่งตั้งอยู่ตลอดกัปหนึ่งคืออะไร พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า .

ดูกร อานนท์ บุคคลผู้ที่ทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันนั้น จะเสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง ฯ

บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีแล้วในการแตกแยก ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย เข้าถึงนรก ตั้งอยู่ในนรกนั้นตลอดกัปหนึ่ง ย่อมพลาดจากธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ ย่อมเสวยกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง เพราะทำลายสงฆ์ ผู้พร้อมเพรียงกันให้แตกกัน ฯ

จบ สูตรที่ ๙

นี่เป็นโทษของอนันตริยกรรมซึ่งหนักมาก แต่แม้กระนั้นมิจฉาทิฏฐิก็มีโทษมากกว่า เพราะฉะนั้น ควรจะเห็นโทษเวลาที่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิด ไม่ว่าจะเป็นโสมนัสเวทนา อสังขาริก หรือสสังขาริก

ถ. การฆ่าตัวตายเพื่อหนีสังคม หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ การฆ่าตัวตายจะมีผลให้เกิดในอบายหรือเปล่า

สุ. ใครจะพยากรณ์ ทุกคนมีกรรม แล้วแต่ว่ากรรมใดจะให้ผล ถ้าอกุศลกรรมให้ผล ก็เกิดในอบาย

ถ. ในขณะฆ่า จิตเขาหลงผิดแล้วไม่ใช่หรือ ที่ว่าทำให้ชีวิตตกสิ้นไป หมายความว่า ในขณะที่เขาฆ่า เขามีโมหะแล้ว ใช่ไหม

สุ. เพื่อให้กว้างจะแสดงว่า ขณะใดที่เป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิ ก็จะทำให้อกุศลชวนจิตเกิดก่อนจุติจิต และทำให้อกุศลวิบากเกิดต่อ หลังจากที่จุติจิตดับไปแล้ว อย่างนี้จะถูกต้องกว่าไหม เพราะไม่มีใครรู้ได้ เมื่อไม่รู้ ก็ไม่กล่าวถึง จะดีกว่า

สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ผู้ที่จะดับได้จริงๆ ผู้นั้นต้องเป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ยังเป็นผู้ที่เริ่มสนใจและเจริญสติปัฏฐานอยู่ ยังไม่ได้ดับมิจฉาทิฏฐิเป็นสมุจเฉท ก็จะต้องพากเพียรประพฤติปฏิบัติเพื่อให้มีความเห็นถูกเพิ่มขึ้นจนกว่าจะดับความเห็นผิดได้ มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีใครรับประกันได้ว่า แต่ละท่านที่มีความเห็นถูกบ้าง ต่อไปจะค่อยๆ เอียงเป็นความเห็นผิดบ้างหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ และพร้อมที่จะทิ้งความเห็นผิดทันที เพราะความเห็นผิดมีโทษมากจริงๆ แม้ว่าจะได้พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างพวกอัญญเดียรถีย์ ก็ยังไม่สามารถพิจารณาพระธรรมที่ทรงแสดงได้ ยังคงยึดถือความเห็นผิดต่อไป

ถ. คำว่า บัญญัติ อยากทราบความหมาย ลักษณะ และขอบเขตว่า เป็นอย่างไร

สุ. สภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติ คือ ไม่ทรงแสดง ย่อมไม่มีใครสามารถเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ทุกคนมีจิต มีเจตสิก แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติสภาพธรรมทั้งหลายด้วย พระสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นบัญญัติที่ถูกต้องตรงกับลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจในสิ่งที่มีอยู่ได้

ถ. หมายความว่า เป็นตัวแทนอีกที ใช่ไหม

สุ. เป็นสิ่งที่ต้องการให้รู้อรรถหรือความหมายของสิ่งที่มีจริงด้วยคำพูด

ต่อไปเป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๓ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง อสังขาริกัง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด และมี กำลังกล้า เพราะเป็นอสังขาริก

โลภมูลจิตมี ๘ ดวง ให้ทราบว่า โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด พระโสดาบันบุคคล พระอริยะขั้นต้น ดับมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดได้ แต่ดับโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ไม่ได้ ซึ่งผู้ที่จะดับได้หมดสิ้นต้องเป็นพระอรหันต์

แสดงให้เห็นถึงความลึกของความติดของโลภะ ซึ่งเป็นรากที่ลึกมาก ที่แผ่ไป จนกระทั่งความยินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เจริญเติบโต ทุกภพชาติ แม้ว่าในขณะนั้นไม่ได้เกิดร่วมกับความเห็นผิด เพราะว่าในชีวิตวันหนึ่งๆ ทุกคนยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ บางคนไม่คิดถึงเรื่องความเห็นผิดเลย ไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าคุยกัน ก็เป็นแต่เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์เกิดบ่อยๆ ย่อมมีกำลัง แม้ว่าพระโสดาบันจะดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์หมด แต่ก็ดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ไม่ได้

ผู้ที่จะดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ได้หมดสิ้น ต้องเป็นพระอรหันต์ แต่ผู้ที่จะดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น พระอนาคามีบุคคลไม่มีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงดับโทสมูลจิตด้วย สำหรับพระสกทาคามีสามารถคลายโลภะที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอย่างหยาบได้

เพราะฉะนั้น ท่านที่สนใจธรรม และคนอื่นกล่าวว่า ไม่เห็นจะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็แสดงว่าคนที่กล่าวไม่เข้าใจถึงสภาพของจิตตามความเป็นจริงว่า พระโสดาบันไม่ใช่พระอรหันต์ การที่จะดับโลภะแม้ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต้องเป็นไปตามขั้น คือ พระโสดาบันยังดับไม่ได้ พระสกทาคามีคลายอย่างหยาบได้ พระอนาคามีดับความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ แต่ยังมีโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ซึ่งยินดีพอใจในภพ ท่านไม่มี ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะก็จริง แต่ท่านยังไม่ใช่ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ยังเหลือความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ที่มีอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกุศล เป็นความสงบ

เปิด  235
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566