แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1349

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๗


เรื่องของการเป็นผิด หรือการประพฤติปฏิบัติผิด เป็นสิ่งที่มีโทษ ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต มิจฉัตตสูตร ได้แสดงถึงผู้ที่เป็นมิจฉัตตะ ๑๐ ซึ่งพลาดจากสวรรค์และมรรคผลว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ จึงมีการพลาดจากสวรรค์และ มรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างไรจึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นผิดย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิดย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิดย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิดย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิดย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิดย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิดย่อมมีความตั้งมั่นผิด ผู้มีความตั้งมั่นผิดย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิดย่อมมีความหลุดพ้นผิด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างนี้แล จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล ฯ

เป็นชีวิตประจำวันที่จะพิจารณาตั้งแต่มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ

น่ากลัวไหม อกุศล เริ่มจากทีละเล็กทีละน้อย ดูไม่น่าเป็นโทษเป็นภัยเลย เพียงความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนก็มี เหมือนๆ กัน แต่ใครจะมีมากจนกระทั่งสามารถมีวาจาที่ผิด หรือมีกายกรรมที่ผิด มีความประพฤติที่ผิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งวันใดถ้ากิเลสเหล่านั้นยังไม่ดับ แต่ละบุคคลก็อาจทำกายกรรมและวจีกรรมที่ผิดอย่างนั้นได้

พยสนสูตร ว่าด้วยความพินาศ ๑๑ อย่าง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ติเตียน พระอริยเจ้า ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความพินาศ ๑๑ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ความพินาศ ๑๑ อย่างเป็นไฉน คือ

ไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ ๑

เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว ๑

สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว ๑

เป็นผู้เข้าใจว่าได้บรรลุในสัทธรรม ๑

เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ๑

ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑

บอกลาสิกขาเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ๑

ถูกต้องโรคอย่างหนัก ๑

ย่อมถึงความเป็นบ้า คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑

เป็นผู้หลงใหลทำกาละ ๑

เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ติเตียน พระอริยเจ้า ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความพินาศ ๑๑ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง

ผู้ฟัง โทษของโมหมูลจิตรู้สึกว่าจะไม่ค่อยเห็น หรือเห็นยาก แต่เห็นโดยเหตุผลจากการศึกษาว่า เป็นมูลเหตุให้เกิดโลภะและโทสะ โทษของโลภะนั้นเห็นง่ายกว่าโมหะหน่อย แต่ก็ยังนับว่ายาก นอกจากจะไม่เห็นแล้วยังรู้สึกนิยมในโลภะด้วย ประเภทที่เพลิดเพลินไปในอารมณ์ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้สึกว่า น่าจะเป็นสุขด้วยซ้ำไป รู้สึกว่าจะละยาก แต่โทสะเห็นง่ายและเป็นที่รังเกียจของ ตัวเราเองด้วย นี่เป็นการสังเกตจากการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

สุ. สัญญา ความจำ ที่ควรเจริญแต่ละข้อๆ เป็นไปเพื่อที่จะกั้นหรือกัน โลภะแต่ละอย่าง เพราะแม้แต่ผู้ที่เริ่มมีสัญญาต่างๆ เช่น อสุภสัญญา มรณสัญญา อาหาเรปฏิกูลสัญญา สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อนิจจสัญญา อนิจเจทุกขสัญญา ทุกเขอนัตตสัญญา เหล่านี้ ก็ยังปรากฏว่า ถ้ายังไม่คุ้น ยังภาวนาไม่ถึงขั้น ก็ต้องมีการหวนกลับไปสู่การสะสมของโลภะซึ่งมีกำลังมากกว่า

ที่กล่าวว่าเป็นสุข เพราะยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เพียงแต่คิดว่า ไม่เที่ยง แต่ที่คิดว่าไม่เที่ยง ก็เที่ยงอยู่นาน ใช่ไหม อย่างที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เที่ยงหรือเปล่า หรือว่าไม่เที่ยงทุกขณะจิต นี่คือสภาพที่ต่างกัน ที่กล่าวว่าไม่เที่ยง ในความรู้สึกก็ยังเหมือนเที่ยงอยู่ชั่วระยะหนึ่งซึ่งนาน เช่น ความรู้สึกเป็นสุข แต่ที่จริงแล้วถ้าประจักษ์ว่า แม้แต่สุขเวทนาที่เกิดขึ้นก็ดับทันที จึงจะสามารถดับกิเลสได้ เมื่อประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมตามความเป็นจริง

เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ เพียงแต่คิดบ้าง พิจารณาบ้าง เข้าใจบ้าง ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้ ก็ยังคงเป็นผู้ที่พอใจในความสุข และเห็นว่าเป็นความสุข เพราะยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของความสุข

ที่กล่าวว่าไม่เที่ยง แต่ในความรู้สึกของทุกท่านก็มีความรู้สึกว่าเที่ยงพอสมควร จึงยังคงเป็นสุขอยู่ ปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะคำว่า ไม่เที่ยง เพียงตามตำรา แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ ก็ยังคงเที่ยงอยู่ชั่วขณะที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่ว่าใครจะ เห็นว่าเที่ยงอยู่ชั่วคราว ระยะยาวนานพอสมควร ลักษณะที่แท้จริงนั้น ก็คือ เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สิ่งซึ่งยึดถือว่าเที่ยงชั่วคราวที่พอใจก็เกิดขึ้นและดับไปเร็วมาก แต่เมื่อไม่ประจักษ์ ก็ยังพอใจในความเที่ยงอยู่ชั่วคราว จนกว่าจะไม่เที่ยงจริงๆ คือ พลัดพรากจากไป ซึ่งต้องมีแน่ๆ เป็นแน่ๆ จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

มีใครซึ่งยังไม่เคยจากอะไรไปเลยสักอย่างบ้างไหม ก็ไม่มี แต่ถ้ามีสิ่งอื่นมาทดแทนก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน ยังคงพอใจในสิ่งใหม่ต่อไป และหาความเพลิดเพลินพอใจในสิ่งใหม่ โดยที่ไม่พอ ไม่พออยู่เรื่อยๆ

ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ผมได้เรียนอาจารย์ถึงการสังเกต หรือการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะโทสะ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นและเป็นที่รังเกียจ ถึงแม้ว่าจะเป็นโทสะที่เบาบาง เช่น ความฟุ้งซ่านหรือความหงุดหงิด ความวิตกกังวลต่างๆ ก็ตาม หรือที่เป็นโทสะแรงๆ เมื่อเกิดขึ้นล่วงมาเป็นทุจริตทางวาจา ก็รังเกียจตัวเอง รังเกียจในอกุศลนั้นด้วยว่าไม่ควรเกิดขึ้น และรู้สึกเสียใจ ไม่อยากให้มีเลย

เมื่อเกิดโทสะขึ้นนั้น ถ้าสติเกิด แทนที่ผมจะพิจารณาธรรมชาติของโทสะ ผมกลับไปพิจารณาทางกายแทน คือ จากการศึกษาทราบว่า เมื่อจิตเป็นโทสะ เป็นอกุศลนั้น ไม่ควรให้อกุศลเจริญ และสิ่งเดียวที่จะยับยั้งไม่ให้อกุศลเจริญ คือ เจริญสติปัฏฐานทันที ซึ่งขณะนั้นถ้าเอาโทสะมาเป็นอารมณ์ รู้สึกจะยากกว่าที่จะเอาทางกาย หรือทางหู มาเป็นอารมณ์ และเห็นผลนิดหน่อย คือ ทำให้สภาพของโทสะหยุดชะงักไปนิดหน่อย

สุ. ขออนุโมทนาที่มีหิริเกิดขึ้น แม้ว่าหลังจากที่วจีทุจริตได้กล่าวไปแล้ว ก็ยังดีที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด และยังพยายามที่จะไม่ให้เกิดขึ้น แต่อย่าเลือกอารมณ์ อย่าพยายามที่จะเอาโทสะนั้นมาเป็นอารมณ์ ถ้าสติจะระลึกทางกาย ก็ให้ทราบว่าเป็นปกติที่สติจะเกิดระลึกที่กาย จนกว่าสติจะระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมอื่นหรือนามธรรมอื่น

แต่อย่ามีความตั้งใจว่า ควรจะระลึกที่โทสะ อย่าคิดอย่างนั้น เพราะนั่นคือลักษณะของตัวตนที่ยังคงจะเลือกอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่า สติยังไม่ชำนาญที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมใดๆ เพราะยังไม่ได้ระลึกจนทั่ว

ถ้าระลึกจนทั่วจริงๆ แม้มีความจงใจเกิดขึ้นในขณะนั้น สติก็ยังรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพจงใจ ไม่ใช่ตัวตน แต่ในขณะที่ระลึกยังไม่ทั่ว เวลาที่จงใจ ก็คือ เราทั้งตัวที่กำลังจงใจ นี่คือความต่างกัน เพราะลักษณะที่ตั้งใจ จงใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตนาเจตสิก

ขณะที่สติระลึกไม่ทั่วและจงใจ ยังมีความเป็นตัวตนเต็มที่ แต่ถ้าสติระลึกไปเรื่อยๆ จะระลึกทางกายบ่อยๆ ไม่ระลึกทางตาเลย ก็บังคับสติไม่ได้ ต้องค่อยๆ อบรมไปจนกว่าจะมีปัจจัยที่สติจะระลึกทางตา หรือระลึกลักษณะของโทสะ หรือระลึกลักษณะของโลภะก็ตามแต่ เมื่อใดเป็นผู้ที่ระลึกรู้จนทั่ว จะไม่เดือดร้อนเลย แม้แต่ลักษณะที่กำลังจงใจ ก็ไม่ใช่ตัวตน

แต่ก่อนที่จะระลึกจนทั่ว อย่าจงใจ ปล่อยให้สติเกิด ระลึกลักษณะของ สภาพธรรมตามที่สติจะระลึกในขณะนั้นและดับไป สั่งสติไม่ได้ว่าให้ระลึกที่โทสะ แล้วแต่สติที่เกิด เพราะถ้าสติไม่เกิด จะไม่มีการระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมใดเลย เพราะฉะนั้น เมื่อสติเกิดเท่านั้นจึงมีการระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมเพียงอย่างเดียวโดยสติเอง ไม่ใช่โดยมีใครไปเจาะจงให้สติระลึกที่นั่น

ถ้ายังมีการคิดว่า เพราะเราเจาะจง ก็ยังเป็นอัตตา ยังเป็นตัวเรา ยังเป็นตัวตนอยู่ ยังไม่สามารถที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ซึ่งเรื่องของตัวตน เป็นเรื่องที่ลึกและละเอียด แต่ให้ทราบว่าเป็นเรื่องที่จะต้องดับก่อน

บางคนก็กลัวโลภะเหลือเกิน กลัวจริงๆ ทำอย่างนั้นก็จะเป็นโลภะ จะเปิด พัดลมก็เป็นโลภะ จะฟังเพลงก็เป็นโลภะ มีมิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิดที่ยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนอยู่หรือเปล่า ถ้ามี ต้องดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก่อน เพราะโลภะมีปัจจัยก็เกิด แต่ในขณะเดียวกัน การฟังเรื่องของโลภะมากๆ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เห็นโทษของโลภะ และโลภะจะค่อยๆ น้อยลง

ที่ใช้คำว่า น้อยลง อย่าคิดว่า มากมายทันที แต่ต้องเป็นไปอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ละเอียดจริงๆ และถ้าไม่ถึงขั้นดับเป็นสมุจเฉท ก็ยังหวนกลับมาอีกได้ เพราะมีการสะสมไว้มาก

ถ. ธรรมไม่ใช่ตัวตน แต่บางคนกล่าวว่า ขณะที่สติเกิด ไม่ใช่เรา และเขาก็ไม่เดือดร้อน เขาทำผิดไปแล้วก็ไม่เดือดร้อน เพราะสติระลึกรู้ในขณะนั้นว่า ไม่ใช่เขา หรือไม่ใช่เรา ซึ่งบางครั้งเหมือนกับว่าไม่รับผิดชอบ ในเรื่องนี้อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

สุ. เมื่อไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร สภาพธรรมมีจริงๆ เกิดขึ้น ถ้ารู้ว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่เดือดร้อนในขณะนั้นได้ กิเลสมีมาก ใครก็บังคับไม่ได้ ไม่มีชื่อด้วย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะมีการกระทำทางกายวาจาอย่างไร ก็เป็นไปด้วยกำลังของกิเลสนั้นๆ ที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ได้ดับ ต้องมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอีก แต่เมื่อมีหิริ ความละอาย ความรังเกียจ มีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ก็จะทำให้มีความเพียรที่จะขัดเกลา

ข้อสำคัญที่สุด ประการแรก ต้องเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องมีความเพียรที่จะขัดเกลา มีความตั้งใจจริงๆ ที่เป็นกุศลที่จะขัดเกลา ไม่ใช่ว่า เมื่อไม่ใช่เรา ก็ไม่เป็นไร

ถ. ทำอย่างไรจึงจะให้สติระลึกบ่อยๆ อะไรเป็นปัจจัยของสติ

สุ. การฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมมากๆ จนกระทั่งเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคง ไม่ว่าจะกำลังหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องอะไร สติจะระลึกลักษณะนั้นได้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นผู้ที่สังเกตเอง เพราะวันหนึ่งๆ ทุกคนก็คิด ลองวิเคราะห์ความคิดของท่านดูว่า ท่านคิดเรื่องอะไรมาก เรื่องโลภะมาก หรือเรื่องโทสะมาก หรือเรื่องกุศลมาก

ถ้าคิดเรื่องปรมัตถธรรมมาก และพิจารณาโดยละเอียด โดยแยบคายเข้าใจขึ้น นั่นจะเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคง ที่จะเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ที่จะให้สติเกิดระลึกได้ เพราะกำลังคิดเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ท่อง

สำหรับในวันนี้ขอทบทวนเรื่องโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ โดยกิจ

จิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท แต่ว่ากิจทั้งหมดมีเพียง ๑๔ กิจ สำหรับโลภมูลจิตจะทำกิจใดได้ใน ๑๔ กิจ

กิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ โลภมูลจิตทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ เพราะจิตที่จะทำปฏิสนธิกิจได้ต้องเป็นจิตประเภทวิบากเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า วิบากทุกดวงจะทำปฏิสนธิกิจได้ ต้องเป็นวิบากจิตเพียง ๑๙ ดวงเท่านั้น ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว

กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ ต้องเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

กิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ มีจิต ๒ ดวงเท่านั้น ที่ทำกิจนี้ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ซึ่งเป็นชาติกิริยาและเป็นกามภูมิ ไม่ว่าวิถีจิตจะเกิดในภูมิไหน จะต้องมีอาวัชชนจิตเป็นวิถีแรก ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนะ ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นรูปพรหมภูมิ ก็ยังเป็นชั้นกามภูมิ คือ เป็นกามาวจรจิต หรือจะเกิดในอรูปพรหมภูมิ คือ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดใน อรูปพรหมภูมิ โดยภูมิก็ยังต้องเป็นกามาวจรจิต เปลี่ยนแปลงภูมิหรือระดับขั้นของจิตไม่ได้ เช่นเดียวกับเปลี่ยนแปลงชาติของจิตไม่ได้

เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ

กิจที่ ๔ คือ ทัสสนกิจ มีจิต ๒ ดวงเท่านั้น ที่ทำกิจเห็น ได้แก่ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตไม่ได้ทำทัสสนกิจ

ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ต้องรู้ว่า ชั่วขณะที่เห็นไม่ใช่โลภมูลจิต เพราะว่าเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยกับจักขุวิญญาณที่ทำทัสสนกิจ

กิจที่ ๕ คือ สวนกิจ จิตได้ยิน ได้แก่ จิต ๒ ดวง คือ โสตวิญญาณ เป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตทำสวนกิจไม่ได้

กิจที่ ๖ คือ ฆายนกิจ จิตได้กลิ่น โลภมูลจิตก็ทำกิจนี้ไม่ได้

กิจที่ ๗ คือ สายนกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

กิจที่ ๘ คือ ผุสสนกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

กิจที่ ๙ คือ สัมปฏิจฉันนกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

กิจที่ ๑๐ คือ สันตีรณกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

กิจที่ ๑๑ คือ โวฏฐัพพนกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

กิจที่ ๑๒ คือ ชวนกิจ เป็นกิจที่แล่นไปในอารมณ์ เพราะเห็นแล้ว รับแล้ว พิจารณาแล้ว กระทำทางแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับชวนกิจ ได้แก่ จิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง และสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกุศล อกุศล ชวนกิจก็เป็นกิริยาจิต นอกจากนั้นโลกุตตรกุศลเป็นชวนกิจ พร้อมทั้งโลกุตตรวิบาก คือ ผลจิต ก็เป็นชวนจิตด้วย

กิจที่ ๑๓ คือ ตทาลัมพนกิจ โลภมูลจิตไม่ได้ทำตทาลัมพนกิจ เพราะ ตทาลัมพนกิจเป็นวิบากจิต

กิจที่ ๑๔ คือ จุติกิจ โลภมูลจิตไม่ได้ทำกิจจุติ เกิดก่อนจุติ แต่ไม่ได้ทำจุติกิจ

เปิด  235
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565