แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1347

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๗


บุคคลที่ ๔ ไม่ได้ฌานเลย สำคัญว่าเราได้กัมมัฏฐาน คือ สำคัญสิ่งที่ไม่ใช่กัมมัฏฐานนั่นแหละว่าเป็นกัมมัฏฐาน ดังนี้

ในที่นี้ ชน ๒ จำพวกไม่ได้ฌานอย่างนี้นั่นแหละ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ฌายี (ผู้เข้าฌาน) เพราะความที่ชนเหล่านั้นเข้าไปเพ่งภายในเช่นกับผู้ได้ฌานทั้งหลาย

ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ ดูเหมือนเป็นผู้ที่ได้ฌาน เพราะ ชนเหล่านั้นเข้าไปเพ่งภายในเช่นกับผู้ได้ฌานทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ก็ตามแต่ ใช้คำอะไรก็ได้ แต่สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา อย่าเพียงทำสมาธิโดยต้องการจะทำ แต่ไม่เข้าใจว่าสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร และลักษณะของจิตที่เป็นกุศลที่สงบต่างจากจิตที่เป็นอกุศลอย่างไร ถ้าขั้นต้นยังไม่ทราบ กุศลจิตจะเจริญจนกระทั่งถึงขั้นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิไม่ได้

บางท่านคงเคยทำอานาปานสมาธิ แต่ด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ แม้แต่ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า จิตที่สงบขณะไหน จิตที่ไม่สงบขณะไหน

นี่เป็นเรื่องของโลภมูลจิตในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีมากจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาเรื่องโลภมูลจิตแล้ว ควรที่จะวิเคราะห์โลภมูลจิตในชีวิตประจำวันเพื่อให้รู้ว่า แม้เพียงคำเล็กๆ น้อยๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ก็เกื้อกูลให้รู้จักสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ได้ละเอียดและถูกต้องขึ้น

วันนี้ท่านผู้ฟังเห็นโลภะของตนเองบ้างหรือยัง

เรื่องของโลภมูลจิต ๘ ดวง เกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่วันนี้เอง ได้รู้ลักษณะของโลภมูลจิตที่เกิดขึ้นบ้างไหม ซึ่งความจริงมากมายตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เพราะวันหนึ่งๆ กุศลเกิดน้อยกว่าอกุศล และอกุศลประเภทโลภะก็มีปัจจัยที่จะเกิดอยู่ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้าได้พิจารณาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ จะเตือนให้รู้ลักษณะของ โลภมูลจิตซึ่งมีมากที่จะก่อให้เกิดภพชาติต่อๆ ไปในสังสารวัฏฏ์อีกมาก เพราะการที่จะดับขันธ์หรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ให้เกิดอีก มีทางเดียว คือ ดับฉันทราคะในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งรูปขันธ์ ทั้งเวทนาขันธ์ ทั้งสัญญาขันธ์ ทั้งสังขารขันธ์ ทั้งวิญญาณขันธ์

ถ้ายังไม่ได้คลายหรือเบาบางลง ก็คิดถึงจำนวนของชาติข้างหน้าซึ่งต้องมีอีกต่อไป เพราะความพอใจในรูปก็ยังเต็ม อีกทั้งความพอใจในเสียง ความพอใจในกลิ่น ความพอใจในรส ความพอใจในโผฏฐัพพะ ความพอใจในเรื่องราวต่างๆ ในวันหนึ่งๆ และสังสารวัฏฏ์ข้างหน้าจะหมดสิ้นไปได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่ได้ดับฉันทราคะในขันธ์ทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ควรที่จะได้พิจารณาหรือวิเคราะห์ลักษณะของ โลภมูลจิตที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๗ สูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

ความโลภมาก ชื่อว่ามหิจฉตา

คำว่า อิจฉา เป็นลักษณะของโลภะ ความติด ความพอใจ เพราะฉะนั้น ความอิจฉาอย่างมาก คือ มหิจฉตา ได้แก่ ความโลภมาก

ก่อนศึกษาธรรม บางท่านกล่าวว่าท่านไม่โลภ แสดงให้เห็นว่า แม้โลภมูลจิตเกิดก็ไม่รู้ว่าเป็นโลภมูลจิตจึงได้กล่าวว่าไม่โลภ แต่ที่จริงแล้วในวันหนึ่งๆ เห็นโลภะน้อย เพราะโลภะมีหลายระดับขั้น ถ้าไม่ใช่มหิจฉตาคือความโลภมาก ก็เป็นความ โลภธรรมดาๆ ที่ชินตั้งแต่เกิด โลภทางตาก็อยากเห็น ทางหูก็อยากได้ยิน เปิดวิทยุ ฟังเพลงบ้าง ฟังอะไรๆ บ้าง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จนกระทั่งเป็นชีวิตที่ติดกับ โลภะ แยกไม่ได้ ขาดโลภะไม่ได้ จึงดูเหมือนกับว่าเป็นธรรมดา เหมือนกับว่าไม่ใช่โลภะ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

แต่ขณะใดที่รู้สึกว่าโลภเกิดขึ้น คือ ความพอใจหรือความยินดีนั้นมีกำลังขึ้น ในวันหนึ่งๆ ก็จะได้เห็นว่าขณะนี้กำลังโลภ แต่ถ้ายังไม่มีกำลังถึงขั้นนั้นก็ไม่รู้สึกตัวเลยว่า มีโลภะอยู่ตลอด ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะคิดนึกเรื่องอะไรที่เป็นปกติประจำวันจริงๆ ซึ่งทุกคนต้องคิด ขณะที่คิดนั้นก็คือ โลภมูลจิตที่คิด แต่ใครจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตถ้าไม่มีกำลัง แต่ถ้าขณะใดก็ตามที่มีกำลังขึ้นจนปรากฏ ขณะนั้นเป็น มหิจฉตา ทำให้รู้ได้ว่าขณะนั้นมีโลภะ

วันนี้อยากได้อะไรหรือเปล่า ถ้าวันนี้ไม่อยากได้ มีโลภะหรือเปล่า มี แต่ไม่ใช่ โลภะที่มีกำลังที่เป็นมหิจฉตา ซึ่งทำให้รู้ว่าเป็นโลภะ

และถ้าอยากได้ บางคนต้องซื้อ ต้องหามาเป็นของตนให้ได้ ในขณะนั้นรู้หรือเปล่าว่าเป็นโลภะขั้นไหน ขั้นที่ต้องการ ขั้นที่อยากได้มาเป็นของตน เพราะฉะนั้น ลักษณะของโลภะขั้นนั้นบางคนก็ชิน เห็นอะไรก็อยากได้ ซื้อมาทั้งนั้น แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ จะรู้ว่า ในขณะนั้น คือ มหิจฉตา มีกำลังของโลภะที่ปรากฏทำให้เป็นความ โลภมาก ไม่สามารถที่จะไม่ซื้อหามาได้

ข้อความใน อรรถกถา สูตรที่ ๒ มีว่า

คำใดที่ท่านมุ่งหมายกล่าวไว้ว่า ในบรรดาความโลภนั้น ความมักมาก คือ มหิจฉตา เป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีความปรารถนายิ่งๆ ขึ้นไปของภิกษุผู้ไม่มี ความพอใจด้วยบริขาร คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัช หรือด้วยกามคุณ ๕ ความปรารถนา ความเป็นผู้มีความปรารถนา ความเป็นคนมักมากเห็นปานนี้ใด ความยินดียิ่งของจิตนี้ ท่านเรียกว่า มหิจฉตา

พระผู้มีพระภาคกล่าวถึงพระภิกษุซึ่งสละแล้วจากการเพลิดเพลินไปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่แม้กระนั้นก็ยังมีความโลภมากขณะใดที่ไม่พอใจด้วยบริขาร คือ จีวร ซึ่งควรจะตามมีตามได้ แต่ยังอยากจะได้ชนิดอื่น อย่างอื่น ลักษณะอื่น ลักษณะของความปรารถนาที่มีกำลัง ไม่ใช่ปกติที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ขณะนั้นเป็นลักษณะของมหิจฉตา

แม้ในเรื่องของบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัช หรือกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ชีวิตของคฤหัสถ์ ลองเทียบดู มีสิ่งซึ่งเกินกว่าจีวร ทุกๆ อย่างที่อยากจะได้ ขณะใดที่อยากจะได้เสื้อผ้าชนิดใด ขณะนั้นคือ มหิจฉตา

ทุกท่านคงจะมีพอ แต่ไม่รู้สึกพอ คือ ยังต้องการ ยังอยากจะได้ขณะใด ขณะนั้นเป็นความปรารถนาที่มีกำลัง หรือว่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว ต้องหามาอีก ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขตกแต่งใหม่อีก ขณะนั้นก็คือลักษณะของชีวิตประจำวันซึ่งเป็น มหิจฉตาทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับมหิจฉตา คือ อัปปิจฉตา ความ ไม่โลภ ที่จะรู้สึกว่าพอแล้วๆ มีบ้างไหมในชีวิตประจำวัน ถ้าเห็นเสื้อผ้าก็พอแล้วๆ ในวันหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามแต่ เครื่องใช้ทุกสิ่งทุกอย่าง

ถ้าไม่รู้ลักษณะของโลภะ อาจจะกล่าวว่าไม่มีโลภะ แต่ถ้ารู้แล้วจะเห็นได้ว่า โลภะที่ไม่ใช่มหิจฉตาก็มี และโลภะที่เป็นขั้นมักมาก มีความปรารถนามากนั้นก็เป็นมหิจฉตา

ต่อไปนี้ทุกท่านคงจะวิเคราะห์โลภมูลจิตในชีวิตประจำวันของท่านเองได้ว่า มีประเภทไหนบ้าง เป็นมหิจฉตาในวันหนึ่งกี่ครั้ง ในเรื่องอะไรบ้าง

สูตรที่ ๓ แสดงลักษณะของมหิจฉตาว่า

ก็ความเป็นผู้ประกาศคุณที่ตนมีอยู่ ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการรับ ชื่อว่าความเป็นผู้มักมาก

มหิจฉตาไม่ใช่เพียงแต่ต้องการอยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่รวมไปถึง ความเป็นผู้ประกาศคุณที่ตนมีอยู่ แม้ว่าจะเป็นผู้มีคุณความดี คือ เป็นผู้มีศรัทธา หรือมีศีล หรือมีสุตะ มีจาคะ มีปัญญา แต่การประกาศคุณที่ตนมีอยู่ เป็นลักษณะของมหิจฉตา ความมักมาก

เพราะฉะนั้น โลภะไม่หยุด ถ้าสะสมไปจะทำให้พอใจในสิ่งนั้นบ้างสิ่งนี้บ้าง แม้แต่คุณที่มีอยู่ก็ยังต้องการให้คนอื่นรู้ ขณะนั้นให้ทราบว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ นั่นคือ มหิจฉตา มาแล้วโลภะ ซึ่งเป็นความปรารถนาที่มาก

ข้อความในอรรถกถามีว่า

บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ขอผู้อื่นจงรู้เราว่า เป็นผู้มีศรัทธา

ต้องอยากให้คนอื่นรู้ด้วยในความมีศรัทธาของตน

บุคคลบางคนเป็นผู้มีศีลก็ปรารถนาว่า ขอผู้อื่นจงรู้เราว่าเป็นผู้มีศีล บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มักมากนั้น เป็นผู้ให้เต็มได้ยาก เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวคำนั้นว่า กองไฟ ๑ มหาสมุทร ๑ แม้คนมีความมักมาก ๑ บุคคลแม้ให้ปัจจัยด้วยเกวียน ก็ไม่อาจจะให้สิ่งทั้ง ๓ ประการนั้นพึงพอใจได้ ดังนี้

ไม่ว่าจะใส่อะไรลงไปในกองไฟ กองไฟก็รับได้หมด แม้มหาสมุทรและ คนมักมากก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่พอ เมื่อวานนี้พอหรือเปล่า ไม่พอ วันนี้พอหรือยัง พรุ่งนี้ต่อไป ไม่มีวันเต็ม เพราะฉะนั้น ลักษณะของผู้ที่มักมาก คือ เป็นผู้ที่ไม่พอ

สำหรับโลภะที่มีกำลังขึ้นอีก คือ อัตริจฉตา ชีวิตประจำวันอีกเหมือนกัน เป็นความปรารถนาที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะรู้ได้ คือ

เมื่อลาภของตนเป็นไปอยู่ ความปรารถนาในลาภของบุคคลอื่น ชื่อว่า อัตริจฉตา

ไม่ได้พอใจเฉพาะสิ่งที่ตนมี ยังอยากได้ของคนอื่นด้วย นั่นคือลักษณะของ อัตริจฉตา ถ้าใครเคยมีอัตริจฉตาและไม่รู้ว่าเป็นโลภะที่มีกำลังแรงขึ้น ให้ทราบว่า ต่อไปนี้ถ้ายังมีความปรารถนาที่จะได้ของของคนอื่น ในขณะนั้นเป็นโลภะที่มีกำลังมากกว่ามหิจฉตา

สำหรับอีกขั้นหนึ่ง คือ ปาปิจฉตา ความปรารถนาที่แรงขึ้นถึงขั้นเป็นความปรารถนาลามก คือ การประกาศคุณอันไม่มีอยู่ และความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการรับ

มหิจฉตาเป็นความต้องการให้คนอื่นรู้คุณซึ่งตนมี แต่ปาปิจฉตา การประกาศคุณอันไม่มีอยู่ ลักษณะของปาปิจฉตา คือ

บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมปรารถนาว่า ผู้อื่นจงรู้ซึ่งเราว่าเป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้ไม่มีศีล ไม่มีสุตะ ไม่มีจาคะ ไม่มีปัญญา แต่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นรู้ว่า เราเป็นผู้มีศีล มีสุตะ มีจาคะ มีปัญญา

เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นความปรารถนาลามก เพราะไม่มีในตน แต่ก็ยังปรารถนาให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีคุณนั้นๆ

บุคคลผู้ประกอบด้วยความปรารถนาลามกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในความหลอกลวง

เพราะฉะนั้น กว่าจะดับกิเลสของตนเองได้ ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงทุกอย่าง เพราะที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเรา แท้ที่จริงคือการสะสมของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ถ้าสะสมโลภะมามีกำลังที่จะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็จะยินดีในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข จนกระทั่งสามารถที่จะหลอกลวง หรือกระทำทุจริตต่างๆ ได้

ถ้าเห็นว่ากิเลสมีมากมายอย่างนี้ คิดว่าจะดับกิเลสได้อย่างรวดเร็วไหม

โลภะมีทั้งมหิจฉตา อัตริจฉตา ปาปิจฉตา ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้จริงๆ ว่า ใครจะดับโลภะได้ถ้าปราศจากปัญญาตามลำดับขั้น และปัญญาขั้นต้นก็ไม่ใช่ดับโลภะได้ทั้งหมด เพียงแต่ดับโลภะที่ยินดีในความเห็นผิดเท่านั้นเอง ยังไม่สามารถดับโลภะที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้

เพราะฉะนั้น คิดถึงสังสารวัฏฏ์ข้างหน้า ขณะนี้โลภะวันนี้มีเท่าไร ภพชาติข้างหน้าก็จะมีเท่านั้น ใครที่จะรีบร้อนดับภพดับชาติ ดับกิเลสเร็วๆ ก็เพราะไม่รู้ ตามความเป็นจริง แต่ถ้ารู้ตามความเป็นจริงจะรู้ได้ว่า การที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ต้องเป็นปัญญาที่อบรมเจริญจนกระทั่งรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

วันหนึ่งๆ ที่ได้ฟังพระธรรม และเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งจุดประสงค์ของการฟังลืมไม่ได้เลยว่า เพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่ศึกษาเพื่อจะเก่ง หรือไม่ใช่ศึกษาเพราะเหตุอื่น แต่ศึกษาเพื่อปฏิบัติตาม ถ้าศึกษาแต่ไม่ปฏิบัติตาม จะไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม

และที่จะรู้ว่าเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ต้องเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยลงๆ ซึ่งการน้อยลงๆ อย่าคิดว่า พรุ่งนี้น้อยแล้ว เป็นไปไม่ได้ ที่ว่าน้อยลง เมื่อเทียบกับการสะสมซึ่งมีมายาวนานในสังสารวัฏฏ์และในขณะนี้ จะเห็นได้ว่า ที่ว่าน้อยลง ต้องน้อยจนเกือบจะสังเกตไม่ได้เลย

ที่จะรู้ว่าเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยลง ลองพิจารณาว่า สำหรับลักษณะของ ผู้มีความปรารถนาน้อย คือ

ปกปิดคุณที่มีอยู่ และเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับ

ท่านที่เป็นผู้ที่มีคุณความดีและไม่เปิดเผย ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าว แสดง หรืออวดอ้างให้บุคคลอื่นรู้ ขณะนั้นแสดงว่า เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย

บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยนั้นเป็นผู้มีศรัทธา ก็ไม่มีความปรารถนาว่า ผู้อื่นจงรู้เราว่าเป็นผู้มีศรัทธา เพราะประสงค์จะปกปิดคุณอันมีอยู่ในตน เป็นผู้มีศีล มีความสงัด เป็นพหูสูต เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ เป็นผู้มีปัญญา เป็นพระขีณาสพ ก็ไม่ปรารถนาว่า ขอผู้อื่นจงรู้เราว่า เป็นพระขีณาสพ

เปิด  262
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565