แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1360

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๒๗


ทำไมจะต้องมีการสำคัญตนถึงกับแสดงคุณของตนเองว่า คุณของตนก็มีเท่าๆ กับบุคคลอื่นนั่นแหละ ซึ่งถ้ามีคุณจริง ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการเปรียบเทียบว่า จะต้องเท่ากับบุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตีเสมอจะมีการเอาใจใส่ยึดถือคุณของผู้อื่นเป็นอาการที่ปรากฏ เพราะถ้าเราไม่คิดถึงคุณของผู้อื่นซึ่งมีมากและอยากจะเหมือน ก็คงจะไม่มีการตีเสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อนึกถึงคุณของผู้อื่นซึ่งมีมาก และก็อยากจะให้เท่ากับของตน หรือเหมือนกับของตนด้วยความสำคัญตน ในขณะนั้นก็เป็น ปลาสะ คือ ตีเสมอ ด้วยอำนาจของมานะในขณะนั้น

เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ของแต่ละบุคคล ซึ่งจะมากหรือน้อยตามการสะสม ถ้าเป็นผู้ที่มีสติระลึกได้ ระลึกเร็ว ก็จะหยุด ไม่ตีเสมอต่อไป หรือไม่ลบหลู่ต่อไปได้ เพราะสติเกิดระลึกได้ แต่ถ้าสติไม่เกิด ระลึกไม่ได้ ก็จะเป็นอุปนิสัยที่สะสมต่อไป ซึ่งบุคคลอื่นย่อมจะมองเห็นได้ชัดในมานะของผู้ที่มีกายวาจาอย่างนั้น

นอกจากนั้นก็มี สาเถยยะ ความโอ้อวด นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันอีกเหมือนกัน

ความโอ้อวด คือ การไม่กล่าวโดยชอบ เพราะแสดงคุณอันตนไม่มีอยู่ ชื่อว่า เป็นผู้โอ้อวด ความโอ้อวดโดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่าเป็นผู้โอ้อวดมาก

ความคดโกง คือ การแสดงคุณอันไม่มีอยู่ ชื่อว่าการโอ้อวด เป็นสภาพที่กระด้างเพราะไม่อดทนต่อสิ่งอันไม่เป็นภัย

ไม่อดทนต่อสิ่งอันไม่เป็นภัย การไม่โอ้อวดไม่เป็นภัยเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่อดทน คือ ไม่โอ้อวด ก็จะไม่มีการโอ้อวด แต่เพราะ ไม่อดทนต่อสิ่งอันไม่เป็นภัย ไม่อดทนต่อการที่จะไม่โอ้อวด เพราะฉะนั้น ก็ต้องโอ้อวด ซึ่งเป็นภัย

เป็นชีวิตประจำวัน ใช่ไหม พอที่จะรู้ได้ว่าขณะใดโอ้อวด ขณะใดไม่โอ้อวด แต่ตามความเป็นจริงแล้วทุกท่านคงจะพิจารณาได้ว่า ผู้ที่สนใจในเรื่องการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละกิเลส จะไม่เหมือนกับผู้ที่ยังเต็มไปด้วยมานะต่างๆ ที่จะทำให้มีกายวาจาอย่างนั้น เพราะเริ่มเห็นโทษของกายวาจาที่ไม่สมควร

ถ. บางทีเราต้องการอธิบายให้คนอื่นทราบว่า ทัศนะของเราตรงกับคนอื่นไหม ไม่ทราบว่าจะเป็นการโอ้อวดหรือเปล่า

สุ. ขณะนั้นรู้สึกตัวว่าเป็นอย่างไร การโอ้อวด คือ พูดถึงสิ่งที่ไม่มี การไม่กล่าวโดยชอบ เพราะแสดงคุณอันตนไม่มีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้โอ้อวด

ถ. คือ ต้องการทดสอบทัศนะของเราว่าตรงกับเขาไหม

สุ. ถ้าบอกว่า วันหนึ่งๆ สติเกิดมาก เป็นอย่างไร

ถ. ก็ไม่ได้

สุ. โอ้อวดหรือเปล่า ทำไมต้องพูด สติอาจจะไม่ได้เกิดเลย แต่อยากที่จะให้คนอื่นเห็นว่า เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐานหรือมีสติมาก ก็อาจจะกล่าวอย่างนั้นได้ แต่ผู้ที่จะละกิเลสจริงๆ จะไม่มีกายวาจาอย่างนี้

ถ. คือ ต้องสงบไว้อย่างเดียว

สุ. ไม่มีความปรารถนาที่จะโอ้อวด โดยเฉพาะในสิ่งที่ไม่มี

ถ. ถ้าเผื่อเรามี เราก็...

สุ. ถ้ามีแล้ว ก็ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องโอ้อวด

ถัมภะ เป็นลักษณะหนึ่งของมานะ เป็นอาการอย่างหนึ่ง คือ ความหัวดื้อ

ชื่อว่าความหัวดื้อ เพราะอรรถว่ากระด้าง ความกระด้างของจิตราวกับผ้า แข็งกระด้าง

จิตใจนี่มีลักษณะต่างๆ กัน เวลาที่เป็นกุศลจะมีลักษณะที่อ่อนโยน มีเมตตา แต่เวลาที่จิตใจเป็นอกุศล ความกระด้างของจิตราวกับผ้าแข็งกระด้าง นี่เป็นลักษณะของความหัวดื้อ

บุคคลผู้ประกอบด้วยความหัวดื้ออันใด เป็นราวกะงอนไถเคลื่อนไป เห็น พระเจดีย์ หรือบุคคลผู้เจริญกว่า ก็ไม่นอบน้อม ย่อมไม่ประพฤติในขอบเขต เป็น ราวกับถุงลมอันเต็มด้วยลม บุคคลนี้บัณฑิตพึงทราบว่า มีลักษณะของจิตที่ขึ้นพองอืดดุจศพ ฉะนั้น

นี่เป็นลักษณะของความหัวดื้อที่แสดงไว้ใน สัมโมหวิโนทนี

นอกจากนั้น มานะก็ทำให้เป็นผู้ที่แข่งดี คือ สารัมภะ

ที่ว่าแข่งดี คือ การถือเอาธุระหรือการกระทำที่เสมอกัน ชื่อว่าแข่งดี

ไม่ว่าใครทำอย่างไรก็ตาม ก็จะทำให้ได้เสมอกัน นั่นคือการแข่งดี หรือ

การไม่สละธุระอันตนถือเอาแล้ว ชื่อว่าการไม่ลดละ

ซึ่ง ปลาสะ หรือการตีเสมอ มีการแข่งดีเป็นลักษณะ

นอกจากนั้น ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส นิปเปสิกตานิทเทส อธิบายการพูดติเตียน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ที่มีมานะได้ คือ

การข่ม ได้แก่ การกล่าวเย้ยหยัน

นี่เป็นอกุศลกรรมทางวาจาทั้งนั้นที่ควรที่จะได้พิจารณาว่า เกิดจากจิตที่ประกอบด้วยความสำคัญตน ถ้าไม่สำคัญตนจะเย้ยหยันคนอื่นได้ไหม ไม่ว่าเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นถ้าเกิดวาจาที่เย้ยหยันขณะใด ขณะนั้นก็ระลึกได้ถึงความสำคัญตน

การนินทา ได้แก่ การพูดยกโทษขึ้นโดยนัยว่า เขาไม่มีศรัทธา ไม่น่าเลื่อมใส

คือ การยกโทษของคนอื่นขึ้นกล่าว แสดงว่าคนที่พูดดีกว่าหรือเปล่า เวลาพูดว่าคนอื่นไม่ดี ขอให้ระลึกถึงจิตที่พูดในขณะนั้นว่า ผู้พูดต้องเข้าใจว่าตัวเองดีกว่าผู้อื่นหรือเปล่า นั่นคือลักษณะของมานะหรือความสำคัญตน ซึ่งวันหนึ่งๆ อาจจะไม่รู้สึกเลย แต่แท้จริงในขณะใดที่มีการพูดอย่างนั้น แสดงว่าเป็นเพราะความสำคัญตนนั่นเอง

การพูดตำหนิโทษ ได้แก่การพูดว่า ท่านอย่าได้กล่าววาจาเช่นนี้ในที่นี้

นั่นเป็นลักษณะของมานะได้

การพูดตำหนิโทษเป็นไปกับด้วยวัตถุ ด้วยเหตุ โดยส่วนทั้งปวง เรียกว่า การเหยียดหยาม

วันหนึ่งๆ ที่จะคิดว่าถูกเหยียดหยาม หรือว่ามีใครเหยียดหยาม ก็เพราะผู้อื่นพูดตำหนิโทษด้วยวัตถุ ด้วยเหตุ โดยส่วนทั้งปวง

หรืออีกอย่างหนึ่ง คือ การพูดยกโทษขึ้นอย่างนี้ว่า โอ ท่านทานบดี ท่านไม่ให้อะไรๆ ชื่อว่าติเตียน

การติเตียน อาจจะพูดโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคำหยาบคาย เพียงแต่ว่า นิดหน่อยว่า โอ ท่านทานบดี ท่านไม่ได้ให้อะไรๆ เพียงเท่านี้ก็ชื่อว่าติเตียน การบอกคนอื่นว่า เขาไม่ได้ให้อะไรๆ เลย นั่นก็ชื่อว่าติเตียน

การพูดด้วยดีอย่างนี้ว่า ท่านทานบดีใหญ่ ดังนี้ เรียกว่า การพูดเหยียดหยาม

คำว่า การพูดเหยียดหยาม ได้แก่ การพูดเยาะเย้ยอย่างนี้ว่า ชีวิตคือความเป็นอยู่ของท่านผู้นี้ กินพืชเป็นอาหารไม่ใช่หรือ ดังนี้ ชื่อว่าเยาะเย้ย

แม้แต่การบริโภคอาหาร บางทีเพียงแต่การบริโภคผักหรือพืช ก็ยังเป็นที่ เยาะเย้ยของคนอื่นได้

เมื่อย่อมพูดให้ยิ่งกว่านี้ ชื่อว่าพูดเยาะเย้ย หรือเหยียดหยามให้เสียชื่อเสียง

การพูดตำหนิให้เสียชื่อเสียง ชื่อว่าการพูดให้เสียชื่อเสียงอย่างแรง

การนำเรื่องไปติเตียน จากบ้านโน้นไปสู่บ้านนี้ จากชนบทโน้นไปสู่ชนบทนี้ ชื่อว่าการนำเรื่องไปเที่ยวติเตียน

ตรงกันข้ามกับการสรรเสริญ ใช่ไหม ถ้าเป็นการสรรเสริญ ก็จากบ้านนี้ไปสู่บ้านโน้น จากชนบทนี้ไปสู่ชนบทโน้น เป็นเรื่องคุณงามความดีของบุคคลอื่นๆ เป็นการสรรเสริญ แต่ถ้าเป็นการติเตียน นำเรื่องไปติเตียน จากบ้านโน้นไปสู่บ้านนี้ จากชนบทโน้นไปสู่ชนบทนี้ ชื่อว่าการนำเรื่องไปเที่ยวติเตียน

การพูดวาจาไพเราะต่อหน้า ในภายหลังพูดนินทา นี้ชื่อว่าการพูดไพเราะ ต่อหน้า นินทาลับหลัง ย่อมเป็นราวกับเคี้ยวกินเนื้อในที่ลับหลัง

เป็นการเตือนสติให้ระลึกได้จริงๆ ถึงสภาพธรรมที่สะสมมา เพื่อที่จะระมัดระวังให้รู้สึกตัวว่า ถ้ายังกระทำแม้สิ่งที่ดูเสมือนว่าเป็นปกติในชีวิตประจำวันต่อไปอีก ก็จะเป็นการสะสมโทษ ซึ่งยากต่อการที่จะดับได้

บุคคลนี้ย่อมไม่กล่าวคุณของผู้อื่นอันมีอยู่ภายใน ราวกับบุคคลบดคันธชาติ (ของหอม) โดยบดขยี้คุณของผู้อื่นให้แหลกเป็นจุณ

นี่คือวาจาซึ่งสามารถที่จะกล่าวร้าย เบียดเบียน หรือทำลายคุณของผู้อื่นได้

นอกจากนั้นยังมีคำพูดซึ่งเป็นอกุศลอีกหลายอย่าง เช่น การพูดทิ่มแทง การพูดเกียดกัน และเมื่อไรจะดับได้ พวกอกุศลต่างๆ ทางกาย ทางวาจาต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องอาศัยการเห็นโทษและการอบรมเจริญปัญญา เพราะถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีทางที่จะดับกิเลสเหล่านี้ได้เป็นสมุจเฉท แต่ข้อที่ควรสังเกต คือ ถึงแม้ว่าจะไม่พูด มานะก็มีอยู่ในใจได้ เพราะสภาพของจิตซึ่งเกิดร่วมกับวิตกเจตสิก เป็นสภาพที่จรดหรือคิดนึกถึงสิ่งซึ่งเป็นวัตถุที่ตั้งให้เกิดมานะได้ แม้จะไม่มีการกล่าวด้วยวาจา ซึ่งถ้า ในขณะนั้นไม่โอภาปราศรัย หรือไม่โอบอ้อมอารี ไม่ปฏิสันถาร ก็พอที่จะสังเกตจิตใจในขณะนั้นได้ว่า เป็นเพราะมานะหรือเปล่า

การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ ทางกายหรือทางวาจาโดยอาการต่างๆ ก็เพื่อให้สติเกิดระลึกได้ที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น เพื่อจะได้เห็นอกุศลเป็นอกุศลตามความเป็นจริง

ต้องเป็นผู้ที่ตรงจึงจะรู้ได้ว่า ทุกคนยังมีอกุศลมากมาย ถ้าสติไม่เกิด แม้ขณะนั้นเป็นมานะ แต่เป็นมานะประเภทที่ไม่แสดงออกด้วยวาจา คือ โดยการ ไม่โอภาปราศรัย หรือไม่โอบอ้อมอารี ไม่ปฏิสันถาร ในขณะนั้นอาจไม่รู้สึกตนว่า เป็นลักษณะอาการของอกุศลธรรมประเภทใด

แต่ถ้าขณะใดที่มีอาการแข็งราวกับผ้าแข็ง ขณะนั้นอาการนั้นปรากฏก็รู้ได้ว่าเป็นลักษณะของมานะ ซึ่งผู้ที่ไม่มีมานะต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น แต่ก็ไม่ควรจะสะสมมานะมากในวันหนึ่งๆ เพราะเป็นสิ่งที่ละยาก และเป็นสภาพที่พอจะปรากฏอาการให้สติระลึกได้ในขณะที่มานะเกิด

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะขัดเกลากิเลส ควรจะสังเกตแม้บุคคลอื่นว่า ใครเป็นที่รัก ที่สนิทสนม ที่คุ้นเคย ที่ยกย่องนับถือด้วยใจจริงของคนอื่นนั้นเพราะอะไร คงไม่ใช่เพราะมานะ หรือยกตนข่มคนอื่น แต่ต้องเป็นสภาพของจิตซึ่งตรงกันข้าม แม้แต่คนที่ยกตนข่มผู้อื่นเอง ก็ไม่ชอบคนที่ยกตนข่มผู้อื่นด้วย แต่ในขณะนั้นเมื่อมานะเกิดขึ้นกับตนเองย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นตนเองก็เป็นผู้ที่ยกตนและข่มผู้อื่นด้วย

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งมีท่านผู้ฟังบางท่านกล่าวว่า ท่าน ไม่ค่อยสนใจพระสูตรและอรรถกถา เพราะดูเป็นเรื่องธรรมดาๆ รู้สึกว่าไม่ได้มีประโยชน์มากเท่าไร แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ จะเห็นประโยชน์ของพระสูตรที่เกื้อกูล อย่างมาก เพราะน้อมนำจิตให้ประพฤติปฏิบัติตาม

ถ้าเพียงศึกษาพระอภิธรรมว่า อกุศลจิตมี ๑๒ ดวง หรือ ๑๒ ประเภท เป็นโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง และโลภมูลจิต ๘ ดวงนั้นประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง ก็จบแล้ว แต่ยังไม่เห็นอาการโดยละเอียดของโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง ซึ่งปรากฏทางกาย ทางวาจา โดยอาการต่างๆ ที่วิจิตรมาก ซึ่งจะส่องให้เห็นถึงความวิจิตรของโลภมูลจิต ๘ ดวง ทั้งทางกาย ทางวาจา ที่เป็นสภาพของจิตที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรม แต่ในพระอภิธรรมนั้น แสดงเพียงจำนวน คือ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน ได้แก่ นามธรรมหรือนามขันธ์ ๔ คือ จิตเจตสิกแต่ละขณะ ที่อาศัยเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น

แต่ชีวิตปกติประจำวัน ทุกขณะของทุกคน เป็นอาการต่างๆ ของจิตและเจตสิกที่วิจิตรมาก ซึ่งปรากฏในพระสูตรและในอรรถกถา ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ไว้โดยละเอียด การที่แต่ละคนจะมีกายวาจาอย่างไรในวันหนึ่งๆ เห็นสิ่งใด คิดอย่างไร มีมานะเกิดขึ้น หรือไม่มีมานะเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้นก็จะไม่เป็นปัจจัย ให้สติเกิดระลึกได้ แต่เพราะได้ทรงแสดงอาการต่างๆ ของสภาพธรรมโดยวิจิตรจริงๆ ทั้งทางกาย ทางวาจา จึงทำให้สามารถเห็นความวิจิตรของแม้โลภมูลจิตซึ่งมีเพียง ๘ ดวง แต่ว่ามีความวิจิตรอย่างมาก

เมื่อสักครู่นี้ ทุกท่านคงจะได้พบปะมิตรสหาย และได้สนทนากันเรื่องนั้น เรื่องนี้บ้าง ถ้าหลงลืมสติจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นจิตประเภทใดกำลังแสดงกายและวาจาอย่างไร ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มี ที่ทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้สติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพื่อจะได้เห็นความวิจิตรของจิตประเภทต่างๆ

เรื่องของโลภะมีมากในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็ไม่เห็นว่า เป็นโลภะทั้งนั้น แต่ขณะใดที่สติเกิด ย่อมสามารถเห็นโลภะทั้งนั้นได้ และก็เป็นโลภะทั้งนั้นจริงๆ ถ้าสติเกิด

การพูดมีหลายอย่างตามที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว หรือแม้แต่เพียงขณะที่โลภะเกิดขึ้นและมีคำพูดที่เกียดกัน ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะความปรารถนาที่จะได้สิ่ง อันประณีตยิ่งขึ้นไป จึงพูดหรือแสดงอาการเกียดกัน ด้วยสามารถแห่งกิเลสทั้งปวง ซึ่งเป็นด้วยริษยาก็ได้ หรือมัจฉริยะ ความตระหนี่ก็ได้ หรือโลภะ ความต้องการที่จะได้สิ่งที่ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้ ซึ่งใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส ตินติณนิทเทส อธิบายการพูดเกียดกัน มีข้อความว่า

โดยหมายเอาว่า วัตถุของผู้อื่นเป็นราวกับว่าเป็นของตน เช่นกับการเห่าของสุนัขที่กำลังกินน้ำข้าวที่รางน้ำข้าว เพราะเห็นสุนัขอื่นมา ดังนี้

คงจะไม่มีใครไม่เคยได้ยินได้ฟังคำพูดเกียดกัน หรือบางครั้งที่อกุศลจิตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะเป็นปัจจัยทำให้มีวาจาที่เกียดกันเกิดขึ้นก่อนที่สติจะเกิดก็ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอยู่เสมอ สามารถรู้กิเลสของตนเองได้ เพราะสติมีความไวที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และสติสามารถเกิดระลึกลักษณะของ สภาพจิตซึ่งเป็นเหตุให้กายวาจาเป็นไปโดยอาการต่างๆ ย่อมสามารถรู้อาการของกิเลสของคนอื่นได้ด้วย เพราะเป็นผู้ที่สติไวที่จะระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เกิดปรากฏในขณะนั้นว่าเกิดเพราะจิตประเภทใด เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ไม่หลอกตัวเอง และเป็นผู้ที่ผู้อื่นก็หลอกไม่ได้ด้วย สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่ข้อความในพระสูตรแสดงไว้มากในเรื่องของโลภะ ในเรื่องของกิเลสต่างๆ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้องก็จะรู้ว่า เพื่อให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า แต่ละท่านยังจะต้อง ขัดเกลากิเลสมากเพียงใด

และใน จาปัลยนิทเทส อธิบายการชอบตบแต่ง มีข้อความว่า

การตบแต่งจีวรด้วยวัตถุทั้งหลาย มีการทำให้เรียบร้อยเป็นกลีบเป็นต้น ชื่อว่า การตบแต่งจีวร

การตบแต่งบาตรด้วยวัตถุทั้งหลาย มีการกระทำให้มีผิวหมดจดดังสีแห่ง แก้วมณี ชื่อว่าการตบแต่งบาตร

การตบแต่งเสนาสนะอันเป็นของเฉพาะบุคคลด้วยจิตรกรรมเป็นต้น ชื่อว่า การตบแต่งเสนาสนะ

เป็นชีวิตประจำวัน ใช่ไหม ที่สติจะต้องระลึกอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเห็น สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นจิตอะไร

เปิด  248
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565