แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1354

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๗


มิจฉาทิฏฐิต้องเป็นการยึดมั่น เป็นความเห็นผิดที่ถือว่าบัญญัติมีจริง ซึ่ง ความจริงแล้วบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่มีจริง

บัญญัติเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ไหม ได้ เป็นอยู่เป็นประจำ

โลภมูลจิตเกิด พอใจในบัญญัติ โทสมูลจิตเกิด ไม่พอใจในบัญญัติ ไม่พอใจคนนี้ ไม่พอใจคนนั้น ในขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น บัญญัติเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอกุศลอะไรก็ตาม ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้

บัญญัติเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ไหม

ชีวิตตามความเป็นจริง บัญญัติเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ ในขณะที่ให้ทาน ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่จะให้นั้นเป็นอะไรกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ ในขณะที่วิรัติทุจริต รักษาศีล ถ้า ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไรจะมีการวิรัติทุจริตไม่ได้

ในขณะที่อบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งเป็นสมถภาวนา มีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ไหม

ถ้าไม่ลืมหลักที่ว่า ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็จะรู้ได้ว่า แม้สมถภาวนาก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ด้วย เว้นสติปัฏฐานอย่างเดียวที่ไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ ก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ แต่การที่จะรู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรม ต้องอาศัยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น จึงจะรู้ได้

ถ้าขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นไม่มีการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แต่จะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ฉะนั้น ที่กล่าวว่า เจริญสติปัฏฐานไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถูกหรือผิด คำตอบ คือ ถูก

แต่ที่กล่าวว่า เจริญสติปัฏฐานโดยไม่ให้จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติอารมณ์ ถูกหรือผิด คำตอบ คือ ผิด เพราะไม่ใช่ชีวิตตามความเป็นจริง ใครจะยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติอารมณ์ได้ แต่ปัญญาจะต้องอบรมจนเจริญจนสามารถรู้ได้ว่า ขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติในขณะนั้น มิฉะนั้นบัญญัติจะเป็นอารมณ์ในขณะนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ยับยั้งไม่ให้คิดอะไรเลย หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยเห็นที่เคยรู้ตามปกตินั้นไม่ให้รู้ ถ้าเป็น อย่างนั้น จะไม่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ เนื่องจากในขณะที่กำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เป็นเพราะจิตและเจตสิกเกิดขึ้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ รู้ว่าขณะใดที่จิตคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือนึกถึงคำ หรือความหมายของเสียงที่กำลังได้ยิน หรือนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นเป็นจิต ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ยับยั้งจิตไม่ให้เกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ ปัญญาต้องรู้ทั่วในลักษณะของนามธรรมที่มี อารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงจะหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมได้

แต่ถ้าไปกั้นไว้ ไม่ให้จิตที่รู้บัญญัติเกิดขึ้น ใครจะห้ามได้ ในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ความไม่รู้ทำให้เข้าใจว่า จะไม่ให้จิตคิดนึก หรือว่าไม่ให้มีการรู้บัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้น จะพิจารณาจากข้อปฏิบัติได้ว่า ถ้าข้อปฏิบัติใดไม่ใช่การอบรมให้ปัญญาเจริญที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ แต่ให้เห็นสิ่งต่างๆ ผิดปกติไป ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่การอบรมเจริญวิปัสสนา

ถ. สงสัยเรื่องสักกายทิฏฐิ เพื่อนคนหนึ่งถามว่า ปากกาที่ผมใช้ของใคร ผมบอกว่า ของผม เขาบอกว่า ใช่หรือ ผมบอกว่า มีชื่อผมติดอยู่ ขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิหรือเปล่า

สุ. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ยึดมั่นว่าบัญญัติเป็นสิ่งที่มีจริง

ถ. ที่ว่า ของผม

สุ. ไม่ใช่เป็นบัญญัติหรือ

ถ. ไม่ใช่ เป็นของผม

สุ. เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีความยึดมั่นจริงๆ มีความเห็นผิดว่า ต้องมีปากกาจริงๆ และต้องมีของผมจริงๆ ขณะนั้นเป็นความเห็นถูกหรือ เป็นความเห็นผิด

ถ. เห็นผิด

สุ. เพราะฉะนั้น เป็นสักกายทิฏฐิ ถ้ามีความเห็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าระลึกได้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุแข็งที่กระทบสัมผัส และเป็นเพียงสีสันที่ปรากฏ เพราะเอาสีออกจากปากกาไม่ได้จึงเรียกสิ่งที่เห็นนี้ว่า ปากกา แต่ถ้าสามารถเอาสีออกจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้หมดเลย จะมีบัญญัติอะไรไหมในสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่มี

ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังไม่ได้ดับสักกายทิฏฐิ ทั้งๆ ที่ศึกษาแล้ว เข้าใจเรื่องปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรมแล้ว แต่ยังไม่ได้ดับสักกายทิฏฐิ จนกว่ารู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะดับสักกายทิฏฐิ และทิฏฐิทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นโดยสักกายทิฏฐิได้

ทิฏฐิต่างๆ ที่จะมีได้ ก็เพราะสักกายทิฏฐิยังไม่ได้ดับ แต่ถ้าดับสักกายทิฏฐิแล้ว ทิฏฐิอื่นก็ดับทั้งหมด

ที่กล่าวว่า ทำวิปัสสนาแล้วเห็นนรก สวรรค์ ถูกต้องไหม

ไม่ถูก เพราะสติปัฏฐานต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และต้องรู้ชัดในลักษณะของปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

พระอริยบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังเป็นสุข เป็นทุกข์ ตามบัญญัติอารมณ์ ได้ไหม และถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังเป็นสุข เป็นทุกข์ ตามบัญญัติอารมณ์ได้ไหม

วิปลาส ความคลาดเคลื่อนมี ๓ คือ สัญญาวิปลาส ๑ ความจำที่วิปลาส เพราะเห็นสิ่งซึ่งเกิดดับไม่เที่ยงว่าเที่ยง นี่คือ สัญญาวิปลาส

จิตตวิปลาสโดยนัยเดียวกัน เพราะว่าสัญญาต้องเกิดกับจิต

ทิฏฐิวิปลาส คือ ผู้ที่เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงและมีความเห็นผิดยึดมั่นว่าเที่ยง และเห็นว่าเป็นสุขแทนที่จะเห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่ประจักษ์ความไม่เที่ยงก็ต้องเห็นว่า เป็นสุข และต้องเห็นว่าเป็นตัวตนเพราะไม่ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เมื่อ เห็นว่าเป็นตัวตนก็ย่อมเห็นว่างาม

นั่นคือ วิปลาส ๔ โดยสัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปลาส ๑

พระโสดาบันบุคคล โสตาปัตติมรรคจิตดับทิฏฐิวิปลาสในอารมณ์ทั้ง ๔ คือ เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริง รู้ว่าสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ตามความเป็นจริง รู้ว่าสภาพที่เป็นทุกข์ไม่เที่ยงนั้นเป็นอนัตตาและไม่งามตามความเป็นจริง แต่ยังมี จิตตวิปลาสและสัญญาวิปลาส

สำหรับพระอนาคามีบุคคล อนาคามิมรรคจิตดับสัญญาวิปลาสและ จิตตวิปลาสที่เห็นว่างามในสิ่งที่ไม่งาม เพราะสัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาสนี้ต้องดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้น อนาคามิมรรคจึงดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสที่เห็นว่างามในสิ่งที่ไม่งาม ทำให้ดับความพอใจในกามอารมณ์ คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้เป็นสมุจเฉท

แต่สำหรับพระอรหันต์นั้น อรหัตตมรรคจิตดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ที่เห็นว่าสุขในธรรมที่เป็นทุกข์ เพราะถึงแม้จะไม่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ยังพอใจในภพ ในขันธ์ ในความสงบที่เป็นกุศลได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ หรือในความสงบ ขณะนั้น เป็นสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ซึ่งผู้ที่จะดับได้ คือ อรหัตตมรรคจิต

เพราะฉะนั้น จะเห็นกำลังของกิเลสได้ว่ามากมาย และกว่าจะดับได้หมดจริงๆ ต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งในขั้นของการฟังและการอบรม โดยสติจะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงจนกว่าปัญญาจะสามารถดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น

อีกนาน หรือว่าเร็ว กว่าจะดับกิเลสได้ ตามความเป็นจริง วันหนึ่งๆ ที่จะรู้ว่านานหรือเร็ว คือ สติปัฏฐานเกิดบ่อยไหม และเมื่อเกิดแล้ว รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้าเป็นความรู้โดยที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาจะเจริญขึ้นได้จริงๆ ต้องในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น

ในขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ในขณะที่ฟังนี่เอง สติระลึก ถ้ามีปัจจัยที่สติจะเกิดระลึก สติย่อมระลึกได้ในลักษณะที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือ ทางกาย หรือทางใจก็ได้ และผู้นั้นเองจะเป็นผู้ที่รู้ว่าปัญญาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อปัญญายังน้อย ความรู้จริงก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นรู้น้อย ถ้าปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพราะมีการศึกษา สังเกต สำเหนียกในขณะที่สติระลึก ผู้นั้นก็จะรู้ได้ว่ากำลังศึกษา กำลังน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะมีความรู้เพิ่มขึ้นจริงๆ จนถึงขั้นการรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามลำดับขั้น

แต่ไม่ต้องท้อถอย หรือไม่ต้องคิดหวังว่า จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไร เพราะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมล้อมรอบอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าสติจะระลึกเมื่อไรเท่านั้นเอง และปัญญาจะเพิ่มเมื่อไร ก็เป็นเรื่องของการอบรมให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ถ. พระอรหันต์ท่านยังมีโสมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา ทุกขเวทนา ใช่ไหม

สุ. ใช่ และไม่เดือดร้อนเลย

ถ. สุขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ยินดี ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่เสียใจ และ พระอรหันต์ก็มีมหากิริยาจิตทั้งญาณสัมปยุตต์ และญาณวิปปยุตต์

สุ. ถ้าเป็นท่านผู้ฟัง ก็อยากจะมีมหากุศลญาณสัมปยุตต์มากๆ แต่ผู้ที่ รู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกุศลจิต และไม่มีอกุศลจิต จิตที่เคยเป็นเหตุคือเป็นกุศล ก็เป็นเพียงกิริยาจิต แทนที่จะเป็นมหากุศลก็เป็นมหากิริยา และบางขณะก็เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ บางขณะก็เป็นมหากิริยาญาณวิปปยุตต์ ซึ่งท่านก็ไม่เดือดร้อน

ถ. ถ้าเราไม่เจริญสมถภาวนา กุศลจิตที่เป็นฌานจิตต่างๆ ไม่เกิดขึ้นเลย ฉะนั้น เราจะเจริญสติระลึกทั่วได้อย่างไร คือ ระลึกได้แต่กามาวจรจิต รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตเราไม่เคยสัมผัสเลย อย่างนี้จะชื่อว่าเจริญสติปัฏฐานทั่วไหม

สุ. สมถภาวนาคืออะไร จะพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ขอให้ตั้งต้น เพื่อจะได้เข้าใจในสิ่งที่กล่าวถึงอย่างชัดเจนและถูกต้อง ถ้าไม่กล่าวถึงว่าสมถภาวนาคืออะไร และก็พูดเรื่องของสมถภาวนา อาจจะไม่ใช่สมถภาวนาก็ได้ เป็นแต่เพียงชื่อ และเข้าใจผิดคิดว่า นั่นเป็นสมถภาวนา เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นถ้าจะพูดเรื่องของ สมถภาวนา ก็ตั้งต้นว่า สมถภาวนาคืออะไร

ถ. เป็นสัมมาสมาธิ เป็นการเจริญกุศลจิตที่เกิดขึ้นให้เป็นมหัคคตจิต คือ เกิดขึ้นติดต่อกันเลย

สุ. ทานเป็นกุศลประเภทหนึ่ง ศีลก็เป็นกุศลประเภทหนึ่ง วันหนึ่งๆ ก็ไม่ได้ให้ทานตลอดเวลา และไม่ได้วิรัติทุจริตตลอดเวลา ยังจะมีกุศลอื่นที่จะเจริญได้ไหม ถ้าไม่มี ลำบากมากเลย เพราะวันหนึ่งๆ ต้องมีแต่อกุศล ถ้าไม่ใช่ทานและไม่ใช่ศีล แต่ยังมีกุศลประเภทอื่นอีก คือ ความสงบของจิต ซึ่งจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ในขณะที่เป็นความสงบ ต้องเป็นกุศลจิต และถ้าจะอบรมเจริญความสงบให้เพิ่มขึ้น ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ก่อนที่จะถึงมหัคคตจิต

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ มีสติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะของจิตหรือเปล่าว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้ามี จึงจะเจริญได้

ถ. หมายความว่าต้องทำขั้นนี้ก่อนถึงจะเจริญ..

สุ. ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่เอาชื่อมากล่าวว่า ทำสมถะให้ถึงมหัคคตจิตจะได้รู้รูปฌาน อรูปฌาน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่จะต้องอบรมเจริญกุศลเป็นขั้นๆ คือ รู้ว่าขณะนี้ไม่ใช่ทาน ขณะนี้ไม่ใช่ศีลที่เป็นไปในกายวาจา ขณะนี้ถ้าเป็นความสงบคือเมื่อไร

ขณะที่โทสะเกิด ขณะนั้นไม่สงบ ขณะที่เมตตาเกิด ขณะนั้นสงบ นี่คือการอบรมให้ความสงบเพิ่มขึ้นก่อนที่จะถึงมหัคคตจิต ซึ่งเป็นรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต มิฉะนั้นจะเข้าใจว่า เพียงทำสมาธิ ซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะที่เริ่มสงบว่าต่างกับขณะที่เป็นอกุศลอย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะถึงมหัคคตจิต ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด

ถ. พระอรหันต์ท่านละความยินดีในรูปราคะ อรูปราคะได้ แต่พระอรหันต์ ที่ไม่มีฌานจิตก็มี ฉะนั้น ๒ ข้อนี้ ก็ละไปใช่ไหม

สุ. เวลานี้อยู่ที่ไหน พรหมโลก หรือว่ามนุษยโลก

ถ. อยู่ในมนุษยโลก

สุ. มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ติดในอะไร

ถ. ติดในกามภูมิ

สุ. ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาสามารถที่จะเกิดในพรหมโลก แต่ยังไม่ได้ดับกิเลส ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ไม่มีทางที่จะพ้นจากการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญฌาน ไม่ว่าจะเป็นรูปฌาน อรูปฌาน โลภะก็มีความยินดีพอใจในฌาน ทั้งที่เป็นรูปฌานและอรูปฌานได้ แต่ ถ้าดับโลภะ โลภะไม่เกิดอีก ก็ไม่มีทางที่จะไปยินดีในรูปฌานหรืออรูปฌาน

เปิด  213
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565