แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1346

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๗


ขอกล่าวถึงลักษณะของโลภะเพิ่มเติมจากที่เคยกล่าวถึงแล้ว

ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต มีข้อความที่แสดงถึงลักษณะของโลภะว่า มีเป็นประเภทต่างๆ คือ

ความโลภมากชื่อว่ามหิจฉตา อัตริจฉตาความปรารถนารุนแรง ปาปิจฉตา ความปรารถนาลามก

เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละคน ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้จะไม่ได้พิจารณาว่า โลภะขั้นไหนเกิดขึ้นแล้วกับท่าน

ข้อความอธิบายว่า

เมื่อลาภของตนเป็นไปอยู่ ความปรารถนาในลาภของบุคคลอื่น ชื่อว่า อัตริจฉตา

เคยอยากได้ของบุคคลอื่นบ้างไหม ของพี่ ของน้อง ของลุง ของป้า ของน้า ของอา หรือของเพื่อน สวยจริง อยากได้บ้างไหม สักนิดสักหน่อย เมื่อเป็นของคนอื่น บางทีเห็นว่าสวย ก็ชื่นชมยินดีในสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ที่คนอื่นมีโดยไม่อยากได้

แต่ในบางขณะ ลองพิจารณาดูว่า มีความรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม

แม้เมื่อขนมอันสุกในภาชนะอันเดียวกัน สำหรับบุคคลผู้มีความปรารถนานั้น เมื่อเขาใส่ลงในบาตรของตน ย่อมปรากฏเหมือนขนมไม่สุก เป็นขนมเล็กน้อย ขนมอันเดียวกันนั้นนั่นเชียวอันเขาใส่ลงในบาตรของบุคคลอื่น ย่อมปรากฏเหมือนของสุกดีและเหมือนชิ้นใหญ่

รู้สึกอย่างนี้บ้างไหม ของสิ่งเดียวกัน ชิ้นเดียวกัน ถ้าเป็นของตนจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นของคนอื่นรู้สึกอย่างไร ท่านที่ไปรับประทานอาหารด้วยกันหลายๆ ท่าน บางท่านก็สั่งอาหารตามที่ท่านคิดว่าคงจะอร่อยดี แต่เวลาที่อาหารของคนอื่นมา รู้สึกน่าสนใจกว่าอาหารที่ท่านสั่งหรือเปล่า นี่คือลักษณะของโลภะในชีวิตประจำวัน จริงๆ ที่ให้รู้ว่า สิ่งใดซึ่งเป็นของตน สิ่งนั้นดูเสมือนไม่มีค่าสักเท่าไร ไม่น่ายินดีพอใจสักเท่าไร แต่เวลาเป็นของคนอื่นมีความรู้สึกว่า ดี ชิ้นใหญ่ หรือว่าสุกดี หรือว่าน่าจะอร่อย นี่เป็นลักษณะของโลภะที่มีมาก ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องของการเป็นผู้ที่มีธรรมฝ่ายตรงกันข้ามกัน เช่น บางท่านเป็นผู้ที่มักมาก ต้องการมาก แต่บางท่านมักน้อย เป็นผู้ที่ไม่มีความต้องการอย่างท่านอื่น แม้ว่าท่านเป็นผู้ที่ทรงคุณก็ยังไม่ปรารถนาที่จะให้บุคคลอื่นรู้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัธยาศัยที่ต่างกัน

มโนรถปูรณี อรรถกถา ได้กล่าวถึง ท่านพระมหากุมารกัสสปเถระ ผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร อยู่ในสุสานมาเป็นเวลา ๖๐ ปี ภิกษุอื่นแม้รูปเดียวก็ไม่ทราบเลย เพราะเหตุนั้นพระเถระจึงได้กล่าวแล้วว่า

เราอยู่ในป่าช้าอันไม่มีความพลุกพล่านเป็นเวลา ๖๐ ปี ภิกษุรูปที่ ๒ ไม่พึงรู้เราเลย โอ ภิกษุผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร เป็นสิ่งยอดเยี่ยม ดังนี้

นี่คือผู้มักน้อย ตรงกันข้ามกับมักมาก แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ทำความดี ก็ไม่ได้ปรารถนาให้คนอื่นรู้ เพราะอะไร จำเป็นไหมที่จะให้คนอื่นรู้ เพื่ออะไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความมักมาก ก็อยากให้คนอื่นสรรเสริญ ใช่ไหม

ผู้ฟัง ผมคิดว่า ถ้าเราเข้าไปในป่า ไปบำเพ็ญความดี ถ้าเราไม่ออกมาแสดงความดีให้คนที่ไม่สนใจศึกษาหาความรู้ได้รับรู้ ความดีที่เราปฏิบัติก็อาจจะได้เพียงเราคนเดียวเท่านั้น แต่ถ้าออกมาให้คนอื่นได้รับรู้เพื่อให้เขาศึกษาธรรมบ้าง ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์

สุ. ท่านเหล่านั้นจะแสดงธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านต้องบอกว่า ท่านมีวัตรปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้คนอื่นสรรเสริญ ท่านอยู่ป่าเป็นวัตร และท่านจะแสดงธรรมก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ป่าเป็นวัตรโดยเปิดเผย เพื่อให้คนอื่นสรรเสริญ นี่เป็นความต่างกัน

เพราะฉะนั้น ข้อความใน มโนรถปูรณี มีว่า

ก็พระภิกษุใดเป็นพระอริยบุคคลตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง มีพระโสดาบัน เป็นต้น ย่อมไม่ปรารถนาเพื่อจะให้บุคคลอื่นรู้ความที่ตนเป็นพระอริยบุคคล มี พระโสดาบัน เป็นต้น ภิกษุนี้ชื่อว่ามีความปรารถนาน้อยในอธิคม

ความปรารถนาน้อย ต้องน้อยทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องให้มีการสรรเสริญ

ถ. ขณะที่แสดงธรรมนั้น จะไม่บอกอะไรที่เกี่ยวกับตัวเอง แต่พูดในลักษณะทั่วๆ ไป คือ จะไม่บอกเกี่ยวกับยศถาบรรดาศักดิ์หรือคุณวุฒิที่ตัวเองได้มา แต่จะแสดงธรรมทั่วๆ ไป โดยไม่เน้นเรื่องส่วนตัว ใช่ไหม

สุ. ใช่ แม้แต่พี่น้อง มีพระเถระผู้เป็นพี่น้องกัน ๒ รูป อยู่ในเจติยบรรพต ภิกษุผู้เป็นน้องชายถือเอาท่อนอ้อยอันอุปัฏฐากส่งไป ได้ไปสู่สำนักของพระพี่ชาย ด้วยกล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านจงกระทำการบริโภคเถิด ก็กาลนั้นเป็นเวลาที่พระเถระกระทำภัตกิจแล้ว บ้วนปากแล้ว พระเถระจึงกล่าวว่า พอละ อาวุโส

ไม่บอกแม้แต่ว่าตนเป็นผู้รักษาศีลธุดงค์ข้อใด ทั้งๆ ที่เป็นพระน้องชาย

ถ. ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าใครทั้งนั้น ถือปฏิบัติด้วยอุดมคติโดยเฉพาะ ไม่เลือกชั้นวรรณะ ใช่ไหม

สุ. เป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษแม้ในอธิคม คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถ. ที่อาจารย์อธิบายเกี่ยวกับเรื่องขนมที่ว่า ถ้าเป็นของคนอื่นรู้สึกว่า จะชิ้นใหญ่กว่า

สุ. เวลาที่อยู่ในจานคนอื่น

ถ. แต่บางทีไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดว่าไม่พอใจมากกว่า จะเป็นความอิจฉาได้ไหม ไม่ใช่โลภะ

สุ. แล้วแต่กาล คือ เวลาที่เป็นโลภะก็เป็นสภาพจิตอย่างหนึ่ง เวลาที่เป็นโทสะก็เป็นสภาพจิตอีกอย่างหนึ่ง แต่ในเรื่องของโลภะ จะเห็นความละเอียดของโลภะว่าเกิดขึ้นได้ลักษณะใดบ้าง เช่น บางท่านมีความยินดีพอใจในขันธ์ของตัวเอง ใช่ไหม รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทางของท่านเป็นที่ถูกใจพอใจไม่ว่าจะเป็นอาการอย่างไรก็ตาม และบางครั้งก็พอใจในขันธ์ของคนอื่น รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทางอย่างนั้น น่าดูน่าชม น่าพอใจ นี่เป็นความพอใจที่แตกออกไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความพอใจแม้แต่ในขันธ์ของตนเองและในขันธ์ของคนอื่น ฉันใด อาหารซึ่งอยู่ในจานของคนอื่นก็รู้สึกว่า ชิ้นโต สุกดี อร่อย แต่ถ้าเอาชิ้นนั้นแหละมาใส่ในจานของตนเอง ทีแรกนึกต้องการ แต่เมื่อมาอยู่ในจานจริงๆ อาจจะไม่ต้องการแล้วก็ได้ ดูไปดูมาแล้ว ก็อย่างนั้นแหละ ไม่เหมือนเมื่อกี้นี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะของจิตซึ่งมีประการต่างๆ ด้วยกำลังของโลภะ

ถ. ผมสงสัยว่า เวลาที่จิตเป็นภวังค์ จนกระทั่งถึงชวนวาระ หรือ ตทาลัมพนวาระ สติเกิดสลับได้ไหม

สุ. สติจะเกิดได้ตรงชวนจิตเท่านั้น ถ้าขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์

ถ. ถ้าชวนะเป็นอกุศล เกิดไม่ได้ ใช่ไหม

สุ. ใช่ เพราะเหตุว่าสติเป็นโสภณธรรม

ถ. ถ้าเราระลึกสภาวะที่เป็นอกุศลธรรม ระลึกรู้ได้ในขณะใด ถ้าสติเกิดได้ หมายความว่า ปัญจทวารดับไปแล้ว

สุ. อย่าแยกว่าเป็นปัญจทวารดับไปแล้ว หรืออะไร เพราะนั่นเป็นการรู้แจ้งของผู้ที่รู้แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ตั้งต้น ไม่ใช่เอาปัญญาของผู้ที่รู้แล้วมาตั้งต้น

แต่ในขณะนี้ ในขั้นการศึกษาทราบว่า จักขุวิญญาณดับ และเมื่อ จักขุวิญญาณดับแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ สันตีรณะเกิดต่อ โวฏฐัพพนะเกิดต่อ ชวนะเกิดต่อและดับไป เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความรวดเร็วของจิต ซึ่งเป็นอนัตตา เพื่อที่จะให้สติระลึกขณะไหนก็ได้ โดยที่ว่าขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่เป็นชวนจิต ที่ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะดับไป แต่ก็เกิดสลับจนปรากฏเป็นปัจจุบัน

ถ. และชวนะทางมโนทวารก็ระลึกได้เหมือนกัน

สุ. ได้ ที่จริงแล้วการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของชวนะทางมโนทวาร แต่เพราะชวนะทางมโนทวารและทางปัญจทวารเกิดสลับกันเร็วมาก เกิดต่อกันเร็วมาก แยกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น เมื่อทางมโนทวารเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ทางปัญจทวารก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ด้วย

ถ. ขอให้อาจารย์อธิบายเรื่องบัญญัติอารมณ์

สุ. บัญญัติอารมณ์ หมายความถึงคำที่ใช้กันอยู่เพื่อให้เข้าใจความหมาย ถ้าไม่มีบัญญัติ คงพูดกันไม่ได้ เข้าใจกันไม่ได้

ถ. ตามสำนักต่างๆ ที่สอนว่า อารมณ์ขณะนี้เป็นขณิกะ อารมณ์ขณะนี้เป็นอุปจาระ อารมณ์นี้เป็นอัปปนา นั่นใช่บัญญัติอารมณ์ที่แท้จริงหรือเปล่า

สุ. ไม่ทราบว่าแต่ละสำนักสอนอย่างไร แต่คำว่า ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ก็มีในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา ซึ่งควรที่จะเข้าใจสภาพของจิตและลักษณะของกุศลจิตซึ่งต่างกับอกุศลจิต มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจความหมายของ คำว่า ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

ถ้าเพียงแต่นั่งจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด และบอกว่าในตอนต้นๆ ที่กำลังจดจ้องนั้นเป็นขณิกสมาธิ จ้องไปสักครู่หนึ่งจิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้นก็จะเป็นอุปจารสมาธิ ต่อจากนั้นไปอีกสักครู่ก็คงจะเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ จนถึงอรูปฌาน สามารถกล่าวอย่างไรก็ได้ แต่สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องศึกษา มิฉะนั้นแล้วจะเห็นผิดจะไม่เข้าใจเลยว่า แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้น ไม่ใช่ลักษณะของกุศลจิต

ถ. โยนิโสมนสิการ องค์ธรรมได้แก่อะไร

สุ. ท่านผู้ฟังศึกษาอภิธรรมแล้ว ก็อยากจะให้ทุกขณะออกมาชัดเจนว่า เป็นสภาพของเจตสิกอะไร แต่แม้อย่างนั้นก็ไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยชัดเจนไปทุกขณะจิต

โยนิโสมนสิการ หมายความถึงขณะที่พิจารณาโดยแยบคาย เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจึงเป็นกุศล ซึ่งต้องหมายความถึงมหากุศล เพราะว่าอกุศลไม่แยบคาย ไม่ฉลาดในการพิจารณา

สำหรับเรื่องของความเห็นผิดในเรื่องของสมาธิ มิจฉาสมาธิก็มีกล่าวไว้ เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า สมาธิทั้งหมดเป็นสัมมาสมาธิ

เรื่องของสมาธิเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า ถ้าเป็น อกุศลสมาธิ ก็จงอย่าได้ปฏิบัติเลย เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร นอกจากจะมีความยึดถือในข้อปฏิบัตินั้น

ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี ญาณวิภังคนิทเทส นิทเทสแห่งญาณเป็นกำลังข้อที่ ๗ กล่าวถึงฌายี ผู้เข้าฌาน ๔ จำพวกว่า

๒ จำพวกเป็นผู้ที่ได้ฌานจริง โดยพวกที่ ๑ เป็นผู้ที่ได้ฌานที่มีคุณน้อย ไม่มีกำลัง และอีกพวกหนึ่ง คือ พวกที่ ๓ เป็นผู้ที่ได้ฌานคล่องแคล่ว ส่วนอีก ๒ จำพวก คือ พวกที่ ๒ กับพวกที่ ๔ เป็นผู้ที่ไม่ได้ฌาน แต่เข้าใจว่าได้ฌาน

ถ้าไม่มีความเข้าใจผิดอย่างนี้ ข้อความในอรรถกถาคงไม่ต้องแสดงไว้ แต่เพราะความเข้าใจผิดมีได้ง่ายๆ ถ้าขาดการศึกษาหรือขาดการพิจารณาโดยถูกต้อง ซึ่งข้อความในอรรถกถากล่าวถึงผู้ไม่ได้ฌานแต่เข้าใจว่าได้ฌานว่า

บุคคลที่ ๒ ไม่ได้สมาบัติเทียว ย่อมสำคัญว่าเราได้สมาบัติ คือ ไม่ใช่กัมมัฏฐานที่มีอยู่ สำคัญว่าเป็นกัมมัฏฐาน ดังนี้ บุคคลนี้พึงทราบว่า ชื่อว่า ผู้เข้าฌานหลับ (นิทฺทาฌายี) ครั้นหลับและตื่นขึ้นมา ก็สำคัญอย่างนั้นๆ

สมัยนี้มีไหม เข้าใจว่าได้ฌาน บางครั้งใช้คำที่สูงมากว่า เข้านิโรธสมาบัติ เข้าใจว่าในขณะนั้นดับจิตเจตสิก แต่ผู้ที่จะดับจิตเจตสิกเป็นนิโรธสมาบัติได้ต้องเป็น พระอนาคามีบุคคลหรือพระอรหันต์ ซึ่งได้ถึงอรูปฌานสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้ยังไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตว่าขณะที่เป็นกุศลต่างกับขณะที่เป็นอกุศลอย่างไร ไม่มีทางที่จะเป็น อุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ได้อ่านเรื่องของสมถภาวนา และรู้ว่าอารมณ์ที่จะให้เกิดความสงบที่เป็นสมถภาวนานั้นมีอะไรบ้าง แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ศึกษาโดยละเอียด และไม่ใช่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของกุศลจิตซึ่งสามารถเจริญขึ้นเพราะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ว่า จิตที่ค่อยๆ สงบขึ้นมีลักษณะอย่างไร จะไม่มีทางถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต เป็นมหัคคตกุศล ไม่ใช่เพียงมหากุศล

มหากุศล หมายความถึงกุศลซึ่งมีมาก เป็นไปได้ทั้งในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องความสงบของจิต ซึ่งยังไม่ถึงฌานจิต คือ ไม่ใช่มหัคคตจิต เป็นไปได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สามารถที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ แต่ว่าไม่ถึงมหัคคตกุศล

ถ้าจะถึงมหัคคตกุศล ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์เท่านั้นจึงจะถึง มหัคคตกุศลได้ ซึ่งในขณะที่การให้ทานแต่ละครั้ง หรือว่าการวิรัติทุจริต การรักษา ศีลนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เป็นเพียงมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ก็ให้ทานได้ วิรัติทุจริตได้ แต่ถ้าจะให้จิตสงบขึ้นจนถึงสมาธิขั้นต่างๆ ต้องเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์เท่านั้น มหากุศลญาณวิปปยุตต์เจริญไม่ได้ นี่เป็นข้อสำคัญที่ควรจะต้องพิจารณา

เมื่อจิตประกอบด้วยปัญญา พร้อมด้วยความสงบที่เพิ่มขึ้นเป็นความสงบที่ประกอบด้วยสมาธิขั้นต่างๆ จนถึงฌานจิต คือ อัปปนาสมาธิ เป็นมหัคคตกุศล เป็นกุศลที่มีกำลังซึ่งสามารถระงับไม่ให้จิตคล้อยไปเป็นอกุศลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะในขณะนั้นจิตมีเฉพาะอารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งมั่นให้สงบขึ้นๆ จนกระทั่งไม่รับรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

และอัปปนาสมาธิที่ถึงความชำนาญแล้ว สามารถเกิดได้นานเป็นวัน ในขณะที่ตามปกติธรรมดา ขณะที่เห็นเป็นกามาวจรจิต เป็นสภาพของจิตที่รู้อารมณ์เล็กๆ น้อยๆ เพราะเดี๋ยวได้ยินเสียงแล้ว เดี๋ยวคิดนึก สลับกันไปเรื่อยๆ แต่มหัคคตกุศลจะไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากสภาพของจิตที่เป็นกุศลที่สงบที่ตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งนานเท่าที่สามารถจะตั้งมั่นอยู่ได้ จากขณะจิตเดียวซึ่งเป็นขณะที่เกิดครั้งแรก จนกระทั่งเพิ่มขึ้นเป็นหลายๆ ขณะ จนเป็นชั่วโมง จนเป็นวัน

คนที่ไม่มีปัญญา ได้รับคำบอกเล่าว่าให้มานั่ง ระหว่างที่เดินไปนั่ง ปัญญา ก็ไม่เกิด นั่งขัดสมาธิ มือขวาทับมือซ้าย ปัญญาก็ไม่เกิด และระหว่างนั้นที่กำลัง จดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ปัญญาก็ไม่เกิด เมื่อไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์ จึงไม่มีทางที่จะถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นมหัคคตจิตได้

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้อ่าน หรือรู้ว่าอารมณ์ใดทำให้จิตสงบ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ก็ไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์

ผู้ที่ชอบทำอานาปานสมาธิ ไม่ใช้คำว่า อานาปานสติ เพราะอานาปานสติ ต้องเป็นกุศล และต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงแต่ต้องการให้สมาธิจดจ้องตั้งอยู่ที่ลมหายใจ โดยไม่มีความรู้ในเรื่องของจิตที่สงบและทางที่จะทำให้จิตสงบจริงๆ ที่เป็นกุศล ผลคือความผิดปกติ จนกระทั่งถึงความไม่รู้สึกตัว แต่เมื่อตื่นขึ้น ก็สำคัญว่าในขณะนั้นเป็นฌานจิต

เปิด  233
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565