แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1348

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๗


สำหรับความเป็นผู้รู้จักประมาณในการรับ ต้องเป็นเพราะเป็นผู้ที่มีปรารถนาน้อย เพราะบางคนรับเท่าไรก็ไม่พอ ให้เท่าไรก็รับทั้งหมด แต่ถ้าเป็นผู้ที่ความปรารถนาน้อย สำหรับพระภิกษุมีข้อความแสดงว่า

ถ้าไทยธรรมมีมาก ทายกประสงค์จะถวายน้อย ภิกษุนั้นย่อมถือเอาแต่น้อย ด้วยสามารถของทายก

บางคนอาจจะเป็นเศรษฐีมั่งมีมาก แต่มีศรัทธาเล็กน้อยที่จะให้เพียงเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรับก็รับเพียงเท่าที่ศรัทธาของทายก ไม่ใช่หวังมาก หรือขอมาก หรือต้องการมากเกินกำลังศรัทธาของทายก

ถ้าไทยธรรมมีน้อย ทายกปรารถนาจะถวายมาก ภิกษุนั้นย่อมถือเอาแต่น้อย

ถึงแม้ว่าทายกปรารถนาจะถวายมากก็จริง แต่ว่าไทยธรรมมีน้อย ภิกษุนั้นย่อมถือเอาแต่น้อย ด้วยสามารถแห่งไทยธรรม คือ จะต้องรู้กำลังของผู้ให้ด้วย เพราะผู้ให้บางท่านอาจจะมีศรัทธามาก แต่มีไทยธรรมน้อย เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำให้เขาเดือดร้อนลำบาก ก็ควรรับแต่เพียงน้อยเพื่อไม่ให้เขาเดือดร้อนลำบาก ด้วยสามารถแห่งไทยธรรม

แต่ถ้าไทยธรรมก็มีมาก แม้ทายกก็ปรารถนาจะถวายมาก ภิกษุนั้นทราบกำลังของตนแล้ว ย่อมถือเอาแต่พอประมาณนั่นเทียว

ถึงแม้ของจะมีมาก ศรัทธาของทายกก็มีมาก แต่ผู้รับต้องทราบกำลังของตน และถือเอาแต่พอประมาณ คือ ไม่ให้เสียของ ไม่ใช่รับไปแล้วไม่ได้ทำประโยชน์เต็มที่ตามที่สมควร

เป็นชีวิตประจำวันที่ให้เห็นตามความเป็นจริง เรื่องของโลภะ ถ้ามีมากจะทำให้เกิดความปรารถนาลามกและทุจริตต่างๆ ซึ่งข้อความใน สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส วรรณนาติกนิทเทส วิสมนิทเทส อธิบายความทำให้ ไม่สม่ำเสมอ คือ กิเลส

ทุกคนหวั่นไหวไปตามกิเลส แล้วแต่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทใด มากบ้าง น้อยบ้าง ทำให้เป็นผู้ที่ไม่สม่ำเสมอ

ความหมายของสะดุด คือ

ก็เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมสะดุดในกิเลสทั้งหลาย มีราคะ เป็นต้น และ ในทุจริตทั้งหลาย มีกายทุจริต เป็นต้น ก็แลสัตว์ทั้งหลายสะดุดพลาดไปแล้ว ย่อมตกไปจากพระพุทธศาสนาบ้าง จากสุคติบ้าง

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ความไม่สม่ำเสมอ คือ ราคะ เป็นต้น เพราะการสะดุดและตกไปเป็นเหตุ

ถ้าจะเปรียบชีวิตในแต่ละวัน ก็คือการเดินไปตามทางต่างๆ จะเป็นมิจฉามรรคหรือสัมมามรรคก็แล้วแต่ และวันหนึ่งๆ สะดุดอะไรบ้างหรือเปล่าในขณะที่เดิน พวกเท้าไม่ดีอาจจะบอกว่าสะดุดมากทางกาย แต่ความจริงทางใจสะดุดในกิเลสทั้งหลาย มีราคะ เป็นต้น และในทุจริตทั้งหลาย ขณะใดที่มีกายทุจริต หรือวจีทุจริต ให้ทราบว่า ในขณะนั้นสะดุดในกิเลส

สะดุด คือ ทำให้ตกหรือทำให้พลาดจากพระพุทธศาสนาบ้าง จากสุคติบ้าง

เพราะฉะนั้น น่าที่จะพิจารณาชีวิตของแต่ละท่านจริงๆ ให้เป็นผู้ที่สะอาด ให้เป็นผู้ที่มีกายสุจริต พร้อมกันนั้นเป็นผู้ตรงที่จะรู้สภาพธรรมที่สะสมมาในสังสารวัฏฏ์ที่ทำให้เป็นบุคคลต่างๆ กัน นอกจากจะเห็นว่าเป็นโทษเป็นภัยแล้ว ควรที่จะมีความประสงค์ มีหิริ มีความละอายเกิดขึ้นที่จะขัดเกลาละคลายอกุศลแต่ละอย่างนั้นให้ เบาบาง อย่าเห็นว่าไม่เป็นโทษไม่เป็นภัย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่มีวันที่จะตั้งต้น ละคลายอกุศลทั้งหลายได้

ควรที่จะเข้าใจอกุศลว่าเป็นอกุศลตามความเป็นจริง และถ้าเป็นอกุศลที่มีกำลังถึงกับสะดุด คือ ทำให้เกิดกายทุจริต หรือวจีทุจริต จะต้องพิจารณาว่า ควรเกิดหิริ นอกจากนั้นต้องเป็นผู้ที่มีกุศลจิตที่ใคร่จะขัดเกลาอกุศลนั้นๆ ซึ่งเป็นการยาก ถ้าได้สะสมมาในสังสารวัฏฏ์แสนนาน และจะให้หมดสิ้นไปในวันเดียว สองวัน เดือนหนึ่ง ชาติหนึ่ง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเกิดหิริ ความละอายขึ้น เห็นว่าเป็นอกุศล และรู้ว่าอกุศลที่ได้สะสมมาไม่ได้หมดไปโดยเร็วแน่ แต่ย่อมหมดได้ถ้ามีความเพียร และมีกุศลเจตนาจริงๆ ที่จะขัดเกลา แต่ต้องเกิดหิริโอตตัปปะก่อน มิฉะนั้นจะไม่เห็นว่า อกุศลต่างๆ เหล่านั้นเป็นโทษเป็นภัย

สำหรับอกุศลที่สะสมไว้มาก โลภมูลจิต ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในลาภ ในยศ ในสักการะ ในสรรเสริญ ในสุข เป็นเหตุให้เกิดความอาฆาตพยาบาทได้ ให้เห็นกำลังของความปรารถนาว่า เป็นชีวิตประจำวัน ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดความอาฆาตพยาบาทที่รุนแรงได้ ดังภิกษุที่ชื่อว่าโกกาลิกะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก ฯ

แม้พระผู้มีพระภาคจะตรัสอย่างนี้ โกกาลิกภิกษุก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ เป็นผู้มีพระพุทธพจน์อันข้าพระองค์พึงเชื่อถือได้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะก็เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก พระเจ้าข้า

แม้พระผู้มีพระภาคจะตรัสห้ามภิกษุโกกาลิกะว่าอย่ากล่าวอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง ภิกษุโกกาลิกะก็ยังกราบทูลเหมือนเดิม

แล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป

มูลเหตุที่ภิกษุโกกาลิกะกล่าวเช่นนี้ และมีความอาฆาตพยาบาทในท่าน พระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะถึงอย่างนี้ ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา ทสกนิบาต โกกาลิกสูตร ข้อความโดยย่อมีว่า

โกกาลิกภิกษุนี้ เป็นบุตรของโกกาลิกเศรษฐีในนครโกกาลิกะ รัฐโกกาลิกะ บวชแล้วอยู่ประจำในวิหารที่บิดาสร้างไว้ เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี พระอัครสาวกทั้งสอง คือ ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะจาริกไปในชนบทพร้อมกับภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป เมื่อวันใกล้เข้าพรรษา ท่านประสงค์จะอยู่อย่างวิเวกจึงส่งภิกษุเหล่านั้นกลับไป ตนเองถือบาตรและจีวรถึงนครนั้น ในชนบทนั้น ครั้นถึงวิหารนั้น ก็ไปวิหารนั้น

ในวิหารนั้น พระโกกาลิกะทำวัตรปฏิบัติแก่พระอัครสาวกทั้งสองนั้น ท่าน พระอัครสาวกก็สัมโมทนากับพระโกกาลิกะนั้น แล้วรับคำว่า

ผู้มีอายุ เราจะอยู่ที่นี่ ๓ เดือน ท่านอย่าบอกเรื่องของเราแก่ใครๆ

นี่คือผู้มีความปรารถนาน้อย คือ ไม่ต้องการให้ใครทราบว่า ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั่น และท่านก็ได้อยู่จำพรรษาที่นั่น

ครั้นจำพรรษาแล้วก็ปวารณา ในวันปวารณาก็บอกลาโกกาลิกภิกษุว่า

ผู้มีอายุ เราจะไปละ

โกกาลิกภิกษุกล่าวว่า

ผู้มีอายุ วันนี้อยู่เสียอีกวันหนึ่ง พรุ่งนี้ค่อยไป

วันรุ่งขึ้น พระโกกาลิกะเข้าไปในพระนคร แล้วบอกผู้คนทั้งหลายว่า

ผู้มีอายุ ท่านไม่รู้กันหรอกหรือว่า ท่านพระอัครสาวกทั้งสองมาอยู่ในที่นี้ ใครๆ จะไม่นิมนต์ท่านด้วยปัจจัยบ้างหรือ

คิดถึงเรื่องปัจจัย

ซึ่งชาวพระนครก็กล่าวว่า

ท่านเจ้าข้า พระเถระอยู่ไหนเล่า เหตุใดท่านจึงไม่บอกพวกเรา

โกกาลิกภิกษุก็ได้กล่าวว่า

ผู้มีอายุ จะต้องบอกทำไม พวกท่านไม่เห็นพระเถระ ๒ รูป นั่งอยู่เหนือ เถระอาสนะดอกหรือ นั่นแหละพระอัครสาวก

ชาวพระนครเหล่านั้นก็ได้รีบเร่งประชุมรวบรวมเนยใส น้ำผึ้ง เป็นต้น และ ผ้าทำจีวรทั้งหลาย ซึ่งโกกาลิกภิกษุก็คิดว่า ท่านพระอัครสาวกมีความมักน้อยอย่างยิ่ง จะไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นด้วยปยุตตวาจา (คือ วาจาที่พูดเลียบเคียง) พระโกกาลิกะก็คิดต่อไปว่า เมื่อพระอัครสาวกทั้งสองไม่ยินดีในลาภปัจจัยนั้น ก็จะบอกให้ให้แก่ภิกษุประจำวัด

คิดหวังจะได้ลาภจากพวกชาวพระนครที่นำมาถวายแก่ท่านพระอัครสาวก ทั้งสอง

เมื่อพระโกกาลิกะคิดอย่างนี้ ก็ได้ให้เขาถือลาภนั้นไปยังสำนักพระเถระ พระเถระเห็น แล้วก็ปฏิเสธว่า ปัจจัยไม่สมควรแก่เรา ทั้งไม่สมควรแก่โกกาลิกภิกษุ ดังนี้ แล้วก็ไป

ท่านโกกาลิกภิกษุเกิดความอาฆาตว่า เมื่อพระอัครสาวกไม่รับ ก็ทำไมไม่ให้แก่ท่าน ทำไมบอกว่า ปัจจัยไม่สมควรแก่เรา ทั้งไม่สมควรแก่โกกาลิกภิกษุ

พระอัครสาวกทั้งสองแม้นั้นมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วก็พาบริษัทของตนจาริกไปในชนบทอีก และได้กลับไปยังนครนั้นอีกในรัฐนั้นนั่นแหละตามลำดับ คราวนี้พวกชาวเมืองจำพระเถระได้ ได้จัดแจงทานพร้อมทั้งบริขาร สร้างมณฑปกลางพระนคร ถวายทาน แล้วน้อมบริขารถวายพระเถระ พระเถระก็มอบแก่ภิกษุสงฆ์

คราวนี้ชาวเมืองจำได้เอง ไม่ได้มีใครไปบอก

พระโกกาลิกะเห็นดังนั้นก็คิดว่า พระอัครสาวกนี้แต่ก่อนเป็นผู้มักน้อย บัดนี้กลายเป็นผู้มีความปรารถนาเลว ชะรอยเมื่อก่อนจะทำทีว่ามักน้อย สันโดษ และสงัด จึงเข้าไปหาพระเถระกล่าวว่า

ผู้มีอายุ พวกท่านแต่ก่อนทำเหมือนว่ามักน้อย แต่บัดนี้กลายเป็นภิกษุชั่วไปเสียแล้ว

คิดว่า จำเราจะทำลายที่พึ่งของพระเถระเหล่านั้นที่ต้นตอ จึงรีบออกไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ก็โกกาลิกภิกษุนี่แหละพึงทราบว่า เข้าไปเฝ้าด้วยเหตุนี้

มีจุดประสงค์จะไปทำลายพระสาวกทั้งสอง โดยให้พระผู้มีพระภาคทราบว่า พระอัครสาวกทั้งสองเป็นผู้ที่มีความปรารถนามาก เป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก

พระผู้มีพระภาคเห็นโกกาลิกภิกษุนั้นรีบร้อนมา ทรงพิจารณาอยู่ทราบว่า ภิกษุนี้มาเพื่อประสงค์จะด่าพระอัครสาวก เราจะห้ามได้ไหม ทรงเห็นว่าห้ามไม่ได้ เธอทำผิดในพระเถระทั้งสองมาแล้ว จักบังเกิดในปทุมนรกโดยส่วนเดียว

ปทุมนรก คือ ที่แห่งหนึ่งในอเวจีมหานรก

ทรงห้ามถึง ๓ ครั้งว่า อย่าพูดอย่างนี้เลย เพื่อทรงเปลื้องวาทะที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโกกาลิกภิกษุติเตียนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะแล้วก็ยังไม่ทรงห้าม และเพื่อจะทรงแสดงว่า อริยุปวาทะมีโทษมาก

ถ้าไม่ทรงห้ามคนอื่นจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบ หรือเมื่อทรงทราบแล้วทำไมไม่ทรงห้าม แต่ใครจะห้ามได้ เพราะทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง แต่โกกาลิกภิกษุสะสมเหตุปัจจัยในความพอใจในลาภสักการะจนกระทั่งสามารถที่จะเห็นว่า พระอัครสาวกทั้ง ๒ เป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก เป็นผู้ที่มีความปรารถนามาก

ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อโกกาลิกภิกษุหลีกไปแล้วไม่นาน ร่างกายมีตุ่มเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วตัว ตุ่มเหล่านั้นเท่าเมล็ดถั่วเขียว แล้วก็โตเท่าเมล็ดถั่วดำ แล้วก็โตเท่าเมล็ดพุทรา แล้วก็โตเท่าเมล็ดกระเบา แล้วก็โตเท่าผลมะขามป้อม แล้วก็โตเท่าผลมะตูมอ่อน แล้วก็โตเท่าผลมะตูมแก่ แล้วจึงแตก หนองและเลือดหลั่งไหลออก ได้ยินว่า โกกาลิกภิกษุนั้นนอนบนใบตองกล้วย เหมือนปลากินยาพิษ

ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

ต่อมทั้งหลายเกิดขึ้นที่ร่างกายของโกกาลิกภิกษุทั่วตัว ไม่เว้นโอกาสเพียงปลายผม

ไม่เหลือเลย เพราะเหตุว่า ต่อมทั้งหมดชำแรกกระดูกผุดขึ้นเต็มไป ก็เพราะเหตุที่กรรมเห็นปานนั้นไม่อาจให้วิบากเฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย พุทธานุภาพ ก็ย่อมให้ผลเมื่อพอพ้นอุปจารที่เฝ้า ฉะนั้น ต่อมทั้งหลายจึงผุดขึ้นเมื่อ โกกาลิกภิกษุนั้นหลีกไปไม่นาน

ข้อความในอรรถกถามีว่า

ครั้งนั้น ผู้คนทั้งหลายที่มาฟังธรรมก็พากันพูดว่า โกกาลิกะทำไม่ถูกเลย อาศัยปากของตนอย่างเดียวก็ถึงความย่อยยับ อารักขเทพยดาทั้งหลายฟังเสียงของผู้คนเหล่านั้นก็ได้กระทำเสียงตำหนิเหมือนกัน อากาศเทวดาฟังอารักขเทวดาก็ตำหนิดังนั้นเหมือนกัน เหตุนั้นจึงเกิดเสียงตำหนิเป็นอันเดียวกันโดยอุบายอย่างนี้จนถึง อกนิฏฐภพ ซึ่งพระอุปัชฌาย์ของโกกาลิกภิกษุ คือ ตุทิเถระ บรรลุอนาคามิผล บังเกิดในพรหมโลก ท่านได้ยินเสียงตำหนิตั้งแต่ภุมมัฏฐกเทวดา ต่อๆ กันไปจนถึงพรหมโลกที่ท่านโกกาลิกภิกษุกล่าวตู่พระอัครสาวก ซึ่งเป็นการกระทำกรรมที่ไม่ถูก ตุทิพรหมก็สงสารคิดว่า เมื่อท่านยังเห็นโกกาลิกภิกษุอยู่ ก็จงอย่าให้โกกาลิกภิกษุพินาศไปเสียเลย จำเราจะสั่งสอนเขาเพื่อให้จิตเลื่อมใสในพระอัครสาวกทั้งสอง ดังนี้ ก็ได้ไปยืนอยู่ตรงหน้าโกกาลิกภิกษุนั้น ซึ่งท่านก็กล่าวตักเตือนให้ภิกษุโกกาลิกะเลื่อมใสในท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ แต่โกกาลิกภิกษุไม่เชื่อ แม้ว่ากำลังได้รับผลของกรรมอย่างนั้น

ครั้งนั้น ตุทิปัจเจกพรหมได้กล่าวกะโกกาลิกะภิกษุด้วยคาถาว่า

ผรุสวาจาเพียงดังจอบ ซึ่งเป็นเครื่องตัดทอนตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว ย่อมเกิดขึ้นที่ปากของบุคคลผู้เป็นบุรุษพาล ผู้ใดสรรเสริญผู้ที่ควรติเตียน หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าสะสมโทษไว้ด้วยปาก ย่อมไม่ประสบความสุขเพราะโทษนั้น ฯ

การปราชัยด้วยทรัพย์ในการเล่นการพนันด้วยตนเองจนหมดตัวนี้ เป็นโทษมีประมาณน้อย การที่บุคคลยังใจให้ประทุษร้ายในพระอริยเจ้าผู้ดำเนินดีแล้วนี้ เป็นโทษมากกว่า

บุคคลตั้งวาจาและใจอันเป็นบาป แล้วติเตียนพระอริยะ ย่อมเข้าถึงนรก สิ้นหนึ่งแสนนิรัพพุทกัป อีก ๓๖ นิรัพพุทะ และ ๕ อัพพุทะ ฯ

ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุได้กระทำกาละด้วยอาพาธนั้นเอง แล้วเกิดใน ปทุมนรก เพราะยังจิตให้อาฆาตในท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ

เหตุเล็กนิดเดียว แต่สามารถทำให้ผู้ที่ยังติดในลาภสักการะต่างๆ เกิดในอบายภูมิถึงอเวจีมหานรกได้

ถ. อาจารย์ช่วยแยกความต่างกันของฉันทะที่เจริญกุศล กับฉันทะที่เป็นอกุศล

สุ. ฉันทะเป็นปกิณณกเจตสิก คือ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ กุศลจิตก็ได้ เป็นสภาพธรรมที่พอใจที่จะทำ เพราะฉะนั้น ขณะที่พอใจที่จะทำสิ่งที่เป็นกุศลก็เป็นฉันทะ ขณะที่พอใจในอกุศลก็เป็นฉันทะ เช่น โกกาลิกภิกษุ พอใจที่จะคิดอาฆาตพยาบาทในท่านพระสารีบุตร แม้พระผู้มีพระภาคเองหรือว่าอุปัชฌาย์ของท่านได้มากล่าวตักเตือน และท่านกำลังได้รับผลของกรรมถึงอย่างนั้น ท่านก็ยังพอใจที่จะมีความอาฆาตใน ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ

ถ. บางครั้งแยกได้ง่าย แต่บางครั้งใกล้เคียงกันมาก เช่น ต้องการเจริญกุศล

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องทราบลักษณะของจิต ถ้าจิตเป็นกุศล ขณะนั้นมี ฉันทเจตสิก ไม่ใช่โลภเจตสิก แต่ขณะที่เป็นอกุศลที่เป็นโลภมูลจิต ขณะนั้นมีทั้ง ฉันทเจตสิกและโลภเจตสิกด้วย

ถ. เป็นลักษณะสัมปยุตตธรรม ใช่ไหม

สุ. ใช่

ถ. อีกลักษณะหนึ่ง คือ การละคลายอกุศลธรรม กับวิภวตัณหา จะแยกความแตกต่างอย่างไร

สุ. วิภวตัณหา หมายความถึงความเห็นผิดที่เป็นอุจเฉททิฏฐิ ถือว่า ตายแล้วสูญ เพราะฉะนั้น คนที่มีความเห็นอย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำบุญกุศลใดๆ หรือว่าไม่เกรงกลัวที่จะทำอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะตายแล้วก็สูญ ไม่ต้องรับวิบาก คือ ผลของกรรม

ถ. วิภวตัณหา หมายความถึงอย่างนี้อย่างเดียว ใช่ไหม

สุ. ใช่

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565